บทหก
การไขความลึกลับของต้นไม้ใหญ่
1. เกิดอะไรขึ้นกับกษัตริย์นะบูคัดเนซัร จึงเกิดคำถามอะไรขึ้น?
พระยะโฮวาทรงยอมให้กษัตริย์นะบูคัดเนซัรเป็นผู้ครองโลก. ในฐานะกษัตริย์แห่งบาบูโลน ท่านมีสิ่งฝ่ายวัตถุทุกอย่างสมดังปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติมหาศาล, อาหารหรูหราฟุ่มเฟือย, วังอันใหญ่โต. แต่แล้วจู่ ๆ ท่านถูกเหยียดลง. นะบูคัดเนซัรสติฟั่นเฟือนไป ท่านจึงทำตัวเหมือนสัตว์! ท่านถูกขับไล่ไปจากโต๊ะของกษัตริย์และที่พักอาศัยอันหรูหรา. ท่านอยู่ในทุ่งนาและกินหญ้าเหมือนโค. อะไรเป็นสาเหตุของความหายนะครั้งนี้? และทำไมเราควรสนใจเรื่องนี้?—เทียบกับโยบ 12:17-19; ท่านผู้ประกาศ 6:1, 2.
กษัตริย์เชิดชูพระผู้สูงสุด
2, 3. กษัตริย์แห่งบาบูโลนปรารถนาให้พลเมืองของท่านเป็นเช่นไร และท่านมีทัศนะเช่นไรต่อพระเจ้าสูงสุด?
2 ไม่นานหลังจากท่านหายจากการเสียสติโดยสิ้นเชิงครั้งนั้นแล้ว นะบูคัดเนซัรส่งข่าวสารที่น่าสนใจไปทั่วอาณาจักรของท่านแจ้งถึงสิ่งที่เกิดขึ้น. พระยะโฮวาทรงดลใจให้ดานิเอลรักษาบันทึกที่ถูกต้องของเหตุการณ์นี้เอาไว้. บันทึกนั้นเริ่มด้วยถ้อยคำที่ว่า “ราชานะบูคัศเนซัรประกาศมายังพลเมืองทั้งปวง, ทุกชาติ, ทุกภาษา, ที่อาศัยอยู่ทั่วพิภพโลก: ให้ความสุขสำราญอย่างอุดมสมบูรณ์จงมีแก่ท่านทั้งหลายเถิด! เราเห็นควรที่จะสำแดงนิมิตและการมหัศจรรย์, ซึ่งพระผู้สูงสุดได้ทรงมีต่อเรา. นิมิตของพระองค์ช่างยิ่งใหญ่ไพศาลสักเท่าไร, และการมหัศจรรย์ของพระองค์ช่างพิสดารสักปานใด! อาณาจักรของพระองค์เป็นถาวรอาณาจักร, และรัชกาลของพระองค์ดำรงอยู่ทุกชั่วอายุ.”—ดานิเอล 4:1-3.
3 พลเมืองของนะบูคัดเนซัร “อาศัยอยู่ทั่วพิภพโลก”—จักรวรรดิของท่านครอบคลุมเขตแดนส่วนใหญ่ของโลกในบันทึกของคัมภีร์ไบเบิล. กษัตริย์กล่าวถึงพระเจ้าของดานิเอลว่า “อาณาจักรของพระองค์เป็นถาวรอาณาจักร.” ถ้อยคำเหล่านี้ช่างเป็นการยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวาไปทั่วทั้งจักรวรรดิบาบูโลนสักเพียงไร! ยิ่งกว่านั้น นี่เป็นครั้งที่สองที่นะบูคัดเนซัรได้แสดงให้เห็นว่าอาณาจักรของพระเจ้าเท่านั้นที่ถาวร คงอยู่ “จนเวลาไม่กำหนด.”—ดานิเอล 2:44, ล.ม.
4. “นิมิตและการมหัศจรรย์” ของพระยะโฮวาเริ่มต้นอย่างไรเกี่ยวกับนะบูคัดเนซัร?
4 “นิมิตและการมหัศจรรย์” อะไรที่ “พระผู้สูงสุด” ทรงสำแดง? สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นด้วยประสบการณ์ส่วนตัวของกษัตริย์ดังที่เล่าด้วยถ้อยคำต่อไปนี้: “เรา, นะบูคัศเนซัร, อยู่เป็นผาสุกในวังของเรา, และมีความจำเริญอยู่ในมณเฑียรของเรา. เราได้เห็นนิมิตซึ่งทำให้เราหวาด; และความคิดบนบรรจถรณ์และนิมิตที่อยู่ในสมองก็ได้ทำให้เราไม่สบายใจ.” (ดานิเอล 4:4, 5) กษัตริย์แห่งบาบูโลนทำอย่างไรเกี่ยวกับความฝันที่รบกวนใจนี้?
5. นะบูคัดเนซัรมีทัศนะอย่างไรต่อดานิเอล และทำไม?
5 นะบูคัดเนซัรเรียกตัวนักปราชญ์แห่งบาบูโลนมาและเล่าความฝันให้พวกเขาฟัง. แต่พวกเขาล้มเหลวไม่เป็นท่า! พวกเขาไม่สามารถแก้ฝันนั้นได้เลย. บันทึกกล่าวต่อไปว่า “ภายหลังดานิเอลผู้ถูกขนานนามว่าเบละตะซาซัรตามนามพระของเรา, ได้เข้ามาเฝ้าเรา; ดานิเอลนั้นมีวิญญาณของเหล่าพระผู้บริสุทธิ์, แล้วเราก็ได้เล่าสุบินของเราให้ดานิเอลฟัง.” (ดานิเอล 4:6-8) ชื่อของดานิเอลในราชสำนักคือ เบละตะซาซัร และพระเท็จที่กษัตริย์เรียกว่า “พระของเรา” อาจเป็นเบลหรือเนโบหรือมาร์ดุก. นะบูคัดเนซัรเป็นผู้นมัสการพระหลายองค์ ท่านจึงคิดว่าดานิเอลเป็นผู้ที่มี “วิญญาณของเหล่าพระผู้บริสุทธิ์.” และเนื่องจากดานิเอลมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าเหนือนักปราชญ์ทั้งหมดของบาบูโลน กษัตริย์จึงเรียกดานิเอลว่า “เจ้ากรมกองโหราศาสตร์.” (ดานิเอล 2:48; 4:9; เทียบกับดานิเอล 1:20.) แน่นอน ดานิเอลผู้ซื่อสัตย์ไม่เคยเลิกนมัสการพระยะโฮวาเพื่อทำเวทมนตร์.—เลวีติโก 19:26; พระบัญญัติ 18:10-12.
ต้นไม้มหึมา
6, 7. คุณจะพรรณนาสิ่งที่นะบูคัดเนซัรเห็นในความฝันอย่างไร?
6 กษัตริย์แห่งบาบูโลนฝันเห็นอะไรที่น่ากลัว? นะบูคัดเนซัรกล่าวว่า “เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องสุบิน, ซึ่งอยู่ในศีรษะของเราบนที่บรรทมของเรา, เราได้เห็นและนี่แน่ะ, มีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ ณ ท่ามกลางใจโลก, และมันสูงยิ่งนัก. ต้นไม้นั้นได้จำเริญเติบโต, แข็งแรงและสูงยอดจดท้องฟ้า, มองเห็นได้จนกะทั่งจากปลายแผ่นดินโลก. ต้นไม้นั้นมีใบบริบูรณ์และมีผลดกเป็นอาหารของเหล่าสัตว์โลก: สัตว์ในทุ่งก็ได้อาศัยร่ม, และนกทั้งหลายในอากาศก็ได้พึ่งกิ่ง, และบรรดาเนื้อหนังก็ได้กินผลเป็นอาหาร.” (ดานิเอล 4:10-12) ตามที่มีบันทึก นะบูคัดเนซัรชื่นชอบต้นสนซีดาร์ใหญ่ของเลบานอน, ถึงกับไปดูด้วยตนเอง, และได้นำไม้นั้นกลับมายังบาบูโลน. แต่ท่านไม่เคยเห็นอะไรเหมือนต้นไม้ต้นนั้นในความฝันของท่านเลย. ต้นไม้นั้นอยู่ในตำแหน่งเด่น “ณ ท่ามกลางใจโลก” สามารถมองเห็นได้จากทั่วโลก และมีผลดกมากถึงกับเป็นอาหารให้แก่เนื้อหนังทั้งปวง.
7 ความฝันนี้ยังไม่จบแค่นั้น เนื่องจากนะบูคัดเนซัรเพิ่มเติมว่า “ในนิมิตซึ่งอยู่ในศีรษะเราบนที่บรรทมนั้นว่า, เราได้เห็น, ดูเถอะ, มีผู้พิทักษ์, คือผู้บริสุทธิ์ผู้หนึ่งได้ลงมาจากสวรรค์. ท่านนั้นได้ร้องเสียงดังว่าดั่งนี้; ‘จงโค่นต้นไม้นั้นลง, และตัดกิ่งออกเสียให้หมด, สะบัดใบเสียให้ร่วง; และสาดผลเสียให้กระจัดกระจาย; ให้บรรดาสัตว์ไปเสียให้พ้นใต้ต้น, และให้นกหนีไปเสียจากกิ่ง. ตัดให้เหลืออยู่แต่ตอติดดิน, สวมปลอกเหล็กและปลอกทองเหลือง [“ทองแดง,” ล.ม.] ทิ้งไว้กลางหญ้าอ่อนในทุ่ง, ปล่อยให้มันเปียกน้ำค้างฟ้า; และปล่อยผู้นั้นให้อยู่ร่วมกับสัตว์ในทุ่งนา.’”—ดานิเอล 4:13-15.
8. ใครคือ “ผู้พิทักษ์”?
8 ชาวบาบูโลนมีแนวคิดทางศาสนาของพวกเขาเองในเรื่องสิ่งมีชีวิตที่เป็นวิญญาณที่ดีและชั่ว. แต่ใครคือ “ผู้พิทักษ์” หรือผู้รักษาการณ์ จากสวรรค์ผู้นี้? เขาถูกเรียกว่า “ผู้บริสุทธิ์” ดังนั้น เขาจึงเป็นทูตสวรรค์ที่ชอบธรรม เป็นตัวแทนของพระเจ้า. (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 103:20, 21.) ลองคิดดูสิว่านะบูคัดเนซัรจะกังวลใจมากสักแค่ไหน! ทำไมจึงโค่นต้นไม้นี้? ตอไม้ที่สวมปลอกเหล็กและปลอกทองแดงไว้ไม่ให้งอกขึ้นอีกจะมีประโยชน์อะไร? แท้จริงแล้ว ตอไม้เปล่า ๆ จะมีไว้เพื่อจุดประสงค์อะไร?
9. โดยแท้แล้ว ผู้พิทักษ์กล่าวอะไร และมีคำถามอะไรเกิดขึ้น?
9 นะบูคัดเนซัรต้องรู้สึกฉงนมากเมื่อท่านได้ยินผู้พิทักษ์คนนั้นพูดต่อดังนี้: “สาปใจของเขาให้ผันแปรไปจากใจมนุษย์, แล้วให้เขามีใจเป็นใจสัตว์เดียรัจฉาน, และปล่อยเขาไว้เช่นนั้นจนครบเจ็ดปี [“เจ็ดวาระ,” ล.ม.]. คำพิพากษานี้เป็นคำตัดสินของผู้พิทักษ์, และได้ตัดสินไปตามคำแนะนำของเหล่าองค์บริสุทธิ์, ก็เพื่อจะให้คนเป็นรู้ว่า, พระผู้สูงสุดทรงบงการอาณาจักรของมนุษย์, พอพระทัยจะประทานแก่ผู้ใดก็ทรงประทานแก่ผู้นั้น, และทรงยกคนต่ำต้อยที่สุดขึ้นตั้งไว้ให้ครองแผ่นดินนั้น.” (ดานิเอล 4:16, 17) ตอของต้นไม้ไม่มีหัวใจมนุษย์เต้นอยู่ข้างใน. เนื่องจากเหตุนี้ จะใส่หัวใจของสัตว์ในตอของต้นไม้ได้อย่างไร? “เจ็ดวาระ” คืออะไร? และทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับ “อาณาจักรของมนุษย์” อย่างไร? แน่นอน นะบูคัดเนซัรอยากรู้.
ข่าวร้ายสำหรับกษัตริย์
10. (ก) ตามที่กล่าวในพระคัมภีร์ ต้นไม้อาจเป็นสัญลักษณ์ถึงอะไรได้บ้าง? (ข) ต้นไม้ใหญ่หมายถึงอะไร?
10 เมื่อได้ยินความฝันนี้ ดานิเอลตะลึงไปชั่วครู่ แล้วท่านก็เกิดความกลัว. นะบูคัดเนซัรกระตุ้นให้ดานิเอลอธิบายความฝันนั้น ผู้พยากรณ์จึงกล่าวว่า “ข้าแต่ราชา, ขอให้พระสุบินนั้นบังเกิดแก่ผู้ที่เกลียดชังฝ่าพระบาท, และคำแก้พระสุบินนั้นตกต้องกับศัตรูของฝ่าพระบาทเถิด! ต้นไม้ที่ฝ่าพระบาทได้ทอดพระเนตรเห็นงอกงามเติบโตแข็งแรง . . . ต้นไม้ต้นนั้นได้แก่ฝ่าพระบาทเอง, เพราะฝ่าพระบาทได้ทรงพระเจริญมีพลานุภาพและศักดานุภาพใหญ่ยิ่งจริง, จนรัชของฝ่าพระบาทจดท้องฟ้าและอาณาเขตของฝ่าพระบาทจดกะทั่งปลายพิภพโลก.” (ดานิเอล 4:18-22) ในพระคัมภีร์ ต้นไม้อาจเป็นสัญลักษณ์ถึงบุคคล, ผู้ปกครอง, และอาณาจักรก็ได้. (บทเพลงสรรเสริญ 1:3; ยิระมะยา 17:7, 8; ยะเอศเคล บท 31) นะบูคัดเนซัรเป็นเหมือนกับต้นไม้ต้นมหึมาในความฝันของท่าน คือได้ “เจริญมีพลานุภาพ” เป็นประมุขของมหาอำนาจโลก. แต่ต้นไม้ใหญ่นี้เป็นสัญลักษณ์ถึง “อาณาเขต . . . จดกะทั่งปลายพิภพโลก” ครอบคลุมอาณาจักรทั้งหมดของมนุษยชาติ. ดังนั้น ต้นไม้นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ถึงสากลบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา โดยเฉพาะในความเกี่ยวพันกับแผ่นดินโลก.—ดานิเอล 4:17.
11. ความฝันของกษัตริย์แสดงอย่างไรว่าท่านจะพบกับความเปลี่ยนแปลงในทางตกต่ำ?
11 การเปลี่ยนแปลงในทางตกต่ำกำลังจะเกิดกับนะบูคัดเนซัร. ดานิเอลชี้ให้เห็นเรื่องนี้โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า “ตามที่พระราชาได้เห็นผู้พิทักษ์และองค์บริสุทธิ์ลงมาจากสวรรค์แล้วมีเทวบัญชาว่า, ‘จงโค่นต้นไม้นั้นลงและทำลายเสีย; แต่ก็โค่นให้เหลือตอติดดินไว้, และให้สวมปลอกเหล็กและทองเหลือง [“ทองแดง,” ล.ม.] เสีย, ปล่อยให้อยู่กลางหญ้าสดในทุ่งนา, ให้ตากน้ำค้างฟ้าเปียกชุ่ม, ให้ผู้นั้นอยู่ร่วมกับสัตว์ในทุ่งนาจนครบเจ็ดปี.’ ข้าแต่ราชา, นี่คือคำแก้พระสุบิน, ด้วยว่ามีคำพิพากษาชี้ขาดมาจากพระผู้สูงสุด, ตัดสินลงโทษพระราชา, ผู้เป็นเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า.” (ดานิเอล 4:23, 24) แน่นอน ต้องมีความกล้าหาญที่จะบอกข่าวสารนี้แก่กษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ!
12. จะเกิดอะไรขึ้นกับนะบูคัดเนซัร?
12 จะเกิดอะไรขึ้นกับนะบูคัดเนซัร? ลองนึกถึงปฏิกิริยาของท่านเมื่อดานิเอลกล่าวเสริมว่า “ฝ่าพระบาทจะถูกไล่ไปเสียจากวงการมนุษย์, และให้ฝ่าพระบาทอาศัยอยู่กับสัตว์ในทุ่งนา, และถูกบังคับให้เสวยหญ้าเหมือนโค, และปล่อยให้เปียกน้ำค้างฟ้าจนครบกำหนดเจ็ดปี, กว่าฝ่าพระบาทจะได้เรียนรู้ว่าพระผู้สูงสุดได้ทรงบงการอาณาจักรของมนุษย์, และทรงพอพระทัยจะประทานแก่ผู้ใดก็ประทานให้แก่ผู้นั้น.” (ดานิเอล 4:25) ดูเหมือนว่า แม้แต่เสนาบดีของนะบูคัดเนซัรก็จะ ‘ไล่ท่านไปเสียจากวงการมนุษย์.’ แต่ท่านจะได้รับการดูแลจากคนเลี้ยงสัตว์หรือคนเลี้ยงแกะที่เมตตาสงสารไหม? ไม่ เพราะพระเจ้าได้ทรงมีประกาศิตให้นะบูคัดเนซัร “อาศัยอยู่กับสัตว์ในทุ่งนา” กินพืชเป็นอาหาร.
13. ความฝันเรื่องต้นไม้แสดงว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับฐานะผู้ครองโลกของนะบูคัดเนซัร?
13 เหมือนกับต้นไม้ที่ถูกโค่น นะบูคัดเนซัรจะถูกโค่นล้มจากการเป็นผู้ครองโลก—แต่เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น. ดานิเอลอธิบายว่า “ที่มีเทวบัญชาสั่งให้โค่นเหลือตอติดดินไว้นั้น, ก็เป็นที่แน่ใจว่าฝ่าพระบาทจะได้แผ่นดินกลับคืนทันที, ในเมื่อฝ่าพระบาทได้เรียนรู้ว่าพระเจ้าเป็นผู้บงการอาณาจักรของมนุษย์.” (ดานิเอล 4:26) ในความฝันของนะบูคัดเนซัร ตอของต้นไม้ที่ถูกโค่นนั้นยังเหลืออยู่ แต่มันถูกสวมปลอกไว้ไม่ให้งอกขึ้น. คล้าย ๆ กัน “ตอ” ของกษัตริย์แห่งบาบูโลนจะยังอยู่ต่อไป แต่ถูกบังคับไม่ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นเวลา “เจ็ดวาระ.” ตำแหน่งของท่านฐานะเป็นผู้ครองโลกจะเป็นเหมือนตอไม้ที่ถูกสวมปลอกไว้ คือจะถูกรักษาไว้อย่างปลอดภัยจนกว่าเจ็ดวาระจะผ่านไป. พระยะโฮวาจะคอยดูแลไม่ให้มีใครสืบอำนาจต่อจากนะบูคัดเนซัรในฐานะผู้ปกครองเพียงผู้เดียวของบาบูโลน ถึงแม้ว่าบุตรของท่านชื่อ เอวิลมะโรดัค อาจเป็นผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์ก็ได้.
14. ดานิเอลกระตุ้นเตือนนะบูคัดเนซัรให้ทำอะไร?
14 เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่มีบอกไว้ล่วงหน้าว่าจะเกิดกับนะบูคัดเนซัร ดานิเอลกระตุ้นเตือนอย่างกล้าหาญว่า “เหตุฉะนี้, ข้าแต่ราชา, ขอได้พอพระทัยรับคำแนะนำข้าพเจ้า, ขอฝ่าพระบาทปลีกพระกรจากความบาปและประกอบการกุศล, ปลีกพระองค์จากการอสัตย์อธรรมและให้ทานแก่คนยากคนจน. เมื่อได้ทำกระนั้นแล้ว, ชะรอยความรุ่งเรืองจะยืนยาวออกไปอีกกระมัง.” (ดานิเอล 4:27) หากนะบูคัดเนซัรจะหันกลับจากแนวทางที่เป็นบาปของท่านในเรื่องการกดขี่และความหยิ่งยโส บางทีเรื่องราวที่เกี่ยวกับท่านอาจเปลี่ยนไปก็ได้. ถ้าจะว่าไป ก่อนหน้านั้นประมาณสองศตวรรษ พระยะโฮวาได้ตัดสินพระทัยจะทำลายผู้คนในเมืองนีนะเว เมืองหลวงของอัสซีเรีย แต่พระองค์ไม่ได้ทำเช่นนั้นเพราะกษัตริย์และไพร่พลของท่านกลับใจ. (โยนา 3:4, 10; ลูกา 11:32) แล้วนะบูคัดเนซัรผู้หยิ่งยโสล่ะ? ท่านจะเปลี่ยนแนวทางของท่านไหม?
ความสำเร็จขั้นแรกของความฝัน
15. (ก) นะบูคัดเนซัรยังแสดงทัศนะแบบไหนต่อไป? (ข) คำจารึกเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับกิจกรรมของนะบูคัดเนซัร?
15 นะบูคัดเนซัรยังคงหยิ่งยโส. เมื่อเดินไปมาบนดาดฟ้าของวัง หลังจากความฝันเรื่องต้นไม้ในอีก 12 เดือนต่อมา ท่านโอ้อวดว่า “กรุงบาบูโลนใหญ่ไพศาลนี้มิใช่หรือที่เราได้สร้างไว้ให้เป็นราชฐานด้วยอานุภาพอันใหญ่หลวงของเรา, ไว้เป็นที่ผดุงสง่าราศีแห่งรัชของเรา?” (ดานิเอล 4:28-30) นิมโรดได้สร้างบาบูโลน (บาเบล) แต่นะบูคัดเนซัรเป็นผู้ทำให้กรุงนี้สง่างาม. (เยเนซิศ 10:8-10) ในคำจารึกอักษรรูปลิ่มชิ้นหนึ่งของท่าน ท่านคุยโวว่า “เนบูคัดเรซซาร์ กษัตริย์แห่งบาบูโลน ผู้ฟื้นฟูเอซากีลาและเอซีดา บุตรของนะโบโพลัสซาร์คือเราเอง. . . . ปราการของเอซากีลาและบาบูโลนเราได้เสริมให้แข็งแรงและได้ตั้งนามแห่งการปกครองของเราไว้ตลอดกาล.” (โบราณคดีและคัมภีร์ไบเบิล [ภาษาอังกฤษ] โดยจอร์จ เอ. บาร์ตัน 1949 หน้า 478-479) คำจารึกอีกชิ้นหนึ่งอ้างถึงวิหารประมาณ 20 หลังซึ่งท่านตกแต่งหรือบูรณะขึ้นใหม่. สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก กล่าวว่า “ภายใต้การปกครองของนะบูคัดเนซัร บาบูโลนกลายเป็นเมืองที่โอ่อ่าที่สุดเมืองหนึ่งในโลกโบราณ. ในบันทึกของท่านเอง ท่านไม่ค่อยได้กล่าวถึงกิจกรรมทางทหารของท่าน แต่ได้เขียนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างของท่านและความใส่ใจของท่านต่อเทพเจ้าแห่งบาบิโลเนีย. นะบูคัดเนซัรอาจเป็นผู้สร้างสวนลอยแห่งบาบูโลน หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์เจ็ดอย่างของโลกโบราณ.”
16. นะบูคัดเนซัรกำลังจะถูกเหยียดลงโดยวิธีใด?
16 ถึงแม้ว่าท่านโอ้อวด นะบูคัดเนซัรผู้หยิ่งจองหองกำลังจะถูกเหยียดลง. บันทึกโดยการดลใจกล่าวว่า “ตรัสยังไม่ทันขาดคำ, ก็ได้ยินเสียงเทวบัญชามาจากสวรรค์ว่า, ‘ดูกรราชานะบูคัศเนซัร, มีคำตัดสินมาถึงท่านแล้ว, แผ่นดินก็หลุดมือไปจากท่านแล้ว! เขาจะขับไล่ท่านไปเสียจากวงการมนุษย์, ให้อาศัยอยู่กับสัตว์ในทุ่งนา, และจะให้ท่านกินหญ้าเหมือนโค, ครบกำหนดเจ็ดปี, เพื่อท่านจะได้เรียนรู้ว่าพระผู้สูงสุดบงการอาณาจักรของมนุษย์, แล้วพระองค์พอพระทัยจะประทานอาณาจักรแก่ผู้ใดก็ทรงประทานให้แก่ผู้นั้น.’”—ดานิเอล 4:31, 32.
17. เกิดอะไรขึ้นกับนะบูคัดเนซัรผู้หยิ่งจองหอง และไม่ช้าท่านพบว่าตัวเองอยู่ในสภาพเช่นไร?
17 ทันใดนั้น นะบูคัดเนซัรก็เสียสติไป. ท่านถูกขับออกไปจากหมู่มนุษย์ กินพืช “เหมือนโค.” ท่านอยู่กับสัตว์ในทุ่งนา แน่นอนว่าท่านไม่ได้นั่งเฉย ๆ บนหญ้าท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นเหมือนอุทยาน เพลิดเพลินกับสายลมพัดเย็นสบายทุกวัน. ประเทศอิรักในปัจจุบัน ซึ่งมีซากปรักหักพังของบาบูโลน ระดับอุณหภูมิมีตั้งแต่ 50 องศาเซลเซียสในฤดูร้อนไปจนถึงต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอย่างมากในฤดูหนาว. โดยที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่และเผชิญกับสภาพดินฟ้าอากาศต่าง ๆ ผมที่ยาวและจับกันเป็นก้อนของนะบูคัดเนซัรดูเหมือนขนของนกอินทรี และเล็บมือเล็บเท้าที่ไม่ได้ตัดของท่านกลายเป็นเหมือนกรงเล็บของนก. (ดานิเอล 4:33) เป็นการอัปยศอดสูอะไรเช่นนี้สำหรับผู้ครองโลกที่หยิ่งจองหอง!
18. ในระหว่างเจ็ดวาระ เกิดอะไรขึ้นกับบัลลังก์ของบาบูโลน?
18 ในความฝันของนะบูคัดเนซัร ต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นลงและตอของต้นไม้นี้ก็ถูกสวมปลอกป้องกันไม่ให้งอกขึ้นเป็นเวลาเจ็ดวาระ. คล้ายกัน นะบูคัดเนซัร “ถูกถอดไปเสียจากพระที่นั่ง” เมื่อพระยะโฮวาทรงบันดาลให้ท่านเสียสติ. (ดานิเอล 5:20) ผลคือ สิ่งนี้เปลี่ยนหัวใจของกษัตริย์จากหัวใจมนุษย์ไปเป็นหัวใจของโค. กระนั้น พระเจ้าทรงเก็บรักษาบัลลังก์ของนะบูคัดเนซัรไว้ให้ท่านจนกระทั้งเจ็ดวาระสิ้นสุดลง. ขณะที่เอวิลมะโรดัคอาจทำหน้าที่เป็นประมุขชั่วคราวของรัฐบาล ดานิเอลก็เป็น “ผู้ว่าราชการทั่วทั้งประเทศบาบูโลน, และเป็นเจ้ากรมกองโหราศาสตร์ในประเทศบาบูโลน.” เพื่อนสามคนของท่านก็ยังมีส่วนต่อไปในการบริหารประเทศ. (ดานิเอล 1:11-19; 2:48, 49; 3:30) ผู้ถูกเนรเทศทั้งสี่คนรอคอยนะบูคัดเนซัรกลับคืนสู่บัลลังก์ในฐานะเป็นกษัตริย์ที่มีจิตใจปกติซึ่งได้เรียนรู้แล้วว่า “พระผู้สูงสุดได้ทรงบงการอาณาจักรของมนุษย์, และทรงพอพระทัยจะประทานแก่ผู้ใดก็ประทานให้แก่ผู้นั้น.”
นะบูคัดเนซัรกลับคืนสู่สภาพเดิม
19. หลังจากพระยะโฮวาทรงบันดาลให้นะบูคัดเนซัรมีสติดังเดิม กษัตริย์ชาวบาบูโลนได้มาตระหนักในเรื่องอะไร?
19 พระยะโฮวาทรงบันดาลให้นะบูคัดเนซัรมีสติดังเดิมเมื่อช่วงเจ็ดวาระสิ้นสุดลง. แล้วกษัตริย์กล่าวยอมรับพระเจ้าสูงสุดว่า “เมื่อสิ้นเวลาที่กำหนดได้แล้ว, เรานะบูคัศเนซัรได้แหงนตาดูท้องฟ้า, แล้วความทรงจำก็กลับมาสู่ตน; และเราจึงได้ถวายพรแก่พระองค์ผู้สูงสุด, และได้สรรเสริญถวายเกียรติยศแก่พระองค์ผู้ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์ว่า, ‘ด้วยรัชกาลของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์, และอาณาจักรของพระองค์ตั้งอยู่ตลอดทุกชั่วอายุ. ชาวโลกทั้งสิ้นเป็นคนไม่มีค่าอะไรสำหรับพระองค์, พระองค์ได้ทรงกระทำกิจในหมู่ดาราแห่งนภดล, และกระทำธุระในวงการของชาวโลกตามชอบพระทัยของพระองค์, ไม่มีใครอาจยึดหน่วงพระหัตถ์ของพระองค์ไว้ได้, หรืออาจทูลถามพระองค์ว่า, “พระองค์ทรงกระทำอะไรพระเจ้าค่ะ?”’” (ดานิเอล 4:34, 35) ถูกแล้ว นะบูคัดเนซัรได้มาตระหนักว่าพระผู้สูงสุดเป็นองค์บรมมหิศรของอาณาจักรมนุษย์.
20, 21. (ก) การถอดปลอกโลหะรอบตอไม้ในความฝันจะเทียบได้กับอะไรที่เกิดกับนะบูคัดเนซัร? (ข) นะบูคัดเนซัรยอมรับอะไร และนี่ทำให้ท่านเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาไหม?
20 เมื่อนะบูคัดเนซัรได้กลับคืนสู่บัลลังก์ ก็เหมือนกับว่าปลอกโลหะรอบตอไม้นั้นถูกถอดไป. ท่านกล่าวเกี่ยวกับการกลับคืนสู่สภาพเดิมของท่านว่า “ในขณะนั้นเองทีเดียว, ความทรงจำของเราก็มาสู่ตัว, เรากลับคืนเข้าสู่เสวยราชย์, และเสวยราชัยสวรรค์, อันเป็นสง่าราศีแห่งอาณาจักรของเรา, พวกรัฐมนตรีและข้าราชการทั้งปวงของเราก็ได้กลับมาหาเรา, และก็ได้ถูกอัญเชิญขึ้นครองราชย์ในอาณาจักรของเรา, และเราได้รับมหาอำนาจราชศักดิ์เป็นการแถม.” (ดานิเอล 4:36) หากเสนาบดีคนใดเคยดูหมิ่นกษัตริย์ผู้ฟั่นเฟือน ตอนนี้พวกเขาก็ “กลับมาหา” ท่านในลักษณะที่ยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างเต็มที่.
21 ช่างเป็น “นิมิตและการมหัศจรรย์” อะไรเช่นนี้ที่พระเจ้าได้ทรงสำแดง! เราไม่น่าจะแปลกใจที่กษัตริย์แห่งบาบูโลนซึ่งได้กลับสู่สภาพเดิมแล้วได้กล่าวว่า “เมื่อนั้นเรา, นะบูคัศเนซัร, ได้สรรเสริญ, ยกย่องและให้เกียรติยศแก่พระมหากษัตริย์แห่งสรวงสวรรค์; เพราะว่ากิจการของพระองค์ก็ถูกต้องและพระมรรคาทั้งมวลของพระองค์ก็ยุติธรรม; และผู้ใดดำเนินในความโอหัง, พระองค์ก็ทรงสามารถเหยียดผู้นั้นลงเสียได้.” (ดานิเอล 4:2, 37) อย่างไรก็ดี การยอมรับเช่นนั้นไม่ได้ทำให้นะบูคัดเนซัรเป็นชาวต่างชาติที่นมัสการพระยะโฮวา.
มีหลักฐานฝ่ายโลกไหม?
22. การเสียสติของนะบูคัดเนซัรถูกระบุว่าเป็นโรคอะไร แต่เราควรตระหนักอะไรเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียสติของท่าน?
22 บางคนระบุว่าการเสียสติของนะบูคัดเนซัรคือโรคไลแคนโทรปี. พจนานุกรมแพทย์ฉบับหนึ่งกล่าวว่า “ไลแคนโทรปี . . . จาก [ไลคอส], ลูปุส, หมาป่า; [อันโทรปอส], โฮโม, มนุษย์. นี่เป็นชื่อโรคของคนที่คิดว่าตนเองได้เปลี่ยนไปเป็นสัตว์ และผู้ที่เลียนเสียงหรือเสียงร้อง, ท่าทางหรือพฤติกรรมของสัตว์นั้น. คนเหล่านี้มักจะจินตนาการว่าตัวเองได้เปลี่ยนเป็นหมาป่า, สุนัขหรือแมว; บางครั้งก็เป็นวัวด้วย เช่นในกรณีของนะบูคัดเนซัร.” (ดิกซียอนเนร์ เด เซียงส์ เมดีกาล ปาร์ อูน ซอซีเยเต เดอ เมดีแซง เอ เดอ ชีรูร์เชียง ปารีส 1818 เล่ม 29 หน้า 246) อาการของโรคไลแคนโทรปีคล้ายกับอาการเสียสติของนะบูคัดเนซัร. แต่เนื่องจากการป่วยทางจิตของท่านเป็นมาจากประกาศิตของพระเจ้า จึงไม่อาจระบุเจาะจงกับความผิดปกติซึ่งเป็นที่รู้จักกันได้.
23. มีพยานหลักฐานทางโลกอะไรเรื่องการที่นะบูคัดเนซัรเสียสติ?
23 จอห์น อี. โกลดิงเกย์ ผู้คงแก่เรียน อ้างถึงสิ่งที่เทียบเคียงกันได้กับการเสียสติของนะบูคัดเนซัรและการกลับคืนสู่สภาพเดิม. เพื่อเป็นตัวอย่าง เขากล่าวว่า “ชิ้นส่วนของข้อความอักษรรูปลิ่มกล่าวถึงความผิดปกติบางอย่างทางจิตใจในส่วนของนะบูคัดเนซัร และอาจกล่าวถึงการที่ท่านปล่อยปละละเลยและจากบาบูโลนไป.” โกลดิงเกย์อ้างถึงเอกสารที่มีชื่อว่า “โยบแห่งบาบิโลน” และกล่าวว่าเอกสารนี้ “ยืนยันถึงการที่พระเจ้าทรงลงโทษ, ความเจ็บป่วย, การถูกเหยียดลง, การแสวงหาคำแปลของความฝันที่น่ากลัว, การถูกโค่นลงเหมือนต้นไม้, การถูกขับออก, การกินหญ้า, การเสียสติ, การเป็นเหมือนโค, การตากฝนที่มาร์ดุกเทลงมา, เล็บเสียไป, ผมงอกขึ้น, และถูกล่าม, แล้วก็การกลับคืนสู่สภาพเดิมซึ่งท่านสรรเสริญพระเจ้า.”
เจ็ดวาระที่ส่งผลกระทบเรา
24. (ก) ต้นไม้ใหญ่ในความฝันเป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร? (ข) อะไรถูกยับยั้งไว้เป็นเวลาเจ็ดวาระ และนั่นเกิดขึ้นอย่างไร?
24 ดังที่ต้นไม้ใหญ่เป็นภาพเล็งถึง นะบูคัดเนซัรเป็นสัญลักษณ์ถึงการปกครองโลก. แต่ขอจำไว้ว่าต้นไม้นี้หมายถึงอำนาจการปกครองและบรมเดชานุภาพที่ใหญ่ยิ่งกว่าของกษัตริย์แห่งบาบูโลนมากนัก. ต้นไม้นี้เป็นสัญลักษณ์ถึงสากลบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา “พระมหากษัตริย์แห่งสรวงสวรรค์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินโลก. ก่อนการทำลายกรุงยะรูซาเลมโดยพวกบาบูโลน อาณาจักรมีศูนย์กลางอยู่ในเมืองนั้นโดยที่ดาวิดและทายาทของท่านนั่งบน “พระที่นั่งของพระยะโฮวา” เป็นตัวแทนของพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าที่เกี่ยวเนื่องกับแผ่นดินโลก. (1 โครนิกา 29:23) พระเจ้าเองทรงให้บรมเดชานุภาพแบบนี้ถูกโค่นลงและสวมปลอกไว้ในปี 607 ก.ส.ศ. เมื่อพระองค์ทรงใช้นะบูคัดเนซัรให้ทำลายกรุงยะรูซาเลม. การสำแดงพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าต่อแผ่นดินโลกโดยอาณาจักรในเชื้อสายของดาวิดถูกยับยั้งไว้เป็นเวลาเจ็ดวาระ. เจ็ดวาระนี้นานเท่าไร? เริ่มต้นเมื่อไร และจบลงตอนไหน?
25, 26. (ก) ในกรณีของนะบูคัดเนซัร “เจ็ดวาระ” นานเท่าไร และทำไมคุณตอบอย่างนั้น? (ข) ในความสำเร็จที่ใหญ่กว่า “เจ็ดวาระ” ได้เริ่มขึ้นเมื่อไรและอย่างไร?
25 ระหว่างที่นะบูคัดเนซัรเสียสติ “ผมของท่านงอกยาวดุจขนนกอินทรีและเล็บของท่านก็โง้งดังเล็บนก.” (ดานิเอล 4:33) ที่จะเป็นเช่นนี้ได้ก็ต้องใช้เวลานานกว่าเจ็ดวันหรือเจ็ดอาทิตย์. ฉบับแปลต่าง ๆ แปลคำนี้ว่า “เจ็ดวาระ” และคำที่ใช้แทนคือ “เวลากำหนด” หรือ “ช่วงเวลา.” (ดานิเอล 4:16, 23, 25, 32) รูปคำแบบหนึ่งของฉบับแปลภาษากรีกโบราณ (เซปตัวจินต์) ใช้คำว่า “เจ็ดปี.” โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวแห่งศตวรรษแรกถือว่า “เจ็ดวาระ” เป็น “เจ็ดปี.” (ยุคโบราณของชาวยิว เล่ม 10 บท 10 วรรค 6 [ภาษาอังกฤษ]) และผู้คงแก่เรียนบางคนถือว่า “วาระ” เป็น “ปี.” ฉบับแอน อเมริกัน แทรนสเลชัน, ฉบับทูเดส์ อิงลิช เวอร์ชัน, และฉบับแปลโดยเจมส์ มอฟฟัตต์ แปลคำนี้ว่า “เจ็ดปี.”
26 เห็นได้ชัดว่า “เจ็ดวาระ” ของนะบูคัดเนซัรคือเจ็ดปี. ในคำพยากรณ์ หนึ่งปีมีวันโดยเฉลี่ย 360 วัน หรือ 12 เดือนซึ่งมี 30 วันในแต่ละเดือน. (เทียบกับวิวรณ์ 12:6, 14.) ดังนั้น “เจ็ดวาระ” หรือ “เจ็ดปี” ของกษัตริย์คือ 360 วันคูณด้วย 7 เท่ากับ 2,520 วัน. แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับความสำเร็จที่ใหญ่กว่าของความฝันของท่าน? “เจ็ดวาระ” เชิงพยากรณ์ยาวนานกว่า 2,520 วันมากนัก. เรื่องนี้มีแสดงให้เห็นในคำตรัสของพระเยซูดังนี้: “คนต่างประเทศจะเหยียบย่ำกรุงยะรูซาเลม, จนกว่าเวลากำหนดของคนต่างประเทศนั้นจะครบถ้วน.” (ลูกา 21:24) การ “เหยียบย่ำ” เริ่มในปี 607 ก.ส.ศ. เมื่อกรุงยะรูซาเลมถูกทำลายและสิ่งซึ่งเล็งถึงราชอาณาจักรของพระเจ้าสิ้นสุดการดำเนินการในยูดา. การเหยียบย่ำนี้จะจบลงเมื่อไร? ใน “เวลาเมื่อสิ่งสารพัตรจะตั้งขึ้นใหม่” เมื่อพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าจะสำแดงออกมาอีกครั้งบนโลกผ่านทางกรุงยะรูซาเลมโดยนัย คือราชอาณาจักรของพระเจ้า.—กิจการ 3:21.
27. ทำไมคุณกล่าวว่า “เจ็ดวาระ” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 607 ก.ส.ศ. ไม่ได้สิ้นสุดลงหลังจากนั้น 2,520 วันตามตัวอักษร?
27 หากเรานับวันจริง ๆ 2,520 วันจากตอนที่กรุงยะรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก.ส.ศ. เราก็จะมาถึงแค่ปี 600 ก.ส.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ไม่มีความสำคัญใด ๆ ทางพระคัมภีร์. แม้แต่ในปี 537 ก.ส.ศ. เมื่อชาวยิวถูกปลดปล่อยกลับไปยูดา ก็ยังไม่มีการสำแดงพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาบนแผ่นดินโลก. ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะซะรูบาเบล รัชทายาทแห่งบัลลังก์ของดาวิด ไม่ได้ถูกตั้งเป็นกษัตริย์ แต่เป็นเพียงผู้ว่าราชการ แห่งมณฑลยูดาของเปอร์เซีย.
28. (ก) ต้องใช้กฎอะไรกับ 2,520 วันแห่ง “เจ็ดวาระ” ในคำพยากรณ์? (ข) “เจ็ดวาระ” ในคำพยากรณ์ยาวนานเท่าไร และช่วงเวลานี้เริ่มและสิ้นสุดลงในวันใด?
28 เนื่องจากช่วงเวลา “เจ็ดวาระ” เป็นเชิงพยากรณ์ เราต้องใช้กฎของพระคัมภีร์กับ 2,520 วัน ที่ว่า “เอาวันเป็นปี.” กฎนี้ถูกกล่าวถึงในคำพยากรณ์เกี่ยวกับการล้อมกรุงยะรูซาเลมโดยชาวบาบูโลน. (ยะเอศเคล 4:6, 7; เทียบกับอาฤธโม 14:34.) ช่วงเวลา “เจ็ดวาระ” ที่อำนาจของต่างชาติครอบครองโลกโดยไม่มีการแทรกแซงจากราชอาณาจักรของพระเจ้าจึงยาวนาน 2,520 ปี. ช่วงเวลานี้เริ่มกับการทำให้ยูดาและกรุงยะรูซาเลมร้างเปล่าในเดือนที่เจ็ดตามจันทรคติ (วันที่ 15 เดือนทิชรี) ในปี 607 ก.ส.ศ. (2 กษัตริย์ 25:8, 9, 25, 26) ตั้งแต่จุดนั้นมาจนถึงปี 1 ก.ส.ศ. เป็นเวลา 606 ปี. ส่วนที่เหลืออยู่ 1,914 ปีก็ทอดยาวจากจุดนั้นมาถึงปี ส.ศ. 1914. ดังนั้น “เจ็ดวาระ” หรือ 2,520 ปีจึงได้จบลงในวันที่ 15 เดือนทิชรี หรือวันที่ 4/5 เดือนตุลาคม ปี ส.ศ. 1914.
29. ใครคือ “คนต่ำต้อยที่สุด” และพระยะโฮวาทรงทำอะไรเพื่อจะตั้งพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์?
29 ในปีนั้น “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ” ก็จบสิ้นลง และพระเจ้าทรงมอบอำนาจการปกครองให้แก่ “คนต่ำต้อยที่สุด” คือพระเยซูคริสต์ ผู้ซึ่งศัตรูของพระองค์ถือว่าต่ำต้อยมากถึงขนาดที่พวกเขาตรึงพระองค์. (ดานิเอล 4:17) เพื่อจะทรงตั้งกษัตริย์มาซีฮาขึ้นครองราชย์ พระยะโฮวาทรงถอดปลอกเหล็กและปลอกทองแดงโดยนัยที่อยู่รอบ “ตอ” ของพระบรมเดชานุภาพของพระองค์เอง. พระเจ้าสูงสุดจึงทรงยอมให้ “กิ่งอ่อน” งอกขึ้นจาก “ตอ” นั้นซึ่งเป็นการสำแดงพระบรมเดชานุภาพต่อแผ่นดินโลกโดยทางราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ในพระหัตถ์ของพระเยซูคริสต์ ทายาทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของดาวิด. (ยะซายา 11:1, 2; โยบ 14:7-9; ยะเอศเคล 21:27) พวกเราขอบพระคุณพระยะโฮวาสักเพียงไรสำหรับผลที่เป็นพระพรนี้และที่ทรงไขความลึกลับของต้นไม้ใหญ่!
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• ต้นไม้ใหญ่ในความฝันของนะบูคัดเนซัรเป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร?
• เกิดอะไรขึ้นกับนะบูคัดเนซัรในความสำเร็จขั้นแรกของความฝันเรื่องต้นไม้?
• หลังจากความฝันของท่านสำเร็จเป็นจริงแล้ว นะบูคัดเนซัรกล่าวยอมรับอะไร?
• ในความสำเร็จเป็นจริงที่ใหญ่กว่าของความฝันเชิงพยากรณ์เรื่องต้นไม้ “เจ็ดวาระ” นานเท่าไร และช่วงเวลานี้เริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อไร?
[ภาพเต็มหน้า 83]
[ภาพเต็มหน้า 91]