“ผู้เลี้ยงแกะเจ็ดคนและเจ้านายแปดคน” มีความหมายอย่างไรสำหรับเราในสมัยนี้?
“เราจะยกผู้เลี้ยงแกะเจ็ดคนและเจ้านายแปดคนมาต่อต้านเขา.”—มีคา 5:5, ฉบับ 1971
1. ทำไมแผนการของกษัตริย์ซีเรียกับกษัตริย์อิสราเอลจึงไม่มีทางสำเร็จได้?
ในปีใดปีหนึ่งระหว่างปี 762 กับปี 759 ก่อนสากลศักราช กษัตริย์อิสราเอลและกษัตริย์ซีเรียประกาศสงครามกับอาณาจักรยูดาห์. พวกเขาต้องการรุกจนถึงกรุงเยรูซาเลม ถอดกษัตริย์อาฮาศออกจากตำแหน่ง และตั้งคนอื่นขึ้นเป็นกษัตริย์ ซึ่งคงไม่ใช่คนที่อยู่ในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด. (ยซา. 7:5, 6) แต่แผนการของพวกเขาไม่มีทางสำเร็จได้. พระยะโฮวาสัญญาไว้แล้วว่าจะมีคนที่อยู่ในราชวงศ์ของดาวิดปกครองเป็นกษัตริย์ตลอดไป. และคำสัญญาของพระยะโฮวาเป็นจริงเสมอ.—ยโฮ. 23:14; 2 ซามู. 7:16
2-4. ยะซายา 7:14, 16 สำเร็จเป็นจริงอย่างไร (ก) ในสมัยของยะซายาห์? (ข) ในสมัยของพระเยซู?
2 ทีแรก ดูเหมือนว่าซีเรียและอิสราเอลจะชนะสงคราม. ในการรบครั้งหนึ่ง อาฮาศสูญเสียทหารถึง 120,000 คน! และมาเซยา บุตรของอาฮาศ ก็ถูกฆ่า. (2 โคร. 28:6, 7) แต่พระยะโฮวาคอยดูอยู่. พระองค์ไม่ลืมคำสัญญาที่ให้ไว้กับดาวิด และพระองค์ส่งผู้พยากรณ์ยะซายาห์ให้บอกข่าวสารที่ให้กำลังใจอย่างยิ่ง.
3 ยะซายาห์กล่าวว่า “นี่แน่ะ, หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง, และเขาจะเรียกชื่อบุตรนั้นว่า, ‘อีมานูเอล.’ กว่าเด็กนั้นจะรู้ดีรู้ชั่ว, แผ่นดินของกษัตริย์สององค์ซึ่งเจ้าเกลียดนั้นจะต้องร้างไป.” (ยซา. 7:14, 16) จริงอยู่ที่ส่วนแรกของคำพยากรณ์นี้หมายถึงการเกิดของพระมาซีฮา. (มัด. 1:23) แต่กษัตริย์ซีเรียและกษัตริย์อิสราเอลไม่ได้โจมตีอาณาจักรยูดาห์ในสมัยของพระเยซู ดังนั้น คำพยากรณ์เกี่ยวกับอิมมานูเอลนี้จึงต้องสำเร็จเป็นจริงในสมัยของยะซายาห์ด้วย. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
4 ไม่นานหลังจากที่ยะซายาห์ประกาศอย่างนั้น ภรรยาของท่านก็ตั้งครรภ์. บุตรชายของทั้งสองมีชื่อว่า เมเฮอซาลัลฮัศบัศ. บุตรชายคนนี้อาจได้แก่ “อีมานูเอล” ที่ยะซายาห์กล่าวถึง.a ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล เด็กอาจถูกเรียกด้วยชื่อหนึ่งตอนที่เขาเกิด. อาจมีการตั้งชื่อแบบนี้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์พิเศษอย่างหนึ่ง. แต่พ่อแม่และญาติเรียกเขาโดยใช้อีกชื่อหนึ่ง. (2 ซามู. 12:24, 25) ไม่มีหลักฐานว่าเคยมีคนเรียกพระเยซูโดยใช้ชื่ออิมมานูเอล.—อ่านยะซายา 7:14; 8:3, 4
5. กษัตริย์อาฮาศตัดสินใจทำสิ่งที่โง่เขลาอย่างไร?
5 ขณะที่อิสราเอลและซีเรียมุ่งจะพิชิตยูดาห์ อัสซีเรียก็กำลังวางแผนจะพิชิตภูมิภาคนี้ทั้งหมด. อัสซีเรียเป็นชาติที่ชอบรุกรานซึ่งกำลังมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ. ตามที่กล่าวไว้ในยะซายา 8:3, 4 อัสซีเรียจะพิชิตซีเรียและอิสราเอลก่อน แล้วจึงจะมาโจมตีอาณาจักรยูดาห์. อาฮาศ กษัตริย์ยูดาห์น่าจะไว้วางใจคำของพระเจ้าที่บอกมาทางยะซายาห์. แต่เขากลับตัดสินใจอย่างโง่เขลาด้วยการทำข้อตกลงกับพวกอัสซีเรีย. ผลก็คือ ในภายหลังพวกอัสซีเรียได้กลายมาเป็นผู้ปกครองที่กดขี่อาณาจักรยูดาห์. (2 กษัต. 16:7-10) ในฐานะผู้เลี้ยงแกะหรือผู้นำของอาณาจักรยูดาห์ อาฮาศควรปกป้องประชาชนของเขา. แต่เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น. เราอาจถามตัวเองว่า ‘เมื่อฉันต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ฉันไว้วางใจพระเจ้าหรือมนุษย์?’—สุภา. 3:5, 6
ผู้เลี้ยงแกะคนใหม่ทำอีกอย่างหนึ่ง
6. ฮิศคียาห์ไม่เหมือนกับอาฮาศอย่างไร?
6 อาฮาศตายในปี 745 ก่อน ส.ศ. และฮิศคียาห์ซึ่งเป็นบุตรของเขาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน. ประชาชนของอาณาจักรยูดาห์ในเวลานั้นยากจน และพวกเขาได้เลิกนมัสการพระยะโฮวาไปแล้ว. ฮิศคียาห์จะทำอะไรเป็นอันดับแรกเมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์? เขาจะพยายามช่วยประชาชนให้ร่ำรวยขึ้นไหม? ไม่. ฮิศคียาห์รักพระยะโฮวาและเป็นผู้เลี้ยงแกะหรือผู้ปกครองที่ดี. สิ่งแรกที่เขาทำก็คือช่วยประชาชนให้กลับมานมัสการพระยะโฮวาอีกครั้งหนึ่ง. เมื่อฮิศคียาห์เข้าใจสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้ทำ เขาก็เชื่อฟังและทำตามทันที. ฮิศคียาห์เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับเราจริง ๆ!—2 โคร. 29:1-19
7. ทำไมชาวเลวีจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์องค์ใหม่?
7 ชาวเลวีมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญในการช่วยประชาชนให้กลับมานมัสการพระยะโฮวาอีกครั้งหนึ่ง. ฮิศคียาห์จึงเรียกชาวเลวีมาประชุมกันและให้ความมั่นใจแก่พวกเขาว่าจะสนับสนุนการทำหน้าที่ของพวกเขา. ชาวเลวีผู้ซื่อสัตย์ที่มาประชุมกันอาจร้องไห้ด้วยความยินดีเมื่อได้ยินกษัตริย์พูดว่า “พระยะโฮวาได้ทรงเลือกพวกเจ้าไว้ให้ยืนเฝ้าปฏิบัติ, และเป็นผู้รับใช้เผาเครื่องหอมถวายพระองค์.” (2 โคร. 29:11) ชาวเลวีได้รับคำสั่งอย่างชัดเจนให้ช่วยประชาชนนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้!
8. ฮิศคียาห์ทำอะไรอีกเพื่อช่วยประชาชนให้กลับมานมัสการพระยะโฮวา? ผลเป็นอย่างไร?
8 ฮิศคียาห์เชิญประชาชนทั้งหมดในอาณาจักรยูดาห์มาร่วมฉลองปัศคาครั้งใหญ่. หลังจากฉลองปัศคาแล้ว ประชาชนก็ฉลองเทศกาลกินขนมปังไม่ใส่เชื้อซึ่งกินเวลานานเจ็ดวัน. ในระหว่างเทศกาลนี้ พวกเขาชื่นชมยินดีอย่างยิ่งจนฉลองกันต่ออีกเจ็ดวัน. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “คนทั้งปวงที่กรุงยะรูซาเลมจึงโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ด้วยตั้งแต่แผ่นดินซะโลโมราชบุตรของดาวิดกษัตริย์ยิศราเอลยังไม่เคยมีการเช่นนี้ที่กรุงยะรูซาเลม.” (2 โคร. 30:26) เทศกาลนี้คงต้องให้กำลังใจแก่ประชาชนทั้งปวงเป็นอย่างยิ่ง. เราอ่านที่ 2 โครนิกา 31:1 ว่าทันทีที่การฉลองสิ้นสุดลง “พวกยิศราเอลทั้งปวง . . . หักฟันทำลายเสาเคารพและรูปพระอัศธะโรธเสีย, กับได้รื้อที่สูงสำหรับนมัสการ ทั้งแท่น.” ชาตินี้ได้กลับมาหาพระยะโฮวา ซึ่งช่วยพวกเขาให้พร้อมจะรับมือความยุ่งยากลำบากที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพวกเขา.
กษัตริย์ไว้วางใจพระยะโฮวา
9. (ก) แผนการของอิสราเอลถูกขัดขวางอย่างไร? (ข) ในช่วงแรก ซันเฮริบประสบความสำเร็จอย่างไรในอาณาจักรยูดาห์?
9 เป็นจริงดังที่ยะซายาห์ได้กล่าวไว้ พวกอัสซีเรียได้พิชิตอาณาจักรอิสราเอลและพาผู้คนไปเป็นเชลย. เหตุการณ์นี้ขัดขวางแผนการของอิสราเอลที่ต้องการจะตั้งคนที่ไม่ได้อยู่ในเชื้อวงศ์ของดาวิดให้เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรยูดาห์. แต่อัสซีเรียมีแผนการอะไร? ถึงตอนนี้ เป้าหมายของพวกเขาคือการพิชิตยูดาห์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ในปีที่สิบสี่แห่งรัชกาลกษัตริย์ฮีศคียา, ซันเฮริบกษัตริย์อะซูริยะ [อัสซีเรีย] ก็ยกทัพมาตีเอาบรรดาหัวเมืองที่มีกำแพงแห่งประเทศยูดา.” ซันเฮริบพิชิต 46 เมืองของอาณาจักรยูดาห์. ขอให้นึกภาพดูว่าถ้าคุณอยู่ในกรุงเยรูซาเลมในตอนนั้นคุณจะรู้สึกอย่างไร. กองทัพอัสซีเรียพิชิตเมืองต่าง ๆ ของยูดาห์อย่างรวดเร็ว และรุกเข้ามาเรื่อย ๆ จนใกล้จะถึงบ้านของคุณ!—2 กษัต. 18:13
10. คำพยากรณ์ของมีคาคงให้กำลังใจแก่ฮิศคียาห์อย่างไร?
10 ฮิศคียาห์รู้ดีถึงภัยคุกคามที่กำลังใกล้เข้ามา แต่เขาไม่ได้ตื่นตระหนกและขอความช่วยเหลือจากชาตินอกรีตเหมือนกับที่อาฮาศ บิดาผู้ไม่ซื่อสัตย์ ได้ทำ. ฮิศคียาห์ไว้วางใจพระยะโฮวา. (2 โคร. 28:20, 21) เขาอาจรู้คำพยากรณ์ของมีคาที่กล่าวถึงอัสซีเรียผู้เป็นศัตรูว่า “เราจะยกผู้เลี้ยงแกะเจ็ดคนและเจ้านายแปดคนมาต่อต้านเขา. เขาทั้งหลายจะปกครองแผ่นดินอัสซีเรียด้วยดาบ.” (มีคา 5:5, 6, ฉบับ 1971 ) ถ้อยคำนี้ที่มาจากพระยะโฮวา ซึ่งแสดงว่าพระองค์จะใช้กองทัพพิเศษพิชิตพวกอัสซีเรีย คงให้กำลังใจแก่ฮิศคียาห์อย่างแน่นอน.
11. คำพยากรณ์เรื่องคนเลี้ยงแกะเจ็ดคนและเจ้านายแปดคนจะสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญที่สุดเมื่อไร?
11 คำพยากรณ์เกี่ยวกับผู้เลี้ยงแกะเจ็ดคนและเจ้านายแปดคนจะสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญที่สุดภายหลังการเกิดของพระเยซู “กษัตริย์ครองยิศราเอล อันสืบเนื่องมาแต่กาลดึกดำบรรพ์.” (อ่านมีคา 5:1, 2 ) ที่จริง ความสำเร็จเป็นจริงดังกล่าวจะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อ “อัสซีเรีย” สมัยปัจจุบัน ซึ่งก็คือผู้ที่เป็นศัตรู โจมตีผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. พระยะโฮวาจะใช้กองทัพอะไรที่นำโดยพระบุตรของพระองค์เพื่อพิชิตศัตรู? เราจะตอบคำถามนี้ในตอนท้ายของบทความ. แต่ก่อนอื่น ขอให้เรามาดูว่าเราเรียนอะไรได้จากสิ่งที่ฮิศคียาห์ทำเมื่อถูกพวกอัสซีเรียโจมตี.
ฮิศคียาห์ลงมือทำอย่างฉลาดสุขุม
12. ฮิศคียาห์และคนที่อยู่กับเขาทำอะไรบ้างเพื่อปกป้องประชาชนของพระเจ้า?
12 เมื่อเราคิดว่าเราเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พระยะโฮวาอยู่พร้อมเสมอที่จะช่วยเรา. แต่พระองค์คาดหมายให้เราพยายามแก้ปัญหานั้นเท่าที่เราจะทำได้. ฮิศคียาห์ทำสิ่งที่เขาทำได้. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าเขาปรึกษากับ “เจ้านายและทหารเข้มแข็ง” และตกลงกันว่า “จะปิดบ่อน้ำที่อยู่นอกเมือง.” ฮิศคียาห์ยังได้ “จัดการแข็งแรง, กำแพงที่หักรื้อเสียแล้วก็สร้างขึ้นใหม่, และก่อหอคอยไว้ข้างบน, กับสร้างกำแพงนอกอีกชั้นหนึ่ง.” ยิ่งกว่านั้น เขา “ได้กระทำเครื่องอาวุธโยนกับโล่ขึ้นเป็นอันมาก.” (2 โคร. 32:3-5) ในช่วงเวลานั้น พระยะโฮวาใช้ฮิศคียาห์ เจ้านาย และผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ให้ปกป้องและบำรุงเลี้ยงประชาชนของพระองค์.
13. สิ่งสำคัญที่สุดที่ฮิศคียาห์ทำเพื่อเตรียมประชาชนไว้ให้พร้อมรับการโจมตีจากพวกอัสซีเรียคืออะไร? คำพูดของฮิศคียาห์ช่วยประชาชนอย่างไร?
13 ถัดจากนั้น ฮิศคียาห์ได้ทำสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการปกป้องแหล่งน้ำหรือการเสริมกำแพงเมืองให้แข็งแรง. เนื่องจากเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี เขาจึงเรียกประชาชนให้มารวมตัวกันและหนุนใจพวกเขาด้วยคำพูดดังต่อไปนี้: “อย่าวิตกใจกลัวเพราะกษัตริย์อาซูเรีย . . . ด้วยผู้ที่อยู่ฝ่ายเราก็ใหญ่กว่าที่อยู่ฝ่ายเขา. ฝ่ายเขามีแขนกับเนื้อ แต่ฝ่ายเรามีพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเราทรงสถิตอยู่, เพื่อจะรักษาในการศึกสงครามของเรา.” ฮิศคียาห์ช่วยให้ประชาชนระลึกว่าพระยะโฮวาจะต่อสู้เพื่อพวกเขา. นี่ช่วยพวกเขาให้มีความเชื่อในพระเจ้าและกล้าหาญ. ฮิศคียาห์กับเหล่าเจ้านายและนักรบที่เข้มแข็ง รวมทั้งผู้พยากรณ์มีคาและยะซายาห์ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นผู้เลี้ยงแกะหรือผู้บำรุงเลี้ยงที่ดี เช่นเดียวกับที่พระยะโฮวาได้สัญญาไว้โดยทางผู้พยากรณ์ของพระองค์.—2 โคร. 32:7, 8; อ่านมีคา 5:5, 6
14. รับซาเคพูดอะไรบ้าง? ชาวยิวเลือกทำอย่างไร?
14 กษัตริย์อัสซีเรียและกองทัพของเขาตั้งค่ายที่เมืองลาคิช ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเลม. จากที่นั่น เขาส่งทูตสามคนไปที่กรุงเยรูซาเลม และบอกให้ชาวเยรูซาเลมยอมแพ้แต่โดยดี. ทูตคนสำคัญ ซึ่งมีชื่อตำแหน่งว่ารับซาเค พูดกับชาวเยรูซาเลมเป็นภาษาฮีบรู. ทีแรก เขาพยายามเกลี้ยกล่อมว่าอย่าฟังฮิศคียาห์ แต่ให้เชื่อฟังชาวอัสซีเรีย. จากนั้น เขาก็โกหกโดยสัญญาว่าจะพาชาวเยรูซาเลมไปอยู่ในอีกดินแดนหนึ่งและมีชีวิตอย่างสุขสบาย. (อ่าน 2 กษัตริย์ 18:31, 32 ) รับซาเคยังบอกด้วยว่าพระของชาติอื่น ๆ ต่างก็ไม่สามารถปกป้องผู้นมัสการของตน และพระยะโฮวาก็จะไม่สามารถปกป้องชาวยิวได้เหมือนกัน. ชาวยิวเลือกทำอย่างฉลาดสุขุมโดยไม่สนใจคำโกหกและคำกล่าวอ้างผิด ๆ ของรับซาเค. ในทุกวันนี้ ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาก็มักจะทำอย่างเดียวกันนี้.—อ่าน 2 กษัตริย์ 18:35, 36
15. ชาวเยรูซาเลมต้องทำอะไร? พระยะโฮวาช่วยกรุงเยรูซาเลมให้รอดอย่างไร?
15 แน่นอน ฮิศคียาห์กังวลในเรื่องนี้. แต่แทนที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่น เขาขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาโดยผ่านทางยะซายาห์. ผู้พยากรณ์ยะซายาห์บอกฮิศคียาห์ว่า “พระยะโฮวาได้ตรัสถึงกษัตริย์อะซูริยะดังนี้ว่า, ‘เขาจะไม่เข้ามาในกรุงนี้, หรือยิงธนูสักลูกหนึ่งเลย.’” (2 กษัต. 19:32) สิ่งที่ชาวเยรูซาเลมต้องทำก็คือกล้าหาญและไม่ยอมแพ้. พระยะโฮวาจะต่อสู้เพื่อพวกเขา. และพระองค์ได้ทำอย่างนั้นจริง ๆ! “อยู่มาในคืนนั้นทูตของพระเจ้าได้ออกไป และได้ประหารคนในค่ายแห่งคนอัสซีเรียเสียหนึ่งแสนแปดหมื่นห้าพันคน.” (2 กษัต. 19:35, ฉบับ 1971 ) ชาวเยรูซาเลมรอดชีวิต ไม่ใช่เพราะสิ่งที่ฮิศคียาห์ได้ทำเพื่อปกป้องกรุงนี้ แต่เพราะฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา.
บทเรียนสำหรับเราในปัจจุบัน
16. คนเหล่านี้หมายถึงใครในปัจจุบัน (ก) ชาวเยรูซาเลม (ข) “ชาวอัสซีเรีย” (ค) ผู้เลี้ยงแกะเจ็ดคนและเจ้านายแปดคน?
16 คำพยากรณ์เกี่ยวกับผู้เลี้ยงแกะเจ็ดคนและเจ้านายแปดคนจะสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญที่สุดในสมัยของเรา. ในอดีต ชาวเยรูซาเลมถูกพวกอัสซีเรียโจมตี. ในไม่ช้า ประชาชนของพระยะโฮวาจะถูก “ชาวอัสซีเรีย” ซึ่งหมายถึงศัตรูโจมตีอีกครั้งหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์ที่จะกวาดล้างทำลายพวกเขา. พระคัมภีร์กล่าวถึงการโจมตีนั้นเช่นเดียวกับการโจมตีของ “โกกแห่งแผ่นดินมาโกก” การโจมตีของ “กษัตริย์ทิศเหนือ” และการโจมตีของ “กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก.” (ยเอศ. 38:2, 10-13, ฉบับ 1971; ดานิ. 11:40, 44, 45, ล.ม.; วิ. 17:14; 19:19) การโจมตีเหล่านี้เป็นคนละเหตุการณ์ไหม? เราไม่รู้แน่ชัดในเรื่องนี้. คัมภีร์ไบเบิลอาจใช้หลายชื่อเพื่อพรรณนาการโจมตีที่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน. พระยะโฮวาจะใช้กองทัพอะไรในการรบกับศัตรูผู้โหดร้ายที่เรียกว่า “ชาวอัสซีเรีย”? พระองค์จะใช้กองทัพที่ไม่ใช่กองทัพตามปกติ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่ากองทัพนี้ประกอบด้วย “ผู้เลี้ยงแกะเจ็ดคนและเจ้านายแปดคน.” (มีคา 5:5, ฉบับ 1971 ) คนเหล่านี้คือใคร? พวกเขาคือผู้ปกครองในประชาคมต่าง ๆ. (1 เป. 5:2) ปัจจุบัน พระยะโฮวากำลังใช้เหล่าผู้ปกครองที่ซื่อสัตย์จำนวนมากให้บำรุงเลี้ยงและเสริมกำลังประชาชนของพระองค์ให้พร้อมรับมือการโจมตีจาก “ชาวอัสซีเรีย.”b คำพยากรณ์ของมีคาบอกเราว่าพวกเขาจะ “ปกครองแผ่นดินอัสซีเรียด้วยดาบ.” (มีคา 5:6, ฉบับ 1971 ) อาวุธอย่างหนึ่งที่พวกเขาใช้พิชิตศัตรูได้แก่ “ดาบแห่งพระวิญญาณซึ่งก็คือพระคำของพระเจ้า.”—2 โค. 10:4; เอเฟ. 6:17
17. ผู้ปกครองอาจได้ข้อสรุปสี่ประการอะไรจากเรื่องที่เราได้พิจารณากันไป?
17 ผู้ปกครองทั้งหลาย คุณสามารถได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์จากเรื่องที่เราเพิ่งพิจารณากันไป ดังนี้: (1) สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะทำได้เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมจะรับมือการโจมตีของ “ชาวอัสซีเรีย” ก็คือการเสริมความเชื่อของคุณในพระเจ้าและช่วยพี่น้องให้ทำอย่างเดียวกัน. (2) เมื่อ “ชาวอัสซีเรีย” โจมตี คุณต้องเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่าพระยะโฮวาจะช่วยให้เรารอด. (3) เมื่อถึงตอนนั้น การชี้นำที่คุณได้รับจากองค์การของพระยะโฮวาอาจดูเหมือนว่าแปลกหรือต่างไปจากปกติ. แต่เราทุกคนต้องพร้อมจะเชื่อฟังคำสั่งใด ๆ ก็ตามที่เราอาจได้รับ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เพราะการเชื่อฟังคำสั่งจะช่วยให้เรารอดชีวิต. (4) ถ้ามีใครในประชาคมที่ไว้วางใจการศึกษาของโลก ทรัพย์สมบัติ หรือองค์การของมนุษย์ เขาต้องรีบเปลี่ยนความคิดเสียแต่บัดนี้. คุณซึ่งเป็นผู้ปกครองต้องพร้อมที่จะช่วยใครก็ตามที่อาจไม่ได้ไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่.
18. การจำเรื่องราวที่เราได้พิจารณานี้จะเป็นประโยชน์ต่อเราอย่างไรในอนาคต?
18 ในไม่ช้าจะถึงเวลาที่ดูเหมือนว่าเราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหมือนกับชาวเยรูซาเลมในสมัยของฮิศคียาห์. เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น คำพูดของฮิศคียาห์จะช่วยเรารักษาความเชื่อให้มั่นคง. ขอเราอย่าลืมว่าศัตรูของเรา “มีแขนกับเนื้อ; แต่ฝ่ายเรามีพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเราทรงสถิตอยู่, เพื่อจะรักษาในการศึกสงครามของเรา”!—2 โคร. 32:8
a คำภาษาฮีบรูที่แปลไว้ว่า “หญิงพรหมจารี” หรือที่บางฉบับแปลว่า “หญิงสาว” ที่ยะซายา 7:14 อาจหมายถึงหญิงที่สมรสแล้วหรือหญิงพรหมจารีก็ได้. ดังนั้น คำนี้อาจใช้ได้กับทั้งภรรยาของยะซายาห์และกับมาเรียซึ่งเป็นหญิงพรหมจารี.
b เลขเจ็ดในพระคัมภีร์ใช้หมายถึงความครบถ้วน. เลขแปด (จำนวนที่มากกว่าเจ็ดไปหนึ่งขั้น) อาจใช้หมายถึงความอุดมบริบูรณ์.