ครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงประสบผลสำเร็จได้
มีทางเป็นไปได้ไหมที่ครอบครัวซึ่งมีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงจะประสบผลสำเร็จ? เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วยจำไว้ว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) เมื่อทุกคนใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิล ก็แทบจะรับประกันได้เลยว่าจะประสบความสำเร็จ.
คุณลักษณะพื้นฐาน
คัมภีร์ไบเบิลกำหนดกฎหมายตามความเป็นจริงเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้นเพื่อควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์. ส่วนใหญ่แล้วพระคัมภีร์สนับสนุนการปลูกฝังคุณลักษณะและเจตคติที่ดีซึ่งชี้นำเราให้ปฏิบัติอย่างสุขุม. เจตคติและคุณลักษณะที่ดีดังกล่าวเป็นพื้นฐานของชีวิตครอบครัวที่มีความสุข.
อาจดูเหมือนชัดแจ้งในตัวอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ยังเหมาะที่จะพูดว่า คุณลักษณะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับครอบครัวใด ๆ ที่จะประสบผลสำเร็จนั้นคือความรัก. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “จงให้ความรักปราศจากมารยา. . . . ส่วนการที่รักพี่น้องนั้น จงรักด้วยใจเอ็นดู.” (โรม 12:9, 10) คำว่า “รัก” ถูกใช้อย่างผิด ๆ กันมาก แต่คุณลักษณะที่เปาโลกล่าวถึงในที่นี้เป็นแบบพิเศษ. นี่เป็นความรักแบบพระเจ้า และความรักแบบนี้ “ไม่ล้มเหลวเลย.” (1 โกรินโธ 13:8, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาความรักแบบนี้ไว้ว่าไม่เห็นแก่ตัวและพร้อมที่จะรับใช้. ความรักกระทำอย่างแข็งขันเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่น. ความรักอดทนและแสดงความกรุณา, ไม่เคยอิจฉาริษยา, โอ้อวด, หรือทะนง. ความรักไม่แสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง ทั้งยังพร้อมเสมอที่จะลดหย่อนให้, ไว้ใจ, หวัง, อดทนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม.—1 โกรินโธ 13:4-7.
ความรักแท้ช่วยขจัดความขัดแย้งกันและทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้แม้จะแตกต่างกันมากด้านการเลี้ยงดูและบุคลิกภาพ. และความรักช่วยสกัดกั้นผลกระทบที่ยังความเสียหายของการหย่าร้างหรือการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นพ่อแม่แท้ ๆ. ชายคนหนึ่งซึ่งกลายเป็นพ่อเลี้ยงพรรณนาถึงปัญหาแท้จริงของเขาว่า “ผมมักเป็นห่วงมากเกินไปเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเองจนลืมวิเคราะห์อารมณ์ของลูกเลี้ยงหรือกระทั่งของภรรยาด้วยซ้ำ. ผมต้องหัดเป็นคนรู้สึกไวน้อยลง. สำคัญที่สุด ผมต้องเรียนที่จะถ่อมใจ.” ความรักช่วยเขาให้ทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น.
พ่อแม่แท้ ๆ
ความรักช่วยได้ในการรับมือกับความสัมพันธ์ของเด็ก ๆ กับพ่อแม่แท้ ๆ ของเขาที่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว. พ่อเลี้ยงคนหนึ่งเผยความในใจว่า “ผมต้องการให้ลูกเลี้ยงมีความรักใคร่ในตัวผมเป็นอันดับแรก. เมื่อพวกเขาไปเยี่ยมพ่อแท้ ๆ ผมรู้สึกว่ายากที่จะต้านทานการล่อใจให้หาข้อบกพร่องของพ่อเด็ก. เมื่อพวกเขากลับบ้านหลังจากเพลิดเพลินอยู่กับพ่อมาทั้งวัน ผมรู้สึกแย่มาก. เมื่อพวกเขาไม่มีความสุขกลับมา ผมสะใจ. ที่จริง ผมกลัวว่าลูกเลี้ยงจะหมดความรักใคร่ในตัวผม. เรื่องยากมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการยอมรับความสำคัญของบทบาทของพ่อแท้ ๆ ในชีวิตลูกเลี้ยงของผม.”
ความรักด้วยน้ำใสใจจริงได้ช่วยพ่อเลี้ยงคนนี้ให้เผชิญกับข้อเท็จจริงที่ว่า เป็นเรื่องไม่ตรงกับความเป็นจริงที่จะคาดหมายความรักแบบ “ฉับพลัน.” เขาไม่ควรรู้สึกว่าถูกปฏิเสธเมื่อเด็ก ๆ ไม่ได้ยอมรับเขาทันที. เขาได้มาสำนึกว่าตนไม่อาจเข้ามาแทนที่พ่อแท้ ๆ ในหัวใจของเด็กได้อย่างสมบูรณ์. เด็ก ๆ รู้จักพ่อแท้ของเขาตั้งแต่เล็ก ๆ ขณะที่พ่อเลี้ยงเป็นผู้มาใหม่ซึ่งจะต้องพยายามเพื่อได้รับความรักจากเด็ก. นักวิจัยชื่อเอลิซาเบท ไอน์สไตน์สะท้อนให้เห็นประสบการณ์ของหลายคนเมื่อเธอกล่าวว่า “ไม่มีใครจะมาแทนที่พ่อแม่แท้ ๆ ได้เลย—แทนไม่ได้เลย. แม้แต่พ่อหรือแม่ที่ตายแล้วหรือที่ทอดทิ้งลูกไปก็ยังคงมีตำแหน่งสำคัญอยู่ในชีวิตของเด็ก ๆ.”
การตีสอน—เรื่องที่ละเอียดอ่อน
คัมภีร์ไบเบิลบ่งชี้ว่าการตีสอนด้วยความรักเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนหนุ่มสาว รวมทั้งลูกเลี้ยงด้วย. (สุภาษิต 8:33) ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มเห็นพ้องกับจุดยืนของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องนี้. ศาสตราจารย์เซอรีส อัลวีส ดี อราอูชูกล่าวว่า “โดยเนื้อแท้แล้วไม่มีใครชอบข้อจำกัดต่าง ๆ แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็น. คำว่า ‘ไม่’ เป็นการป้องกัน.”
อย่างไรก็ตาม ในครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง ทัศนะในเรื่องการตีสอนอาจนำไปสู่ความร้าวฉานอย่างรุนแรงได้. ลูกเลี้ยงได้รับการหล่อหลอมส่วนหนึ่งจากผู้ใหญ่ ซึ่ง ตอนนี้ไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว. อาจเป็นได้ที่พวกเขามีนิสัยหรือธรรมเนียมที่จะทำให้พ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงขัดเคืองใจ. และพวกเขาอาจไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงจึงถือว่าบางเรื่องเป็นเรื่องใหญ่. จะจัดการกับสถานการณ์นั้นได้อย่างเป็นผลสำเร็จโดยวิธีใด? เปาโลตักเตือนคริสเตียนว่า “จงติดตาม . . . ความรัก ความอดทน มีใจอ่อนโยน.” (1 ติโมเธียว 6:11, ล.ม.) ความรักแบบคริสเตียนช่วยทั้งพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงกับลูก ๆ ให้เป็นคนอ่อนโยนและอดทนขณะที่เขาเรียนรู้ที่จะเข้าใจกันและกัน. หากพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงเป็นคนใจร้อน ‘ความโกรธเคือง, ความโกรธแค้น, และคำพูดหยาบหยาม’ อาจทำลายความสัมพันธ์ใด ๆ ที่มีอยู่แล้วนั้นได้อย่างรวดเร็ว.—เอเฟโซ 4:31, ล.ม.
ผู้พยากรณ์มีคาได้เสนอความหยั่งเห็นเข้าใจในสิ่งซึ่งจะช่วยได้ในเรื่องนี้. ท่านกล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงพระประสงค์อะไรจากท่านเล่านอกจากทำการยุติธรรม, และรักความเมตตากรุณา, และดำเนินชีวิตอย่างสุภาพเคียงคู่กันไปกับพระเจ้าของท่าน?” (มีคา 6:8) ความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญเมื่อดำเนินการตีสอน. แต่จะว่าอย่างไรเรื่องความกรุณา? คริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งเล่าว่าบ่อยครั้งเป็นเรื่องยากที่จะให้ลูกเลี้ยงตื่นขึ้นตอนเช้าวันอาทิตย์เพื่อมีส่วนร่วมในการนมัสการของประชาคม. แทนที่จะดุด่าพวกเด็ก เขาพยายามแสดงความกรุณา. เขาตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ จัดเตรียมอาหารเช้า จากนั้นก็นำเครื่องดื่มอุ่น ๆ ไปให้แต่ละคน. ผลก็คือ พวกเขามีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเอาใจใส่ฟังคำขอร้องให้ลุกขึ้น.
ศาสตราจารย์อันนา ลูอีซา วเยอีรา ดี มัตโทสเสนอข้อคิดเห็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้: “สิ่งที่สำคัญไม่ใช่รูปแบบของครอบครัว แต่เป็นคุณภาพแห่งความสัมพันธ์. จากการวิจัย ดิฉันได้สังเกตว่าคนหนุ่มสาวที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมแทบทุกรายมาจากครอบครัวที่มีการดูแลควบคุมจากพ่อแม่น้อย ขาดกฎและการสื่อความ.” เธอยังพูดด้วยว่า “น่าจะมีการเน้นมากในข้อที่ว่าการอบรมเลี้ยงดูเด็กนั้นหมายถึงความจำเป็นในการพูดว่า ไม่ได้.” นอกจากนี้ ดร. เอมิลี และดร. จอห์น วิชเชอร์ กล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้ว การตีสอนเกิดผลก็ต่อเมื่อบุคคลที่ได้รับการตีสอนนั้นเป็นห่วงปฏิกิริยาของผู้ที่ตีสอนและห่วงความสัมพันธ์กับผู้นั้น.”
ข้อคิดเห็นเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่าใครควรเป็นผู้ตีสอนในครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง. ใครควรเป็นคนที่พูดว่าไม่ได้? หลังจากปรึกษาหารือกันแล้ว พ่อแม่บางคนได้ตัดสินใจว่า พ่อหรือแม่แท้ ๆ ควรเป็นผู้ตีสอนส่วนใหญ่ เพื่อให้โอกาสแก่พ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงที่จะสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นกับเด็ก ๆ ในตอนแรก. ให้เด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะมั่นใจในความรักของพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงก่อนที่จะได้รับการตีสอนจากเขา.
จะว่าอย่างไรถ้าเป็นพ่อเลี้ยง? คัมภีร์ไบเบิลบอกมิใช่หรือว่าบิดาเป็นประมุขของครอบครัว? ถูกแล้ว. (เอเฟโซ 5:22, 23; 6:1, 2) อย่างไรก็ตาม พ่อเลี้ยงอาจมอบเรื่องการตีสอนให้แม่แท้ ๆ ชั่วระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงโทษ. เขาอาจปล่อยให้เด็กเชื่อฟัง ‘คำสอนของมารดาเขา’ ขณะที่เขาวางรากฐานไว้เพื่อเด็กจะ ‘ฟังโอวาท [“การตีสอน,” ล.ม.] ของบิดา [คนใหม่].’ (สุภาษิต 1:8; 6:20; 31:1) หลักฐานแสดงว่า ในที่สุด การทำเช่นนี้มิได้ขัดกับหลักการเรื่องความเป็นประมุข. นอกจากนี้ พ่อเลี้ยงคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมระลึกว่าการตีสอนหมายรวมถึงการตักเตือน, การแก้ไข, และการว่ากล่าว. เมื่อมีการทำเช่นนี้ด้วยความยุติธรรม, ความรัก, และด้วยความเมตตาสงสารและได้รับการสนับสนุนจากตัวอย่างของพ่อแม่แล้ว ตามปกติมักเกิดผล.”
พ่อแม่ต้องสื่อความกัน
สุภาษิต 15:22 (ล.ม.) กล่าวว่า “แผนการล้มเหลวเมื่อไม่มีการพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน.” ในครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง การพูดคุยอย่างสงบและตรงไปตรงมาแบบไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างบิดามารดานับว่าสำคัญ. นักเขียนคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์ออ เอสทาดอ เดอ เซา เปาลู ให้ข้อสังเกตไว้ว่า “เด็ก ๆ มักมีแนวโน้มที่จะทดลองข้อจำกัดที่พ่อแม่วางไว้นั้นเสมอ.” นั่นอาจเป็นจริงมากขึ้นสองเท่าในครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง. ดังนั้น บิดามารดาต้องมีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่าง ๆ เพื่อว่าเด็ก ๆ จะเห็นว่าพ่อแม่ปรองดองกัน. แต่จะว่าอย่างไรถ้าพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงปฏิบัติด้วยท่าทีที่พ่อหรือแม่แท้ ๆ รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม? ถ้าเช่นนั้นทั้งสองคนควรจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยเป็นส่วนตัว ไม่ใช่ต่อหน้าเด็ก ๆ.
มารดาคนหนึ่งซึ่งแต่งงานใหม่เล่าว่า “เรื่องยากที่สุดสำหรับคนที่เป็นแม่ก็คือการเห็นพ่อเลี้ยงตีสอนลูกของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเธอรู้สึกว่าเขาปฏิบัติอย่างหุนหันพลันแล่นหรือไม่ยุติธรรมจริง ๆ. นั่นทำลายหัวใจเธอ และเธอต้องการปกป้องลูกไว้. ในกรณีเช่นนั้นคงเป็นเรื่องยากที่จะยอมอยู่ใต้อำนาจสามีและสนับสนุนเขา.
“ในคราวหนึ่ง ลูกชายสองคนของดิฉัน อายุ 12 และ 14 ปีขออนุญาตพ่อเลี้ยงทำอะไรบางอย่าง. เขาปฏิเสธทันทีแล้วออกจากห้องไปโดยไม่เปิดโอกาสใด ๆ ให้ลูกอธิบายเหตุผลที่คำขอร้องนั้นสำคัญสำหรับพวกเขา. เด็กทั้งสองเกือบจะร้องไห้ และดิฉันพูดไม่ออก. ลูกชายคนโตมองดิฉันแล้วพูดว่า ‘แม่ครับ เห็นแล้วไหมว่าเขาทำอะไร?’ ดิฉันตอบว่า ‘ใช่ แม่เห็นแล้ว. แต่เขาก็ยังเป็นประมุขของบ้านนี้ และคัมภีร์ไบเบิลบอกเราให้นับถือตำแหน่งประมุข.’ ทั้งสองคนเป็นเด็กดีและเห็นด้วยกับเรื่องนี้ และสงบลงไปบ้าง. ในค่ำวันเดียวกันนั้น ดิฉันอธิบายเหตุการณ์ให้กับสามี แล้วเขาก็สำนึกตัวว่าใช้อำนาจมากเกินไป. เขาตรงไปที่ห้องนอนของเด็ก ๆ แล้วขอโทษ.
“เราเรียนรู้มากทีเดียวจากเหตุการณ์ครั้งนั้น. สามีของดิฉันเรียนรู้ที่จะฟังก่อนทำการตัดสินใจ. ดิฉันเรียนรู้ที่จะสนับสนุนหลักการเรื่องตำแหน่งประมุข แม้จะระทมใจ. ลูกชายทั้งสองเรียนรู้ความสำคัญของการยอมอยู่ใต้อำนาจ. (โกโลซาย 3:18, 19) และการขอโทษอย่างจริงใจของสามีสอนบทเรียนที่สำคัญแก่เราทุกคนในเรื่องความถ่อมใจ. (สุภาษิต 29:23) ปัจจุบัน ลูกชายทั้งสองคนเป็นคริสเตียนผู้ปกครอง.”
จะมีการทำผิดพลาด. เด็ก ๆ จะพูดหรือทำอะไรที่ก่อความปวดร้าวใจ. ความกดดันขณะนั้นจะทำให้พ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงปฏิบัติอย่างไม่มีเหตุผล. อย่างไรก็ตาม คำพูดง่าย ๆ เช่น “พ่อ (แม่) เสียใจ ขอโทษด้วย” อาจช่วยได้มากในการรักษาแผลให้หาย.
การทำให้เอกภาพของครอบครัวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ต้องใช้เวลาเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่อบอุ่นในครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง. หากคุณเป็นพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง คุณต้องแสดงการร่วมความรู้สึก. จงแสดงความเข้าใจ พร้อมที่จะใช้เวลากับเด็ก ๆ. เล่นกับลูกเล็ก ๆ. พร้อมเสมอที่จะพูดคุยกับลูกที่โตกว่า. หาโอกาสใช้เวลาอยู่ด้วยกัน—อย่างเช่น ชวนเด็กให้ช่วยงานบ้าน เช่น ทำอาหารหรือล้างรถ. ชวนพวกเขาไปตลาดด้วยเพื่อช่วยคุณ. นอกจากนี้ อากัปกิริยาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แสดงความรักใคร่เอ็นดูอาจแสดงให้เห็นความรักที่คุณมีนั้นได้. (แน่นอน พ่อเลี้ยงควรระวังที่จะสังเกตขอบเขตที่เหมาะสมกับลูกสาวที่เป็นลูกเลี้ยงและไม่ทำให้เธอรู้สึกอึดอัดใจ. และแม่เลี้ยงก็ควรจำไว้ว่าเด็กผู้ชายก็มีขอบเขตเช่นกัน.)
ครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงประสบผลสำเร็จได้. หลายครอบครัวเป็นเช่นนั้น. ครอบครัวที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดคือครอบครัวเหล่านั้นซึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ปลูกฝังเจตคติที่ถูกต้องและความคาดหมายอย่างที่ตรงกับสภาพจริง. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “ดูก่อนพวกที่รัก, ให้เราทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน, เพราะว่าความรักเป็นมาจากพระเจ้า.” (1 โยฮัน 4:7) ถูกแล้ว ความรักอย่างจริงใจเป็นเคล็ดลับแท้ของความสุขในครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง.
[รูปภาพหน้า 7]
ครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงซึ่งมีความสุข
ศึกษาพระคำของพระเจ้าด้วยกัน . . .
ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน . . .
พูดคุยกัน . . .
ทำงานด้วยกัน . . .