“วาระสำหรับสงบศึก” ใกล้เข้ามาแล้ว!
“มีวาระกำหนดไว้สำหรับทุกสิ่ง . . . มีวาระสำหรับทำศึก. และวาระสำหรับสงบศึก.”—ท่านผู้ประกาศ 3:1, 8.
1. เกิดมีสภาพการณ์ที่ขัดแย้งในตัวเองเช่นไรในระหว่างศตวรรษที่ 20 นี้เกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ?
คนส่วนใหญ่ปรารถนาสันติภาพ ซึ่งก็นับว่าชอบด้วยเหตุผล. ศตวรรษที่ 20 มีสันติภาพน้อยกว่าศตวรรษใด ๆ ในประวัติศาสตร์. น่าขันที่เป็นอย่างนั้น เพราะไม่เคยมีสมัยไหนที่มีความพยายามมากเท่าสมัยนี้เพื่อให้มีสันติภาพ. ในปี 1920 สันนิบาตชาติถูกก่อตั้งขึ้น. ในปี 1928 กติกาสัญญาเคลลอกก์-บรียอง ซึ่งงานวิจัยชิ้นหนึ่งเรียกว่าเป็น “ส่วนหนึ่งของความพยายามเพื่อรักษาสันติภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง” ได้รับความเห็นชอบจาก “เกือบทุกชาติในโลก . . . ซึ่งเห็นพ้องกันที่จะประกาศเลิกใช้สงครามเป็นเครื่องมือของนโยบายชาตินิยม.” ต่อมา ในปี 1945 องค์การสหประชาชาติก็ถูกตั้งขึ้นเพื่อแทนที่สันนิบาตชาติที่ล้มไปแล้ว.
2. สหประชาชาติประกาศเป้าหมายอะไร และเป้าหมายนี้ประสบผลสำเร็จขนาดไหน?
2 เช่นเดียวกับสันนิบาตชาติ เป้าหมายที่สหประชาชาติประกาศคือเพื่อให้มีสันติภาพโลก. แต่องค์การนี้ประสบความสำเร็จในวงจำกัด. จริงอยู่ ไม่มีที่ใดในโลกเผชิญสงครามใหญ่ขนาดสงครามโลกทั้งสองครั้ง. อย่างไรก็ตาม สงครามเล็กกว่าที่มีอยู่หลายสิบแห่งก็ยังคงทำลายสันติสุขในจิตใจของผู้คนนับแสน, ทำลายทรัพย์สิน และหลายครั้งคร่าชีวิตประชาชน. เรากล้าหวังไหมว่าสหประชาชาติจะพลิกโฉมหน้าศตวรรษที่ 21 ให้เป็น “วาระสำหรับสงบศึก”?
รากฐานสำหรับสันติภาพแท้
3. เพราะเหตุใดจึงไม่อาจเกิดมีสันติภาพแท้ควบคู่ไปกับความเกลียดชัง?
3 เพื่อจะเกิดสันติสุขในท่ามกลางประชาชนและชาติต่าง ๆ จำเป็นต้องมีมากกว่าเพียงการยอมทนกันและกัน. จะมีใครหรือที่จะมีสันติสุขกับคนที่เขาเกลียดได้จริง ๆ? ไม่เป็นอย่างนั้นแน่ เพราะ 1 โยฮัน 3:15 กล่าวว่า “ผู้หนึ่งผู้ใดที่เกลียดชังพี่น้องของตนก็ย่อมเป็นผู้ฆ่าคน.” ดังที่ประวัติศาสตร์เมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็น ความเกลียดชังอันฝังลึกได้เพิ่มทวีขึ้นจนกลายเป็นการกระทำที่รุนแรงไปอย่างง่ายดาย.
4. ใครเท่านั้นจะมีสันติสุขได้ และเพราะเหตุใด?
4 เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าผู้ประทานสันติสุข” คนที่รักพระเจ้าและมีความนับถืออย่างลึกซึ้งต่อหลักการอันชอบธรรมของพระองค์จึงสามารถมีสันติสุข. เห็นได้ชัด พระยะโฮวาไม่ทรงประทานสันติสุขแก่ทุกคน. “‘ไม่มีความสงบสุขสำหรับคนชั่ว,’ พระเจ้าของข้าพเจ้าตรัสไว้ดังนั้น.” ทั้งนี้ก็เพราะคนชั่วปฏิเสธที่จะยอมให้ตนเองได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า ซึ่งผลอย่างหนึ่งของพระวิญญาณก็คือสันติสุข.—โรม 15:33, ล.ม.; ยะซายา 57:21; ฆะลาเตีย 5:22.
5. อะไรที่นับเป็นเรื่องเหลือคิดสำหรับคริสเตียนแท้?
5 การทำสงครามกับเพื่อนมนุษย์—ดังที่ผู้เรียกตัวว่าคริสเตียนเคยทำอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 20 นี้—เป็นเรื่องเหลือคิดสำหรับคริสเตียนแท้. (ยาโกโบ 4:1-4) จริงอยู่ พวกเขาต่อสู้คำสอน ที่บิดเบือนเกี่ยวกับพระเจ้า แต่การต่อสู้นี้มีจุดประสงค์ที่จะช่วยผู้คน ไม่ใช่เพื่อทำร้าย. การข่มเหงผู้อื่นเนื่องจากความแตกต่างทางศาสนาหรือการทำร้ายร่างกายด้วยเหตุผลด้านชาตินิยมนั้นต่างอย่างเด่นชัดกับหลักการคริสเตียนแท้. เปาโลกำชับคริสเตียนในกรุงโรมว่า “หากเป็นได้ ตราบที่ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลาย จงอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง.”—โรม 12:17-19, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 2:24, 25.
6. สันติสุขจะพบได้ที่ใดเท่านั้นในทุกวันนี้?
6 ปัจจุบัน สันติสุขที่พระเจ้าทรงประทานให้จะพบได้ในหมู่ผู้นมัสการแท้ของพระยะโฮวาพระเจ้าเท่านั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 119:165; ยะซายา 48:18) ไม่มีความแตกต่างทางการเมืองที่ทำลายเอกภาพของพวกเขา เนื่องจากในทุก ๆ แห่งพวกเขาเป็นกลางทางการเมือง. (โยฮัน 15:19; 17:14) เนื่องจากพวกเขา “เป็นหนึ่งเดียวโดยมีจิตใจและแนวความคิดเดียวกัน” ไม่มีข้อขัดแย้งกันทางศาสนาที่คุกคามสันติสุขของพวกเขา. (1 โกรินโธ 1:10, ล.ม.) สันติสุขที่พยานพระยะโฮวามีเป็นการอัศจรรย์สมัยใหม่ ซึ่งพระเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้นตามที่ทรงสัญญาไว้ว่า “เราจะเอาสันติสุขเป็นรัฐบาลของเจ้า, และความชอบธรรมเป็นผู้ครอบครองของเจ้า.”—ยะซายา 60:17; เฮ็บราย 8:10.
ทำไมจึงเป็น “วาระสำหรับทำศึก”?
7, 8. (ก) แม้ว่ามีจุดยืนรักษาสันติ พยานพระยะโฮวามีทัศนะอย่างไรต่อเวลาในปัจจุบัน? (ข) อาวุธสำคัญที่ใช้ในการต่อสู้ของคริสเตียนคืออะไร?
7 แม้มีจุดยืนรักษาสันติ แต่พยานพระยะโฮวาถือว่าส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็น “วาระสำหรับทำศึก.” แน่ละ ไม่ใช่การสู้รบตบมือตามตัวอักษร เนื่องจากการบังคับให้ผู้อื่นรับข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลโดยใช้กำลังอาวุธย่อมขัดกับคำเชิญของพระเจ้าที่ว่า “ให้คนใด ๆ ที่ปรารถนา มารับน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียค่า.” (วิวรณ์ 22:17, ล.ม.) ไม่มีการกล่าวถึงการบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อในที่นี้! การสู้รบที่พยานพระยะโฮวาทำอยู่นั้นเป็นในทางฝ่ายวิญญาณโดยแท้. เปาโลเขียนว่า “อาวุธแห่งการสู้รบของเราไม่เป็นฝ่ายเนื้อหนัง แต่มีพลังมากเนื่องจากพระเจ้าเพื่อคว่ำสิ่งที่ฝังรากลึก.”—2 โกรินโธ 10:4, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 1:18.
8 อาวุธสำคัญในบรรดา “อาวุธแห่งการสู้รบของเรา” ได้แก่ “ดาบแห่งพระวิญญาณ คือพระคำของพระเจ้า.” (เอเฟโซ 6:17, ล.ม.) ดาบนี้ทรงพลังยิ่งนัก. “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง และคมกว่าดาบสองคม และแทงทะลุกระทั่งแยกจิตวิญญาณและวิญญาณ ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก ทั้งสามารถสังเกตเข้าใจความคิดและความมุ่งหมายแห่งหัวใจ.” (เฮ็บราย 4:12, ล.ม.) โดยใช้ดาบนี้ คริสเตียนสามารถคว่ำ “การหาเหตุผลและสิ่งสูงส่งทุกอย่างที่ยกขึ้นต่อสู้ความรู้เรื่องพระเจ้า.” (2 โกรินโธ 10:5, ล.ม.) ดาบนี้ทำให้พวกเขาสามารถเปิดโปงหลักคำสอนเท็จ, กิจปฏิบัติที่ก่อความเสียหาย และปรัชญาที่สะท้อนสติปัญญาของมนุษย์แทนที่จะสะท้อนสติปัญญาของพระเจ้า.—1 โกรินโธ 2:6-8; เอเฟโซ 6:11-13.
9. เหตุใดจึงไม่อาจเลื่อยล้าในการต่อสู้กับเนื้อหนังที่ผิดบาป?
9 การต่อสู้ฝ่ายวิญญาณอีกแบบหนึ่งเป็นการต่อสู้กับเนื้อหนังที่ผิดบาป. คริสเตียนปฏิบัติตามตัวอย่างของเปาโลผู้ยอมรับว่า “ข้าพเจ้าทุบตีร่างกายของข้าพเจ้า และจูงมันเยี่ยงทาส เพื่อว่าหลังจากข้าพเจ้าได้ประกาศแก่คนอื่นแล้ว ตัวข้าพเจ้าเองจะไม่กลายเป็นคนที่ไม่เป็นที่พอพระทัยในทางใดทางหนึ่ง.” (1 โกรินโธ 9:27, ล.ม.) คริสเตียนในเมืองโกโลซายได้รับคำเตือนสติให้ประหาร “อวัยวะแห่งร่างกายของท่านทั้งหลายซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลกนี้ในเรื่องการล่วงประเวณี, การโสโครก, ราคะตัณหา, ความปรารถนาที่ก่อความเสียหาย, และความละโมบ, ซึ่งเป็นการไหว้รูปเคารพ.” (โกโลซาย 3:5, ล.ม.) และผู้เขียนพระธรรมยูดาของคัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ “ต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อซึ่งครั้งหนึ่งได้มอบให้แก่ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายตลอดไป.” (ยูดา 3, ล.ม.) เหตุใดเราต้องทำอย่างนั้น? เปาโลให้คำตอบดังนี้: “ถ้าท่านทั้งหลายประพฤติตามเนื้อหนังนั้นจะต้องถึงซึ่งความตาย, แต่ถ้าท่านได้ทำลายการของกายนั้นโดยเดชพระวิญญาณ ท่านทั้งหลายจะได้ชีวิตรอด.” (โรม 8:13) เมื่อพิจารณาถ้อยคำที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว เราจึงไม่อาจเลื่อยล้าในการต่อสู้กับแนวโน้มต่าง ๆ ที่ไม่ดี.
10. เกิดอะไรขึ้นในปี 1914 และเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่อะไรในอนาคตอันใกล้นี้?
10 กระนั้น อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจมองได้ว่าปัจจุบันเป็นเวลาสำหรับการสู้รบคือ “วันแห่งการแก้แค้นของพระเจ้าของเรา” ใกล้จะถึงแล้ว. (ยะซายา 61:1, 2, ล.ม.) ในปี 1914 เวลากำหนดของพระยะโฮวาได้มาถึงที่จะสถาปนาราชอาณาจักรมาซีฮาและทรงมอบอำนาจให้ราชอาณาจักรนี้ทำสงครามปะทะกับระบบของซาตาน. เวลาที่จัดไว้ให้มนุษย์ทดลองการปกครองตนเองโดยปราศจากการแทรกแซงของพระเจ้าสิ้นสุดลงในเวลานั้นเอง. แทนที่จะยอมรับพระมาซีฮา ผู้ครอบครองของพระเจ้า ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงปฏิเสธพระองค์ เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในสมัยศตวรรษแรก. (กิจการ 28:27) ด้วยเหตุนั้น เนื่องด้วยการต่อต้านราชอาณาจักร พระคริสต์จึงทรงถูกบีบบังคับให้ “ออกไปปราบในท่ามกลางศัตรูของ [พระองค์].” (บทเพลงสรรเสริญ 110:2, ล.ม.) น่ายินดี วิวรณ์ 6:2 (ล.ม.) สัญญาว่าพระองค์จะ “ทำให้ชัยชนะของตนครบถ้วน.” พระองค์จะทรงทำเช่นนี้ในระหว่าง “สงครามแห่งวันใหญ่ของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ . . . เรียกในภาษาฮีบรูว่าฮาร์–มาเกดโอน.”—วิวรณ์ 16:14, 16, ล.ม.
บัดนี้เป็น “เวลาพูด”
11. เหตุใดพระยะโฮวาจึงได้ทรงอดทนอย่างยิ่ง แต่ในที่สุดอะไรจะมาถึง?
11 นับตั้งแต่ปี 1914 อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในกิจการของมนุษย์ เวลาได้ผ่านไปแล้ว 85 ปี. พระยะโฮวาได้ทรงอดทนอย่างยิ่งกับมนุษยชาติ. พระองค์ได้ทรงเตือนสติเหล่าพยานของพระองค์ให้ตื่นตัวเต็มที่ต่อความเร่งด่วนของสถานการณ์. หลายล้านชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตราย. มหาชนเหล่านี้สมควรได้รับการเตือน เนื่องจาก “พระยะโฮวา . . . ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” (2 เปโตร 3:9, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้า “การปรากฏของพระเยซูเจ้าจากสวรรค์พร้อมด้วยเหล่าทูตสวรรค์มีฤทธิ์ของพระองค์” ก็จะมาถึง. ถึงเวลานั้น คนที่จงใจปฏิเสธข่าวสารแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าจะพบกับการ “แก้แค้น” ซึ่งพระเยซูจะนำมาสู่ “คนที่ไม่รู้จักพระเจ้าและคนที่ไม่เชื่อฟังข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าของเรา.”—2 เธซะโลนิเก 1:6-9, ล.ม.
12. (ก) เหตุใดการคาดเดาเรื่องเวลาที่ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะเริ่มต้นเป็นเรื่องไร้ประโยชน์? (ข) พระเยซูทรงเตือนถึงอันตรายอะไรในเรื่องนี้?
12 ในที่สุดความอดทนของพระยะโฮวาจะสิ้นสุดลงเมื่อไร? การคาดเดาว่า “ความทุกข์ลำบากใหญ่” จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อไรเป็นเรื่องไร้ประโยชน์. พระเยซูตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า “เกี่ยวด้วยวันนั้นและโมงนั้นไม่มีผู้ใดรู้.” ในอีกด้านหนึ่ง พระองค์ทรงเตือนสติว่า “เหตุฉะนั้น จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพราะท่านไม่รู้ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านจะเสด็จมาวันใด . . . จงเตรียมตัวพร้อมเพราะในโมงที่ท่านไม่คิดว่าเป็นเวลานั้น บุตรมนุษย์จะเสด็จมา.” (มัดธาย 24:21, 36, 42, 44, ล.ม.) กล่าวอย่างง่าย ๆ นี่หมายความว่าทุก ๆ วันเราควรเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกและคิดถึงการเริ่มต้นแห่งความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่. (1 เธซะโลนิเก 5:1-5) ช่างอันตรายสักเพียงไรที่จะคิดว่าเราสามารถผ่อนฝีเท้าของเราลง ดำเนินชีวิตอย่างที่เรียกกันว่าชีวิตปกติ คอยดูว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร! พระเยซูตรัสว่า “จงเอาใจใส่ตัวเอง เพื่อว่าหัวใจของเจ้าจะไม่เพียบลงด้วยการกินมากเกินไปและการดื่มจัดและความกระวนกระวายในเรื่องชีวิต และโดยไม่ทันรู้ตัววันนั้นจะมาถึงเจ้าอย่างกะทันหัน ดุจบ่วงแร้ว.” (ลูกา 21:34, 35, ล.ม.) เกี่ยวด้วยเรื่องนี้ เรามั่นใจได้ว่า “ลมทั้งสี่” แห่งการทำลายที่ขณะนี้กำลังถูกยึดไว้โดย “ทูตสวรรค์สี่องค์” ของพระยะโฮวาจะไม่ถูกยึดไว้ตลอดไป.—วิวรณ์ 7:1-3, ล.ม.
13. ผู้คนเกือบหกล้านคนตระหนักถึงอะไร?
13 เมื่อคำนึงถึงวันแห่งการคิดบัญชีนี้ที่ใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว ถ้อยคำของซะโลโมที่ว่ามี “เวลาพูด” จึงมีความหมายเป็นพิเศษ. (ท่านผู้ประกาศ 3:7, ล.ม.) โดยตระหนักว่าจริง ๆ แล้วบัดนี้เป็นเวลาพูด พยานพระยะโฮวาเกือบหกล้านคนกำลังพูดคุยด้วยใจแรงกล้าเกี่ยวกับความรุ่งโรจน์แห่งการครอบครองในฐานะกษัตริย์ของพระเจ้า และเตือนถึงวันแห่งการแก้แค้นของพระองค์. พวกเขาเสนอตัวเองอย่างเต็มใจในวันแห่งการแสดงแสนยานุภาพของพระคริสต์.—บทเพลงสรรเสริญ 110:3; 145:10-12.
คนเหล่านั้นที่พูดว่า “สันติภาพ . . . ในเมื่อไม่มีสันติภาพ”
14. มีผู้พยากรณ์เท็จเช่นไรปรากฏขึ้นในช่วงศตวรรษที่เจ็ด ก่อนสากลศักราช?
14 ในระหว่างศตวรรษที่เจ็ด ก่อนสากลศักราช ยิระมะยาและยะเอศเคลผู้พยากรณ์ของพระเจ้าส่งข่าวสารของพระเจ้าเกี่ยวกับการพิพากษายะรูซาเลมเนื่องด้วยแนวทางอันดันทุรังไม่เชื่อฟังพระเจ้า. การทำลายที่ทั้งสองบอกล่วงหน้าเกิดขึ้นในปี 607 ก.ส.ศ. แม้ว่าผู้ส่งข่าวสารของพระเจ้าได้ถูกกล่าวแย้งจากพวกหัวหน้าศาสนาที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล. ปรากฏว่า คนพวกนี้แหละที่เป็น “ผู้เผยพระวจนะโฉดเขลา [ซึ่ง] . . . นำประชาชนของ [พระเจ้า] ให้หลงโดยกล่าวว่า ‘สันติภาพ’ เมื่อไม่มีสันติภาพเลย.”—ยะเอศเคล 13:1-16, ฉบับแปลใหม่; ยิระมะยา 6:14, 15; 8:8-12.
15. มีผู้พยากรณ์เท็จคล้าย ๆ กันไหมในปัจจุบัน? จงอธิบาย.
15 เช่นเดียวกับ “ผู้เผยพระวจนะโฉดเขลา” แห่งสมัยนั้น เหล่าหัวหน้าศาสนาส่วนใหญ่ในเวลานี้ก็ไม่ได้เตือนประชาชนถึงวันแห่งการพิพากษาของพระเจ้าที่กำลังจะมาถึง. แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาวาดมโนภาพที่สดใสว่า ในที่สุดกลุ่มทางการเมืองจะบรรลุสันติภาพและความมั่นคง. ด้วยความปรารถนาจะทำให้มนุษย์พอใจมากยิ่งกว่าการทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัย พวกเขาบอกสิ่งที่สมาชิกโบสถ์ต้องการฟังแทนที่จะอธิบายว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าได้รับการสถาปนาแล้วและกษัตริย์มาซีฮาจะทรงทำให้การพิชิตของพระองค์ครบถ้วนในอีกไม่ช้า. (ดานิเอล 2:44; 2 ติโมเธียว 4:3, 4; วิวรณ์ 6:2) ในฐานะผู้พยากรณ์เท็จ พวกเขาก็พูดถึง “สันติภาพ . . . ในเมื่อไม่มีสันติภาพ” เช่นกัน. แต่ความเชื่อมั่นของพวกเขาในไม่ช้าจะถูกเปลี่ยนอย่างกะทันหันกลายเป็นความกลัว เมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับพระพิโรธแห่งผู้นั้นที่พวกเขาบิดเบือนเกี่ยวกับพระองค์และผู้ที่พวกเขาได้นำความเสื่อมเสียมาสู่พระนามของพระองค์อย่างมากล้น. พวกผู้นำของจักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาไว้ว่าเป็นหญิงแพศยา จะถูกตีให้ถึงตายขณะที่พวกเขาป่าวร้องถึงสันติภาพซึ่งทำให้หลงผิด.—วิวรณ์ 18:7, 8.
16. (ก) พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันในเรื่องใด? (ข) พวกเขาแตกต่างอย่างไรจากคนเหล่านั้นที่ป่าวร้องถึง “สันติภาพ . . . ในเมื่อไม่มีสันติภาพ”?
16 การที่ส่วนใหญ่ของพวกผู้นำที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลดึงดันต่อไปในการสัญญาถึงสันติภาพอย่างหน้าซื่อใจคดนั้นจะทำให้ความเชื่อมั่นของคนที่มีความเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้าเรื่องสันติภาพแท้สั่นคลอนไปก็หาไม่. เป็นเวลากว่าศตวรรษแล้วที่พยานพระยะโฮวาได้เป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้ปกป้องที่ภักดีต่อพระคำของพระเจ้า, ผู้ต่อกรที่กล้าหาญซึ่งต่อต้านศาสนาเท็จ และผู้สนับสนุนที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงต่อราชอาณาจักรของพระเจ้า. แทนที่จะกล่อมประชาชนให้หลับใหลด้วยถ้อยคำสำเร็จรูปอันไพเราะเสนาะหูเกี่ยวกับสันติภาพ พวกเขาขยันขันแข็งพยายามปลุกประชาชนให้ตื่นตัวต่อความเป็นจริงที่ว่า ปัจจุบันเป็นเวลาสำหรับการทำศึก.—ยะซายา 56:10-12; โรม 13:11, 12; 1 เธซะโลนิเก 5:6.
พระยะโฮวาทรงทำลายความเงียบของพระองค์
17. การที่ในไม่ช้าพระยะโฮวาจะทรงทำลายความเงียบของพระองค์หมายความเช่นไร?
17 ซะโลโมกล่าวไว้ด้วยว่า “พระเจ้าจะพิพากษาคนชอบธรรมและคนอสัตย์อธรรม; เพราะว่าที่นั่นมีวาระกำหนดไว้แล้วสำหรับกิจการทุกอย่าง.” (ท่านผู้ประกาศ 3:17) ใช่ พระยะโฮวาทรงมีเวลากำหนดสำหรับการพิพากษาสำเร็จโทษศาสนาเท็จและ “บรรดากษัตริย์แห่งแผ่นดิน [ซึ่ง] สำแดงตน . . . ต่อต้านพระยะโฮวาและต่อต้านผู้ถูกเจิมของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 2:1-6, ล.ม.; วิวรณ์ 16:13-16) เมื่อเวลานั้นมาถึง วันของพระยะโฮวาที่ “ทรงเงียบงดพระดำรัส” ก็จะสิ้นสุดลง. (บทเพลงสรรเสริญ 83:1; ยะซายา 62:1; ยิระมะยา 47:6, 7) โดยทางพระเยซูคริสต์กษัตริย์มาซีฮาผู้ครองบัลลังก์ พระองค์จะ ‘ตรัส’ ด้วยภาษาชนิดเดียวที่ดูเหมือนว่าพวกผู้ต่อต้านพระองค์จะเข้าใจได้: “พระยะโฮวาจะเสด็จออกไปเหมือนดังนักรบ, พระองค์จะทรงเร้าความกระตือรือร้นของพระองค์เหมือนดังทหาร; พระองค์จะทรงเปล่งพระสุรเสียง, และจะทรงส่งเสียงโกญจนาทเข้าประจัญบาน, พระองค์จะทรงปราบศัตรูของพระองค์ด้วยอานุภาพอันใหญ่ยิ่ง. เราไม่ปริปากมานานแล้ว, เรานิ่งเฉยมานานแล้ว, เรายั้งใจมานานแล้ว, บัดนี้เราจะส่งเสียงให้ดังเหมือนหญิงเจ็บครรภ์, เราจะทำลายลงเสียให้พินาศทีเดียว. เราจะทำลายภูเขาและเนินเขาให้ร้างไป, และจะทำให้ผักหญ้าเหี่ยวแห้ง; และเราจะทำแม่น้ำให้เป็นแผ่นดินแห้งไป, และเราจะทำให้บ่อทั้งปวงแห้งหมด. และเราจะจูงคนตาบอดให้เดินตามทางที่เขาไม่เคยเดิน, เราจะพาเขาเหล่านั้นไปตามทางที่เขาไม่เคยไป, เราจะทำความมืดที่อยู่เบื้องหน้าเขาให้กลายเป็นสว่าง, และที่ขรุขระให้เป็นที่ราบเรียบ. สิ่งเหล่านี้แหละเราจะกระทำ, และจะไม่ทิ้งไว้ให้ค้างอยู่.”—ยะซายา 42:13-16.
18. ในแง่ใดที่ไพร่พลของพระเจ้าในไม่ช้าจะ “นิ่งเงียบ”?
18 เมื่อพระยะโฮวา ‘ตรัส’ เพื่อปกป้องฐานะความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ไพร่พลของพระองค์จะไม่จำเป็นต้องกล่าวปกป้องตนเองอีกต่อไป. ตอนนั้นจะเป็นคราวของพวกเขาที่จะ “นิ่งเงียบ.” เช่นเดียวกับที่ถ้อยคำเหล่านี้เป็นจริงกับผู้รับใช้ของพระเจ้าในกาลอดีต ถ้อยคำเหล่านี้ก็จะเป็นจริงในปัจจุบันด้วยที่ว่า “ท่านทั้งหลายไม่ต้องสู้รบ: แต่จงยืนนิ่งอยู่กับที่, แล้วท่านทั้งหลายคงจะได้เห็นความสงเคราะห์ช่วยเหลือของพระยะโฮวา.”—2 โครนิกา 20:17.
19. อีกไม่ช้าเหล่าพี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระคริสต์จะได้รับสิทธิพิเศษอะไร?
19 ช่างจะเป็นความพ่ายแพ้อย่างยับเยินสักเพียงไรสำหรับซาตานและองค์การของมัน! เหล่าพี่น้องที่ได้รับสง่าราศีของพระคริสต์จะมีส่วนร่วมในชัยชนะที่โดดเด่นเพื่อความชอบธรรม ตามคำสัญญาที่ว่า “ส่วนพระองค์ ในไม่ช้าพระเจ้าผู้ประทานสันติสุขจะปราบซาตานให้ยับเยินใต้ฝ่าเท้าของท่านทั้งหลาย.” (โรม 16:20, ล.ม.) เวลาที่รอคอยกันมานานสำหรับสันติภาพในที่สุดก็ใกล้จะถึงแล้ว.
20. อีกไม่ช้าจะเป็นวาระสำหรับอะไร?
20 ช่างจะเป็นพระพรสักเพียงไรสำหรับทุกชีวิตบนแผ่นดินโลกที่รอดผ่านการสำแดงอันยิ่งใหญ่ถึงฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา! ไม่นานหลังจากนั้น ชายหญิงที่ซื่อสัตย์ในอดีตซึ่งเวลากำหนดสำหรับพวกเขาที่จะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายมาถึงแล้วก็จะสมทบกับพวกเขา. รัชสมัยพันปีของพระคริสต์จะเป็น “วาระสำหรับปลูก . . . วาระสำหรับเยียวยา . . . วาระสำหรับก่อสร้างขึ้น . . . วาระสำหรับสำรวล . . . วาระสำหรับฟ้อนรำ . . . วาระสำหรับสวมกอด . . . วาระสำหรับรัก” อย่างแท้จริง. ใช่แล้ว นั่นจะเป็น “วาระสำหรับสงบศึก” ตลอดไป!—ท่านผู้ประกาศ 3:1-8; บทเพลงสรรเสริญ 29:11; 37:11; 72:7.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ อะไรคือรากฐานสำหรับสันติภาพถาวร?
▫ เหตุใดพยานพระยะโฮวาถือว่าเวลาปัจจุบันเป็น “วาระสำหรับทำศึก”?
▫ เมื่อไรไพร่พลของพระเจ้าจะ “พูด” และเมื่อไรพวกเขาจะ “นิ่งเงียบ”?
▫ พระยะโฮวาจะทรงทำลายความเงียบของพระองค์อย่างไรและเมื่อไร?
[กรอบ/ภาพหน้า 13]
พระยะโฮวาทรงมีเวลากำหนดสำหรับ
▫ การชักนำโกกให้โจมตีไพร่พลของพระเจ้า.—ยะเอศเคล 38:3, 4, 10-12, ล.ม.
▫ การใส่ความคิดเข้าไว้ในใจของผู้ครอบครองมนุษย์ให้ทำลายบาบูโลนใหญ่. —วิวรณ์ 17:15-17; 19:2
▫ การจัดงานสมรสของพระเมษโปดก.—วิวรณ์ 19:6, 7
▫ การเริ่มต้นของสงครามฮาร์-มาเกดโอน.—วิวรณ์ 19:11-16, 19-21
▫ การมัดซาตานไว้เพื่อจะเริ่มรัชสมัยพันปีของพระเยซู.—วิวรณ์ 20:1-3
เหตุการณ์เหล่านี้เรียงลำดับไว้ตามที่มีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์. เราแน่ใจได้ว่าเหตุการณ์ทั้งห้านี้จะเกิดขึ้นตามลำดับที่พระยะโฮวาทรงกำหนดไว้และตรงตามเวลาที่พระองค์ทรงกำหนด.
[รูปภาพหน้า 15]
รัชสมัยพันปีของพระคริสต์จะเป็นเวลาอันแท้จริงสำหรับ . . .
หัวเราะ . . .
สวมกอด . . .
รัก . . .
ปลูก . . .
กระโดดโลดเต้น . . .
ก่อสร้าง . . .