พระยะโฮวา ผู้ทรงกระทำสิ่งน่าอัศจรรย์
“พระองค์ทรงเป็นใหญ่และกระทำสิ่งน่าอัศจรรย์; พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า, พระองค์แต่ผู้เดียว.”—บทเพลงสรรเสริญ 86:10, ล.ม.
1, 2. (ก) ประดิษฐกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์มีผลกระทบโลกอย่างไร? (ข) เราจะประสบความหวังเกี่ยวด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่ดีกว่าที่ไหน?
คนรุ่นใหม่อาจโอ้อวดว่าการคิดประดิษฐ์ของตนเป็นสิ่งมหัศจรรย์—อุปกรณ์ไฟฟ้า, โทรคมนาคม, แถบบันทึกภาพ, รถยนต์, การเดินทางโดยเครื่องบินไอพ่น, และเทคโนโลยีที่ใช้คอมพิวเตอร์. สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้โลกกลายเป็นสภาพเพื่อนบ้าน. แต่สภาพเพื่อนบ้านแบบไหนกัน! แทนที่ทุก ๆ คนจะประสบสันติภาพ, ความสมบูรณ์พูนสุข, และความอุดมบริบูรณ์ มนุษยชาติกลับถูกกระหน่ำด้วยสงครามอันหฤโหด, อาชญากรรม, ขบวนการก่อการร้าย, มลภาวะ, โรคภัย, และความยากจน. แถมยังมีอาวุธนิวเคลียร์กระจายอยู่ทั่วโลก แม้ได้ลดจำนวนแล้วก็ตาม ทว่าก็ยังสามารถทำลายมนุษยชาติได้. พ่อค้าความตายคือผู้ผลิตเครื่องอาวุธ ยังทำธุรกิจที่ใหญ่โตที่สุดในโลก. คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น และคนจนยากจนหนักกว่าเดิม. คนใด ๆ จะหาทางออกได้ไหม?
2 ได้แน่! เพราะมีบุคคลหนึ่งให้คำรับรองการช่วยให้รอดพ้น “ท่านผู้สูงกว่าที่คอยปกป้องรักษาอยู่” คือพระเจ้ายะโฮวา. (ท่านผู้ประกาศ 5:8) พระองค์ทรงดลบันดาลการเขียนบทเพลงสรรเสริญ ซึ่งให้การปลอบประโลมและคำแนะนำที่ดีมากเมื่อมีความทุกข์ยาก. หนึ่งในบทเพลงสรรเสริญเหล่านี้ได้แก่เพลงสรรเสริญบท 86, จ่าหน้าไว้ตอนต้นของบทอย่างง่าย ๆ ว่า “คำอธิษฐานของดาวิด.” เป็นคำอธิษฐานที่คุณสามารถทำให้เป็นคำอธิษฐานของคุณเองได้.
ทนทุกข์แต่ซื่อสัตย์ภักดี
3. ดาวิดได้ให้ตัวอย่างที่หนุนใจอะไรบ้างสำหรับพวกเราสมัยนี้?
3 ดาวิดประพันธ์เพลงบทนี้ขณะตกอยู่ในความทุกข์. พวกเราสมัยนี้มีชีวิตอยู่ในระหว่าง “ยุคสุดท้าย” แห่งระบบของซาตาน เป็น “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะจัดการได้” ก็เผชิญความทุกข์ยากเช่นเดียวกัน. (2 ติโมเธียว 3:1; ดูที่มัดธาย 24:9-13 ด้วย.) เหมือนพวกเรา ดาวิดประสบกับความกระวนกระวายใจและความหดหู่ เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบกระเทือนท่าน. แต่ท่านไม่เคยปล่อยให้ความทุกข์ยากเหล่านั้นทำให้ความไว้วางใจของท่านต่อพระผู้สร้างสั่นคลอน. ท่านได้เปล่งเสียงร้องดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงเงี่ยพระกรรณของพระองค์. ขอทรงตอบข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าทนทุกข์และขัดสน. ขอทรงโปรดคุ้มครองจิตวิญญาณของข้าพเจ้าไว้ เพราะข้าพเจ้าภักดี. ขอทรงช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ที่วางใจในพระองค์—พระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 86:1, 2, ล.ม.
4. เราควรแสดงความมั่นใจของเราอย่างไร?
4 เราย่อมมั่นใจได้เหมือนดาวิดว่า พระยะโฮวา “พระเจ้าผู้ทรงชูใจ” จะทรงเงี่ยพระกรรณของพระองค์ยังแผ่นดินโลกและสดับคำอธิษฐานด้วยความถ่อมใจของเรา. (2 โกรินโธ 1:3, 4) โดยการวางใจพระเจ้าของเราอย่างเต็มที่ เราสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของดาวิดที่ว่า “จงทอดภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา, และพระองค์จะทรงเป็นธุระให้ พระองค์จะไม่ยอมให้คนชอบธรรมแตกฉานซ่านเซ็นไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 55:22.
ใกล้ชิดสนิทกับพระยะโฮวา
5. (ก) คัมภีร์ฉบับแปลบางฉบับที่ทำอย่างรอบคอบได้แก้ไขการผิดพลาดของอาลักษณ์ชาวยิวอย่างไร? (ข) เพลงสรรเสริญบท 85 และบท 86 ได้กล่าวยกย่องพระยะโฮวาในทางใด? (โปรดดูเชิงอรรถ.)
5 ในเพลงสรรเสริญบท 86 ดาวิดใช้ถ้อยคำ “ข้าแต่พระยะโฮวา” 11 ครั้ง. ดาวิดอธิษฐานด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าเพียงใด และท่านใกล้ชิดสนิทกับพระยะโฮวาสักเท่าใด! สมัยต่อมา การใช้พระนามของพระเจ้าอย่างสนิทใจเช่นนั้นกลายเป็นสิ่งพึงรังเกียจสำหรับอาลักษณ์ชาวยิว โดยเฉพาะพวกโซเฟริม. พวกเขาปลูกฝังความกลัวอย่างการถือโชคลางว่าจะใช้พระนามอย่างผิด ๆ. เนื่องจากมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามแบบฉายาของพระเจ้า เขาจึงปฏิเสธที่จะยอมรับว่าพระเจ้ามีคุณลักษณะซึ่งมนุษย์มี. ฉะนั้น 7 ครั้งจาก 11 ครั้งที่พระนามของพระเจ้าปรากฏในข้อความภาษาฮีบรูในบทเพลงสรรเสริญบทนี้ พวกเขาจึงนำเอาคำ ʼอะโดนายʹ (องค์พระผู้เป็นเจ้า) แทนพระนาม ยฮวฮ (ยะโฮวา). พวกเรารู้สึกขอบคุณที่คัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ และฉบับแปลอื่น ๆ ที่ใช้ความระมัดระวังในการแปล ซึ่งต่างก็ทำให้นามของพระเจ้ากลับคืนสู่ที่อันถูกต้องในพระคำของพระเจ้า. ผลก็คือ ความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาได้รับการเน้นอย่างที่ควรจะเป็น.a
6. เราอาจแสดงให้เห็นในทางใดว่าพระนามของพระยะโฮวามีค่ายิ่งต่อเรา?
6 คำอธิษฐานของดาวิดดำเนินต่อไปดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงโปรดปรานแก่ข้าพเจ้า, ด้วยข้าพเจ้าร้องทูลพระองค์ตลอดวันยังค่ำ. ขอทรงโปรดกระทำจิตวิญญาณผู้รับใช้ของพระองค์ชื่นชมยินดี, เพราะข้าพเจ้ายกชูจิตวิญญาณของข้าพเจ้าแด่พระองค์, ข้าแต่พระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:3, 4, ล.ม.) จงสังเกตว่า ดาวิดได้ร้องทูลพระยะโฮวา “วันยังค่ำ.” อันที่จริง บ่อยครั้งท่านได้อธิษฐานตลอดคืน เช่นคราวที่ท่านลี้ภัยอยู่ในป่า. (บทเพลงสรรเสริญ 63:6, 7) ทำนองเดียวกัน สมัยนี้พยานฯบางคนถูกคุกคามด้วยการข่มขืนหรือการประทุษร้ายร่างกายก็ได้ร้องเรียกหาพระยะโฮวาด้วยเสียงดัง. หลายครั้งพวกเขารู้สึกประหลาดใจเมื่อได้ผลในทางที่ดี.b พระนามของพระยะโฮวาเป็นสิ่งประเสริฐแก่พวกเรา อย่างที่เคยเป็นมาแล้วกับ “พระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นเชื้อสายของดาวิด” ในคราวที่พระองค์ทรงอยู่ในโลกนี้. พระเยซูทรงสอนบรรดาสาวกของพระองค์อธิษฐานขอให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ และได้ทรงทำให้พวกเขารู้ด้วยว่าพระนามนั้นหมายถึงอะไร.—มัดธาย 1:1; 6:9; โยฮัน 17:6, 25, 26.
7. เรามีตัวอย่างอะไรบ้างในการที่พระยะโฮวาช่วยจิตวิญญาณผู้รับใช้ของพระองค์ และเราควรสนองตอบอย่างไร?
7 ดาวิดได้ยกชูจิตวิญญาณ คือทั้งเนื้อทั้งตัวของท่านแด่พระยะโฮวา. ท่านสนับสนุนพวกเราให้ทำเช่นเดียวกัน โดยกล่าวไว้ที่บทเพลงสรรเสริญ 37:5 ดังนี้: “จงมอบทางประพฤติของตนไว้กับพระยะโฮวา; แถมจงวางใจในพระองค์ด้วย, และพระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จดังประสงค์.” ฉะนั้น คำวิงวอนที่เราทูลขอพระยะโฮวาโปรดให้จิตวิญญาณของเราชื่นชมนั้น พระองค์จะทรงตอบเรา. ผู้รับใช้หลายคนของพระยะโฮวาที่ได้รักษาความซื่อสัตย์ภักดีก็ยังคงประสบความยินดีอย่างใหญ่หลวงในงานรับใช้พระองค์—ทั้งที่ได้รับความยากลำบาก, การข่มเหง, และความเจ็บป่วย. พี่น้องของเราในประเทศแถบแอฟริกาที่การสู้รบยืดเยื้อมานาน เช่นที่อังโกลา, ไลบีเรีย, โมซัมบิก, และซาอีร์ได้ถือเอางานรับใช้พระยะโฮวาเป็นอันดับแรกตลอดมาในชีวิตของเขา.c แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงบันดาลให้พวกเขาประสบความปีติยินดีในการเก็บเกี่ยวฝ่ายวิญญาณที่ได้ผลอย่างอุดม. พวกเขาอดทนมาแล้วฉันใด พวกเราก็ต้องอดทนฉันนั้น. (โรม 5:3-5) และขณะที่เราอดทน เราได้รับคำรับรองให้มั่นใจดังนี้: “นิมิตนั้นก็มีไว้สำหรับเวลากำหนด และกำลังรุดเร่งไปสู่ที่สุดปลาย . . . จะไม่ล่าช้าเลย.” (ฮะบาฆูค 2:3, ล.ม.) ด้วยความมั่นใจและวางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ จงให้พวกเราเช่นกัน “เร่งรุดไปสู่ที่สุดปลายอย่างไม่ละลด.”
พระคุณของพระยะโฮวา
8. เราอาจมีความใกล้ชิดสนิทแบบไหนกับพระยะโฮวา และพระองค์ได้ทรงสำแดงคุณความดีของพระองค์โดยวิธีใด?
8 ดาวิดทูลวิงวอนอย่างเร่าร้อนต่อไปว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระองค์ทรงคุณความดีและพร้อมจะให้อภัย; และความรักกรุณาเหลือล้นแก่ทุกคนที่ร้องทูลพระองค์. ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงเงี่ยพระกรรณสดับคำทูลอธิษฐานของข้าพเจ้า; และขอทรงใฝ่พระทัยต่อเสียงอ้อนวอนของข้าพเจ้า. ในวันทุกข์ร้อน ข้าพเจ้าจะร้องทูลพระองค์, เพราะพระองค์จะทรงตอบข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:5-7, ล.ม.) “ข้าแต่พระยะโฮวา”—ครั้งแล้วครั้งเล่าเรารู้สึกตื่นเต้นเมื่ออ่านถ้อยคำที่บ่งความใกล้ชิดสนิทสนมเช่นนี้! นี่เป็นความคุ้นเคยสนิทกันซึ่งเราสามารถปลูกฝังได้ตลอดเวลาโดยการอธิษฐาน. ณ อีกโอกาสหนึ่งดาวิดได้อธิษฐานดังนี้: “การบาปล่วงละเมิดที่ได้กระทำเมื่อข้าพเจ้ายังหนุ่มอยู่นั้นขอพระองค์อย่าทรงระลึกถึงเลย: ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงระลึกถึงข้าพเจ้าโดยพระเมตตา เพราะเห็นแก่พระกรุณาของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:7) พระยะโฮวาทรงเป็นแบบอย่างของคุณความดี—ด้วยการจัดพระเยซูเป็นค่าไถ่, ด้วยทรงแสดงความเมตตาแก่คนบาปที่กลับใจ, และโดยทรงสำแดงความรักกรุณาต่อเหล่าพยานฯของพระองค์ที่ซื่อสัตย์ภักดีและหยั่งรู้ค่า.—บทเพลงสรรเสริญ 100:3-5; มาลาคี 3:10.
9. คนบาปที่กลับใจน่าจะใคร่ครวญคำรับรองอะไรอย่างจริงจัง?
9 เราน่าจะมีความรู้สึกไม่สบายใจเพราะการผิดพลาดในอดีตไหม? ถ้าเวลานี้เราจัดทางเดินให้ตรงอยู่แล้ว เราก็ย่อมเบิกบานใจได้เมื่อเรานึกถึงคำรับรองของเปโตรแก่ผู้ที่ได้กลับใจว่า “เวลาชื่นใจยินดี” จะมาจากพระยะโฮวา. (กิจการ 3:19) จงให้พวกเราอยู่ใกล้พระยะโฮวาเสมอด้วยการอธิษฐานผ่านทางพระเยซูพระผู้ไถ่ของเรา ผู้ทรงตรัสด้วยความรักว่า “บรรดาผู้ที่ทำงานหนักและมีภาระมาก จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น. จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลาย และเรียนจากเรา เพราะเรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม และเจ้าจะได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเจ้า.” ขณะที่เหล่าพยานฯที่ซื่อสัตย์ภักดีทูลอธิษฐานต่อพระยะโฮวาในเวลานี้ ผ่านทางพระนามอันประเสริฐของพระเยซู พวกเขาย่อมได้รับความสดชื่นอย่างแท้จริง.—มัดธาย 11:28, 29, ล.ม.; โยฮัน 15:16.
10. พระธรรมบทเพลงสรรเสริญได้ให้ความสำคัญอย่างเด่นชัดเกี่ยวด้วยความรักกรุณาของพระยะโฮวาอย่างไร?
10 บทเพลงสรรเสริญพาดพิงถึง “ความรักกรุณา” ของพระยะโฮวามากกว่าร้อยครั้ง. ความรักกรุณาดังกล่าวมีอุดมบริบูรณ์อย่างแน่นอน! สี่ข้อแรกของเพลงสรรเสริญบท 118 กล่าวชักชวนผู้รับใช้ของพระเจ้าให้ขอบพระคุณพระยะโฮวา กล่าวซ้ำ “เพราะพระกรุณาคุณ [ความรักกรุณา, ล.ม.] ของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์” ถึงสี่ครั้ง. เพลงสรรเสริญบท 136 กล่าวเน้นคุณลักษณะอันทำให้เป็นที่รักคือ “พระกรุณาคุณ [ความรักกรุณา, ล.ม.] ของพระองค์” ไว้ 26 ครั้ง. ไม่ว่าเรากระทำผิดในทางใดก็ตาม—และอย่างที่กล่าวในยาโกโบ 3:2 ว่า “เราทุกคนต่างก็พลาดพลั้งกันหลายครั้ง”—ก็ขอให้พวกเราพร้อมจะแสวงการอภัยโทษจากพระยะโฮวา มั่นใจในความเมตตาและความรักกรุณาของพระองค์. ความรักกรุณาของพระองค์เป็นการแสดงออกซึ่งความรักอย่างภักดีของพระองค์ที่มีต่อพวกเรา. ถ้าเรากระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าด้วยความซื่อสัตย์ภักดีอย่างต่อเนื่อง พระองค์ก็จะทรงสำแดงความรักด้วยความภักดีโดยทรงประทานกำลังเรี่ยวแรงให้เรารับมือกับปัญหาทุกอย่าง.—1 โกรินโธ 10:13.
11. ผู้ปกครองอาจลงมือทำประการใดที่จะช่วยคนที่รู้สึกว่าตนมีความผิดให้เลิกคิดเช่นนั้น?
11 อาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวเมื่อมีคนทำให้เราสะดุด. การถูกประทุษร้ายทางใจและทางกายขณะเป็นเด็กเยาว์วัยอยู่นั้นทำให้บางคนมีความรู้สึกฝังใจว่าตนเป็นคนผิดและไร้ค่าโดยสิ้นเชิง. ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ดังกล่าวจะร้องทูลพระยะโฮวาได้ โดยเชื่อมั่นว่าพระองค์จะทรงตอบ. (บทเพลงสรรเสริญ 55:16, 17) ผู้ปกครองที่เปี่ยมด้วยความกรุณาอาจให้ความสนใจ ช่วยบุคคลประเภทนี้ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา. หลังจากนั้น ผู้ปกครองอาจพูดคุยกับเขาทางโทรศัพท์เป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยผู้นั้น จนกระทั่งเขาสามารถ ‘แบกภาระหนัก’ ได้ในที่สุด.—ฆะลาเตีย 6:2, 5.
12. ความทุกข์ยากเพิ่มทวีอยู่เรื่อยมาอย่างไร แต่เราอาจจัดการกับเรื่องนี้อย่างสำเร็จผลโดยวิธีใด?
12 ในทุกวันนี้มีสภาพการณ์อื่น ๆ ที่น่าหดหู่ใจอีกมากมายซึ่งไพร่พลของพระยะโฮวาจำต้องต่อสู้. เริ่มต้นกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปี 1914 แผ่นดินโลกเริ่มเดือดร้อนด้วยมหันตทุกข์ต่าง ๆ. ดังที่พระเยซูได้ตรัสไว้ล่วงหน้า สิ่งเหล่านั้นเป็น “การเริ่มต้นของความปวดร้าวแห่งความทุกข์.” ความทุกข์นานาประการได้เพิ่มทวีขณะที่เราเข้ามาใกล้จุดจบแห่ง “ช่วงอวสานของระบบนี้.” (มัดธาย 24:3, 8, ล.ม.) “ระยะเวลาอันสั้น” ของพญามารเข้าสู่สุดยอดเมื่อถึงกาลอวสาน. (วิวรณ์ 12:12, ล.ม.) ศัตรูตัวเอ้ “เหมือนสิงโตคำราม” เสาะหาเหยื่อ กำลังใช้เล่ห์เหลี่ยมทุกอย่างเท่าที่หาได้เพื่อแยกเราไปจากไพร่พลของพระเจ้า แล้วทำลายเราเสีย. (1 เปโตร 5:8) แต่มันจะไม่บรรลุผลสำเร็จ! เพราะพวกเราก็เหมือนดาวิด เราไว้วางใจเต็มที่ในพระยะโฮวา พระเจ้าแต่องค์เดียวของเรา.
13. บิดามารดากับบุตรของเขาสามารถจะรับพระกรุณาคุณของพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?
13 ไม่ต้องสงสัย ดาวิดได้ปลูกฝังความจำเป็นที่จะหมายพึ่งคุณความดีของพระยะโฮวาไว้ในหัวใจของซะโลโมราชโอรส. ฉะนั้น ซะโลโมสามารถสอนโอรสของพระองค์ดังนี้: “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง. อย่าอวดว่าตนเป็นคนฉลาด; จงยำเกรงพระยะโฮวา, และละจากความชั่ว.” (สุภาษิต 3:5-7) บิดามารดาสมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน พึงสั่งสอนบุตรวัยเยาว์ของตนให้รู้ว่าจะอธิษฐานด้วยความไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างไร และจะรับมืออย่างไรกับการจู่โจมทำทารุณกรรมจากโลกซึ่งไร้คุณธรรม—อาทิ แรงกดดันจากเพื่อนวัยเดียวกันที่โรงเรียน และการล่อใจให้ทำผิดศีลธรรม. การปฏิบัติตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิลร่วมกับบุตรของคุณทุกวันย่อมประทับความรักแท้ต่อพระยะโฮวาและความวางใจในพระองค์ด้วยการอธิษฐานไว้ในหัวใจบุตรน้อยของคุณ.—พระบัญญัติ 6:4-9; 11:18, 19.
ราชกิจของพระยะโฮวาอันหาที่เปรียบไม่ได้
14, 15. การงานของพระยะโฮวาอันหาที่เปรียบเทียบไม่ได้มีอะไรบ้าง?
14 ด้วยความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้ง ดาวิดตรัสว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ในบรรดาพระเจ้าทั้งปวงไม่มีพระองค์ใดจะเหมือนพระองค์, ทั้งไม่มีการงานใด ๆ เหมือนการงานของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:8, ล.ม.) การงานของพระยะโฮวาใหญ่ยิ่ง, โอ่อ่ามโหฬาร, และสง่างามเกินกว่ามนุษย์คนใดจะสามารถสร้างจินตนาการได้. ดังที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันรู้เห็นเพียงแวบหนึ่งเกี่ยวกับเอกภพที่ได้รับการสร้างขึ้นมา—ความกว้างไพศาล, ความสอดคล้องกลมกลืน, ความสง่างาม—ล้วนพิสูจน์ให้เห็นถึงความใหญ่โตมโหฬารมากยิ่งเสียกว่าที่ดาวิดเคยเข้าใจ. ถึงกระนั้น ท่านเกิดแรงบันดาลใจให้กล่าวว่า “ฟ้าสวรรค์แสดงพระรัศมีของพระเจ้า; และท้องฟ้าประกาศพระหัตถกิจ.”—บทเพลงสรรเสริญ 19:1.
15 อนึ่ง พระหัตถกิจของพระยะโฮวาปรากฏอย่างงดงามล้ำเลิศในวิธีที่พระองค์วางตำแหน่งและทรงเตรียมแผ่นดินโลก ให้มีกลางวันกลางคืน, ฤดูกาล, มีเวลาเพาะหว่านและเวลาเก็บเกี่ยว, และความเบิกบานยินดีหลาย ๆ ด้านเพื่อความชื่นชมของมนุษย์ในวันข้างหน้า. และตัวเราเองก็ได้รับการสร้างขึ้นมาและถูกเตรียมไว้พร้อมอย่างน่าพิศวงจริง ๆ เพื่อว่าพวกเราสามารถชื่นชมการงานของพระยะโฮวาที่อยู่รอบตัวเรา!—เยเนซิศ 2:7-9; 8:22; บทเพลงสรรเสริญ 139:14.
16. การสำแดงพระคุณใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวาได้แก่อะไร นำไปสู่การงานอะไรขั้นต่อไปซึ่งไม่มีใดจะเทียบได้?
16 หลังจากบิดามารดาคู่แรกของเราไม่เชื่อฟังพระเจ้า เป็นเหตุให้ความทุกข์ยากต่าง ๆ นานารบกวนแผ่นดินโลกจนถึงทุกวันนี้; เนื่องด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงกระทำราชกิจอันน่าอัศจรรย์ที่ได้ส่งพระบุตรของพระองค์มายังแผ่นดินโลก เพื่อประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าและสละชีวิตเป็นค่าไถ่มนุษยชาติ. และเป็นที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง! ครั้นแล้ว พระยะโฮวาทรงบันดาลให้พระคริสต์เป็นขึ้นจากตายให้เป็นกษัตริย์ในวันข้างหน้าร่วมกับพระองค์. (มัดธาย 20:28; กิจการ 2:32, 34) อนึ่ง จากมนุษย์ที่ซื่อสัตย์ภักดีพระเจ้าได้ทรงเลือกสรร “สิ่งที่ถูกสร้างใหม่” ซึ่งจะปกครองกับพระคริสต์ฐานะเป็น “ฟ้าสวรรค์ใหม่” ที่ดีเหนือสังคม “แผ่นดินโลกใหม่” ซึ่งจะรวมไปถึงคนหลายล้านที่ได้รับการปลุกขึ้นจากตาย. (2 โกรินโธ 5:17, ฉบับแปลใหม่; วิวรณ์ 21:1, 5-7; 1 โกรินโธ 15:22-26) ด้วยเหตุนี้ การงานของพระยะโฮวาจะดำเนินต่อไปจนบรรลุสุดยอดอันรุ่งโรจน์! จริงทีเดียว เราสามารถพูดได้ว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, . . . พระกรุณาคุณของพระองค์มากยิ่งเท่าใด, ที่ได้ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับเหล่าคนที่เกรงกลัวพระองค์!”—บทเพลงสรรเสริญ 31:17-19.
17. เกี่ยวกับราชกิจของพระยะโฮวา บทเพลงสรรเสริญ 86:9 ได้มาสำเร็จสมจริงอย่างไรขณะนี้?
17 ราชกิจของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันรวมเอาสิ่งที่ดาวิดพรรณนาที่บทเพลงสรรเสริญ 86:9 ดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ชนประเทศทั้งปวงที่พระองค์ได้ทรงสร้างจะพากันมา, และพวกเขาจะกราบลงจำเพาะพระองค์, และจะถวายเกียรติยศแด่พระนามของพระองค์.” ภายหลังการทรงเรียกชนที่เหลือแห่งสิ่งที่ถูกสร้างใหม่ คือ “ฝูงแกะเล็กน้อย” แห่งทายาทราชอาณาจักรออกมาจากท่ามกลางมนุษยชาติแล้ว พระยะโฮวาทรงดำเนินการรวบรวม “ชนฝูงใหญ่” จำพวก “แกะอื่น” หลายล้านคนจากท่ามกลาง “ชนทุกประเทศ” ซึ่งได้สำแดงความเชื่อในพระโลหิตของพระเยซูที่ได้หลั่งออก. พระองค์ทรงเสริมสร้างคนเหล่านี้ให้เป็นองค์การอันทรงพลัง เป็นสังคมเดียวในโลกปัจจุบันที่ประกอบด้วยผู้รักสันติ. เมื่อเฝ้ามองเหตุการณ์นี้ เหล่าทูตสวรรค์ก้มลงกราบต่อพระพักตร์พระยะโฮวา ประกาศว่า “พระพรและสง่าราศีและสติปัญญาและการขอบพระคุณและเกียรติยศและฤทธิ์เดชและกำลัง [จงมี] แด่พระเจ้าของเราตลอดไปเป็นนิตย์.” และชนฝูงใหญ่ก็ยกย่องสรรเสริญพระนามของพระยะโฮวาโดยทำการปรนนิบัติพระองค์ทั้ง “กลางวันกลางคืน” ด้วยความหวังจะรอดชีวิตผ่านอวสานของโลกนี้และดำรงอยู่ตลอดไปในบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน.—ลูกา 12:32; วิวรณ์ 7:9-17, ล.ม; โยฮัน 10:16.
ความใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวา
18. พระยะโฮวาได้สำแดงให้ปรากฏอย่างไรว่าพระองค์ทรงเป็น ‘พระเจ้าแต่องค์เดียว’?
18 ต่อจากนั้นดาวิดเน้นสภาวะความเป็นพระเจ้าของพระยะโฮวา โดยตรัสว่า “พระองค์ทรงเป็นใหญ่และกระทำสิ่งน่าอัศจรรย์; พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า, พระองค์แต่ผู้เดียว.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:10, ล.ม.) ตั้งแต่เบื้องบรรพ์ พระยะโฮวาทรงสำแดงให้เห็นมาโดยตลอดว่าพระองค์เป็น ‘พระเจ้าแต่องค์เดียว.’ ฟาโรห์กษัตริย์ทรราชแห่งอียิปต์ได้ท้าทายโมเซอย่างโอหังว่า “พระยะโฮวานั้นเป็นผู้ใดเล่า, ที่เราต้องฟังคำของท่าน, และปล่อยชนยิศราเอลไป? เราไม่รู้จักพระยะโฮวา.” แต่ในไม่ช้าเขาก็ได้เรียนรู้ว่าพระยะโฮวาใหญ่ยิ่งปานใด! พระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ทุกประการได้ทำให้พวกพระเจ้าของอียิปต์และพวกปุโรหิตที่ใช้อาคมต้องอับอายโดยการยังภัยพิบัติร้ายแรงต่าง ๆ, สังหารลูกชายหัวปีของชาวอียิปต์, และทำลายฟาโรห์พร้อมด้วยกองทัพที่ดีที่สุดของเขาเสียในทะเลแดง. เป็นความจริง ท่ามกลางพระเจ้าทั้งหลายนั้นไม่มีใครเสมอเหมือนพระยะโฮวา!—เอ็กโซโด 5:2; 15:11, 12.
19, 20. (ก) เมื่อไรเพลงที่วิวรณ์ 15:3, 4 จะมีการร้องกันอย่างมโหฬารที่สุด? (ข) แม้ในเวลานี้ เราจะมีส่วนในราชกิจของพระยะโฮวาได้อย่างไร?
19 ในฐานะเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียว พระยะโฮวาทรงกระทำสิ่งอัศจรรย์ต่าง ๆ เพื่อเตรียมการช่วยผู้ที่นมัสการพระองค์ให้รอดพ้นจากอียิปต์สมัยใหม่—โลกของซาตาน. พระองค์ได้ทรงดำเนินงานเพื่อว่าคำพิพากษาของพระองค์จะได้รับการประกาศไปทั่วโลกให้เป็นคำพยานโดยวิธีรณรงค์ประกาศอย่างกว้างขวางใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ คำพยากรณ์ของพระเยซูที่มัดธาย 24:14 ได้มาสำเร็จสมจริง. ในไม่ช้า “จุดอวสาน” ต้องเกิดขึ้น เมื่อพระยะโฮวาจะสำแดงความใหญ่ยิ่งของพระองค์ในขอบข่ายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยจะทรงกวาดล้างทำลายความชั่วช้าทั้งสิ้นให้หมดไปจากแผ่นดินโลก. (บทเพลงสรรเสริญ 145:20) ครั้นแล้วเพลงของโมเซและเพลงของพระเมษโปดกก็จะถึงสุดยอดที่ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้า องค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ พระราชกิจของพระองค์ใหญ่และมหัศจรรย์. พระมรคาของพระองค์ชอบธรรมและสัตย์จริง. พระยะโฮวา ผู้ใดเล่าจะไม่เกรงกลัวพระองค์อย่างแท้จริง และไม่ถวายสง่าราศีแด่พระนามพระองค์ เพราะพระองค์ผู้เดียวทรงภักดี?”—วิวรณ์ 15:3, 4.
20 ในส่วนของเรานั้น ขอให้เรากระตือรือร้นบอกเล่าแก่คนอื่น ๆ ถึงเรื่องพระประสงค์ต่าง ๆ อันดีเลิศของพระเจ้า. (เทียบกับกิจการ 2:11.) พระยะโฮวายังคงกระทำงานใหญ่และอัศจรรย์ยิ่งในสมัยของเราและจะทรงทำต่อ ๆ ไปในกาลข้างหน้า ดังที่บทความถัดไปจะพรรณนา.
[เชิงอรรถ]
a คำอธิบายเกี่ยวกับไบเบิลปี 1874 ยกคำพูดของ แอนดรูว์ เอ. บอนาร์ที่ว่า “มีหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับคุณลักษณะเฉพาะของพระเจ้า, พระนามอันทรงเกียรติรุ่งโรจน์ของพระองค์ ได้รับการเปิดเผยในตอนท้ายของเพลงสรรเสริญบทนี้ [บท 85]. ทั้งนี้ อาจเป็นเหตุที่มีบทเพลงสรรเสริญอีกบทหนึ่งติดตามมาคือ ‘คำอธิษฐานของดาวิด’ ซึ่งเพียบด้วยคุณลักษณะของพระยะโฮวามากพอ ๆ กัน. จุดสำคัญของเพลงสรรเสริญบท 86 ได้แก่พระนามของพระยะโฮวา.”
b ดูจาก อะเวก! ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 1984 หน้า 28 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแอนด์แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
c รายละเอียดโปรดดูจากแผนภูมิ “รายงานเกี่ยวกับปีรับใช้ 1992 ของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก” ซึ่งจะปรากฏในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 1 มกราคม 1993.
คุณจำได้ไหม?
▫ เหตุใดเราควรทำให้คำอธิษฐานที่บทเพลงสรรเสริญ 86 เป็นคำทูลขอของตนเอง?
▫ เราอาจเข้าใกล้ชิดสนิทกับพระยะโฮวาโดยวิธีใด?
▫ พระยะโฮวาทรงสำแดงพระคุณต่อพวกเราอย่างไร?
▫ การงานของพระยะโฮวาที่ไม่มีอะไรเทียบได้มีอะไรบ้าง?
▫ ในด้านความใหญ่ยิ่ง พระยะโฮวาทรงเป็น ‘พระเจ้าแต่องค์เดียว’ นั้นอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 10]
ใน “แผ่นดินโลกใหม่” ที่จะมีมา การงานต่าง ๆ ที่น่าพิศวงของพระยะโฮวาจะเป็นพยานถึงสง่าราศีและพระคุณของพระองค์ต่อ ๆ ไป