พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากภาคที่หนึ่งของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ
ชื่อใดที่จะเหมาะกับพระธรรมเล่มหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งส่วนใหญ่มีแต่คำสรรเสริญแด่พระยะโฮวาพระเจ้า พระผู้สร้างของเรา? ไม่มีชื่อใดอีกแล้วที่จะเหมาะไปกว่าชื่อ บทเพลงสรรเสริญ. พระธรรมที่ยาวที่สุดในคัมภีร์ไบเบิลเล่มนี้มีบทเพลงที่แต่งขึ้นอย่างไพเราะ ซึ่งบอกเล่าถึงคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมและพระราชกิจอันเกรียงไกรของพระเจ้า รวมทั้งมีคำพยากรณ์อีกหลายข้อ. บทเพลงหลายบทพรรณนาความรู้สึกของผู้เขียนเมื่อเขาประสบความยากลำบาก. ถ้อยคำเหล่านี้ครอบคลุมระยะเวลาราว ๆ หนึ่งพันปี คือตั้งแต่สมัยของผู้พยากรณ์โมเซจนถึงสมัยหลังจากการเป็นเชลยในบาบิโลน. ผู้เขียนคือโมเซ, กษัตริย์ดาวิด, รวมทั้งคนอื่น ๆ. ถือกันว่าปุโรหิตเอษราเป็นผู้เรียบเรียงพระธรรมนี้ให้เป็นรูปแบบเหมือนในปัจจุบัน.
ตั้งแต่สมัยโบราณ พระธรรมบทเพลงสรรเสริญถูกแบ่งเป็นห้าภาค คือ (1) บทเพลงสรรเสริญ 1-41; (2) บทเพลงสรรเสริญ 42-72; (3) บทเพลงสรรเสริญ 73-89; (4) บทเพลงสรรเสริญ 90-106; และ (5) บทเพลงสรรเสริญ 107-150. บทความนี้พิจารณาภาคที่หนึ่ง. เป็นที่ยอมรับกันว่า บทเพลงทุกบทในภาคนี้กษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอลโบราณเป็นผู้เขียน ยกเว้นสามบท. ไม่เป็นที่ทราบว่าผู้แต่งบทเพลงสรรเสริญบท 1, 10, และ 33 คือผู้ใด.
‘พระเจ้าเป็นศิลาของข้าพเจ้า’
หลังจากบทเพลงสรรเสริญบทที่หนึ่งประกาศว่า ความสุขมีแก่ผู้ที่ยินดีในพระบัญญัติของพระยะโฮวา บทที่สองก็นำเข้าสู่อรรถบทเรื่องราชอาณาจักรทันที.a เพลงสรรเสริญกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคำทูลวิงวอนต่อพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น บทเพลงสรรเสริญบท 3-5, 7, 12, 13, และ 17 เป็นคำวิงวอนขอการช่วยให้พ้นจากพวกศัตรู. บทเพลงสรรเสริญบท 8 เน้นความยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาเมื่อเทียบกับความกระจ้อยร่อยของมนุษย์.
เมื่อพรรณนาว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ปกป้องประชาชนของพระองค์ ดาวิดร้องเป็นบทเพลงออกมาว่า “พระเจ้า . . . เป็นศิลาของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจะพึ่งในพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 18:2) มีการสรรเสริญพระยะโฮวาในฐานะพระผู้สร้างและผู้บัญญัติกฎหมายในบทเพลงสรรเสริญบท 19, ในฐานะผู้ประทานความรอดในบท 20, และในฐานะผู้ช่วยให้รอดของกษัตริย์ผู้ถูกเจิมของพระองค์ในบท 21. บทเพลงสรรเสริญบท 23 ให้ภาพพระองค์เป็นผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่, ส่วนบท 24 ให้ภาพพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ผู้ทรงสง่าราศี.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
2:1, 2—อะไรคือ “การเปล่า ๆ” ที่นานาชาติคิดอ่านกัน? “การเปล่า ๆ” คือความกังวลอย่างไม่หยุดหย่อนของรัฐบาลมนุษย์ที่จะรักษาอำนาจของตนเองไว้. การนี้เป็นการเปล่า ๆ เนื่องจากความพยายามของพวกเขาจะล้มเหลวอย่างแน่นอน. นานาชาติจะหวังได้ไหมว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในการ “ขัดขวางพระยะโฮวาและต่อสู้ผู้ถูกเจิมของพระองค์”?
2:7—“พระดำริ” ของพระยะโฮวาคืออะไร? พระดำรินี้คือสัญญาไมตรีเรื่องราชอาณาจักร ซึ่งพระยะโฮวาทรงทำกับพระเยซูคริสต์ พระบุตรที่รักของพระองค์.—ลูกา 22:28, 29.
2:12—ผู้ปกครองแห่งนานาชาติจะ “จุบพระบุตร” ได้โดยวิธีใด? ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล การจูบเป็นการแสดงไมตรีจิตและความภักดี. การจูบเป็นการต้อนรับแขกวิธีหนึ่ง. กษัตริย์แห่งแผ่นดินโลกได้รับบัญชาให้จูบพระบุตร ซึ่งหมายถึงให้การต้อนรับพระองค์ในฐานะกษัตริย์มาซีฮา.
3:จ่าหน้าบท (ฉบับแปลใหม่)—จ่าหน้าบทที่มีในบทเพลงสรรเสริญบางบทมีไว้เพื่อจุดประสงค์อะไร? บางครั้งจ่าหน้าบทบอกว่าใครเป็นผู้เขียนและ/หรือให้ข้อมูลว่าเพลงบทนั้นแต่งขึ้นในสภาพการณ์เช่นไร เช่นในกรณีของบทเพลงสรรเสริญบท 3. นอกจากนี้ จ่าหน้าบทอาจอธิบายวัตถุประสงค์หรือการใช้ประโยชน์ของเพลงบางบท (บท 4 และ 5) รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับดนตรี (บท 6).
3:2 (ล.ม.)—“เซลาห์” คืออะไร? โดยทั่วไปแล้ว คิดกันว่าคำนี้แสดงถึงการหยุดเพื่อไตร่ตรองเงียบ ๆ ไม่ว่าในการร้องเพลงคนเดียวหรือในการร้องคลอเสียงดนตรี. การหยุดนี้เพื่อทำให้ความคิดหรืออารมณ์ที่เพิ่งกล่าวไปประทับอยู่ในใจมากขึ้น. ไม่จำเป็นต้องอ่านคำนี้ออกเสียงระหว่างการอ่านบทเพลงสรรเสริญต่อหน้าผู้ฟัง.
11:3—อะไรคือรากที่ต้องรื้อลง? รากนี้คือรากฐานที่สังคมมนุษย์ตั้งอยู่ เช่น กฎหมาย, ความเป็นระเบียบ, และความยุติธรรม. เมื่อรากฐานเหล่านี้เกิดความยุ่งเหยิง สังคมก็จะไม่มีระเบียบและไม่มีความยุติธรรม. เมื่อเป็นเช่นนี้ “คนชอบธรรม” ต้องวางใจเต็มที่ในพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 11:4-7.
21:3—“มงกุฎทองคำนพคุณ” หมายถึงอะไร? ไม่มีการระบุไว้ว่ามงกุฎนี้จะเป็นมงกุฎจริง ๆ หรือมีความหมายเป็นนัย ซึ่งแสดงถึงสง่าราศีที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากดาวิดได้รับชัยชนะหลายครั้งหลายครา. อย่างไรก็ตาม ข้อนี้เป็นคำพยากรณ์ที่ชี้ถึงมงกุฎแห่งฐานะกษัตริย์ที่พระเยซูได้รับจากพระยะโฮวาในปี 1914. ข้อเท็จจริงที่ว่ามงกุฎนี้ทำจากทองคำบ่งชี้ว่าการปกครองของพระองค์จะมีคุณภาพสูงสุด.
22:1, 2—ทำไมดาวิดจึงอาจรู้สึกว่าพระยะโฮวาทรงละทิ้งท่านเสีย? ดาวิดตกอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างหนักจากพวกศัตรูของท่านจนกระทั่ง ‘หัวใจของท่านอ่อนดุจขี้ผึ้ง; ที่ละลายอยู่ในตัวท่าน.’ (บทเพลงสรรเสริญ 22:14) ท่านอาจรู้สึกเหมือนกับว่าพระยะโฮวาทรงทอดทิ้งท่าน. เมื่อถูกตรึงบนหลักทรมาน พระเยซูทรงรู้สึกแบบนั้นเช่นเดียวกัน. (มัดธาย 27:46) ถ้อยคำของดาวิดแสดงถึงปฏิกิริยาตามธรรมชาติของมนุษย์เมื่อท่านอยู่ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนสิ้นหวัง. อย่างไรก็ตาม เมื่อดูคำอธิษฐานของท่านที่บันทึกไว้ในบทเพลงสรรเสริญ 22:16-21 ก็เห็นได้ชัดว่าดาวิดไม่ได้สูญเสียความเชื่อในพระเจ้า.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:1. ควรหลีกเลี่ยงการคบหากับคนที่ไม่รักพระยะโฮวา.—1 โกรินโธ 15:33.
1:2. เราต้องไม่ปล่อยให้วันหนึ่งผ่านไปโดยไม่ได้พิจารณาเรื่องฝ่ายวิญญาณ.—มัดธาย 4:4.
4:4. เมื่อกำลังโมโหหรือโกรธ เป็นการสุขุมที่เราจะยับยั้งลิ้นของเราไว้เพื่อจะไม่พูดอะไรออกไปที่ทำให้เสียใจภายหลัง.—เอเฟโซ 4:26.
4:5. เครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณของเราจะเป็น “เครื่องบูชาแห่งความชอบธรรม” ก็ต่อเมื่อเกิดจากแรงกระตุ้นที่ถูกต้องและเมื่อความประพฤติของเราสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของพระยะโฮวา.
6:5. จะมีเหตุผลใดที่ดีกว่านี้อีกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป?—บทเพลงสรรเสริญ 115:17.
9:12 (ล.ม.). พระยะโฮวาทรงมองหาการทำให้โลหิตตกเพื่อลงโทษผู้มีความผิดฐานทำให้โลหิตตก แต่พระองค์ระลึกถึง “เสียงร้องของคนอนาถา.”
15:2, 3; 24:3-5. ผู้นมัสการแท้ต้องพูดความจริงและหลีกเลี่ยงคำปฏิญาณเท็จและการใส่ร้าย.
15:4. เราควรพยายามเต็มที่เพื่อทำตามคำพูดของเรา แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากมากก็ตาม นอกเสียจากเราได้มาตระหนักว่าเราให้คำสัญญาซึ่งไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์.
15:5. ในฐานะผู้นมัสการพระยะโฮวา เราต้องระวังไม่ใช้เงินในทางผิด.
17:14, 15. “มนุษย์” ทุ่มเทตัวเองให้กับการยกระดับมาตรฐานการดำรงชีพ, การมีครอบครัว, และการทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลาน. ความห่วงใยหลักในชีวิตของดาวิดคือการสร้างชื่อเสียงที่ดีไว้กับพระเจ้าเพื่อจะ “เห็นพระพักตร์พระองค์” ซึ่งหมายถึงการได้รับความโปรดปรานจากพระยะโฮวา. เมื่อ “ตื่นขึ้น” คือตระหนักถึงคำสัญญาต่าง ๆ และคำรับประกันของพระยะโฮวา ดาวิดจะรู้สึก “อิ่มใจด้วยการเฝ้าพระองค์” หรือชื่นชมที่พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่กับท่าน. เราควรจดจ่อกับทรัพย์สมบัติฝ่ายวิญญาณเช่นเดียวกับดาวิดมิใช่หรือ?
19:1-6. ถ้าสิ่งทรงสร้างทั้งหลายซึ่งพูดหรือหาเหตุผลไม่ได้ ถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวา พวกเราที่สามารถคิด, พูด, และนมัสการได้สมควรจะทำมากยิ่งกว่านั้นเท่าไร?—วิวรณ์ 4:11.
19:7-11. ข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาช่างเป็นประโยชน์ต่อพวกเราจริง ๆ!
19:12, 13. ข้อผิดพลาดและการทำเกินสิทธิ์เป็นบาปที่เราต้องระวัง.
19:14. เราควรเป็นห่วงไม่เพียงแต่สิ่งที่เราทำ แต่ควรเป็นห่วงสิ่งที่เราพูดและคิดด้วย.
“พระองค์ได้ทรงค้ำชูข้าพเจ้าไว้เพราะความซื่อสัตย์มั่นคงของข้าพเจ้า”
ในบทเพลงสรรเสริญสองบทในกลุ่มนี้ดาวิดแสดงถึงความปรารถนาอย่างจริงใจและความมุ่งมั่นมากเพียงไรที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง! ท่านร้องเป็นบทเพลงว่า “ส่วนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะดำเนินในความซื่อสัตย์มั่นคงของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 26:11, ล.ม.) เมื่ออธิษฐานทูลขออภัยบาป ท่านยอมรับว่า “ครั้นข้าพเจ้านิ่งอยู่, กะดูกก็เหี่ยวแห้งไปโดยข้าพเจ้าครางอยู่ตลอดวัน.” (บทเพลงสรรเสริญ 32:3) ดาวิดให้คำรับรองแก่ผู้ที่ภักดีต่อพระยะโฮวาว่า “พระเนตรพระยะโฮวาเพ่งดูผู้ชอบธรรม, และพระกรรณของพระองค์ทรงสดับฟังคำทูลร้องทุกข์ของเขา.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:15.
คำแนะนำที่ให้ไว้ในบทเพลงสรรเสริญบท 37 มีค่ามากเพียงไรทั้งแก่ชาวอิสราเอลและแก่พวกเรา เนื่องจากเราอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” แห่งระบบนี้! (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) เมื่อกล่าวคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ บทเพลงสรรเสริญ 40:7, 8 กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามาแล้ว; ตามในคัมภีร์ม้วนนั้นมีคำเขียนไว้กล่าวถึงข้าพเจ้า: ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้ายินดีที่จะประพฤติตามน้ำพระทัยของพระองค์; แท้จริงพระบัญญัติของพระองค์อยู่ในใจของข้าพเจ้า.” เพลงบทสุดท้ายของภาคนี้เป็นคำอ้อนวอนของดาวิดที่ขอให้พระยะโฮวาช่วยในช่วงหลายปีที่วุ่นวายหลังจากที่ท่านทำบาปกับนางบัธเซบะ. ท่านขับร้องว่า “ส่วนข้าพเจ้า พระองค์ได้ทรงค้ำชูข้าพเจ้าไว้เพราะความซื่อสัตย์มั่นคงของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 41:12, ล.ม.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
26:6.—เช่นเดียวกับดาวิด เราจะเดินเวียนรอบพระแท่นของพระยะโฮวาในความหมายเป็นนัยได้อย่างไร? แท่นบูชาเป็นเครื่องหมายถึงพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะรับเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์เพื่อเป็นการไถ่ถอนมนุษยชาติ. (เฮ็บราย 8:5; 10:5-10) เราเดินเวียนรอบแท่นของพระยะโฮวาโดยแสดงความเชื่อในเครื่องบูชานั้น.
29:3-9—โดยการเปรียบพระสุรเสียงของพระยะโฮวาเป็นเหมือนกับพายุฟ้าคะนองซึ่งทำให้รู้สึกเกรงขามเมื่อมันเคลื่อนผ่านไปเป็นการแสดงภาพถึงอะไร? ฤทธานุภาพอันน่าเกรงขามของพระยะโฮวานั่นเอง!
31:23—คนอหังการได้รับทดแทนเต็มขนาดอย่างไร? การทดแทนในที่นี้คือการลงโทษ. คนชอบธรรมได้รับการทดแทนจากความผิดพลาดที่ไม่เจตนาโดยได้รับการตีสอนจากพระยะโฮวา. เนื่องจากคนอหังการไม่หันกลับจากแนวทางผิดของตน เขาจึงได้รับการทดแทนเต็มขนาดด้วยการลงโทษอย่างหนัก.—สุภาษิต 11:31; 1 เปโตร 4:18.
33:6—“ลมพระโอษฐ์” ของพระยะโฮวาคืออะไร? ลมนี้คือพลังปฏิบัติการของพระเจ้า หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งพระองค์ใช้ในการสร้างฟ้าสวรรค์จริง ๆ. (เยเนซิศ 1:1, 2) ที่นี่เรียกว่าลมพระโอษฐ์เนื่องจากพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถถูกส่งไปทำสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลได้ เช่นเดียวกับลมหายใจแรง ๆ.
35:19—คำขอของดาวิดที่ไม่ให้คนที่ชังท่านขยิบตาหมายถึงอะไร? การขยิบตาจะแสดงว่าศัตรูของดาวิดกำลังมีความยินดีเนื่องจากแผนร้ายของตนประสบความสำเร็จ. ดาวิดทูลขอไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้น.
บทเรียนสำหรับเรา:
26:4. เป็นการสุขุมที่เราจะหลีกเลี่ยงการคบหากับคนที่ซ่อนตัวตนที่แท้จริงของตนในแชตรูม, เพื่อนนักเรียนหรือเพื่อนร่วมงานซึ่งแสร้งทำตัวเป็นเพื่อนของเราเพื่อวัตถุประสงค์ที่ซ่อนเร้น, คนออกหากที่ใส่หน้ากากแสร้งเป็นว่าจริงใจ, และคนที่ดำเนินชีวิตแบบตีสองหน้า.
26:7, 12; 35:18; 40:9. เราต้องสรรเสริญพระยะโฮวาอย่างเปิดเผยที่การประชุมคริสเตียน.
26:8; 27:4. เราหยั่งรู้ค่าการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนไหม?
26:11. ขณะแสดงความตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง ดาวิดยังได้ขอให้ทรงไถ่โทษท่านด้วย. เช่นเดียวกัน เราสามารถรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงได้แม้ว่าเราจะไม่สมบูรณ์.
29:10. โดยประทับอยู่ที่ “น้ำท่วมโลก” พระยะโฮวาบ่งชี้ว่าพระองค์ทรงควบคุมอำนาจของพระองค์ได้อย่างเต็มที่.
30:5. คุณลักษณะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระยะโฮวาคือความรัก—ไม่ใช่ความพิโรธ.
32:9. พระยะโฮวาไม่ต้องการให้เราเป็นเหมือนลาซึ่งเชื่อฟังเนื่องจากบังเหียนหรือแส้. ตรงกันข้าม พระองค์ต้องการให้เราเลือกที่จะเชื่อฟังพระองค์เนื่องจากเราเข้าใจพระทัยประสงค์ของพระองค์.
33:17-19. ระบบต่าง ๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะแข็งแกร่งมากแค่ไหนก็ไม่สามารถนำความรอดมาให้ได้. เราต้องวางใจในพระยะโฮวาและราชอาณาจักรของพระองค์.
34:10. นี่เป็นคำรับรองที่หนักแน่นสักเพียงไรแก่คนที่จัดให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรกในชีวิต!
39:1, 2. เมื่อคนชั่วต้องการข้อมูลเพื่อจะทำร้ายเพื่อนร่วมความเชื่อของเรา ก็สุขุมที่เราจะ ‘เอาปากของเราใส่บังเหียน’ และเงียบเสีย.
40:1, 2. การหวังในพระยะโฮวาจะช่วยเรารับมือกับความซึมเศร้าและ “ขึ้นมาจากเหวเลนตมอันน่ากลัวพิลึก.”
40:5, 12 (ล.ม.). ไม่ว่าจะเป็นความหายนะหรือความผิดพลาดส่วนตัว และไม่ว่าจะมากเพียงไร ก็ไม่อาจรุมล้อมเราไว้ได้ถ้าเราไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่าพระพรที่เราได้รับนั้น “เหลือที่จะนับได้.”
‘ขอให้พระยะโฮวาทรงพระเจริญ’
บทเพลงสรรเสริญ 41 บทในภาคแรกนี้ปลอบโยนและหนุนกำลังใจเรามากสักเพียงไร! ไม่ว่าเราจะประสบการทดลองหรือสติรู้สึกผิดชอบที่รบกวนเรา เราก็สามารถได้รับกำลังและการหนุนกำลังใจจากส่วนนี้ในพระคำอันทรงพลังของพระเจ้าได้. (เฮ็บราย 4:12) บทเพลงสรรเสริญเหล่านี้มีข้อมูลที่ให้การชี้นำที่ดีในการดำเนินชีวิต. เราได้รับการรับรองครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ไม่ว่าเราจะเผชิญความยากลำบากสักเพียงไร พระยะโฮวาจะไม่ทิ้งเรา.
บทเพลงสรรเสริญภาคแรกนี้จบลงด้วยถ้อยคำที่ว่า “ขอให้พระยะโฮวาพระเจ้าของพวกยิศราเอลทรงพระเจริญตลอดอนาคตกาล อาเมนและอาเมน.” (บทเพลงสรรเสริญ 41:13) หลังจากพิจารณาบทเพลงภาคนี้แล้ว เรารู้สึกถูกกระตุ้นใจให้สรรเสริญพระยะโฮวามิใช่หรือ?
[เชิงอรรถ]
[จุดหน้า 19]
ถ้าสิ่งทรงสร้างทั้งหลายซึ่งพูดหรือหาเหตุผลไม่ได้ ถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวา พวกเราสมควรจะทำมากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด!
[ภาพหน้า 17]
ดาวิดแต่งบทเพลงสรรเสริญส่วนใหญ่ใน 41 บทแรก
[ภาพหน้า 18]
คุณรู้ไหมว่าบทเพลงสรรเสริญบทไหนที่ให้ภาพพระยะโฮวาเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่?
[ภาพหน้า 20]
อย่าปล่อยให้วันหนึ่งผ่านไปโดยไม่ได้พิจารณาเรื่องฝ่ายวิญญาณ
[ที่มาของภาพหน้า 17]
Stars: Courtesy United States Naval Observatory
[ที่มาของภาพหน้า 19]
Stars, pages 18 and 19: Courtesy United States Naval Observatory
[ที่มาของภาพหน้า 20]
Stars: Courtesy United States Naval Observatory