พระยะโฮวาสมควรได้รับคำสรรเสริญจากเราทุกคน
“จงพากันสรรเสริญพระยะโฮวา.”—เพลง. 111:1.
1, 2. “ฮัลเลลูยาห์” มีความหมายว่าอะไร และมีการใช้คำนี้อย่างไรในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก?
“ฮัลเลลูยาห์!” เป็นคำที่มักได้ยินกันโดยทั่วไปในโบสถ์ของคริสต์ศาสนจักร. บางคนแทรกคำนี้ในการสนทนาของเขาบ่อย ๆ เพื่อเสริมน้ำหนักคำพูด. แต่มีน้อยคนที่รู้ความหมายอันศักดิ์สิทธิ์ของคำนี้ และรูปแบบชีวิตของหลายคนที่ใช้คำนี้ก็ไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระเจ้า. (ทิทุส 1:16) พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งอธิบายว่า “ฮัลเลลูยาห์เป็นคำที่ผู้เขียนเพลงสรรเสริญหลายบทใช้เพื่อเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมกับพวกเขาในการสรรเสริญพระยะโฮวา.” ที่จริง ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลหลายคนชี้ว่า “ฮัลเลลูยาห์” หมายถึง “ ‘ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญยาห์’ [ซึ่งหมายถึง] พระยะโฮวา.”
2 ด้วยเหตุนั้น คัมภีร์ไบเบิลในภาษาไทยฉบับ OV83 จึงแปลคำนี้ในบทเพลงสรรเสริญ 111:1 ว่า “จงพากันสรรเสริญพระยะโฮวา.” รูปคำภาษากรีกของคำนี้ปรากฏสี่ครั้งในวิวรณ์ 19:1-6 ซึ่งกล่าวถึงการฉลองเนื่องในโอกาสที่ศาสนาเท็จถึงจุดจบ. เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ผู้นมัสการแท้จะมีเหตุผลเป็นพิเศษที่จะใช้คำ “ฮัลเลลูยาห์” อย่างที่แสดงความนับถือ.
พระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์
3. จุดประสงค์หลักที่เราประชุมกันเป็นประจำคืออะไร?
3 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 111 ให้เหตุผลหลายประการที่พระยะโฮวาทรงสมควรอย่างยิ่งจะได้รับคำสรรเสริญจากเราทุกคน. ข้อ 1 กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะขอบพระเดชพระคุณพระยะโฮวาในท่ามกลางที่ปรึกษาของคนเที่ยงธรรมและในที่ประชุมชน.” พยานพระยะโฮวาในปัจจุบันรู้สึกอย่างเดียวกัน. จุดประสงค์หลักของการประชุมกันเป็นประจำ ทั้งในประชาคมท้องถิ่นและในการประชุมใหญ่ ก็คือเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวา.
4. มนุษย์สามารถสืบเสาะหาพระราชกิจของพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?
4 “พระราชกิจทั้งปวงของพระยะโฮวาใหญ่ยิ่ง, คนทั้งหลายที่นิยมชมชื่นก็สืบเสาะหาพระราชกิจนั้น.” (เพลง. 111:2) โปรดสังเกตคำ “สืบเสาะหา.” ตามที่หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวไว้ ข้อคัมภีร์นี้อาจใช้ได้กับคนที่ “ใคร่ครวญและศึกษาอย่างจริงใจและจริงจัง” ในเรื่องพระราชกิจของพระเจ้า. สิ่งทรงสร้างของพระยะโฮวาเปี่ยมด้วยจุดมุ่งหมายที่ยอดเยี่ยม. พระองค์ทรงจัดให้ดวงอาทิตย์, โลก, และดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งของมัน ทั้งหมดมีความเกี่ยวพันกันอย่างพอเหมาะพอดี เพื่อทำให้โลกของเราอบอุ่นและได้รับแสงสว่าง, มีกลางวันและกลางคืน, มีฤดูกาลและน้ำขึ้นน้ำลง.
5. ความก้าวหน้าด้านความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับเอกภพเผยให้เห็นอะไร?
5 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบข้อเท็จจริงมากมายเกี่ยวกับตำแหน่งของโลกในระบบสุริยะ รวมถึงดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของเราที่ถูกออกแบบไว้ให้มีวงโคจร, ขนาด, และมวลที่พอเหมาะพอดี. ตำแหน่งและความสัมพันธ์ระหว่างเทห์ฟากฟ้าเหล่านี้ทำให้โลกเรามีการเปลี่ยนฤดูอย่างสวยงามและสม่ำเสมอ. นอกจากนั้น ยังมีการเรียนรู้หลายเรื่องเกี่ยวกับการที่แรงธรรมชาติต่าง ๆ ในเอกภพได้รับการปรับตั้งอย่างละเอียดแม่นยำ. ด้วยเหตุนั้น ในบทความหนึ่งที่ชื่อ “เอกภพที่ถูกออกแบบไว้ ‘อย่างดี’ ” ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลคนหนึ่งให้ข้อสังเกตไว้ว่า “เป็นเรื่องค่อนข้างง่ายที่จะเข้าใจเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้เปลี่ยนความคิดในช่วง 30 ปีมานี้ โดยเห็นด้วยว่าเป็นความงมงายที่จะเชื่อว่าเอกภพเกิดขึ้นโดยบังเอิญ. ยิ่งเราเข้าใจเกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่ซึ่งถูกสร้างไว้อย่างดี เราก็ยิ่งมีเหตุผลมากขึ้นที่จะเชื่อว่ามีผู้ออกแบบที่เปี่ยมด้วยเชาวน์ปัญญา.”
6. คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์?
6 อีกสิ่งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ในการทรงสร้างก็คือวิธีที่พระเจ้าทรงสร้างเรา. (เพลง. 139:14) เมื่อพระเจ้าสร้างมนุษย์ พระองค์ทรงโปรดให้พวกเขามีความคิดจิตใจ, ร่างกายซึ่งมีอวัยวะที่จำเป็นครบถ้วน, อีกทั้งความสามารถและศักยภาพที่จะทำงานได้. ตัวอย่างเช่น มนุษย์มีความสามารถอันมหัศจรรย์ที่พระเจ้าประทานให้ในการพูดและฟัง รวมถึงความสามารถในการเขียนอ่าน. คนส่วนใหญ่มีความสามารถเหล่านี้. คุณมีโครงสร้างซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งด้วย นั่นก็คือร่างกายของคุณที่สามารถยืนตั้งฉากกับพื้น. การออกแบบและความสมดุลของร่างกายคุณ, ความสามารถในการเคลื่อนไหว, และกระบวนการทางเคมี เป็นเรื่องที่ทำให้ครั่นคร้าม. ยิ่งกว่านั้น ไม่มีสิ่งใดที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นมาจะเทียบชั้นได้กับการเชื่อมต่อที่น่าทึ่งของเซลล์ประสาทที่ทำให้คุณสามารถคิดและรู้สึก. ที่จริง มนุษย์เราประสบความสำเร็จได้ก็โดยอาศัยความคิดและความรู้สึกที่พระเจ้าประทานให้เท่านั้น. แม้แต่วิศวกรที่ชำนาญและมีความสามารถมากที่สุดก็ไม่อาจสร้างสิ่งใดที่สวยและเป็นประโยชน์เท่ากับนิ้วมือทั้งสิบของคุณที่ถูกออกแบบไว้อย่างน่าทึ่ง. ถามตัวคุณเองดูสิว่า ‘งานศิลปะและการก่อสร้างที่น่าประทับใจทั้งหลายสามารถเกิดขึ้นได้ไหมถ้าไม่ได้ใช้นิ้วมือที่พระเจ้าโปรดประทานให้?’
พระราชกิจอันยิ่งใหญ่และคุณลักษณะของพระเจ้า
7. เหตุใดเราควรถือว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระราชกิจอันยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของพระเจ้า?
7 พระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวารวมถึงสิ่งยอดเยี่ยมอื่น ๆ ที่พระองค์ทรงทำเพื่อมนุษยชาติ ดังที่พรรณนาไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. พระคัมภีร์เองเป็นผลงานชิ้นเอกที่สอดคล้องลงรอยกันอย่างน่าทึ่ง. ไม่เหมือนหนังสืออื่นใด คัมภีร์ไบเบิล “มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและมีประโยชน์เพื่อการสอน” อย่างแท้จริง. (2 ติโม. 3:16) ตัวอย่างเช่น หนังสือเล่มแรกของพระคัมภีร์ คือเยเนซิศ อธิบายวิธีที่พระเจ้าทรงชำระโลกที่ชั่วช้าในสมัยของโนอาห์ให้สะอาด. หนังสือเล่มที่สอง คือเอ็กโซโด แสดงวิธีที่พระยะโฮวาทรงพิสูจน์ความถูกต้องของฐานะความเป็นพระเจ้าด้วยการช่วยชาติอิสราเอลให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์. ดูเหมือนว่าผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญคิดถึงเหตุการณ์เหล่านี้เมื่อเขาถูกกระตุ้นใจให้กล่าวว่า “พระราชกิจของ [พระยะโฮวา] สูงส่งและมีเกียรติ และความชอบธรรมของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์ พระองค์ได้ทรงให้พระราชกิจอัศจรรย์ของพระองค์เป็นที่จดจำ พระเจ้าทรงมีพระคุณและทรงพระกรุณา.” (เพลง. 111:3, 4, ฉบับ R73) คุณเห็นด้วยมิใช่หรือว่าสิ่งที่พระยะโฮวาทรงทำมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ รวมทั้งสิ่งที่พระองค์ทรงทำในช่วงชีวิตของคุณ เตือนใจคุณให้นึกถึงความ “สูงส่งและมีเกียรติ” ของพระองค์?
8, 9. (ก) พระราชกิจของพระเจ้าแตกต่างจากการงานมากมายของมนุษย์อย่างไร? (ข) คุณรู้สึกซาบซึ้งคุณลักษณะใดบ้างของพระเจ้า?
8 โปรดสังเกตว่าผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเน้นด้วยถึงคุณลักษณะอันโดดเด่นของพระยะโฮวา เช่น ความชอบธรรม, ความกรุณา, และความเมตตา. คุณรู้ว่าการงานของมนุษย์ผิดบาปมีน้อยครั้งที่อาศัยความชอบธรรมเป็นหลัก. บ่อยครั้ง การงานของพวกเขาเป็นผลที่เกิดมาจากความโลภ, ความอิจฉา, และความหยิ่งทะนง. เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากอาวุธที่โหดร้ายอย่างยิ่งซึ่งมนุษย์ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในสงครามที่พวกเขาปลุกปั่นให้เกิดขึ้นและเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ. อาวุธเหล่านี้ทำให้ผู้คนที่ไร้ความผิดหลายล้านคนต้องระทมทุกข์และหวาดกลัวอย่างแสนสาหัส. นอกจากนั้น การงานมากมายของมนุษย์ประสบความสำเร็จบนความทุกข์ของคนยากคนจนที่ถูกกดขี่. ตัวอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจอ้างถึงก็คือการใช้แรงงานทาสสร้างพีระมิด. พีระมิดเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้เป็นที่ฝังศพฟาโรห์ผู้หยิ่งยโสทั้งหลาย. นอกจากนั้น การงานหลายอย่างในปัจจุบันของมนุษย์เราไม่เพียงแค่กดขี่ แต่ยัง “ทำลายแผ่นดินโลก” ด้วย.—อ่านวิวรณ์ 11:18.
9 ช่างต่างกันจริง ๆ เมื่อพิจารณาพระราชกิจของพระยะโฮวาซึ่งตั้งอยู่บนหลักของความถูกต้องเสมอ! พระราชกิจของพระองค์รวมถึงการจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยความเมตตาซึ่งช่วยมนุษยชาติที่ผิดบาปให้รอด. ในการจัดเตรียมค่าไถ่ พระเจ้า ‘ทรงแสดงความชอบธรรมของพระองค์เอง.’ (โรม 3:25, 26) เป็นความจริงทีเดียวว่า “ความชอบธรรมของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์”! ส่วนเรื่องความกรุณานั้น พระเจ้าทรงแสดงคุณลักษณะนี้อย่างอดทนในการปฏิบัติต่อมนุษย์ที่ผิดบาป. บางครั้ง พระองค์ทรงถึงกับใช้คำในลักษณะที่วิงวอนพวกเขาให้กลับจากแนวทางที่เสียหายและทำสิ่งที่ถูกต้อง.—อ่านยะเอศเคล 18:25, ล.ม.a
ทรงซื่อสัตย์ต่อคำสัญญาของพระองค์
10. พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างอะไรไว้ในเรื่องความซื่อสัตย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับสัญญาที่พระองค์ทรงทำไว้กับอับราฮาม?
10 “พระองค์ได้ทรงประทานอาหารแก่คนทั้งปวงที่เกรงกลัวพระองค์ จะทรงระลึกถึงคำสัญญาไมตรีของพระองค์เป็นนิตย์.” (เพลง. 111:5) ดูเหมือนว่าในที่นี้ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึงสัญญาที่พระยะโฮวาทรงทำกับอับราฮาม. พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าจะอวยพรพงศ์พันธุ์หรือผู้สืบเชื้อสายของอับราฮามและตรัสว่าพวกเขาจะยึดครองประตูเมืองของศัตรู. (เย. 22:17, 18; เพลง. 105:8, 9) คำสัญญานี้สำเร็จเป็นจริงในขั้นต้นโดยที่ผู้สืบเชื้อสายจากอับราฮามได้กลายเป็นชาติอิสราเอล. ชาตินี้ตกเป็นทาสในอียิปต์อยู่นาน แต่แล้วพระเจ้าก็ “ทรงระลึกถึงคำสัญญาที่พระองค์ได้ทรงกระทำไว้กับอับราฮาม” และทรงช่วยพวกเขาให้เป็นอิสระ. (เอ็ก. 2:24) วิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อพวกเขาหลังจากนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระองค์ทรงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างยิ่ง. พระองค์ทรงจัดหาอาหารสำหรับร่างกายพวกเขา และทรงจัดหาอาหารฝ่ายวิญญาณสำหรับจิตใจและหัวใจของพวกเขา. (บัญ. 6:1-3; 8:4; นเฮม. 9:21) ในศตวรรษต่อ ๆ มา ชาตินี้มักหันเหไปจากพระเจ้า กระนั้นพระองค์ก็ทรงส่งผู้พยากรณ์ไปกระตุ้นพวกเขาให้กลับมาหาพระองค์. กว่า 1,500 ปีหลังจากที่พระองค์ทรงช่วยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระจากอียิปต์ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรองค์เดียวมายังโลก. ชาวยิวส่วนใหญ่ปฏิเสธพระเยซูและปล่อยให้พระองค์ถูกประหาร. จากนั้น พระยะโฮวาทรงก่อตั้งชาติใหม่ขึ้นซึ่งเป็นชาติฝ่ายวิญญาณ คือ “อิสราเอลของพระเจ้า.” ร่วมกันกับพระคริสต์ ชาตินี้ได้กลายเป็นผู้สืบเชื้อสายฝ่ายวิญญาณของอับราฮาม ซึ่งพระเจ้าทรงบอกไว้ล่วงหน้าว่าพระองค์จะใช้ผู้สืบเชื้อสายนั้นเพื่ออวยพรมนุษยชาติ.—กลา. 3:16, 29; 6:16.
11. พระยะโฮวายังคง “ระลึกถึงคำสัญญาไมตรีของพระองค์” ที่ทำไว้กับอับราฮามจนถึงทุกวันนี้อย่างไร?
11 พระยะโฮวายังคง “ระลึกถึงคำสัญญาไมตรีของพระองค์” รวมทั้งพระพรต่าง ๆ ที่ทรงสัญญาไว้ซึ่งจะมาทางคำสัญญาไมตรีนั้น. ปัจจุบัน พระองค์ทรงจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมบริบูรณ์ในภาษาต่าง ๆ กว่า 400 ภาษา. นอกจากนั้น พระองค์ทรงตอบคำอธิษฐานในเรื่องความจำเป็นด้านร่างกายของเราจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยคำที่ว่า “ขอทรงประทานอาหารสำหรับวันนี้แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตามที่จำเป็น.”—ลูกา 11:3; เพลง. 72:16, 17; ยซา. 25:6-8.
อำนาจอันน่าครั่นคร้ามของพระยะโฮวา
12. ชาติอิสราเอลโบราณได้รับ “ประเทศต่าง ๆ . . . เป็นมฤดก” อย่างไร?
12 “พระองค์ได้สำแดงพระราชกิจอันประกอบไปด้วยฤทธิ์แก่พลไพร่ของพระองค์, โดยทรงประทานประเทศต่าง ๆ แก่เขาเป็นมฤดก.” (เพลง. 111:6) เหตุการณ์หนึ่งที่เด่นในประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอลซึ่งผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอาจนึกถึงได้แก่การช่วยให้รอดพ้นจากอียิปต์อย่างอัศจรรย์. เมื่อในที่สุดพระยะโฮวาทรงอนุญาตให้ชาวอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญา พวกเขาก็สามารถพิชิตอาณาจักรต่าง ๆ ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน. (อ่านนะเฮมยา 9:22-25.) พระยะโฮวาประทาน “ประเทศต่าง ๆ แก่เขาเป็นมฤดก.” เหตุการณ์เหล่านี้แสดงถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจริง ๆ!
13, 14. (ก) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอาจนึกถึงเหตุการณ์ใดที่เกี่ยวกับบาบิโลนซึ่งแสดงให้เห็นอำนาจของพระเจ้า? (ข) พระยะโฮวาได้ทำราชกิจอันยิ่งใหญ่ในการช่วยให้รอดอะไรอีก?
13 แต่เรารู้ดีว่าแม้พระยะโฮวาทรงทำทุกสิ่งเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา ชาติอิสราเอลไม่ได้แสดงความนับถือพระองค์หรืออับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบ บรรพบุรุษของพวกเขา. พวกเขายังคงขืนอำนาจจนกระทั่งพระเจ้าทรงใช้บาบิโลนให้มากำจัดพวกเขาออกจากดินแดนนั้น และนำพวกเขาไปเป็นเชลย. (2 โคร. 36:15-17; นเฮม. 9:28-30) ผู้คงแก่เรียนบางคนเสนอแนะว่าผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 111 มีชีวิตในช่วงหลังจากกลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน. ถ้าเป็นเช่นนั้น เขาย่อมมีเหตุผลมากขึ้นไปอีกที่จะสรรเสริญพระยะโฮวาเนื่องด้วยความภักดีและอำนาจของพระองค์. พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นความภักดีและอำนาจของพระองค์ด้วยการช่วยชาวยิวให้หลุดพ้นจากบาบิโลน—จักรวรรดิที่ไม่เคยปล่อยเชลย.—ยซา. 14:4, 17.
14 ประมาณห้าศตวรรษต่อมา พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์ในวิธีที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีกด้วยการช่วยมนุษย์ที่กลับใจให้พ้นจากการเป็นทาสบาปและความตาย. (โรม 5:12) ผลอย่างหนึ่งก็คือทำให้มีการเปิดทางไว้สำหรับมนุษย์จำนวน 144,000 คนที่จะเป็นสาวกของพระคริสต์ซึ่งถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ. ในปี 1919 พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์เพื่อช่วยคนกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเป็นชนที่เหลือของผู้ถูกเจิมเหล่านี้ให้พ้นจากการเป็นเชลยของศาสนาเท็จ. ความสำเร็จของพวกเขาในช่วงเวลาอวสานนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้โดยอำนาจของพระเจ้าเท่านั้น. เมื่อพิสูจน์ตัวซื่อสัตย์จนกระทั่งเสียชีวิต พวกเขาจะมีส่วนร่วมกับพระเยซูคริสต์ในการปกครองจากสวรรค์เหนือแผ่นดินโลกเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ที่กลับใจ. (วิ. 2:26, 27; 5:9, 10) พวกเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดกในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าชาติอิสราเอลในสมัยโบราณมาก.—มัด. 5:5.
หลักการถาวรที่ไว้ใจได้
15, 16. (ก) พระหัตถกิจของพระเจ้ารวมถึงอะไรด้วย? (ข) พระเจ้าประทานคำสั่งอะไรบ้างแก่ชาติอิสราเอลโบราณ?
15 “พระหัตถกิจของพระองค์นั้นสุจริตและยุติธรรม และข้อบังคับของพระองค์ก็ไว้ใจได้ สถาปนาอยู่เป็นนิจกาล และประกอบความสัตย์สุจริตกับความเที่ยงธรรม.” (เพลง. 111:7, 8, ฉบับ R73) สิ่งหนึ่งที่เป็น “พระหัตถกิจของ [พระยะโฮวา]” ก็คือแผ่นศิลาสองแผ่นซึ่งจารึกกฎหมายสำคัญสิบข้อสำหรับชาติอิสราเอล. (เอ็ก. 31:18) กฎหมายเหล่านี้ พร้อมกับข้อบังคับอื่น ๆ ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแห่งพระบัญญัติของโมเซ อาศัยหลักการต่าง ๆ ที่ถาวรและไว้ใจได้.
16 ตัวอย่างเช่น คำสั่งหรือกฎหมายข้อหนึ่งที่เขียนบนแผ่นศิลาจารึกสองแผ่นนั้นกล่าวว่า “เรา ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าที่เรียกร้องความเลื่อมใสโดยเฉพาะ.” พระบัญญัตินั้นยังกล่าวต่อไปอีกว่าพระยะโฮวาทรงแสดง “ความกรุณาแก่ผู้ที่รัก [พระองค์], และรักษาบัญญัติของ [พระองค์], ถึงหลายพันชั่วอายุ.” แผ่นศิลาดังกล่าวยังมีหลักการที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เช่น “จงนับถือบิดามารดาของเจ้า” และ “อย่าลักทรัพย์” ตลอดจนกฎหมายที่แสดงถึงความเข้าใจอันลึกซึ้งที่ห้ามการโลภอยากได้สิ่งที่เป็นของคนอื่น.—เอ็ก. 20:5, ล.ม.; 20:6, 12, 15, 17.
พระผู้ไถ่ของเราองค์บริสุทธิ์และน่าเกรงขาม
17. ชาวอิสราเอลมีเหตุผลอะไรที่ควรประพฤติปฏิบัติในแนวทางที่ทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์?
17 “พระองค์ทรงใช้การไถ่ให้มายังประชากรของพระองค์ พระองค์ทรงบัญชาพันธสัญญาของพระองค์เป็นนิตย์ พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์และน่าคร้ามกลัวจริง ๆ.” (เพลง. 111:9, ฉบับ R73) อีกครั้งหนึ่ง ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอาจนึกถึงความภักดีของพระยะโฮวาต่อสัญญาที่พระองค์ทรงทำกับอับราฮาม. สอดคล้องกับเรื่องนี้ พระยะโฮวาไม่ได้ละทิ้งประชาชนของพระองค์เมื่อพวกเขาตกเป็นทาสในอียิปต์โบราณและในภายหลังเมื่อตกเป็นเชลยในบาบิโลน. ในทั้งสองกรณี พระเจ้าทรงไถ่ประชาชนของพระองค์ให้เป็นอิสระ. แม้แต่หากจะพิจารณาพระราชกิจที่พระยะโฮวาทรงทำให้สำเร็จเพียงแค่สองอย่างนี้ ก็มีเหตุผลเพียงพออยู่แล้วที่ชาติอิสราเอลควรประพฤติปฏิบัติในแนวทางที่ทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.—อ่านเอ็กโซโด 20:7; โรม 2:23, 24.
18. เหตุใดคุณจึงรู้สึกว่าการถูกเรียกตามพระนามของพระเจ้าเป็นสิทธิพิเศษ?
18 เป็นอย่างนั้นด้วยสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้ ซึ่งได้รับการไถ่ให้พ้นจากสภาพที่สิ้นหวังของการเป็นทาสบาปและความตาย. เราควรพยายามทำให้ดีที่สุดในการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับคำขออย่างแรกในคำอธิษฐานแบบอย่าง ที่ว่า “ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.” (มัด. 6:9) การใคร่ครวญในเรื่องพระนามอันรุ่งโรจน์ควรปลูกฝังความเกรงกลัวพระเจ้าไว้ในตัวเรา. ผู้เขียนเพลงสรรเสริญบท 111 แสดงทัศนะที่ถูกต้องในเรื่องความเกรงกลัวพระเจ้า โดยกล่าวว่า “ความเกรงกลัวพระยะโฮวาเป็นต้นเหตุให้เกิดสติปัญญา; คนทั้งปวงที่ประพฤติตามพระราชบัญญัติย่อมมีสติปัญญาดี.”—เพลง. 111:10.
19. เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
19 ความเกรงกลัวพระเจ้าอย่างเหมาะสมจะช่วยเราให้เกลียดสิ่งชั่ว. ความเกรงกลัวนี้ยังจะช่วยเราด้วยให้เลียนแบบคุณลักษณะอันงดงามของพระเจ้าดังที่ปรากฏอยู่ในเพลงสรรเสริญบท 112 ซึ่งเราจะพิจารณาในบทความถัดไป. เพลงสรรเสริญบทนี้แสดงวิธีที่เราจะสามารถเป็นคนหนึ่งในหลายล้านคนที่จะได้สรรเสริญพระเจ้าตลอดไป. พระองค์ทรงสมควรจะได้รับคำสรรเสริญจากเราไม่น้อยไปกว่านี้. “ความสรรเสริญของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิจกาล.”—เพลง. 111:10.
[เชิงอรรถ]
a ยะเอศเคล 18:25 (ล.ม.): “เจ้าทั้งหลายก็จะพูดว่า ‘แนวทางของพระยะโฮวาไม่เที่ยงตรง.’ ฟังเถิด เรือนอิสราเอลเอ๋ย. แนวทางของเราเที่ยงตรงไม่ใช่หรือ? แนวทางของเจ้าทั้งหลายไม่ใช่หรือที่ไม่เที่ยงตรง?”
คำถามสำหรับใคร่ครวญ
• เหตุใดพระยะโฮวาทรงสมควรได้รับคำสรรเสริญจากเราทุกคน?
• พระราชกิจของพระยะโฮวาเผยให้เห็นคุณลักษณะอะไรของพระองค์?
• คุณมองสิทธิพิเศษที่ถูกเรียกตามพระนามของพระเจ้าอย่างไร?
[ภาพหน้า 20]
จุดประสงค์หลักที่เราประชุมกันเป็นประจำก็คือเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 23]
กฎหมายทั้งสิ้นของพระยะโฮวาอาศัยหลักการที่ถาวรและไว้ใจได้