การหยุดพักของพระเจ้าคืออะไร?
“มีการหยุดพักแบบเดียวกับวันซะบาโตสำหรับประชาชนของพระเจ้า.”—ฮีบรู 4:9
1, 2. เราอาจลงความเห็นอะไรได้จากเยเนซิศ 2:3 และเกิดคำถามอะไรขึ้น?
ตั้งแต่บทแรกของเยเนซิศ เราได้เรียนรู้ว่าในช่วงเวลาหกวันโดยนัยพระเจ้าทรงเตรียมแผ่นดินโลกไว้ให้มนุษย์อยู่อาศัย. เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาดังกล่าวแต่ละช่วงมีคำพรรณนาว่า “มีเวลาเย็นและเวลาเช้า.” (เย. 1:5, 8, 13, 19, 23, 31) อย่างไรก็ตาม สำหรับวันที่เจ็ด คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระเจ้าจึงได้ทรงอวยพระพรแก่วันที่เจ็ดนั้นตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์; เพราะในวันนั้นพระองค์ได้ทรงหยุด จากสรรพการที่พระองค์ทรงนฤมิตสร้างไว้นั้น.”—เย. 2:3
2 ขอให้สังเกตคำว่า “ได้ทรงหยุด.” ตามภาษาเดิม คำกริยาที่ใช้ในที่นี้แสดงว่าวันที่เจ็ดซึ่งเป็น “วัน” หยุดพักของพระเจ้ายังดำเนินอยู่ในปี 1513 ก่อนสากลศักราช เมื่อโมเซเขียนหนังสือเยเนซิศ. วันหยุดพักของพระเจ้ายังคงดำเนินอยู่ในตอนนี้ไหม? ถ้าเป็นอย่างนั้น เราในทุกวันนี้จะเข้าสู่วันหยุดพักนั้นได้ไหม? คำตอบสำหรับคำถามดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเรา.
พระยะโฮวายังคง “หยุดพัก” ไหม?
3. คำตรัสของพระเยซูดังบันทึกที่โยฮัน 5:16, 17 แสดงให้เห็นอย่างไรว่าวันที่เจ็ดยังคงดำเนินอยู่ในศตวรรษแรก?
3 มีเหตุผลสองประการที่ทำให้เราลงความเห็นได้ว่าเมื่อถึงศตวรรษแรกแห่งสากลศักราชวันที่เจ็ดนั้นยังคงดำเนินอยู่. ประการแรก ขอให้พิจารณาคำตรัสของพระเยซูที่ตอบผู้ต่อต้านซึ่งตำหนิการที่พระองค์ทรงรักษาโรคในวันซะบาโต ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นการทำงานอย่างหนึ่ง. องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับพวกเขาว่า “พระบิดาของเราทรงทำงานจนถึงเดี๋ยวนี้ และเราก็ทำงานอยู่.” (โย. 5:16, 17) จุดสำคัญคืออะไร? พระเยซูทรงถูกกล่าวหาว่าทำงานในวันซะบาโต. คำตอบของพระองค์ที่ว่า “พระบิดาของเราทรงทำงานจนถึงเดี๋ยวนี้” ช่วยตอบข้อกล่าวหานั้น. พระเยซูกำลังตรัสกับคนที่ตำหนิพระองค์ในทำนองที่ว่า ‘เรากับพระบิดาทำงานอย่างเดียวกัน. เนื่องจากตอนนี้พระบิดาของเรากำลังทำงานในวันซะบาโตซึ่งเป็นช่วงเวลานานหลายพันปี เราจึงทำงานได้ แม้แต่ในวันซะบาโต.’ โดยตรัสอย่างนี้ พระเยซูทรงบอกเป็นนัย ๆ ว่าวันหยุดพักของพระเจ้าในวันที่เจ็ดนั้นยังไม่สิ้นสุดลงในสมัยของพระองค์. แต่ว่าพระเจ้ายังคงทำงานอยู่เพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำหรับมนุษย์และแผ่นดินโลกสำเร็จ.a
4. มีเหตุผลเพิ่มเติมอะไรอีกที่แสดงว่าวันที่เจ็ดยังคงดำเนินอยู่ในสมัยของเปาโล?
4 อัครสาวกเปาโลให้เหตุผลประการที่สอง. เมื่ออ้างถึงเยเนซิศ 2:2 ซึ่งกล่าวถึงการหยุดพักของพระเจ้า เปาโลได้รับการดลใจให้เขียนว่า “เราซึ่งแสดงความเชื่อได้เข้าสู่การหยุดพักนั้น.” (ฮีบรู 4:3, 4, 6, 9) ดังนั้น วันที่เจ็ดก็ยังคงดำเนินอยู่ในสมัยของเปาโล. วันแห่งการหยุดพักนี้ดำเนินต่อไปอีกนานเท่าไร?
5. จุดประสงค์ของวันที่เจ็ดคืออะไร และจุดประสงค์นั้นจะสำเร็จอย่างครบถ้วนเมื่อไร?
5 เพื่อจะตอบคำถามดังกล่าว เราต้องนึกถึงจุดมุ่งหมายของวันที่เจ็ด. เยเนซิศ 2:3 อธิบายว่าจุดมุ่งหมายของวันนี้คืออะไร: “พระเจ้าจึงได้ทรงอวยพระพรแก่วันที่เจ็ดนั้นตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์.” วันนั้นถูก “ตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์” ซึ่งก็คือพระยะโฮวาทรงทำให้เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์หรือแยกไว้ต่างหาก เพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จครบถ้วน. พระประสงค์นั้นก็คือการทำให้แผ่นดินโลกนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่เชื่อฟัง ซึ่งจะดูแลแผ่นดินโลกและชีวิตทั้งมวลที่อยู่บนแผ่นดินโลก. (เย. 1:28) เพื่อจะให้สำเร็จเป็นจริงตามพระประสงค์นั้น พระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ “เจ้าแห่งวันซะบาโต” จึง “ทรงทำงานจนถึงเดี๋ยวนี้.” (มัด. 12:8) วันหยุดพักของพระเจ้าจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งพระประสงค์ของพระองค์จะสำเร็จเป็นจริงอย่างครบถ้วนเมื่อสิ้นสุดรัชสมัยพันปีของพระคริสต์.
อย่า “เอาอย่างคนเหล่านั้นที่ไม่เชื่อฟัง”
6. ตัวอย่างอะไรบ้างที่ช่วยเตือนเรา และเราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเหล่านั้น?
6 มีการอธิบายพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างชัดเจนแก่อาดามและฮาวา แต่พวกเขาไม่ให้ความร่วมมือกับพระประสงค์นั้น. แน่นอน ไม่ได้มีเพียงอาดามกับฮาวาเท่านั้นที่ดำเนินในแนวทางที่ไม่เชื่อฟัง. หลังจากนั้น มีคนอื่น ๆ อีกหลายล้านคนที่ทำอย่างเดียวกัน. แม้แต่ประชาชนที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้ คือชาติอิสราเอล ก็ไม่เชื่อฟังพระเจ้าครั้งแล้วครั้งเล่า. และที่สำคัญคือ เปาโลเตือนคริสเตียนในศตวรรษแรกว่าแม้แต่พวกเขาบางคนก็อาจติดกับดักแบบเดียวกันกับชาวอิสราเอลโบราณ. ท่านเขียนว่า “ฉะนั้น ให้เราพยายามสุดความสามารถเพื่อเข้าสู่การหยุดพักนั้น เพราะเกรงว่าจะมีใครหลงเอาอย่างคนเหล่านั้นที่ไม่เชื่อฟัง.” (ฮีบรู 4:11) สังเกตว่าเปาโลแสดงให้เห็นความเกี่ยวโยงกันระหว่างการไม่เชื่อฟังกับการที่คนเราจะไม่ได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้า. นั่นหมายถึงอะไรสำหรับเรา? ถ้าเราขัดพระประสงค์ของพระเจ้าในทางใดทางหนึ่ง เราอาจจะไม่ได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้ามิใช่หรือ? เห็นได้ชัด คำตอบสำหรับคำถามนั้นสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเรา และเราจะพิจารณาคำตอบดังกล่าวกันต่อไป. แต่ในตอนนี้ ขอให้เรามาดูกันว่าเราจะเรียนอะไรได้อีกเกี่ยวกับการเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าโดยพิจารณาตัวอย่างที่ไม่ดีของชาวอิสราเอล.
“พวกเขาจะไม่ได้เข้าสู่การหยุดพักของเรา”
7. พระยะโฮวาทรงนึกถึงอะไรเมื่อพระองค์ทรงช่วยชาวอิสราเอลให้พ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ และพระองค์ทรงคาดหมายให้พวกเขาทำอะไร?
7 ในปี 1513 ก่อน ส.ศ. พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับชาวอิสราเอลแก่โมเซผู้รับใช้ของพระองค์. พระเจ้าตรัสว่า “เราลงมาเพื่อจะได้ช่วยให้เขารอดจากชาติอายฆุบโต, และนำเขาออกจากประเทศนั้น [อียิปต์] ไปยังแผ่นดินที่ดี, กว้างขวาง, บริบูรณ์ด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง.” (เอ็ก. 3:8) ดังที่พระยะโฮวาทรงสัญญาไว้กับอับราฮามบรรพบุรุษของพวกเขา การที่พระองค์ทรงช่วยชาวอิสราเอลให้ “รอดจากชาติอายฆุบโต” นั้นก็เพื่อจะตั้งพวกเขาไว้ให้เป็นประชาชนของพระองค์. (เย. 22:17) พระเจ้าประทานประมวลกฎหมายแก่ชาวอิสราเอลซึ่งจะช่วยพวกเขาให้มีสายสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยสันติสุขกับพระองค์. (ยซา. 48:17, 18) พระองค์ทรงบอกชาวอิสราเอลว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายจะฟัง ถ้อยคำของเราจริง ๆ, และรักษา คำสัญญาไมตรีของเราไว้ [ดังที่บอกไว้ในพระบัญญัติ], เจ้าจะเป็นทรัพย์ประเสริฐของเรายิ่งกว่าชาติทั้งปวง เพราะเราเป็นเจ้าของโลกทั้งสิ้น.” (เอ็ก. 19:5, 6) ดังนั้น การที่ชาวอิสราเอลจะมีสายสัมพันธ์กับพระเจ้าซึ่งเป็นสิทธิพิเศษขึ้นอยู่กับการที่พวกเขาเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์.
8. ชาวอิสราเอลอาจมีชีวิตแบบใดถ้าพวกเขาเชื่อฟังพระเจ้า?
8 ขอให้คิดดูว่าชีวิตของชาวอิสราเอลจะเป็นอย่างไรถ้าพวกเขาเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า! พระยะโฮวาคงได้อวยพรไร่นา สวนองุ่น ฝูงแกะ และฝูงสัตว์ของพวกเขา. ศัตรูของพวกเขาคงจะไม่มีอำนาจครอบงำพวกเขาอย่างถาวร. (อ่าน 1 กษัตริย์ 10:23-27) เมื่อพระมาซีฮาเสด็จมา พระองค์คงจะพบว่าชาติอิสราเอลกำลังอยู่ดีมีสุขในฐานะชาติที่เป็นอิสระ ไม่ใช่กลัวจนหัวหดอยู่ใต้อำนาจกดขี่ของชาวโรมัน. ชาติอิสราเอลก็จะได้เป็นอาณาจักรแบบอย่างแก่ชาติที่อยู่รอบข้าง ซึ่งให้ข้อพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมว่าการเชื่อฟังพระเจ้าองค์เที่ยงแท้นำมาซึ่งพระพรทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายวัตถุ.
9, 10. (ก) เหตุใดความปรารถนาของชาติอิสราเอลที่จะกลับไปอียิปต์จึงเป็นเรื่องที่เสียหายร้ายแรง? (ข) การกลับไปอียิปต์อาจก่อผลอย่างไรต่อการนมัสการของชาวอิสราเอล?
9 ชาติอิสราเอลมีสิทธิพิเศษสักเพียงไรที่ได้ทำงานประสานกับพระประสงค์ของพระยะโฮวา ซึ่งไม่เพียงทำให้พวกเขาได้รับพระพร แต่ในที่สุด ชนทุกชาติทั่วโลกก็จะได้รับพระพรด้วย! (เย. 22:18) อย่างไรก็ตาม คนชั่วอายุที่ขืนอำนาจนั้นโดยรวมแล้วแทบไม่สนใจเลยในการเป็นอาณาจักรแบบอย่างที่ปกครองตามระบอบของพระเจ้า. คิดดูสิ พวกเขาถึงกับเรียกร้องขอกลับไปอียิปต์! (อ่านอาฤธโม 14:2-4) การกลับไปอียิปต์จะทำให้ชาติอิสราเอลเป็นอาณาจักรแบบอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้าไหม? ไม่เป็นอย่างนั้นแน่. ที่จริง ถ้าชาวอิสราเอลกลับไปอยู่ใต้อำนาจควบคุมของพวกนอกรีต พวกเขาจะไม่มีทางปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซและรับประโยชน์จากการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อให้อภัยบาปได้. พวกเขาคิดถึงแต่ตัวเองและไม่คิดถึงพระประสงค์ของพระเจ้าเลย! จึงไม่แปลกที่พระยะโฮวาตรัสถึงผู้ขืนอำนาจเหล่านี้ว่า “เราจึงเคืองคนในยุคนั้นและกล่าวว่า ‘หัวใจพวกเขาหลงผิดเสมอและพวกเขาไม่ได้มารู้จักทางของเรา.’ เราจึงปฏิญาณด้วยความกริ้วว่า ‘พวกเขาจะไม่ได้เข้าสู่การหยุดพักของเรา.’ ”—ฮีบรู 3:10, 11; เพลง. 95:10, 11
10 โดยพยายามจะกลับไปยังอียิปต์ ชาติที่ดื้อดึงชาตินี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาแทบไม่เห็นคุณค่าพระพรฝ่ายวิญญาณที่ได้รับ แต่อยากกินต้นกระเทียม หัวหอม และหัวกระเทียมที่มีอยู่ในประเทศอียิปต์มากกว่า. (อาฤ. 11:5) เช่นเดียวกับเอซาวผู้ไม่สำนึกบุญคุณ ชาติที่ขืนอำนาจนี้พร้อมจะสละมรดกฝ่ายวิญญาณที่ล้ำค่าแลกกับอาหารที่เอร็ดอร่อย.—เย. 25:30-32; ฮีบรู 12:16
11. ความไม่ซื่อสัตย์ของชาวอิสราเอลในสมัยของโมเซมีผลกระทบต่อพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างไร?
11 แม้ว่าชาวอิสราเอลรุ่นที่ออกจากอียิปต์ขาดความเชื่อ พระยะโฮวา “ทรงทำงาน” อย่างอดทนเพื่อให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์ และทรงมุ่งสนพระทัยคนรุ่นถัดไป. สมาชิกของคนรุ่นใหม่นั้นเชื่อฟังมากกว่าคนรุ่นพ่อ. พวกเขาทำตามพระบัญชาของพระยะโฮวา โดยเข้าไปในแผ่นดินที่ทรงสัญญาและพิชิตแผ่นดินนั้น. เราอ่านที่ยะโฮซูอะ 24:31 ว่า “พวกยิศราเอลได้ปฏิบัติพระยะโฮวาจนสิ้นเวลาอายุแห่งยะโฮซูอะ, และสิ้นวันเดือนแห่งผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังอยู่ภายหลังยะโฮซูอะ, ผู้รู้บรรดากิจการแห่งพระยะโฮวา, ซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำแก่พวกยิศราเอล.”
12. เราทราบได้อย่างไรว่าเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าในทุกวันนี้?
12 อย่างไรก็ตาม คนชั่วอายุที่เชื่อฟังนั้นค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปและคนชั่วอายุที่ “ไม่รู้จักพระยะโฮวา หรือการอัศจรรย์ซึ่งพระองค์ทรงกระทำแก่พวกยิศราเอล” เข้ามาแทนที่. ด้วยเหตุนั้น “พวกยิศราเอลกระทำผิดในคลองพระเนตรพระยะโฮวา, คือปฏิบัติพระบะอาลิม.” (วินิจ. 2:10, 11) แผ่นดินที่ทรงสัญญาไม่ได้เป็น “ที่หยุดพัก” อย่างแท้จริงสำหรับพวกเขา. เพราะพวกเขาไม่เชื่อฟัง พวกเขาจึงไม่มีสันติสุขที่ยั่งยืนกับพระเจ้า. เปาโลกล่าวถึงช่วงเวลาหนึ่งหลังจากนั้นว่า “ถ้ายะโฮซูอะได้นำ [ชาวอิสราเอล] เข้าสู่ที่หยุดพักแล้ว ภายหลังพระเจ้าคงไม่ตรัสถึงอีกวันหนึ่ง. ดังนั้น จึงยังมีการหยุดพักแบบเดียวกับวันซะบาโตสำหรับประชาชนของพระเจ้า.” (ฮีบรู 4:8, 9) “ประชาชนของพระเจ้า” ที่เปาโลกำลังกล่าวถึงนี้ได้แก่คริสเตียนทั้งหลาย. นั่นหมายความว่าคริสเตียนสามารถเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าได้ใช่ไหม? แน่นอนที่สุด ทั้งคริสเตียนที่เป็นชาวยิวและที่ไม่ใช่ชาวยิวสามารถเข้าได้!
บางคนไม่ได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้า
13, 14. มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรระหว่างการปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซกับการเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้า (ก) ในสมัยของโมเซ? (ข) ในศตวรรษแรก?
13 เมื่อเปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรู ท่านเป็นห่วงที่บางคนในหมู่พวกเขาไม่ให้ความร่วมมือในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้ารุดหน้าไป. (อ่านฮีบรู 4:1) เป็นเช่นนั้นอย่างไร? แปลกแต่จริงที่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซ. เป็นเวลาประมาณ 1,500 ปีที่ชาวอิสราเอลซึ่งปรารถนาจะดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติ. อย่างไรก็ตาม การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูทำให้พระบัญญัติถูกยกเลิก. คริสเตียนบางคนไม่ยอมรับเรื่องนี้ และพวกเขายืนกรานที่จะปฏิบัติตามพระบัญญัติต่อไป.b
14 เปาโลอธิบายแก่คริสเตียนที่ตั้งใจจะปฏิบัติตามพระบัญญัติว่าตำแหน่งมหาปุโรหิตของพระเยซู สัญญาใหม่ และวิหารฝ่ายวิญญาณ ล้วนเหนือกว่าคู่เทียบของสิ่งเหล่านี้ที่อยู่ก่อนยุคคริสเตียน. (ฮีบรู 7:26-28; 8:7-10; 9:11, 12) ด้วยเหตุนั้น เปาโลคงนึกถึงการปฏิบัติตามกฎวันซะบาโตประจำสัปดาห์เมื่อท่านเขียนเกี่ยวกับสิทธิพิเศษในการเข้าสู่วันหยุดพักของพระยะโฮวาดังนี้: “ยังมีการหยุดพักแบบเดียวกับวันซะบาโตสำหรับประชาชนของพระเจ้า. เพราะคนที่ได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าแล้วก็หยุดจากการงานของตนด้วย ดังที่พระเจ้าทรงหยุดจากการงานของพระองค์.” (ฮีบรู 4:8-10) คริสเตียนชาวฮีบรูเหล่านั้นต้องเลิกคิดว่าพวกเขาสามารถได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวาด้วยการทำการงานตามที่ระบุไว้ในพระบัญญัติของโมเซ. นับตั้งแต่วันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 พระเจ้าทรงแสดงความโปรดปรานอย่างเหลือล้นแก่คนที่แสดงความเชื่อในพระเยซูคริสต์.
15. เหตุใดการเชื่อฟังจึงสำคัญเพื่อเราจะเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าได้?
15 อะไรขัดขวางชาวอิสราเอลในสมัยของโมเซไว้ทำให้พวกเขาไม่ได้เข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญา? การไม่เชื่อฟังนั่นเอง. อะไรขัดขวางคริสเตียนบางคนในสมัยของเปาโลไว้ทำให้พวกเขาไม่ได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้า? ก็การไม่เชื่อฟังอีกนั่นแหละ. พวกเขาไม่ตระหนักว่าพระบัญญัติได้ทำหน้าที่ของมันเสร็จสิ้นไปแล้วและพระยะโฮวากำลังนำประชาชนของพระองค์ไปอีกทางหนึ่ง.
เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าในทุกวันนี้
16, 17. (ก) การเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าในทุกวันนี้หมายความอย่างไร? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
16 คงมีคริสเตียนไม่กี่คนในทุกวันนี้ที่จะยืนกรานว่าต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซจึงจะได้รับความรอด. ถ้อยคำของเปาโลซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์นั้นชัดเจนอย่างยิ่ง ที่ว่า “โดยพระกรุณาอันใหญ่หลวงนี้เองที่พวกท่านได้รับความรอดเนื่องด้วยความเชื่อ ความรอดนี้มิใช่เนื่องจากพวกท่าน แต่เป็นของประทานจากพระเจ้า. ถูกแล้ว ความรอดนี้มิใช่ได้รับเพราะการกระทำ เพื่อไม่ให้ใครมีเหตุจะอวดได้.” (เอเฟ. 2:8, 9) ถ้าอย่างนั้น การที่คริสเตียนจะเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าหมายความอย่างไร? พระยะโฮวาทรงกำหนดวันที่เจ็ดหรือวันหยุดพักของพระองค์ไว้เพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินโลกสำเร็จเป็นจริงอย่างรุ่งโรจน์. เราสามารถเข้าสู่การหยุดพักของพระยะโฮวา หรือเข้าร่วมกับพระองค์ในการหยุดพัก โดยพร้อมจะทำงานสอดคล้องกับพระประสงค์ที่ก้าวรุดหน้าของพระเจ้าตามที่ทรงเปิดเผยให้เราทราบโดยทางองค์การของพระองค์.
17 ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ที่เราได้รับผ่านทางชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม โดยเลือกที่จะทำตามอำเภอใจ เราก็กำลังประพฤติอย่างที่ขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้าที่กำลังได้รับการเปิดเผย. นั่นอาจเป็นอันตรายต่อสายสัมพันธ์อันสงบสุขที่เรามีกับพระยะโฮวา. ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาสถานการณ์โดยทั่วไปบางอย่างที่อาจส่งผลต่อประชาชนของพระเจ้าและพิจารณาวิธีที่การตัดสินใจของเรา ไม่ว่าจะเชื่อฟังหรือทำตามอำเภอใจ อาจเป็นปัจจัยที่กำหนดว่าเราจะได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าอย่างแท้จริงหรือไม่.
[เชิงอรรถ]
a พวกปุโรหิตและชาวเลวีปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับพระวิหารในวันซะบาโตแต่ก็ “ไม่มีความผิด.” ในฐานะมหาปุโรหิตแห่งพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า พระเยซูก็ทรงสามารถทำหน้าที่มอบหมายฝ่ายวิญญาณให้สำเร็จด้วยโดยไม่ต้องกลัวว่าจะฝ่าฝืนกฎวันซะบาโต.—มัด. 12:5, 6
b เราไม่ทราบว่ามีคริสเตียนชาวยิวบางคนหรือไม่ที่ทำเลยเถิดถึงขนาดที่สนับสนุนการจัดเตรียมเกี่ยวกับวันไถ่โทษหลังจากวันเพนเทคอสต์ สากลศักราช 33. การทำอย่างนั้นย่อมแสดงว่าพวกเขาไม่นับถือเครื่องบูชาของพระเยซู. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนชาวยิวบางคนยึดมั่นกับประเพณีนิยมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบัญญัติ.—กลา. 4:9-11
คำถามเพื่อใคร่ครวญ
• วันที่เจ็ดที่พระเจ้าทรงหยุดพักมีไว้เพื่อจุดประสงค์อะไร?
• เรารู้ได้อย่างไรว่าวันที่เจ็ดยังคงดำเนินอยู่ในทุกวันนี้?
• อะไรขัดขวางชาวอิสราเอลในสมัยของโมเซและคริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกทำให้พวกเขาไม่ได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้า?
• การเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าในทุกวันนี้มีความหมายเช่นไร?
[คำโปรยหน้า 27]
เราสามารถเข้าสู่การหยุดพักของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ได้โดยพร้อมจะทำงานสอดคล้องกับพระประสงค์ที่ก้าวรุดหน้าของพระเจ้าตามที่ทรงเปิดเผยให้เราทราบโดยทางองค์การของพระองค์
[ภาพหน้า 26, 27]
อะไรคือสิ่งที่ยังคงจำเป็นเพื่อประชาชนของพระเจ้าจะเข้าสู่การหยุดพักของพระองค์?