พระเจ้าทรงรู้จักคุณจริง ๆ ไหม?
“ข้าแต่พระยะโฮวา . . . พระองค์ทรงคุ้นเคยแม้กระทั่งวิถีทางทั้งปวงของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 139:1, 3, ล.ม.
1. ความรู้สึกที่ว่า ‘คนอื่นไม่เข้าใจ’ ความวิตกกังวล, ปัญหา, และความกดดันต่าง ๆ ซึ่งเราเผชิญอยู่มีดาษดื่นเพียงไร?
มีใครไหมเข้าใจจริง ๆ ถึงความวิตกกังวล, ความกดดัน, และปัญหาต่าง ๆ ที่คุณประสบอยู่? ทั่วโลกมีคนนับล้าน ทั้งคนหนุ่มคนแก่ ซึ่งขาดครอบครัวหรือญาติที่ใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา. แม้แต่ภายในครอบครัว ภรรยาจำนวนไม่น้อย—ใช่แล้ว และสามีด้วย—ต่างก็มีความรู้สึกว่าคู่สมรสของตนไม่ค่อยเข้าใจความกดดันต่าง ๆ ซึ่งตนต้องทนรับอยู่. บางครั้ง ด้วยความข้องขัดใจ พวกเขาค้านว่า “แต่คุณไม่เข้าใจ!” และหนุ่มสาวหลายคนลงความเห็นว่าไม่มีใครเข้าใจเขาเช่นกัน. กระนั้น ในท่ามกลางคนเหล่านั้นที่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นเข้าใจตนมากขึ้น ก็มีบางคนซึ่งภายหลังชีวิตของเขามีความหมายอย่างบริบูรณ์. เป็นไปได้อย่างไร?
2. อะไรอาจช่วยผู้นมัสการพระยะโฮวาดำรงชีวิตด้วยความอิ่มใจพอใจ?
2 ทั้งนี้เพราะพวกเขามั่นใจว่าพระเจ้าทรงเข้าใจสิ่งที่เขากำลังประสบอยู่ไม่ว่าเพื่อนมนุษย์จะเข้าใจความรู้สึกของตนได้อย่างเต็มที่หรือไม่ และในฐานะที่เป็นผู้รับใช้ของพระองค์ พวกเขาไม่ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ เพียงลำพัง. (บทเพลงสรรเสริญ 46:1) ยิ่งกว่านั้น พระวจนะของพระเจ้าควบกับการช่วยเหลือของคริสเตียนผู้ปกครองผู้ซึ่งหยั่งเห็นเข้าใจย่อมช่วยเขามองไกลไปกว่าปัญหาส่วนตัวของเขา. ข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ช่วยเขาหยั่งรู้ค่าการรับใช้ที่เขาได้ทำอย่างซื่อสัตย์ว่าเป็นสิ่งล้ำค่าในคลองพระเนตรของพระเจ้า และที่ว่ามีอนาคตที่ปลอดภัยสำหรับคนทั้งหลายที่ฝากความหวังไว้กับพระองค์และการจัดเตรียมที่พระองค์ทรงกระทำผ่านพระเยซูคริสต์.—สุภาษิต 27:11; 2 โกรินโธ 4:17, 18.
3, 4. (ก) การหยั่งรู้ค่าในข้อเท็จจริงที่ว่า “พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้า” และ “ได้ทรงสร้างตัวเรา” นั้นช่วยเรามีความยินดีในงานรับใช้พระองค์อย่างไร? (ข) ทำไมเราจึงมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมในการดูแลด้วยความรักจากพระยะโฮวา?
3 คุณอาจจะคุ้นกับบทเพลงสรรเสริญ 100:2 ที่ว่า “จงปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจชื่นชม: จงเข้ามาเฝ้าพระองค์ด้วยร้องเพลง.” จริง ๆ แล้ว มีสักกี่คนถวายการนมัสการพระยะโฮวาด้วยวิธีนี้? มีการแจ้งเหตุผลอันดีสำหรับการทำเช่นนั้นที่ข้อ 3 ซึ่งเตือนใจเราดังนี้: “จงรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้า: พระองค์ได้ทรงสร้างตัวเรา, เราจึงเป็นพรรคพวกของพระองค์, และเป็นฝูงแกะที่พระองค์ทรงบำรุงเลี้ยง.” ในภาษาฮีบรู คำที่แปลว่าพระเจ้าคือ เอโลฮิมʹ ดังนั้น จึงบ่งชี้ถึงความใหญ่ยิ่งของพระองค์ด้านความสง่าผ่าเผย, การทรงไว้ซึ่งอำนาจ, และความดีเลิศ. พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว. (พระบัญญัติ 4:39; 7:9; โยฮัน 17:3) ผู้รับใช้ของพระองค์ได้มารู้จักความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ไม่เพียงแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เขาได้รับการสั่งสอน แต่เป็นบางสิ่งซึ่งเขาประสบด้วยตนเองและเขาให้หลักฐานการยอมรับโดยการเชื่อฟัง, การไว้วางใจ, และมีความเลื่อมใส.—1 โครนิกา 28:9; โรม 1:20.
4 เนื่องด้วยพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่ทรงพระชนม์อยู่ ทรงสามารถหยั่งเห็นกระทั่งสภาพหัวใจของเรา ไม่มีอะไรถูกซ่อนไว้จากพระเนตรของพระองค์. พระองค์ทรงทราบโดยละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา. พระองค์ทรงเข้าใจสาเหตุแห่งปัญหาที่เราประสบอยู่ และความสับสนในจิตใจและอารมณ์ของเราอันสืบเนื่องมาจากปัญหาต่าง ๆ. ในฐานะที่ทรงเป็นพระผู้สร้าง พระองค์ทรงรู้จักพวกเราดีกว่าที่เรารู้จักตัวเอง. อนึ่ง พระองค์ทรงทราบวิธีช่วยเรารับมือกับภาวะการณ์ต่าง ๆ อีกทั้งวิธีจัดเตรียมการบรรเทาอย่างถาวร. เนื่องด้วยความรัก พระองค์จะโปรดช่วยพวกเรา—ประหนึ่งผู้เลี้ยงแกะอุ้มลูกแกะไว้แนบทรวงอกของตน—ขณะที่เราวางใจในพระองค์สุดหัวใจของเรา. (สุภาษิต 3:5, 6; ยะซายา 40:10, 11) การศึกษาเพลงสรรเสริญบท 139 จะช่วยเสริมความมั่นใจดังกล่าวได้มากทีเดียว.
พระองค์ผู้ทรงทราบแนวทางทั้งสิ้นของเรา
5. การที่พระยะโฮวา “พินิจพิเคราะห์” ตัวเรานั้นหมายถึงอะไร และทำไมจึงเป็นสิ่งน่าปรารถนา?
5 ดาวิดผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้เขียนด้วยความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระองค์ได้ทรงพินิจพิเคราะห์ดูข้าพเจ้าและพระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:1, ล.ม.) ดาวิดมั่นใจว่าความรู้ของพระยะโฮวาเกี่ยวกับตัวท่านนั้นไม่ใช่รู้แต่ผิวเผิน. พระเจ้าหาได้มองดาวิดอย่างมนุษย์มองเห็นไม่ คือสังเกตเฉพาะรูปร่างหน้าตา, ความสามารถในการพูด, หรือทักษะของท่านในการบรรเลงพิณ. (1 ซามูเอล 16:7, 18) พระยะโฮวาได้ทรง “พินิจพิเคราะห์ดู” กระทั่งส่วนลึกสุดภายในจิตใจของดาวิดและได้ทรงพิเคราะห์ด้วยความใฝ่พระทัยอันเพียบด้วยความรักเพื่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของท่าน. หากคุณเป็นผู้รับใช้ที่เลื่อมใสคนหนึ่งของพระยะโฮวา พระองค์ย่อมรู้จักคุณเหมือนกับที่ทรงรู้จักดาวิด. ข้อนี้จะไม่กระตุ้นคุณให้เกิดความรู้สึกขอบคุณและเกรงกลัวหรอกหรือ?
6. บทเพลงสรรเสริญ 139:2, 3 แสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงทราบทุกสิ่งที่เราทำ ทราบกระทั่งความคิดทุกอย่างของเรา?
6 การงานทุกอย่างของดาวิดปรากฏแจ้งต่อพระยะโฮวา และดาวิดเองก็ตระหนักดีในข้อนี้. ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้เขียนไว้ว่า “พระองค์เองทรงทราบเมื่อข้าพเจ้านั่งลงและลุกขึ้น. พระองค์ได้ทรงพิจารณาดูความคิดของข้าพเจ้าจากที่ห่างไกล. การเดินทางของข้าพเจ้าและการเหยียดตัวนอนของข้าพเจ้าพระองค์ได้ทรงวัดแล้ว และพระองค์ทรงคุ้นเคยแม้กระทั่งวิถีทางทั้งปวงของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:2, 3, ล.ม.) ข้อเท็จจริงที่ว่า พระยะโฮวาสถิตในสวรรค์ ห่างไกลจากแผ่นดินโลก ไม่ได้กันพระองค์ไว้ไม่ให้รู้การกระทำต่าง ๆ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ดาวิดกำลังคิดอยู่. พระองค์ทรง “วัด” หรือตรวจตราการกระทำทุกอย่างของดาวิดอย่างละเอียด ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อจะทราบลักษณะของสิ่งเหล่านั้น.
7. (ก) โดยใช้ตัวอย่างจากชีวิตจริงของดาวิดเป็นพื้นฐาน จงให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบางสิ่งในชีวิตของเราที่พระเจ้าทรงทราบ. (ข) การรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะมีผลกระทบเราอย่างไร?
7 เมื่อความรักที่มีต่อพระเจ้าและความมั่นใจในฤทธิ์อำนาจของพระองค์ที่จะช่วยให้รอดได้กระตุ้นดาวิดขณะหนุ่มแน่นที่จะอาสาออกรบกับฆาละยัธชายร่างยักษ์ชาวฟะลิศตีม พระยะโฮวาทรงทราบเรื่องนี้. (1 ซามูเอล 17:32-37, 45-47) ต่อมา เมื่อการปองร้ายของผู้คนก่อความปวดร้าวใจแก่ดาวิดอย่างแสนสาหัส เมื่อได้รับความกดดันหนักเหลือประมาณจนท่านถึงกับร้องไห้ยามค่ำคืน ท่านได้รับการปลอบประโลมโดยความรู้ที่ว่าพระยะโฮวาสดับคำวิงวอนของท่าน. (บทเพลงสรรเสริญ 6:6, 9; 55:2-5, 22) ทำนองเดียวกัน เมื่อหัวใจที่เปี่ยมล้นด้วยการขอบพระคุณทำให้ดาวิดคิดรำพึงถึงพระยะโฮวาในคืนที่นอนไม่หลับ พระยะโฮวาทรงทราบเป็นอย่างดี. (บทเพลงสรรเสริญ 63:6; เทียบกับฟิลิปปอย 4:8, 9) เย็นวันหนึ่ง เมื่อดาวิดเฝ้ามองภรรยาของเพื่อนบ้านอาบน้ำ พระยะโฮวาทราบเรื่องนี้ด้วย และพระองค์ทรงทราบว่าได้เกิดอะไรขึ้น แม้ว่าภายในระยะสั้น ๆ เมื่อดาวิดยอมให้ความปรารถนาชั่วเข้าครอบงำ จนกระทั่งไม่มีพระเจ้าอยู่ในความคิดของท่านเลย. (2 ซามูเอล 11:2-4) ต่อมา เมื่อผู้พยากรณ์นาธานถูกส่งไปเผชิญหน้าดาวิดเพื่อแฉความรุนแรงของบาปของท่าน พระยะโฮวาไม่เพียงแต่สดับฟังถ้อยคำที่ออกจากปากดาวิด แต่ยังทรงหยั่งเห็นว่าเป็นคำพูดจากหัวใจที่สำนึกผิดเสียด้วยซ้ำ. (2 ซามูเอล 12:1-14; บทเพลงสรรเสริญ 51:1, 17) สิ่งนั้นน่าจะทำให้เราคิดจริงจังเกี่ยวกับทิศทางที่เราจะไป, สิ่งที่เราทำ, และสิ่งที่มีอยู่ในหัวใจของเรามิใช่หรือ?
8. (ก) ‘คำที่อยู่บนลิ้นของเรา’ มีอิทธิพลในทางใดต่อฐานะของเรากับพระเจ้า? (ข) เราจะเอาชนะจุดอ่อนในการใช้ลิ้นได้โดยวิธีใด? (มัดธาย 15:18; ลูกา 6:45)
8 เนื่องจากพระเจ้าทรงทราบทุกสิ่งที่เรากระทำ จึงไม่น่าจะแปลกใจที่พระองค์ทรงทราบว่าเราใช้อวัยวะของร่างกายในทางใด แม้เป็นส่วนเล็ก ๆ เช่นลิ้น. กษัตริย์ดาวิดตระหนักดีในเรื่องนี้ และท่านได้เขียนว่า “ด้วยว่าไม่มีสักคำบนลิ้นของข้าพเจ้า แต่ดูซิ! ข้าแต่พระยะโฮวา พระองค์ทรงทราบคำนั้นทั้งสิ้นอยู่แล้ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:4, ล.ม.) ดาวิดทราบดีว่าบรรดาแขกรับเชิญที่จะอยู่ในพลับพลาของพระยะโฮวานั้นต้องเป็นผู้ไม่กล่าวร้ายนินทาคนอื่น และปฏิเสธที่จะใช้ลิ้นของตนแพร่คำพูดเชิงนินทาอันจะนำความอับอายขายหน้ามาสู่เพื่อนสนิท. ผู้ซึ่งพระยะโฮวาทรงโปรดปรานนั้นจะเป็นผู้ที่พูดความจริงจากหัวใจของตน. (บทเพลงสรรเสริญ 15:1-3; สุภาษิต 6:16-19) พวกเราไม่มีใครเลยสามารถควบคุมลิ้นตัวเองได้โดยสมบูรณ์ กระนั้น ดาวิดก็หาได้สรุปอย่างอ้อมแอ้มว่าท่านไม่สามารถทำอะไรได้เพื่อแก้ไขปรับปรุงสภาพการณ์ของท่าน. ท่านได้ใช้เวลามากประพันธ์และร้องบทเพลงถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวา. นอกจากนั้น ท่านยอมรับอย่างเปิดเผยว่าท่านต้องการความช่วยเหลือและได้ทูลขอจากพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 19:12-14) การใช้ลิ้นของเราจำเป็นต้องเอาใจใส่ด้วยการอธิษฐานเช่นกันไหม?
9. (ก) คำพรรณนาที่บทเพลงสรรเสริญ 139:5 บ่งชี้อะไรเกี่ยวด้วยเรื่องพระเจ้าทรงทราบสภาพการณ์ของเราโดยตลอด? (ข) ข้อนี้ทำให้เรามั่นใจในสิ่งใด?
9 พระยะโฮวาทรงทราบเกี่ยวกับตัวเราหรือสภาพของเราไม่ใช่แค่จากมุมมองอันจำกัด. พระองค์ทรงมีภาพเต็ม จากทุกด้านของเรา. โดยการใช้เมืองที่ถูกล้อมไว้เป็นตัวอย่าง ดาวิดเขียนดังนี้: “ทั้งข้างหน้าข้างหลัง พระองค์ได้ทรงล้อมข้าพเจ้าไว้.” ในกรณีของดาวิด พระเจ้าหาใช่ศัตรูที่ล้อมท่านไว้ไม่ ทว่าพระองค์ทรงเป็นผู้พิทักษ์ที่ระวังระไว. ดาวิดกล่าวเพิ่มเติม: “พระองค์ทรงวางพระหัตถ์ของพระองค์ไว้บนข้าพเจ้า” จึงแสดงว่าพระเจ้าทรงควบคุมและคุ้มครองเพื่อประโยชน์ยืนยงของคนเหล่านั้นที่รักพระองค์. ดาวิดยอมรับว่า “ความรู้ดังกล่าวอัศจรรย์เกินไปสำหรับข้าพเจ้า. ความรู้นั้นสูงเกินกว่าที่ข้าพเจ้าเอื้อมถึง.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:5, 6, ล.ม.) ความรู้ของพระเจ้าเกี่ยวด้วยผู้รับใช้ของพระองค์นั้นครบถ้วนและละเอียดลออจริง ๆ จนเราไม่สามารถจะเข้าใจความรู้นั้นได้เต็มที่. แต่พวกเราก็รู้พอที่จะมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงเข้าใจพวกเราอย่างแท้จริง และความช่วยเหลือที่พระองค์ทรงจัดเตรียมนั้นจะดีเยี่ยม.—ยะซายา 48:17, 18.
ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหน พระเจ้าจะทรงช่วยเรา
10. คำพรรณนาซึ่งให้ภาพชัดเจนจากบทเพลงสรรเสริญ 139:7-12 ถ่ายทอดความจริงอะไรอันเป็นการหนุนใจ?
10 ในการพิจารณาการใฝ่พระทัยด้วยความรักของพระยะโฮวาจากอีกแง่คิดหนึ่งนั้น ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวต่อไปว่า “ข้าพเจ้าจะไปที่ไหนให้พ้นจากพระวิญญาณของพระองค์ได้ และข้าพเจ้าจะหนีไปแห่งใดให้พ้นจากพระพักตร์ของพระองค์ได้?” ดาวิดไม่ปรารถนาจะหนีไปจากพระยะโฮวา แต่ท่านทราบว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน พระยะโฮวาทรงทราบและจะทรงสามารถช่วยท่านโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้. ท่านกล่าวต่อดังนี้: “ถ้าแม้นข้าพเจ้าจะขึ้นไปถึงสวรรค์ พระองค์ก็จะอยู่ที่นั่น; และถ้าข้าพเจ้าจะปูที่นอนไว้ในเชโอล ดูเถิด! พระองค์ก็จะอยู่ที่นั่น. ถ้าข้าพเจ้าจะใช้ปีกของแสงอรุณ เพื่อข้าพเจ้าจะอาศัยในทะเลอันไกลโพ้น ณ ที่นั้นพระหัตถ์ของพระองค์เองจะทรงนำข้าพเจ้า และพระหัตถ์เบื้องขวาของพระองค์จะทรงกุมข้าพเจ้าไว้. และถ้าข้าพเจ้าจะกล่าวว่า ‘แน่นอน ความมืดเองจะเร่งรั้งข้าพเจ้าไว้!’ แล้วกลางคืนจะเป็นแสงสว่างรอบข้าพเจ้า. แม้ความมืดเองจะปรากฏว่าไม่มืดเกินไปสำหรับพระองค์ แต่กลางคืนเองจะส่องสว่างดุจกลางวัน; ความมืดอาจเป็นราวกับความสว่างทีเดียว.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:7-12, ล.ม.) ไม่มีที่ไหนที่เราจะไป ไม่ว่าสภาพการณ์เช่นไรที่เราเผชิญ เราก็ยังไม่พ้นการมองเห็นของพระยะโฮวา หรือไม่ไกลเกินไปที่พระวิญญาณของพระองค์จะช่วยเราได้.
11, 12. (ก) แม้โยนาไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้ชั่วขณะ แต่พระปรีชาสามารถของพระยะโฮวาที่จะเห็นและช่วยได้นั้น ปรากฏแจ้งโดยวิธีใดในกรณีของโยนา? (ข) ประสบการณ์ของโยนาน่าจะเป็นประโยชน์แก่พวกเราอย่างไร?
11 มีอยู่คราวหนึ่ง ผู้พยากรณ์โยนาลืมความจริงข้อนี้ไป. พระยะโฮวาได้ทรงมอบหมายท่านให้ประกาศแก่ชาวเมืองนีนะเว. ด้วยเหตุผลบางประการ โยนาคิดว่าตนไม่สามารถทำหน้าที่นั้นได้. บางทีอาจเป็นเพราะชาวอัสซีเรียมีชื่อเสียงเป็นคนดุร้าย ความคิดที่จะปฏิบัติหน้าที่ในเมืองนีนะเวยังความครั่นคร้ามแก่โยนา. ฉะนั้น ท่านจึงพยายามหลบซ่อน. ณ ท่าเรือยบเป ท่านได้โดยสารเรือที่จะไปเมืองธาระซิศ (โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าเป็นสเปน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของนีนะเวประมาณ 3,500 กิโลเมตร). กระนั้นก็ดี พระยะโฮวาทรงเห็นโยนาลงเรือและเข้าไปนอนในท้องเรือ. พระเจ้าทรงทราบด้วยว่าโยนาอยู่ที่ไหน ในเวลาต่อมาเมื่อท่านถูกโยนลงทะเล และพระยะโฮวาได้ยินโยนาเมื่อท่านให้สัญญาจากในท้องปลาใหญ่ว่าจะทำตามที่ปฏิญาณไว้. ครั้นได้รับการช่วยชีวิตขึ้นมาอยู่บนบกแล้ว โยนาจึงได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่จะทำงานซึ่งได้รับมอบหมายให้สำเร็จ.—โยนา 1:3, 17; 2:1–3:4.
12 คงจะดีกว่าสักเพียงไรหากเริ่มแรกนั้นโยนาหมายพึ่งพระวิญญาณของพระยะโฮวาช่วยเหลือท่านทำงานตามที่รับมอบหมายจนสำเร็จ! แต่ภายหลัง โยนาได้จารึกประสบการณ์ของตนด้วยความถ่อม และบันทึกนั้นเองได้ช่วยหลายคนตั้งแต่คราวนั้นแสดงความมั่นใจในพระยะโฮวา ซึ่งดูเหมือนยากมากสำหรับโยนาจะมีความมั่นใจถึงขีดนั้น.—โรม 15:4.
13. (ก) หน้าที่มอบหมายอะไรที่เอลียาได้ทำด้วยความซื่อสัตย์จนแล้วเสร็จก่อนท่านจะหนีพระนางอีซาเบ็ล? (ข) พระยะโฮวาทรงช่วยเหลือเอลียาอย่างไร แม้ในเวลาที่ท่านพยายามจะหาที่หลบซ่อนนอกเขตแดนยิศราเอล?
13 ประสบการณ์ของเอลียาต่างออกไปบ้าง. ท่านได้ประกาศพระราชโองการของพระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ที่ว่าคนในชาติยิศราเอลจะประสบภัยแล้งซึ่งเป็นการตีสอนพวกเขาเนื่องด้วยการบาปที่เขาได้กระทำ. (1 กษัตริย์ 16:30-33; 17:1) ท่านได้สนับสนุนการนมัสการแท้อย่างกล้าหาญเมื่อมีการประชันกันระหว่างพระยะโฮวากับพระบาละที่ภูเขาคาระเม็ล. และท่านได้ติดตามด้วยการสังหารผู้พยากรณ์ของพระบาละ 450 คนที่ลำธารคีโซน. แต่เมื่อพระนางอีซาเบ็ลโกรธและสาบานว่าต้องฆ่าเอลียาให้จงได้ เอลียาได้หนีออกจากประเทศ. (1 กษัตริย์ 18:18-40; 19:1-4) พระยะโฮวาทรงอยู่ที่นั่นให้การช่วยเหลือในยามทุกข์ยากไหม? แน่นอน. ถ้าเอลียาจะปีนภูเขาสูง ประหนึ่งขึ้นไปถึงสวรรค์ หรือถ้าท่านซ่อนตัวอยู่ในที่ลึกสุดแห่งแผ่นดินโลก เหมือนอยู่ในเชโอล หรือหากท่านมีปีกบินไปยังเกาะที่ห่างไกลด้วยความเร็วอย่างแสงอรุณส่องสว่างไปทั่วแผ่นดิน—พระหัตถ์ของพระยะโฮวาจะอยู่ที่นั่นให้กำลังและจูงท่านไป. (เทียบกับโรม 8:38, 39) และพระยะโฮวาก็ได้ชูกำลังเอลียา ไม่เพียงแต่โดยโปรดให้มีอาหารระหว่างการเดินทางเท่านั้น แต่โดยการสำแดงพลังปฏิบัติการของพระองค์อย่างน่าอัศจรรย์ด้วย. เมื่อเอลียาได้รับการเสริมกำลังให้เข้มแข็งเช่นนั้น ท่านจึงปฏิบัติงานมอบหมายเกี่ยวกับการพยากรณ์ของท่านครั้งต่อไปได้.—1 กษัตริย์ 19:5-18.
14. (ก) เพราะเหตุใดจึงนับว่าเป็นการเข้าใจผิดที่จะสรุปว่าพระเจ้าสถิตทุกหนทุกแห่ง? (ข) ภายใต้สภาพการณ์เช่นไรที่พระยะโฮวาทรงอุปถัมภ์ค้ำชูผู้รับใช้ของพระองค์ด้วยความรักในสมัยปัจจุบัน? (ค) เป็นไปได้อย่างไรที่ว่าแม้เราจะอยู่ในเชโอล พระเจ้าก็จะอยู่ที่นั่น?
14 ถ้อยคำเชิงพยากรณ์จากบทเพลงสรรเสริญ 139:7-12 (ล.ม.) ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าทรงสถิตอยู่ทั่วทุกแห่ง หรือประทับ ณ ทุกที่ทุกแห่งตลอดเวลา. คัมภีร์ไบเบิลบ่งความชัดว่าไม่เป็นเช่นนั้น. (พระบัญญัติ 26:15; เฮ็บราย 9:24) ถึงกระนั้น ผู้รับใช้ของพระองค์ก็ใช่ว่าอยู่ไกลจนพระองค์ไปไม่ถึง. เป็นจริงอย่างนั้นกับคนที่รับมอบหมายในระบอบของพระเจ้าซึ่งต้องไปอยู่ในที่ห่างไกล. เป็นจริงเช่นกันกับพยานฯที่ซื่อสัตย์ในค่ายกักกันนาซีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นจริงกับมิชชันนารีที่ถูกแยกขังเดี่ยวในประเทศจีนตอนปลายทศวรรษปี 1950 และตอนต้นทศวรรษปี 1960. เป็นจริงกับพี่น้องชายหญิงที่รักของพวกเราในประเทศหนึ่งตอนกลางทวีปแอฟริกา ซึ่งต้องหนีออกจากหมู่บ้านชนบทของตนครั้งแล้วครั้งเล่า และหนีออกประเทศด้วยซ้ำ. ถ้าจำเป็น พระยะโฮวาสามารถยื่นพระหัตถ์ไปถึงเชโอลหรือหลุมฝังศพ และทรงทำให้ผู้ซื่อสัตย์ทั้งปวงคืนชีพอีกโดยการปลุกขึ้นจากตาย.—โยบ 14:13-15; ลูกา 20:37, 38.
พระองค์ผู้ทรงเข้าใจพวกเราอย่างแท้จริง
15. (ก) พระยะโฮวาทรงสามารถสังเกตเห็นความเจริญเติบโตของเราตั้งแต่ตอนไหน? (ข) ขอบเขตกว้างขวางแห่งความรู้ของพระเจ้าเกี่ยวด้วยตัวเรานั้นได้รับการบ่งชี้อย่างไรจากถ้อยคำของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญที่พาดพิงถึงไต?
15 โดยการดลบันดาล ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญเพ่งความสนใจไปยังข้อเท็จจริงที่ว่าพระเจ้าทรงรู้จักพวกเราก่อนการกำเนิดของเราเสียด้วยซ้ำ โดยกล่าวว่า “เพราะพระองค์เองได้สร้างไตของข้าพเจ้า; พระองค์ทรงดูแลให้ข้าพเจ้าถูกปิดคลุมไว้ในครรภ์มารดาของข้าพเจ้า. ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระองค์ เพราะข้าพเจ้าถูกสร้างอย่างน่าพิศวงในวิธีที่น่าเกรงขาม. พระราชกิจของพระองค์เป็นที่น่าพิศวง ดังที่จิตวิญญาณของข้าพเจ้าตระหนักทีเดียว.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:13, 14, ล.ม.) การรวมตัวกันระหว่างยีนจากบิดาและมารดาของเราในตอนปฏิสนธิได้ก่อตัวเป็นรูปแบบที่มีอิทธิพลควบคุมศักยภาพทางร่างกายและจิตใจของเรา. พระเจ้าทรงเข้าใจศักยภาพดังกล่าว. ในเพลงสรรเสริญบทนี้มีการกล่าวถึงไตเป็นพิเศษ ซึ่งในพระคัมภีร์มักจะใช้ไตเป็นนัยหมายถึงส่วนลึกที่สุดแห่งบุคลิกภาพ.a (บทเพลงสรรเสริญ 7:9; ยิระมะยา 17:10) พระยะโฮวาทรงทราบรายละเอียดเหล่านี้ที่เกี่ยวกับพวกเราตั้งแต่ก่อนเราเกิด. นอกจากนี้ พระองค์เป็นผู้ทรงออกแบบร่างกายมนุษย์ด้วยความรักและห่วงใยอย่างที่เซลล์ซึ่งปฏิสนธิแล้วในครรภ์มารดาจะผลิตเยื่อปกป้องเพื่อ “ปิดคลุม” และป้องกันตัวอ่อนขณะที่เติบโตขึ้นเป็นทารก.
16. (ก) บทเพลงสรรเสริญ 139:15, 16 เน้นฤทธิ์อำนาจการเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งของพระเจ้าอย่างไร? (ข) เหตุใดเรื่องนี้น่าจะหนุนใจพวกเรา?
16 ครั้นแล้ว เพื่อเน้นถึงฤทธิ์อำนาจการเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งของพระเจ้า ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวเพิ่มดังนี้: “กระดูกของข้าพเจ้ามิได้ถูกซ่อนไว้จากพระองค์ เมื่อข้าพเจ้าถูกสร้างในที่ลับ เมื่อข้าพเจ้าถูกสานในที่ต่ำสุดแห่งแผ่นดินโลก [ดูเหมือนว่า ในภาษากวีจะพาดพิงถึงครรภ์มารดาของท่าน แต่กล่าวโดยนัยพาดพิงถึงอาดามถูกสร้างจากผงธุลี]. พระเนตรของพระองค์เห็นกระทั่งตัวอ่อนของข้าพเจ้าด้วยซ้ำ และทุกส่วนของตัวอ่อนนั้นถูกเขียนลงในสมุดของพระองค์ เกี่ยวกับวันทั้งหลายเมื่อส่วนเหล่านั้น [ส่วนอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย] ถูกก่อรูปขึ้น และเมื่อยังไม่มีสักอันในส่วนเหล่านั้น [อวัยวะต่าง ๆ ยังไม่เสร็จบริบูรณ์].” (บทเพลงสรรเสริญ 139:15, 16, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้—ไม่ว่าเพื่อนมนุษย์จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจเราก็ตาม แต่พระยะโฮวาทรงเข้าใจ. เรื่องนี้น่าจะมีผลกระทบพวกเราอย่างไร?
17. เมื่อเรามองดูราชกิจของพระเจ้าว่าเป็นสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ ข้อนี้กระตุ้นพวกเราให้ทำอะไร?
17 ผู้เขียนเพลงสรรเสริญบท 139 ได้ยอมรับว่าราชกิจของพระเจ้าตามที่ท่านเขียนนั้นเป็นเรื่องน่าพิศวง. คุณรู้สึกอย่างนั้นด้วยไหม? สิ่งใดที่แปลกน่าพิศวงทำให้คนเราคิดไตร่ตรองหรือไม่ก็แสดงความสนใจอย่างจดจ่อ. น่าจะเป็นไปได้ว่าคุณเองก็มีปฏิกิริยาอย่างนั้นต่อการงานสร้างสรรค์ของพระยะโฮวาทางด้านวัตถุ. (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 8:3, 4, 9) คุณคิดไตร่ตรองเช่นนั้นด้วยไหมในเรื่องสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำเกี่ยวกับการสถาปนาราชอาณาจักรมาซีฮาขึ้น ทั้งสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำเกี่ยวกับการที่จะให้มีการประกาศข่าวดีไปทั่วโลก และวิธีที่พระคำของพระองค์เปลี่ยนบุคลิกภาพของมนุษย์?—เทียบกับ 1 เปโตร 1:10-12.
18. หากเราเห็นแล้วว่าราชกิจของพระเจ้าเป็นที่น่าเกรงขาม ข้อนี้จะมีผลกระทบต่อพวกเราอย่างไร?
18 เป็นประสบการณ์ของคุณด้วยไหมว่าการเพ่งพิจารณาดูราชกิจของพระเจ้าทำให้คุณเกิดความรู้สึกเกรงขาม, ก่อความรู้สึกเกรงกลัวอย่างที่เป็นประโยชน์, เป็นความรู้สึกที่ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นอันมีพลัง, มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อบุคลิกภาพของคุณและต่อวิธีที่คุณใช้ชีวิต? (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 66:5) ถ้าเป็นดังกล่าว หัวใจของคุณจะกระตุ้นคุณให้ยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวา หาโอกาสบอกผู้อื่นให้รู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ และสิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ ซึ่งพระองค์ทรงเตรียมไว้สำหรับคนทั้งหลายที่รักพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 145:1-3.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูอินไซต์ ออน เดอะ สคริปเจอร์ส จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแอนด์แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก, เล่ม 2 หน้า 150.
คุณมีความเห็นอย่างไร?
▫ การที่เรารู้ว่า “พระยะโฮวาเป็นพระเจ้า” จะช่วยเราอย่างไรให้รับใช้พระองค์ด้วยความยินดี?
▫ การที่พระเจ้าทรงทราบทุกสิ่งที่เราทำนั้นควรส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างไร?
▫ ทำไมข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเราไม่เคยคลาดไปจากสายพระเนตรของพระเจ้าจึงเป็นการหนุนกำลังใจ?
▫ ทำไมพระเจ้าทรงสามารถเข้าใจพวกเราได้อย่างที่ไม่มีมนุษย์คนใดอาจทำได้?
▫ ทำไมการศึกษาอย่างนี้ทำให้พวกเราอยากยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวา?