จงมานะพยายามเพื่อปกปักรักษาครอบครัวของคุณเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้า
“ข้าแต่พระยะโฮวา พระองค์นั่นเองจะทรงป้องกันพวกเขาไว้; พระองค์จะทรงพิทักษ์แต่ละคนให้พ้นคนชั่วอายุนี้จนเวลาไม่กำหนด.”—บทเพลงสรรเสริญ 12:7, ล.ม.
1, 2. (ก) บางครอบครัวเป็นอย่างไรบ้างภายใต้สภาพที่กดดันของยุคสุดท้าย? (ข) ครอบครัวคริสเตียนสามารถแสวงหาการรอดพ้นได้อย่างไร?
“วันนี้ผมอิ่มเอิบเบิกบานใจจริง ๆ!” คริสเตียนผู้ปกครองชื่อจอห์นอุทานขึ้น. อะไรคือสาเหตุของความปีติยินดีเช่นนี้? เขาเล่าว่า “บุตรชายวัย 14 ปีและบุตรสาววัย 12 ปี ได้รับบัพติสมา.” แต่ความยินดีของเขาไม่ยุติแค่นั้น. เขาเล่าต่อว่า “และบุตรชายกับบุตรสาววัย 17 และ 16 ปีของผมทั้งสองคนเป็นไพโอเนียร์สมทบเมื่อปีที่แล้ว.”
2 หลายครอบครัวในท่ามกลางพวกเรา ประสบผลดีคล้าย ๆ กันขณะที่พวกเขาปฏิบัติตามหลักการในพระคัมภีร์. แต่บางครอบครัวประสบปัญหา. สามีภรรยาคริสเตียนคู่หนึ่งเขียนมาว่า “เรามีลูกห้าคน และนับวันก็ยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะจัดการกับเขา. เราเสียลูกไปกับระบบเก่านี้แล้วหนึ่งคน. ลูกคนอื่น ๆ ของเราที่ยังอยู่ในวัยรุ่นขณะนี้ดูเหมือนจะเป็นเป้าโจมตีสำคัญของซาตานทีเดียว.” นอกจากนั้น ยังมีคู่สมรสที่วิวาทบาดหมางกันอย่างรุนแรง บางครั้งลงเอยด้วยการแยกกันอยู่หรือหย่าร้างกัน. อย่างไรก็ดี ครอบครัวคริสเตียนที่ปลูกฝังคุณลักษณะคริสเตียนจะผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” และรับการคุ้มครองเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้าที่ใกล้เข้ามาแล้ว. (มัดธาย 24:21; 2 เปโตร 3:13) ถ้าเช่นนั้นแล้วคุณจะทำประการใดได้เพื่อแน่ใจได้ว่าครอบครัวของคุณ จะได้รับการพิทักษ์?
ปรับปรุงการสื่อความให้ดีขึ้น
3, 4. (ก) การพูดจาสื่อความกันมีความสำคัญเพียงไรในชีวิตครอบครัว และทำไมเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาอยู่เนือง ๆ? (ข) เหตุใดสามีพึงมุ่งมั่นเป็นผู้ฟังที่ดี?
3 การสื่อความที่ดีเป็นของจำเป็นอย่างยิ่งต่อประโยชน์สุขของครอบครัว เมื่อขาดการสื่อความ ความตึงเครียดและความกดดันจะเพิ่มขึ้น. ดังถ้อยแถลงในพระธรรมสุภาษิต 15:22 ที่ว่า “ที่ไหนที่ไร้การปรึกษา ความมุ่งหมายต่าง ๆ ย่อมไม่เป็นที่จุใจ.” น่าสนใจ ผู้ให้คำปรึกษาคู่สมรสรายงานอย่างนี้: “ข้อข้องใจส่วนใหญ่ที่ดิฉันได้ฟังบ่อยจากฝ่ายภรรยาซึ่งดิฉันให้คำแนะนำ มักเป็นทำนองนี้ ‘เขาไม่คุยกับฉัน’ และ ‘เขาไม่ฟังฉันพูด.’ และเมื่อดิฉันได้พูดถึงเรื่องนี้กับสามีของพวกเธอ ผู้ชายเหล่านั้นก็ไม่ฟังดิฉันเช่นกัน.”
4 อะไรเป็นเหตุทำให้ขาดการสื่อความ? สิ่งหนึ่งคือ ชายกับหญิงนั้นต่างกัน และเขาก็มีรูปแบบการสื่อความแตกต่างกันอย่างสังเกตได้ชัด. บทความหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ในการสนทนา สามี “โน้มไปทางที่จะพูดตรงและทางด้านปฏิบัติ” ขณะ “สิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่ง [ภรรยา] ต้องการมากกว่าอะไรอื่นคือคนฟังที่มีอารมณ์ร่วม.” ถ้าข้อนี้เป็นปัญหาในชีวิตสมรสของคุณ จงตั้งใจปรับปรุงแก้ไขเรื่องนี้. สามีคริสเตียนอาจต้องพยายามหนักหน่อยเพื่อเป็นผู้ฟังที่ดีกว่าเดิม. สาวกยาโกโบกล่าวว่า ทุกคนจำต้อง “ว่องไวในการฟัง ช้าในการพูด.” (ยาโกโบ 1:19) เรียนรู้ที่จะยับยั้งการออกคำสั่ง, การตักเตือน, หรือเทศน์ เมื่อภรรยาของคุณต้องการเพียง “ความเห็นอกเห็นใจ.” (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) “คนที่มีความรู้ย่อมประหยัดคำพูดของเขา” เป็นคำกล่าวในสุภาษิต 17:27.
5. มีทางใดบ้างที่สามีสามารถจะปรับปรุงแก้ไขการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความรู้สึกของตน?
5 อีกด้านหนึ่ง มี “วารสำหรับเจรจา” และคุณก็อาจต้องฝึกเพื่อจะเป็นผู้แสดงออกซึ่งแนวคิดและความรู้สึกของคุณให้มากกว่าเดิม. (ท่านผู้ประกาศ 3:7) อาทิคุณกล่าวชมภรรยาอย่างไม่อั้นไหมที่เธอทำงานจนประสบความสำเร็จ? (สุภาษิต 31:28) คุณแสดงความขอบคุณออกมาไหมที่เธอตรากตรำทำงานช่วยคุณและดูแลเอาใจใส่บ้านเรือน? (เทียบกับโกโลซาย 3:15.) หรือคุณอาจจะต้องปรับปรุงการใช้ถ้อยคำ ‘แสดงถึงความรัก.’ (เพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม 1:2, ล.ม.) การทำดังกล่าวดูเหมือนคุณจะเคอะเขินบ้างในตอนแรก ๆ แต่จะช่วยได้มากให้ภรรยาของคุณมีความรู้สึกมั่นใจในความรักของคุณ.
6. ฝ่ายภรรยาพึงทำประการใดเพื่อจะปรับปรุงให้การสนทนาสื่อความกันดีขึ้นภายในครอบครัว?
6 ฝ่ายภรรยาคริสเตียนล่ะ? ภรรยาคนหนึ่งบอกว่าสามีของเธอสำนึกในการที่เธอเองหยั่งรู้ค่าเขา ฉะนั้น ไม่จำเป็นที่เธอจะบอกเขา. แต่ผู้ชายก็จะสนองตอบอย่างดีเช่นกันต่อการหยั่งรู้ค่า, คำชม, และคำยกย่องเช่นกัน. (สุภาษิต 12:8) คุณจำต้องแสดงออกมากขึ้นไหมในเรื่องนี้? ในอีกด้านหนึ่ง บางทีคุณอาจจะต้องจดจ่อใส่ใจวิธีที่คุณฟังมากขึ้น. ถ้าสามีรู้สึกว่ายากที่จะเปิดอกแจงปัญหา, ความหวั่นกลัว, หรือความกังวลใจของเขา คุณเรียนรู้วิธีพูดตะล่อมเขาอย่างอ่อนโยนละมุนละม่อมไหม เพื่อเขาจะเปิดใจพูดกับคุณอย่างไม่อั้น?
7. อะไรอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการวิวาทบาดหมางกันระหว่างคู่สมรส และจะป้องกันได้อย่างไร?
7 แน่นอน แม้คู่สมรสซึ่งโดยปกติแล้วเข้ากันได้ดี แต่บางครั้งการสื่อความกันอาจชะงักไปก็ได้. อารมณ์อาจอยู่เหนือเหตุผล หรือการปรึกษาหารือกันเงียบ ๆ อาจกลายเป็นการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อน. (สุภาษิต 15:1) “เราทุกคนต่างก็พลาดพลั้งกันหลายครั้ง” ทว่าการเป็นปากเสียงนิด ๆ หน่อย ๆ ระหว่างสามีภรรยาก็ไม่หมายความว่าการสมรสสิ้นสุดลงแล้ว. (ยาโกโบ 3:2) แต่ “การทะเลาะเถียงกันและการพูดเสียดสีกัน” เป็นสิ่งไม่สมควรและเป็นสิ่งทำลายสัมพันธภาพทุกอย่าง. (เอเฟโซ 4:31) จงว่องไวที่จะทำให้เกิดสันติสุขเมื่อมีการโต้ตอบคำพูดอันทำให้เจ็บใจ. (มัดธาย 5:23, 24) บ่อยครั้ง เราสามารถป้องกันการทะเลาะวิวาทกันได้ตั้งแต่แรก ถ้าคุณทั้งสองปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโลที่เอเฟโซ 4:26 ที่ว่า “อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่.” ใช่แล้ว จงนำปัญหาขึ้นมาพูดขณะที่ยังเป็นปัญหาเล็กและสามารถจัดการได้; อย่ารั้งรออยู่จนกระทั่งห้ามอารมณ์วู่วามของคุณไม่ทัน. การใช้เวลาสักสองสามนาทีแต่ละวันหารือกันเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องเอาใจใส่คงช่วยได้มากจะทำให้การสื่อความระหว่างกันและกันดีขึ้น ทั้งยังป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิด.
‘การปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา’
8. เหตุใดหนุ่มสาวบางคนอาจลอยห่างออกไปจากความจริง?
8 ดูเหมือนว่าบิดามารดาบางคนพอใจให้บุตรของตนเติบโตขึ้นโดยไม่สู้จะชี้นำอะไรมากนัก. เด็กไปร่วมประชุมและมีส่วนในงานประกาศบ้าง แต่เขาก็มักจะไม่ได้สร้างสมความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาเองกับพระเจ้า. ในเวลาต่อมา “ความใคร่ของเนื้อหนังและความใคร่ของตา” อาจชักพาคนหนุ่ม ๆ ดังกล่าวหลายคนออกไปจากความจริง. (1 โยฮัน 2:16) คงเป็นความเศร้าเสียใจเพียงไรสำหรับบิดามารดาที่รอดผ่านอาร์มาเก็ดดอน แต่เพราะการเพิกเฉยละเลยในอดีต จึงได้ปล่อยบุตรของตนไว้เบื้องหลังรวมอยู่ในจำนวนคนที่พินาศ.
9, 10. (ก) การเลี้ยงดูบุตร “ด้วยการอบรมตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา” รวมถึงสิ่งใด? (ข) ทำไมเป็นสิ่งสำคัญที่จะยอมให้เด็กแสดงความรู้สึกของเขาอย่างเป็นอิสระ?
9 เหตุฉะนั้น เปาโลจึงเขียนไว้ว่า “ท่านทั้งหลายผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของท่านให้ขัดเคืองใจ แต่จงอบรมเขาด้วยการตีสอน และการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) ที่จะกระทำเช่นนั้น คุณเองต้องรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับมาตรฐานต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาได้ทรงตั้งไว้. คุณควรวางตัวอย่างที่เหมาะสมเมื่อมาถึงเรื่องต่าง ๆ เช่น สิ่งที่คุณเลือกให้ความบันเทิง, การศึกษาส่วนตัว, การเข้าร่วมประชุม, และการออกประกาศ. อนึ่ง ถ้อยคำของเปาโลใช้ได้กับข้อที่ว่า บิดาต้อง (1) เป็นผู้เฝ้าสังเกตที่ฉลาดรู้ทันบุตร และที่ว่าต้อง (2) มีการติดต่อสื่อความเป็นอย่างดีกับบุตรอยู่เสมอ. เมื่อคุณทำเช่นนี้คุณสามารถรู้ได้แน่นอนว่ายามใดบุตรจำเป็นต้องได้รับการ “ปรับความคิดจิตใจ.”
10 เป็นธรรมดาอยู่เอง คนที่โตขึ้นเป็นวัยรุ่นจะมุ่งมั่นเพื่อมีความเป็นอิสระพอประมาณ. อย่างไรก็ดี คุณต้องตื่นตัวต่อสัญลักษณ์ต่าง ๆ อันโจ่งแจ้งแสดงถึงอิทธิพลทางโลกในคำพูด, ความคิด, การแต่งกายและการไว้ทรงผม, และการเลือกคบเพื่อน. บิดาที่ฉลาดได้พูดดังบันทึกในพระธรรมสุภาษิต 23:26, (ล.ม.) ดังนี้: “บุตรชายของเรา จงมอบหัวใจของเจ้าให้เรา.” บุตรของคุณเป็นอิสระไหมที่จะเผยความในใจและความรู้สึกของเขากับคุณ? เมื่อบุตรไม่กลัวการตำหนิทันควัน เขาคงอยากจะเผยความรู้สึกอันแท้จริงของเขาเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น กิจกรรมนอกหลักสูตร, การนัดพบ, การศึกษาต่อในระดับสูง, หรือสัจธรรมแห่งคัมภีร์โดยตรง.
11, 12. (ก) โดยวิธีใดอาจใช้เวลารับประทานอาหารเพื่อส่งเสริมการสนทนาสื่อความกันภายในครอบครัว? (ข) ความพยายามอย่างไม่ลดละของบิดามารดาเพื่อส่งเสริมการสนทนากับบุตรเช่นนั้นอาจบังเกิดผลอะไร?
11 ในหลายประเทศถือเป็นธรรมเนียมที่ครอบครัวจะรับประทานอาหารร่วมกัน. ดังนั้น อาหารมื้อค่ำจึงเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัวจะมีส่วนร่วมวงสนทนาแบบเสริมสร้างกัน. บ่อยครั้ง โทรทัศน์และสิ่งอื่นที่เบนความสนใจได้เข้ามาแทรกเวลารับประทานอาหารพร้อมหน้ากันของครอบครัว. บุตรของคุณเหมือนกับถูกยึดตัวไว้ในโรงเรียนนานต่อเนื่องหลายชั่วโมงและคลุกคลีกับแนวคิดแบบชาวโลก. เวลารับประทานอาหารจึงเป็นโอกาสเหมาะสำหรับการคุยกับบุตร. มารดาคนหนึ่งพูดว่า “เราใช้เวลารับประทานอาหารนี่แหละคุยกันถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เราประสบในวันนั้น.” กระนั้น ไม่ควรให้เวลารับประทานอาหารกลายเป็นช่วงของการว่ากล่าวให้อับอายหรือการซักถาม. จงให้เป็นเวลาเพื่อผ่อนคลายและน่าเพลิดเพลินอยู่เสมอ!
12 การที่จะให้บุตรเปิดใจพูดคุยกับคุณเป็นสิ่งท้าทาย และอาจจะต้องเพียรอดทนอยู่เรื่อยไป. แต่ภายในเวลาอันควร คุณคงจะเห็นผลอันน่าชื่นใจ. มารดาซึ่งห่วงใยเล่าย้อนหลังว่า “ลูกชายของเราวัย 14 ปีเคยเป็นเด็กซึมเศร้า และชอบอยู่แต่ลำพัง. โดยการอธิษฐานของเราและพากเพียรไม่ละลด ตอนนี้เขาเปิดใจและเริ่มพูด!”
การศึกษาในครอบครัวแบบที่เสริมสร้าง
13. ทำไมการอบรมบุตรตั้งแต่เยาว์วัยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และจะทำได้อย่างไร?
13 อนึ่ง “การปรับความคิดจิตใจ” รวมเอาการสั่งสอนพระคำของพระเจ้าอย่างมีแบบแผนด้วย. อย่างกรณีของติโมเธียว การอบรมสั่งสอนเช่นนั้นควรเริ่ม “ตั้งแต่เป็นทารก.” (2 ติโมเธียว 3:15, ล.ม.) การอบรมตั้งแต่อายุน้อยสร้างเสริมกำลังแก่เด็กเมื่อมีการทดลองความเชื่อ ซึ่งอาจมีขึ้นระหว่างหลายปีที่เรียนหนังสือในโรงเรียน—เป็นต้นว่า การฉลองวันเกิด, พิธีรำลึกแสดงความรักชาติ, หรือวันหยุดทางศาสนา. ถ้าไม่มีการเตรียมตัวสำหรับการทดลองดังกล่าว ความเชื่อของเด็กอาจถูกทำลายอย่างยับเยิน. ฉะนั้น จงถือเอาประโยชน์จากเครื่องมือที่สมาคมว็อชเทาเวอร์ได้จัดเตรียมไว้สำหรับเด็กเล็ก ๆ เช่นหนังสือ การรับฟังครูผู้ยิ่งใหญ่ และหนังสือของฉันเกี่ยวด้วยเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิล.
14. การศึกษาของครอบครัวจะทำได้สม่ำเสมอโดยวิธีใด และคุณได้ทำประการใดเพื่อให้การศึกษาของครอบครัวเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ?
14 อีกขอบเขตหนึ่งซึ่งต้องเอาใจใส่คือการศึกษาในครอบครัว, ซึ่งอาจกลายเป็นการศึกษาไม่สม่ำเสมอ หรือกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่จริงจังได้อย่างง่าย ๆ ซึ่งเป็นความลำบากไม่น้อยต่อบิดามารดาและบุตรด้วย. คุณอาจจะปรับปรุงแก้ไขโดยวิธีใด? ก่อนอื่น คุณต้อง ‘ซื้อเวลา’ สำหรับการศึกษา ไม่ปล่อยให้รายการโทรทัศน์หรือสิ่งใด ๆ ที่ทำให้จิตใจวอกแวกเข้ามาแย่งเอาเวลาไป. (เอเฟโซ 5:15-17) ประมุขของครอบครัวหนึ่งยอมรับว่า “เราเคยมีปัญหายุ่งยากที่จะให้การศึกษาในครอบครัวของเราดำเนินอย่างสม่ำเสมอ. เราเคยพยายามช่วงเวลาต่าง ๆ กัน กระทั่งในที่สุดเราก็จัดเอาเวลาช่วงหนึ่งตอนเย็นและก็นับว่าใช้ได้ผลดีสำหรับเรา. เวลานี้ครอบครัวของเราศึกษากันอย่างสม่ำเสมอ.”
15. คุณอาจดัดแปลงการศึกษาของครอบครัวให้เหมาะกับความจำเป็นของคนในครอบครัวได้อย่างไร?
15 ขั้นต่อไป จงพิจารณาความจำเป็นเฉพาะอย่างของครอบครัวของคุณ. หลายครอบครัวชื่นชมกับการเตรียมบทเรียนประจำสัปดาห์ในวารสารหอสังเกตการณ์ ด้วยกัน. แต่บางครั้ง ครอบครัวของคุณอาจมีประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะซึ่งจำเป็นต้องถกกัน รวมทั้งปัญหาต่าง ๆ ที่เผชิญในโรงเรียน. หนังสือการได้ประโยชน์มากที่สุดจากวัยหนุ่มสาว และบทความต่าง ๆ จากวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด คงตอบสนองความจำเป็นด้านนี้ได้. ผู้เป็นบิดาคนหนึ่งพูดว่า “ถ้าเราจะหยิบยกทัศนะใด ๆ ของพวกลูกชายที่จำต้องรับการแก้ไข เราก็จะมุ่งไปดูบทนั้นที่พูดคลุมเฉพาะเรื่องในหนังสือหนุ่มสาว.” ภรรยาของเขาเสริมขึ้นว่า “เราพยายามเป็นคนยืดหยุ่น. ถ้าเราได้เตรียมบางเรื่องสำหรับการศึกษา และเกิดมีประเด็นอื่นขึ้นมาที่ต้องถกกัน เราก็จะปรับเปลี่ยนไปตามความจำเป็น.”
16. (ก) คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าบุตรของคุณเข้าใจสิ่งที่เขาเรียนอยู่? (ข) เมื่อนำการศึกษาของครอบครัว ปกติแล้วน่าจะหลีกเลี่ยงอะไร?
16 คุณจะให้แน่ได้อย่างไรว่าบุตรของคุณเข้าใจจริง ๆ ในสิ่งที่เขากำลังเรียนอยู่นั้น? พระเยซู ครูผู้ใหญ่ยิ่ง ทรงตั้งคำถามที่ให้แง่คิด เช่น “ท่านเห็นอย่างไร?” (มัดธาย 17:25) โดยการทำแบบเดียวกัน พยายามให้รู้ว่า จริง ๆ แล้วเด็กคิดอย่างไร. สนับสนุนบุตรแต่ละคนตอบโดยใช้คำพูดของตัวเอง. แน่ละ ถ้าคุณมีปฏิกิริยาโต้ตอบการพูดของเขาจากน้ำใสใจจริงด้วยอาการโกรธหรือสะดุ้งตกใจ เด็กอาจคิดทบทวนเรื่องที่จะเผยอพูดกับคุณ. ดังนั้น จงใจเย็นเข้าไว้. หลีกเลี่ยงที่จะทำให้การศึกษาของครอบครัวกลายเป็นโอกาสดุด่าลงโทษ. การศึกษาควรเป็นในลักษณะที่ก่อความยินดี เสริมสร้างซึ่งกันและกัน. บิดาคนหนึ่งพูดว่า “ถ้าผมรู้ว่าลูกคนไหนมีปัญหา ผมจะจัดการกับปัญหานั้นเวลาอื่น.” ส่วนมารดาก็เสริมว่า “เมื่อเราแยกจัดการกับปัญหาของลูกคนนั้นโดยเฉพาะ เขาไม่รู้สึกขายหน้าและมีแนวโน้มจะคุยอย่างสบายใจมากกว่าหากเราได้ให้คำแนะนำเขาระหว่างการศึกษาของครอบครัว.
17. อาจทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้การศึกษาของครอบครัวเป็นสิ่งน่าสนใจ และสำหรับครอบครัวของคุณการกระทำอะไรที่ได้ผลดี?
17 การจะให้บุตรมีส่วนในการศึกษาของครอบครัวถือว่าเป็นงานที่ท้าทายก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณมีบุตรที่อายุต่างกัน. บุตรอายุน้อยอาจหงุดหงิด, อยู่ไม่เป็นสุข, หรือเบื่อง่าย. คุณจะทำอย่างไรได้? ควรพยายามทำให้บรรยากาศการศึกษาเป็นไปอย่างผ่อนคลาย. ถ้าช่วงความสนใจของบุตรมีระยะเวลาสั้น ลองร่นเวลาให้สั้นลงแต่จัดการศึกษาถี่ขึ้น. นอกจากนั้นความกระตือรือร้นของคุณช่วยได้เหมือนกัน. “ผู้ที่ครอบครองก็จงครอบครองด้วยความเอาใจใส่.” (โรม 12:8) ดูแลให้ทุกคนมีส่วนร่วมเสมอ. บุตรอายุน้อยก็อาจให้คำตอบจากภาพประกอบเรื่องหรือตอบคำถามง่าย ๆ. อาจขอบุตรคนที่ย่างเข้าวัยรุ่นช่วยค้นคว้าเพิ่มเติม หรือเขาอาจอธิบายว่าเรื่องที่กำลังพิจารณากันอยู่นั้นใช้ได้ให้เป็นประโยชน์ในกรณีใดบ้าง.
18. บิดามารดาจะพร่ำสอนพระคำของพระเจ้าแก่บุตรทุกเวลาได้อย่างไร และผลจะเป็นอย่างไร?
18 อย่างไรก็ตาม อย่าจำกัดการสั่งสอนฝ่ายวิญญาณเพียงสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมง. จงพร่ำสอนพระคำของพระเจ้าแก่บุตรทุกเวลา. (พระบัญญัติ 6:7) ตั้งใจฟังสิ่งที่บุตรพูด. ตักเตือนและปลอบใจเขาเมื่อจำเป็น. (เทียบกับ 1 เธซะโลนิเก 2:11.) มีความรักและกรุณาปรานี. (บทเพลงสรรเสริญ 103:13; มาลาคี 3:17) เมื่อทำเช่นนั้น คุณจะ ‘ชื่นชมยินดี’ ในตัวบุตร และสนับสนุนการพิทักษ์รักษาพวกเขาเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้า.—สุภาษิต 29:17.
“วารหัวเราะ”
19, 20. (ก) การพักผ่อนหย่อนใจมีบทบาทอะไรในชีวิตครอบครัว? (ข) มีทางใดบ้างที่บิดามารดาจะสามารถเตรียมการพักผ่อนหย่อนใจสำหรับครอบครัวของเขา?
19 มี “วารหัวเราะ . . . ,และวารเต้นรำ.” (ท่านผู้ประกาศ 3:4, ฉบับแปลใหม่) คำภาษาฮีบรู “หัวเราะ” อาจแปลได้เช่นกันว่า “เฉลิมฉลอง” “เล่น” “ล้อเลียน” หรือ “สนุกสนาน” เสียด้วยซ้ำ. (2 ซามูเอล 6:21; โยบ 41:5; ผู้วินิจฉัย 16:25; เอ็กโซโด 32:6; เยเนซิศ 26:8) การเล่นจะส่งเสริมจุดมุ่งหมายในทางที่เป็นคุณประโยชน์ได้ และเป็นสิ่งจำเป็นต่อเด็กและพวกหนุ่มสาว. สมัยที่มีการเขียนคัมภีร์ไบเบิล บิดามารดาเป็นฝ่ายจัดเตรียมให้ความบันเทิงและการหย่อนใจสำหรับครอบครัวตัวเอง. (เทียบกับลูกา 15:25.) คุณทำอย่างนั้นไหม?
20 สามีคริสเตียนคนหนึ่งบอกว่า “เราถือเอาประโยชน์จากสวนสาธารณะ. เราชวนพี่น้องชายหนุ่ม ๆ ไปเล่นเตะบอล และนำอาหารไปกินกลางแจ้ง. พวกเขาสนุกสนานและมีการคบหาที่เป็นคุณประโยชน์.” บิดาอีกคนหนึ่งเสริมว่า “เราวางแผนจะทำสิ่งต่าง ๆ กับลูกชายของเรา. เราไปว่ายน้ำ, เล่นบอล, และไปพักร้อนด้วยกัน. แต่เราก็มีการหย่อนใจหาความบันเทิงพอประมาณ. ผมเน้นเรื่องการรักษาความสมดุลเป็นสิ่งจำเป็น.” การพักผ่อนหย่อนใจที่เป็นประโยชน์ เช่น การจัดกลุ่มสังสรรค์กันอย่างพอเหมาะพอดี หรือการเที่ยวสวนสัตว์และไปชมพิพิธภัณฑ์ เป็นสิ่งที่ช่วยได้มากในการป้องกันเด็กไว้จากการถูกชักพาไปหาความสนุกกับโลก.
21. บิดามารดาจะป้องกันบุตรได้อย่างไรเพื่อจะไม่เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจเพราะเหตุไม่ได้ร่วมฉลองในวันหยุดงานของชาวโลก?
21 เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันที่บุตรของคุณจะไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเพราะไม่ได้ฉลองวันเกิดหรือรื่นเริงในวันหยุดที่ขัดกับหลักการคริสเตียน. โดยที่คุณวางแผนเป็นอย่างดี บุตรของคุณย่อมคอยหาโอกาสต่าง ๆ ที่เขาจะสนุกสนานได้ตลอดปี. ที่จริง บิดามารดาที่ดีย่อมไม่ต้องมีวันหยุดบางวันเป็นข้ออ้างเพื่อแสดงออกซึ่งความรักของตนโดยให้สิ่งของ. เฉกเช่นพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ บิดา ‘รู้ว่าจะให้ของดีแก่บุตรของตนโดยวิธีใด’—เป็นโดยธรรมชาติ.—มัดธาย 7:11.
สร้างอนาคตที่มั่นคงตลอดไปเพื่อครอบครัวของคุณ
22, 23. (ก) ขณะที่ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ใกล้เข้ามา ครอบครัวที่เกรงกลัวพระเจ้าสามารถมั่นใจในข้อใด? (ข) ครอบครัวทั้งหลายอาจบากบั่นทำประการใดเพื่อพิทักษ์ชีวิตรอดเข้าในโลกใหม่ของพระเจ้า?
22 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้อธิษฐานดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา พระองค์นั่นเองจะทรงป้องกันพวกเขาไว้; พระองค์จะทรงพิทักษ์แต่ละคนให้พ้นคนชั่วอายุนี้จนเวลาไม่กำหนด.” (บทเพลงสรรเสริญ 12:7, ล.ม.) ความกดดันจากซาตานจะมากขึ้นอย่างแน่นอน—โดยเฉพาะกับครอบครัวของพยานพระยะโฮวา. ถึงกระนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะยืนหยัดต้านทานการโจมตีซึ่งรุนแรงขึ้นทุกขณะ. ด้วยการสงเคราะห์ของพระยะโฮวาและความตั้งใจอย่างแรงกล้าควบกับความบากบั่นพยายามของสามี, ภรรยา, และบุตร ครอบครัวทั้งหลาย—รวมครอบครัวของคุณด้วย—ย่อมมีความหวังได้ว่าจะรับการพิทักษ์ชีวิตไว้ระหว่างที่เกิดความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.
23 สามีและภรรยาทั้งหลาย จงนำความผาสุกและความปรองดองมาสู่ครอบครัว โดยการทำหน้าที่ของคุณให้สำเร็จตามที่พระเจ้าทรงมอบหมาย. บิดามารดาทั้งหลาย จงวางตัวอย่างที่ดีอยู่เรื่อยไปสำหรับบุตรของคุณ จงซื้อโอกาสมาใช้เพื่อจะอบรมและตีสอนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุตร. จงพูดคุยกับเขา ฟังเขา. ชีวิตของเขาล่อแหลม! ฝ่ายบุตร จงเชื่อฟังบิดามารดา เป็นคนว่าง่าย. ด้วยการสงเคราะห์ของพระยะโฮวา คุณจะทำได้สำเร็จและมั่นใจว่าคุณเองมีอนาคตอันไม่สิ้นสุดในโลกใหม่ของพระเจ้าที่ใกล้เข้ามาแล้ว.
คุณจำได้ไหม?
▫ สามีและภรรยาจะปรับปรุงแก้ไขการสนทนาสื่อความของตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
▫ บิดามารดาจะเลี้ยงดูบุตรด้วย “การปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา” โดยวิธีใด? (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.)
▫ มีแนวทางอะไรบ้างที่จะทำให้การศึกษาของครอบครัวเป็นชนิดที่เสริมสร้างและน่าสนใจ?
▫ บิดามารดาอาจทำอะไรเมื่อเตรียมการพักผ่อนหย่อนใจและการบันเทิงสำหรับครอบครัวของเขา?
[กรอบหน้า 16]
ดนตรี—พลังจูงใจที่ยังผลกว้างขวาง
ผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงลูกพูดดังนี้: “สมมุติว่าผมยืนอยู่ต่อหน้าธารกำนัล . . . และสนับสนุนงานเลี้ยงเหล้าดื่มกันอย่างหัวราน้ำ, การทำตัวเคลิบเคลิ้มด้วยฤทธิ์โคเคน, กัญชา, หรือสิ่งเสพย์ติดอย่างอื่นที่เป็นเหตุให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง คนเหล่านั้นคงอ้าปากค้างด้วยอาการตกตะลึงที่เห็นผมอยู่ในสภาพนั้น . . . . [กระนั้น] บิดามารดามักจะให้เงินเด็กไปซื้อแผ่นเสียงหรือเทปคาสเซท ซึ่งสนับสนุนสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวอย่างโจ่งแจ้ง.” (การเลี้ยงดูเด็กในทางที่ดีในโลกที่ส่อลักษณะทางลบ, ภาษาอังกฤษ, โดย ซิก ซิกลาร์). ยกตัวอย่าง ในประเทศสหรัฐ หนุ่มสาวจำนวนมากกล่าวเนื้อความของดนตรีประเภทแรปที่บ่งบอกเรื่องเพศอย่างชัดแจ้ง กล่าวแล้วกล่าวอีกจนติดปาก. คุณช่วยบุตรของคุณให้เป็นคนรู้จักเลือกเฟ้นประเภทดนตรีไหม?
[รูปภาพหน้า 15]
เวลารับประทานอาหารเป็นโอกาสจะชื่นชมยินดีซึ่งส่งเสริมความสามัคคีปรองดองในครอบครัวและการสนทนาสื่อความ