“พระเจ้าแห่งสันติสุข” ทรงใฝ่พระทัยผู้ทุกข์ระทม
คัมภีร์ไบเบิลชี้ชัดว่า ดาวิดในสมัยโบราณชินกับความทุกข์ระทม. เป็นเวลาหลายปี ท่านมีชีวิตอยู่ฐานะผู้ลี้ภัย ถูกไล่ล่าอย่างไม่ละลดโดยกษัตริย์ที่ชั่วร้ายและดื้อรั้น ซึ่งมุ่งจะสังหารท่าน. ระหว่างช่วงเวลาที่ทุกข์ระทมนี้ ดาวิดซ่อนตัวในสถานที่โดดเดี่ยว. แต่ท่านทำมากกว่านั้น. ท่านอธิษฐานอย่างจริงจังถึงพระยะโฮวาเกี่ยวกับความทุกข์ยากของท่าน. ท่านได้เขียนภายหลังเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ลำบากยากเข็ญของท่านว่า “ข้าพเจ้าเปล่งเสียงทูลพระยะโฮวา; . . . ข้าพเจ้าจะร้องทุกข์ทูลพระองค์; และกราบทูลความยากลำบากของข้าพเจ้าต่อพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 142:1, 2.
ปัจจุบัน บางคนอาจจะหัวเราะเยาะการที่ดาวิดไว้วางใจพระเจ้า. เขาอาจบอกว่าการอธิษฐานเป็นเพียงเครื่องค้ำจุนทางจิตวิทยา และกล่าวว่า ตามความเป็นจริงแล้วการอธิษฐานเป็นการเสียเวลาเปล่า ๆ. กระนั้น การที่ดาวิดวางใจในพระเจ้ามิใช่เป็นการวางใจผิดที่ เพราะเหล่าศัตรูของท่านได้ถูกปราบพ่ายแพ้ไปในที่สุด. เมื่อย้อนดูประสบการณ์ของท่าน ดาวิดได้เขียนว่า “คนอนาถาผู้นี้ได้ร้องทูลต่อพระยะโฮวา, และพระองค์ก็ได้ทรงสดับฟัง, และได้ช่วยเขาให้พ้นจากบรรดาความทุกข์ยากนั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:6) มีการเรียกพระเจ้าเที่ยงแท้องค์ที่ดาวิดหมายพึ่งนั้นในที่อื่นว่า “พระเจ้าแห่งสันติสุข.” (ฟิลิปปอย 4:9; เฮ็บราย 13:20) พระองค์จะนำมาซึ่งการปลดเปลื้องจากความทุกข์ระทม ยังผลด้วยสันติสุขสำหรับเราไหม?
พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยคุณ
พระยะโฮวามิได้ทรงเฉยเมยเกี่ยวกับความทุกข์ยากแห่งไพร่พลของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 34:15) พระองค์เอาพระทัยใส่ต่อความจำเป็นไม่เฉพาะของผู้รับใช้ของพระองค์เป็นกลุ่มเท่านั้น ทว่าของแต่ละบุคคลซึ่งยำเกรงพระองค์ด้วย. เมื่ออุทิศพระวิหารในกรุงยะรูซาเลมโบราณ ซะโลโมได้ทูลวิงวอนพระยะโฮวาให้สดับ “ไม่ว่าคำอธิษฐานอย่างใด หรือคำวิงวอนประการใด ซึ่งประชาชนคนใด หรืออิสราเอลประชากรของพระองค์ทั้งสิ้นทูล ต่างก็ประจักษ์ในภัยพิบัติและความทุกข์ใจของเขา.” (2 โครนิกา 6:29, ฉบับแปลใหม่) ดังที่ซะโลโมยอมรับนั้น แต่ละบุคคลย่อมมีความทุกข์จำเพาะของตนเองที่ต้องทน. สำหรับคนหนึ่ง อาจเป็นความเจ็บป่วยทางกาย. สำหรับอีกคนหนึ่ง เป็นความทุกข์ด้านอารมณ์. บางคนอาจทุกข์ระทมเนื่องจากความตายของผู้เป็นที่รัก. การว่างงาน, ความยากลำบากด้านเศรษฐกิจ, และปัญหาครอบครัวก็เช่นกันเป็นความทุกข์ร้อนโดยทั่วไปในสมัยที่ยุ่งยากนี้.
ขอให้หยุดคิดสักครู่ถึง ‘ภัยพิบัติและความทุกข์ใจของคุณเอง.’ บางครั้งคุณอาจรู้สึกเหมือนดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญซึ่งได้เขียนว่า “ข้าพเจ้าหวังว่าจะมีคนแสดงความเห็นอกเห็นใจ แต่ไม่มีเลย; และผู้ปลอบใจ แต่ข้าพเจ้าไม่พบเลย.” กระนั้น คุณก็อาจมั่นใจได้ว่า พระเจ้าทรงใฝ่พระทัยในสภาพการณ์ของคุณ เพราะภายหลังในเพลงสรรเสริญบทเดียวกันนี้ ดาวิดได้เขียนว่า “พระยะโฮวาสดับฟังคนขัดสน, และไม่ดูหมิ่นพวกนักโทษของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 69:20 (ล.ม.), 33.
โดยนำถ้อยคำของดาวิดมาใช้ในความหมายที่กว้าง เรามั่นใจได้ว่า พระผู้สร้างมนุษยชาติทรงสดับ คำอธิษฐานของคนเหล่านั้นที่กล่าวโดยอุปมาแล้วถูกคุมขังอยู่เนื่องจากความทุกข์ร้อนของเขา. ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงมีปฏิกิริยาต่อสภาพอับจนของพวกเขา. ขอพิจารณาข้อความต่อไปนี้ที่เผยให้เห็นความเมตตาสงสารของพระยะโฮวาที่มีต่อผู้ทุกข์ระทม.
“อย่าข่มเหงหญิงหม้ายหรือลูกกำพร้าเลย. ถ้าเจ้าได้ข่มเหงเขาในทางใด ๆ, และถ้าเขาจะร้องทุกข์ถึงเรา, เราจะฟังคำร้องของเขาเป็นแน่; ความโกรธของเราจะพลุ่งขึ้น.”—เอ็กโซโด 22:22-24.
“พระเจ้าจะไม่ทรงประทานความยุติธรรมแก่คนที่พระองค์ได้ทรงเลือกไว้ ผู้ร้องถึงพระองค์ทั้งกลางวันกลางคืนหรือ พระองค์จะอดพระทัยไว้ช้านานหรือ?”—ลูกา 18:7, ฉบับแปลใหม่.
“พระองค์จะทรงช่วยคนขัดสนเมื่อเขาร้องทุกข์, และจะทรงช่วยคนอนาถา, ที่ไม่มีผู้อุปถัมภ์. พระองค์จะสงสารคนอนาถาและคนขัดสน, ชีวิตของคนขัดสนพระองค์จะช่วยให้รอด. พระองค์จะไถ่ชีวิตของเขาให้พ้นจากการข่มเหงและการร้ายกาจ; เลือดของเขาจะประเสริฐต่อพระเนตรของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 72:12-14.
“ผู้ใดได้ต้องท่าน [ไพร่พลของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก] ก็ได้ต้องดวงตาของตน [“เรา,” ล.ม.].”—ซะคาระยา 2:8.
ตัวอย่างไม่กี่ข้อเหล่านี้แสดงให้เห็นความห่วงใยลึกซึ้งของพระผู้สร้างที่มีต่อสวัสดิภาพแห่งไพร่พลของพระองค์. เนื่องจากเหตุนี้ เรามีเหตุผลที่ดีที่จะปฏิบัติตามคำตักเตือนของอัครสาวกเปโตรที่ว่า “ท่านทั้งหลายมอบความกระวนกระวายทั้งสิ้นของท่านไว้กับพระองค์ เพราะว่าพระองค์ทรงใฝ่พระทัยในท่านทั้งหลาย.” (1 เปโตร 5:7, ล.ม.) แต่พระเจ้าจะช่วยเราอย่างไรในระหว่างช่วงเวลาที่มีความทุกข์ระทม?
วิธีที่พระเจ้าทรงช่วยผู้ทุกข์ระทม
ดังที่เราได้เห็นแล้ว เมื่อดาวิดประสบความทุกข์ระทม ท่านอธิษฐานถึงพระเจ้าอย่างจริงจังเพื่อขอการทรงนำ. ในขณะเดียวกัน ท่านได้ริเริ่มทำให้สถานการณ์ผ่อนคลาย โดยใช้ปฏิภาณเพื่อหนีรอดจากผู้ไล่ล่า. ฉะนั้น การไว้วางใจในพระยะโฮวาควบคู่ไปกับความพยายามด้วยตัวเอง ทำให้ดาวิดสามารถอดทนความยากลำบาก. เราสามารถเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
เมื่อเราเผชิญกับความทุกข์ระทม ไม่เป็นการผิดอย่างแน่นอนที่เราจะริเริ่มอย่างมีเหตุผลในการแก้ปัญหา. ตัวอย่างเช่น หากคริสเตียนพบว่าตนเองว่างงาน เขาจะบากบั่นพยายามหางานมิใช่หรือ? หรือว่าหากเขาป่วย เขาจะแสวงหาการเอาใจใส่ทางการแพทย์มิใช่หรือ? ที่จริง แม้แต่พระเยซูผู้ทรงมีอำนาจในการเยียวยาความเจ็บป่วยทุกรูปแบบ ก็ยังยอมรับว่า “คนเจ็บต้องการหมอ.” (มัดธาย 9:12; เทียบกับ 1 ติโมเธียว 5:23.) แน่นอน ความลำบากบางอย่างไม่อาจขจัดออกไปได้ เราได้แต่ต้องอดทนสภาพเช่นนั้น. ถึงอย่างไรก็ตาม คริสเตียนแท้มิได้ถือว่าความทุกข์ในตัวมันเองแล้วเป็นคุณความดี อย่างที่บางคนคิด. (เทียบกับ 1 กษัตริย์ 18:28.) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาดำเนินการใด ๆ ก็ตามเท่าที่ทำได้เพื่อรับมือกับความทุกข์ของตน.
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีเหตุผลที่จะเสนอเรื่องนั้นต่อพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน. เพราะเหตุใด? ประการแรก โดยพึ่งอาศัยพระผู้สร้าง เราได้รับการช่วยให้ “รู้แน่ว่า สิ่งไหนสำคัญกว่า.” (ฟิลิปปอย 1:10, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น เมื่อหางานทำ การไว้วางใจพระเจ้าด้วยการอธิษฐานจะช่วยเราไม่รับเอางานที่ขัดกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล. เราจะหลีกเลี่ยงการ “หลงไปจากความเชื่อ” เนื่องจากการรักเงินนั้นด้วย. (1 ติโมเธียว 6:10) ที่จริง เมื่อทำการตัดสินใจที่สำคัญ—เกี่ยวกับงานรับจ้างหรือด้านอื่นใดในชีวิต—เราต้องปฏิบัติตามคำตักเตือนของดาวิดที่ว่า “จงมอบภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา และพระองค์เองจะทรงค้ำจุนท่าน. ไม่มีวันที่พระองค์จะทรงยอมให้คนชอบธรรมกะปลกกะเปลี้ยเลย.”—บทเพลงสรรเสริญ 55:22, ล.ม.
การอธิษฐานช่วยเราให้รักษาความสมดุลด้านความคิดด้วย เพื่อว่าความทุกข์ระทมไม่ทำให้เราหมดเรี่ยวแรง. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ในทุกสิ่งจงทูลขอต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมด้วยการขอบพระคุณ.” พร้อมด้วยผลประการใด? “สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของท่านไว้โดยพระคริสต์เยซู.” (ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.) ใช่แล้ว สันติสุข สันติสุขแห่งพระเจ้า. สันติสุขนั้น “เหนือกว่าความคิดทุกอย่าง” ดังนั้น จึงสามารถทำให้เราสงบได้ขณะที่แบกภาระหนักด้วยอารมณ์ที่ทุกข์ระทม. สันติสุขนั้นจะ ‘ป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของเรา’ ด้วยเหตุนี้ จึงช่วยเราให้หลีกเลี่ยงการแสดงปฏิกิริยาแบบหุนหันพลันแล่นและไม่สุขุม ซึ่งอาจจะเพิ่มความทุกข์ให้เรา.—ท่านผู้ประกาศ 7:7.
การอธิษฐานยังสามารถช่วยได้มากกว่านั้นอีก. การอธิษฐานอาจทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปได้. ขอพิจารณาตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิล. เมื่ออัครสาวกเปาโลถูกคุมขังในกรุงโรม ท่านได้สนับสนุนเพื่อนคริสเตียนให้อธิษฐานเผื่อท่าน. เพราะเหตุใด? ท่านเขียนถึงพวกเขาว่า “ข้าพเจ้าวิงวอนท่านมากยิ่งให้กระทำเช่นนั้น, เพื่อข้าพเจ้าจะได้กลับคืนไปอยู่กับท่านโดยเร็ว.” (เฮ็บราย 13:19) เปาโลทราบว่าการอธิษฐานไม่ละลดของเพื่อนร่วมความเชื่ออาจมีผลกระทบต่อเวลา ที่ท่านจะถูกปล่อยตัว.—ฟิเลโมน 22.
การอธิษฐานจะเปลี่ยนแปลงผลจากความทุกข์ระทมของคุณไหม? อาจเป็นได้. แต่เราควรตระหนักว่า พระยะโฮวาใช่ว่าทรงตอบคำอธิษฐานของเราในวิธีที่เราอาจคาดหวังนั้นเสมอไป. ตัวอย่างเช่น เปาโลได้อธิษฐานหลายครั้งเกี่ยวกับ “เสี้ยนหนามในเนื้อหนัง”—บางทีอาจเป็นปัญหาด้านร่างกายที่เกี่ยวกับสายตาของท่าน. แทนที่จะขจัดความทุกข์นั้น พระเจ้าตรัสแก่เปาโลว่า “ความกรุณาคุณของเรามีพอสำหรับเจ้าแล้ว เพราะโดยความอ่อนแอของเจ้าเดชของเราจึงปรากฏมีฤทธิ์ขึ้นเต็มขนาด.”—2 โกรินโธ 12:7-9.
ดังนั้น บางครั้งความทุกข์ลำบากของเราจะไม่ถูกกำจัด. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราจะมีโอกาสพิสูจน์การไว้วางใจในพระผู้สร้างของเรา. (กิจการ 14:22) นอกจากนี้ เรายังมั่นใจได้ว่าถึงแม้พระยะโฮวามิได้กำจัดความทุกข์ก็ตาม พระองค์จะ “จัดทางออกด้วย เพื่อว่า [เรา] จะสามารถทนได้.” (1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.) ถูกแล้ว นับว่ามีเหตุผลที่ถูกต้องในการเรียกพระยะโฮวาว่า “พระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง พระองค์ผู้ทรงปลอบโยนเราในความทุกข์ยากทั้งสิ้นของเรา.” (2 โกรินโธ 1:3, 4, ล.ม.) พระองค์ทรงประทานสิ่งที่จำเป็นให้เราเพื่อจะอดทนได้ด้วยใจสงบพอควร.
ในไม่ช้า—โลกที่ปราศจากความทุกข์!
พระผู้สร้างทรงสัญญาว่า โดยทางราชอาณาจักร ในไม่ช้าพระองค์จะทรงขจัดความทุกข์ของมนุษยชาติ. พระองค์จะทรงทำให้เรื่องนี้สำเร็จลุล่วงโดยวิธีใด? โดยกำจัดซาตานพญามารหัวโจกผู้ปลุกปั่นให้เกิดความทุกข์และเป็นศัตรูสำคัญที่สุดของสันติสุข ผู้ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลระบุตัวว่าเป็น “พระเจ้าของระบบนี้.” (2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.) แต่ในไม่ช้าการที่มันมีอำนาจควบคุมมนุษยชาติจะสิ้นสุดลง. การกำจัดซาตานจะเปิดทางให้พระพรสุดคณานับมาสู่คนเหล่านั้นที่เกรงกลัวพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่าพระยะโฮวา “จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งความทุกข์โศกหรือเสียงร้องหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่เดิมนั้นผ่านพ้นไปแล้ว.”—วิวรณ์ 21:1-4, ล.ม.
โลกที่ปราศจากความทุกข์ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อหรือ? เราเคยชินกับการมีชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์ลำบากเสียจนรู้สึกว่ายากที่จะนึกภาพการที่ไม่มีความทุกข์. แต่เสรีภาพพ้นจากความกลัว, ความกระวนกระวาย, และภัยพิบัติเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงมุ่งหมายไว้ทีเดียวสำหรับมนุษยชาติในคราวที่ทรงสร้างนั้น และพระประสงค์ของพระองค์จะบรรลุผลสำเร็จ.—ยะซายา 55:10, 11.
นี่เป็นความหวังที่โซนยา, ฟาเบียนา, และอันนาซึ่งมีการกล่าวถึงในบทความแรกนั้นได้ประสบ. โซนยาซึ่งลูกชายสองคนของเธอเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ ได้มาซึ่งความสงบในจิตใจจากความหวังที่คัมภีร์ไบเบิลเสนอให้ นั่นคือการกลับเป็นขึ้นจากตายของคนชอบธรรมและคนไม่ชอบธรรม. (กิจการ 24:15) เธอกล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือความหวังของเราเหนือกว่าความเจ็บปวดไม่ว่าอย่างใดก็ตาม.”
ขณะที่ยังอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งได้ไปเยี่ยมอันนา. อันนาบอกว่า “เธอให้ดิฉันดูพระนามพระยะโฮวาในคัมภีร์ไบเบิล และดิฉันหลั่งน้ำตาด้วยความยินดี. ดิฉันต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง และดิฉันได้เรียนรู้ว่ามีพระเจ้าผู้ทรงใฝ่พระทัยเรา.” ภายหลังออกจากสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าแล้ว อันนายอมรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคำสัญญาของพระยะโฮวา. แล้วเธอได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาและแสดงสัญลักษณ์นั้นโดยการรับบัพติสมา. “ตั้งแต่นั้นดิฉันไว้วางใจพระยะโฮวาเรื่อยมาโดยการอธิษฐาน และดิฉันได้รับการปลอบโยนเนื่องจากความมั่นใจว่าพระองค์จะทรงช่วยดิฉัน.”
ฟาเบียนาก็เช่นกันได้พบการปลอบโยนและความสงบสุขในจิตใจมากขณะประสบความทุกข์โดยการเรียนรู้เกี่ยวกับคำสัญญาของพระเจ้าในเรื่องอนาคต. “การเรียนรู้ความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นเหมือนการออกจากสถานที่มืดมนและเศร้าหมองทีเดียวแล้วเข้าสู่ห้องที่สว่าง, สดใส, และให้ความสบายใจ.”—เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 118:5.
แต่สันติสุขจริง ๆ ตลอดทั่วลูกโลกจะเกิดขึ้นโดยวิธีใดและเมื่อไร? ให้เรามาดูกันในบทความต่อไป.
[กรอบหน้า 6]
ความทุกข์ในหลายรูปแบบ
▪ ประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรโลกดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากจนข้นแค้นแสนสาหัส และอีกหลายล้านมีชีวิตอยู่ในสภาพต่ำกว่ามนุษย์ซึ่งคุกคามการอยู่รอดของพวกเขา.
▪ เด็กมากกว่า 200 ล้านคนได้รับอาหารไม่เพียงพอ.
▪ แต่ละปีโรคท้องร่วงทำให้เด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบเสียชีวิตไปราว ๆ สามล้านคน.
▪ โรคติดต่อได้สังหารผู้คนประมาณ 16.5 ล้านคนในปี 1993 ปีเดียว. เนื่องจากบางประเทศแยกประเภทของโรคต่างกัน จำนวนที่แท้จริงอาจสูงกว่ามากทีเดียว.
▪ ประมาณกันว่า 500 ล้านคนได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านจิตใจบางรูปแบบ.
▪ อัตราการฆ่าตัวตายกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในท่ามกลางหนุ่มสาวมากกว่าในรุ่นอื่นใด.
▪ วารสารเดอะ ยูเนสโก คูเรีย แจ้งว่า “ความหิวโหยและการว่างงานกลายเป็นรอยด่างของโลก. มี 35 ล้านคนตกงานในเจ็ดประเทศซึ่งร่ำรวยที่สุดของโลก และในบราซิลประเทศเดียว มีคนทำงาน 20 ล้านคนซึ่งแม้ว่ามีงานทำก็มิได้หมายความว่าพวกเขาจะมีพอกิน.”
[รูปภาพหน้า 7]
การอธิษฐานสามารถช่วยเราเพ่งเล็งในคำสัญญาของพระเจ้าเรื่องโลกที่ปราศจากความทุกข์