“พระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงเมตตาและอุดมด้วยพระคุณ”
“พระยะโฮวา พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงเมตตาและอุดมด้วยพระคุณ ช้าในการโกรธและบริบูรณ์ด้วยความรักกรุณาและความจริง.”—เอ็กโซโด 34:6, ล.ม.
1. (ก) คัมภีร์ไบเบิลให้การปลอบโยนเช่นไรแก่คนที่ได้เห็นผู้เป็นที่รักหลงออกไปจากการนมัสการบริสุทธิ์? (ข) พระยะโฮวาทรงมีทัศนะอย่างไรต่อผู้พลาดผิด?
“ลูกสาวบอกผมว่าเธอไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมคริสเตียนอีกต่อไป” บิดาคริสเตียนผู้หนึ่งกล่าว. “หลังจากนั้นอีกนานทีเดียว หลายวัน หลายสัปดาห์ ที่จริงหลายเดือนเสียด้วยซ้ำ ที่ผมรู้สึกถึงความเจ็บปวดกัดกร่อนผม. ความรู้สึกนี้ร้ายยิ่งกว่าความตายเสียอีก.” เป็นเรื่องน่าเศร้าจริง ๆ ที่เห็นคนที่เรารักหลงออกไปจากทางแห่งการนมัสการอันบริสุทธิ์. คุณเคยประสบเหตุการณ์อย่างนั้นไหม? หากเป็นเช่นนั้น คุณย่อมจะได้รับการปลอบโยนเมื่อได้ทราบว่าพระยะโฮวาทรงรู้สึกเห็นใจคุณ. (เอ็กโซโด 3:7; ยะซายา 63:9) แต่พระองค์ทรงมีทัศนะอย่างไรต่อคนที่ทำผิดพลาดเช่นนั้น? คัมภีร์ไบเบิลชี้ว่าพระยะโฮวาทรงเชิญพวกเขาด้วยพระทัยเมตตาให้กลับสู่ฐานะอันเป็นที่โปรดปรานของพระองค์. พระองค์ทรงวิงวอนชาวยิวที่ขืนอำนาจในสมัยมาลาคีดังนี้: “จงกลับมาหาเราเสียเถอะ, และเราจะกลับไปหาเจ้าทั้งหลาย.”—มาลาคี 3:7.
2. คัมภีร์ไบเบิลชี้ให้เห็นอย่างไรว่าความเมตตาเป็นส่วนสำคัญแห่งบุคลิกภาพของพระยะโฮวา?
2 ที่ภูเขาซีนาย มีการเน้นให้โมเซเห็นความเมตตาของพระเจ้า. ที่นั่น พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระองค์เองว่าเป็น “พระเจ้าผู้ทรงเมตตาและอุดมด้วยพระคุณ ช้าในการโกรธและบริบูรณ์ด้วยความรักกรุณาและความจริง.” (เอ็กโซโด 34:6, ล.ม.) การประกาศออกมาเช่นนี้เน้นว่าความเมตตาเป็นส่วนสำคัญแห่งบุคลิกภาพของพระยะโฮวา. คริสเตียนอัครสาวกเปโตรเขียนว่า พระองค์ “ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” (2 เปโตร 3:9) แน่นอน ความเมตตาของพระเจ้ามิใช่ว่าไร้ขีดจำกัด. โมเซได้รับแจ้งว่า “พระองค์ไม่ทรงละเว้นการลงโทษเป็นอันขาด.” (เอ็กโซโด 34:7, ล.ม.; 2 เปโตร 2:9) อย่างไรก็ตาม “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” และความเมตตาเป็นแง่มุมหลักของคุณลักษณะนี้. (1 โยฮัน 4:8; ยาโกโบ 3:17) พระยะโฮวาจะไม่ “ทรงถือโกรธไว้เสมอไป” และพระองค์ “ทรงปลื้มพระทัยในความเมตตากรุณา.”—มีคา 7:18, 19.
3. ทัศนะของพระเยซูในเรื่องความเมตตาต่างกันอย่างไรกับทัศนะของพวกอาลักษณ์และฟาริซาย?
3 พระเยซูทรงเป็นภาพสะท้อนที่สมบูรณ์ของพระบิดาฝ่ายสวรรค์. (โยฮัน 5:19) การปฏิบัติด้วยความเมตตาของพระองค์ต่อผู้ทำผิดไม่ใช่การยอมให้แก่บาปของคนเหล่านั้น แต่เป็นการแสดงออกซึ่งความรู้สึกอันอ่อนละมุนอย่างเดียวกับที่พระองค์ทรงแสดงต่อคนเจ็บป่วยทางกาย. (เทียบกับมาระโก 1:40, 41.) ใช่แล้ว พระเยซูทรงจัดให้ความเมตตาเป็นส่วนหนึ่งของ “ส่วนข้อสำคัญ” แห่งพระบัญญัติของพระเจ้า. (มัดธาย 23:23) ในทางตรงกันข้าม ขอพิจารณาดูพวกอาลักษณ์และฟาริซายซึ่งแนวคิดของเขาในเรื่องความยุติธรรมอย่างที่ถือตามตัวบทกฎหมายมักทำให้เขาไม่สนใจที่จะแสดงความเมตตา. เมื่อพวกเขาเห็นพระเยซูทรงติดต่อเกี่ยวข้องกับคนบาป พวกเขาบ่นดังนี้: “คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินด้วยกันกับเขา.” (ลูกา 15:1, 2) พระเยซูทรงตอบพวกผู้กล่าวหาพระองค์ด้วยอุทาหรณ์สามเรื่อง แต่ละเรื่องเน้นให้เห็นความเมตตาของพระเจ้า.
4. พระเยซูทรงเล่าอุทาหรณ์สองเรื่องอะไร และจุดสำคัญของแต่ละเรื่องคืออะไร?
4 ในอุทาหรณ์แรก พระเยซูทรงเล่าถึงชายคนหนึ่งที่ทิ้งแกะ 99 ตัวไว้เพื่อไปเสาะหาแกะหนึ่งตัวที่หายไป. จุดสำคัญของพระองค์คืออะไร? “จะมีความยินดีในสวรรค์เพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจเสียใหม่, มากกว่าคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจเสียใหม่.” ถัดจากนั้น พระเยซูทรงเล่าเรื่องหญิงคนหนึ่งที่หาเงินเหรียญบาทหนึ่งที่ทำหายและเมื่อพบก็มีความยินดี. พระองค์ทรงใช้เรื่องนี้ชี้ถึงอะไร? “จะมีความยินดีในพวกทูตของพระเจ้าเพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจเสียใหม่.” พระเยซูทรงเล่าอุทาหรณ์เรื่องที่สามในแบบเรื่องอุปมา.a มีหลายคนถือว่านี่เป็นเรื่องสั้นที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีการเล่ากัน. การพิจารณาเรื่องอุปมานี้จะช่วยเราให้ซาบซึ้งและเลียนแบบความเมตตาของพระเจ้า.—ลูกา 15:3-10.
บุตรชายที่ขืนอำนาจออกจากบ้านไป
5, 6. บุตรชายคนเล็กในอุทาหรณ์เรื่องที่สามของพระเยซูแสดงออกซึ่งการขาดความหยั่งรู้ค่าอย่างน่าตกตะลึงอย่างไร?
5 “คนหนึ่งมีบุตรชายสองคน. บุตรน้อยนั้นพูดกับบิดาว่า, ‘บิดาเจ้าข้า, ขอทรัพย์ที่เป็นส่วนของข้าพเจ้าเถิด.’ บิดาจึงแบ่งทรัพย์ให้แก่บุตรทั้งสองนั้น. ต่อมาไม่กี่วันบุตรน้อยนั้นก็รวบรวมทรัพย์ทั้งหมดแล้วไปเที่ยวเมืองไกล, และได้ผลาญทรัพย์ของตนที่นั่นด้วยการเป็นนักเลง.”—ลูกา 15:11-13.b
6 บุตรชายคนเล็กในที่นี้ขาดความหยั่งรู้ค่าอย่างน่าตกตะลึง. ทีแรก เขาเรียกร้องขอส่วนแบ่งมรดกของตน แล้วเขาก็ใช้จ่ายทรัพย์นั้นอย่างสุรุ่ยสุร่าย “ด้วยการเป็นนักเลง.” วลีที่ว่า “ด้วยการเป็นนักเลง” นี้แปลมาจากคำในภาษากรีกที่มีความหมายว่า “ใช้ชีวิตอย่างขาดสติ.” ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวว่า คำนี้ “แสดงลักษณะของการปล่อยเนื้อปล่อยตัวเต็มที่.” ดังนั้น จึงสมเหตุผลที่มักมีการเรียกชายหนุ่มในเรื่องอุปมาของพระเยซูว่าบุตรสุรุ่ยสุร่าย อันเป็นคำพรรณนาบุคคลที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและล้างผลาญอย่างไม่ยั้งคิด.
7. ใครในปัจจุบันที่คล้ายกับบุตรสุรุ่ยสุร่าย และเหตุใดมีหลายคนที่แสวงหาอิสรภาพใน “เมืองไกล”?
7 ปัจจุบัน มีคนที่คล้ายกับบุตรสุรุ่ยสุร่ายนี้ไหม? มี. น่าเสียดายที่มีบางคนอยู่เหมือนกันซึ่งได้ออกไปจาก “บ้าน” อันมั่นคงปลอดภัยของพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา. (1 ติโมเธียว 3:15) บางคนคิดว่าสภาพแห่งครัวเรือนของพระเจ้าจำกัดเกินไป และถือว่าพระเนตรที่เฝ้าระวังของพระยะโฮวาเป็นเครื่องกีดขวางแทนที่จะถือเป็นการปกป้อง. (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 32:8.) ขอให้พิจารณาเรื่องของสตรีคริสเตียนผู้หนึ่งซึ่งได้รับการเลี้ยงดูตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิล แต่ภายหลังได้กลายเป็นคนติดเหล้าและยาเสพย์ติด. เมื่อมองย้อนไปดูช่วงเวลาอันน่าหดหู่ของชีวิตตัวเอง เธอกล่าวดังนี้: “ดิฉันต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ดิฉันสามารถใช้ชีวิตที่ดีกว่าด้วยตัวเอง. ดิฉันต้องการทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และดิฉันไม่ต้องการให้ใครมาชี้มาบอกให้ทำอีกอย่างหนึ่ง.” เช่นเดียวกับบุตรสุรุ่ยสุร่าย หญิงสาวผู้นี้แสวงหาความเป็นอิสระ. น่าเศร้าใจ เธอต้องถูกขับออกจากประชาคมคริสเตียนเนื่องด้วยการประพฤติที่ผิดหลักพระคัมภีร์.—1 โกรินโธ 5:11-13.
8. (ก) อาจมีการเสนอให้ความช่วยเหลืออะไรแก่คนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตตรงกันข้ามกับมาตรฐานของพระเจ้า? (ข) เหตุใดคนเราควรคิดใคร่ครวญอย่างจริงจังเกี่ยวกับการเลือกของตนในเรื่องการนมัสการ?
8 เป็นเรื่องที่ทำให้หัวใจแตกสลายอย่างแท้จริงเมื่อเพื่อนร่วมความเชื่อแสดงความปรารถนาจะดำเนินชีวิตตรงกันข้ามกับมาตรฐานของพระเจ้า. (ฟิลิปปอย 3:18) เมื่อเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น ผู้ปกครองและคนอื่น ๆ ที่มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณก็จะพยายามปรับความคิดของคนที่หลงผิดนั้นให้กลับเข้าร่องเข้ารอย. (ฆะลาเตีย 6:1) กระนั้น ไม่มีใครถูกบังคับให้รับเอาแอกแห่งการเป็นสาวกของพระคริสต์. (มัดธาย 11:28-30; 16:24) แม้แต่เยาวชน เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ต้องตัดสินใจเลือกเอาเองในเรื่องการนมัสการ. ในขั้นสุดท้ายแล้ว พวกเราแต่ละคนเป็นบุคคลที่มีเจตจำนงเสรีซึ่งจะต้องให้การต่อพระเจ้าด้วยตัวเอง. (โรม 14:12) แน่นอน เราจะ ‘เกี่ยวเก็บสิ่งที่เราหว่าน’ ด้วย อันเป็นบทเรียนที่บุตรสุรุ่ยสุร่ายในอุทาหรณ์ของพระเยซูต้องได้เรียนรู้ในอีกไม่ช้า.—ฆะลาเตีย 6:7, 8.
ท้อแท้สิ้นหวังในดินแดนห่างไกล
9, 10. (ก) บุตรสุรุ่ยสุร่ายประสบสภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิมเช่นไร และเขามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสภาพที่เขาประสบ? (ข) จงให้ตัวอย่างว่าบางคนในปัจจุบันที่ได้ทิ้งการนมัสการแท้แล้วประสบสภาพอันเลวร้ายคล้าย ๆ กับบุตรสุรุ่ยสุร่ายอย่างไร.
9 “เมื่อผลาญทรัพย์หมดแล้วก็เกิดกันดารอาหารยิ่งนักทั่วเมืองนั้น, เขาก็มีความขัดสน เขาจึงไปอาศัยอยู่กับชาวเมืองนั้นคนหนึ่ง, และคนนั้นก็ใช้เขาไปเลี้ยงหมูที่ทุ่งนา. เขาใคร่จะได้อิ่มท้องด้วยฝักถั่วที่หมูกินนั้น, แต่ไม่มีใครให้อะไรเขากิน.”—ลูกา 15:14-16.
10 แม้ว่าขัดสน แต่บุตรสุรุ่ยสุร่ายก็ยังไม่มีความคิดจะกลับบ้าน. แทนที่จะทำอย่างนั้น เขาพบชาวเมืองคนหนึ่งที่ให้งานเลี้ยงฝูงสุกรแก่เขา. เนื่องจากพระบัญญัติของโมเซกำหนดไว้ว่าสุกรเป็นสัตว์ไม่สะอาด การรับจ้างทำงานแบบนี้คงเป็นเรื่องที่ชาวยิวไม่อาจยอมรับได้. (เลวีติโก 11:7, 8) แต่หากสติรู้สึกผิดชอบของบุตรสุรุ่ยสุร่ายรบกวนความรู้สึกของเขา เขาก็ต้องข่มห้ามความรู้สึกผิดนั้นไว้. ที่จริง เขาไม่อาจคาดหมายเลยว่านายจ้างซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นจะมาพะวงความรู้สึกของคนต่างถิ่นที่สิ้นไร้ไม้ตอกอย่างเขา. สภาพอันน่าเวทนาของบุตรสุรุ่ยสุร่ายคล้ายคลึงกับประสบการณ์ของหลายคนในทุกวันนี้ที่ละทิ้งแนวทางอันซื่อตรงของการนมัสการบริสุทธิ์. บ่อยครั้ง คนเช่นนั้นเข้าไปพัวพันในกิจกรรมที่เขาเคยถือว่าเสื่อมทราม. ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออายุได้ 17 ปี ชายหนุ่มคนหนึ่งแข็งขืนต่อการเลี้ยงดูสั่งสอนแบบคริสเตียน. เขายอมรับว่า “การผิดศีลธรรมและการใช้ยาเสพย์ติดลบล้างคำสอนตามหลักของคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับในช่วงเวลาหลายปีเสียสิ้น.” ไม่ช้า ชายหนุ่มคนนี้ก็ติดคุกด้วยข้อหาปล้นและฆาตกรรม. แม้ว่าต่อมาเขาได้ฟื้นตัวทางฝ่ายวิญญาณ แต่เขาต้องชดใช้อย่างขมขื่นสักเพียงไรสำหรับการ “มีใจยินดีในการชั่วสักเวลาหนึ่ง”!—เทียบกับเฮ็บราย 11:24-26.
11. สภาพอับจนของบุตรสุรุ่ยสุร่ายซ้ำร้ายหนักยิ่งกว่าเดิมอีกอย่างไร และบางคนในทุกวันนี้ได้พบว่าสิ่งล่อใจของโลกนี้เป็นสิ่ง “ล่อลวงเหลวไหล” อย่างไร?
11 สภาพอับจนของบุตรสุรุ่ยสุร่ายยิ่งซ้ำร้ายหนักเข้าไปอีกเนื่องด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า “ไม่มีใครให้อะไรเขากิน.” เพื่อนใหม่ทั้งหลายที่เขาคบหาหายไปไหนเสียหมด? ตอนนี้เขาสิ้นเนื้อประดาตัวเสียแล้ว เขาจึงเป็นเหมือนกับ “ที่เกลียดชัง” ของพวกเพื่อน. (สุภาษิต 14:20) ในทำนองเดียวกัน หลายคนในทุกวันนี้ที่หลงไปจากความเชื่อก็พบว่าสิ่งล่อใจและทัศนคติของโลกนี้เป็นแต่เพียงสิ่ง “ล่อลวงเหลวไหล.” (โกโลซาย 2:8) หญิงสาวคนหนึ่งที่ละทิ้งองค์การของพระเจ้าไปชั่วระยะหนึ่งกล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกปวดร้าวใจมากเมื่อปราศจากการชี้นำจากพระยะโฮวา. ดิฉันพยายามทำตัวให้เข้ากับโลก แต่เนื่องจากดิฉันไม่เหมือนคนอื่นเสียเลยทีเดียว พวกเขาจึงปฏิเสธดิฉัน. ดิฉันรู้สึกเหมือนเด็กหลงทางที่ต้องการบิดาเพื่อให้การชี้นำ. ตอนนั้นแหละที่ดิฉันตระหนักว่าดิฉันจำเป็นต้องมีพระยะโฮวา. ดิฉันไม่อยากจะดำเนินชีวิตอย่างเป็นอิสระต่างหากจากพระองค์อีกแล้ว.” บุตรสุรุ่ยสุร่ายในอุทาหรณ์ของพระเยซูก็ได้ตระหนักคล้าย ๆ กัน.
บุตรสุรุ่ยสุร่ายรู้สำนึกตัว
12, 13. ปัจจัยอะไรบ้างที่ได้ช่วยบางคนในทุกวันนี้ให้รู้สำนึกตัว? (โปรดดูกรอบสี่เหลี่ยม.)
12 “เมื่อเขารู้สำนึกตัวแล้วจึงพูดว่า, ‘ลูกจ้างของบิดาเรามีมากก็ยังมีอาหารกินอิ่มและยังเหลืออีก ส่วนเราจะมาตายเสียที่นี่เพราะอดอาหาร. จำเราจะลุกขึ้นไปหาบิดาเรา, และพูดกับท่านว่า. “บิดาเจ้าข้า, ข้าพเจ้าได้ผิดต่อสวรรค์และผิดต่อท่านด้วย ข้าพเจ้าไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของท่าน ขอท่านให้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนลูกจ้างของท่านคนหนึ่งเถิด.”’ แล้วเขาก็ลุกขึ้นไปหาบิดาของตน.”—ลูกา 15:17-20.
13 บุตรสุรุ่ยสุร่าย “รู้สำนึกตัว.” เขาได้หมกมุ่นในการแสวงหาความเพลิดเพลินอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ราวกับอยู่ในโลกแห่งความฝัน. แต่บัดนี้ เขาเริ่มรู้แน่แก่ใจถึงสภาพฝ่ายวิญญาณที่แท้จริงของเขา. ใช่ แม้ว่าเขาเคยล้มพลาดมาแล้ว แต่ยังคงมีความหวังสำหรับชายหนุ่มผู้นี้. ยังมีคุณสมบัติบางอย่างที่ดีในตัวเขา. (สุภาษิต 24:16; เทียบกับ 2 โครนิกา 19:2, 3.) สำหรับคนที่ออกไปจากฝูงแกะของพระเจ้าในทุกวันนี้ล่ะจะว่าอย่างไร? สมเหตุผลไหมที่จะลงความเห็นว่าหมดหวังแล้วทุกคน หรือการที่พวกเขาเลือกแนวทางแข็งขืนไม่ว่าจะในกรณีใดคือการทำบาปต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า? (มัดธาย 12:31, 32) ไม่เสมอไป. มีบางคนที่ทุกข์ทรมานเนื่องด้วยแนวทางดันทุรังของตน และในที่สุดหลายคนได้รู้สำนึกตัว. เมื่อนึกย้อนไปถึงเวลาที่เธอใช้ชีวิตอยู่นอกองค์การของพระเจ้า พี่น้องหญิงคนหนึ่งกล่าวดังนี้: “ดิฉันไม่เคยลืมเรื่องพระยะโฮวาเลยแม้แต่วันเดียว. ดิฉันอธิษฐานเสมอขอให้สักวันหนึ่งพระองค์ทรงยอมรับดิฉันกลับสู่ความจริง จะโดยวิธีใดก็ได้.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:176.
14. บุตรสุรุ่ยสุร่ายตั้งใจจะทำอะไร และการที่เขาทำเช่นนั้นเป็นการแสดงความถ่อมใจอย่างไร?
14 แต่คนที่ได้หลงออกไปอาจทำอะไรได้เพื่อแก้ไขสภาพการณ์ของตัวเขา? ในอุทาหรณ์ของพระเยซู บุตรสุรุ่ยสุร่ายตัดสินใจเดินทางกลับบ้านและขอบิดาให้อภัย. “ขอท่านให้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนลูกจ้างของท่านคนหนึ่งเถิด” บุตรสุรุ่ยสุร่ายตั้งใจว่าจะพูดกับบิดาอย่างนี้. ลูกจ้างคือคนงานรายวันที่อาจถูกไล่ออกวันไหนก็ได้. สถานภาพอย่างนี้ต่ำกว่าการเป็นทาสเสียอีก เพราะในแง่หนึ่งนั้นทาสเป็นเหมือนสมาชิกครอบครัว. ดังนั้น บุตรสุรุ่ยสุร่ายไม่ได้คิดที่จะขอสถานภาพดั้งเดิมของตนในฐานะบุตรกลับคืน. เขาเต็มใจทีเดียวที่จะรับเอาฐานะต่ำสุด เพื่อพิสูจน์ในแต่ละวันไปให้เห็นถึงความภักดีของเขาที่มีต่อบิดาซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นใหม่อีกครั้ง. อย่างไรก็ตาม บุตรสุรุ่ยสุร่ายจะต้องพบกับความแปลกใจ.
การต้อนรับที่น่าอบอุ่นใจ
15-17. (ก) บิดามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อได้เห็นบุตรชาย? (ข) เสื้อยาว, แหวน, และรองเท้าที่บิดาจัดให้แก่บุตรชายมีความหมายเช่นไร? (ค) การที่บิดาจัดงานเลี้ยงแสดงถึงอะไร?
15 “แต่เมื่อเขายังอยู่แต่ไกล. บิดาแลเห็นเขาก็มีความเมตตา, จึงวิ่งออกไปกอดคอจุบเขามาก. ฝ่ายบุตรนั้นจึงกล่าวแก่บิดาว่า, ‘บิดาเจ้าข้า. ข้าพเจ้าได้ผิดต่อสวรรค์และผิดต่อท่าน, ข้าพเจ้าไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของท่านต่อไป [“ขอท่านให้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนลูกจ้างของท่านคนหนึ่งเถิด,” ล.ม.].’ แต่บิดาสั่งบ่าวของตนว่า, ‘จงรีบไปเอาเสื้ออย่างดีที่สุดมาสวมให้เขา, และเอาแหวนมาสวมนิ้วมือ, กับเอารองเท้ามาสวมให้เขา. จงเอาลูกวัวอ้วนพีมาฆ่าเลี้ยงกันเพื่อความรื่นเริงยินดีเถิด เพราะว่าลูกของเราคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นอีก, หายไปแล้วแต่ได้พบกันอีก.’ เขาทั้งหลายต่างก็มีความโสมนัสยินดี.”—ลูกา 15:20-24.
16 บิดาที่มีความรักย่อมปรารถนาอย่างยิ่งจะเห็นการฟื้นตัวทางฝ่ายวิญญาณของบุตร. ฉะนั้น เราอาจนึกภาพได้เลยว่า ในแต่ละวันบิดาของบุตรสุรุ่ยสุร่ายคงเฝ้าคอยดูที่ทางเดินหน้าบ้านโดยหวังอย่างยิ่งว่าจะเห็นบุตรชายกลับมา. ตอนนี้ เขาเห็นบุตรชายกำลังขึ้นมาตามทางเดินนั้น! ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารูปลักษณะภายนอกของเขาคงเปลี่ยนไป. กระนั้น บิดาจำเขาได้ตั้งแต่เมื่อเขา “ยังอยู่แต่ไกล.” บิดาไม่นำพาเสื้อผ้าที่ขาดรุ่งริ่งและอารมณ์ที่ห่อเหี่ยว; เขามองเห็นบุตรชาย และวิ่งออกไปหาบุตรนั้น!
17 เมื่อบิดาไปถึงตัวบุตรชายแล้ว เขาก็กอดคอบุตรและจูบเขาอย่างอ่อนโยน. จากนั้น เขาสั่งทาสรับใช้ให้จัดเสื้อชั้นนอก, แหวน, และรองเท้าเอามาให้บุตรนั้น. เสื้อชั้นนอกนี้ไม่ได้เป็นเพียงเสื้อผ้าธรรมดา ๆ แต่เป็นเสื้อ “อย่างดีที่สุด”—อาจเป็นได้ว่า เป็นชุดที่มีการปักแต่งไว้อย่างสวยงามซึ่งเป็นอย่างที่จัดให้แก่แขกผู้ทรงเกียรติ. เนื่องจากตามปกติทาสมักไม่สวมแหวนและรองเท้า ดังนั้นบิดากำลังทำให้เห็นชัดว่าเขายินดีต้อนรับบุตรชายให้กลับมาเป็นสมาชิกครอบครัวอย่างเต็มตัว. แต่ผู้เป็นบิดายังทำยิ่งกว่านั้นอีก. เขาสั่งให้จัดงานเลี้ยงฉลองการกลับมาของบุตรชาย. เห็นได้ชัดว่า ชายผู้นี้ไม่ได้ให้อภัยบุตรอย่างเสียไม่ได้หรือเพราะบุตรกลับมาจึงจำเป็นต้องให้อภัย; เขาต้องการ ให้อภัย. การทำเช่นนี้ทำให้เขายินดี.
18, 19. (ก) อุทาหรณ์เรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่ายสอนอะไรแก่คุณเกี่ยวกับพระยะโฮวา? (ข) ดังแสดงไว้ในการติดต่อสัมพันธ์กับยูดาและยะรูซาเลม พระยะโฮวา “ทรงรอคอยโอกาส” แห่งการกลับใจของคนบาปอย่างไร?
18 มาถึงตรงนี้แล้ว อุทาหรณ์เรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่ายสอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับพระเจ้าที่เรามีสิทธิพิเศษที่จะนมัสการพระองค์? ประการแรก เรื่องนี้สอนเราว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้า “ผู้ทรงเมตตากรุณา, ผู้ทรงอดพระทัยได้นาน, และบริบูรณ์ด้วยความดีและความจริง.” (เอ็กโซโด 34:6) ที่จริง ความเมตตาเป็นคุณลักษณะเด่นของพระเจ้า. เป็นเรื่องปกติที่พระองค์ทรงแสดงความเมตตาต่อผู้ทุกข์ยาก. ประการต่อมา อุทาหรณ์ของพระเยซูสอนเราว่าพระยะโฮวาทรง “พร้อมจะให้อภัย.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ล.ม.) อาจกล่าวโดยนัยได้ว่าพระองค์ทรงคอยเฝ้าดูอยู่เสมอเพื่อจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงในหัวใจของมนุษย์ที่ผิดบาปซึ่งทำให้มีพื้นฐานที่พระองค์จะแสดงความเมตตาต่อเขา.—2 โครนิกา 12:12; 16:9.
19 ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงการปฏิบัติของพระเจ้าต่อชาติยิศราเอล. ผู้พยากรณ์ยะซายาได้รับการดลใจจากพระยะโฮวาให้พรรณนายูดาและยะรูซาเลมว่า ‘เจ็บไปทั่วทั้งตัว.’ กระนั้น ท่านกล่าวด้วยว่า “พระยะโฮวาทรงรอคอยโอกาส ที่จะทรงแสดงความเมตตาแก่เจ้า, และเพราะฉะนั้นพระองค์ทรงขยับที่จะแสดงความกรุณาแก่เจ้า.” (ยะซายา 1:5, 6; 30:18; 55:7; ยะเอศเคล 33:11) เช่นเดียวกับบิดาในอุทาหรณ์ของพระเยซู อาจกล่าวโดยนัยได้ว่าพระยะโฮวา ‘ทรงเฝ้าคอยดูทางเดินนั้น.’ พระองค์ทรงคาดหมายอย่างกระตือรือร้นถึงการกลับมาของผู้ที่ได้ทิ้งพระนิเวศของพระองค์ไป. นี่คือสิ่งที่เราคงจะคาดหวังจากบิดาผู้มีความรักมิใช่หรือ?—บทเพลงสรรเสริญ 103:13.
20, 21. (ก) หลายคนในทุกวันนี้ได้รับการชักนำจากความเมตตาของพระเจ้าโดยวิธีใด? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความต่อไป?
20 ในแต่ละปี ความเมตตาของพระยะโฮวาชักนำหลายคนให้รู้สำนึกและกลับมาสู่การนมัสการแท้. เรื่องนี้ช่างนำความยินดีมาสู่ผู้เป็นที่รักของเขาสักเพียงไร! ขอดูจากตัวอย่างของบิดาคริสเตียนคนที่ได้กล่าวถึงในตอนต้นก็แล้วกัน. น่ายินดี ลูกสาวเขาฟื้นตัวทางฝ่ายวิญญาณและตอนนี้รับใช้ในฐานะผู้รับใช้เต็มเวลา. เขากล่าวว่า “ผมมีความสุขที่สุดเท่าที่อาจเป็นได้ในระบบเก่านี้. น้ำตาแห่งความทุกข์โศกของผมได้เปลี่ยนเป็นน้ำตาแห่งความยินดี.” แน่นอน พระยะโฮวาทรงยินดีเช่นเดียวกัน!—สุภาษิต 27:11.
21 แต่ยังมีมากกว่านี้เกี่ยวด้วยอุทาหรณ์เรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย. พระเยซูทรงดำเนินเรื่องต่อไปจนพระองค์สามารถเทียบให้เห็นความแตกต่างกันระหว่างความเมตตาของพระยะโฮวากับท่าทีแข็งกระด้างและชอบตัดสินซึ่งมีอยู่ในพวกอาลักษณ์และฟาริซาย. บทความถัดไปจะพิจารณาว่าพระองค์ทรงทำเช่นนั้นอย่างไร และนั่นจะมีความหมายเช่นไรสำหรับเรา.
[เชิงอรรถ]
a เรื่องอุปมาและอุทาหรณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ เสมอไป. นอกจากนั้น เนื่องจากวัตถุประสงค์ของเรื่องเหล่านี้คือเพื่อสอนบทเรียนทางศีลธรรม จึงไม่จำเป็นต้องพยายามมองหาความหมายเป็นนัยในรายละเอียดทุกอย่าง.
b ความหมายเชิงพยากรณ์ของเรื่องอุปมานี้มีพิจารณาในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กุมภาพันธ์ 1989 หน้า 20, 21.
การทบทวน
▫ เจตคติของพระเยซูในเรื่องความเมตตาต่างกันอย่างไรกับเจตคติของพวกฟาริซาย?
▫ ใครในทุกวันนี้ที่คล้ายกับบุตรสุรุ่ยสุร่าย และคล้ายอย่างไร?
▫ สภาพการณ์เช่นไรที่ทำให้บุตรสุรุ่ยสุร่ายรู้สำนึกตัว?
▫ บิดาแสดงความเมตตาอย่างไรต่อบุตรที่กลับใจ?
[กรอบหน้า 11]
พวกเขารู้สำนึกตัว
อะไรที่ได้ช่วยบางคนที่เคยถูกขับออกจากประชาคมคริสเตียนให้รู้สำนึกตัว? ความเห็นข้างล่างจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้.
“ดิฉันรู้อยู่แก่ใจว่าความจริงอยู่ที่ไหน. การที่ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและไปประชุมคริสเตียนเป็นเวลาหลายปีมีผลกระทบอย่างมากต่อดิฉัน. ดิฉันจะหันหลังให้แก่พระยะโฮวาอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร? พระองค์ไม่ได้ทรงละทิ้งดิฉัน; ดิฉันต่างหากที่ละทิ้งพระองค์. ในที่สุด ดิฉันก็ยอมรับว่าตัวเองนั้นผิดและดื้อเสียจริง ๆ และยอมรับว่าพระคำของพระยะโฮวาถูกต้องเสมอที่ว่า ‘คนใดหว่านอะไรก็จะเกี่ยวเก็บผลอย่างนั้น.’”—ซี. ดับเบิลยู.
“ลูกสาวดิฉันเริ่มหัดพูด และเรื่องนี้ทำให้ดิฉันสะเทือนใจเพราะดิฉันต้องการสอนเธอในเรื่องต่าง ๆ อย่างเช่น พระยะโฮวาเป็นใครและจะอธิษฐานถึงพระองค์อย่างไร. ดิฉันนอนไม่หลับ และกลางดึกในคืนวันหนึ่งดิฉันขับรถไปที่สวนสาธารณะแล้วร้องไห้. ดิฉันร้องไห้ และอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเป็นครั้งแรกหลังจากไม่ได้ทำมาเป็นเวลานาน. ดิฉันรู้แต่ว่าดิฉันต้องการให้พระยะโฮวากลับมาอยู่ในชีวิตของดิฉัน และดิฉันหวังว่าพระองค์จะยอมให้อภัยดิฉัน.”—จี. เอช.
“เมื่อคุยพาดพิงมาถึงเรื่องศาสนา ดิฉันก็จะบอกผู้คนว่าถ้าจะให้เลือกศาสนาที่สอนความจริง ดิฉันก็ต้องเลือกเป็นพยานพระยะโฮวา. แล้วดิฉันก็บอกว่าตัวเองเคยเป็น แต่ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามหลักการ ดิฉันจึงผละออกมา. เมื่อตระหนักอย่างนี้ ดิฉันมักรู้สึกผิดและไม่มีความสุข. ในที่สุดดิฉันยอมรับว่า ‘ฉันเป็นทุกข์เหลือเกิน. ฉันต้องทำการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แล้วละ.’”—ซี. เอ็น.
“เมื่อสามสิบห้าปีที่แล้ว ดิฉันกับสามีถูกตัดสัมพันธ์. แล้วมาในปี 1991 เรารู้สึกทั้งแปลกใจและดีใจที่มีผู้ปกครองสองคนมาเยี่ยมและบอกเราถึงแนวทางที่ทำให้เป็นไปได้ที่จะกลับมาหาพระยะโฮวา. หกเดือนต่อมา เรารู้สึกยินดีเหลือเกินที่ถูกรับกลับสู่ฐานะเดิม. ดิฉันอายุ 63 ปี และสามีดิฉันก็อายุ 79 ปีแล้ว.”—ซี. เอ.