สง่าราศีของพระยะโฮวาส่องลงบนไพร่พลของพระองค์
“พระยะโฮวาจะเป็นแสงสว่างอันไม่รู้ดับให้เจ้า.”—ยะซายา 60:20.
1. พระยะโฮวาทรงอวยพรไพร่พลที่ซื่อสัตย์ของพระองค์อย่างไร?
“พระยะโฮวาทรงพอพระทัยด้วยไพร่พลของพระองค์: พระองค์จะตกแต่งผู้ถ่อมใจด้วยความรอดให้เป็นเครื่องประดับอันงดงาม.” (บทเพลงสรรเสริญ 149:4) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวไว้อย่างนั้นนานมาแล้ว และประวัติศาสตร์ได้ยืนยันว่าคำกล่าวของท่านเป็นความจริง. เมื่อไพร่พลของพระยะโฮวาซื่อสัตย์ พระองค์ทรงดูแลพวกเขา, ทำให้พวกเขาเกิดผล, และปกป้องพวกเขา. ในสมัยโบราณ พระองค์ประทานชัยชนะเหนือศัตรูแก่พวกเขา. ในทุกวันนี้ พระองค์ทรงช่วยพวกเขาให้แข็งแรงฝ่ายวิญญาณและให้ความมั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับความรอดโดยอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู. (โรม 5:9) พระองค์ทรงทำอย่างนี้เพราะพวกเขางดงามในสายพระเนตรพระองค์.
2. แม้ถูกต่อต้าน ไพร่พลของพระเจ้ามั่นใจในเรื่องใด?
2 แน่นอน ในโลกที่เต็มไปด้วยความมืด คนที่ “ดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า” จะพบกับการต่อต้าน. (2 ติโมเธียว 3:12, ล.ม.) ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงสังเกตดูพวกผู้ต่อต้าน และพระองค์ทรงเตือนพวกเขาดังนี้: “ชาติใดและอาณาจักรใดที่ไม่ปรนนิบัติเจ้าจะต้องพินาศ, ประเทศเหล่านั้นจะถูกทำให้ร้างจริง ๆ.” (ยะซายา 60:12) ในทุกวันนี้ การต่อต้านมีหลายรูปแบบ. ในบางดินแดน พวกผู้ต่อต้านพยายามจำกัดหรือห้ามการนมัสการที่คริสเตียนผู้จริงใจถวายแด่พระยะโฮวา. ในที่อื่น ๆ พวกคลั่งศาสนาทำร้ายร่างกายผู้นมัสการพระยะโฮวาและเผาทรัพย์สินของพวกเขา. แต่พึงจำไว้ว่า พระยะโฮวาได้ตั้งพระทัยไว้มั่นคงแล้วว่าผลของการต่อต้านใด ๆ ที่ขัดขวางความสำเร็จแห่งพระทัยประสงค์ของพระองค์จะเป็นอย่างไร. พวกผู้ต่อต้านจะล้มเหลว. คนที่ตั้งตัวต่อสู้ซีโอนซึ่งมีตัวแทนคือบุตรที่อยู่บนแผ่นดินโลกไม่มีทางประสบความสำเร็จ. นั่นเป็นคำรับรองที่ทำให้อบอุ่นใจจากพระยะโฮวาพระเจ้าองค์ยิ่งใหญ่มิใช่หรือ?
ได้รับพระพรเกินความคาดหมาย
3. มีการให้ภาพความงามและการเกิดผลของผู้นมัสการพระยะโฮวาอย่างไร?
3 ข้อเท็จจริงก็คือ ในช่วงสมัยสุดท้ายแห่งระบบนี้ พระยะโฮวาได้ทรงอวยพรไพร่พลของพระองค์เกินกว่าที่พวกเขาคาดหมายไว้เสียอีก. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ได้ทรงตกแต่งสถานนมัสการและผู้ถือพระนามของพระองค์ที่นมัสการพระองค์ที่นั่นให้งดงามยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ. ตามคำพยากรณ์ของยะซายา พระองค์ตรัสแก่ซีโอนดังนี้: “ความงดงามแห่งภูเขาละบาโนน, รวมกับต้นสนหางสิงห์และต้นสนไพน์และต้นสนบ๊อกส์, จะมาตกแต่งสถานที่บริสุทธิ์ของเราให้มีสง่าราศี, เพื่อว่าเราจะทำให้ม้าวางเท้าของเรามีเกียรติ.” (ยะซายา 60:13) ภูเขาซึ่งปกคลุมด้วยป่าไม้หนาแน่นเป็นภาพที่น่าประทับใจ. ดังนั้น ต้นไม้ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมซึ่งแสดงถึงความงามและการเกิดผลของผู้นมัสการพระยะโฮวา.—ยะซายา 41:19; 55:13.
4. “สถานที่บริสุทธิ์” และ “ม้าวางเท้าของ [พระยะโฮวา]” ได้แก่อะไร และส่วนดังกล่าวนี้ได้รับการตกแต่งให้งดงามอย่างไร?
4 “สถานที่บริสุทธิ์” และ “ม้าวางเท้าของ [พระยะโฮวา]” ที่กล่าวในยะซายา 60:13 ได้แก่อะไร? คำดังกล่าวหมายถึงลานพระวิหารฝ่ายวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา ซึ่งได้แก่การจัดเตรียมเพื่อเข้าเฝ้าพระยะโฮวาในการนมัสการโดยทางพระเยซูคริสต์. (เฮ็บราย 8:1-5; 9:2-10, 23) พระยะโฮวาทรงแจ้งพระประสงค์ที่จะทำให้วิหารฝ่ายวิญญาณนั้นมีสง่าราศีโดยทรงรวบรวมประชาชนออกจากชาติทั้งปวงให้มาและนมัสการที่นั่น. (ฮาฆี 2:7) ก่อนหน้านั้น ยะซายาเองได้เห็นฝูงชนจากชาติทั้งปวงหลั่งไหลสู่ภูเขาแห่งการนมัสการอันสูงเด่นของพระยะโฮวา. (ยะซายา 2:1-4) หลายร้อยปีต่อมา อัครสาวกโยฮันเห็น “ชนฝูงใหญ่ ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้ จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง” ในนิมิต. คนเหล่านี้ยืนอยู่ “ต่อหน้าราชบัลลังก์ของพระเจ้า . . . ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์.” (วิวรณ์ 7:9, 15, ล.ม.) ขณะที่คำพยากรณ์เหล่านี้สำเร็จในสมัยของเรา เราเห็นด้วยตาตัวเองว่าราชนิเวศน์ของพระยะโฮวาได้รับการตกแต่งให้งดงาม.
5. บุตรของซีโอนได้รับการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอย่างมากมายเช่นไร?
5 ทั้งหมดนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอย่างมากมายจริง ๆ สำหรับซีโอน! พระยะโฮวาตรัสว่า “แทนที่เจ้าจะถูกทอดทิ้งและเกลียดชัง, ไม่มีผู้ใดเดินผ่านเจ้าไป, เราก็จะทำให้เจ้าหรูหรา [“เป็นสิ่งอันน่าภูมิใจ,” ล.ม.] อยู่เป็นเนืองนิตย์, ปีติยินดีอยู่ทุกชั่วอายุคน.” (ยะซายา 60:15) เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใกล้สิ้นสุดลง “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า” ประสบกับช่วงแห่งความร้างเปล่าจริง ๆ. (ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.) อิสราเอลของพระเจ้ามีความรู้สึกว่า “ถูกทอดทิ้ง” เพราะบุตรซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลกไม่ได้สังเกตเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำหรับพวกเขา. ต่อมา ในปี 1919 พระยะโฮวาทรงฟื้นฟูผู้รับใช้ที่ได้รับการเจิมของพระองค์ และนับแต่นั้นมาพระองค์ทรงอวยพรพวกเขาให้เจริญรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณอย่างน่าอัศจรรย์. ยิ่งกว่านั้น คำสัญญาในข้อนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมิใช่หรือ? พระยะโฮวาจะทรงถือว่าซีโอนเป็น “สิ่งอันน่าภูมิใจ.” ถูกแล้ว บุตรของซีโอนและพระยะโฮวาเองจะภูมิใจในซีโอน. ซีโอนจะเป็นความ “ปีติยินดี” หรือเป็นเหตุให้เกิดความยินดีอย่างเหลือล้น. และจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพียงช่วงสั้น ๆ. สภาพอันเป็นที่ชอบของซีโอน ซึ่งมีบุตรทางแผ่นดินโลกเป็นตัวแทน จะคงอยู่ “ทุกชั่วอายุคน” ไม่มีที่สิ้นสุด.
6. คริสเตียนแท้ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ จากชาติทั้งหลายอย่างไร?
6 ตอนนี้ ขอให้ฟังคำสัญญาของพระเจ้าอีกข้อหนึ่ง. พระยะโฮวาตรัสกับซีโอนว่า “เจ้าจะดูดน้ำนมของประชาชาติ, ได้ดูดแต่อกของกษัตริย์; แล้วเจ้าจะได้รู้ว่าเรายะโฮวา, คือผู้ช่วยให้รอดของเจ้า, คือผู้ไถ่ของเจ้า, เป็นผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งของยาโคบ.” (ยะซายา 60:16) ซีโอนได้ “ดูดน้ำนมของประชาชาติ” และดูดจาก “อกของกษัตริย์” อย่างไร? ก็โดยที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” สหายของพวกเขาได้ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อันมีค่าจากชาติทั้งหลายเพื่อทำให้การนมัสการบริสุทธิ์ก้าวรุดหน้าไป. (โยฮัน 10:16) เงินที่บริจาคด้วยใจสมัครช่วยให้งานประกาศและงานสอนใหญ่โตระดับนานาชาติเป็นไปได้. การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างฉลาดสุขุมช่วยให้การพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลในหลายร้อยภาษาทำได้ง่ายขึ้น. ปัจจุบัน ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลไปถึงผู้คนมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์. พลเมืองของชาติต่าง ๆ มากมายกำลังเรียนรู้ว่า พระยะโฮวาผู้ทรงไถ่ผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระองค์ให้หลุดพ้นการเป็นเชลยฝ่ายวิญญาณทรงเป็นผู้ช่วยให้รอดที่แท้จริง.
ความก้าวหน้าขององค์การ
7. บุตรของซีโอนมีความก้าวหน้าอะไรที่โดดเด่น?
7 พระยะโฮวาทรงตกแต่งไพร่พลของพระองค์ให้งดงามในอีกทางหนึ่งด้วย. พระองค์ทรงอวยพรพวกเขาให้มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างมีระบบระเบียบ. เราอ่านที่ยะซายา 60:17 ดังนี้: “เราจะนำเอาทองคำมาให้แทนทองเหลือง, เราจะนำเงินมาให้แทนเหล็ก, ทองเหลืองแทนไม้, และเหล็กแทนหิน; และเราจะเอาสันติสุขเป็นรัฐบาลของเจ้า, และความชอบธรรมเป็นผู้ครอบครองของเจ้า.” การเอาทองคำมาแทนที่ทองเหลืองเป็นการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น และการเปลี่ยนเป็นวัสดุอื่น ๆ ตามที่กล่าวถึงในที่นี้ก็เช่นเดียวกัน. สอดคล้องกับข้อนี้ อิสราเอลของพระเจ้าได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานขององค์การมาโดยตลอดในสมัยสุดท้ายนี้. ขอให้พิจารณาสักสองสามตัวอย่าง.
8-10. จงพรรณนาว่ามีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้างในองค์การนับตั้งแต่ปี 1919 เป็นต้นมา.
8 ก่อนหน้าปี 1919 ประชาคมต่าง ๆ แห่งไพร่พลของพระเจ้าบริหารงานโดยผู้ปกครองและมนตรีรับใช้ ซึ่งทั้งหมดได้รับเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตยจากสมาชิกของประชาคม. เริ่มในปีนั้นเอง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” แต่งตั้งผู้อำนวยการรับใช้ในแต่ละประชาคมเพื่อทำหน้าที่ดูแลกิจกรรมการรับใช้ในเขตประกาศ. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม ในหลายประชาคมการจัดเตรียมดังกล่าวไม่ได้ผลมากนัก เพราะผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งบางคนไม่ได้สนับสนุนงานเผยแพร่กิตติคุณอย่างเต็มที่. ดังนั้น ในปี 1932 ประชาคมต่าง ๆ ได้รับคำสั่งให้เลิกการเลือกตั้งผู้ปกครองและมนตรีรับใช้. แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาต้องเลือกตั้งผู้ชายที่จะรับใช้ในคณะกรรมการรับใช้เพื่อทำงานด้วยกันกับผู้อำนวยการรับใช้. นั่นเป็นเหมือนกับการเอา “ทองเหลือง” มาแทน “ไม้” ซึ่งนับเป็นการปรับปรุงขนานใหญ่ครั้งหนึ่ง!
9 ในปี 1938 ประชาคมต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับรองมติว่าจะยอมรับการจัดเตรียมที่ได้ปรับปรุงใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่สอดคล้องกับแบบอย่างที่มีวางไว้แล้วในพระคัมภีร์มากกว่า. ได้มีการมอบหมายการบริหารงานประชาคมแก่ผู้รับใช้ประชาคมและผู้รับใช้คนอื่น ๆ โดยที่ทั้งหมดได้รับแต่งตั้งภายใต้การดูแลของทาสสัตย์ซื่อและสุขุม. ไม่มีการเลือกตั้งอีกต่อไป! โดยวิธีนี้ การแต่งตั้งบุคลากรในประชาคมจึงทำกันในวิธีตามระบอบของพระเจ้า. นั่นเป็นเหมือนกับการเอา “เหล็ก” มาแทน “หิน” หรือเอา “ทองคำ” มาแทน “ทองเหลือง.”
10 นับแต่นั้นมา มีความก้าวหน้ามาเรื่อย ๆ. ตัวอย่างเช่น ในปี 1972 เห็นได้ชัดว่าการดูแลประชาคมโดยคณะผู้ปกครองซึ่งได้รับแต่งตั้งตามระบอบของพระเจ้า โดยที่ไม่มีผู้ปกครองคนหนึ่งคนใดใช้อำนาจเหนือผู้ปกครองคนอื่นในคณะ เป็นวิธีที่ใกล้เคียงกับการดูแลประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรกมากยิ่งขึ้น. นอกจากนั้น เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ได้มีความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง. มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องตำแหน่งผู้อำนวยการของนิติบุคคลบางคณะ ซึ่งทำให้คณะกรรมการปกครองสามารถมุ่งความสนใจเต็มที่ยิ่งขึ้นในเรื่องผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณของไพร่พลพระเจ้า ไม่ต้องพะวักพะวนกับเรื่องทางกฎหมายไม่เว้นแต่ละวัน.
11. ใครที่คอยหนุนหลังให้มีการปรับเปลี่ยนในองค์การของไพร่พลพระยะโฮวา และการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ก่อให้เกิดผลเช่นไร?
11 ใครที่คอยหนุนหลังให้มีการปรับเปลี่ยนซึ่งทำให้ก้าวหน้าดังกล่าว? พระยะโฮวาพระเจ้านั่นเอง. พระองค์เป็นผู้ตรัสว่า “เรา จะนำเอาทองคำมาให้.” และพระองค์ตรัสต่อไปอีกว่า “เรา จะเอาสันติสุขเป็นรัฐบาลของเจ้า, และความชอบธรรมเป็นผู้ครอบครองของเจ้า.” ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงรับผิดชอบในการดูแลไพร่พลของพระองค์. ความก้าวหน้าขององค์การตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่พระยะโฮวากำลังตกแต่งไพร่พลของพระองค์ให้งดงาม. และผลก็คือพยานพระยะโฮวาได้รับพระพรในหลาย ๆ ทาง. ที่ยะซายา 60:18 เราอ่านว่า “จะไม่มีข่าวการร้ายได้ยินในบ้านเมืองของเจ้าอีกต่อไป, และจะไม่มีการสลักหักพังและชำรุดทรุดโทรมภายในอาณาเขตของเจ้า, และเจ้าจะเรียกกำแพงของเจ้าว่าความรอด, และประตูเมืองของเจ้าว่าความสรรเสริญ.” ช่างเป็นถ้อยคำที่งดงามจริง ๆ! แต่ถ้อยคำเหล่านี้ได้สำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
12. สันติสุขกลายมาเป็นสิ่งที่โดดเด่นในหมู่คริสเตียนแท้โดยวิธีใด?
12 คริสเตียนแท้คอยติดตามพระบัญชาและการชี้นำจากพระยะโฮวาด้วยใจจดจ่อ และยังผลดังที่ยะซายาบอกไว้ล่วงหน้าว่า “บุตรทั้งสิ้นของเจ้าจะเป็นบุคคลที่ได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา และสันติสุขแห่งเหล่าบุตรของเจ้าจะมีบริบูรณ์.” (ยะซายา 54:13, ล.ม.) นอกจากนั้นแล้ว พระวิญญาณของพระยะโฮวาดำเนินกิจเหนือไพร่พลของพระองค์ และส่วนหนึ่งของผลแห่งพระวิญญาณก็คือสันติสุข. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) สันติสุขท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวาอันเป็นผลที่เกิดจากพระวิญญาณทำให้พวกเขาเป็นเหมือนโอเอซิสที่ให้ความสดชื่นในโลกที่รุนแรง. สภาพอันเปี่ยมด้วยสันติสุขของพวกเขา ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรักที่คริสเตียนแท้มีต่อกัน เป็นการลองลิ้มรสชาติของการมีชีวิตอยู่ในโลกใหม่. (โยฮัน 15:17; โกโลซาย 3:14) แน่ล่ะ เราแต่ละคนรู้สึกตื่นเต้นจริง ๆ ที่ได้รับและมีส่วนส่งเสริมสันติสุขนั้น ซึ่งนำคำสรรเสริญและเกียรติยศมาสู่พระเจ้าของเราและเป็นองค์ประกอบสำคัญของอุทยานฝ่ายวิญญาณ!—ยะซายา 11:9.
ความสว่างของพระยะโฮวาจะส่องฉายต่อ ๆ ไป
13. เหตุใดเราจึงแน่ใจได้ว่าความสว่างของพระยะโฮวาจะไม่หยุดส่องลงบนไพร่พลของพระองค์?
13 ความสว่างของพระยะโฮวาจะยังคงฉายลงบนไพร่พลของพระองค์ไหม? ใช่แล้ว! ที่ยะซายา 60:19, 20 เราอ่านว่า “จะไม่ต้องมีดวงอาทิตย์เป็นดวงสว่างของเจ้าในเวลากลางวันอีกต่อไป, และไม่ต้องมีดวงจันทร์เป็นดวงสว่างในเวลากลางคืนให้เจ้าอีกต่อไป, แต่พระยะโฮวาจะเป็นแสงสว่างอันไม่รู้ดับให้เจ้า, และพระเจ้าของเจ้าจะเป็นสง่าราศีของเจ้า. ดวงอาทิตย์ของเจ้าจะไม่ตกอีกต่อไป, และดวงจันทร์ของเจ้าจะไม่มีข้างแรม, เพราะว่าพระยะโฮวาจะเป็นแสงสว่างอันไม่รู้ดับให้เจ้า, และวันแห่งความโศกเศร้าของเจ้าจะสิ้นสุดลง.” เมื่อ “ความโศกเศร้า” ของชนผู้ตกเป็นเชลยฝ่ายวิญญาณสิ้นสุดลงในปี 1919 ความสว่างของพระยะโฮวาก็เริ่มฉายลงบนพวกเขา. กว่า 80 ปีต่อมา พวกเขายังคงได้รับความโปรดปรานจากพระยะโฮวาในขณะที่ความสว่างของพระองค์ยังคงส่องฉายต่อไป. และความสว่างนี้จะไม่รู้ดับ. โดยทรงคำนึงถึงผู้นมัสการพระองค์ พระเจ้าของเราจะไม่ “ตก” เหมือนดวงอาทิตย์หรือเป็นเหมือนกับดวงจันทร์ “ข้างแรม.” แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์จะฉายความสว่างลงบนพวกเขาตลอดไป. ช่างเป็นคำรับรองที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ สำหรับพวกเราซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้ายของโลกอันมืดมนนี้!
14, 15. (ก) ไพร่พลของพระเจ้าทั้งหมด “ชอบธรรม” โดยวิธีใด? (ข) เกี่ยวข้องกับยะซายา 60:21 แกะอื่นตั้งตาคอยความสำเร็จครั้งสำคัญของอะไร?
14 ในตอนนี้ ขอให้ฟังคำสัญญาอีกข้อหนึ่งซึ่งพระยะโฮวาได้ตรัสเกี่ยวกับตัวแทนทางแผ่นดินโลกของซีโอน คือชาติอิสราเอลของพระเจ้า. ยะซายา 60:21 อ่านดังนี้: “พลเมืองทั้งหมดของเจ้าจะเป็นคนชอบธรรม, และจะเป็นเจ้าของที่ดินอยู่เนืองนิตย์, เหมือนดังหน่อที่เราได้ปลูกด้วยมือของเรา, ซึ่งเราจะใช้เป็นที่ถวายเกียรติยศแก่ตัวเราเอง.” ในปี 1919 เมื่อคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาทำการงานอีกครั้ง พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่พิเศษกว่ากลุ่มอื่น. ในโลกที่ผิดบาปอย่างชัดแจ้ง พวกเขาได้รับ “การประกาศว่าชอบธรรม” โดยอาศัยพื้นฐานความเชื่อที่ไม่สั่นคลอนในเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์เยซู. (โรม 3:24; 5:1, ล.ม.) จากนั้น เช่นเดียวกับชาวอิสราเอลซึ่งได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นเชลยในบาบิโลน พวกเขาเข้าถือครอง “แผ่นดิน” ฝ่ายวิญญาณ หรือขอบข่ายของกิจกรรม ที่ซึ่งพวกเขาจะเพลิดเพลินกับอุทยานฝ่ายวิญญาณ. (ยะซายา 66:8) ความงดงามราวกับอุทยานของที่ดินดังกล่าวนี้จะไม่มีวันจืดจาง เพราะไม่เหมือนกับอิสราเอลโบราณ อิสราเอลของพระเจ้าจะพิสูจน์ตัวว่าเป็นชาติที่ซื่อสัตย์. ความเชื่อ, ความอดทน, และความกระตือรือร้นของพวกเขาจะนำพระเกียรติมาสู่พระนามพระเจ้าตลอดไป.
15 สมาชิกทั้งหมดของชาติฝ่ายวิญญาณนี้ได้เข้าสู่สัญญาไมตรีใหม่. ทุกคนมีกฎหมายของพระยะโฮวาจารึกไว้บนหัวใจของตน และโดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูเป็นพื้นฐาน พระยะโฮวาได้ทรงให้อภัยบาปของพวกเขา. (ยิระมะยา 31:31-34) พระองค์ทรงประกาศว่าพวกเขาชอบธรรมในฐานะ “บุตร” และทรงติดต่อสัมพันธ์กับพวกเขาราวกับว่าพวกเขาสมบูรณ์. (โรม 8:15, 16, 29, 30) แกะอื่นซึ่งเป็นสหายของพวกเขาได้รับอภัยบาปด้วยเช่นกันโดยอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู และพวกเขาได้รับการประกาศว่าชอบธรรมในฐานะมิตรของพระเจ้าโดยทางความเชื่อเช่นเดียวกับอับราฮาม. “พวกเขาได้ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก.” และแกะอื่นเหล่านี้ตั้งตาคอยพระพรที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง. หลังจากที่รอดชีวิตผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” หรือหลังจากได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย พวกเขาจะเห็นความสำเร็จเป็นจริงตามตัวอักษรของถ้อยคำในยะซายา 60:21 เมื่อแผ่นดินโลกทั้งสิ้นกลายเป็นอุทยาน. (วิวรณ์ 7:14, ล.ม.; โรม 4:1-3) ในตอนนั้น “คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:11, 29.
เพิ่มทวีต่อไป
16. พระยะโฮวาทรงให้คำสัญญาที่น่าทึ่งอะไร และคำสัญญานี้สำเร็จเป็นจริงแล้วอย่างไร?
16 ในข้อสุดท้ายของยะซายาบท 60 เราอ่านพบคำสัญญาข้อสุดท้ายที่พระยะโฮวาได้ทรงให้ไว้ในบทนี้. พระองค์ตรัสแก่ซีโอนว่า “คนจิ๋วที่สุดจะกลายไปเป็นชนชาติหนึ่ง, และคนเล็กที่สุดจะกลายเป็นชนชาติใหญ่ชาติหนึ่ง, เรายะโฮวาจะรีบเร่งกระทำการนี้ในเวลาอันสมควร.” (ยะซายา 60:22) ในสมัยของเรา พระยะโฮวาทรงทำตามคำตรัสของพระองค์. เมื่อคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาทำกิจการงานอีกในปี 1919 พวกเขามีจำนวนเพียงเล็กน้อย—เป็น “คนจิ๋วที่สุด” อย่างแท้จริง. จำนวนของพวกเขาเพิ่มขึ้นเมื่อได้มีการนำชนอิสราเอลฝ่ายวิญญาณเข้ามา. และต่อมาแกะอื่นก็เริ่มหลั่งไหลมาหาพวกเขามากขึ้นเรื่อย ๆ. สภาพอันสงบสุขของไพร่พลพระเจ้า คืออุทยานฝ่ายวิญญาณซึ่งมีอยู่ใน “แผ่นดิน” ของพวกเขา ได้ดึงดูดชนผู้มีหัวใจสุจริตมากมายจน “คนเล็กที่สุด” ได้กลายเป็น “ชนชาติใหญ่ชาติหนึ่ง” จริง ๆ. ปัจจุบัน “ชนชาติ” นี้ คือชาติอิสราเอลของพระเจ้าและ “คนต่างชาติ” ที่ได้อุทิศตัวกว่าหกล้านคน มีประชากรมากกว่ารัฐเอกราชหลายรัฐในโลก. (ยะซายา 60:10) พลเมืองทั้งหมดของชาตินี้มีส่วนร่วมในการสะท้อนความสว่างของพระยะโฮวา และการทำเช่นนั้นทำให้พวกเขาทุกคนงดงามในสายพระเนตรของพระองค์.
17. การพิจารณายะซายาบท 60 ก่อผลกระทบอย่างไรต่อคุณ?
17 เป็นเรื่องที่เสริมความเชื่อจริง ๆ ที่ได้พิจารณาจุดเด่นในยะซายาบท 60. เป็นเรื่องให้กำลังใจที่เห็นว่าพระยะโฮวาทรงทราบล่วงหน้านานมาแล้วว่าไพร่พลของพระองค์จะตกเป็นเชลยฝ่ายวิญญาณและหลังจากนั้นจะได้รับการกอบกู้สู่อิสรภาพ. เป็นเรื่องน่าทึ่งที่พระยะโฮวาทรงเห็นล่วงหน้านานมาแล้วว่าจะมีการเพิ่มทวีผู้นมัสการแท้เป็นจำนวนมากในสมัยของเรา. นอกจากนั้น น่าชื่นใจสักเพียงไรที่จะจำไว้เสมอว่าพระยะโฮวาจะไม่ทรงทิ้งเรา! คำรับรองที่ว่าประตูของ “กรุงซีโอน” จะเปิดไว้เสมอเพื่อต้อนรับคนเหล่านั้นที่ “มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์” ช่างเปี่ยมด้วยความรักจริง ๆ! (กิจการ 13:48, ล.ม.) พระยะโฮวาจะยังคงส่องสว่างลงบนไพร่พลของพระองค์ต่อไป. ซีโอนจะเป็นสิ่งอันน่าภูมิใจต่อไป ขณะที่บุตรของซีโอนฉายความสว่างของตนเจิดจ้ายิ่งขึ้นเรื่อย ๆ. (มัดธาย 5:16) แน่นอน เราตั้งใจแน่วแน่ยิ่งขึ้นกว่าเดิมที่จะติดสนิทอยู่กับชาติอิสราเอลของพระเจ้าและทะนุถนอมสิทธิพิเศษของเราในการสะท้อนความสว่างของพระยะโฮวา!
คุณอธิบายได้ไหม?
• เรามั่นใจเช่นไรในเรื่องการต่อต้าน?
• บุตรหลานของซีโอน “ดูดน้ำนมของประชาชาติ” อย่างไร?
• พระยะโฮวาได้ ‘นำทองเหลืองมาแทนไม้’ โดยวิธีใด?
• ยะซายา 60:17, 21 เน้นคุณลักษณะสองประการอะไร?
• “คนเล็กที่สุด” ได้กลายเป็น “ชนชาติใหญ่ชาติหนึ่ง” อย่างไร?
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
คำพยากรณ์ของยะซายาความสว่างสำหรับมวลมนุษยชาติ
ใจความสำคัญของเนื้อหาในบทความเหล่านี้ได้นำเสนอเป็นคำบรรยายเรื่องหนึ่งในการประชุมภาค “ผู้สอนพระคำของพระเจ้า” ระหว่างปี 2001/2002. เมื่อถึงช่วงท้ายของคำบรรยายเรื่องนี้ ณ การประชุมส่วนใหญ่ ผู้บรรยายได้ประกาศการออกหนังสือใหม่ที่มีชื่อว่า คำพยากรณ์ของยะซายา—ความสว่างสำหรับมวลมนุษยชาติ (ภาษาอังกฤษ) เล่มสอง. ในปีก่อนหน้านั้น ได้มีการออกหนังสือคำพยากรณ์ของยะซายา—ความสว่างสำหรับมวลมนุษยชาติ (ภาษาอังกฤษ) เล่มหนึ่ง. เมื่อหนังสือใหม่เล่มนี้ออกมาแล้ว ตอนนี้เราจึงมีการพิจารณาใหม่ล่าสุดในพระธรรมยะซายาเกือบทุกข้อ. หนังสือสองเล่มนี้ปรากฏว่าเป็นเครื่องช่วยที่ดีในการเพิ่มความเข้าใจและความหยั่งรู้ค่าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพระธรรมยะซายา หนังสือแห่งคำพยากรณ์ที่กระตุ้นความเชื่อ.
[ภาพหน้า 15]
เมื่อเผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรง ‘พระยะโฮวาทรงตกแต่งไพร่พลของพระองค์ด้วยความรอด’
[ภาพหน้า 16]
ไพร่พลของพระเจ้าใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อันมีค่าจากชาติต่าง ๆ เพื่อทำให้การนมัสการบริสุทธิ์ก้าวรุดหน้า
[ภาพหน้า 17]
พระยะโฮวาทรงอวยพรไพร่พลของพระองค์ให้มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานขององค์การและมีสันติสุข