พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมยิระมะยา
ความหายนะที่ยิระมะยาแจ้งเตือนประชาชนของท่านเองคงจะน่าสะพรึงกลัวสักเพียงไร! วิหารอันสง่างามซึ่งเป็นศูนย์กลางการนมัสการกว่าสามศตวรรษจะถูกเผาเป็นจุณ. กรุงเยรูซาเลมและแผ่นดินยูดาห์จะถูกทำให้ร้างเปล่า ประชาชนจะถูกจับไปเป็นเชลย. บันทึกเรื่องราวเหล่านี้และคำแถลงการพิพากษาอื่น ๆ ปรากฏในพระธรรมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งก็คือพระธรรมยิระมะยา. พระธรรมนี้ยังกล่าวถึงสิ่งที่ยิระมะยาประสบเป็นส่วนตัวเมื่อท่านทำงานรับใช้อย่างซื่อสัตย์มานาน 67 ปี. ข่าวสารในพระธรรมนี้ไม่ได้เรียบเรียงตามลำดับเวลาแต่ตามหัวเรื่อง.
เหตุใดเราควรสนใจพระธรรมยิระมะยา? คำพยากรณ์ที่สำเร็จเป็นจริงของพระธรรมนี้เสริมความเชื่อของเราในพระยะโฮวาฐานะผู้ทำให้คำสัญญาเป็นจริง. (ยะซายา 55:10, 11) งานของยิระมะยาฐานะผู้พยากรณ์และปฏิกิริยาของผู้คนเมื่อได้ฟังข่าวสารคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยของเรา. (1 โกรินโธ 10:11) นอกจากนั้น บันทึกเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาติดต่อสัมพันธ์กับประชาชนของพระองค์ยังเน้นถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระเจ้าและสิ่งนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อเราอย่างลึกซึ้ง.—เฮ็บราย 4:12.
“ไพร่พลของเราได้ประพฤติความชั่วสองอย่าง”
ยิระมะยาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พยากรณ์ในปีที่ 13 แห่งรัชกาลโยซียากษัตริย์แห่งยูดาห์ เป็นเวลา 40 ปีก่อนที่กรุงเยรูซาเลมจะถูกทำลายในปี 607 ก่อนสากลศักราช. (ยิระมะยา 1:1, 2) การแจ้งข่าวซึ่งส่วนใหญ่ทำกันในช่วง 18 ปีที่เหลือแห่งรัชกาลโยซียา ได้เปิดโปงความชั่วในยูดาห์และประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวาต่ออาณาจักรนั้น. พระยะโฮวาประกาศว่า “เราจะกระทำให้เมืองยะรูซาเลมเป็นกอง ๆ, . . . แลเราจะกระทำให้บ้านเมืองแห่งยะฮูดาร้างไป, ปราศจากคนหนึ่งคนใดอยู่.” (ยิระมะยา 9:11) เพราะเหตุใด? พระองค์ตรัสว่า “เพราะไพร่พลของเราได้ประพฤติความชั่วสองอย่าง.”—ยิระมะยา 2:13.
นอกจากนี้ยังเป็นข่าวสารเกี่ยวกับการฟื้นฟูชนที่เหลือที่กลับใจด้วย. (ยิระมะยา 3:14-18; 12:14, 15; 16:14-21) แต่ผู้ส่งข่าวสารกลับไม่ได้รับการต้อนรับ. “นายใหญ่แห่งวิหารพระยะโฮวา” เฆี่ยนยิระมะยาและจับท่านใส่ขื่อตลอดคืน.—ยิระมะยา 20:1-3.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:11, 12 (ล.ม.)—เหตุใดการตื่นตัวอยู่เสมอของพระยะโฮวาในเรื่องคำตรัสของพระองค์จึงเกี่ยวข้องกับ “การแตกกิ่งของต้นอัลมอนด์”? ต้นอัลมอนด์เป็นต้นไม้ชนิดแรก ๆ ที่ออกดอกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ. พระยะโฮวา “ตื่นขึ้นแต่เช้ามืด” ในความหมายเป็นนัยและใช้ ‘ผู้ทำนายทั้งปวงของพระองค์’ ไปเตือนประชาชนเกี่ยวกับการพิพากษาของพระองค์และทรง “ตื่นตัวอยู่เสมอ” จนกว่าการพิพากษานั้นจะเกิดขึ้น.—ยิระมะยา 7:25.
2:10, 11—อะไรทำให้การกระทำของชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์เป็นเรื่องไม่ปกติอย่างยิ่ง? ขณะที่ชาตินอกรีตทางตะวันตกไปทางคิททิมและทางตะวันออกไปทางเคดาร์ อาจนำพระของชาติอื่น ๆ มาเพิ่มเข้ากับพระของตน แต่ความคิดที่จะนำพระของคนต่างชาติมาแทนที่พระของตนทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน. อย่างไรก็ตาม ชาวอิสราเอลละทิ้งพระยะโฮวาโดยหันไปนมัสการรูปเคารพที่ไร้ชีวิตแทนที่จะนมัสการพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.
3:11-22; 11:10-12, 17—เหตุใดยิระมะยาจึงรวมเอาอาณาจักรสิบตระกูลทางเหนือไว้ในการประกาศเตือนของท่านด้วยทั้ง ๆ ที่ซะมาเรียได้ถูกทำลายไปแล้วในปี 740 ก่อน ส.ศ.? นั่นเป็นเพราะพินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลมในปี 607 ก่อน ส.ศ. เป็นการสำแดงการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อชาติอิสราเอลทั้งชาติ ไม่ใช่ต่อยูดาห์พวกเดียว. (ยะเอศเคล 9:9, 10) ยิ่งกว่านั้น หลังจากซะมาเรียถูกทำลาย ความหวังเรื่องการฟื้นฟูอาณาจักรสิบตระกูลขึ้นใหม่ยังคงมีในเยรูซาเลม เนื่องจากข่าวสารของผู้พยากรณ์ของพระเจ้ายังคงกล่าวถึงชาติอิสราเอลทั้งชาติ.
4:3, 4—พระบัญชานี้หมายความเช่นไร? ชาวยิวที่ไม่ซื่อสัตย์ต้องเตรียม, พรวน, และทำความสะอาดดินแห่งหัวใจของตน. พวกเขาต้องขจัด “หนังที่หน้า” หัวใจซึ่งก็คือการกำจัดความคิด, ความรู้สึก, และเจตนาที่ไม่สะอาดออกไป. (ยิระมะยา 9:25, 26; กิจการ 7:51) จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต—จากทำสิ่งชั่วมาเป็นทำสิ่งที่พระเจ้าพอพระทัย.
4:10; 15:18—ในแง่ใดที่พระยะโฮวาได้ล่อลวงประชาชนของพระองค์ที่ขืนอำนาจ? ในสมัยยิระมะยามีผู้พยากรณ์ที่ “ทำนายมุสา.” (ยิระมะยา 5:31; 20:6; 23:16, 17, 25-28, 32) พระยะโฮวาไม่ได้ห้ามพวกเขาประกาศข่าวสารที่นำไปผิดทาง.
16:16 (ฉบับแปลใหม่)—การที่พระยะโฮวาทรง “ส่งชาวประมงมาเป็นอันมาก” และ “พาพรานมาเป็นอันมาก” นั้นหมายความอย่างไร? นี่อาจพาดพิงถึงการส่งกองกำลังศัตรูไปตามล่าชาวยิวที่ไม่ซื่อสัตย์ซึ่งพระยะโฮวาจะทรงพิพากษาลงโทษ. อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่มีกล่าวไว้ในยิระมะยา 16:15 ข้อนี้อาจหมายถึงการค้นหาชาวอิสราเอลที่กลับใจได้ด้วย.
20:7 (ฉบับแปลใหม่)—พระยะโฮวา ‘ทรงใช้กำลังของพระองค์’ ต่อต้านยิระมะยาและหลอกท่านในแง่ใด? เนื่องจากเผชิญกับความไม่แยแส, การปฏิเสธ, และการข่มเหงเมื่อประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวา ยิระมะยาคงจะรู้สึกว่าท่านไม่มีกำลังที่จะทำงานต่อไป. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงใช้กำลังของพระองค์ที่จะต่อต้านแนวโน้มเช่นนั้นและเสริมกำลังยิระมะยาให้ทำต่อไป. โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาทรงหลอกยิระมะยาโดยใช้ท่านให้บรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่ตัวผู้พยากรณ์เองคิดว่าทำไม่ได้.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:8. บางครั้งพระยะโฮวาอาจช่วยประชาชนของพระองค์ให้พ้นจากการข่มเหง บางทีอาจใช้ผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรม, โดยนำคนที่มีเหตุผลมาแทนคนที่เป็นปฏิปักษ์, หรือโดยประทานกำลังแก่ผู้นมัสการของพระองค์เพื่อจะอดทนได้.—1 โกรินโธ 10:13.
2:13, 18. ชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ทำสิ่งชั่วสองอย่าง. พวกเขาทิ้งพระยะโฮวาซึ่งเป็นแหล่งแห่งพระพร, การชี้นำ, และการปกป้องที่มั่นคง. และพวกเขายังสกัดอ่างน้ำโดยนัยของตนโดยพยายามสร้างพันธมิตรทางทหารกับอียิปต์และอัสซีเรีย. ในสมัยของเรา การละทิ้งพระเจ้าเที่ยงแท้และหันไปหมกมุ่นสนใจในปรัชญาและทฤษฎีของมนุษย์และการเมืองของโลก เปรียบได้กับการเอา ‘อ่างที่แตก’ มาแทน “น้ำพุประกอบด้วยน้ำมีชีวิต.”
6:16. พระยะโฮวากระตุ้นเตือนให้ประชาชนที่ขืนอำนาจของพระองค์หยุดคิด, ตรวจสอบตัวเอง, และหันกลับมาสู่ “ทาง” ของบรรพบุรุษที่ซื่อสัตย์. ไม่ควรหรอกหรือที่เราจะตรวจสอบตัวเองบางครั้งบางคราวเพื่อดูว่าเรากำลังดำเนินในแนวทางที่พระยะโฮวาประสงค์ให้เราเดินจริง ๆ หรือไม่?
7:1-15. การหมายพึ่งพระวิหารโดยมองว่าเป็นเครื่องรางคุ้มครองชนิดหนึ่งไม่ได้ช่วยปกป้องชาวยิวให้ปลอดภัย. เราควรดำเนินโดยความเชื่อไม่ใช่ด้วยสิ่งที่มองเห็น.—2 โกรินโธ 5:7.
15:16, 17. เช่นเดียวกับยิระมะยา เราสามารถต่อสู้กับความท้อแท้ใจได้. เราจะทำได้โดยมีความยินดีในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลส่วนตัวอย่างจริงจัง, สรรเสริญพระนามของพระยะโฮวาในงานรับใช้, และหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมที่ไม่ดี.
17:1, 2. บาปที่ประชาชนในยูดาห์กระทำส่งผลให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัยเครื่องบูชาของพวกเขา. ความไม่สะอาดทางศีลธรรมทำให้เครื่องบูชาแห่งคำสรรเสริญของเราไม่เป็นที่ยอมรับ.
17:5-8. มนุษย์และสถาบันต่าง ๆ ควรค่าแก่การไว้วางใจก็ต่อเมื่อพวกเขาประพฤติสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าและหลักการของคัมภีร์ไบเบิล. ในเรื่องความรอดและสันติภาพแท้และความปลอดภัย นับว่าสุขุมที่เราควรวางใจในพระยะโฮวาเท่านั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 146:3.
20:8-11. เราไม่ควรปล่อยให้ความเฉยเมย, การต่อต้าน, หรือการข่มเหงมาทำให้ความมีใจแรงกล้าเพื่องานประกาศราชอาณาจักรลดน้อยลง.—ยาโกโบ 5:10, 11.
“ท่านทั้งหลายจงเอาคอพวกท่านมาใส่ไว้ในใต้แอกของกษัตริย์เมืองบาบูโลน”
ยิระมะยาประกาศการพิพากษาต่อกษัตริย์สี่องค์สุดท้ายของยูดาห์รวมทั้งต่อเหล่าผู้พยากรณ์เท็จ, ผู้บำรุงเลี้ยงที่ไม่รับผิดชอบในหน้าที่, และเหล่าปุโรหิตที่กินสินบน. ในการพูดถึงชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์ว่าเป็นเหมือนมะเดื่อเทศดี พระยะโฮวาตรัสว่า “เราจะตั้งตาของเราดูเหนือเขาทั้งปวงเพื่อจะเป็นความดีแก่เขา.” (ยิระมะยา 24:5, 6) คำพยากรณ์สามเรื่องในบทที่ 25 เป็นการสรุปคำพิพากษาซึ่งมีการกล่าวถึงรายละเอียดในบทต่อ ๆ ไป.
เหล่าปุโรหิตและผู้พยากรณ์วางแผนสังหารยิระมะยา. ข่าวสารที่ท่านประกาศคือ พวกเขาต้องปรนนิบัติกษัตริย์บาบิโลน. ยิระมะยากล่าวแก่กษัตริย์ซิดคียาว่า “ท่านทั้งหลายจงเอาคอพวกท่านมาใส่ไว้ในใต้แอกของกษัตริย์เมืองบาบูโลน.” (ยิระมะยา 27:12) อย่างไรก็ตาม “ท่านที่กระจายอิสราเอลนั้นจะรวบรวมเขา.” (ยิระมะยา 31:10, ฉบับแปลใหม่) ด้วยเหตุผลที่ดี พระเจ้าทำคำสัญญากับชาวเรคาบ. ยิระมะยาถูกจับ “ไปใส่ไว้ในที่บริเวณคุก.” (ยิระมะยา 37:21) กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย และประชาชนส่วนใหญ่ถูกจับเป็นเชลย. ยิระมะยาและบารุค เลขานุการของท่านอยู่ในหมู่คนที่ยังเหลืออยู่. คนที่กลัวได้หนีไปยังอียิปต์แม้ยิระมะยาจะเตือนแล้วก็ตาม. บท 46 ถึง 51 กล่าวถึงถ้อยคำของยิระมะยาเกี่ยวกับชาติต่าง ๆ.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
22:30—คำประกาศิตนี้ทำให้สิทธิของพระเยซูคริสต์ที่จะได้สืบทอดราชบัลลังก์ของดาวิดเป็นโมฆะไหม? (มัดธาย 1:1, 11) ไม่เลย. คำประกาศิตห้ามไม่ให้คนใด ๆ ในเชื้อวงศ์ของยะโฮยาคิน “นั่งบนพระที่นั่งของดาวิดครอบครองเมืองยะฮูดา.” พระเยซูทรงปกครองจากสวรรค์ไม่ใช่จากราชบัลลังก์ในยูดาห์.
23:33 (ล.ม.)—อะไรคือ “ภาระหนักของพระยะโฮวา”? ในสมัยยิระมะยา คำแถลงสำคัญที่ผู้พยากรณ์ประกาศเกี่ยวข้องกับพินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลมนั้นเป็นภาระหนักสำหรับชนร่วมชาติของท่าน. ที่จริง ประชาชนที่ไม่ตอบรับก็เป็นเหมือนภาระหนักสำหรับพระยะโฮวาถึงขนาดที่พระองค์จะทรงละทิ้งพวกเขา. ในทำนองเดียวกัน ข่าวสารในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการทำลายล้างคริสต์ศาสนจักรที่ใกล้เข้ามาเป็นภาระหนักสำหรับคริสต์ศาสนจักร และประชาชนที่ไม่ใส่ใจในข่าวสารก็เป็นภาระหนักสำหรับพระเจ้า.
31:33 (ล.ม.)—บทบัญญัติของพระเจ้าถูกเขียนไว้ในหัวใจอย่างไร? เมื่อคนเรารักกฎหมายของพระเจ้ามากถึงขนาดเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา สามารถกล่าวได้ว่าบทบัญญัติของพระเจ้าถูกเขียนไว้ในหัวใจของเขา.
32:10-15—มีการเขียนหนังสือข้อตกลงที่เหมือนกันสองฉบับเพื่อวัตถุประสงค์อะไร? ฉบับที่ไม่ได้ผนึกตรามีไว้เพื่อตรวจดู. ส่วนฉบับที่ผนึกตรามีไว้เป็นหลักฐานสำรองเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของฉบับที่ไม่ได้ผนึกตรา หากจำเป็น. ยิระมะยาได้วางตัวอย่างที่ดีไว้ให้เราโดยการทำตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างสมเหตุผลแม้เมื่อเกี่ยวข้องกับญาติและเพื่อนร่วมความเชื่อ.
33:23, 24—“สองตระกูล” ใดที่กล่าวถึงในที่นี้? ตระกูลหนึ่งคือราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิด และอีกตระกูลหนึ่งเป็นลูกหลานของปุโรหิตที่สืบเชื้อสายจากอาโรน. เนื่องด้วยมีการทำลายกรุงเยรูซาเลมและพระวิหารของพระยะโฮวา จึงดูเหมือนว่าพระยะโฮวาปฏิเสธสองตระกูลนี้ และจะไม่มีอาณาจักรที่ปกครองแผ่นดินโลกหรือการกอบกู้การนมัสการของพระองค์อีกต่อไป.
46:22—เหตุใดจึงมีการเปรียบเสียงของอียิปต์เหมือนเสียงของงู? นี่อาจพาดพิงถึงเสียงดังฟ่อ ๆ ของงูที่กำลังล่าถอยหรือไม่ก็เสียงของชาติอียิปต์ที่ได้รับความอับอายขายหน้าเนื่องจากประสบความหายนะ. การเปรียบเทียบเช่นนี้ยังเผยให้เห็นด้วยว่า การที่ฟาโรห์แห่งอียิปต์สวมมงกุฎที่มีรูปงูศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเชื่อกันว่าจะได้รับการคุ้มครองจากอูอัทชิทเทพธิดาแห่งอสรพิษ ช่างไร้ค่าสักเพียงไร.
บทเรียนสำหรับเรา:
21:8, 9; 38:19. แม้ในนาทีสุดท้ายพระยะโฮวาก็ยังเสนอทางเลือกแก่ชาวกรุงเยรูซาเลมที่ไม่กลับใจซึ่งสมควรตาย. ใช่แล้ว “พระเมตตาของพระองค์ก็ล้นเหลือ.”—2 ซามูเอล 24:14; บทเพลงสรรเสริญ 119:156.
31:34. ช่างเป็นการปลอบประโลมใจที่รู้ว่า พระยะโฮวาไม่ทรงจดจำบาปของคนที่พระองค์ทรงให้อภัยและคิดบัญชีในอนาคต!
38:7-13; 39:15-18. พระยะโฮวาไม่ทรงลืมงานรับใช้ที่เราทำอย่างซื่อสัตย์ ซึ่งรวมถึง ‘การปรนนิบัติสิทธชน.’—เฮ็บราย 6:10.
45:4, 5. เช่นเดียวกับสภาพการณ์ในสมัยสุดท้ายของยูดาห์ “สมัยสุดท้าย” ของระบบนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาแสวงหา “ของใหญ่” เช่น ความมั่งคั่ง, ความเด่นดัง, หรือความมั่นคงทางวัตถุ.—2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.; 1 โยฮัน 2:17.
กรุงเยรูซาเลมถูกเผา
ในปี 607 ก่อน ส.ศ. ซิดคียาครองราชย์เป็นปีที่ 11. กษัตริย์นะบูคัดเนซัรแห่งบาบิโลนได้ล้อมกรุงเยรูซาเลมนาน 18 เดือน. ในวันที่เจ็ดเดือนที่ห้าของปีที่ 19 แห่งการครองราชย์ของนะบูคัดเนซัร นะบูซาระดานผู้บัญชาการทหารรักษาพระองค์ได้ “มายัง” หรือมาถึงกรุงเยรูซาเลม. (2 กษัตริย์ 25:8) บางทีจากค่ายของเขาที่อยู่นอกกรุง นะบูซาระดานได้ประเมินสถานการณ์และวางแผนการที่จะลงมือ. สามวันถัดมา ในวันที่สิบของเดือนนั้น เขา “ได้เข้าไปใน” กรุงเยรูซาเลม และได้เผากรุงนั้น.—ยิระมะยา 52:12, 13, ฉบับแปลใหม่.
ยิระมะยากล่าวถึงพินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลมอย่างละเอียด. ด้วยเหตุนั้น คำพรรณนาของท่านจึงเป็นพื้นฐานสำหรับบทเพลงคร่ำครวญ. งานประพันธ์ดังกล่าวปรากฏในพระธรรมบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา.
[ภาพหน้า 8]
คำแถลงของยิระมะยารวมถึงคำพิพากษาของพระยะโฮวาต่อกรุงเยรูซาเลม
[ภาพหน้า 9]
พระยะโฮวา ‘ทรงใช้กำลังของพระองค์’ ต่อต้านยิระมะยาในแง่ใด?
[ภาพหน้า 10]
“เหมือนอย่างลูกมะเดื่อเทศที่ดีนั้น, เราจะรับพวกยะฮูดาที่ต้องกวาดเอาไปเป็นเชลยนั้น.”—ยิระมะยา 24:5