บทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการทำให้พระประสงค์ ของพระยะโฮวาสำเร็จ
“ถ้อยคำที่ออกไปจากปากของเราจะ . . . สัมฤทธิ์ผลสมประสงค์ ดังที่เราได้ใช้มันไปทำ.”—ยซา. 55:11
1. จงยกตัวอย่างให้เห็นความแตกต่างระหว่างแผนการกับเป้าประสงค์.
ขอให้นึกภาพชายสองคนที่ต่างเตรียมตัวจะเดินทางโดยรถยนต์. ชายคนหนึ่งวางแผนอย่างละเอียดด้วยการกำหนดเส้นทางที่จะไปถึงจุดหมายปลายทาง. ส่วนอีกคนหนึ่งมีจุดหมายปลายทางชัดเจนอยู่ในใจ แต่เขายังรู้ด้วยว่ามีหลายเส้นทางที่จะเลือกไปได้. เขาพร้อมจะปรับเปลี่ยนเส้นทางตามที่จำเป็นหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้น. ในบางแง่ วิธีที่ต่างกันในการไปถึงจุดหมายปลายทางของชายสองคนนี้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างแผนการกับเป้าประสงค์. แผนการอาจเปรียบได้กับการวางแผนอย่างละเอียดด้วยการกำหนดเส้นทาง ในขณะที่เป้าประสงค์อาจเกี่ยวข้องกับการคิดถึงเป้าที่จะบรรลุแต่ไม่จำเป็นจะต้องใช้เฉพาะวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อจะบรรลุเป้านั้น.
2, 3. (ก) พระประสงค์ของพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับอะไร และพระองค์ทรงจัดการอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่ออาดามกับฮาวาทำบาป? (ข) เหตุใดเราควรตื่นตัวเสมอและปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับวิธีที่พระยะโฮวาทรงทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ?
2 ในเรื่องการทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ พระยะโฮวาไม่ทรงมีแผนการที่ตายตัว แต่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ซึ่งจะสำเร็จเมื่อเวลาผ่านไป. (เอเฟ. 3:11) พระประสงค์นี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พระองค์ทรงมุ่งหมายไว้ตั้งแต่แรกสำหรับมนุษยชาติและแผ่นดินโลก คือการที่โลกนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นบ้านที่เป็นอุทยานซึ่งมนุษย์สมบูรณ์สามารถมีชีวิตอย่างสงบสุขและมีความสุขตลอดไป. (เย. 1:28) เมื่ออาดามและฮาวาทำบาป พระยะโฮวาทรงจัดการกับสถานการณ์นั้นและทรงจัดเตรียมเพื่อให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในที่สุดอย่างแน่นอน. (อ่านเยเนซิศ 3:15) พระยะโฮวาทรงตั้งพระทัยไว้ว่าหญิงโดยนัยของพระองค์จะให้กำเนิด “เผ่าพันธุ์ [ผู้สืบเชื้อสาย, ล.ม.]” ซึ่งก็คือพระบุตรที่ในที่สุดจะทำลายซาตานผู้ยุยง และแก้ไขผลเสียหายทุกอย่างที่มันทำให้เกิดขึ้น.—ฮีบรู 2:14; 1 โย. 3:8
3 ไม่มีอำนาจใดในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลกสามารถขัดขวางพระประสงค์ที่พระเจ้าทรงบอกไว้. (ยซา. 46:9-11) เหตุใดเราจึงกล่าวได้อย่างนั้น? เนื่องจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย. พลังปฏิบัติการของพระเจ้านี้ซึ่งไม่มีอะไรจะต้านทานได้ทำให้เรามั่นใจว่าพระประสงค์ของพระองค์ “จะสำเร็จผลเป็นแน่.” (ยซา. 55:10, 11, ล.ม.) เราต้องตื่นตัวอยู่เสมอและปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับวิธีที่พระเจ้าทรงทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. ความหวังในชีวิตของเราในอนาคตขึ้นอยู่กับความสำเร็จเป็นจริงของพระประสงค์ของพระเจ้า. นอกจากนั้น เป็นเรื่องที่เสริมความเชื่อที่เราได้เห็นวิธีที่พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์. ดังนั้น ให้เรามาพิจารณาบทบาทของพระวิญญาณ—ในอดีต, ในปัจจุบัน, และในอนาคต—ในการทำให้พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จ.
บทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในอดีต
4. พระยะโฮวาทรงค่อย ๆ เปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ทีละน้อยอย่างไร?
4 ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาทรงค่อย ๆ เปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ทีละน้อย. ในตอนแรก การระบุตัวผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญายังเป็น “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์.” (1 โค. 2:7) ต้องรอจนกระทั่งประมาณ 2,000 ปีต่อมาพระยะโฮวาจึงได้ตรัสถึงผู้สืบเชื้อสายอีกครั้งหนึ่ง. (อ่านเยเนซิศ 12:7; 22:15-18) พระยะโฮวาประทานคำสัญญาอย่างหนึ่งแก่อับราฮามซึ่งจะสำเร็จเป็นจริงในขอบเขตที่ใหญ่กว่า. การใช้คำ “เพราะพงศ์พันธุ์ [“ผู้สืบเชื้อสาย,” ล.ม.] ของเจ้า” เป็นการระบุอย่างชัดเจนว่าผู้สืบเชื้อสายนั้นจะมาในสภาพมนุษย์ และเป็นลูกหลานคนหนึ่งของอับราฮาม. เราแน่ใจได้ว่าซาตานเฝ้ามองอยู่ด้วยความสนใจอย่างยิ่งขณะที่มีการเปิดเผยรายละเอียดนี้. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าศัตรูตัวเอ้ผู้นี้ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการทำลายเชื้อสายของอับราฮาม และโดยวิธีนั้นจึงเป็นการขัดขวางไม่ให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ. แต่เป็นไปไม่ได้ที่ผลจะออกมาอย่างที่ซาตานต้องการ เพราะพระวิญญาณของพระเจ้าที่เห็นไม่ได้ด้วยตาดำเนินกิจอยู่. โดยวิธีใดบ้าง?
5, 6. พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์อย่างไรเพื่อปกป้องลูกหลานของอับราฮามไว้จนกระทั่งผู้สืบเชื้อสายมาปรากฏ?
5 พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์เพื่อปกป้องลูกหลานของอับราฮามไว้จนกระทั่งผู้สืบเชื้อสายมาปรากฏ. พระยะโฮวาตรัสกับอับราม (อับราฮาม) ว่า “เราเป็นโล่ . . . ของเจ้า.” (เย. 15:1) นั่นไม่ใช่คำตรัสที่ไร้ความหมาย. ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นราว ๆ ปี 1919 ก่อนสากลศักราช เมื่ออับราฮามและซาราห์ได้พักอาศัยชั่วคราวที่เมืองฆะราร. เพราะไม่รู้ว่าซาราห์เป็นภรรยาของอับราฮาม กษัตริย์อะบีเมเล็คแห่งเมืองฆะรารจึงให้คนนำซาราห์มา โดยหมายจะให้เธอมาเป็นภรรยา. ซาตานบงการอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ไหม โดยพยายามไม่ให้ซาราห์มีบุตรที่เป็นผู้สืบเชื้อสายของอับราฮาม? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกในเรื่องนี้. สิ่งที่พระคัมภีร์บอกก็คือพระยะโฮวาทรงเข้าแทรกแซง. พระองค์ทรงเตือนอะบีเมเล็คทางความฝันไม่ให้แตะต้องซาราห์.—เย. 20:1-18
6 เหตุการณ์ในทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว. พระยะโฮวาทรงช่วยอับราฮามและคนในครอบครัวท่านหลายครั้ง. (เย. 12:14-20; 14:13-20; 26:26-29) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญจึงสามารถกล่าวเกี่ยวกับอับราฮามและลูกหลานของท่านว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] มิได้ทรงยอมให้คนใดข่มเหงเขา; จริงพระเจ้าค่ะ, พระองค์ได้ทรงทัดทานเหล่ากษัตริย์เพราะเห็นแก่เขา ตรัสว่า ‘อย่าแตะต้องผู้ถูกเจิมของเรา, และอย่าทำร้ายแก่พวกศาสดาพยากรณ์ของเรา.’ ”—เพลง. 105:14, 15
7. พระยะโฮวาทรงปกป้องชาติอิสราเอลโดยวิธีใดบ้าง?
7 โดยทางพระวิญญาณ พระยะโฮวาทรงปกป้องชาติอิสราเอลโบราณ ซึ่งเป็นชาติที่ผู้สืบเชื้อสายตามคำสัญญาจะมาประสูติ. โดยทางพระวิญญาณ พระยะโฮวาประทานพระบัญญัติแก่ชาติอิสราเอล ซึ่งช่วยรักษาการนมัสการแท้ไว้และปกป้องชาวยิวให้พ้นจากความไม่สะอาดฝ่ายวิญญาณ, ศีลธรรม, และร่างกาย. (เอ็ก. 31:18; 2 โค. 3:3) ในสมัยผู้วินิจฉัย พระวิญญาณของพระยะโฮวาทำให้บางคนมีพลังที่จะช่วยชาติอิสราเอลให้พ้นจากเงื้อมมือศัตรู. (วินิจ. 3:9, 10) ในช่วงหลายศตวรรษก่อนพระเยซูผู้สืบเชื้อสายอันดับแรกของอับราฮามจะมาประสูติ พระวิญญาณบริสุทธิ์คงต้องมีส่วนในการปกป้องกรุงเยรูซาเลม, เมืองเบทเลเฮม, และพระวิหาร ซึ่งที่เหล่านี้ทั้งหมดจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จของคำพยากรณ์ที่เกี่ยวกับพระเยซู.
8. อะไรแสดงว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในชีวิตและงานรับใช้ของพระบุตรของพระเจ้า?
8 พระวิญญาณบริสุทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซู. ในครรภ์ของมาเรียหญิงพรหมจารี พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำสิ่งที่ไม่เคยมีการทำกันไม่ว่าจะก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนั้น. พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้ผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์คนหนึ่งตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชายที่เป็นคนสมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้รับโทษทัณฑ์ของบาปที่ทำให้คนเราตาย. (ลูกา 1:26-31, 34, 35) ต่อมา พระวิญญาณปกป้องพระกุมารเยซูไว้ไม่ให้สิ้นพระชนม์ก่อนเวลาอันควร. (มัด. 2:7, 8, 12, 13) เมื่อพระเยซูพระชนมายุประมาณ 30 พรรษา พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์, แต่งตั้งพระองค์เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ดาวิด, และมอบหมายให้พระองค์ประกาศ. (ลูกา 1:32, 33; 4:16-21) พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์หลายอย่างโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เช่น การรักษาคนป่วย, การเลี้ยงอาหารฝูงชน, และการปลุกคนให้เป็นขึ้นจากตาย. การงานที่ทรงพลังใหญ่ยิ่งเช่นนั้นเป็นภาพแสดงล่วงหน้าถึงพระพรต่าง ๆ ที่เราสามารถคาดหมายว่าจะได้รับภายใต้การปกครองในฐานะกษัตริย์ของพระเยซู.
9, 10. (ก) เหล่าสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรกได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไร? (ข) มีการเปิดเผยในศตวรรษแรกแห่ง ส.ศ. อย่างไรซึ่งทำให้เห็นสิ่งใหม่เกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาจะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ?
9 เริ่มตั้งแต่วันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์เจิมผู้สืบเชื้อสายอันดับรองของอับราฮาม ซึ่งหลายคนไม่ได้เป็นลูกหลานของอับราฮาม. (โรม 8:15-17; กลา. 3:29) เห็นได้ชัดว่าสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรกได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทำให้พวกเขาสามารถประกาศด้วยใจแรงกล้าและมีอำนาจที่จะทำการอัศจรรย์หลายอย่าง. (กิจ. 1:8; 2:1-4; 1 โค. 12:7-11) โดยทางของประทานที่อัศจรรย์เหล่านั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์เปิดเผยให้เห็นสิ่งใหม่เกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาจะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. พระยะโฮวาไม่ประสงค์ให้ผู้คนนมัสการที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลมซึ่งเป็นศูนย์กลางในการนมัสการมานานหลายร้อยปีอีกต่อไป. พระองค์ทรงแสดงความโปรดปรานต่อประชาคมคริสเตียนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่แทน. นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระยะโฮวาทรงใช้ประชาคมที่ถูกเจิมนั้นเพื่อทำหน้าที่ตามพระประสงค์ของพระองค์.
10 การปกป้อง, การได้รับกำลัง, และการเจิมเป็นเพียงไม่กี่วิธีที่พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลเพื่อทำให้แน่ใจว่าพระประสงค์ของพระองค์จะสำเร็จ. แต่จะว่าอย่างไรสำหรับสมัยของเรา? พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณเพื่อสนับสนุนพระประสงค์ของพระองค์ในทุกวันนี้อย่างไร? เราจำเป็นต้องรู้ เพราะเราต้องการจะปฏิบัติอย่างที่สอดคล้องกับพระวิญญาณ. ดังนั้น ให้เราพิจารณาสี่วิธีที่พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์ในปัจจุบัน.
บทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในปัจจุบัน
11. อะไรแสดงให้เห็นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังที่ช่วยให้ประชาชนของพระเจ้าเป็นคนสะอาด และคุณจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าคุณให้พระวิญญาณมีอิทธิพลต่อชีวิตคุณ?
11 วิธีแรก พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังที่ช่วยให้ประชาชนของพระเจ้าเป็นคนสะอาด. คนที่มีส่วนในพระประสงค์ของพระยะโฮวาต้องสะอาดด้านศีลธรรม. (อ่าน 1 โครินท์ 6:9-11) บางคนที่เข้ามาเป็นคริสเตียนแท้เคยทำผิดศีลธรรม เช่น การผิดประเวณี, การเล่นชู้, และการรักร่วมเพศ. ความปรารถนาที่ทำให้ผู้คนทำบาปอาจเป็นความปรารถนาที่ฝังลึก. (ยโก. 1:14, 15) กระนั้น คนเหล่านั้นได้รับการ ‘ชำระให้สะอาด’ ซึ่งแสดงว่าพวกเขาได้ทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในชีวิตเพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า. อะไรช่วยคนที่รักพระเจ้าให้ต้านทานแรงกระตุ้นที่จะทำตามความปรารถนาผิด ๆ ได้? 1 โครินท์ 6:11 บอกว่าสิ่งนั้นคือ ‘พระวิญญาณของพระเจ้า.’ ด้วยการรักษาความสะอาดด้านศีลธรรม คุณแสดงให้เห็นว่าคุณให้พระวิญญาณมีอิทธิพลต่อชีวิตคุณ.
12. (ก) ตามนิมิตที่ยะเอศเคลได้รับ พระยะโฮวาทรงนำองค์การของพระองค์อย่างไร? (ข) คุณจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าคุณกำลังทำงานอย่างที่สอดคล้องกับพระวิญญาณ?
12 วิธีที่สอง พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณนำองค์การของพระองค์ให้ดำเนินไปในทิศทางที่พระองค์ทรงประสงค์. ในนิมิตของยะเอศเคล มีการให้ภาพพรรณนาองค์การของพระยะโฮวาส่วนที่อยู่ในสวรรค์ว่าเป็นราชรถฝ่ายสวรรค์ที่เคลื่อนที่ไปอย่างไม่อาจยับยั้งได้สู่ความสำเร็จตามพระประสงค์ของพระยะโฮวา. อะไรผลักดันราชรถให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่แน่นอน? พระวิญญาณบริสุทธิ์นั่นเอง. (ยเอศ. 1:20, 21) ให้เราจำไว้ว่าองค์การของพระยะโฮวาประกอบด้วยสองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ในสวรรค์และอีกส่วนหนึ่งอยู่บนแผ่นดินโลก. ถ้าส่วนที่อยู่ในสวรรค์ได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลกก็ต้องเป็นอย่างนั้นด้วย. ด้วยการเชื่อฟังและภักดีต่อการชี้นำที่ได้รับจากองค์การของพระเจ้าส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลก คุณแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังก้าวทันราชรถฝ่ายสวรรค์ของพระยะโฮวาและกำลังทำงานอย่างที่สอดคล้องกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์.—ฮีบรู 13:17
13, 14. (ก) ใครประกอบกันเป็น “คนในยุคนี้” ที่พระเยซูตรัสถึง? (ข) จงยกตัวอย่างที่แสดงว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์กำลังดำเนินกิจในการทำให้แสงแห่งความจริงในคัมภีร์ไบเบิลชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ. (ดูกรอบ “คุณก้าวทันความสว่างที่ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ไหม?”)
13 วิธีที่สาม พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยเราให้เข้าใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. (สุภา. 4:18) “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้ใช้วารสารนี้มานานแล้วเพื่อเป็นช่องทางหลักในการกระจายแสงสว่างแห่งความจริงที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ. (มัด. 24:45) ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาในเรื่องความเข้าใจของเราเกี่ยวกับคนที่ประกอบกันเป็น “คนในยุคนี้” ที่พระเยซูตรัสถึง. (อ่านมัดธาย 24:32-34) คนในยุคนี้ที่พระเยซูตรัสถึงหมายถึงใคร? บทความ “การประทับของพระคริสต์มีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ?” อธิบายว่า พระเยซูไม่ได้ตรัสถึงคนชั่ว แต่ตรัสถึงเหล่าสาวกซึ่งในไม่ช้าจะได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.a เหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซู ทั้งในศตวรรษแรกและในสมัยของเรา จะไม่เพียงแค่เห็นสัญลักษณ์แต่จะเข้าใจความหมายด้วยว่าพระเยซู “มาใกล้แล้ว . . . อยู่ที่ประตู.”
14 คำอธิบายนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับเรา? แม้ว่าเราไม่สามารถคำนวณได้อย่างแน่ชัดว่าช่วงเวลาของ “คนในยุคนี้” ยาวนานเท่าไร เราไม่ควรลืมข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับคำว่า “คนในยุค.” คำนี้มักหมายถึงผู้คนที่มีอายุต่างกันซึ่งมีช่วงชีวิตคาบเกี่ยวกันอยู่ช่วงหนึ่ง เช่น พ่อกับลูกหรือปู่กับหลาน; นี่ไม่ได้เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานจนเกินไป และมีจุดสิ้นสุด. (เอ็ก. 1:6) ดังนั้น เราจะเข้าใจคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับ “คนในยุคนี้” อย่างไร? ดูเหมือนพระองค์ทรงหมายความว่า ผู้ถูกเจิมที่มีชีวิตเมื่อสัญญาณของสมัยสุดท้ายเริ่มปรากฏให้เห็นในปี 1914 จะมีชีวิตคาบเกี่ยวกับผู้ถูกเจิมคนอื่น ๆ ที่จะเห็นตอนเริ่มต้นของความทุกข์ลำบากใหญ่. คนในยุคนั้นมีจุดเริ่มต้น และจะต้องมีจุดสิ้นสุดอย่างแน่นอน. ความสำเร็จเป็นจริงของสัญญาณแต่ละอย่างบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าความทุกข์ลำบากใหญ่คงต้องเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า. ด้วยการสำนึกถึงความเร่งด่วนและเฝ้าระวังอยู่เสมอ คุณแสดงให้เห็นว่าคุณก้าวทันการปรับเปลี่ยนความเข้าใจในเรื่องความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและติดตามการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์.—มโก. 13:37
15. อะไรแสดงให้เห็นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้เรามีพลังที่จะประกาศข่าวดี?
15 วิธีที่สี่ พระวิญญาณบริสุทธิ์ให้พลังแก่เราเพื่อจะประกาศข่าวดี. (กิจ. 1:8) ยังมีเหตุผลอะไรอีกหรือที่สามารถอธิบายถึงวิธีที่ข่าวดีได้รับการประกาศไปทั่วโลก? ลองคิดดูสิ. คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ขี้อายหรือขี้กลัวมากและเคยคิดว่า ‘ฉันไม่มีทางประกาศตามบ้านได้!’ ถึงกระนั้น ในตอนนี้คุณมีส่วนร่วมในงานนั้นอย่างกระตือรือร้น.b พยานที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาจำนวนมากยังคงประกาศต่อ ๆ ไปแม้ถูกต่อต้านหรือข่มเหง. พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถช่วยเราให้มีพลังที่จะเอาชนะอุปสรรคที่น่ากลัวและสามารถทำสิ่งที่คงเป็นไปไม่ได้ถ้าอาศัยกำลังของเราเอง. (มีคา 3:8; มัด. 17:20) ด้วยการมีส่วนอย่างเต็มที่ในงานประกาศ คุณแสดงให้เห็นว่าคุณให้พระวิญญาณมีอิทธิพลต่อคุณ.
บทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในอนาคต
16. ทำไมเราสามารถมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะปกป้องประชาชนของพระองค์ในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่?
16 ในอนาคต พระยะโฮวาจะใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ในวิธีที่น่าทึ่งเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. ก่อนอื่น ขอให้พิจารณาในเรื่องการปกป้อง. ดังที่เราเห็นแล้ว พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์ในอดีตเพื่อปกป้องบางคนรวมทั้งปกป้องชาติอิสราเอลทั้งชาติ. ดังนั้น เรามีเหตุผลทุกประการที่จะเชื่อว่าพระองค์จะใช้พระวิญญาณอันทรงพลังอย่างเดียวกันนี้เพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่ที่ใกล้เข้ามา. เราไม่จำเป็นต้องคาดเดาเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาจะทรงดูแลพวกเราในตอนนั้น. แทนที่จะต้องคาดเดา เราสามารถมองอนาคตด้วยความมั่นใจ โดยรู้ว่าคนที่รักพระยะโฮวาจะไม่มีวันถูกปิดซ่อนจากสายพระเนตรของพระองค์หรืออยู่ไกลเกินกว่าที่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะไปถึง.—2 โคร. 16:9; เพลง. 139:7-12
17. พระยะโฮวาจะทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์อย่างไรในโลกใหม่?
17 พระยะโฮวาจะทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์อย่างไรในโลกใหม่ที่กำลังจะมาถึง? พระวิญญาณจะเป็นพลังที่อยู่เบื้องหลังการเขียนม้วนหนังสือใหม่ที่จะถูกคลี่ออกในเวลานั้น. (วิ. 20:12) จะมีข้อความอะไรในม้วนหนังสือเหล่านี้? ดูเหมือนว่าจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราทำในช่วงรัชสมัยพันปี. คุณรอคอยที่จะได้พิจารณาเนื้อหาในม้วนหนังสือเหล่านี้ไหม? เรารอคอยโลกใหม่ด้วยใจจดจ่อ. สภาพของชีวิตในยุคสมัยที่น่ายินดีนั้นเมื่อพระยะโฮวาจะทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์สำหรับแผ่นดินโลกและมนุษยชาติเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมเกินกว่าเราจะนึกภาพออกได้.
18. คุณตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำอะไร?
18 ขอเราอย่าลืมว่าพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่ทรงเปิดเผยจะสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะพระองค์ทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นพลังที่มีฤทธิ์อำนาจมากที่สุดในเอกภพ เพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. พระประสงค์นั้นเกี่ยวข้องกับคุณ. ด้วยเหตุนั้น ขอคุณตั้งใจแน่วแน่ที่จะวิงวอนขอให้พระยะโฮวาประทานพระวิญญาณและทำงานอย่างที่สอดคล้องกับการทรงนำของพระวิญญาณ. (ลูกา 11:13) โดยทำอย่างนั้น คุณอาจมีความหวังที่จะมีชีวิตอย่างที่พระยะโฮวาทรงประสงค์สำหรับมนุษย์ คือมีชีวิตตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก.
[เชิงอรรถ]
b สำหรับตัวอย่างของคนที่เอาชนะความขี้อายอย่างมากและกลายเป็นคนกระตือรือร้นในงานรับใช้ โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กันยายน 1993 หน้า 19.
คุณจำได้ไหม?
• พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไรในสมัยคัมภีร์ไบเบิลเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เสมอ?
• พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณอย่างไรในปัจจุบัน?
• พระยะโฮวาจะทรงใช้พระวิญญาณอย่างไรในอนาคตเพื่อให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์?
[กรอบหน้า 10]
คุณก้าวทันความสว่างที่ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ไหม?
พระยะโฮวาประทานความสว่างมากขึ้นเรื่อย ๆ แก่ประชาชนของพระองค์. มีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้างที่ได้ลงพิมพ์แล้วในหอสังเกตการณ์?
▪ ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเรื่องเชื้อเน้นถึงบทเรียนในแง่ดีอะไรที่เกี่ยวกับการเติบโตฝ่ายวิญญาณ? (มัด. 13:33)—ฉบับ 15 กรกฎาคม 2008 หน้า 19-20
▪ การทรงเรียกคริสเตียนที่มีความหวังทางภาคสวรรค์สิ้นสุดลงเมื่อใด?—ฉบับ 1 พฤษภาคม 2007 หน้า 30-31
▪ การนมัสการพระยะโฮวา “ด้วยพระวิญญาณ” หมายถึงอะไร? (โย. 4:24)—ฉบับ 15 กรกฎาคม 2002 หน้า 15
▪ ชนฝูงใหญ่รับใช้ในลานพระวิหารใด? (วิ. 7:15)—ฉบับ 1 พฤษภาคม 2002 หน้า 30-31
▪ การแยกแกะออกจากแพะเกิดขึ้นเมื่อไร? (มัด. 25:31-33)—ฉบับ 15 ตุลาคม 1995 หน้า 18-28