จงถวายเกียรติยศแด่พระนามบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา!
“ปากของข้าพเจ้าจะกล่าวคำสรรเสริญพระยะโฮวา และจงให้สรรพสัตว์ทั้งสิ้นถวายเกียรติยศแด่พระนามบริสุทธิ์ของพระองค์ ไม่มีเวลากำหนด แม้กระทั่งตลอดกาล.”—บทเพลงสรรเสริญ 145:21, ล.ม.
1, 2. (ก) ซาตานได้ท้าทายการปกครองของพระเจ้าโดยวิธีใด? (ข) เกี่ยวกับบทเพลงสรรเสริญ 145:11-21 นั้นได้มีคำถามอะไรขึ้นมา?
พระยะโฮวาทรงเป็นบรมมหิศรเหนือเอกภพอย่างไม่มีข้อสงสัย. แต่ซาตานได้ท้าทายความชอบธรรมและความถูกต้องแห่งการปกครองของพระเจ้า. (เยเนซิศ 2:16, 17; 3:1-5) นอกจากนั้น พญามารยังก่อให้เกิดประเด็นว่าด้วยความซื่อสัตย์ภักดีของบรรดาผู้รับใช้พระเจ้าทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก. (โยบ 1:6-11; 2:1-5; ลูกา 22:31) ฉะนั้น พระยะโฮวาจึงให้เวลากับมวลมนุษย์ผู้มีเชาวน์ปัญญานานพอจะมองเห็นความเสียหายเนื่องด้วยการกบฏต่อการปกครองของพระองค์และแสดงให้เห็นว่าพวกเขาอยู่ฝ่ายไหนในประเด็นเหล่านี้.
2 เพลงสรรเสริญบท 145 ช่วยเราให้ยืนหยัดมั่นคงอยู่ฝ่ายการปกครองของพระเจ้า. เป็นไปได้อย่างไร? ดาวิดตรัสไว้อย่างไรเกี่ยวด้วยการปกครองของพระยะโฮวา? และพระเจ้าทรงปฏิบัติอย่างไรกับฝ่ายสนับสนุนการปกครองของพระองค์? คำตอบที่มีประโยชน์ปรากฏอยู่ในเพลงสรรเสริญบท 145:11-21.
กล่าวถึงฐานะกษัตริย์ของพระยะโฮวา
3. ถ้าฐานะกษัตริย์ของพระยะโฮวาเป็นสิ่งที่เรารัก เราจะทำประการใด?
3 อำนาจปกครองของพระยะโฮวาเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับดาวิด ผู้ซึ่งได้กล่าวว่า “เขาทั้งหลายจะพูดถึงสง่าราศีแห่งฐานะกษัตริย์ของพระองค์ และเขาจะเล่าถึงฤทธานุภาพของพระองค์ เพื่อประกาศให้บรรดาบุตรของมนุษย์ทราบถึงการอิทธิฤทธิ์ของพระองค์ และสง่าราศีแห่งความสง่างามแห่งฐานะกษัตริย์ของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:11, 12, ล.ม.) คนเรามักจะพูดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาสนใจ. ผู้ชายพูดเรื่องครอบครัว บ้านช่อง การเก็บเกี่ยวพืชผลของเขา. พระเยซูได้ตรัสว่า “คนดีก็ย่อมเอาของดีออกจากคลังดีแห่งใจของตน.” (ลูกา 6:45) ถ้าใจของเรารักและผูกพันกับการปกครองของพระเจ้า เราจะอธิษฐานขอให้ราชอาณาจักรมา และเราจะบอกใครต่อใครว่า ภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักร ความยุติธรรม สันติภาพและความชอบธรรมจะมีแพร่หลายดาษดื่น. เราจะสรรเสริญพระยะโฮวาฐานะเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งทุกยุค” และเราจะพูดถึงการสำแดงพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ โดยราชอาณาจักรมาซีฮาในพระหัตถ์พระเยซูคริสต์พระบุตรที่รักของพระองค์. (วิวรณ์ 15:3; ยะซายา 9:6, 7) ช่างเป็นสิทธิพิเศษอะไรเช่นนั้นที่จะพูดถึงสง่าราศีแห่งฐานะกษัตริย์ของพระยะโฮวาทางภาคสวรรค์ ซึ่งในไม่ช้าจะสะท้อนให้เห็นในความงดงามของอุทยานบนแผ่นดินโลกซึ่งเต็มไปด้วยมนุษย์ที่มีความสุขพร้อมทุกประการ!—ลูกา 23:43.
4. เรามีโอกาสพูดเรื่อง “ฤทธานุภาพ” ของพระยะโฮวาเมื่อไร และเราได้รับการค้ำจุนโดยวิธีใดในกิจกรรมดังกล่าว?
4 อนึ่ง การหยั่งรู้ค่าจะกระตุ้นเราให้พูดถึง “การอิทธิฤทธิ์” ของพระยะโฮวา. ถึงแม้น “พระองค์ทรงไว้ซึ่งเดชานุภาพ” แต่พระองค์ไม่เคยใช้อำนาจอย่างผิด ๆ. (โยบ 37:23) พระองค์ทรงใช้ฤทธิ์อำนาจของพระองค์สร้างแผ่นดินโลกพร้อมด้วยมนุษยชาติ และจะทรงใช้อำนาจนี้แหละทำลายคนชั่ว. เรามีโอกาสพูดถึงอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้าเมื่อเราประกาศข่าวดี. และเราไม่สำนึกบุญคุณทีเดียวหรือว่าแหล่งพลังแต่ดั้งเดิมนี้ได้เพิ่มกำลังให้เราสามารถทำงานนี้ได้? (ยะซายา 40:29-31) ใช่แล้ว ในฐานะที่เป็นพยานพระยะโฮวา เราได้รับการค้ำจุนให้อยู่ในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์โดยพลังและพระวิญญาณของพระเจ้า. โดยทางนี้เท่านั้นที่ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรได้รับการประกาศจนลุล่วงไปทั่วแผ่นดินโลก.—บทเพลงสรรเสริญ 28:7, 8; ซะคาระยา 4:6.
5. เพราะเหตุที่ปวงชนมากมายไม่รู้จัก “การอิทธิฤทธิ์” ของพระยะโฮวา เราควรทำอย่างไร?
5 เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องประกาศ “การอิทธิฤทธิ์” ของพระยะโฮวาแก่บุตรของมนุษย์ อย่างที่ชาวยิศราเอลบอกกล่าวแก่บุตรหลานของตนถึงเรื่องที่พระเจ้าทรงปลดปล่อยพวกเขาพ้นจากการเป็นทาสชาวอียิปต์. (เอ็กโซโด 13:14-16) มนุษย์สร้างอนุสาวรีย์เพื่อผู้คนที่ได้กระทำสิ่งซึ่งพวกเขาถือว่าน่าจดจำ แต่มีสักกี่คนรู้จักการอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า? ดังผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวอย่างนี้ “เขาจารึกชื่อวีรชนลงบนแผ่นทองเหลือง แต่การกระทำอันรุ่งโรจน์ของพระยะโฮวาถูกจารึกลงบนทรายและกระแสธารแห่งกาลเวลาชะจนลบเลือนไปจากความทรงจำ.” ที่จริง การกระทำเหล่านั้นไม่ถูกชะจนลบเลือนไป แม้ไม่เป็นที่รู้ในหมู่คนจำนวนมาก. ดังนั้น ในการประกาศตามบ้าน เมื่อเรานำการศึกษาพระคัมภีร์ และในโอกาสอื่น ๆ จงให้เราพูดถึงการอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้าด้วยความกระตือรือร้น.
6. (ก) ในโอกาสไหนเมื่อหลายปีมาแล้วได้มีการแสดงออกเป็นอย่างดีถึงน้ำใจที่ทำให้เราเทศนาประกาศด้วยความร้อนรน? (ข) อะไรคือใจความที่กล่าวในปี 1922 เกี่ยวกับการโฆษณาราชอาณาจักร?
6 อนึ่ง เราควรประกาศถึงสง่าราศีแห่งฐานะกษัตริย์ของพระเจ้าด้วยความกระตือรือร้นเช่นกัน. ความจริงใจเพื่อปฏิบัติงานราชอาณาจักรนั้นเห็นประจักษ์อย่างแท้จริงในปี 1922 เมื่อเจ. เอ็ฟ. รัทเธอร์ฟอร์ด นายกสมาคมวอชเทาเวอร์ในเวลานั้น กล่าวปราศรัยต่อผู้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ที่ซีดาร์พอยท์ รัฐโอไฮโอ ดังนี้ “ตั้งแต่ปี 1914 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสง่าราศีได้รับราชอำนาจจากพระเจ้า . . . ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ถูกตั้งขึ้นแล้ว มหากษัตริย์ทรงครองราชย์ จักรภพของซาตานเสื่อมถอยแล้ว หลายล้านคนที่มีชีวิตเวลานี้จะไม่ตาย. ท่านเชื่อเช่นนั้นไหม? . . . ถ้าเช่นนั้นจงกลับไปยังเขตประกาศ โอ พวกท่านที่เป็นบุตรของพระเจ้าองค์สูงสุด! จงสวมเกราะไว้แน่น! จงสุขุม ระวังระไว จงทำงานอย่างทะมัดทะแมง จงกล้าหาญ. จงซื่อสัตย์และเป็นพยานแท้ของพระเจ้า. จงรุดหน้าต่อสู้จนกระทั่งร่องรอยทุกอย่างของบาบูโลนไม่หลงเหลือให้เห็น. จงป่าวประกาศข่าวออกไปให้กว้างไกล. โลกต้องรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าและพระเยซูคริสต์เป็นมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งปวง และเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งเจ้าทั้งปวง. วันนี้แหละเป็นวันสำคัญยิ่ง. ดูเถิด พระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์แล้ว! ท่านเป็นตัวแทนของพระองค์. เหตุฉะนั้น จงโฆษณา โฆษณา โฆษณา พระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรของพระองค์.”
7. เราควรรู้สึกเช่นไรเกี่ยวด้วยการงานของเราในฐานะเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักร?
7 ช่างเป็นความชื่นชมอะไรเช่นนั้นที่จะ ‘ระลึกถึงพระนามของพระเจ้า’ และบอกคนอื่น ๆ เกี่ยวกับการปกครองของพระองค์ ทั้งจะประกาศราชอาณาจักรมาซีฮาแห่งพระบุตรที่รักของพระองค์! (มาลาคี 3:16) ในฐานะเป็นผู้ประกาศและสนับสนุนราชอาณาจักร เราทะนุถนอมสิทธิพิเศษแห่งการประกาศข่าวดีและโน้มนำหัวใจผู้คนเข้ามาหาพระเจ้า พระคริสต์และราชอาณาจักร. ภายในตัวเราควรคุกรุ่นด้วยความปรารถนาที่จะบอกคนอื่นถึงเรื่องความสง่างามอันรุ่งโรจน์แห่งฐานะกษัตริย์ของพระยะโฮวา.—เทียบกับยิระมะยา 20:9.
8. (ก) ทุกวันนี้การปกครองของพระยะโฮวาได้แสดงออกในรูปใด? (ข) ทำไมจึงอาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าทรงไว้ซึ่งอำนาจ “ตลอดทุกชั่วอายุเรียงลำดับตามกันมา”?
8 พวกเราน่าจะมีแรงกระตุ้นให้ประกาศข่าวราชอาณาจักรของพระเจ้าด้วยความร้อนรน. เพราะดาวิดทรงกล่าวต่อจากนั้นว่า “ฐานะกษัตริย์ของพระองค์ดำรงอยู่ทุกสมัยไม่มีเวลากำหนด และการปกครองของพระองค์คงอยู่ตลอดทุกชั่วอายุเรียงลำดับตามกันมา.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:13, ล.ม.) ขณะที่ท่านผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญยังคงคิดรำพึงถึงฐานะกษัตริย์ของพระยะโฮวาอยู่นั้น ท่านเปลี่ยนสรรพนาม “ของพระองค์” บุรุษที่ 3 เป็น “ของพระองค์” บุรุษที่ 2 โดยกล่าวคำอธิษฐานถึงพระเจ้าโดยตรง. แน่นอน การครอบครองของพระยะโฮวาโดยราชอาณาจักรมาซีฮานั้นหาได้ลบล้างตำแหน่งของพระเจ้าฐานะกษัตริย์แห่งทุกยุคเสียไม่. ที่จริง เมื่อมนุษยชาติที่เชื่อฟังถูกยกฐานะเข้าสู่ความสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว พระคริสต์จะทรงคืนราชอาณาจักรให้แก่พระบิดาของพระองค์. (1 โกรินโธ 15:24-28) ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงไว้ซึ่งอำนาจ “ตลอดทุกชั่วอายุเรียงลำดับตามกันมา.” พระยะโฮวาทรงเป็นกษัตริย์อยู่แล้วตอนที่อาดามถูกสร้างและจะทรงครอบครองมนุษย์ที่ชอบธรรมตลอดไปเป็นนิตย์.
9. ในเพลงสรรเสริญบท 145 อาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวด้วยตอนหนึ่งซึ่งเริ่มต้นด้วยอักษรฮีบรูนูน?
9 ในเพลงแบบกลอนกระทู้นี้ ฉบับของพวกมาโซเรต เว้นข้อหนึ่งซึ่งเริ่มด้วยอักษรฮีบรูนูน. แต่ตามฉบับกรีกเซ็พตัวจินท์ ฉบับซิรีแอค เพชิททา และฉบับลาตินวัลเกท บทจารึกภาษาฮีบรูฉบับหนึ่งอ่านว่า “พระยะโฮวาทรงซื่อสัตย์ในบรรดาถ้อยคำของพระองค์ และทรงเปี่ยมด้วยความกรุณาประกอบด้วยความรักใคร่ [หรือ “ภักดี”] ในกิจการทั้งปวงของพระองค์.” (ฉบับแปลนิวเวิลด์ แทรนสเลชัน อ็อฟ เดอะ โฮลี สคริพเจอร์—พร้อมด้วยข้องอ้างอิง หมายเหตุ) พระเจ้าทรงกระทำให้สำเร็จทุกประการตามคำสัญญาของพระองค์ และ “ทรงกรุณาอย่างรักใคร่” ต่อทุกคนที่หยั่งรู้ค่าความดีของพระองค์.—ยะโฮซูอะ 23:14.
การค้ำจุนของพระยะโฮวามีอยู่เสมอ
10. พระเจ้า ‘ทรงค้ำจุนพวกเรา’ โดยวิธีใด?
10 พระมหากษัตริย์แห่งทุกยุคไม่เคยมองข้ามความทุกข์ยากแห่งผู้รับใช้ของพระองค์. ดังนั้น ดาวิดสามารถกล่าวได้ว่า “พระยะโฮวาทรงโปรดค้ำชูทุกคนที่กำลังจะล้มลง และทรงยกบรรดาคนตกอับให้ลุกขึ้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:14, ล.ม.) นับตั้งแต่สมัยเฮเบล พระยะโฮวาทรงค้ำชูเหล่าผู้นมัสการพระองค์เสมอมา. ลำพังตัวเราเอง เราคงจมอยู่กับภาระอันหนักอึ้งครั้งแล้วครั้งเล่า. เราไม่มีกำลังเข้มแข็งพอจะทนทานพิบัติภัยทั้งมวลในชีวิต และการข่มเหงที่เกิดกับเราในฐานะเป็นไพร่พลของพระเจ้า แต่พระยะโฮวาทรงประคองเราไว้. รูปคำกริยาภาษาฮีบรูที่ใช้ ณ ที่นี้แสดงว่าพระเจ้า ‘ให้การสนับสนุนเรา’ อยู่เรื่อย ๆ. อาจเป็นที่สังเกตว่าโยฮันผู้ให้บัพติสมาและพระบุตรของพระเจ้าได้สงเคราะห์คนบาปที่พลาดพลั้งไปให้กลับตั้งตัวได้ใหม่ทางศีลธรรม. เมื่อบุคคลเหล่านี้สำนึกผิดกลับใจและกลายมาเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา เขาได้รับพระพรอย่างน่าทึ่งด้วยการค้ำชูจากพระเจ้า.—มัดธาย. 21:28-32; มาระโก 2:15-17.
11. พระยะโฮวา ‘ทรงยกคนตกอับให้ลุกขึ้น’ โดยวิธีใด?
11 เป็นความสบายใจที่รู้ว่า ‘พระยะโฮวาทรงยกคนตกอับ’ เนื่องด้วยความทุกข์ยากต่าง ๆ กัน. พระองค์ทรงยังความปลื้มปีติแก่ผู้ที่ท้อแท้ผิดหวัง ทรงปลอบใจผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า และโปรดให้เรากล่าวคำของพระองค์ด้วยความกล้าเมื่อได้รับการกดขี่ข่มเหง. (กิจการ 4:29-31) พระองค์ไม่ทรงปล่อยให้ความทุกข์หนักรุมเร้าทับถมเราถ้าเรายอมรับความช่วยเหลือจากพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 55:22) ดังนั้น เช่นเดียวกันกับ “ผู้หญิงนี้เป็นเชื้อสายของอับราฮาม” ซึ่งยืดตัวตรงไม่ได้ แต่เธอได้รับการบำบัดรักษาจากพระเยซู ส่วนพวกเราควร “สรรเสริญพระเจ้า” เมื่อพระองค์ทรงยกเราขึ้นทางด้านวิญญาณด้วยความรักใคร่. (ลูกา 13:10-17) พวกผู้ถูกเจิมที่ตกอับด้วยการเป็นทาสของบาบูโลน ต่างคนรู้สึกขอบพระคุณเมื่อพระเจ้าได้ทรงกู้เขาขึ้นในปี 1914 และตั้งแต่ปี 1935 เป็นต้นมา พระองค์ก็ได้ทรงยก “แกะอื่น” ซึ่งเป็นคนหยั่งรู้ค่าให้ลุกขึ้นเช่นกัน.—โยฮัน 10:16.
12. ที่ว่า “นัยน์ตาของสรรพสัตว์ทั้งปวงคอยท่าพระองค์ด้วยความหวัง” นั้นหมายถึงอะไร?
12 พระยะโฮวาไม่เคยทำให้ไพร่พลของพระองค์ผิดหวัง ดังที่ดาวิดทำให้กระจ่างขึ้นโดยคำกล่าวที่ว่า “นัยน์ตาของสรรพสัตว์ทั้งปวงคอยท่าพระองค์ด้วยความหวัง และพระองค์ทรงประทานอาหารให้ตามฤดูกาล. พระองค์ทรงแบพระหัตถ์ของพระองค์ และประทานแก่สรรพสัตว์จนอิ่มหนำตามความปรารถนา.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:15, 16, ล.ม.) ประหนึ่งดวงตาของสรรพสัตว์ที่มีชีวิตจ้องคอยจะได้รับจากองค์บรมมหิศรด้วยความหวัง. ทูตสวรรค์หมายพึ่งพระเจ้าเพื่อชีวิตยืนยาวสืบไป. บุตรหวังว่าจะได้รับสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นจากบิดามารดาฉันใด เราก็ย่อมหมายพึ่งพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ฉันนั้น. ที่จริง มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งปวงล้วนได้รับการค้ำจุนจากพระองค์ทั้งนั้น. ไม่มีผู้ใดอื่นจัดให้ได้สมกับความต้องการ. พระเจ้า “ทรงประทานอาหารให้ตามฤดูกาล” ซึ่งหมายถึงให้เมื่อถึงคราวจำเป็น.
13. โดยวิธีใดพระยะโฮวา ‘ทรงแบพระหัตถ์และประทานให้สรรพสัตว์จนอิ่มตามความปรารถนา’?
13 พระเจ้า ‘ทรงแบพระหัตถ์และประทานแก่สรรพสัตว์จนอิ่มหนำตามความปรารถนา.’ (บทเพลงสรรเสริญ 104:10-28) จริง สัตว์บางชนิดตายเพราะขาดอาหาร. มนุษย์มากมายอดยากเนื่องจากความเห็นแก่ตัว การบีบคั้นและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างผิด ๆ. ยิ่งกว่านั้น พระเยซูทรงพยากรณ์ว่า “การขาดแคลนอาหาร” จะเป็นลักษณะเด่นแห่ง “สัญลักษณ์” แสดงถึงการประทับของพระองค์ในสมัยสุดท้าย. (มัดธาย 24:3, 7) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีสักอย่างเดียวเนื่องมาจากพระยะโฮวาทรงตระหนี่หรือไม่สามารถจัดหาให้พอเพียง. คิดดูซิ สรรพสัตว์มากมหาศาลนับล้านล้านตัวได้รับการเลี้ยงดู! นอกจากนั้น เพลงสรรเสริญบทนี้ให้คำรับรองว่า ภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักร เมื่อ ‘มนุษย์จะไม่ใช้อำนาจเหนือมนุษย์ด้วยกันเป็นผลเสียหายแก่เขา’ พระเจ้าจะทรงประทานแก่เราจนเป็นที่พอใจตามความจำเป็นทั้งด้านวัตถุและฝ่ายวิญญาณ. (ท่านผู้ประกาศ 8:9; ยะซายา 25:6) แม้แต่เวลานี้ เราไม่ต้องหิวอาหารฝ่ายวิญญาณเลย เพราะพระเจ้าทรงจัดเตรียมสิ่งนี้อย่างบริบูรณ์ตามฤดูกาลโดยผ่าน “บ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ.” (มัดธาย 24:45-47; 1 เปโตร 2:2) พูดในแง่วิญญาณ พยานพระยะโฮวาเป็นกลุ่มชนที่อิ่มหนำสำราญที่สุดบนแผ่นดินโลก. คุณล่ะ แสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งสำหรับความอุดมบริบูรณ์เช่นนี้ไหม?
พระยะโฮวาทรงพิทักษ์คนเหล่านั้นที่รักพระองค์
14. ทำไมกษัตริย์ดาวิดสามารถกล่าวได้ว่า “พระยะโฮวาทรงชอบธรรมในทางทั้งปวงของพระองค์และภักดีในกิจการทั้งสิ้นของพระองค์” ?
14 ความโง่เขลาที่ติดตัวอยู่นั้นอาจทำให้ ‘แนวทางของเราเขวไป’ และนำความยุ่งยากมาสู่ตัวเอง แต่อย่าให้เราตำหนิพระเจ้าเพราะความยุ่งยากเหล่านี้เลย. (สุภาษิต 19:3) กษัตริย์ดาวิดให้เหตุผลเมื่อตรัสว่า “พระยะโฮวาทรงชอบธรรมในทางทั้งปวงของพระองค์ และภักดีในกิจการทั้งสิ้นของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:17, ล.ม.) พระเจ้าทรงดำเนินการอย่างถูกต้อง ยุติธรรมและเมตตาเสมอมา. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเมตตาของพระองค์ประจักษ์ชัดด้วยการจัดเตรียมความรอดโดยทางเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. (กิจการ 2:21; 4:8-12) อนึ่ง พระยะโฮวา “ทรงภักดีในกิจการทั้งสิ้นของพระองค์” ทรงซื่อสัตย์ รักใคร่เป็นอาจิณ และไม่เลือกที่รักมักที่ชัง. ดังนั้น ในฐานะเป็น “ผู้ประพฤติอย่างพระเจ้า” ให้เราเป็นคนซื่อตรง ยุติธรรม มีใจเมตตา ไม่ลำเอียงและภักดีอยู่เสมอ.—เอเฟโซ 5:1, 2; พระบัญญัติ 32:4; บทเพลงสรรเสริญ 7:10; 25:8; ยะซายา 49:7; กิจการ 10:34, 35.
15. พวกเรา ‘ทูลต่อพระองค์ด้วยความสัตย์จริง’ นั้นโดยวิธีใด และจากการที่เราทำเช่นนั้นมีผลอะไรตามมา?
15 เนื่องจากพระเจ้าทรงชอบธรรมและภักดี เราจึงอยากเข้าใกล้พระองค์. ยิ่งกว่านั้น ดาวิดได้ให้คำรับรองแก่เราว่า “พระยะโฮวาทรงสถิตใกล้คนทั้งปวงที่ร้องทูลต่อพระองค์ คือทุกคนที่ทูลต่อพระองค์ด้วยความสัตย์จริง.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:18, ล.ม.) ด้วยการรับบัพติสมาฐานะเป็นผู้มีความเชื่อที่ได้อุทิศตัว เราก็ได้ออกพระนามพระยะโฮวา. (กิจการ 8:12; 18:8; โรม 10:10-15) เนื่องจากเราได้เข้ามาใกล้พระเจ้าเช่นนี้ พระองค์ก็เสด็จมาใกล้เรา. (ยาโกโบ 4:8) พวกเรา “ทูลต่อพระองค์ด้วยความสัตย์จริง” ก็เพราะเราปฏิบัติเช่นนั้นในแนวทางที่ถูกต้อง ผ่านทางพระเยซูคริสต์. และพระยะโฮวาจะทรงสถิตใกล้ถ้าเรานมัสการพระองค์ “ด้วยวิญญาณและความจริง” แสดง “ความเชื่ออันแท้” และ ‘มั่นคงอยู่ต่อ ๆ ไปเหมือนหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตา.’ (โยฮัน 4:23, 24; 1 ติโมเธียว 1:5; เฮ็บราย 11:27) แล้วเราจะไม่อธิษฐานเสียแรงเปล่า หรือต้องเผชิญโลกของซาตานเพียงลำพัง แต่เราจะยังคงได้รับการสงเคราะห์และการนำทางจากพระเจ้าต่อไป. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2; 1 โยฮัน 5:19) ช่างเป็นความมั่นคงปลอดภัยอะไรอย่างนั้น!
16. ทำไมพระยะโฮวา ‘ทรงโปรดแก่คนทั้งหลายที่เกรงกลัวพระองค์ให้ได้สมปรารถนา’ และโดยวิธีใด?
16 นอกจากนี้ เรามีความปลอดภัยแท้ เพราะพระยะโฮวาทรงกระทำอีกหลายอย่างเพื่อเรา. ดาวิดตรัสว่า “พระองค์จะทรงโปรดแก่คนทั้งหลายที่เกรงกลัวพระองค์ให้ได้สมปรารถนา และจะทรงสดับเสียงร้องขอความช่วยเหลือของเขา และพระองค์จะทรงช่วยเขาให้รอด.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:19, ล.ม.) พระยะโฮวา “โปรดให้เราได้สมปรารถนา” เพราะเรามีความนับถืออย่างสูงส่งต่อพระเจ้า และความกลัวอย่างสมควรด้วยเราเกรงว่าจะขัดพระทัยพระองค์. (สุภาษิต 1:7) หัวใจของเราที่ยอมเชื่อฟังได้กระตุ้นเราให้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา และท่าทีของเราเป็นอย่างนี้: “ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์.” เนื่องจากเป็นพระทัยประสงค์ของพระองค์ที่เราประกาศข่าวราชอาณาจักร พระองค์จึงทรงโปรดเราได้ทำงานนี้สมปรารถนา. (มัดธาย 6:10; มาระโก 13:10) พระเจ้า ‘โปรดแก่เราสมปรารถนา’ เพราะเราไม่ได้ทูลขออย่างเห็นแก่ตัว แต่ได้ทูลขอสิ่งต่าง ๆ ซึ่งประสานกับพระทัยประสงค์ของพระองค์. พระองค์ทรงโปรดแก่เราตรงตามพระทัยประสงค์ของพระองค์และเพื่อประโยชน์อันดีของเรา.—1 โยฮัน 3:21, 22; 5:14, 15; เทียบกับมัดธาย 26:36-44.
17. ทำไมเราจึงแน่ใจได้ว่า พระเจ้าจะได้ยิน “เสียงร้องขอความช่วยเหลือ” ของเรา?
17 ในฐานะเป็นพยานพระยะโฮวาที่ภักดี เราย่อมแน่ใจอีกด้วยว่า ‘เสียงร้องขอความช่วยเหลือ’ ของเราย่อมได้ยินไปถึงพระกรรณพระองค์. พระเจ้าได้ทรงช่วยดาวิดหลุดพ้นความหายนะและทรงช่วยชีวิตพระเยซู กระทั่งปลุกพระเยซูให้เป็นขึ้นจากตายด้วยซ้ำ. เมื่อเราตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการโจมตีของโฆฆ เราย่อมแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาจะช่วยเราให้รอดพ้น. (ยะเอศเคล 38:1-39:16) ที่จริง ในยามที่มีความทุกข์ร้อน เราอธิษฐานด้วยความมั่นใจเหมือนดาวิด ซึ่งทูลว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา ขอพระเจ้าทรงกรุณาต่อข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้ามีความทุกข์ร้อน. . . . ข้าพเจ้าได้ยินคนติฉินนินทาข้าพเจ้ามากมาย ความหวาดหวั่นมีอยู่ล้อมรอบข้าพเจ้าทุกด้าน. เมื่อเขาปรึกษากันต่อสู้ข้าพเจ้า เขาได้คิดอ่านจะผลาญชีวิตข้าพเจ้าเสีย. ข้าแต่พระยะโฮวา ฝ่ายตัวข้าพเจ้าได้วางใจในพระองค์ จนได้กล่าวว่า ‘พระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า.’”—บทเพลงสรรเสริญ 31:9-14.
18. เราได้ประโยชน์อย่างไรจากการที่รู้ว่าพระยะโฮวาทรงพิทักษ์คนที่รักพระองค์ แต่จะทรงทำลายคนชั่ว?
18 พระเจ้ายะโฮวาทรงพร้อมจะช่วยเราเสมอ. อย่างที่ดาวิดตรัสว่า “พระยะโฮวาทรงพิทักษ์คนทั้งปวงที่รักพระองค์ แต่คนชั่วทุกคนพระองค์จะทำลายเสียสิ้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:20, ล.ม.) ถูกแล้ว ถ้าเรารักพระเจ้า พระองค์จะทรงอวยพรและคุ้มครองเรา. (อาฤธโม 6:24-26) พระองค์ ‘จะทรงตอบแทนคนอหังการให้เต็มขนาด’ แต่จะทรงพิทักษ์ผู้รับใช้ของพระองค์ซึ่งมีใจถ่อม จะไม่ทรงยอมให้สิ่งร้ายใด ๆ เกิดแก่เขาเป็นความเสียหายตลอดไป. เนื่องจากพระยะโฮวาอยู่ฝ่ายเรา ฉะนั้นจงให้เรากล้าหาญ. (บทเพลงสรรเสริญ 31:20-24; กิจการ 11:19-21) ‘ไม่มีเครื่องมืออันใดที่สร้างไว้ประหารเจ้าจะสัมฤทธิ์ผล.’ (ยะซายา 54:17; บทเพลงสรรเสริญ 9:17; 11:4-7) นี่แหละคือประสบการณ์ของผู้ที่พิสูจน์ตัวว่ามีความรักต่อพระเจ้าในฐานะเขาเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์และอุทิศตัวแด่พระองค์. พยานพระยะโฮวาฐานะเป็นกลุ่มชนย่อมจะรอดปลอดภัยผ่าน “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ซึ่งจะเกิดแก่คนชั่ว. (วิวรณ์ 7:14) ครั้นได้จัดการประเด็นสำคัญเกี่ยวกับฐานะกษัตริย์แห่งเอกภพของพระยะโฮวาเรียบร้อยแล้ว ช่างจะเป็นพระพรอะไรเช่นนั้นสำหรับ “คนทั้งหลายที่รักพระองค์”!
จงถวายพระเกียรติยศแด่พระนามบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป
19. ทำไมปากของเรากล่าวคำสรรเสริญพระยะโฮวา?
19 ดาวิดได้สรุปเพลงสรรเสริญที่ปลุกเร้าใจบทนี้ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ปากของข้าพเจ้าจะกล่าวคำสรรเสริญพระยะโฮวา; จงให้สรรพสัตว์ทั้งสิ้นถวายเกียรติยศแด่พระนามบริสุทธิ์ของพระองค์ไม่มีเวลากำหนด แม้กระทั่งตลอดกาล.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:21, ล.ม.) ในฐานะเป็นพยานพระยะโฮวาพวกเราหยั่งรู้ค่าความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ตลอดทั้งความดี ฐานะกษัตริย์ที่ทรงเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา การค้ำจุนเสมอไม่ขาด และการใฝ่พระทัยดูแลไม่ว่างเว้น. ดังนั้น เหมือนกับดาวิด ปากของเราจะกล่าวสรรเสริญพระเจ้า. เรามีความรู้สึกอยากจะถวายความเลื่อมใสแด่พระองค์แต่ผู้เดียว ทั้งปรารถนาจะขอบคุณพระองค์เนื่องจากเราได้รับพรนานาประการจากพระองค์ และกล่าวสรรเสริญ “พระนามอันรุ่งโรจน์” ของพระองค์.—1 โครนิกา 29:10-13; เอ็กโซโด 20:4-6.
20. เมื่อคำนึงถึงนิรันดรกาล บัดนี้ความมุ่งมั่นตั้งใจของเราควรเป็นเช่นไร?
20 เพราะเหตุที่พระยะโฮวาทรงอวยพรเราทุก ๆ วัน ขอให้เราถวายเกียรติพระองค์เป็นประจำและกล่าวยกย่องพระองค์. ขอให้เราประกาศข่าวดีด้วยความร้อนรนเป็นการสรรเสริญพระเจ้า บอกกล่าวให้ผู้คนรู้ว่าอีกไม่นาน ‘สรรพสัตว์ทั้งสิ้นจะถวายเกียรติแด่พระนามบริสุทธิ์ของพระองค์.’ ช่างเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะมีชีวิตอยู่เมื่อพลโลกทั้งสิ้นแห่งแผ่นดินโลก—อันที่จริง บรรดาผู้มีเชาวน์ปัญญาในเอกภพ—จะร้องเพลงสดุดีพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์! (บทเพลงสรรเสริญ 148:1-13) ขอพระยะโฮวาจงได้รับเกียรติยศเพราะการเปิดเผยพระนามของพระองค์ และที่ได้ทรงมอบสิทธิพิเศษให้พวกเราเป็นพยานของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 83:18; ยะซายา 43:10-12) ขอให้เราแสดงกิริยาท่าทางอย่างเหมาะสมคู่ควรกับคนเหล่านั้นซึ่งยกย่องเทิดทูนพระนามให้บริสุทธิ์และอธิษฐานเพื่อพระนามจะเป็นที่เคารพอันศักดิ์สิทธิ์. (ลูกา 11:2) ขอให้เรารับใช้พระเจ้าด้วยความจงรักภักดี เพื่อว่าในระบบใหม่ของพระองค์ เสียงเพลงของเราจะดังไปพร้อมกันกับเสียงร้องของกลุ่มชนซึ่งถวายเกียรติแด่พระนามบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาตลอดนิรันดรกาล.
คุณจะให้ข้อคิดเห็นอย่างไร?
▫ เราจะทำอะไรถ้าฐานะกษัตริย์ของพระยะโฮวาเป็นสิ่งที่เราชื่นชอบ?
▫ ทุกวันนี้ การปกครองของพระเจ้าได้แสดงออกในรูปใด?
▫ โดยวิธีใดพระยะโฮวา ‘ทรงยกคนตกอับให้ลุกขึ้น’?
▫ พระเจ้า ‘ทรงแบพระหัตถ์และประทานให้สรรพสัตว์อิ่มตามความปรารถนา’ นั้นอย่างไร?
▫ เราจะถวายเกียรติยศแด่พระนามบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?