“จงฝึกสอนเด็ก”
การทำสวนให้ประสบผลสำเร็จจะต้องทำมากยิ่งกว่าการหว่านเมล็ดพืชลงดินแล้วกลับไปเก็บผลหลังจากนั้นอีกสองสามเดือน. มันเป็นงานหนักมากซึ่งรวมไปถึงการเตรียมดิน หว่านเมล็ดพืช แล้วรดน้ำและเอาใจใส่ดูแลต้นพืชให้เติบโตจนได้ที่.
กระบวนการนี้ให้อุทาหรณ์เป็นอย่างดีเกี่ยวกับความสัตย์จริงของพระธรรมสุภาษิต 22:6 ที่ว่า “จงฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น: และเมื่อแก่ชราแล้วเขาจะไม่เดินห่างจากทางนั้น.” อันที่จริง การฝึกสอนของบิดามารดาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงดูบุตรอย่างประสบผล.
อย่างไรก็ดี ในโลกปัจจุบันซึ่งปล่อยตามอำเภอใจ บิดามารดาจำนวนไม่น้อยไม่ใส่ใจต่อคำแนะนำนี้. เมื่อพวกเขาดำเนินตามปัญญาแห่งประเพณีนิยมซึ่งสอนว่าบุตรต้องเรียนวิธีจัดการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง บุตรของเขาจึงมักจะถูกปล่อยให้อยู่ด้วยตัวเอง. แนวปฏิบัติดังกล่าวทำให้เด็กหนุ่มสาวไม่อาจต้านทานแรงจูงใจที่เป็นภัยจากบุคคลต่าง ๆ ซึ่งไม่มีหลักการและไม่คำนึงถึงศีลธรรม.—สุภาษิต 13:20.
ดีกว่ามากสักเพียงใดหากบิดามารดาปลูกฝังหลักการที่มีในพระคัมภีร์แก่บุตรด้วยการฝึกสอนตามแนวทางของพระเจ้าเสียแต่วัยเยาว์! เยาว์ขนาดไหน? อัครสาวกเปาโลบอกว่า “ตั้งแต่เป็นทารก.” นั่นเป็นกรณีที่เกิดกับชายหนุ่มติโมเธียว. ยูนิเก มารดา พร้อมทั้งโลอี ยายของท่านได้พร่ำสอน “คำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์” แก่ติโมเธียวจนท่าน “เรียนรู้” และ “ถูกโน้มน้าวใจให้เชื่อ.” ผลเป็นอย่างไร? การฝึกสอนวิธีนั้นมีบทบาทสำคัญทำให้ท่าน “ได้ปัญญาถึงที่รอด.”—2 ติโมเธียว 1:5; 3:14, 15, ล.ม.
ทุกวันนี้ก็เช่นกัน บิดามารดาผู้ไม่ “เลิกราในการทำสิ่งที่ดีงาม” จะเก็บเกี่ยวผลตอบแทนอุดมถ้าเขา “ไม่เลื่อยล้า.” (ฆะลาเตีย 6:9, ล.ม.) กษัตริย์ซะโลโมผู้ทรงปัญญาตรัสดังนี้: “บิดาของคนชอบธรรมจะชื่นใจยินดีมาก.”—สุภาษิต 23:24.