คำถามจากผู้อ่าน
• ลูซิเฟอร์เป็นชื่อซึ่งคัมภีร์ไบเบิลใช้หมายถึงซาตานไหม?
ชื่อลูซิเฟอร์ปรากฏเพียงครั้งเดียวในพระคัมภีร์และในฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับเท่านั้น. ตัวอย่างเช่น ฉบับแปลคิง เจมส์ แปลยะซายา 14:12 ดังนี้: “เป็นไฉนท่านได้ตกลงมาจากสวรรค์เสียแล้ว โอ้ ลูซิเฟอร์ บุตรชายแห่งอรุโณทัย!”
คำภาษาฮีบรูซึ่งได้รับการแปลว่า “ลูซิเฟอร์” มีความหมายว่า “ผู้ส่องแสง.” ฉบับเซปตัวจินต์ ใช้คำกรีกซึ่งหมายถึง “ผู้นำรุ่งอรุณมา.” ดังนั้น บางฉบับแปลจึงแปลภาษาฮีบรูดั้งเดิมว่า “ดาวรุ่ง” หรือ “ดาวประกายพรึก.” แต่ฉบับวัลเกต ภาษาลาตินของเจโรมใช้คำ “ลูซิเฟอร์” (ผู้ถือความสว่าง) และนี่จึงอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดคำนี้จึงปรากฏอยู่ในฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับ.
ใครคือลูซิเฟอร์นี้? คำว่า “ผู้ส่องแสง” หรือ “ลูซิเฟอร์” พบในคำสั่งเชิงพยากรณ์ของยะซายาที่ให้พวกอิสราเอลกล่าวคำ “เย้ยกษัตริย์ประเทศบาบูโลน.” ดังนั้น คำนี้เป็นส่วนของถ้อยคำซึ่งแต่เดิมนั้นกล่าวต่อราชวงศ์บาบิโลน. ที่ว่ามีการให้คำพรรณนา “ผู้ส่องแสง” แก่มนุษย์และไม่ใช่แก่บุคคลวิญญาณนั้นเห็นได้อีกจากคำกล่าวที่ว่า “เจ้าก็ถูกไล่ลงไปยังเมืองผี [“เชโอล,” ล.ม.].” เชโอลคือหลุมฝังศพทั่วไปของมนุษยชาติ ไม่ใช่สถานที่ซึ่งซาตานพญามารครอบครองอยู่. ยิ่งกว่านั้น เหล่าผู้ที่ได้เห็นลูซิเฟอร์ถูกนำไปสู่สภาพเช่นนั้นต่างถามว่า “คนนี้หรือที่เคยได้ทำให้โลกสั่นสะเทือน?” เห็นได้ชัด “ลูซิเฟอร์” หมายถึงมนุษย์ ไม่ใช่บุคคลวิญญาณ.—ยะซายา 14:4, 15, 16.
เหตุใดจึงมีการให้คำพรรณนาที่โดดเด่นเช่นนั้นแก่ราชวงศ์บาบิโลน? เราต้องตระหนักว่ากษัตริย์แห่งบาบิโลนจะถูกเรียกว่าผู้ส่องแสงก็หลังจากที่เขาหมดอำนาจแล้ว และในแง่ของการเยาะเย้ยเท่านั้น. (ยะซายา 14:3) ความหยิ่งอันเห็นแก่ตัวได้กระตุ้นเหล่ากษัตริย์แห่งบาบิโลนให้ยกตนเองขึ้นเหนือผู้อื่นซึ่งอยู่รอบข้าง. ความยโสของราชวงศ์นี้มีมากจนถูกพรรณนาออกมาเป็นคำอวดอ้างดังนี้: “ข้าจะขึ้นไปยังฟ้าสวรรค์ เหนือดวงดาวทั้งหลายของพระเจ้า ข้าจะตั้งพระที่นั่งของข้า ณ ที่สูงนั้น ข้าจะนั่งบนขุนเขาชุมนุมสถาน ณ ที่อุดรไกล . . . ข้าจะกระทำตัวของข้าเหมือนองค์ผู้สูงสุด.”—ยะซายา 14:13, 14, ฉบับแปลใหม่.
“ดวงดาวทั้งหลายของพระเจ้า” ได้แก่บรรดากษัตริย์แห่งเชื้อวงศ์ของดาวิด. (อาฤธโม 24:17) ตั้งแต่ดาวิดเป็นต้นมา “ดวงดาว” เหล่านี้ปกครองจากภูเขาซีโอน. หลังจากซะโลโมได้สร้างพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมแล้ว ชื่อซีโอนถูกนำมาใช้หมายถึงกรุงนั้นทั้งหมด. ภายใต้สัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ ชายชาวอิสราเอลทุกคนได้รับคำสั่งให้เดินทางไปยังซีโอนปีละสามครั้ง. ด้วยเหตุนั้น ซีโอนจึงกลายเป็น “ขุนเขาชุมนุมสถาน.” โดยมุ่งมั่นจะปราบเหล่ากษัตริย์แห่งยูดาห์ให้อยู่ใต้อำนาจแล้วขจัดพวกเขาออกจากภูเขานั้น นะบูคัดเนซัรจึงประกาศเจตนารมณ์ของตนที่จะยกตนเองขึ้นเหนือ “ดวงดาว” เหล่านั้น. แทนที่จะถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาเนื่องด้วยชัยชนะที่ตนมีเหนือกษัตริย์แห่งยูดาห์ เขากลับวางตนเองอยู่ในตำแหน่งของพระยะโฮวาอย่างเย่อหยิ่ง. ดังนั้น หลังจากที่ราชวงศ์บาบิโลนล่มจมแล้ว จึงถูกพาดพิงถึงในเชิงเยาะเย้ยฐานะเป็น “ผู้ส่องแสง.”
ความหยิ่งจองหองของผู้ปกครองชาวบาบิโลนนั้นแท้จริงแล้วสะท้อนให้เห็นเจตคติของ “พระเจ้าของระบบนี้” ซึ่งได้แก่ซาตานพญามาร. (2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.) มันก็เช่นกันที่กระหายอำนาจและอยากจะตั้งตนขึ้นเหนือพระยะโฮวาพระเจ้า. กระนั้น ลูซิเฟอร์ ไม่ใช่ชื่อที่พระคัมภีร์ให้แก่ซาตาน.
• เหตุใด 1 โครนิกา 2:13-15 กล่าวถึงดาวิดว่าเป็นบุตรชายคนที่เจ็ดของยิซัย ขณะที่ 1 ซามูเอล 16:10, 11 ชี้ให้เห็นว่าท่านเป็นบุตรคนที่แปด?
หลังจากกษัตริย์ซาอูลแห่งอิสราเอลโบราณได้หันไปจากการนมัสการแท้ พระยะโฮวาพระเจ้าทรงส่งผู้พยากรณ์ซามูเอลไปเจิมบุตรชายคนหนึ่งของยิซัยให้เป็นกษัตริย์. บันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ซึ่งเขียนขึ้นโดยซามูเอลเองในศตวรรษที่ 11 ก่อน ส.ศ. กล่าวถึงดาวิดว่าเป็นบุตรชายคนที่แปดของยิซัย. (1 ซามูเอล 16:10-13) กระนั้น บันทึกที่เขียนโดยปุโรหิตเอษราหลังจากนั้นอีก 600 ปีกล่าวว่า “ยิซัยมีบุตรหัวปีชื่อเอลีอาบ, ที่สองชื่ออะบีนาดาบ, ที่สามชื่อซิมอา, ที่สี่ชื่อนะธัลเอ็ล, ที่ห้าราดัย, ที่หกโอเซม, ที่เจ็ดดาวิด.” (1 โครนิกา 2:13-15) เกิดอะไรขึ้นกับพี่ชายคนหนึ่งของดาวิด และเพราะเหตุใดเอษราจึงไม่เอ่ยถึงชื่อของเขา?
พระคัมภีร์กล่าวว่ายิซัย “มีบุตรชายแปดคน.” (1 ซามูเอล 17:12) ดูเหมือนว่าพี่ชายคนหนึ่งของดาวิดมีชีวิตอยู่ไม่นานพอที่จะแต่งงานและมีบุตร. เนื่องจากไม่มีผู้สืบสกุล เขาจึงไม่มีสิทธิจะรับส่วนมรดกของตระกูลและไม่มีชื่ออยู่ในเชื้อสายของยิซัยในบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลด้วย.
ตอนนี้ให้เรานึกถึงสมัยของเอษรา. ขอพิจารณาสภาพการณ์ในระหว่างที่ท่านรวบรวมพระธรรมโครนิกาอยู่. การเป็นเชลยในบาบิโลนสิ้นสุดลงประมาณ 77 ปีก่อนหน้านั้น และชาวยิวได้กลับมาตั้งถิ่นฐานในบ้านเกิดเมืองนอนของตนอีกครั้ง. กษัตริย์แห่งเปอร์เซียได้ให้อำนาจแก่เอษราที่จะแต่งตั้งผู้พิพากษาและครูสำหรับพระบัญญัติของพระเจ้า และให้ท่านตกแต่งพระนิเวศของพระยะโฮวาให้สวยงาม. บันทึกลำดับวงศ์ตระกูลที่ถูกต้องเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งเพื่อจะยืนยันส่วนมรดกของตระกูลและเพื่อทำให้แน่ใจว่าเฉพาะแต่ผู้มีสิทธิหน้าที่เท่านั้นที่จะรับใช้ในคณะปุโรหิต. ดังนั้น เอษราจึงได้จัดทำบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติที่ละเอียดครบถ้วน ซึ่งรวมถึงบันทึกการสืบเชื้อสายของยูดาและดาวิดที่มีความชัดเจนทั้งยังเชื่อถือได้ด้วย. ชื่อของบุตรชายของยิซัยซึ่งเสียชีวิตไปโดยไม่มีบุตรสืบสกุลคงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้. ดังนั้น เอษราจึงไม่ได้กล่าวถึงชื่อของเขา.