คุณจำได้ไหม?
คุณได้ใคร่ครวญเรื่องในหอสังเกตการณ์ ฉบับต่าง ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ไหม? หากคุณได้ทำอย่างนั้น คุณก็จะพบว่าน่าสนใจที่จะฟื้นความจำกันดังต่อไปนี้:
▫ เหตุใดหลักคำสอนเรื่องพระเจ้าลิขิตไม่สมเหตุผล?
ถ้าพระเจ้าทรงทราบล่วงหน้าและกำหนดให้อาดามล้มพลาดสู่บาป ก็ย่อมหมายความว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ริเริ่มบาปเมื่อพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ และพระองค์ทรงเป็นต้นเหตุของความชั่วและความทุกข์ทั้งมวลของมนุษย์. เรื่องนี้ไม่อาจประสานกับข้อเท็จจริงที่ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแห่งความรักผู้ทรงเกลียดความชั่ว. (บทเพลงสรรเสริญ 33:5; สุภาษิต 15:9; 1 โยฮัน 4:8)—15/4 หน้า 7, 8.
▫ ในความสำเร็จเป็นจริงของยะซายา 2:2-4 ประชาชนจากชาติทั้งหลายกำลังทำอะไร?
ขณะที่คนเหล่านี้หลั่งไหลกันเข้ามาที่ราชนิเวศแห่งการนมัสการของพระยะโฮวา เขาเลิกจาก ‘การเรียนสงคราม’ เพราะเขามั่นใจในการปกป้องของกองทัพฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า ซึ่งพร้อมจะทำลายศัตรูทั้งสิ้นของสันติสุข.—15/4 หน้า 30.
▫ ใครคือผู้เข้มแข็งของพระยะโฮวาตามที่มีกล่าวถึงที่โยเอล 3:10, 11?
มีประมาณ 280 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิลที่เรียกพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ว่า “พระยะโฮวาแห่งพลโยธา.” (2 กษัตริย์ 3:14) พลโยธาเหล่านี้ได้แก่เหล่าทูตสวรรค์ผู้มีฤทธิ์มากมายในสวรรค์ซึ่งพร้อมจะทำตามพระบัญชาของพระยะโฮวา.—1/5 หน้า 23.
▫ เราอาจได้บทเรียนอะไรจากการที่พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้โยบอธิษฐานเผื่อคนเหล่านั้นที่ทำผิดต่อท่าน? (โยบ 42:8)
ก่อนโยบกลับฟื้นคืนสภาพปกติเหมือนเดิม พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้ท่านอธิษฐานเผื่อคนเหล่านั้นที่ได้ทำผิดต่อท่าน. นี่ย่อมแสดงว่าพระยะโฮวาทรงเรียกร้องเราให้อภัยคนที่ทำผิดต่อเราเสียก่อนที่เราจะได้รับการยกโทษเพราะการผิดบาปของเรา. (มัดธาย 6:12; เอเฟโซ 4:32)—1/5 หน้า 31.
▫ ยาโกโบหมายความเช่นไรเมื่อท่านกล่าวว่า “จงให้ความอดทนกระทำการจนสำเร็จครบถ้วน”? (ยาโกโบ 1:4, ล.ม.)
ความอดทนจะต้องกระทำ “การ.” หน้าที่ของความอดทนคือช่วยเราให้สำเร็จครบถ้วนในทุกทาง. ฉะนั้น โดยยอมให้การทดลองดำเนินไปตามครรลองของมันโดยไม่พยายามใช้วิธีที่ไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์เพื่อให้การทดลองนั้นยุติลงโดยเร็ว ความเชื่อของเราก็จะถูกทดสอบและได้รับการขัดเกลา.—15/5 หน้า 16.
▫ ทำไมพระเจ้าทรงรอนานเหลือเกินที่จะแก้ปัญหาของมนุษยชาติ?
มุมมองของพระยะโฮวาในเรื่องเวลาแตกต่างจากมุมมองของเรา. สำหรับพระเจ้าผู้ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ระยะเวลาตั้งแต่การสร้างอาดามจนกระทั่งปัจจุบันยังไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ด้วยซ้ำ. (2 เปโตร 3:8) แต่ไม่ว่าเรามีมุมมองอย่างไรก็ตามในเรื่องเวลา แต่ละวันที่ผ่านไปย่อมพาเราเข้าไปใกล้วันแห่งการพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาเป็นฝ่ายถูกมากขึ้นทุกที.—1/6 หน้า 5, 6.
▫ อะไรกระตุ้นพยานพระยะโฮวา?
การสอนของพระยะโฮวาทำให้เกิดมีไพร่พลที่ไม่เหมือนใครที่ได้รับการสอนให้รักกันและกันและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง. (ยะซายา 54:13) ความรักกระตุ้นพยานพระยะโฮวาให้ประกาศต่อ ๆ ไปแม้เผชิญความไม่แยแสและการต่อต้าน. (มัดธาย 22:36-40; 1 โกรินโธ 13:1-8)—15/6 หน้า 20.
▫ คำตรัสของพระเยซูที่ว่า “จงบากบั่นอย่างแข็งขันที่จะเข้าไปทางประตูแคบ” แฝงความหมายอะไรในนั้น? (ลูกา 13:24, ล.ม.)
คำตรัสของพระเยซูแฝงความหมายของการพากเพียร การทุ่มเทตัวเอง. นอกจากนี้ คำตรัสของพระองค์ยังบ่งบอกด้วยว่าบางคนอาจพยายามจะ ‘เข้าไปทางประตูนั้น’ เมื่อตนเองสะดวกเท่านั้น ด้วยฝีเท้าตามสบายที่เขาชอบมากกว่า. ดังนั้น เราแต่ละคนอาจถามว่า ‘ฉันกำลังทุ่มเทตัวเองด้วยความขยันขันแข็งและด้วยความอุตสาหะพยายามไหม?’—15/6 หน้า 31.
▫ คนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายจะ “ถูกพิพากษาตามสิ่งเหล่านั้นที่เขียนไว้ในม้วนหนังสือทั้งหลายตามการกระทำของตน” อย่างไร? (วิวรณ์ 20:12, ล.ม.)
ม้วนหนังสือเหล่านี้ไม่ได้บันทึกการกระทำของพวกเขาในอดีต; เมื่อตาย เขาพ้นจากโทษของบาปที่เขาทำในระหว่างที่มีชีวิต. (โรม 6:7, 23) อย่างไรก็ตาม คนที่ถูกปลุกให้คืนชีวิตจะยังคงอยู่ภายใต้บาปของอาดาม. ดังนั้น ม้วนหนังสือเหล่านี้จึงต้องมีคำแนะนำสั่งสอนของพระเจ้าที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามเพื่อได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเครื่องบูชาของพระเยซูคริสต์.—1/7 หน้า 22.
▫ มีบทเรียนอะไรสำหรับเราในอุปมาของพระเยซูเรื่องชายชาวซะมาเรียที่เป็นเพื่อนบ้านที่ดี? (ลูกา 10:30-37)
อุปมาของพระเยซูแสดงว่าบุคคลที่ซื่อตรงอย่างแท้จริงเป็นผู้ที่ไม่เพียงเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าเท่านั้น แต่เลียนแบบคุณลักษณะของพระองค์ด้วย. (เอเฟโซ 5:1) อุปมานี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า การเป็นเพื่อนบ้านกันควรอยู่เหนือเครื่องกีดขวางด้านชาติ, วัฒนธรรม, และด้านศาสนา. (ฆะลาเตีย 6:10)—1/7 หน้า 31.
▫ ขอบเขตสามประการอะไรที่บิดามารดาอาจจัดให้มีการชี้นำแก่ลูก ๆ?
(1) ช่วยลูกให้เลือกงานอาชีพชนิดที่เหมาะสม (2) เตรียมเขาให้รับมือกับความเครียดด้านอารมณ์ในโรงเรียนและในที่ทำงาน (3) แสดงให้เขาเห็นวิธีสนองความต้องการฝ่ายวิญญาณของตัวเอง.—15/7 หน้า 4.
▫ พระเจ้าทรงหยุดพักใน “วันที่เจ็ด” ด้วยจุดประสงค์ใด? (เยเนซิศ 2:1-3)
พระเจ้าไม่ได้ทรงหยุดพักเพราะทรงเหน็ดเหนื่อย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงหยุดจากการสร้างที่เกี่ยวกับแผ่นดินโลกเพื่อเปิดโอกาสให้พระหัตถกิจของพระองค์พัฒนาไปและบรรลุถึงสง่าราศีเต็มที่ เพื่อสรรเสริญและถวายพระเกียรติแด่พระองค์.—15/7 หน้า 18.
▫ เราจะแสดงออกซึ่งความยุติธรรมได้ในสามแนวทางอะไรบ้าง?
ประการแรก เราต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านศีลธรรมของพระเจ้า. (ยะซายา 1:17) ประการที่สอง เราสำแดงความยุติธรรมเมื่อเราปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบที่เราต้องการให้พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 130:3, 4) ประการที่สาม เราสำแดงความยุติธรรมของพระเจ้าเมื่อเรามีส่วนอย่างขยันขันแข็งในการประกาศ. (สุภาษิต 3:27)—1/8 หน้า 15, 16.