บทสิบสาม
‘พระยะโฮวาได้ทรงกระทำสำเร็จตามที่ได้กะโครงการไว้แล้ว’
1. เมื่อเยรูซาเลมถูกทำลายไปแล้ว ยิระมะยาห์ได้กล่าวเช่นไรเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของพระยะโฮวา?
เยรูซาเลมอยู่ในสภาพปรักหักพัง. ควันไฟยังคงลอยขึ้นจากเมืองที่พวกบาบิโลนผู้พิชิตได้เผา. ยิระมะยาห์จำได้ถึงเสียงกรีดร้องอย่างน่าสยดสยองของบรรดาคนที่ถูกสังหาร. พระเจ้าได้แจ้งให้ท่านทราบถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเหตุการณ์ได้ดำเนินไปตามที่พระองค์ตรัสไว้ทีเดียว. ผู้พยากรณ์คนนี้ได้คร่ำครวญว่า “พระยะโฮวาได้ทรงกระทำสำเร็จตามที่พระองค์ได้กะโครงการไว้แล้ว.” ความหายนะของเยรูซาเลมเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียจริง ๆ!—อ่านบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 2:17
2. ยิระมะยาห์ได้เห็นความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์อะไรที่มีกล่าวไว้หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น?
2 ใช่แล้ว ยิระมะยาห์ได้เห็นความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์หลายเรื่องที่มีการแจ้งแก่ประชาชนของพระเจ้า รวมทั้งคำพยากรณ์สมัยก่อนท่านด้วย. หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น โมเซได้ตั้ง “พระพร” และ “คำสาปแช่ง” ไว้ต่อหน้าชาติอิสราเอล ซึ่งเป็นผลจากการเชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟังพระเจ้า. พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้ประชาชนของพระองค์ได้รับพระพรซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุด. ในอีกด้านหนึ่ง คำสาปแช่งซึ่งเป็นผลจากการไม่เชื่อฟังคงจะเป็นที่น่าสยดสยอง. โมเซได้เตือนไว้ และภายหลังยิระมะยาห์ก็ได้กล่าวซ้ำว่า คนเหล่านั้นที่ไม่สนใจไยดีและต่อต้านพระยะโฮวาจะถึงกับ “กินเนื้อลูกชายแลกินเนื้อลูกหญิงของเขา.” (บัญ. 30:19, 20, ฉบับ R73; ยิระ. 19:9; เลวี. 26:29) บางคนอาจสงสัยว่า ‘สิ่งที่น่ากลัวเช่นนั้นจะเกิดขึ้นจริง ๆ หรือ?’ เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นจริงระหว่างการล้อมของพวกบาบิโลน ตอนที่หาอาหารไม่ได้. ยิระมะยาห์รายงานว่า “มือของหญิงที่อาบชุ่มด้วยความเมตตากลับได้เอาลูกของตัวต้มแกงกินเป็นอาหาร; ลูกที่ต้องต้มแกงเป็นอาหารนั้น, กินกันในยามเมื่อหายนะมาสู่บุตรีแห่งพลเมืองของข้าพเจ้า.” (ทุกข์. 4:10) ช่างเป็นเรื่องน่าสังเวชเสียจริง ๆ!
3. พระเจ้ามีพระประสงค์เช่นไรในการส่งผู้พยากรณ์ไปหาประชาชนของพระองค์?
3 แน่นอน พระประสงค์ของพระยะโฮวาในการมอบหมายงานให้ผู้พยากรณ์เช่นยิระมะยาห์ ไม่ใช่เพียงเพื่อประกาศพินาศกรรมที่กำลังจะมาถึงเท่านั้น. พระเจ้าประสงค์ให้ประชาชนของพระองค์กลับมาดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์อีก. พระองค์ทรงต้องการให้ผู้กระทำผิดกลับใจ. เอษราได้ชี้ให้เห็นเรื่องนี้ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งเชื้อวงศ์ปู่ย่าตายายของเขาได้ใช้ทูตของพระองค์มายังพวกเขา, ให้ทูตนั้นตื่นแต่เช้าแล้วรีบไป; เพราะพระองค์ทรงพระเมตตากรุณาต่อพลไพร่ของพระองค์, กับเป็นห่วงถึงโบสถ์วิหารที่สถิตของพระองค์.”—2 โคร. 36:15; อ่านยิระมะยา 26:3, 12, 13
4. ยิระมะยาห์รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับข่าวสารที่ท่านประกาศ?
4 เช่นเดียวกับพระยะโฮวา ยิระมะยาห์รู้สึกสงสารชนร่วมชาติ. คุณจะเห็นได้จากสิ่งที่ท่านกล่าวก่อนกรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย. ท่านรู้สึกทุกข์ใจยิ่งนักเนื่องจากความหายนะที่ใกล้จะมาถึง. นี่เป็นภัยพิบัติที่จะหลีกเลี่ยงได้เพียงแต่ถ้าผู้คนจะยอมฟังและทำตามข่าวสารที่ยิระมะยาห์ได้บอก! ลองนึกถึงความรู้สึกของยิระมะยาห์ขณะที่ประกาศข่าวสารของพระเจ้า. ท่านได้ร้องว่า “ท้องของข้าพเจ้าเอ๋ย, โอ้ท้องข้าพเจ้า, ข้าพเจ้ากำลังปวดที่ตรงหัวใจข้าพเจ้า, ใจของข้าพเจ้ามีเสียงร้องออกในตัวข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจะนิ่งเสียก็ไม่ได้. เพราะจิตของข้าพเจ้าเอ๋ย, ได้ยินเสียงแตร, แลเสียงสำคัญของสงครามแล้ว.” (ยิระ. 4:19) พูดง่าย ๆ คือ ท่านจะนิ่งเงียบไม่บอกเรื่องความหายนะที่ใกล้เข้ามานั้นไม่ได้.
ท่านมั่นใจได้อย่างไร?
5. ทำไมยิระมะยาห์จึงมั่นใจเกี่ยวกับข่าวสารที่ท่านประกาศ?
5 ทำไมยิระมะยาห์จึงมั่นใจว่าสิ่งที่ท่านพยากรณ์จะเกิดขึ้นจริง? (ยิระ. 1:17; 7:30; 9:22) ท่านเป็นคนที่มีความเชื่อซึ่งได้ศึกษาพระคัมภีร์และทราบว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแห่งคำพยากรณ์แท้. ประวัติศาสตร์ยืนยันพระปรีชาสามารถของพระยะโฮวาที่จะบอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้จากมุมมองของมนุษย์ เช่นการปลดปล่อยชาติอิสราเอลจากการเป็นทาสในอียิปต์. ยิระมะยาห์คุ้นเคยกับเรื่องราวในหนังสือเอ็กโซโดรวมทั้งถ้อยคำของประจักษ์พยานคนหนึ่ง. ยะโฮซูอะได้บอกเพื่อนชาวอิสราเอลว่า “ท่านทั้งหลายก็รู้แน่ในใจว่า, ในสิ่งสารพัตรอันดีนั้น, ซึ่งยะโฮวาพระเจ้าของท่านทรงตรัสถึงท่านแล้วหาได้ขาดสักสิ่งเดียวไม่; สรรพสิ่งเหล่านั้นก็สำเร็จแก่ท่านแล้ว, ไม่ขาดเหลือสักสิ่งเดียว.”—ยโฮ. 23:14
6, 7. (ก) ทำไมคุณควรสนใจคำแถลงเชิงพยากรณ์ของยิระมะยาห์? (ข) อะไรจะช่วยคุณให้มั่นใจเกี่ยวกับข่าวสารที่คุณประกาศ?
6 เหตุใดคุณควรเอาใจใส่ต่อไปในคำพยากรณ์ที่ยิระมะยาห์กล่าว? ประการแรก เพราะท่านมีเหตุผลที่จะมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะทำให้คำตรัสของพระองค์สำเร็จเป็นจริง. ประการที่สอง เนื่องจากคำแถลงของพระเจ้าบางเรื่องที่ตรัสผ่านยิระมะยาห์ได้สำเร็จเป็นจริงในขณะนี้ และคุณยังจะเห็นความสำเร็จเป็นจริงของคำตรัสอื่น ๆ อีก. ประการที่สาม เนื่องจากยิระมะยาห์ประกาศหลาย ๆ เรื่องในพระนามของพระเจ้า อีกทั้งท่านได้ประกาศอย่างแข็งขัน แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้รับใช้พิเศษของพระเจ้า. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งได้ให้ข้อสังเกตว่า “แม้แต่เมื่อเทียบกับผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ แล้ว ยิระมะยาห์ก็นับว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ.” ผู้คนยอมรับว่าในช่วงที่พระเจ้าปฏิบัติกับประชาชนของพระองค์ ยิระมะยาห์เป็นบุคคลสำคัญมากจนถึงกับเมื่อได้ยินพระเยซูตรัส บางคนคิดว่าพระองค์คงต้องเป็นยิระมะยาห์.—มัด. 16:13, 14
7 เช่นเดียวกับยิระมะยาห์ คุณมีชีวิตอยู่ในสมัยที่คำพยากรณ์สำคัญในคัมภีร์ไบเบิลกำลังสำเร็จเป็นจริง. และเช่นเดียวกับยิระมะยาห์ คุณต้องรักษาความมั่นใจในความสัตย์จริงแห่งคำสัญญาของพระเจ้า. (2 เป. 3:9-14) คุณจะทำเช่นนั้นได้โดยวิธีใด? โดยสร้างความมั่นใจต่อ ๆ ไปที่ว่าพระคำเชิงพยากรณ์ของพระเจ้าน่าเชื่อถืออย่างแท้จริง. เพื่อจะทำเช่นนั้น ในบทนี้เราจะทบทวนคำพยากรณ์หลายเรื่องที่ยิระมะยาห์ได้ถ่ายทอดมาถึงเราและที่ท่านได้เห็นว่าสำเร็จเป็นจริง. และเราจะพิจารณาคำพยากรณ์อื่น ๆ ที่ได้สำเร็จในภายหลัง. นอกจากนั้นยังมีคำพยากรณ์ที่ส่งผลกระทบต่อคุณโดยตรงในขณะนี้และจะมีผลต่ออนาคตของคุณ. ขอให้การทบทวนนี้ทำให้คุณมั่นใจในพระคำเชิงพยากรณ์ของพระยะโฮวามากขึ้น เพื่อคุณจะยิ่งแน่ใจว่า ‘พระองค์จะทรงกระทำสำเร็จตามที่พระองค์ได้กะโครงการไว้แล้ว.’—ทุกข์ 2:17
เหตุใดพระเจ้าจึงแต่งตั้งผู้พยากรณ์? ทำไมคุณเชื่อถือคำพยากรณ์ที่ว่ากำลังจะเกิดพินาศกรรม?
คำพยากรณ์ที่ยิระมะยาห์ได้กล่าวและเห็นว่าสำเร็จเป็นจริง
8, 9. แง่หนึ่งที่ทำให้คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่เด่นคืออะไร?
8 มีหลายคนที่พยายามจะทำนายอนาคต. ขอให้คิดถึงนักเศรษฐศาสตร์, นักการเมือง, หมอผี, และนักพยากรณ์อากาศ. ไม่ต้องสงสัย คุณคงเห็นแล้วว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำนายแม้แต่เรื่องง่าย ๆ อย่างแม่นยำ เช่นที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในวันสองวันหรือในไม่กี่สัปดาห์. แต่ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิลคือ คำพยากรณ์ที่แม่นยำ. (ยซา. 41:26; 42:9) คำพยากรณ์ทุกเรื่องของยิระมะยาห์ไม่ว่าที่เกี่ยวข้องกับอนาคตอันใกล้หรือไกลนั้นเป็นจริงอย่างไม่ผิดพลาด. คำพยากรณ์หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับบุคคลและชาติต่าง ๆ. ทีแรกเราจะพิจารณาบางเรื่องที่ได้สำเร็จเป็นจริงระหว่างช่วงชีวิตของยิระมะยาห์.
9 มีใครไหมในทุกวันนี้ที่สามารถทำนายว่าสถานการณ์ของโลกจะเป็นอย่างไรภายในปีสองปีนี้? ตัวอย่างเช่น มีนักวิเคราะห์เหตุการณ์ระหว่างประเทศคนใดไหมสามารถบอกล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการปกครองหรือไม่? อย่างไรก็ดี โดยการดลใจจากพระเจ้า ยิระมะยาห์ได้บอกล่วงหน้าถึงการแผ่ขยายอำนาจของบาบิโลน. ท่านกล่าวว่าบาบิโลนเป็น “ถ้วยทองคำ” ที่พระยะโฮวาจะใช้เทพระพิโรธของพระองค์ลงเหนือยูดาห์รวมทั้งเมืองหลายเมืองและชนชาติต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งทำให้พวกเขาต้องเป็นทาส. (ยิระ. 51:7) ยิระมะยาห์กับคนในสมัยนั้นได้เห็นเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง.—เทียบกับยิระมะยา 25:15-29; 27:3-6; 46:13
10. พระยะโฮวาได้ทรงบอกล่วงหน้าไว้เช่นไรเกี่ยวกับกษัตริย์ยูดาห์สี่องค์?
10 พระยะโฮวาได้ทรงใช้ยิระมะยาห์ให้บอกถึงบั้นปลายของกษัตริย์ยูดาห์สี่องค์ด้วย. พระเจ้าได้ทรงบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับยะโฮอาฮัศ หรือซาลุม ราชบุตรของกษัตริย์โยซียาห์ว่าท่านจะต้องไปเป็นเชลยและจะไม่มีวันได้กลับมายังยูดาห์. (ยิระ. 22:11, 12) แล้วก็ได้เกิดขึ้นอย่างนั้นจริง. (2 กษัต. 23:31-34) พระเจ้าได้ทรงประกาศว่ายะโฮยาคิม ผู้สืบตำแหน่งของยะโฮอาฮัศจะถูกฝังไว้ “อย่างฝังลา.” (ยิระ. 22:18, 19, ฉบับ R73; 36:30) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บันทึกว่าท่านสิ้นพระชนม์อย่างไร หรือฝังศพท่านอย่างไร แต่บอกว่ายะโฮยาคินราชบุตรได้สืบตำแหน่งต่อจากท่านระหว่างช่วงการล้อมกรุง. ยิระมะยาห์ได้พยากรณ์ว่ายะโฮยาคิน (ยังเป็นที่รู้จักว่าคัลนาและยะคันยา) จะถูกเนรเทศไปบาบิโลนและสิ้นพระชนม์ที่นั่น. (ยิระ. 22:24-27; 24:1) แล้วเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นจริง. จะว่าอย่างไรกับซิดคียากษัตริย์องค์สุดท้าย? ยิระมะยาห์ได้บอกล่วงหน้าว่าซิดคียาจะถูกมอบไว้ในมือศัตรูซึ่งไม่มีความเมตตาสงสาร. (ยิระ. 21:1-10) ได้เกิดอะไรขึ้น? ศัตรูเหล่านั้นได้จับตัวท่านไป. พวกเขาได้สังหารบุตรทั้งหลายของท่านต่อหน้าต่อตา และทำให้ท่านตาบอดแล้วพาไปบาบิโลน ท่านได้สิ้นพระชนม์ที่นั่น. (ยิระ. 52:8-11) ถูกแล้ว คำพยากรณ์เหล่านี้ทั้งหมดได้สำเร็จเป็นจริง.
11. ฮะนันยาเป็นใคร และพระยะโฮวาได้ทรงบอกล่วงหน้าอะไรเกี่ยวกับตัวเขา?
11 เราอ่านในยิระมะยาบท 28 ว่าระหว่างการปกครองของซิดคียา ผู้พยากรณ์เท็จฮะนันยาได้แย้งว่าคำแถลงของพระยะโฮวาผ่านทางยิระมะยาห์ที่ว่าบาบิโลนจะมีอำนาจปกครองเหนือเยรูซาเลมนั้นไม่จริง. โดยเพิกเฉยคำตรัสของพระเจ้า ฮะนันยาอ้างว่าแอกแห่งการเป็นทาสที่นะบูคัดเนซัรได้นำไปใส่ให้ยูดาห์และชาติอื่น ๆ นั้นจะถูกหัก. อย่างไรก็ดี ภายใต้การชี้นำของพระยะโฮวา ยิระมะยาห์ได้เปิดโปงการโกหกหลอกลวงของฮะนันยา โดยย้ำว่าหลายชาติจะต้องรับใช้บาบิโลนและได้บอกผู้พยากรณ์คนนี้ว่าเขาจะตายในปีนั้น. และก็ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง.—อ่านยิระมะยา 28:10-17
12. คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสมัยยิระมะยาห์มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อข่าวสารเชิงพยากรณ์ที่สำคัญของท่าน?
12 แน่นอน ข่าวสารเชิงพยากรณ์ที่สำคัญซึ่งพระเจ้าทรงให้แก่ยิระมะยาห์ เกี่ยวข้องกับความพินาศของเยรูซาเลมเอง. ยิระมะยาห์ได้เตือนครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเมืองนี้จะถูกทำลายเว้นแต่ว่าชาวยิวจะกลับใจจากการไหว้รูปเคารพ, ความอยุติธรรม, และความรุนแรง. (ยิระ. 4:1; 16:18; 19:3-5, 15) หลายคนที่อยู่ในสมัยเดียวกับยิระมะยาห์คิดว่าพระยะโฮวาจะไม่มีวันทำสิ่งดังกล่าว. พระวิหารของพระเจ้าตั้งอยู่ในเยรูซาเลม. พระองค์จะยอมให้สถานที่บริสุทธิ์นั้นถูกทำลายได้อย่างไร? พวกเขาคิดว่าเหตุการณ์นั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้น. แต่คุณก็รู้ว่าพระยะโฮวาไม่ตรัสมุสา. พระองค์ได้ทรงกระทำสิ่งที่ตั้งพระทัยไว้.—ยิระ. 52:12-14
13. (ก) สมัยของเราคล้ายกับสมัยยิระมะยาห์อย่างไร? (ข) เหตุใดคุณควรสนใจคำสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับบางคนในสมัยยิระมะยาห์?
13 ประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้อยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกันกับคนในสมัยยิระมะยาห์ที่ภักดีต่อพระยะโฮวา. เราทราบว่าในไม่ช้าพระยะโฮวาจะทำลายคนเหล่านั้นที่ไม่ยอมเอาใจใส่ฟังคำเตือนของพระองค์. ถึงกระนั้น เราได้รับกำลังใจจากคำสัญญาเชิงพยากรณ์ของพระองค์ เหมือนกับชาวยิวเหล่านั้นซึ่งยึดมั่นกับการนมัสการอันบริสุทธิ์ในสมัยยิระมะยาห์. เนื่องจากพวกเรคาบซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาและเชื่อฟังคำสั่งของบรรพบุรุษ พระเจ้าจึงตรัสว่าพวกเขาจะรอดผ่านพินาศกรรมของเยรูซาเลม. พวกเขาก็ได้รอดชีวิตจริง. หลักฐานที่อาจแสดงถึงเรื่องนี้คือ ภายหลังมีการกล่าวถึง “มัลคิยาบุตรชายของเรคาบ” ซึ่งได้ช่วยซ่อมแซมกรุงเยรูซาเลมระหว่างที่นะเฮมยาเป็นผู้สำเร็จราชการ. (นเฮม. 3:14; ยิระ. 35:18, 19) พระยะโฮวาได้ทรงรับรองกับเอเบ็ดเมเล็กว่าเขาจะรอดชีวิตเช่นกันเนื่องจากได้วางใจในพระเจ้าและได้ช่วยเหลือยิระมะยาห์. (ยิระ. 38:11-13; 39:15-18) ทำนองเดียวกัน พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าบารุคเพื่อนของยิระมะยาห์จะได้ “ชีวิต” รอด. (ยิระ. 45:1, 5) คุณจะลงความเห็นเช่นไรจากความสำเร็จของคำพยากรณ์เหล่านี้? คุณคิดว่าพระยะโฮวาจะปฏิบัติอย่างไรต่อคุณหากคุณซื่อสัตย์?—อ่าน 2 เปโตร 2:9
การรู้ว่าพระเจ้าจะทำให้คำพยากรณ์ของพระองค์สำเร็จเสมอ ช่วยเอเบ็ดเมเล็ก, บารุค, และพวกเรคาบอย่างไร? คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับคำพยากรณ์เหล่านั้น?
คำพยากรณ์ที่สำเร็จเป็นจริงในภายหลัง
14. ทำไมคำพยากรณ์ของพระเจ้าเกี่ยวกับบาบิโลนนับว่าโดดเด่น?
14 พระเจ้าได้ทรงบอกล่วงหน้าว่านะบูคัดเนซัรจะพิชิตไม่เพียงอาณาจักรยูดาห์ แต่พิชิตอียิปต์ด้วย. (ยิระ. 25:17-19) นั่นคงต้องดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เลยเนื่องจากอียิปต์มีอำนาจมาก ถึงกับมีอำนาจเหนือยูดาห์ด้วยซ้ำ. (2 กษัต. 23:29-35) หลังจากเยรูซาเลมถูกทำลาย ชาวยิวที่เหลืออยู่วางแผนจะออกจากแผ่นดินของตนไปหาความปลอดภัยในอียิปต์. พวกเขาต้องการทำเช่นนั้นทั้ง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงเตือนห้ามไว้แล้วและพระองค์ตรัสว่าจะอวยพรพวกเขาหากยังคงอยู่ในยูดาห์ต่อไป. แต่ถ้าหากพวกเขาหนีไปอียิปต์ ดาบที่พวกเขากลัวคงจะตามทันเขาที่นั่น. (ยิระ. 42:10-16; 44:30) ยิระมะยาห์ได้เห็นพวกบาบิโลนรุกรานอียิปต์หรือไม่ หนังสือที่ท่านเขียนมิได้บอกไว้. สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือคำพยากรณ์ของพระยะโฮวาได้สำเร็จกับผู้ลี้ภัยชาวอิสราเอลตอนที่บาบิโลนพิชิตอียิปต์ในต้นศตวรรษที่หกก่อนสากลศักราช.—ยิระ. 43:8-13
15, 16. คำตรัสของพระเจ้าเกี่ยวกับการปลดปล่อยประชาชนของพระองค์เป็นจริงอย่างไร?
15 ยิระมะยาห์ยังได้พยากรณ์เรื่องจุดจบของผู้ที่ได้พิชิตอียิปต์ คือบาบิโลนนั่นเอง. หนึ่งศตวรรษก่อนเหตุการณ์เกิดขึ้น ยิระมะยาห์ได้บอกล่วงหน้าอย่างแม่นยำถึงความล่มจมอย่างฉับพลันของบาบิโลน. โดยวิธีใด? ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าได้บอกล่วงหน้าว่าน้ำที่ให้การปกป้องแก่เมืองนั้นจะ “แห้งเสียหมด” และชายฉกรรจ์ของเมืองนั้นจะไม่ต่อสู้. (ยิระ. 50:38; 51:30) คำพยากรณ์เหล่านี้ได้สำเร็จในรายละเอียดเมื่อพวกมีเดียและเปอร์เซียได้เปลี่ยนเส้นทางแม่น้ำยูเฟรทิส แล้วลุยข้ามแม่น้ำเข้าไปในเมือง โดยที่พวกบาบิโลนไม่ทันรู้ตัว. ที่น่าสังเกตพอ ๆ กันคือคำพยากรณ์ที่ว่าเมืองนี้จะกลายเป็นที่ร้างเปล่าไม่มีคนอาศัยอยู่. (ยิระ. 50:39; 51:26) จนถึงทุกวันนี้ สภาพร้างเปล่าของบาบิโลนซึ่งเคยใหญ่ยิ่งนั้นยืนยันว่าคำพยากรณ์ของพระเจ้าถูกต้องแม่นยำ.
16 พระยะโฮวาได้ทรงประกาศผ่านทางยิระมะยาห์ว่าชาวยิวจะรับใช้พวกบาบิโลนเป็นเวลา 70 ปี. ต่อจากนั้นพระเจ้าจะนำประชาชนของพระองค์กลับสู่แผ่นดินของพวกเขา. (อ่านยิระมะยา 25:8-11; 29:10 ) ดานิเอลมีความมั่นใจเต็มที่ในคำพยากรณ์นี้ และท่านได้ใช้เรื่องนี้เพื่อจะระบุว่าเมื่อไรที่ “ความร้างของกรุงยะรูซาเลม” จะสิ้นสุดลง. (ดานิ. 9:2) เอษราได้กล่าวว่า “เพื่อคำที่พระยะโฮวาได้ทรงตรัสโดยปากของท่านยิระมะยานั้นจะสำเร็จ, พระองค์ได้ทรงดลพระทัยโฆเร็ศกษัตริย์ประเทศฟารัศ [“ไซรัสกษัตริย์เปอร์เซีย,” ล.ม.]” ซึ่งได้พิชิตบาบิโลนให้นำชาวยิวกลับสู่แผ่นดินของพวกเขา. (เอษรา 1:1-4) หลังจากนั้นเหล่าผู้คืนถิ่นสามารถปีติยินดีในความสงบสุขในบ้านเกิดของตนและฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์ขึ้นที่นั่น ดังที่ยิระมะยาห์ได้บอกไว้ล่วงหน้า.—ยิระ. 30:8-10; 31:3, 11, 12; 32:37
17. จงอธิบายว่าถ้อยคำของยิระมะยาห์ที่ว่าราเฮ็ล “น้ำตาไหล” ที่เมืองรามาอาจพาดพิงถึงเหตุการณ์สองอย่างอะไร?
17 ยิระมะยาห์ยังได้บันทึกคำพยากรณ์ที่จะสำเร็จเป็นจริงอีกนานในอนาคต. ท่านได้กล่าวว่า “พระยะโฮวาได้ตรัสดังนี้ว่า, ‘มีเสียงอย่างหนึ่งได้ยินแต่ (เมือง) รามาเป็นความโศกเศร้า, แลน้ำตาไหลขมขื่น, คือราเฮ็ลน้ำตาไหลเพราะลูกของตน, แลไม่ยอมให้เขามาปลอบโยนเพราะลูกของตัว, ด้วยว่าลูกเหล่านั้นไม่มีแล้ว.’ ” (ยิระ. 31:15) หลังจากการทำลายล้างกรุงเยรูซาเลมในปี 607 ก่อน ส.ศ. ดูเหมือนว่าเชลยชาวยิวได้รวมตัวกันในเมืองรามา ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงนั้นราวแปดกิโลเมตร. นักโทษบางคนอาจถึงกับถูกประหารที่เมืองรามา. เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้คำพยากรณ์สำเร็จเป็นจริงครั้งแรก ประหนึ่งว่าราเฮ็ลร้องไห้เนื่องจากสูญเสีย “ลูก” ของตน. อย่างไรก็ดี หกร้อยกว่าปีต่อมา กษัตริย์เฮโรดได้สั่งให้ฆ่าทารกในเมืองเบทเลเฮม. มัดธายผู้เขียนกิตติคุณอธิบายว่าถ้อยคำของยิระมะยาห์ได้บอกล่วงหน้าถึงปฏิกิริยาอันขมขื่นต่อการสังหารหมู่ครั้งนั้น.—มัด. 2:16-18
18. คำพยากรณ์ของพระเจ้าเกี่ยวกับอะโดมได้สำเร็จอย่างไร?
18 คำพยากรณ์อีกเรื่องหนึ่งได้สำเร็จในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราชด้วย. พระเจ้าได้ทรงบอกล่วงหน้าผ่านทางยิระมะยาห์ว่าเมืองอะโดมอยู่ในบรรดาชาติต่าง ๆ ที่จะได้รับผลเสียหายจากการรุกรานของบาบิโลน. (ยิระ. 25:15-17, 21; 27:1-7) แต่พระเจ้ายังตรัสมากกว่านั้นอีก. อะโดมจะกลายเป็นเหมือนเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์. คุณย่อมรู้ว่านั่นหมายถึงอะไร เมืองนั้นจะไม่มีคนอาศัยอยู่ตลอดกาล สูญสิ้นไป. (ยิระ. 49:7-10, 17, 18) เหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นจริง ๆ. คุณคิดว่าจะพบชื่อเมืองอะโดมและชาวอะโดมได้ที่ไหนในทุกวันนี้? มีอยู่ในแผนที่สมัยใหม่ไหม? ไม่มี. ส่วนใหญ่จะพบชื่อดังกล่าวในหนังสือประวัติศาสตร์โบราณและหนังสือประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิลหรือไม่ก็ในแผนที่ซึ่งแสดงถึงยุคนั้น. ฟลาวิอุส โยเซฟุสระบุว่าพวกอะโดมถูกบังคับให้ยอมรับศาสนายิวในศตวรรษที่สองก่อน ส.ศ. หลังจากนั้น เมื่อเยรูซาเลมถูกทำลายในปี ส.ศ. 70 พวกเขาก็ไม่ได้เป็นชนชาติหนึ่งอีกต่อไป.
19. หนังสือยิระมะยาเผยให้เห็นอะไรในเรื่องพระปรีชาสามารถของพระเจ้าที่ทำให้คำพยากรณ์สำเร็จ?
19 ดังที่คุณสังเกต หนังสือยิระมะยาหลายต่อหลายบทเต็มไปด้วยคำพยากรณ์เกี่ยวกับบุคคลและชาติต่าง ๆ. คำพยากรณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ได้สำเร็จไปแล้ว. ความจริงนี้อย่างเดียวก็น่าจะทำให้คุณสนใจหนังสือยิระมะยาและศึกษาดู เพราะนั่นยืนยันอะไรบางอย่างเกี่ยวกับพระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่งของคุณ. พระยะโฮวาได้ทรงกระทำสิ่งที่ตั้งพระทัยไว้แล้ว และพระองค์ยังจะกระทำเช่นนั้นอีก. (อ่านยะซายา 46:9-11 ) เรื่องนี้จะทำให้คุณมีความมั่นใจยิ่งขึ้นในสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ล่วงหน้า. ที่จริง ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์บางเรื่องที่ยิระมะยาห์บันทึกส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวคุณและอนาคตของคุณ. ขอให้เราพิจารณาคำพยากรณ์เหล่านี้บางเรื่องในส่วนต่อไปของบทนี้.
มีคำพยากรณ์อะไรบ้างที่ได้สำเร็จหลังจากยิระมะยาห์เสียชีวิต และเหตุใดคำพยากรณ์เหล่านี้จึงสำคัญสำหรับคุณ?
คำพยากรณ์ที่มีผลกระทบต่อคุณ
20-22. เหตุใดจึงอาจกล่าวได้ว่าคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล รวมทั้งบางเรื่องในหนังสือยิระมะยาได้สำเร็จเป็นจริงมากกว่าหนึ่งครั้ง? จงยกตัวอย่าง.
20 คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลอาจสำเร็จเป็นจริงมากกว่าหนึ่งครั้ง. เป็นเช่นเดียวกันกับคำตอบของพระเยซูที่ให้แก่เหล่าสาวกเมื่อพวกเขาถามว่าอะไรจะเป็นสัญญาณบอกว่า “พระองค์ประทับอยู่และบอกว่าเป็นช่วงสุดท้ายของยุค.” (มัด. 24:3) คำพยากรณ์ได้สำเร็จในปี ส.ศ. 66 ถึง ส.ศ. 70. อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดว่าในบางแง่มุมของคำพยากรณ์นั้นยังจะต้องสำเร็จระหว่าง “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ซึ่งจะเกิดขึ้นกับระบบชั่วทั้งสิ้นนี้. นั่นจะเป็นความทุกข์ลำบาก “อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์โลกจนบัดนี้ และจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย.” (มัด. 24:21) ความคล้ายคลึงกันเช่นนั้นมีอยู่ในคำพยากรณ์ที่ยิระมะยาห์บันทึก. คำพยากรณ์เหล่านี้บางเรื่องได้สำเร็จเป็นจริงครั้งแรกในปี 607 ก่อน ส.ศ. แต่ความสำเร็จเป็นจริงครั้งที่สองได้เกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกนาน ดังที่เราสังเกตเกี่ยวกับ “ราเฮ็ลน้ำตาไหลเพราะลูกของตน.” (ยิระ. 31:15) ที่จริง บางเรื่องที่ยิระมะยาห์ได้บอกล่วงหน้าเกี่ยวข้องกับสมัยที่คุณมีชีวิตอยู่ และความสำเร็จเป็นจริงของเรื่องนั้นมีผลกระทบต่อคุณเป็นส่วนตัว.
21 คุณทราบเรื่องนี้ได้จากหนังสือวิวรณ์. ภายใต้การดลใจ อัครสาวกโยฮันได้อ้างถึงคำพยากรณ์ที่ยิระมะยาห์ได้บอกไว้เกี่ยวกับจุดจบของบาบิโลนในปี 539 ก่อน ส.ศ. ในวิวรณ์เราพบความคล้ายคลึงกันระหว่างเหตุการณ์นั้นกับสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ว่าจะต้องเกิดขึ้นในขอบเขตที่ใหญ่กว่า. หนึ่งในคำพยากรณ์ที่ยิระมะยาห์ได้กล่าวและได้สำเร็จแล้วในสมัยปัจจุบัน คือเรื่องเกี่ยวกับการล่มจมของจักรวรรดิใหญ่ นั่นคือ “บาบิโลนใหญ่” จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ. (วิ. 14:8; 17:1, 2, 5; ยิระ. 50:2; 51:8) ประชาชนของพระเจ้าจะต้อง “ออกมาจากเมืองนี้” เพื่อจะไม่มีส่วนร่วมในจุดจบของเมืองนี้. (วิ. 18:2, 4; ยิระ. 51:6) น้ำของเมืองนี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงประชาชน หรือเหล่าผู้สนับสนุนจะ “แห้งไป.”—ยิระ. 51:36; วิ. 16:12
22 ยังมีคำพยากรณ์ที่จะสำเร็จในอนาคตคือคำสัญญาที่ว่าพระเจ้าจะแก้แค้นศาสนาเท็จเนื่องจากการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อประชาชนของพระองค์. พระยะโฮวาจะ “ตอบแทนแก่เมืองบาบูโลนตามอย่างที่บาบูโลนได้กระทำ.” (ยิระ. 50:29; 51:9; วิ. 18:6) และดินแดนโดยนัยของศาสนาเท็จต้องกลายเป็นที่ร้างเปล่า.—ยิระ. 50:39, 40
23. ยิระมะยาห์ได้บอกล่วงหน้าถึงการฟื้นฟูอะไรที่ได้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20?
23 ดังที่คุณคงได้สังเกตแล้ว คำพยากรณ์ของยิระมะยาห์ยังเสนอมุมมองในแง่ดีด้วย. ตัวอย่างเช่น ท่านได้บอกล่วงหน้าถึงการฟื้นฟูการนมัสการแท้บนแผ่นดินโลกในสมัยปัจจุบัน. การปลดปล่อยเชลยชาวยิวจากเมืองบาบิโลนโบราณเทียบได้กับการปลดปล่อยประชาชนของพระเจ้าสมัยปัจจุบันจากบาบิโลนใหญ่หลังจากราชอาณาจักรได้รับการสถาปนาขึ้นในสวรรค์. พระยะโฮวาทรงฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์ในท่ามกลางประชาชนของพระองค์ และนั่นทำให้พวกเขารู้สึกขอบพระคุณและมีความชื่นชมยินดี. พระองค์ได้ทรงอวยพรความพยายามของพวกเขาที่จะช่วยคนอื่นให้มานมัสการพระองค์และได้รับการเลี้ยงดูอย่างอุดมทางฝ่ายวิญญาณ. (อ่านยิระมะยา 30:18, 19 ) คุณยังทราบจากประสบการณ์ส่วนตัวว่าในปัจจุบันพระยะโฮวาได้ทำตามคำสัญญาของพระองค์ที่จะให้ประชาชนของพระองค์มีผู้บำรุงเลี้ยง ซึ่งได้แก่ชายที่เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณซึ่งเอาใจใส่ดูแลและปกป้องฝูงแกะอย่างแท้จริง.—ยิระ. 3:15; 23:3, 4
24. ถ้อยคำอะไรของยิระมะยาห์ที่กระทบความรู้สึกซึ่งยังจะต้องสำเร็จเป็นจริง?
24 ข่าวสารที่ยิระมะยาห์บอกแก่ประชาชนของพระเจ้าในสมัยก่อนมิใช่มีแต่คำสัญญาเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่าสำหรับผู้ซื่อสัตย์เท่านั้น แต่ยังมีคำเตือนที่ว่าพระยะโฮวาจะทำลายคนเหล่านั้นที่ไม่ได้รักษาสัมพันธภาพกับพระองค์. เป็นเช่นเดียวกันในทุกวันนี้. เราเข้าใจได้ไม่ยากถึงความเร่งด่วนของคำเตือนที่แฝงอยู่ในถ้อยคำต่อไปนี้ “ผู้ที่ต้องประหารโดยพระยะโฮวาในวันนั้นจะมีแต่ปลายพิภพข้างนี้จนถึงปลายพิภพข้างโน้น. เขาทั้งปวงที่ต้องประหารนั้นจะไม่มีใครร้องไห้ร้องห่มเพราะเขา, แลเขาจะไม่ต้องเก็บไม่ต้องฝัง, เขาทั้งปวงจะเป็นของเน่าเหนือพื้นดิน.”—ยิระ. 25:33
25. ประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้มีความรับผิดชอบอะไร?
25 ใช่แล้ว เช่นเดียวกับยิระมะยาห์ เรามีชีวิตอยู่ในสมัยวิกฤติ. ดังที่เป็นในสมัยของท่าน ปฏิกิริยาที่ผู้คนมีต่อข่าวสารของพระยะโฮวาอาจหมายถึงชีวิตหรือไม่ก็ความตาย. ประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ไม่ใช่ผู้พยากรณ์. เราไม่ได้รับการดลใจให้เพิ่มข้อความใด ๆ เข้ากับความจริงที่ไม่ผิดพลาดของพระยะโฮวาซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล. แต่เราได้รับมอบหมายให้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรเรื่อยไปจนถึงอวสานของยุคนี้. (มัด. 28:19, 20) แน่นอนเราไม่ต้องการ ‘ขโมยคำโอวาทของพระยะโฮวา’ โดยปิดบังผู้คนมิให้รู้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น. (อ่านยิระมะยา 23:30 ) เราตั้งใจที่จะไม่ทำให้พลังและผลกระทบจากพระคำของพระเจ้าขาดหายไป. คำพยากรณ์หลายเรื่องที่พระเจ้าทรงให้ยิระมะยาห์ประกาศได้สำเร็จเป็นจริงไปแล้ว. นี่ทำให้เรามั่นใจว่าคำพยากรณ์ที่ยังจะต้องสำเร็จนั้นจะเป็นจริงอย่างแน่นอน. เราต้องบอกผู้คนว่าพระเจ้าจะทรงกระทำ ‘สำเร็จตามที่กะโครงการไว้แล้วแต่เบื้องบรรพ์’ อย่างไม่ผิดพลาด.—ทุกข์. 2:17
26. ยังจะมีการพิจารณาคำพยากรณ์อะไรอีก?
26 การพิจารณากิจการงานและข่าวสารเชิงพยากรณ์ของยิระมะยาห์คงจะไม่ครบถ้วนหากไม่ได้เอาใจใส่คำสัญญาอันยอดเยี่ยมของพระยะโฮวาเกี่ยวกับ “สัญญาใหม่” ที่ทรงทำกับประชาชนของพระองค์ ซึ่งก็คือกฎหมายที่พระองค์จะทรงจารึกไว้ในหัวใจพวกเขา. (ยิระ. 31:31-33) คำพยากรณ์นี้รวมทั้งความสำเร็จเป็นจริงซึ่งมีผลกระทบต่อคุณโดยตรงเป็นเนื้อหาของบทต่อไป.
คำพยากรณ์อะไรบ้างในหนังสือยิระมะยาที่ได้สำเร็จเป็นจริงในสมัยปัจจุบัน? คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับคำพยากรณ์ที่ยังจะต้องสำเร็จ?