“จงเอาใจใส่” พระวิหารของพระเจ้า!
“บุตรมนุษย์เอ๋ย . . . เจ้าจงเอาใจใส่ในสิ่งทั้งปวงที่เราจะให้เจ้าเห็นนั้น . . . เจ้าจงแจ้งสิ่งทั้งปวงที่เจ้าเห็นแก่เรือนยิศราเอล.”—ยะเอศเคล 40:4.
1. ไพร่พลที่ถูกเลือกสรรของพระเจ้าพบตัวเองอยู่ในสภาพเช่นไรในปี 593 ก.ส.ศ.?
ปีนั้นเป็นปี 593 ก่อนสากลศักราช ปีที่ 14 แห่งการถูกเนรเทศของชนชาติยิศราเอล. สำหรับชาวยิวที่อยู่ในกรุงบาบูโลน มาตุภูมิอันเป็นที่รักของพวกเขาคงต้องดูเหมือนว่าอยู่ห่างไกลอย่างยิ่ง. ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาส่วนใหญ่เห็นกรุงยะรูซาเลม กรุงนี้ตกอยู่ในเปลวเพลิง กำแพงเมืองอันยิ่งใหญ่ถูกทุบทำลาย ตึกรามบ้านช่องอันโอ่อ่ากลายเป็นซากปรักหักพัง. พระวิหารของพระยะโฮวา—ครั้งหนึ่งเคยเป็นสง่าราศีสูงสุดของกรุงนี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการนมัสการบริสุทธิ์แห่งเดียวบนแผ่นดินโลก—ถูกทำลายจนเหลือแต่ซาก. ถึงตอนนี้ ยังเหลือเวลาอีกมากที่ชาวยิศราเอลจะต้องทนอยู่ในสภาพพลัดถิ่นต่อไป. ต้องรออีก 56 ปีจึงจะมีการช่วยพวกเขาให้เป็นอิสระตามที่ทรงสัญญาไว้.—ยิระมะยา 29:10.
2. เหตุใดความทรงจำเกี่ยวกับพระวิหารของพระเจ้าในกรุงยะรูซาเลมคงทำให้ยะเอศเคลเศร้าใจ?
2 คงต้องเป็นเรื่องที่ทำให้ยะเอศเคลผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์รู้สึกเศร้าใจเมื่อคิดถึงพระวิหารของพระเจ้าที่กองอยู่ในซากปรักหักพังห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร กลายเป็นที่รกร้างซึ่งสัตว์ป่าย่ำเดิน. (ยิระมะยา 9:11) บูซีผู้เป็นบิดาของท่านเคยรับใช้ในฐานะปุโรหิตอยู่ที่นั่น. (ยะเอศเคล 1:3) ยะเอศเคลคงได้รับสิทธิพิเศษเดียวกันนี้ หากท่านไม่ถูกจับตัวเป็นเชลยเสียก่อนพร้อมกับกลุ่มคนชั้นสูงแห่งกรุงยะรูซาเลมในปี 617 ก.ส.ศ. เมื่อยังหนุ่มอยู่. มาบัดนี้อายุท่านประมาณ 50 ปีแล้ว ยะเอศเคลคงทราบว่าท่านจะไม่มีโอกาสได้เห็นกรุงยะรูซาเลมอีกครั้งหนึ่งหรือมีส่วนในการบูรณะพระวิหารของกรุงนี้. ดังนั้น ขอให้นึกภาพว่าการที่ยะเอศเคลได้รับนิมิตเกี่ยวกับพระวิหารอันรุ่งโรจน์คงต้องมีความหมายสำหรับท่านสักเพียงใด!
3. (ก) จุดประสงค์ของนิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวด้วยพระวิหารคืออะไร? (ข) องค์ประกอบหลัก ๆ สี่ประการของนิมิตนี้คืออะไร?
3 นิมิตนี้ซึ่งมีเนื้อหากว้าง มีเนื้อเรื่องอยู่ในเก้าบทของพระธรรมยะเอศเคล ให้คำสัญญาที่เสริมความเชื่อแก่ชาวยูดายที่เป็นผู้พลัดถิ่น. การนมัสการแท้จะได้รับการฟื้นฟู! ตลอดหลายศตวรรษนับแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงสมัยของเรา นิมิตนี้เป็นแหล่งแห่งกำลังใจแก่ผู้ที่รักพระยะโฮวา. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? ให้เรามาพิจารณาว่านิมิตเชิงพยากรณ์ของยะเอศเคลมีความหมายเช่นไรต่อชาวยิศราเอลที่เป็นผู้พลัดถิ่น. นิมิตนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก ๆ สี่ประการ กล่าวคือ พระวิหาร, คณะปุโรหิต, หัวหน้า, และแผ่นดิน.
พระวิหารได้รับการฟื้นฟู
4. ยะเอศเคลถูกพาไปที่ไหนในตอนเริ่มต้นนิมิต, ท่านเห็นอะไรที่นั่น, และใครนำท่านตระเวนชม?
4 ก่อนอื่น ยะเอศเคลถูกนำมาที่ “ภูเขาอันสูงสุด.” บนภูเขานั้นทางทิศใต้มีพระวิหารขนาดมหึมา ดูราวกับกรุงที่มีกำแพงล้อมรอบ. ทูตสวรรค์องค์หนึ่งซึ่งรูปลักษณะ “ดูดุจทองเหลือง [“ทองแดง,” ล.ม.]” พาท่านผู้พยากรณ์ตระเวนชมจนทั่วบริเวณพระวิหารนั้น. (ยะเอศเคล 40:2, 3) ขณะที่นิมิตดำเนินไป ยะเอศเคลเห็นทูตสวรรค์กำลังวัดอย่างละเอียดที่ประตูซึ่งเป็นคู่กันทั้งสามคู่พร้อมกับห้องยาม, และยังได้วัดลานพระวิหารชั้นนอก, ลานพระวิหารชั้นใน, ห้องรับประทานอาหาร, แท่นบูชา, ตลอดจนส่วนที่เป็นห้องบริสุทธิ์และห้องบริสุทธิ์ที่สุดของพระวิหารด้วย.
5. (ก) พระยะโฮวาทรงให้คำรับรองในเรื่องใดแก่ยะเอศเคล? (ข) “ศพเจ้าแผ่นดินของเขา” ซึ่งต้องถูกขจัดออกจากพระวิหารคืออะไร และเหตุใดเรื่องนี้จึงสำคัญ?
5 จากนั้น พระยะโฮวาเองทรงปรากฏในนิมิตนั้น. พระองค์เสด็จเข้ามาในพระวิหารและรับรองกับยะเอศเคลว่าพระองค์จะสถิต ณ ที่นั่น. แต่พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้ชำระพระนิเวศของพระองค์ให้สะอาด โดยตรัสว่า “เดี๋ยวนี้เขาจะให้ความล่วงประเวณีของเขาและศพเจ้าแผ่นดินของเขาห่างไกลจากเรา, และเราจะอยู่อาศัยในท่ามกลางเขาทั้งปวงเป็นนิตย์.” (ยะเอศเคล 43:2-4, 7, 9) หลักฐานที่มีบ่งชี้ว่า “ศพเจ้าแผ่นดินของเขา” เหล่านี้หมายถึงรูปเคารพ. ผู้ครอบครองและประชาชนที่กบฏแห่งกรุงยะรูซาเลมได้ทำให้พระวิหารของพระเจ้าเป็นมลทินด้วยรูปเคารพ ซึ่งก็เท่ากับว่าได้ยกให้รูปเคารพเหล่านี้เป็นกษัตริย์. (เทียบกับอาโมศ 5:26, ฉบับแปลใหม่.) แน่ละ รูปเคารพเหล่านี้ไม่ใช่พระเจ้าหรือกษัตริย์ที่ทรงพระชนม์ หากแต่เป็นสิ่งไร้ชีวิตและเป็นมลทินในสายพระเนตรพระยะโฮวา. รูปเคารพเหล่านี้ต้องถูกขจัดออกไป.—เลวีติโก 26:30; ยิระมะยา 16:18.
6. การวัดพระวิหารมีความหมายเช่นไร?
6 จุดสำคัญในส่วนนี้ของนิมิตคืออะไร? นิมิตในส่วนนี้รับรองกับผู้พลัดถิ่นถึงการฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์อย่างครบถ้วน ณ พระวิหารของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น การวัดพระวิหารเป็นการรับประกันจากพระเจ้าว่านิมิตนั้นต้องสำเร็จอย่างแน่นอน. (เทียบกับยิระมะยา 31:39, 40; ซะคาระยา 2:2-8.) การบูชารูปเคารพทุกรูปแบบจะถูกกวาดล้าง. พระยะโฮวาจะทรงอวยพรพระนิเวศของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง.
คณะปุโรหิตและหัวหน้า
7. มีการให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับพวกเลวีและปุโรหิต?
7 คณะปุโรหิตจะต้องผ่านกระบวนการชำระล้างหรือกลั่นกรองด้วย. ชาวเลวีต้องถูกตำหนิที่ยอมพ่ายแพ้แก่การบูชารูปเคารพ ในขณะที่เหล่าปุโรหิตที่เป็นบุตรของซาโดคควรได้รับคำชมเชยและบำเหน็จสำหรับการรักษาตัวสะอาด.a กระนั้น ทั้งสองกลุ่มจะได้รับหน้าที่รับใช้ในพระนิเวศของพระเจ้าที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่—แน่ละ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ของเขาแต่ละคนด้วย. นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาดังนี้: “เขาทั้งหลายจะต้องสั่งสอนประชากรของเราถึงความแตกต่างระหว่างของบริสุทธิ์และของสาธารณ์ และสำแดงให้เขาสังเกตได้ว่า อะไรเป็นมลทินและอะไรไม่เป็นมลทิน.” (ยะเอศเคล 44:10-16, 23, ฉบับแปลใหม่) ดังนั้น จะต้องมีการฟื้นฟูคณะปุโรหิต และความอดทนอย่างซื่อสัตย์ของพวกปุโรหิตจะได้รับบำเหน็จ.
8. (ก) พวกหัวหน้าแห่งยิศราเอลโบราณเป็นใคร? (ข) หัวหน้าในนิมิตของยะเอศเคลขันแข็งในการนมัสการบริสุทธิ์เช่นใดบ้าง?
8 นิมิตยังได้กล่าวถึงคนที่เรียกว่าหัวหน้าด้วย. นับตั้งแต่สมัยโมเซเป็นต้นมา ชาตินี้มีหัวหน้า. คำในภาษาฮีบรูที่แปลในที่นี้ว่า “หัวหน้า” คือ นาซี ʹ ซึ่งอาจหมายถึงพ่อบ้านที่เป็นหัวหน้าครอบครัว, หัวหน้าตระกูล, หรือแม้แต่ผู้นำประเทศก็ได้. ในนิมิตของยะเอศเคล ชนชั้นผู้ปกครองของยิศราเอลถูกตำหนิที่กดขี่ประชาชนและถูกกระตุ้นเตือนให้แสดงความยุติธรรมและเที่ยงธรรม. แม้ว่าหัวหน้าไม่ได้อยู่ในชนจำพวกปุโรหิต แต่เขาก็ขันแข็งอย่างเห็นได้ชัดในการนมัสการบริสุทธิ์. เขาเข้าและออกจากลานพระวิหารชั้นนอกด้วยกันกับตระกูลที่ไม่ใช่ปุโรหิต, นั่งอยู่ที่ซุ้มทางเข้าพระวิหารของประตูด้านตะวันออก, และจัดหาเครื่องบูชาให้ประชาชนถวาย. (ยะเอศเคล 44:2, 3; 45:8-12, 17, ล.ม.) นิมิตนี้จึงรับรองกับชนชาติของยะเอศเคลว่า ชาติที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่จะได้รับพระพรให้มีผู้นำที่เป็นแบบอย่าง ซึ่งเป็นพวกผู้ชายที่จะให้การสนับสนุนคณะปุโรหิตในการจัดระเบียบไพร่พลของพระเจ้าและเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านฝ่ายวิญญาณ.
แผ่นดิน
9. (ก) แผ่นดินจะต้องถูกแบ่งอย่างไร แต่ใครจะไม่ได้รับส่วนมรดก? (ข) ตำบลบริสุทธิ์คืออะไร และมีอะไรตั้งอยู่ที่นั่นบ้าง?
9 ในตอนท้าย ส่วนหนึ่งในนิมิตของยะเอศเคลกล่าวกว้าง ๆ เกี่ยวกับแผ่นดินยิศราเอล. แผ่นดินของพวกเขาจะถูกแบ่งโดยจัดสรรให้แต่ละตระกูล. หัวหน้าก็จะได้รับส่วนมรดกด้วย. แต่ปุโรหิตจะไม่ได้รับ เพราะพระยะโฮวาตรัสว่า “เราเป็นมฤดกของเขา.” (ยะเอศเคล 44:10, 28; อาฤธโม 18:20) นิมิตนี้ชี้ว่าส่วนแบ่งที่ดินของหัวหน้าจะตั้งอยู่ทั้งสองด้านของพื้นที่พิเศษที่เรียกว่าตำบลบริสุทธิ์. ตำบลบริสุทธิ์เป็นผืนที่ดินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งแบ่งออกเป็นสามส่วน—ส่วนบนสำหรับชาวเลวีที่กลับใจ, ส่วนกลางสำหรับปุโรหิต, และส่วนล่างสำหรับเมืองและที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ของเมืองนั้น. พระวิหารของพระยะโฮวาจะตั้งอยู่ในส่วนที่ดินของพวกปุโรหิต ตรงใจกลางของส่วนอุทิศถวายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้.—ยะเอศเคล 45:1-7.
10. คำพยากรณ์เกี่ยวกับการแบ่งที่ดินมีความหมายเช่นไรต่อชาวยูดายที่ซื่อสัตย์ที่เป็นผู้พลัดถิ่น?
10 ทั้งหมดนี้คงต้องได้ทำให้ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้มีกำลังใจขึ้นสักเพียงไร! แต่ละครอบครัวได้รับคำรับรองว่าจะได้ที่ดินเป็นมรดก. (เทียบกับมีคา 4:4.) การนมัสการบริสุทธิ์จะตั้งอยู่ในที่สูงเด่นตรงกลางแผ่นดินนั้น. และพึงสังเกตจากในนิมิตของยะเอศเคลว่า เช่นเดียวกับปุโรหิต หัวหน้าจะอาศัยอยู่ในที่ดินซึ่งประชาชนอุทิศให้. (ยะเอศเคล 45:16) ดังนั้น ในแผ่นดินที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่นี้ ประชาชนจะต้องมีส่วนช่วยในงานของผู้ที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งให้นำหน้า สนับสนุนพวกเขาด้วยการให้ความร่วมมือกับการชี้นำของเขา. จากทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าแผ่นดินนี้ให้ภาพของการจัดระเบียบ, การร่วมมือกัน, และความมั่นคงปลอดภัย.
11, 12. (ก) พระยะโฮวาทรงรับรองกับไพร่พลพระองค์ด้วยคำพยากรณ์อย่างไรว่าพระองค์จะทรงอวยพระพรมาตุภูมิของพวกเขาที่ได้รับการฟื้นฟู? (ข) ต้นไม้ตามสองฝั่งแม่น้ำเป็นภาพหมายถึงอะไร?
11 พระยะโฮวาจะทรงอวยพระพรแก่แผ่นดินของพวกเขาไหม? คำพยากรณ์นี้ตอบคำถามดังกล่าวด้วยภาพพรรณนาซึ่งทำให้อบอุ่นใจ. กระแสน้ำสายหนึ่งไหลจากพระวิหาร ยิ่งไหลไปก็ยิ่งกว้าง และกลายเป็นกระแสน้ำเชี่ยวกรากเมื่อไหลลงสู่ทะเลตาย. ที่นั่น กระแสน้ำนี้คืนชีวิตให้แก่ท้องน้ำอันปราศจากชีวิต และกิจการประมงก็เจริญรุ่งเรืองตลอดชายฝั่ง. ตามสองฝั่งแม่น้ำ มีต้นไม้เป็นจำนวนมากออกผลตลอดปี ให้การบำรุงและเยียวยารักษา.—ยะเอศเคล 47:1-12.
12 ในสายตาของผู้พลัดถิ่น คำสัญญานี้กล่าวซ้ำและยืนยันคำพยากรณ์ก่อนหน้านั้นเกี่ยวกับการฟื้นฟูซึ่งพวกเขาถือว่ามีค่ามาก. มีมากกว่าหนึ่งครั้งที่เหล่าผู้พยากรณ์ซึ่งได้รับการดลใจจากพระยะโฮวาได้พรรณนาถึงแผ่นดินยิศราเอลซึ่งได้รับการฟื้นฟูและเต็มไปด้วยประชากรอีกครั้งหนึ่งด้วยถ้อยคำที่พรรณนาภาพอุทยาน. พื้นที่รกร้างกลับมีชีวิตอีกครั้งเป็นสาระสำคัญของคำพยากรณ์ที่มีการกล่าวซ้ำหลายครั้ง. (ยะซายา 35:1, 6, 7; 51:3; ยะเอศเคล 36:35; 37:1-14) ดังนั้น ประชาชนอาจคาดหวังได้ว่าพระพรที่ให้ชีวิตของพระยะโฮวาจะหลั่งไหลออกมาเหมือนแม่น้ำไหลจากพระวิหารที่ได้รับการฟื้นฟู. ผลคือ ชาติที่ตายแล้วฝ่ายวิญญาณจะกลับมีชีวิต. ประชาชนที่ได้รับการช่วยให้กลับสู่ฐานะเดิมจะได้รับพระพรอันได้แก่พวกผู้ชายที่เด่นฝ่ายวิญญาณซึ่งเป็นคนที่ชอบธรรมและหนักแน่นดุจต้นไม้ตามริมฝั่งแม่น้ำโดยนัยนั้น โดยคนเหล่านี้จะนำหน้าในการบูรณะแผ่นดินที่เหลือแต่ซากปรักหักพัง. ยะซายาก็เขียนเกี่ยวกับ “ต้นไม้ใหญ่แห่งความชอบธรรม” ด้วย ซึ่งจะเป็นผู้ “สร้างสถานที่ซึ่งถูกทำลายมาเนิ่นนานขึ้นใหม่.”—ยะซายา 61:3, 4, ล.ม.
นิมิตนี้สำเร็จเมื่อไร?
13. (ก) พระยะโฮวาทรงอวยพระพรแก่ไพร่พลที่ได้รับการช่วยให้กลับสู่ฐานะเดิมด้วย “ต้นไม้ใหญ่แห่งความชอบธรรม” ในความหมายเช่นไร? (ข) คำพยากรณ์เกี่ยวกับทะเลตายสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
13 ผู้ถูกเนรเทศที่กลับมารู้สึกผิดหวังไหม? ไม่เลย! ชนที่ยังเหลืออยู่ซึ่งได้รับการช่วยให้กลับสู่ฐานะเดิมได้คืนสู่มาตุภูมิอันเป็นที่รักของเขาในปี 537 ก่อนสากลศักราช. ในที่สุด ภายใต้การชี้นำของคนเหล่านั้นที่เป็น “ต้นไม้ใหญ่แห่งความชอบธรรม”—เช่น ท่านอาลักษณ์เอษรา, ผู้พยากรณ์ฮาฆีและซะคาระยา, และมหาปุโรหิตยะโฮซูอะ—สถานที่ซึ่งถูกทำลายมาเนิ่นนานก็ถูกสร้างขึ้นใหม่. พวกหัวหน้า อย่างเช่นนะเฮมยาและซะรูบาเบล ปกครองแผ่นดินอย่างยุติธรรมและเที่ยงธรรม. มีการสร้างพระวิหารของพระยะโฮวาขึ้นใหม่ และการจัดเตรียมต่าง ๆ ของพระองค์เพื่อชีวิต ซึ่งก็คือพระพรแห่งการดำเนินชีวิตตามสัญญาไมตรีของพระองค์ ก็หลั่งไหลลงมาอีกครั้งหนึ่ง. (พระบัญญัติ 30:19; ยะซายา 48:17-20) พระพรอย่างหนึ่งได้แก่ความรู้. คณะปุโรหิตกลับมาทำหน้าที่ และบรรดาปุโรหิตก็สอนพระบัญญัติแก่ประชาชน. (มาลาคี 2:7) ผลก็คือ ประชาชนกลับมีชีวิตชีวาทางฝ่ายวิญญาณอีกครั้งหนึ่งและกลายเป็นผู้รับใช้ที่บังเกิดผลของพระยะโฮวา ดังที่แสดงภาพไว้ด้วยทะเลตายที่ได้รับการเยียวยาและทำให้กิจการประมงมีผลผลิตอุดมสมบูรณ์.
14. เหตุใดต้องได้มีความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำพยากรณ์ของยะเอศเคลที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ได้สำเร็จไปแล้วหลังจากชาวยิวกลับจากการเป็นเชลยในบาบูโลน?
14 เหตุการณ์เหล่านี้เป็นความสำเร็จเป็นจริงอย่างเดียวของนิมิตที่ยะเอศเคลได้รับไหม? หามิได้; มีการบ่งชี้ถึงบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า. ขอพิจารณาดังต่อไปนี้: พระวิหารที่ยะเอศเคลเห็นนั้นไม่สามารถสร้างได้จริงตามคำพรรณนา. จริงอยู่ ชาวยิวถือนิมิตนี้อย่างจริงจังและถึงกับลงมือทำตามรายละเอียดบางประการตามตัวอักษร.b แต่พระวิหารในนิมิตนี้ทั้งหลังใหญ่เกินกว่าจะตั้งอยู่ที่ภูเขาโมรียาอันเป็นที่ตั้งของพระวิหารหลังเก่า. นอกจากนี้ พระวิหารตามในนิมิตของยะเอศเคลไม่ได้ตั้งอยู่ในเมือง แต่ตั้งแยกอยู่ต่างหากบนที่ดินนอกเมือง ในขณะที่พระวิหารหลังที่สองถูกสร้างขึ้นในบริเวณที่พระวิหารหลังแรกเคยตั้งอยู่ คือในกรุงยะรูซาเลม. (เอษรา 1:1, 2) นอกจากนั้น ไม่เคยมีแม่น้ำจริง ๆ สายใดเคยไหลออกจากพระวิหารของกรุงยะรูซาเลม. ดังนั้น สิ่งที่ชนยิศราเอลโบราณได้เห็นเป็นเพียงความสำเร็จเป็นจริงในส่วนย่อยแห่งคำพยากรณ์ของยะเอศเคล. ทั้งนี้ก็ย่อมหมายความว่านิมิตนี้ต้องมีความสำเร็จเป็นจริงทางฝ่ายวิญญาณที่ยิ่งใหญ่กว่า.
15. (ก) พระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาเริ่มดำเนินงานเมื่อไร? (ข) อะไรที่แสดงว่านิมิตของยะเอศเคลไม่ได้สำเร็จเป็นจริงในระหว่างที่พระคริสต์ทรงมีชีวิตบนแผ่นดินโลก?
15 เห็นได้ชัด เราต้องดูความสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญแห่งนิมิตของยะเอศเคลที่พระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา ซึ่งอัครสาวกเปาโลพิจารณาอย่างละเอียดในพระธรรมเฮ็บราย. พระวิหารฝ่ายวิญญาณดำเนินงานเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงได้รับการเจิมเป็นมหาปุโรหิตของพระวิหารนี้ในปี ส.ศ. 29. แต่นิมิตของยะเอศเคลสำเร็จเป็นจริงในสมัยของพระเยซูไหม? เห็นได้ชัดว่าไม่. ในฐานะมหาปุโรหิต พระเยซูทรงทำให้ส่วนสำคัญแห่งคำพยากรณ์เกี่ยวกับวันไถ่โทษสำเร็จด้วยการรับบัพติสมาของพระองค์, การสิ้นพระชนม์เป็นเครื่องบูชา, และการที่พระองค์เข้าสู่ที่บริสุทธิ์ที่สุด อันได้แก่สวรรค์. (เฮ็บราย 9:24) อย่างไรก็ตาม น่าสนใจที่นิมิตของยะเอศเคลไม่ได้กล่าวถึงมหาปุโรหิตหรือวันไถ่โทษแม้แต่ครั้งเดียว. ดังนั้น ดูเหมือนว่านิมิตนี้คงไม่ได้ชี้ไปที่ศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช. ถ้าอย่างนั้น นิมิตนี้สำเร็จเป็นจริงในช่วงเวลาใด?
16. ฉากในนิมิตของยะเอศเคลเตือนใจเราถึงคำพยากรณ์ข้อใดอีก และเรื่องนี้ช่วยเราอย่างไรให้เข้าใจเวลาแห่งความสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญแห่งนิมิตของยะเอศเคล?
16 เพื่อจะได้คำตอบ ให้เราย้อนไปพิจารณานิมิตนี้. ยะเอศเคลบันทึกไว้ดังนี้: “พระองค์ได้นำข้าพเจ้าโดยนิมิตต่าง ๆ ของพระเจ้าไปถึงแผ่นดินยิศราเอล, และวางข้าพเจ้าลงที่ภูเขาอันสูงสุด, และบนภูเขานั้นมีสัณฐานเรือนดุจเมืองอยู่ในทิศใต้.” (ยะเอศเคล 40:2) ฉากที่นิมิตนี้กล่าวถึงคือ “ภูเขาอันสูงสุด” ทำให้เรานึกถึงมีคา 4:1 ซึ่งกล่าวว่า “เมื่อถึงสมัยสุดท้ายนั้น, ภูเขาอันเป็นที่ตั้งของโบสถ์แห่งพระยะโฮวานั้นจะถูกสถาปนาขึ้นให้เท่าเทียมกับขุนเขาสูงทั้งหลาย, แล้วจะถูกยกชูขึ้นให้สูงเยี่ยมเหนือภูเขาทั้งมวล; ประชาชนจะหลั่งไหลไปถึงที่นั่น.” คำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงเมื่อไร? มีคา 4:5 ชี้ว่าเหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นในขณะที่ชาติต่าง ๆ ยังคงนมัสการพระเท็จกันอยู่. ที่จริง เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นใน “สมัยสุดท้าย” ที่เรากำลังมีชีวิตอยู่นี่เอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การนมัสการบริสุทธิ์ได้รับการยกชูและฟื้นฟูสู่ตำแหน่งที่เหมาะสมในชีวิตของผู้รับใช้พระเจ้า.
17. คำพยากรณ์ที่มาลาคี 3:1-5 ช่วยเราอย่างไรให้ระบุเวลาที่พระวิหารในนิมิตของยะเอศเคลได้รับการชำระให้สะอาด?
17 อะไรทำให้การฟื้นฟูนี้เป็นไปได้? โปรดจำไว้ว่าในเหตุการณ์สำคัญที่สุดในนิมิตของยะเอศเคล พระยะโฮวาเสด็จมาที่พระวิหารและยืนยันว่าพระนิเวศของพระองค์ต้องได้รับการชำระให้สะอาดปราศจากการบูชารูปเคารพ. พระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าได้รับการชำระเมื่อไร? ที่มาลาคี 3:1-5 พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าถึงเวลาเมื่อพระองค์จะ “เสด็จมายังวิหารของพระองค์” พร้อมด้วย “ทูตแห่งคำสัญญาไมตรี” ของพระองค์ คือพระเยซูคริสต์. ด้วยจุดประสงค์อะไร? “พระองค์จะเป็นดุจไฟของช่างถลุงและดุจน้ำด่างของช่างซักผ้า.” การถลุงนี้เริ่มขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. ผลเป็นอย่างไร? พระยะโฮวาได้สถิตในพระนิเวศของพระองค์และอวยพระพรแก่แผ่นดินฝ่ายวิญญาณของไพร่พลพระองค์ตั้งแต่ปี 1919 เป็นต้นมา. (ยะซายา 66:8) เราจึงอาจสรุปได้ว่า คำพยากรณ์ของยะเอศเคลเกี่ยวด้วยพระวิหารสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญในระหว่างสมัยสุดท้ายนี้.
18. พระวิหารในนิมิตจะสำเร็จเป็นจริงครั้งสุดท้ายเมื่อไร?
18 เช่นเดียวกับคำพยากรณ์อื่น ๆ เกี่ยวกับการบูรณะ นิมิตของยะเอศเคลยังมีความสำเร็จเป็นจริงอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ในอุทยาน. ต้องรอให้ถึงเวลานั้นเสียก่อน มนุษยชาติที่มีหัวใจชอบธรรมจึงจะได้รับประโยชน์อย่างครบถ้วนจากการจัดเตรียมเกี่ยวด้วยพระวิหารของพระเจ้า. ถึงตอนนั้น พระคริสต์จะทรงใช้คุณค่าแห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระองค์ โดยมีคณะปุโรหิตฝ่ายสวรรค์ 144,000 คนร่วมกับพระองค์. ราษฎรทั้งสิ้นซึ่งเป็นมนุษย์ที่เชื่อฟังภายใต้การปกครองของพระคริสต์จะได้รับการยกขึ้นสู่ความสมบูรณ์. (วิวรณ์ 20:5, 6) อย่างไรก็ตาม เวลาที่โลกเป็นอุทยานไม่อาจเป็นเวลาแห่งความสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญ แห่งนิมิตของยะเอศเคล. เพราะเหตุใดจึงไม่ใช่?
นิมิตเล็งถึงสมัยของเรานี้เอง
19, 20. เหตุใดความสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญของนิมิตต้องเกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ใช่ในอุทยาน?
19 ยะเอศเคลเห็นพระวิหารที่จะต้องได้รับการชำระให้สะอาดปราศจากการบูชารูปเคารพและการผิดประเวณีฝ่ายวิญญาณ. (ยะเอศเคล 43:7-9) แน่นอน นี่ไม่อาจเป็นจริงกับการนมัสการพระยะโฮวาในอุทยาน. นอกจากนั้น ปุโรหิตตามในนิมิตนี้เป็นภาพเล็งถึงชนจำพวกปุโรหิตที่ได้รับการเจิมขณะยังอยู่บนแผ่นดินโลก ไม่ใช่หลังจากที่พวกเขาได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตในสวรรค์หรือในระหว่างรัชสมัยพันปี. เพราะเหตุใด? ขอให้สังเกตว่ามีการพรรณนาว่าปุโรหิตเหล่านี้รับใช้อยู่ในลานพระวิหารชั้นใน. บทความในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับก่อนหน้านี้ได้ชี้ว่าลานพระวิหารดังกล่าวหมายถึงฐานะจำเพาะทางฝ่ายวิญญาณของรองปุโรหิตของพระคริสต์ขณะที่พวกเขายังคงอยู่บนแผ่นดินโลก.c โปรดสังเกตด้วยว่า นิมิตนี้เน้นเกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์ของเหล่าปุโรหิต. พวกเขาได้รับพระบัญชาให้ถวายเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปของตนเอง. พวกเขาได้รับคำเตือนถึงอันตรายของความไม่สะอาดทางฝ่ายวิญญาณและศีลธรรม. ดังนั้น พวกเขาไม่ได้เป็นภาพเล็งถึงชนผู้ถูกเจิมที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย ผู้ซึ่งอัครสาวกเปาโลเขียนเกี่ยวกับพวกเขาว่า “แตรจะดังขึ้นและคนตายจะเป็นขึ้นมาสู่สภาพไม่เน่าเปื่อย.” (1 โกรินโธ 15:52, ล.ม.; ยะเอศเคล 44:21, 22, 25, 27) ปุโรหิตในนิมิตปะปนอยู่กับประชาชนและรับใช้ประชาชนโดยตรง. จะไม่เป็นเช่นนี้ในอุทยาน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ชนจำพวกปุโรหิตจะอยู่ในสวรรค์. ดังนั้น นิมิตนี้จึงให้ภาพที่ยอดเยี่ยมของแนวทางที่ชนผู้ถูกเจิมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ “ชนฝูงใหญ่” บนแผ่นดินโลกในทุกวันนี้.—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; ยะเอศเคล 42:14.
20 ฉะนั้น นิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวด้วยพระวิหารชี้ถึงผลกระทบที่ดีของการชำระฝ่ายวิญญาณซึ่งกำลังสำเร็จเป็นจริงอยู่ในทุกวันนี้. แต่ว่า เรื่องนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ? เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงปริศนาธรรม. นิมิตนี้เกี่ยวข้องอย่างมากกับการที่คุณเองนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวในแต่ละวัน. ในบทความถัดไป เราจะเห็นว่าเป็นเช่นนั้นอย่างไร.
[เชิงอรรถ]
a เรื่องนี้อาจมีผลกระทบต่อยะเอศเคลเป็นส่วนตัว เพราะว่ากันว่าท่านเองอยู่ในตระกูลปุโรหิตของซาโดค.
b ตัวอย่างเช่น มิชนาห์อันเก่าแก่กล่าวไว้ว่า ในพระวิหารที่ได้รับการฟื้นฟู, แท่นบูชา, ประตูแบบสองบานของพระวิหาร, และบริเวณที่ทำอาหาร ถูกสร้างขึ้นตรงกับในนิมิตของยะเอศเคล.
c ดูหอสังเกตการณ์ 1 กรกฎาคม 1996 หน้า 16; 1 ธันวาคม 1973 หน้า 717.
คุณจำได้ไหม?
▫ ความสำเร็จเป็นจริงในขั้นต้นแห่งนิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวด้วยพระวิหารและคณะปุโรหิตคืออะไร?
▫ นิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินมีความสำเร็จเป็นจริงในขั้นต้นอย่างไร?
▫ ในการฟื้นฟูชาติยิศราเอลโบราณขึ้นมาใหม่ ใครทำหน้าที่เป็นหัวหน้าที่ซื่อสัตย์ และใครทำหน้าที่เป็น “ต้นไม้ใหญ่แห่งความชอบธรรม”?
▫ เหตุใดนิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวด้วยพระวิหารต้องมีความสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญในระหว่างสมัยสุดท้ายนี้?