คนเมามายฝ่ายวิญญาณ—พวกเขาเป็นใคร?
“วิบัติแก่มงกุฎอันโอ่อ่าของคนขี้เมาแห่งเอ็ฟรายิม.”—ยะซายา 28:1.
1. หลายคนคิดในแง่ดีอย่างไร และความหวังของพวกเขาจะเป็นจริงไหม?
เรากำลังมีชีวิตอยู่ในสมัยที่เกริกก้อง. ผู้คนมากมายตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั่วโลกกับการเห็นสหประชาชาติเข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้น. ในเดือนธันวาคม 1989 หนังสือดีทรอยท์ ฟรี เพรส กล่าวว่า: “ขณะที่โลกย่างเข้าสู่ทศวรรษปี 1990 สันติภาพได้พลุ่งกระจาย.” นิตยสารของโซเวียตฉบับหนึ่งแถลงว่า: “เรากำลังตีดาบเป็นผาลไถนา” ขณะเดียวกัน เลขาธิการของสหประชาชาติก็แถลงว่า: “เราไม่มีสงครามเย็นอีกต่อไปแล้ว.” ถูกแล้ว มีความหวังสูงมาก และไม่ต้องสงสัย ฉากของโลกกำลังเปลี่ยนไป. เมื่อเร็ว ๆ นี้ สงครามอ่าวเปอร์เซียได้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นรวดเร็วเพียงใด. แต่โลกปัจจุบันนี้จะบรรลุถึงสมัยแห่งสันติภาพและความปลอดภัยแท้ไหม ซึ่งพร้อมด้วยผลประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ติดตามทุกคน? คำตอบคือ ไม่. ที่จริง วิกฤติการณ์อันรุนแรงกำลังตั้งเค้าอยู่ซึ่งจะเขย่าทั้งโลกให้สั่นสะเทือนจนถึงรากเลยทีเดียว! นั่นเป็นวิกฤติการณ์ซึ่งศาสนามีส่วนเกี่ยวพันด้วยอย่างลึกซึ้ง.
2. สภาพการณ์ในทุกวันนี้คล้ายคลึงกันกับในยิศราเอลและยูดาสมัยโบราณอย่างไร?
2 วิกฤติการณ์นี้มีการแสดงให้เห็นไว้ล่วงหน้าโดยเหตุการณ์ในยิศราเอลและยูดาสมัยโบราณระหว่างศตวรรษที่เจ็ดและแปดก่อนสากลศักราช. ในสมัยนั้นก็เช่นกัน ผู้คนทั้งหลายคิดว่าพวกตนได้บรรลุสันติภาพแล้ว. แต่พระเจ้า โดยทางยะซายาผู้พยากรณ์ของพระองค์ ได้ทรงเตือนว่าความหวังเรื่องสันติภาพของพวกเขานั้นเป็นเพียงภาพลวง ซึ่งในไม่ช้าก็จะปรากฏว่าไม่จริง. ในทำนองเดียวกันกับทุกวันนี้ พระยะโฮวาทรงเตือนมนุษยชาติโดยทางพยานทั้งหลายของพระองค์ว่าพวกเขาถูกหลอกถ้าเขาหวังจะบรรลุสันติภาพถาวรโดยความพยายามของมนุษย์. ให้เราอ่านคำเตือนเชิงพยากรณ์ของพระยะโฮวาและดูว่าหมายถึงอะไรกับทุกวันนี้. คำเตือนนี้จะพบได้ในบท 28 ของพระธรรมยะซายา และคำเตือนนี้เขียนไว้เมื่อราว ๆ ปี 740 ก่อนสากลศักราช ซึ่งดูเหมือนจะเป็นช่วงระหว่างรัชกาลของกษัตริย์เพคาผู้ชั่วร้ายแห่งยิศราเอลและกษัตริย์อาฮาบผู้ดึงดันแห่งยูดา.
“คนเมามายแห่งเอ็ฟรายิม
3. ยะซายาได้ประกาศคำพิพากษาอันน่าตื่นตระหนกอะไร?
3 ในบท 28 ข้อ 1 (ล.ม.) เราถูกทำให้ตื่นตะลึงด้วยถ้อยแถลงอันน่าตื่นตระหนกที่ว่า: “วิบัติแก่มงกุฎอันโอ่อ่าของคนขี้เมาแห่งเอ็ฟรายิม และแก่ดอกไม้ที่กำลังร่วงโรยอันเป็นสิ่งประดับแห่งความงดงามของเขาซึ่งอยู่ที่ตอนบนแห่งหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์ของคนเหล่านั้นที่พ่ายต่อฤทธิ์เหล้าองุ่น!” ชาวยิศราเอลคงต้องตื่นตระหนกเพียงไรที่ได้ยินคำพิพากษาอันเฉียบขาดเช่นนั้น! “คนขี้เมาแห่งเอ็ฟรายิม” นั้นคือผู้ใด? “มงกุฎอันโอ่อ่า” ของพวกเขาคืออะไร? และ “ตอนบนแห่งหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์” นั้นคืออะไร? ที่ยิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ถ้อยคำเหล่านี้หมายความอย่างไรแก่พวกเราในทุกวันนี้?
4. (ก) เอ็ฟรายิมและตอนบนแห่งหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์คืออะไร? (ข) ทำไมยิศราเอลจึงรู้สึกมั่นคงปลอดภัย?
4 เนื่องจากเอ็ฟรายิมเป็นตระกูลใหญ่ที่สุดแห่งยิศราเอลสิบตระกูล ในบางครั้งคำ “เอ็ฟรายิม” จึงใช้อ้างถึงอาณาจักรยิศราเอลทั้งหมด. ดังนั้น “คนขี้เมาแห่งเอ็ฟรายิม” ก็คือคนขี้เมาแห่งยิศราเอลจริง ๆ. เมืองหลวงของอาณาจักรยิศราเอลคือกรุงซะมาเรีย ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูงซึ่งสามารถมองเห็นได้ทั่ว ณ ตอนบนแห่งหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์. ดังนั้นคำว่า “ตอนบนแห่งหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์” จึงหมายถึงซะมาเรีย. ในคราวที่มีการเขียนถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นนั้น อาณาจักรยิศราเอลเสื่อมทรามอย่างยิ่งในด้านศาสนา. ยิ่งกว่านั้น เขายังได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับซีเรียเพื่อต่อต้านอาณาจักรยูดาและตอนนี้จึงรู้สึกปลอดภัย. (ยะซายา 7:1–9) สิ่งนั้นจะเปลี่ยนไป. วิกฤติการณ์กำลังคืบใกล้เข้ามา ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลที่พระยะโฮวาทรงแถลง “วิบัติแก่มงกุฎอันโอ่อ่าของคนขี้เมาแห่งเอ็ฟรายิม.”
5. (ก) มงกุฎอันโอ่อ่าของยิศราเอลคืออะไร? (ข) คนขี้เมาแห่งเอ็ฟรายิมคือผู้ใด?
5 “มงกุฎอันโอ่อ่า” นั้นคืออะไร? มงกุฎเป็นสัญลักษณ์แห่งขัตติยอำนาจ. จึงชัดแจ้งว่า “มงกุฎอันโอ่อ่า” ก็คือฐานะของชาติยิศราเอลในฐานะเป็นอาณาจักรเอกเทศ ไม่ขึ้นกับยูดา. บางสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นซึ่งจะทำลายความเป็นเอกราชของยิศราเอล. แล้ว “คนขี้เมาแห่งเอ็ฟรายิม” คือผู้ใดล่ะ? ไม่มีข้อสงสัย มีคนขี้เมาจริง ๆ ในยิศราเอล เนื่องจากซะมาเรียเป็นศูนย์กลางการนมัสการนอกรีตอย่างหลงระเริงผิดศีลธรรม. แต่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงความเมามายชนิดหนึ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า. ที่ยะซายา 29:9 เราอ่านว่า: “พวกเขาเมามายไป แต่มิใช่เนื่องด้วยเหล้าองุ่น; พวกเขาเดินโซเซไป แต่ไม่ใช่เพราะเมรัย.” นี่คือความเมามายฝ่ายวิญญาณ คือการลุ่มหลงมัวเมาที่ไม่สะอาดฝ่ายวิญญาณที่ทำให้ถึงตาย. พวกผู้นำแห่งยิศราเอล—โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้นำทางศาสนา—เห็นได้ชัดว่ามัวเมาฝ่ายวิญญาณเช่นนั้นเอง.
6. อะไรทำให้ยิศราเอลโบราณเมามายไป?
6 อะไรคือสาเหตุแห่งความเมามายฝ่ายวิญญาณของพวกยิศราเอลโบราณ? สาเหตุสำคัญก็คือการที่เขาเป็นพันธมิตรกับซีเรียเพื่อต่อต้านยูดานั่นเอง ซึ่งให้ความรู้สึกที่ดีว่าปลอดภัยแก่พวกผู้นำของชาตินี้. ความเมามายฝ่ายวิญญาณเช่นนี้ทำให้ยิศราเอลไม่สำนึกถึงความเป็นจริง. เช่นเดียวกับคนขี้เมาจริง ๆ เขาคิดแต่ในแง่ดี ๆ แม้ว่าไม่มีเหตุผลจะคิดเช่นนั้นก็ตาม. ยิ่งกว่านั้น ยิศราเอลถือว่าการเป็นพันธมิตรกับซีเรียนั้นเป็นความภาคภูมิใจยิ่ง ราวกับมาลัยดอกไม้อันงดงามทีเดียว. แต่ดังที่ยะซายากล่าว นั่นเป็นมาลัยดอกไม้ที่กำลังร่วงโรยซึ่งจะคงอยู่ได้อีกไม่นานเท่าใด.
7, 8. แม้พวกเขาจะมีความรู้สึกที่ดี ยิศราเอลโบราณจะประสบกับอะไร?
7 ยะซายาเน้นเรื่องนี้ในบท 28 ข้อ 2 (ล.ม.): “นี่แน่ะ! พระยะโฮวาทรงมีผู้หนึ่งซึ่งเข้มแข็งและกระฉับกระเฉง. ดุจพายุลูกเห็บ ดุจมหาวาตะ ดุจพายุฝนฟ้าคะนองอันยังให้น้ำท่วมเชี่ยวกราก ผู้นั้นจะทำการเหวี่ยงลงอย่างแรงถึงดิน.” “ผู้หนึ่งซึ่งเข้มแข็งและกระฉับกระเฉง” นั้นคือผู้ใด? ในสมัยยิศราเอลโบราณ นั่นคือจักรวรรดิอัสซีเรียอันเรืองอำนาจ. มหาอำนาจโลกที่ดุร้ายไร้ความปรานีนี้จะมายังยิศราเอลราวกับพายุฝนอันรุนแรง ราวกับน้ำท่วมใหญ่. ผลจะเป็นอย่างไร?
8 ยะซายากล่าวต่อไปว่า: “มงกุฎอันโอ่อ่าของคนขี้เมาแห่งเอ็ฟรายิมจะถูกเหยียบลงใต้เท้า. และดอกไม้ที่กำลังร่วงโรยอันเป็นสิ่งประดับแห่งความงดงามซึ่งอยู่ตอนบนแห่งหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์จะต้องเป็นเหมือนผลมะเดื่อเทศที่ชิงสุกก่อนฤดูร้อน ซึ่งเมื่อผู้ใดได้เห็นเข้า พอคว้าเอาได้ ก็รีบกินลงไป. (ยะซายา 28:3, 4, ล.ม.) กรุงซะมาเรีย เมืองหลวงของอาณาจักรยิศราเอล เป็นเสมือนมะเดื่อสุกงอมอยู่ต่อหน้าอัสซีเรีย ซึ่งพร้อมจะเด็ดและกินเสีย. การเป็นพันธมิตรกับซีเรียซึ่งเปรียบเสมือนมาลัยดอกไม้ของยิศราเอลจะถูกเหยียบย่ำ. มันจะไร้ค่าเมื่อวันแห่งการคิดบัญชีมาถึง. ยิ่งเลวร้ายกว่านั้น สง่าราศีแห่งความเป็นเอกราชซึ่งเสมือนมงกุฎของเขาจะถูกบดขยี้ลงใต้เท้าของศัตรูชาวอัสซีเรีย. เป็นภัยพิบัติใหญ่ยิ่งจริง ๆ!
‘ปุโรหิตและผู้พยากรณ์ได้หลงทางไป’
9. ทำไมยูดาจึงอาจคาดหมายข่าวสารที่ดีกว่าที่ยิศราเอลได้รับจากพระยะโฮวา?
9 ถูกต้องแล้ว การคิดบัญชีอันน่าสะพึงกลัวรอคอยยิศราเอลอยู่ และดังที่พระยะโฮวาได้ทรงเตือนไว้ การคิดบัญชีนั้นมาถึงในปี 740 ก่อนสากลศักราช เมื่อกรุงซะมาเรียถูกทำลายโดยอัสซีเรียและอาณาจักรฝ่ายเหนือถูกยึดไว้เป็นประเทศราช. สิ่งที่เกิดกับยิศราเอลโบราณเป็นคำเตือนที่เฉียบขาดต่อศาสนาเท็จที่ไม่ซื่อสัตย์ในทุกวันนี้ ดังที่เราจะเห็น. แต่เป็นอย่างไรกับอาณาจักรที่เป็นเสมือนพี่ซึ่งอยู่ทางใต้ คือยูดา? ในสมัยของยะซายานั้นพระวิหารของพระยะโฮวายังคงมีการใช้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรุงยะรูซาเลม เมืองหลวงของยูดา. ปุโรหิตยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่นั้น และพวกผู้พยากรณ์อย่างเช่นยะซายา โฮเซอา และมีคาก็กล่าวคำพยากรณ์ในนามของพระยะโฮวา. ดังนั้นแล้ว พระยะโฮวาทรงมีข่าวสารอะไรสำหรับยูดา?
10, 11. สภาพการณ์อันน่าชิงชังรังเกียจอะไรที่มีอยู่ในยูดา?
10 ยะซายาบอกเราต่อไปว่า: “และเขาเหล่านี้ก็เช่นกัน [คือพวกปุโรหิตและผู้พยากรณ์แห่งยะรูซาเลม]—พวกเขาหลงทางไปเนื่องด้วยเหล้าองุ่นและซมซานไปด้วยเมรัย. ปุโรหิตและผู้พยากรณ์—ต่างหลงทางไปเนื่องด้วยเมรัย.” (ยะซายา 28:7ก, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่า ผู้นำทางศาสนาของยูดาก็เมามายไปด้วยเช่นกัน. เช่นเดียวกันกับในยิศราเอล เป็นไปได้ว่าบางคนได้เป็นคนขี้เมาไปจริง ๆ และถ้าเป็นเช่นนั้น นี่เป็นการอัปยศอดสู. พระบัญญัติของพระเจ้าห้ามไว้โดยเฉพาะไม่ให้พวกปุโรหิตดื่มของเมาเมื่อปรนนิบัติรับใช้ในพระวิหาร. (เลวีติโก 10:8–11) การเมามายจริง ๆ ในราชสำนักของพระเจ้าคงเป็นการละเมิดพระบัญญญัติของพระเจ้าอย่างร้ายแรง.
11 อย่างไรก็ตาม มีการเมามายฝ่ายวิญญาณในยูดาที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นอีก. ยิศราเอลได้เป็นพันธมิตรกับซีเรียเพื่อต่อต้านยูดาฉันใด ยูดาก็แสวงหาความมั่นคงปลอดภัยโดยการเป็นพันธมิตรกับอัสซีเรียฉันนั้น. (2 กษัตริย์ 16:5–9) แม้ว่าจะมีพระวิหารของพระเจ้าตั้งอยู่และมีผู้พยากรณ์ของพระเจ้าอยู่ด้วย ยูดามอบความวางใจในมนุษย์ในคราวที่เขาควรมีความไว้วางใจในพระยะโฮวา. ยิ่งกว่านั้น โดยการกระทำสัมพันธไมตรีที่โง่เขลา พวกผู้นำของเขารู้สึกหมดกังวลเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านที่เมามายฝ่ายวิญญาณของเขาซึ่งอยู่ทางเหนือ. ท่าทีที่ไม่สำนึกถึงความรับผิดชอบของพวกเขาเช่นนั้นทำให้พระยะโฮวาทรงเกลียดชัง.
12. อะไรจะเป็นผลลัพธ์จากการเมามายฝ่ายวิญญาณของยูดา?
12 ยะซายากล่าวต่อไปว่า: “พวกเขาเลอะเลือนสับสนไปเพราะเหล้าองุ่น ซมซานไปเนื่องด้วยเมรัย พวกเขามองเห็นพร่ามัว การตัดสินของเขาก็รวนเร. ด้วยทุกโต๊ะก็เต็มด้วยสิ่งโสโครกที่อาเจียนออกมา—ไม่มีที่ใดที่ปราศจากสิ่งนั้น.” (ยะซายา 28:7ข, 8) เป็นไปได้ว่า ในสภาพที่เมามายของเขานั้น บางคนได้อาเจียนออกมาจริง ๆ ในพระวิหาร. แต่ที่ยิ่งเลวร้ายกว่านั้น พวกปุโรหิตและผู้พยากรณ์ซึ่งควรให้การชี้นำด้านศาสนาก็ได้อาเจียนสิ่งโสโครกฝ่ายวิญญาณออกมา. นอกจากนั้น เว้นแต่ผู้ที่ซื่อสัตย์ซึ่งมีอยู่น้อยคน การตัดสินของผู้พยากรณ์ก็บิดเบือน และพวกเขาเห็นล่วงหน้าถึงสิ่งเท็จสำหรับชาตินี้. พระยะโฮวาจะทรงลงโทษยูดาเนื่องจากความสกปรกฝ่ายวิญญาณนี้.
คนเมามายฝ่ายวิญญาณในสมัยนี้
13. สภาพการณ์อะไรซึ่งคล้ายคลึงกับในยิศราเอลและยูดามีอยู่ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช และสภาพการณ์ที่คล้ายคลึงกันอะไรมีอยู่ในทุกวันนี้?
13 คำพยากรณ์ของยะซายาสำเร็จเป็นจริงเฉพาะแต่ในยิศราเอลและยูดาสมัยโบราณเท่านั้นไหม? หามิได้. ทั้งพระเยซูและอัครสาวกเปาโลได้กล่าวถ้อยคำของยะซายาเกี่ยวกับการเมามายฝ่ายวิญญาณและใช้หมายถึงพวกผู้นำด้านศาสนาในสมัยของพวกท่าน. (ยะซายา 29:10, 13; มัดธาย 15:8, 9: โรม 11:8) ทุกวันนี้ก็เช่นกัน สถานการณ์เช่นเดียวกับในสมัยยะซายาได้เกิดขึ้น—คราวนี้เกิดขึ้นในคริสต์ศาสนจักร—องค์การศาสนาที่มีอยู่ทั่วโลกที่อ้างว่าเป็นตัวแทนพระเจ้า. แทนที่จะยืนหยัดมั่นคงเพื่อสัจธรรมและหมายพึ่งในพระยะโฮวา คริสต์ศาสนจักรทั้งฝ่ายคาทอลิกและโปรเตนแตนท์ต่างก็มอบความวางใจของเขาไว้ในโลกนี้. ด้วยเหตุนี้ เขาจึงรวนเรไม่มั่นคง เช่นเดียวกับคนขี้เมาแห่งยิศราเอลและยูดา. คนขี้เมาฝ่ายวิญญาณในสมัยโบราณเหล่านั้นจึงเป็นภาพเล็งถึงพวกผู้นำทางศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรในสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี. ให้เรามาพิจารณาให้แน่ชัดว่าเป็นอย่างไร.
14. พวกผู้นำทางศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรเมามายไปเช่นเดียวกับพวกผู้นำแห่งซะมาเรียและยะรูซาเลมโบราณนั้นอย่างไร?
14 เช่นกันกับซะมาเรียและยะรูซาเลม คริสต์ศาสนจักรมัวเมาลุ่มหลงกับเหล้าองุ่นแห่งพันธมิตรทางการเมืองต่าง ๆ. ในปี 1919 เขาเป็นผู้ที่เด่นในบรรดาผู้สนับสนุนเริ่มแรกแห่งสันนิบาตชาติ. ขณะที่พระเยซูตรัสว่าชนคริสเตียนจะไม่เป็นส่วนของโลก พวกผู้นำแห่งคริสต์ศาสนจักรก็สร้างเสริมความสัมพันธ์กับพวกผู้นำทางการเมือง. (โยฮัน 17:4–16) เหล้าองุ่นอันมีความหมายเป็นนัยนั้นเป็นสิ่งที่เร้าใจพวกนักเทศน์นักบวช. (เทียบกับวิวรณ์ 17:4.) พวกเขาชื่นใจยินดีกับการที่พวกนักการเมืองมาปรึกษาหารือกับเขาและการได้ถ่ายภาพร่วมกับบรรดาผู้ยิ่งใหญ่ของโลก. ผลก็คือ พวกเขาไม่มีคำชี้แนะฝ่ายวิญญาณที่แท้จริงที่จะให้. พวกเขาอาเจียนสิ่งโสโครกออกมาแทนการพูดข่าวสารบริสุทธิ์แห่งความจริง. (ซะฟันยา 3:9) เนื่องด้วยการมองเห็นที่เลอะเลือนสับสน พวกเขาจึงไม่เป็นผู้นำที่ปลอดภัยสำหรับมนุษยชาติ.—มัดธาย 15:14.
“กฎซ้อนกฎ”
15, 16. ผู้คนในสมัยยะซายาตอบรับอย่างไรต่อคำเตือนของท่าน?
15 ในศตวรรษที่ 8 ก่อนสากลศักราช ด้วยความซื่อสัตย์ ยะซายาได้เปิดโปงการกระทำผิดของพวกผู้นำทางศาสนาแห่งยูดา. พวกเขาตอบรับอย่างไร? พวกเขาเกลียดการถูกเปิดโปง! เมื่อยะซายายืนหยัดประกาศคำเตือนของพระเจ้า พวกผู้นำทางศาสนาโต้แย้งว่า: “เขาจะสอนความรู้แก่ใคร และเขาจะทำให้ใครเข้าใจสิ่งที่ได้ยิน? คนเหล่านั้นที่หย่านมหรือ หรือคนที่เพิ่งพรากจากหน้าอก?” (ยะซายา 28:9, ล.ม.) แต่ยะซายาคิดว่าท่านกำลังพูดกับทารกเล็ก ๆ ไหม? พวกผู้นำทางศาสนาแห่งยะรูซาเลมถือว่าตนเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว มีความสามารถครบถ้วนในการตัดสินใจเพื่อตัวเอง. พวกเขาไม่ต้องการฟังคำเตือนของยะซายาที่คอยกวนใจเขา.
16 พวกนักศาสนาเหล่านั้นทำแม้กระทั่งว่า งานประกาศสั่งสอนของยะซายาเป็นเรื่องน่าขัน. เขาร้องเป็นเพลงใส่ท่านว่า: “เพราะว่าเป็นกฎซ้อนกฎ กฎซ้อนกฎ บรรทัดซ้อนบรรทัด บรรทัดซ้อนบรรทัด ที่นี่นิด ที่นั่นหน่อย.” (ยะซายา 28:10, ล.ม.) พวกเขาอ้างว่า ‘ยะซายากล่าวซ้ำ ๆ ซาก ๆ.’ ‘เขากล่าวอยู่ร่ำไปว่า: “นี่คือสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทรงบัญชา! นี่คือสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทรงบัญชา! นี่คือกฎเกณฑ์ของพระยะโฮวา! นี่คือกฎเกณฑ์ของพระยะโฮวา!”’ ในภาษาฮีบรูดั้งเดิม ยะซายา 28:10 เป็นบทกวีที่ใช้คำซ้ำ ๆ ค่อนข้างจะเหมือนเพลงกล่อมเด็ก. และนั่นคือวิธีที่พวกผู้นำทางศาสนามองดูผู้พยากรณ์เหมือนเด็กไร้เดียงสาและน่าเบื่อ.
17. คนส่วนมากในทุกวันนี้ตอบรับอย่างไรต่อข่าวสารที่พยานทั้งหลายของพระยะโฮวาประกาศ?
17 ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช การประกาศสั่งสอนของพระเยซูกับเหล่าสาวกของพระองค์ก็คล้ายกัน ฟังดูจะเป็นแบบซ้ำซากและเรียบง่าย. คนเหล่านั้นที่ติดตามพระเยซูถูกพวกผู้นำทางศาสนาชาวยิวมองดูว่าเป็นคนน่ารังเกียจ เป็นคนบ้านนอกไม่เดียงสา เป็นคนไม่ได้เล่าเรียนหนังสือและเป็นสามัญชน. (โยฮัน 7:47–49; กิจการ 4:13) บ่อยครั้งพยานพระยะโฮวาก็ถูกมองดูในลักษณะเดียวกัน. พวกเขาไม่ได้เข้าเรียนในวิทยาลัยของคริสต์ศาสนจักร และพวกเขาไม่ได้ใช้ยศถาบรรดาศักดิ์ที่ฟังดูสูงส่งหรือศัพท์วิชาการทางเทววิทยาเหมือนพวกนักเทศน์นักบวช. ดังนั้น พวกที่มีตำแหน่งสูงในคริสต์ศาสนจักรจึงดูถูกพวกเขา คิดว่าพวกเขาควรรู้จักฐานะของตนเองและให้ความเคารพพวกผู้นำศาสนาเหล่านี้มากขึ้น.
18. พวกผู้นำด้านศาสนาในสมัยนี้มองข้ามอะไรไป?
18 กระนั้น มีบางสิ่งที่พวกผู้นำศาสนาเหล่านั้นมองข้าม. ถึงแม้ว่าพวกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในสมัยยะซายาปฏิเสธข่าวสารที่ท่านกล่าว ท่านกำลังพูดความจริง และคำเตือนของท่านได้สำเร็จเป็นจริง! ทำนองเดียวกัน คำเตือนที่พยานพระยะโฮวาบอกกล่าวในทุกวันนี้ก็เป็นความจริง อาศัยพระคำแห่งความจริงของพระเจ้า คัมภีร์ไบเบิล. (โยฮัน 17:17) ฉะนั้น ถ้อยคำเหล่านั้นจะสำเร็จเป็นจริง.
การคิดบัญชี
19. ยูดาถูกบังคับอย่างไรให้เอาใจใส่ฟังคนต่างประเทศที่พูดอ้อ ๆ แอ้ ๆ?
19 ที่ยะซายา 28:11 (ล.ม.) เราอ่านว่า: “เพราะโดยคนเหล่านั้นที่พูดตะกุกตะกักและโดยต่างภาษา พระองค์จะทรงตรัสแก่พลไพร่นั้น.” คำสั่งสอนของยะซายาฟังดูเหมือนเสียงอ้อ ๆ แอ้ ๆ ของคนต่างชาติแก่พวกยูดา. ถึงแม้พวกยูดารอดพ้นจากการคุกคามจากอัสซีเรียซึ่งได้ยึดครองยิศราเอล แต่ในที่สุด พระยะโฮวาก็ทรงจัดการกับยูดาโดยทรงใช้คนต่างชาติอีกชาติหนึ่ง คือนะบูคัดเนซัร. (ยิระมะยา 5:15–17) ภาษาบาบูโลนฟังดูขัดหูและอ้อแอ้แก่ชาวยิว. แต่พวกเขาก็ถูกบังคับให้ฟังเมื่อกรุงยะรูซาเลมกับพระวิหารถูกทำลายในปี 607 ก่อนสากลศักราช และชาวเมืองนั้นก็ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่บาบูโลน. ทำนองเดียวกันกับในทุกวันนี้ คริสต์ศาสนจักรจะต้องทนรับทุกข์เหมือนกับยูดาในไม่ช้าเนื่องจากพวกเขาไม่แยแสคำตักเตือนของพระยะโฮวา.
20, 21. พวกพยานพระยะโฮวาประกาศถึงอะไรอย่างต่อเนื่อง และพวกผู้นำศาสนาปฏิเสธที่จะทำอะไร?
20 ผู้พยากรณ์กล่าวถึงคนเช่นนั้นว่า: “แก่คนเหล่านั้นซึ่งพระองค์ได้ตรัสว่า: ‘นี่คือสถานที่หยุดพัก. จงให้การหยุดพักแก่ผู้ที่อิดโรย. และนี่คือที่แห่งการผ่อนคลาย’ แต่ผู้ที่ไม่ยอมฟัง. สำหรับพวกเขาแล้ว เป็นที่แน่นอนว่าพระคำของพระยะโฮวาจะกลายเป็น ‘กฎซ้อนกฎ กฎซ้อนกฎ บรรทัดซ้อนบรรทัด บรรทัดซ้อนบรรทัด ที่นี่นิด ที่นั่นหน่อย’ เพื่อว่าพวกเขาจะไปและจะสะดุดถอยหลังและแท้จริงจะถูกทำให้แตกหักและติดบ่วงแร้วและถูกจับไป.”—ยะซายา 28:12, 13, ล.ม.
21 อย่างต่อเนื่อง ดังที่ยะซายาได้บอกกล่าวข่าวสารของพระเจ้า พยานพระยะโฮวาบอกแก่คริสต์ศาสนจักรว่าเขาควรมอบความหวังไว้กับพระคำของพระยะโฮวา. แต่เขาไม่ยอมฟัง. สำหรับพวกเขา พวกพยานฟังดูเหมือนพูดอ้อแอ้ในภาษาต่างประเทศ. พวกพยานพูดภาษาที่เขาไม่อาจเข้าใจได้. คริสต์ศาสนจักรปฏิเสธที่จะให้สถานที่พักผ่อนแก่ผู้ที่อิดโรยโดยการบอกเล่าเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าและโลกใหม่ที่จะมีมา. ยิ่งกว่านั้น พวกเขาเมามายด้วยเหล้าองุ่นแห่งความสัมพันธ์ของเขากับโลกนี้. เขายินดีสนับสนุนวิธีแก้ปัญหาของทางการเมืองสำหรับปัญหาต่าง ๆ ของมนุษย์มากกว่า. เช่นเดียวกับชาวยิวในสมัยพระเยซู เขาไม่ได้แสวงหาราชอาณาจักรอันเป็นสถานที่พักผ่อนด้วยตนเอง และเขาก็จะไม่บอกเรื่องนี้แก่คนอื่น ๆ ด้วย.—มัดธาย 23:13.
22. พระยะโฮวาทรงทำให้พวกผู้นำแห่งคริสต์ศาสนจักรรับรู้ถึงเรื่องอะไร?
22 ฉะนั้น คำพยากรณ์ของยะซายาแจ้งให้พวกนักเทศน์นักบวชทราบว่าพระยะโฮวาจะไม่ทรงตรัสกับคริสต์ศาสนจักรอยู่เรื่อยไปโดยพยานที่ไม่เป็นอันตรายของพระองค์. ในไม่ช้า พระยะโฮวาจะทรงทำให้ “กฎซ้อนกฎ บรรทัดซ้อนบรรทัด” ของพระองค์มีผลบังคับ และผลที่เกิดก็จะเป็นความหายนะแก่คริสต์ศาสนจักร. พวกผู้นำทางศาสนาของเขาและฝูงแกะของเขาจะถูกทำให้ “แตกหักและติดบ่วงแร้วและถูกจับไป.” ถูกแล้ว เช่นเดียวกับกรุงยะรูซาเลมโบราณ ระบบศาสนาของคริสต์ศาสนจักรจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง. จะเป็นเหตุการณ์อย่างฉับพลันและน่าตื่นตระหนกอย่างยิ่งทีเดียว! และช่างเป็นผลลัพธ์อันน่าสะพึงกลัวจริง ๆ เนื่องด้วยการที่พวกนักเทศน์นักบวชชอบการเมามายฝ่ายวิญญาณยิ่งกว่าฟังคำเตือนของพระยะโฮวา!
คุณจะอธิบายได้ไหม?
▫ คนขี้เมาแห่งเอ็ฟรายิมคือผู้ใด และอะไรที่ทำให้พวกเขาเมามาย?
▫ มงกุฎอันโอ่อ่าของคนขี้เมาแห่งเอ็ฟรายิมถูกเหยียบย่ำอย่างไร?
▫ ยะซายาได้เปิดโปงสภาพการณ์อันน่าอัปยศอดสูอะไรในยูดา?
▫ เราจะเห็นการเมามายฝ่ายวิญญาณในสมัยนี้ที่ไหน?
▫ ทำไมคริสต์ศาสนจักรน่าจะเอาใจใส่ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาติยูดาโบราณ?