ที่คุ้มภัยของเขา—เป็นเรื่องโกหก!
“เราทำให้ความเท็จเป็นที่ลี้ภัยของเรา และเราได้กำบังอยู่ในความมุสา.”—ยะซายา 28:15, ฉบับแปลใหม่.
1, 2. (ก) องค์การใดในสมัยนี้ที่น่าจะสนใจในสิ่งซึ่งเกิดขึ้นกับอาณาจักรยูดาโบราณ? (ข) อาณาจักรยูดามอบความวางใจไว้ผิดที่อย่างไร?
ถ้อยคำเหล่านั้นใช้ได้ไหมกับคริสต์ศาสนจักรในทุกวันนี้เช่นเดียวกับที่ได้ใช้กับอาณาจักรยูดาสองตระกูลในอดีต? ได้แน่นอน! และความคล้ายคลึงกันนั้นเป็นลางร้ายสำหรับคริสต์ศาสนจักรในปัจจุบัน. นั่นหมายถึงความหายนะในไม่ช้าขององค์การศาสนานั้นที่ออกหาก.
2 ขึ้นไปทางเหนือของยูดาเคยเป็นอาณาจักรสิบตระกูลของยิศราเอล. คราวที่ปรากฏว่ายิศราเอลขาดความเชื่อ พระยะโฮวาทรงอนุญาตให้อัสซีเรียพิชิตอาณาจักรนี้ในปี 740 ก่อนสากลศักราช. อาณาจักรพี่ซึ่งอยู่ทางใต้ คือยูดา ได้เป็นประจักษ์พยานถึงภัยพิบัติครั้งนั้นแต่พวกเขาคิดว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะไม่มีวันเกิดกับเขาอย่างแน่นอน. พวกผู้นำของเขาคุยโอ่ว่า ‘ดูซิ พระวิหารของพระยะโฮวายังคงตั้งอยู่ที่ยะรูซาเลมมิใช่หรือ? เราเป็นประชาชนที่พระเจ้าทรงโปรดปรานมิใช่หรือ? พวกปุโรหิตกับผู้พยากรณ์ของเราล้วนกล่าวในนามแห่งพระยะโฮวามิใช่หรือ?’ (เทียบกับ ยิระมะยา 7:4, 8–11.) พวกผู้นำทางศาสนาเหล่านั้นมั่นใจว่าพวกเขาปลอดภัย. แต่พวกเขาเป็นฝ่ายผิด! พวกเขาขาดความเชื่อเช่นเดียวกับญาติของเขาที่อยู่ทางเหนือ. ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับซะมาเรียก็จะเกิดขึ้นกับยะรูซาเลมด้วย.
3. ทำไมคริสต์ศาสนจักรรู้สึกมั่นใจเกี่ยวกับอนาคต แต่มีเหตุผลที่ดีไหมสำหรับความมั่นใจของเขา?
3 ในทำนองคล้ายกัน คริสต์ศาสนจักรอ้างว่ามีสัมพันธภาพพิเศษกับพระเจ้า. องค์การนี้โอ่ว่า ‘ดูซิ เรามีโบสถ์เป็นหมื่น ๆ แห่งและมีนักเทศน์นักบวชที่เชี่ยวชาญ และมีสานุศิษย์นับร้อย ๆ ล้านคน. นอกจากนั้นเรายังมีคัมภีร์ไบเบิล และเราใช้พระนามของพระเยซูในการนมัสการของเรา. แน่นอน เราเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า!’ แต่สิ่งที่เกิดกับยะรูซาเลมโบราณเป็นคำเตือนอันหนักแน่น. ถึงแม้จะมีเหตุการณ์ผิดปกติทางการเมืองเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ตาม เราทราบว่าในไม่ช้าพระยะโฮวาจะทรงปฏิบัติการอย่างเด็ดขาดต่อคริสต์ศาสนจักรและศาสนาเท็จอื่น ๆ ทั้งสิ้น.
“พันธสัญญากับความตาย”
4. ชาติยูดาคิดว่าเขาได้ทำพันธสัญญาอะไรไว้?
4 ในสมัยโบราณ ยะรูซาเลมที่ไม่ซื่อสัตย์ได้รับคำเตือนหลายครั้งผ่านทางผู้พยากรณ์แท้ของพระเจ้า แต่เขาไม่เชื่อคำเตือนเหล่านั้น. ยะรูซาเลมกลับอวดตัวว่าไม่มีวันที่ความหายนะจะนำพวกเขาไปสู่เชโอล หลุมฝังศพ ดังที่เกิดแก่อาณาจักรฝ่ายเหนือของยิศราเอล. ยะซายาผู้พยากรณ์ได้รับการดลใจให้กล่าวแก่ยูดาว่า: “เพราะฉะนั้น เจ้าทั้งหลาย คนมักเยาะเย้ยเอ๋ย จงฟังพระวจนะของพระเจ้า คือเจ้าผู้ปกครองชาตินี้ในยะรูซาเลม: เพราะเจ้าทั้งหลายได้กล่าวแล้วว่า ‘เราได้กระทำพันธสัญญาไว้กับความตาย และเราได้ทำความตกลงไว้กับแดนคนตาย เมื่อภัยพิบัติอันท่วมท้นผ่านไป จะไม่มาถึงเรา เพราะเราทำให้ความเท็จเป็นที่ลี้ภัยของเรา และเราได้กำบังอยู่ในความมุสา.’”—ยะซายา 28:14, 15 ฉบับแปลใหม่.
5. (ก) อะไรคือพันธสัญญากับความตายที่ยูดาเชื่อว่าได้ทำไว้? (ข) ยูดาได้ลืมคำเตือนอะไรที่กษัตริย์อาซาได้รับ?
5 ถูกแล้ว ดูเหมือนพวกผู้นำของยะรูซาเลมคิดว่าพวกเขาได้มีข้อตกลงกับความตายและเชโอลเพื่อว่าเมืองของเขาจะได้รับการคุ้มครองรักษาไว้. แต่พันธสัญญาที่ยะรูซาเลมเชื่อกันว่าได้ทำไว้กับความตายนั้นหมายความว่าเขาได้กลับใจจากบาปของเขาและบัดนี้ได้วางใจในพระยะโฮวาเพื่อความรอดไหม? (ยิระมะยา 8:6, 7) เปล่าเลย! แทนที่จะทำเช่นนั้น เขาได้หันไปหาพวกผู้นำทางการเมืองเพื่อได้การช่วยเหลือ. แต่การหมายพึ่งในพันธมิตรฝ่ายโลกของเขานั้นเป็นการหลอกลวง เป็นการโกหก. ชาวโลกที่เขาวางใจนั้นไม่สามารถช่วยเขาให้รอด. และเนื่องจากเขาละทิ้งพระยะโฮวา พระยะโฮวาจึงทรงละทิ้งกรุงยะรูซาเลม. สิ่งนี้เกิดขึ้นดังที่ผู้พยากรณ์อะซาระยาได้เตือนกษัตริย์อาซาไว้: “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ฝ่ายพวกท่าน เมื่อท่านอยู่ฝ่ายพระองค์ ถ้าพวกท่านแสวงหาพระองค์ ๆ จะทรงโปรดให้พวกท่านประสบ แต่ทว่า ถ้าพวกท่านละทิ้งพระองค์ ๆ จะละทิ้งพวกท่านเสีย.”—2 โครนิกา 15:2.
6, 7. ยูดาได้ดำเนินการอะไรเพื่อให้มั่นใจในความมั่นคงปลอดภัย แต่ผลบั้นปลายเป็นอย่างไร?
6 ด้วยความมั่นใจในพันธสัญญาทางการเมืองของเขา ผู้นำของยะรูซาเลมจึงมั่นใจว่าจะไม่มี “ภัยพิบัติอันท่วมท้น” จากกองกำลังผู้รุกรานเข้ามาใกล้เพื่อรบกวนสันติสุขและความปลอดภัยของเขา. เมื่อถูกคุกคามโดยคู่พันธมิตรของยิศราเอลกับซีเรีย ยูดาหันไปหาความช่วยเหลือจากอัสซีเรีย. (2 กษัตริย์ 16:5–9) ต่อมา เมื่อถูกบุกรุกโดยกองทหารจากบาบูโลน เขาก็ร้องขอการสนับสนุนจากอียิปต์ และฟาโรห์ก็ได้ตอบรับโดยส่งกองทัพมาช่วย.—ยิระมะยา 37:5–8; ยะเอศเคล 17:11–15.
7 แต่กองทัพบาบูโลนมีกำลังเหนือกว่ามาก และกองทหารอียิปต์จึงต้องถอยทัพกลับ. การที่ยะรูซาเลมวางใจในอียิปต์จึงปรากฏว่าเป็นการสำคัญผิด และในปี 607 ก่อนสากลศักราช พระยะโฮวาได้ทรงละพวกเขาให้ถูกทำลายดังที่พระองค์ได้ทรงบอกไว้ล่วงหน้า. ดังนั้น พวกผู้ปกครองกับพวกปุโรหิตของยะรูซาเลมจึงเป็นฝ่ายผิด! ความวางใจของพวกเขาในพันธมิตรฝ่ายโลกเพื่อสันติภาพและความปลอดภัยเป็น “คำโกหก” ซึ่งถูกเปิดโปงโดยกองทัพบาบูโลนดุจน้ำท่วมฉับพลัน.
การปฏิเสธ “ศิลาที่ทดสอบแล้ว”
8. คริสต์ศาสนจักรได้ยึดเอาฐานะที่คล้ายกันมากกับยูดาโบราณอย่างไร?
8 มีสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในปัจจุบันนี้ไหม? มีแน่. พวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรคิดกันว่าจะไม่มีภัยพิบัติใด ๆ มาแผ้วพานพวกเขา. ที่แท้ พวกเขากล่าวดังที่ยะซายาบอกไว้ล่วงหน้าว่า: “พวกเราได้กระทำพันธสัญญาไว้กับความตาย และเราทำความตกลงไว้กับแดนคนตาย เมื่อภัยพิบัติอันท่วมท้นผ่านไป จะไม่มาถึงเราเพราะเราทำให้ความเท็จเป็นที่ลี้ภัยของเรา และเราได้กำบังอยู่ในความมุสา.” (ยะซายา 28:15, ฉบับแปลใหม่) เช่นเดียวกับยะรูซาเลมโบราณ คริสต์ศาสนจักรหวังพึ่งพันธมิตรฝ่ายโลกสำหรับความปลอดภัย และนักเทศน์นักบวชของเขาปฏิเสธที่จะหวังพึ่งในพระยะโฮวา. ดูสิ เขาไม่ใช้แม้กระทั่งพระนามของพระองค์ และพวกเขาเยาะเย้ยและข่มเหงคนเหล่านั้นซึ่งแสดงความเคารพต่อพระนามนั้น. นักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรได้ทำในสิ่งที่พวกปุโหิตใหญ่ในศตวรรษแรกได้ทำเมื่อพวกเขาต่อต้านพระคริสต์. เขากล่าวว่า “กษัตริย์ของพวกเราไม่มีเว้นแต่กายะซา.”—โยฮัน 19:15.
9. (ก) ใครที่กำลังเตือนคริสต์ศาสนจักรอยู่ในทุกวันนี้ในวิธีเดียวกับที่ยะซายาเตือนยูดา? (ข) คริสต์ศาสนจักรน่าจะหันไปหาผู้ใด?
9 ปัจจุบันนี้ พยานพระยะโฮวาเตือนว่ากองกำลังประหารดุจน้ำท่วมจะกวาดล้างคริสต์ศาสนจักรในไม่ช้า. ยิ่งกว่านั้น พวกเขาชี้ไปยังแหล่งคุ้มภัยที่แท้จริงจากน้ำท่วมใหญ่นั้น. เขายกพระธรรมยะซายา 28:16 (ฉบับแปลใหม่) ซึ่งกล่าวว่า: “เพราะฉะนั้น พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า ‘ดูเถิด เราวางศิลาไว้ในซีโอนเพื่อเป็นรากฐาน คือศิลาที่ทดสอบแล้ว เป็นศิลามุมเอกอย่างประเสริฐ เป็นรากฐานอันมั่นคง. [ไม่มีผู้ใดที่แสดงความวางใจต้องหวั่นวิตก, ล.ม.]’” ใครคือศิลาหัวมุมอันประเสริฐนั้น? อัครสาวกเปโตรอ้างถึงถ้อยคำดังกล่าวและใช้หมายถึงพระเยซูคริสต์. (1 เปโตร 2:6) หากคริสต์ศาสนจักรได้แสวงหาสันติภาพกับกษัตริย์ที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้ง คือพระเยซูคริสต์ องค์การนี้จึงจะรอดพ้นจากน้ำท่วมฉับพลันที่จะมาถึง—เทียบลูกา 19:42–44.
10. คริสต์ศาสนจักรได้สร้างความเกี่ยวพันอะไรขึ้น?
10 แต่คริสต์ศาสนจักรไม่ได้ทำเช่นนั้น. ในการแสวงหาสันติภาพและความปลอดภัยนั้น พวกเขากลับประจบประแจงพวกผู้นำทางการเมืองของนานาชาติ—เขาทำเช่นนั้นแม้ว่าจะมีคำเตือนในคัมภีร์ไบเบิลว่าการเป็นมิตรกับโลกนั้นก็คือการเป็นศัตรูกับพระเจ้า. (ยาโกโบ 4:4) ยิ่งกว่านั้น ในปี 1919 คริสต์ศาสนจักรได้กล่าวสนับสนุนสันนิบาตชาติอย่างแข็งขันว่าเป็นความหวังที่ดีที่สุดสำหรับสันติภาพของมนุษยชาติ. นับตั้งแต่ปี 1945 เขาฝากความหวังไว้กับสหประชาชาติ. (เทียบกับวิวรณ์ 17:3, 11.) คริสต์ศาสนจักรมีความเกี่ยวพันอย่างกว้างขวางเพียงไรกับองค์การนี้?
11. ศาสนามีตัวแทนอะไรในสหประชาชาติ?
11 ไม่นานมานี้มีหนังสือเล่มหนึ่งให้ข้อคิดเห็นไว้เมื่อกล่าวว่า: “มีองค์การต่าง ๆ ของคาทอลิกไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่องค์การมีตัวแทนอยู่ที่สหประชาชาติ. พวกผู้นำศาสนาของโลกหลายคนได้เยือนองค์การนานาชาตินี้. ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือการเยือนของสันตะปาปาปอลที่หกในระหว่างการประชุมทั่วไปเมื่อปี 1965 และของสันตะปาปาจอห์น ปอลที่สองในปี 1979. หลายศาสนามีการวิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์, การอธิษฐาน, ร้องเพลงสรรเสริญ และพิธีบูชาเพื่อสหประชาชาติ. ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดก็คือของพวกคาทอลิก, ยูนิทาเรียน–ยูนิเวอร์ซัลลิสท์, แบ็พติสท์ และบาไฮ.”
ความหวังอันเลื่อนลอยเรื่องสันติภาพ
12, 13. แม้จะมีการคาดหวังกันโดยทั่วไปว่าสันติภาพนั้นมองเห็นอยู่รำไร ทำไมพยานพระยะโฮวามั่นใจว่าคำเตือนของพวกเขาเป็นความจริง?
12 ผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจที่สุดของโลกคนหนึ่งสะท้อนถึงความมุ่งหวังของหลาย ๆ คนออกมาเมื่อเขากล่าวว่า “คนชั่วอายุนี้บนแผ่นดินโลกคงเป็นพยานได้ถึงการมาถึงของช่วงเวลาอันไม่อาจผันแปรได้แห่งสันติภาพในประวัติศาสตร์ของอารยธรรมโลก.” เขาพูดถูกไหม? เหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้หมายความว่าคำเตือนที่พยานพระยะโฮวาได้ประกาศออกไปซึ่งเกี่ยวข้องกับการพิพากษานานาชาตินั้นจะไม่สำเร็จเป็นจริงหรือ? พยานพระยะโฮวาเป็นฝ่ายผิดไหม?
13 เปล่าเลย พยานฯ ไม่ได้ผิดพลาด. พวกเขาทราบว่าเขากำลังบอกความจริงเพราะเขาวางใจในพระยะโฮวาและคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นพระคำแห่งความจริงของพระเจ้าเอง. ติโต 1:2 กล่าวว่า: “พระเจ้า . . . ตรัสมุสาไม่ได้.” ดังนั้น พวกเขาจึงมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าเมื่อคำพยากรณ์กล่าวว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นจริงอย่างไม่ผิดพลาด. พระยะโฮวาเองทรงแถลงว่า: “คำของเราซึ่งออกไปจากปากของเราจะไม่กลับมาสู่เราเปล่า แต่จะสัมฤทธิ์ผลซึ่งเรามุ่งหมายไว้.”—ยะซายา 55:11 ฉบับแปลใหม่.
14, 15. (ก) ก่อนความพินาศของยะรูซาเลมในปี 607 ก่อนสากลศักราชไม่นาน พวกผู้นำของยูดากำลังประกาศถึงเรื่องอะไร? (ข) เปาโลบอกไว้ว่าจะมีคำแถลงอะไรก่อนที่ความพินาศอย่างฉับพลันจะมาเหนือโลกนี้? (ค) เราอาจคาดหมายอะไรได้เมื่อถึงจุดสุดยอดแห่งแถลงการณ์ที่มีพยากรณ์ไว้ใน 1 เธซะโลนิเก 5:3?
14 หลายปีก่อนการทำลายกรุงยะรูซาเลมในปี 607 ก่อนสากลศักราช ยิระมะยาบันทึกไว้ว่าพวกผู้นำพากันร้องว่า: “สวัสดิภาพ! สวัสดิภาพ!” (ยิระมะยา 8:11 ฉบับแปลใหม่) แต่นั่นคือคำโกหก. กรุงยะรูซาเลมถูกทำลายสมจริงตามคำเตือนที่ได้รับการดลใจของผู้พยากรณ์แท้ของพระยะโฮวา. อัครสาวกเปาโลเตือนไว้ว่าสิ่งที่คล้ายคลึงกันนั้นจะเกิดขึ้นในสมัยของเรา. ท่านกล่าวว่าคนทั้งหลายจะพากันร้องว่า “สันติภาพและความปลอดภัย!” แต่แล้วท่านกล่าวว่า “ความพินาศโดยฉับพลัน” ก็จะ “มาถึงเขาทันที.”—1 เธซะโลนิเก 5:3, ล.ม.
15 ขณะที่เราย่างเข้าสู่ทศวรรษปี 1990 หนังสือพิมพ์และนิตยสารทุกที่ทุกแห่งบอกว่าสงครามเย็นยุติแล้วและสันติภาพของโลกก็ปรากฏในที่สุด. แต่แล้วสงครามร้อนก็ระเบิดขึ้นในตะวันออกกลาง. อย่างไรก็ตาม อีกไม่ช้าไม่นานสถานการณ์ของโลกก็จะดำเนินไปถึงจุดที่เสียงร้อง “สันติภาพและความปลอดภัย!” ซึ่งมีพยากรณ์ไว้ที่ 1 เธซะโลนิเก 5:2, 3 (ล.ม.) นั้นจะเพิ่มขึ้นจนถึงขีดสุด. โดยที่ความหวังของเราฝังไว้อย่างมั่นคงกับพระคำของพระเจ้า เราทราบว่า ขณะที่มีการบรรลุจุดสุดยอดนั้น จะมีการดำเนินการพิพากษาของพระเจ้าอย่างฉับไวและไม่ผิดพลาด. ไม่มีการแถลงการณ์ใด ๆ เรื่องสันติภาพและความปลอดภัยที่มีการเสริมแต่งจะทำให้เราคิดว่าความพินาศที่ได้บอกล่วงหน้าไว้โดยพระเจ้านั้นจะไม่ เกิดขึ้น. การพิพากษาของพระยะโฮวาได้มีการบันทึกไว้อย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงในพระวจนะของพระองค์ คัมภีร์ไบเบิล. คริสต์ศาสนจักรพร้อมด้วยศาสนาเท็จอื่น ๆ ทั้งสิ้นจะถูกทำลาย. แล้วจะมีการดำเนินการทำลายล้างส่วนที่เหลือแห่งโลกของซาตานตามการพิพากษาของพระยะโฮวา. (2 เธซะโลนิเก 1:6–8; 2:8; วิวรณ์ 18:21; 19:19–21) เนื่องจากพยานพระยะโฮวามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะทรงทำให้พระคำของพระองค์สำเร็จเป็นจริง พวกเขาเฝ้าระวังต่อ ๆ ไปภายใต้การชี้นำของชนจำพวกบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดสุขุมและสังเกตด้วยความระมัดระวังว่าเหตุการณ์ของโลกคลี่คลายออกมาอย่างไร. (มัดธาย 24:45–47) แน่นอน ความพยายามใด ๆ ของมนุษย์เพื่อให้มีสันติภาพไม่ควรทำให้เราคิดว่าพระยะโฮวาได้ทรงยกเลิกพระประสงค์ของพระองค์ในการนำความพินาศดุจน้ำท่วมฉับพลันมาบนคริสต์ศาสนจักรซึ่งท่วมท้นไปด้วยความบาป.
‘พระเจ้าทรงเป็นที่คุ้มภัยของเรา’
16, 17. พยานพระยะโฮวาตอบรับอย่างไรหากมีบางคนขุ่นเคืองต่อการประกาศอย่างตรงไปตรงมาของพวกเขา?
16 บางคนอาจขุ่นเคืองต่อการที่พยานพระยะโฮวาประกาศเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา. อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขากล่าวว่าผู้ครอบครองแห่งคริสต์ศาสนจักรฝากความวางใจไว้กับการจัดเตรียมที่หลอกลวง พวกพยานฯ ก็เพียงกล่าวถึงสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้. เมื่อเขากล่าวว่าคริสต์ศาสนจักรควรแก่การลงโทษเพราะเข้าไปเป็นส่วนของโลก เขาก็เพียงรายงานสิ่งที่พระเจ้าตรัสไว้เองในคัมภีร์ไบเบิล. (ฟิลิปปอย 3:18, 19) ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากคริสต์ศาสนจักรมอบความวางใจไว้ในโครงการต่าง ๆ ที่โลกเสนอ เขาจึงให้การสนับสนุนอย่างแท้จริงแก่พระเจ้าแห่งโลกนี้ คือซาตานพญามาร ซึ่งพระเยซูตรัสไว้ว่าเป็นพ่อแห่งการมุสา.—โยฮัน 8:44; 2 โกรินโธ 4:4.
17 ฉะนั้น พยานพระยะโฮวาจึงแถลงว่า: สำหรับพวกเราแล้ว เราไม่สนับสนุนความหวังผิด ๆ เกี่ยวกับสันติภาพของโลกเนื่องด้วยฉากทางการเมืองที่เปลี่ยนไป. แต่พวกเรากลับส่งเสียงร้องซ้ำถ้อยคำของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญที่ว่า: “พระเจ้าเป็นที่พึ่งพำนักของเรา . . . คนชั้นต่ำก็เย่อหยิ่งจองหอง และคนชั้นสูงก็เป็นคนมุสา เมื่อขึ้นคันชั่งเขาก็เบา เขาทั้งหมดรวมกันยังเบากว่าลมหายใจ.” (บทเพลงสรรเสริญ 62:8, 9) โครงการของมนุษย์ที่จะส่งเสริมและรักษาคริสต์ศาสนจักรและส่วนที่เหลือของระบบนี้เป็นการหลอกลวง เป็นการโกหก. โครงการเหล่านั้นทั้งสิ้นรวมกันก็ยังไม่มีกำลังพอจะขัดขวางพระประสงค์ของพระยะโฮวามากไปกว่าลมร้อนที่เป่าออกจากปากครั้งหนึ่ง!
18. คำเตือนอะไรของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญซึ่งเหมาะสมกับสมัยนี้?
18 นอกจากนั้น พยานพระยะโฮวายังได้อ้างถึงบทเพลงสรรเสริญบท 33 ข้อ 17 ถึง 19 ซึ่งแถลงไว้ดังนี้: “ซึ่งจะพึ่งม้า [ของอียิปต์ ซึ่งเล็งถึงการสงคราม] เพื่อให้รอดก็เป็นการเปล่า หรือจะให้รอดพ้นเพราะมีแรงมากก็หามิได้. จงดูเถิด พระเนตรของพระยะโฮวาทอดดูอยู่บนคนทั้งปวงที่เกรงกลัวพระองค์ และผู้ที่คอยท่าในพระกรุณาของพระองค์ ทรงประสงค์จะช่วยจิตวิญญาณของเขาทั้งหลายให้พ้นจากความตาย และจะทรงรักษาชีวิตของเขาไว้ให้ดำรงอยู่เมื่อเวลากันดารอาหาร.” ปัจจุบันนี้ คริสเตียนแท้วางใจในพระยะโฮวาและในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระองค์ การจัดเตรียมเพียงอย่างเดียวที่สามารถนำมาซึ่งสันติภาพอันถาวร.
คริสต์ศาสนจักร “สถานที่เหยียบย่ำ”
19. เพราะเหตุใดการหวังพึ่งในองค์การฝ่ายการเมืองว่าจะนำมาซึ่งสันติภาพของโลกจึงเป็นการเพ้อฝัน?
19 การวางใจในสิ่งใด ๆ ที่มนุษย์ทำขึ้นนั้นแทนราชอาณาจักรของพระเจ้า ทำให้สิ่งนั้นเป็นรูปเคารพ เป็นเป้าแห่งการนมัสการ. (วิวรณ์ 13:14, 15) ด้วยเหตุนั้น การสนับสนุนให้พึ่งอาศัยในสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น องค์การสหประชาชาติ เพื่อสันติภาพและความปลอดภัยจึงเป็นการเพ้อฝัน เป็นการโกหกหลอกลวง. เมื่อกล่าวถึงการตั้งความหวังปลอม ๆ เช่นนั้นเป็นเป้าหมาย ยิระมะยากล่าวว่า “รูปเคารพหล่อของเขาเป็นของเท็จ และไม่มีลมหายใจในรูปนั้น มันเป็นของไร้ค่า และเป็นผลงานที่น่าเยาะเย้ย มันจะต้องพินาศเมื่อถึงเวลาการลงโทษ.” (ยิระมะยา 10:14, 15, ฉบับแปลใหม่) ฉะนั้น ม้าศึกแห่งอียิปต์ คือกองกำลังทหารฝ่ายการเมืองของนานาชาติในทุกวันนี้ จะไม่อาจปกป้องคริสต์ศาสนจักรไว้ได้ในคราวคับขัน. การที่ศาสนาต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรเป็นพันธมิตรกับโลกนี้จะไม่อาจป้องกันพวกเขาไว้ได้อย่างแน่นอน.
20, 21. (ก) อะไรเกิดขึ้นกับสันนิบาตชาติ และทำไมสหประชาชาติก็จะไม่ดีไปกว่า? (ข) ยะซายาแสดงให้เห็นอย่างไรว่าการที่คริสต์ศาสนจักรเป็นพันธมิตรกับโลกนี้จะไม่ช่วยให้เขารอดได้?
20 คริสต์ศาสนจักรฝากความหวังไว้กันสันนิบาตชาติ แต่องค์การนี้ล้มลงแม้อาร์มาเก็ดดอนยังไม่มาด้วยซ้ำ. บัดนี้คริสต์ศาสนจักรเปลี่ยนมาเป็นพันธมิตรกับสหประชาชาติ. แต่อีกไม่ช้าองค์การนี้ก็จะเผชิญกับ “การสงครามในวันใหญ่ของพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์” และองค์การนี้จะสูญไป. (วิวรณ์ 16:14) แม้สหประชาชาติซึ่งเป็นองค์การที่ฟื้นขึ้นมาใหม่นี้ก็ไม่สามารถนำมาซึ่งสันติภาพและความปลอดภัยได้. คำพยากรณ์ของพระเจ้าแสดงให้เห็นว่าองค์การสหประชาชาติพร้อมทั้งชาติสมาชิก “จะทำสงครามกับพระเมษโปดก [พระคริสต์พร้อมด้วยขัตติยอำนาจ] และพระเมษโปดกจะทรงมีชัยชนะ เพราะว่าท่านทรงเป็นเจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลายและทรงเป็นมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย.”—วิวรณ์ 17:14.
21 พยานพระยะโฮวาพูดด้วยความมั่นใจว่าไม่มีความรอดสำหรับคริสต์ศาสนจักรซึ่งเป็นพันธมิตรกับโลกของซาตาน. และเมื่อพวกเขาพูดเช่นนี้ เขาก็เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. ยะซายา 28:17, 18 (ฉบับแปลใหม่) ยกคำตรัสของพระยะโฮวาว่า: “เราจะกระทำความยุติธรรมให้เป็นเชือกวัด และความชอบธรรมให้เป็นลูกดิ่ง และลูกเห็บจะกวาดเอาความเท็จอันเป็นที่ลี้ภัยไปเสีย และน้ำจะท่วมท้นที่กำบัง และพันธสัญญาของเจ้ากับความตายจะเป็นโมฆะ และข้อตกลงของเจ้ากับแดนคนตายจะไม่ดำรง เมื่อภัยพิบัติผ่านพ้นไป เจ้าจะถูกเหยียบย่ำลงด้วยโทษนั้น.”
22. เมื่อมีการดำเนินการกับคริสต์ศาสนจักรโดยความยุติธรรมอย่างครบถ้วน ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร?
22 เมื่อมีการดำเนินการตามคำพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวา นั่นจะเป็นไปตามความยุติธรรมอันสมบูรณ์. และพื้นฐานแห่งความวางใจของคริสต์ศาสนจักร คือ “พันธสัญญากับความตาย” จะถูกทำลายสิ้นดุจโดยภัยพิบัติอันท่วมท้น. ยะซายากล่าวต่อไปว่า: “มันจะผ่านไปเช้าแล้วเช้าเล่า ทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อเข้าใจข่าวก็จะเกิดแต่ความสยดสยองเท่านั้น.” (ยะซายา 28:19, ฉบับแปลใหม่) ช่างน่าหวาดกลัวจริง ๆ สำหรับบรรดาผู้มองดูซึ่งเห็นถึงฤทธิ์อำนาจยิ่งใหญ่แห่งการพิพากษาของพระยะโฮวา! เป็นที่น่าสะพึงกลัวเพียงไรสำหรับนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรและผู้ติดตามเขาที่จะสำนึกว่าเขาได้วางใจในคำโกหก แต่สายไปเสียแล้ว!
พระนามของพระยะโฮวา “เป็นป้อมเข้มแข็ง”
23, 24. แทนที่จะแสวงความปลอดภัยจากโลกนี้ พยานพระยะโฮวาจะทำอะไร?
23 แต่จะว่าอย่างไรกับพยานพระยะโฮวา? แม้เมื่อเผชิญการเกลียดชังและการกดขี่ข่มเหงจากนานาชาติ พวกเขาก็ยืนหยัดในการรักษาตัวต่างหากจากโลก. พวกเขาไม่เคยลืมถ้อยคำที่พระเยซูตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ที่ว่า “เขาไม่อยู่ฝ่ายโลกเหมือนข้าพเจ้าไม่อยู่ฝ่ายโลก.” (โยฮัน 17:16) ตลอดสมัยสุดท้ายนี้ พวกเขามอบความไว้วางใจไว้กับราชอาณาจักรของพระยะโฮวา ไม่ใช่ในโครงการของมนุษย์. ดังนั้น ความหายนะของคริสต์ศาสนจักรจะไม่ทำให้เราหวั่นกลัว. ดังที่ยะซายาบอกไว้ล่วงหน้า: “ไม่มีผู้ใดที่สำแดงความเชื่อต้องหวั่นวิตก.”—ยะซายา 28:16, ล.ม.
24 พระธรรมสุภาษิต 18:10 กล่าวว่า “พระนามของพระยะโฮวาเป็นป้อมเข้มแข็ง คนชอบธรรมทั้งปวงวิ่งเข้าไปก็พ้นภัย.” ดังนั้น เราจึงขอเชิญชนเยี่ยงแกะทุกคนเข้ามารับการคุ้มภัยจากพระยะโฮวาและจากราชอาณาจักรของพระองค์โดยพระเยซูคริสต์. ในฐานะเป็นที่กำบัง พระยะโฮวาไม่ใช่เรื่องหลอกลวง! ราชอาณาจักรของพระองค์โดยพระคริสต์ไม่ใช่เรื่องโกหก! ที่คุ้มภัยของคริสต์ศาสนจักรเป็นเรื่องโกหก แต่ที่คุ้มภัยของคริสเตียนแท้เป็นความจริง.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ อาณาจักรยูดาโบราณหาที่คุ้มภัยอยู่ในความเท็จอย่างไร?
▫ คริสต์ศาสนจักรได้พยายามกำบังตัวอยู่ในเรื่องโกหกโดยวิธีใด?
▫ ยะซายาได้เตือนยูดาอย่างไร และพยานพระยะโฮวาประกาศคำเตือนที่คล้ายกันอย่างไรในปัจจุบันนี้?
▫ โดยวิธีใดที่คริสต์ศาสนจักรจะพบว่าเขาฝากความไว้วางใจผิดที่?
▫ ตรงกันข้ามกับคริสต์ศาสนจักร พยานพระยะโฮวารักษาไว้ซึ่งฐานะอะไร?
[กรอบหน้า 17]
มีความหวังมากสำหรับสหประชาชาติ
“เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกที่ 2 ที่ชุมชนนานาประเทศมีความปรองดองกัน. ความเป็นผู้นำของสหประชาชาติซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเพียงอุดมคติที่หวังไว้ บัดนี้กำลังทำให้ความใฝ่ฝันของเหล่าผู้ก่อตั้งเป็นที่แน่ชัด . . . ฉะนั้น โลกจึงอาจคว้าเอาโอกาสนี้ไว้เพื่อทำให้ความหวังที่มีกันมานานเกี่ยวกับระบบโลกใหม่นั้นเป็นจริงขึ้นมา.”—คำแถลงของประธานาธิบดี บุช แห่งสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับสภาพของประเทศสหรัฐเมื่อวันที่ 29 มกราคม 1991