อย่าลืมแสดงน้ำใจต้อนรับคนจากชาติอื่น
“อย่าลืมแสดงน้ำใจต้อนรับแขก”—ฮบ. 13:2
1, 2. (ก) คนที่ย้ายมาจากประเทศอื่นอาจต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง? (ดูภาพแรก) (ข) คัมภีร์ไบเบิลให้คำเตือนอะไร? และเราจะคุยกันเกี่ยวกับคำถามอะไรบ้าง?
เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ตอนที่โอเซ[1] ยังไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวา เขาย้ายจากประเทศบ้านเกิดในกานาไปอยู่ในยุโรป เขาเล่าว่า “ตั้งแต่ผมย้ายไปไม่นาน ผมก็รู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ไม่สนใจผม อากาศที่นั่นก็ไม่เหมือนที่บ้านเกิดผมเลย ตอนที่ผมออกจากสนามบินและเจอกับอากาศหนาวอย่างนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิต ผมก็เริ่มร้องไห้” เนื่องจากโอเซยังเรียนภาษาของที่นั่นไม่ได้ จึงต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีที่จะหางานดี ๆ ทำ และเนื่องจากเขาต้องอยู่ไกลบ้าน เขาเลยเหงาและคิดถึงครอบครัว
2 ลองคิดดูสิว่าถ้าคุณต้องตกอยู่ในสภาพแบบนี้ คุณจะอยากให้คนอื่นทำกับคุณอย่างไร คุณคงต้องรู้สึกดีมากแน่ ๆ ถ้าคุณไปที่หอประชุมแล้วมีคนต้อนรับอย่างอบอุ่น พวกเขารักคุณไม่ว่าคุณจะมีเชื้อชาติไหนหรือมีสีผิวอะไร ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลเตือนคริสเตียนแท้ว่า “อย่าลืมแสดงน้ำใจต้อนรับแขก” (ฮบ. 13:2) ดังนั้น ขอเราคุยกันเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้ พระยะโฮวารู้สึกอย่างไรกับคนต่างชาติ? เราต้องเปลี่ยนวิธีมองคนที่มาจากชาติอื่นไหม? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้คนที่ย้ายมาจากประเทศอื่นรู้สึกว่าพี่น้องในประชาคมต้อนรับเขา?
พระยะโฮวารู้สึกอย่างไรกับคนต่างชาติ?
3, 4. จากอพยพ 23:9 พระยะโฮวาอยากให้ชาวอิสราเอลปฏิบัติกับคนต่างชาติอย่างไร? และเพราะอะไร?
3 หลังจากที่พระยะโฮวาช่วยชาวอิสราเอลที่เป็นประชาชนของพระองค์ออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ พระองค์ได้ให้กฎหมายที่สอนพวกเขาให้ทำดีกับคนต่างชาติที่ตามพวกเขาออกมา (อพย. 12:38, 49; 22:21) เนื่องจากคนต่างชาติมักมีชีวิตที่ยากลำบาก พระยะโฮวาจึงดูแลเอาใจใส่พวกเขา ตัวอย่างเช่น พระองค์ให้มีกฎหมายที่อนุญาตให้พวกเขาเก็บข้าวตกหรือเก็บผลไม้ที่เหลือค้างอยู่บนต้นได้—ลนต. 19:9, 10
4 แทนที่พระยะโฮวาจะแค่สั่งให้ชาวอิสราเอลให้เกียรติคนต่างชาติ พระองค์เตือนพวกเขาให้คิดถึงความรู้สึกตอนที่เขาเคยเป็นคนต่างชาติ (อ่านอพยพ 23:9) ตั้งแต่ตอนที่ชาวอิสราเอลย้ายไปอยู่ที่อียิปต์ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นพวกเขายังไม่ได้ตกเป็นทาส แต่ชาวอียิปต์ก็ไม่ชอบชาวอิสราเอลเพราะพวกเขาทำตัวไม่เหมือนกับชาวอียิปต์ (ปฐก. 43:32; 46:34; อพย. 1:11-14) ชาวอิสราเอลต้องมีชีวิตที่ยากลำบากตอนที่พวกเขาเป็นคนต่างชาติในประเทศอื่น พระยะโฮวาอยากให้พวกเขาคิดถึงความรู้สึกนั้นเพื่อที่พวกเขาจะทำดีกับคนต่างชาติที่อยู่ด้วยกันกับเขา—ลนต. 19:33, 34
5. อะไรจะช่วยเราให้แสดงน้ำใจต้อนรับคนต่างชาติหรือคนต่างด้าวเหมือนกับที่พระยะโฮวาทำ?
5 พระยะโฮวาไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ถ้ามีคนต่างชาติหรือคนต่างด้าวมาที่ประชาคมของเรา เราก็ไม่ลืมว่าพระยะโฮวายังอยากให้เราต้อนรับพวกเขาอย่างดี (ฉธบ. 10:17-19; มลค. 3:5, 6) ลองคิดดูว่าคนต่างชาติหรือคนต่างด้าวต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง เช่น พวกเขาอาจไม่เข้าใจภาษาและอาจถูกเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้น ขอเราพยายามช่วยพวกเขาและทำดีกับพวกเขา—1 ปต. 3:8
เราต้องเปลี่ยนวิธีมองคนที่มาจากชาติอื่นไหม?
6, 7. อะไรแสดงว่าคนยิวในสมัยศตวรรษแรกได้เรียนรู้ที่จะเอาชนะอคติ?
6 ในศตวรรษแรก คนยิวส่วนใหญ่มีอคติกับคนต่างชาติอย่างรุนแรง แต่คริสเตียนเรียนรู้ที่จะเอาชนะความรู้สึกที่ไม่ดีแบบนี้ได้ ในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 คริสเตียนชาวยิวที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มได้แสดงความรักและน้ำใจต้อนรับคนจากประเทศอื่นที่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน (กจ. 2:5, 44-47) นี่แสดงให้เห็นว่าคริสเตียนชาวยิวเข้าใจความหมายของคำว่า “น้ำใจต้อนรับแขก” จริง ๆ
7 ถึงอย่างนั้น ก็มีบางอย่างเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น คนยิวที่พูดภาษากรีกเริ่มบ่น พวกเขาบอกว่าพวกแม่ม่ายที่พูดภาษากรีกไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างดีเหมือนแม่ม่ายที่พูดภาษาอื่น (กจ. 6:1) เพื่อจะแก้ปัญหานี้ พวกอัครสาวกได้เลือกผู้ชาย 7 คนเพื่อไปดูแลทุกคนให้ได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม พวกอัครสาวกเลือกผู้ชายที่มีชื่อในภาษากรีกซึ่งอาจทำให้แม่ม่ายเหล่านั้นรู้สึกสบายใจกว่า—กจ. 6:2-6
8, 9. (ก) คำถามอะไรจะช่วยให้เรารู้ว่าตัวเรายังมีอคติอยู่หรือไม่? (ข) เราต้องพยายามกำจัดอะไร? (1 ปต. 1:22)
8 ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ เราทุกคนก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากพื้นเพทางวัฒนธรรมของเรา (รม. 12:2) นอกจากนั้น เราอาจได้ยินเพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน หรือเพื่อนที่โรงเรียนพูดบางอย่างที่ไม่ดีเกี่ยวกับคนที่มีภูมิหลัง เชื้อชาติ หรือสีผิวที่แตกต่างกับเรา ความคิดในแง่ลบแบบนั้นมีผลกับเรามากขนาดไหน? เรามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อมีคนมาล้อเลียนเชื้อชาติหรือวัฒนธรรมของเรา?
9 เคยมีครั้งหนึ่งที่อัครสาวกเปโตรมีอคติกับคนที่ไม่ใช่ชาวยิว แต่เขาก็ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะเอาชนะความคิดในแง่ลบแบบนั้น (กจ. 10:28, 34, 35; กท. 2:11-14) คล้ายกัน ถ้าเราสังเกตว่าตัวเรามีอคติ หรือมีความภูมิใจในเชื้อชาติของตัวเองแม้เพียงเล็กน้อย เราก็ต้องพยายามกำจัดความคิดแบบนั้นออกไป (อ่าน 1 เปโตร 1:22) อะไรจะช่วยเราให้ทำอย่างนั้นได้? ขอจำไว้ว่า ไม่ว่าเรามาจากประเทศไหนเราก็เป็นคนไม่สมบูรณ์แบบเหมือนกัน และไม่มีใครคู่ควรที่จะได้รับความรอด (รม. 3:9, 10, 21-24) ดังนั้น ไม่มีเหตุผลเลยที่จะคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น (1 คร. 4:7) เราควรคิดเหมือนกับเปาโล เขาบอกเพื่อนคริสเตียนว่าพวกเขา “ไม่ใช่คนแปลกหน้าหรือคนต่างชาติอีกต่อไป” แต่เป็น “สมาชิกครอบครัวของพระเจ้า” (อฟ. 2:19) เราต้องพยายามกำจัดอคติทุกอย่างที่เรามีเพื่อจะสามารถปลูกฝังลักษณะนิสัยใหม่ได้—คส. 3:10, 11
เราจะแสดงน้ำใจต้อนรับคนที่มาจากชาติอื่นอย่างไร?
10, 11. โบอาสเลียนแบบวิธีที่พระยะโฮวามองคนต่างชาติอย่างไร?
10 โบอาสผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์เลียนแบบวิธีที่พระยะโฮวามองคนต่างชาติ เขาทำอะไร? ตอนที่โบอาสไปดูทุ่งนาของเขาในช่วงฤดูเกี่ยว เขาสังเกตเห็นรูธผู้หญิงต่างชาติชาวโมอับกำลังทำงานหนักในการเก็บข้าวที่ตกอยู่ รูธมีสิทธิที่จะทำอย่างนั้นภายใต้กฎหมายของโมเสส แต่เมื่อโบอาสได้ยินว่ารูธขออนุญาตเก็บข้าวตกในทุ่งนาของเขา เขาก็ประทับใจและถึงกับบอกคนงานให้ดึงรวงข้าวออกจากฟ่อนทิ้งไว้ให้เธอเก็บ—อ่านนางรูธ 2:5-7, 15, 16
11 หลังจากนั้น โบอาสก็ทำสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นห่วงรูธเพราะเธอตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากเนื่องจากเป็นคนต่างชาติ โบอาสบอกให้รูธมาอยู่กับกลุ่มคนงานผู้หญิงของเขาเพื่อที่พวกคนงานผู้ชายจะไม่มายุ่มย่ามกับเธอ โบอาสให้รูธมีอาหารและน้ำกินอย่างเพียงพอเหมือนกับคนงานคนอื่น ๆ เราเห็นชัดว่าโบอาสให้เกียรติและให้กำลังใจรูธทั้ง ๆ ที่เธอเป็นผู้หญิงต่างชาติที่มีชีวิตที่ยากลำบาก—นรธ. 2:8-10, 13, 14
12. ถ้าเราทำดีกับคนที่มาจากชาติอื่น อาจส่งผลดีอย่างไร?
12 โบอาสทำดีกับรูธไม่ใช่แค่เพราะเธอรักและซื่อสัตย์กับนาโอมีแม่สามี แต่เพราะรูธเริ่มรับใช้พระยะโฮวาและ “มาอยู่ใต้การปกป้องดูแลของพระองค์” เมื่อโบอาสทำดีกับรูธ เขาก็กำลังเลียนแบบความรักที่มั่นคงของพระยะโฮวา (นรธ. 2:12, 20; สภษ. 19:17) ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำดีและมีน้ำใจกับคนอื่น เราอาจช่วย “คนทุกชนิด” ให้เรียนความจริงและช่วยพวกเขาให้เห็นว่าพระยะโฮวารักพวกเขามาก—1 ทธ. 2:3, 4
13, 14. (ก) ทำไมเราควรเข้าไปทักทายคนชาติอื่นที่มาประชุม? (ข) คุณจะเริ่มคุยกับคนที่มีธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมไม่เหมือนกับคุณได้อย่างไร?
13 เราสามารถทำดีกับคนที่มาจากชาติอื่นได้โดยเข้าไปทักทายเขาอย่างอบอุ่นที่หอประชุม คนต่างด้าวที่เพิ่งย้ายมาอาจรู้สึกอาย พวกเขาอาจต้องอยู่คนเดียว และธรรมเนียมหรือสถานภาพทางสังคมอาจทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยกว่าคนอื่น ดังนั้น เราต้องทักทายพวกเขาก่อน เราต้องทำดีกับพวกเขาและสนใจพวกเขาจริง ๆ ถ้าในแอป JW Language มีภาษาที่พวกเขาใช้ คุณก็น่าจะใช้แอปนี้ช่วยคุณให้พูดคำทักทายในภาษาของพวกเขา—อ่านฟีลิปปี 2:3, 4
14 คุณอาจรู้สึกแปลก ๆ ถ้าต้องเข้าไปคุยกับคนอื่นที่มีธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมไม่เหมือนกับคุณ ดังนั้น เพื่อจะเอาชนะความรู้สึกแบบนั้นได้ คุณอาจจะเริ่มเล่าเรื่องของคุณให้เขาฟัง แล้วคุณอาจเห็นว่าจริง ๆ แล้วคุณกับเขาก็มีอะไรเหมือน ๆ กันมากกว่าที่คุณคิดในตอนแรก อย่าลืมว่า วัฒนธรรมหรือธรรมเนียมในแต่ละที่ก็มีสิ่งที่ดีและไม่ดีแตกต่างกันไป
ช่วยทุกคนให้รู้สึกอบอุ่น
15. อะไรจะช่วยเราให้เข้าใจคนเหล่านั้นที่กำลังปรับตัวกับการอยู่ในประเทศใหม่?
15 เพื่อช่วยทุกคนให้รู้สึกว่าเขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น คุณอาจถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘ถ้าฉันต้องไปอยู่ประเทศอื่น ฉันอยากให้คนอื่นทำกับฉันยังไง?’ (มธ. 7:12) เราต้องอดทนกับคนที่กำลังปรับตัวกับการอยู่ในประเทศใหม่ ในตอนแรก เราอาจไม่เข้าใจจริง ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาคิดและทำ แต่แทนที่จะคาดหมายให้พวกเขาคิดหรือทำเหมือนกับเรา เราก็น่าจะยอมรับพวกเขาในแบบที่พวกเขาเป็นจริง ๆ—อ่านโรม 15:7, เชิงอรรถ
16, 17. (ก) เราจะทำอะไรได้เพื่อจะสนิทกับคนที่มาจากประเทศอื่นมากขึ้น? (ข) เราจะช่วยคนต่างด้าวในประชาคมของเราได้อย่างไร?
16 ถ้าเราใช้เวลาเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศและวัฒนธรรมของคนต่างชาติ ก็จะช่วยให้เรารู้จักและเข้าใจพวกเขามากขึ้น ตอนนมัสการประจำครอบครัว เราน่าจะค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนต่างด้าวที่อยู่ในประชาคมเราหรือในเขตประกาศของเรา อีกวิธีหนึ่งที่เราจะสนิทกับพวกเขามากขึ้นก็คือเราอาจชวนพวกเขามากินข้าวที่บ้าน พระยะโฮวา “เปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาเชื่อ” ดังนั้น เราควรเลียนแบบพระองค์และเปิดบ้านของเราให้กับคนต่างชาติที่เป็น “พี่น้องร่วมความเชื่อของเรา”—กจ. 14:27; กท. 6:10; โยบ 31:32
17 ถ้าเราใช้เวลาอยู่กับครอบครัวที่เป็นคนต่างด้าว เราจะเข้าใจและเห็นค่าความพยายามของพวกเขาในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ เราจะเห็นว่าการเรียนภาษาเป็นเรื่องยากและอยากจะช่วยพวกเขา เราอาจพาพวกเขาไปที่องค์กรต่าง ๆ ที่สามารถช่วยพวกเขาหาที่พักหรือหางานได้ การให้ความช่วยเหลือแบบนี้จะส่งผลดีอย่างมากกับพี่น้องของเรา—สภษ. 3:27
18. ใครเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้ความนับถือและรู้จักแสดงความขอบคุณซึ่งคนต่างด้าวสามารถเลียนแบบได้?
18 คนต่างด้าวควรพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมและประเทศใหม่ที่เขาย้ายไปอยู่ รูธวางตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เธอทำอย่างไร? อย่างแรก รูธนับถือธรรมเนียมของประเทศที่เธอย้ายไปอยู่โดยการขออนุญาตเก็บข้าวตก (นรธ. 2:7) เธอไม่คิดเอาเองว่าเธอมีสิทธิ์ที่จะทำอย่างนั้น หรือรู้สึกว่าคนอื่น ๆ ก็ควรจะให้เธออยู่แล้ว อย่างที่สอง รูธขอบคุณทันทีเมื่อได้รับความช่วยเหลือ (นรธ. 2:13) ถ้าคนต่างด้าวคิดและทำเหมือนกับรูธ พี่น้องท้องถิ่นก็จะให้เกียรติเขามากขึ้น
19. ทำไมเราควรต้อนรับคนที่มาจากชาติอื่นอย่างอบอุ่น?
19 เรามีความสุขจริง ๆ ที่พระยะโฮวาแสดงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ และให้ทุกคนได้ยินข่าวดีไม่ว่าเขาจะมีพื้นเพอย่างไร บางคนอาจไม่สามารถเรียนคัมภีร์ไบเบิลหรือไปประชุมกับพยานพระยะโฮวาได้ในบ้านเกิดของเขา แต่ในตอนนี้ พวกเขามีโอกาสอยู่กับพวกเรา เราจึงควรช่วยพวกเขาเพื่อพวกเขาจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนแปลกหน้า เราอาจไม่มีเงินมากหรือไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก แต่เมื่อเราทำดีกับคนต่างชาติหรือคนต่างด้าว เราก็กำลังเลียนแบบพระยะโฮวาที่รักพวกเขา ขอให้เรา “เลียนแบบพระเจ้า” โดยทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อต้อนรับคนที่มาจากชาติอื่นอย่างอบอุ่น—อฟ. 5:1, 2
^ [1] (ข้อ 1) ชื่อสมมุติ