หนังสือที่คุณเชื่อถือได้ ตอน 4
มิโด-เปอร์เซียในประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล
นี่เป็นบทความตอนที่สี่ในชุดบทความเจ็ดตอนซึ่งลงติดต่อกันใน “ตื่นเถิด!” ชุดบทความนี้จะพิจารณามหาอำนาจโลกทั้งเจ็ดในประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล. จุดมุ่งหมายก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่เชื่อถือได้และมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า และข่าวสารในพระคัมภีร์ให้ความหวังที่ว่าความทุกข์ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์ใช้อำนาจอย่างโหดร้ายเหนือเพื่อนมนุษย์จะสิ้นสุดลง.
ซากปรักหักพังของราชวังและที่ฝังศพของราชวงศ์ทำให้เรามองเห็นเพียงส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่, อำนาจ, และความมั่งคั่งของจักรวรรดิคู่ในสมัยโบราณคือมีเดียและเปอร์เซีย. ก่อนสองอาณาจักรนี้จะรวมกัน มีเดียเป็นอาณาจักรที่เด่นกว่า. แต่ในปี 550 ก่อนสากลศักราช ชาวมีเดียตกอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์ไซรัสที่ 2 แห่งเปอร์เซียซึ่งหลังจากนั้นได้ปกครองเหนืออาณาจักรมิโด-เปอร์เซีย. อาณาจักรใหญ่โตนี้มีศูนย์กลางอยู่ทางเหนือของอ่าวเปอร์เซีย และในที่สุดก็ได้ขยายอำนาจจากทะเลอีเจียนไปถึงอียิปต์และไปถึงตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย รวมทั้งแผ่นดินยูเดียด้วย.
มิโด-เปอร์เซียปกครองชนชาติยิวอยู่นานกว่า 200 ปีนับตั้งแต่บาบิโลนถูกโค่นในปี 539 ก่อน ส.ศ. จนกระทั่งมิโด-เปอร์เซียพ่ายแพ้แก่ชาวกรีกในปี 331 ก่อน ส.ศ. หนังสือหลายเล่มในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้น.
ประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้
คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า กษัตริย์ไซรัสที่ 2 ได้ปลดปล่อยชาวยิวที่ตกเป็นเชลยในบาบิโลนให้เป็นอิสระ และอนุญาตให้พวกเขากลับไปยังกรุงเยรูซาเลมและสร้างพระวิหารของพระเจ้าขึ้นใหม่ ซึ่งชาวบาบิโลนได้ทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. (เอษรา 1:1-7; 6:3-5) กระบอกดินเหนียวของไซรัส ซึ่งค้นพบในปี 1879 ในซากปรักหักพังของบาบิโลนโบราณ ได้ยืนยันเรื่องราวนี้. คำจารึกนี้ได้ระบุชื่อไซรัสและพรรณนานโยบายของเขาในการปลดปล่อยเชลยที่ถูกจับมาก่อนหน้านี้ และคืนวัตถุทางศาสนาของพวกเขาสู่ถิ่นกำเนิด. ยะซายาห์ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลได้บันทึกคำพยากรณ์ของพระยะโฮวาเกี่ยวกับไซรัสว่า “‘ผู้ที่ประกอบกิจตามน้ำใจของเราให้สำเร็จผล’; ผู้ที่จะได้กล่าวถึงกรุงยะรูซาเลมว่า, ‘กรุงจะถูกกู้ขึ้น’, และกล่าวถึงวิหารว่า, ‘รากของเจ้าจะถูกวางขึ้นใหม่.’”—ยะซายา 44:28
ที่จริง ตามที่เอษรา 6:3, 4 กล่าว ไซรัสสั่งว่าเงินทุนที่ใช้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่นั้น “ให้เบิกมาจากราชทรัพย์หลวง.” ถ้อยคำที่น่าทึ่งนี้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์โลก. หนังสือเปอร์เซียและคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “เป็นนโยบายที่กษัตริย์เปอร์เซียทำตามอย่างเสมอต้นเสมอปลายในอันที่จะฟื้นฟูสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในจักรวรรดิของเขา.”
คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าผู้ต่อต้านชาวยิวได้เขียนถึงดาระยาศมหาราช (มีอีกชื่อหนึ่งว่าดาระยาศที่ 1) โดยแย้งคำอ้างของชาวยิวที่ว่าไซรัสได้บัญชาให้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่. ดาระยาศจึงสั่งให้ค้นหากฤษฎีกาดั้งเดิม. ผลเป็นอย่างไร? มีการค้นพบม้วนหนังสือที่บรรจุกฤษฎีกาของไซรัสในกรุงเอกบาทานา นครหลวง. ดังนั้น ดาระยาศจึงได้เขียนว่า “เราดาระยาศได้ออกหมายประกาศไว้แล้ว; ให้รีบทำเถิด [การก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่].” การต่อต้านงานสร้างก็เป็นอันเลิกไป.a—เอษรา 6:2, 7, 12, 13
ประวัติศาสตร์โลกสนับสนุนรายละเอียดเหล่านี้. ประการหนึ่ง เอกบาทานาเป็นที่ประทับของไซรัสในฤดูร้อน และเขาอาจออกกฤษฎีกาจากที่นั่น. นอกจากนั้น การค้นพบทางโบราณคดีแสดงว่ากษัตริย์แห่งมิโด-เปอร์เซียสนใจมากเกี่ยวกับเรื่องศาสนาซึ่งมีผลกระทบต่ออาณาจักรของตน และได้เขียนสารหลายฉบับเพื่อแก้ข้อขัดแย้ง.
คำพยากรณ์ที่เชื่อถือได้
ในความฝันที่พระเจ้าบันดาลให้เกิดขึ้น ผู้พยากรณ์ดานิเอลเห็นสัตว์ร้ายสี่ตัวขึ้นมาจากทะเล แต่ละตัวหมายถึงมหาอำนาจโลกที่สืบต่อกันตามลำดับ. สัตว์ตัวแรกเป็นสิงโตมีปีกหมายถึงบาบิโลน. ตัวที่สอง “รูปร่างเหมือนหมี.” บันทึกบอกต่อไปว่า “เขากล่าวแก่มันว่า, ‘จงลุกขึ้น, กินเนื้อมาก ๆ เถอะ!’” (ดานิเอล 7:5) หมีที่น่ากลัวหมายถึงมิโด-เปอร์เซีย.
จริงตามคำพยากรณ์ของดานิเอล มิโด-เปอร์เซียแสดงความกระหายอย่างตะกละตะกลามที่จะพิชิตชาติอื่น. ไม่นานหลังจากดานิเอลเห็นนิมิต ไซรัสได้พิชิตชาวมีเดีย แล้วก็ได้ทำสงครามกับลิเดียและบาบิโลน. แคมบีซิสที่ 2 บุตรของเขาได้พิชิตอียิปต์. ต่อมา ผู้ปกครองมิโด-เปอร์เซียได้แผ่ขยายจักรวรรดิให้กว้างยิ่งขึ้น.
เราจะแน่ใจการตีความเช่นนี้ได้อย่างไร? ในอีกนิมิตหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกัน ดานิเอลเห็นแกะตัวผู้ “ขวิดไปทางทิศอัสดงคต, ทิศอุดรและทิศทักษิณ.” คำพยากรณ์นี้สำเร็จเมื่อมิโด-เปอร์เซีย “ขวิด” ชาติอื่น ๆ รวมทั้งบาบิโลนอันเกรียงไกร. ทูตสวรรค์ของพระเจ้าตีความนิมิตนี้โดยกล่าวแก่ดานิเอลว่า “แกะตัวผู้ซึ่งท่านเห็นมีสองเขานั้น, คือราชาของมาดายและฟารัศ [มีเดียและเปอร์เซีย].”—ดานิเอล 8:3, 4, 20
ยิ่งกว่านั้น สองศตวรรษก่อนบาบิโลนถูกพิชิต ผู้พยากรณ์ยะซายาห์บอกล่วงหน้าถึงชื่อกษัตริย์ชาวเปอร์เซียผู้จะมาพิชิต ซึ่งตอนนั้นยังไม่เกิด รวมทั้งบอกถึงยุทธวิธีที่จะพิชิตบาบิโลน. ยะซายาห์เขียนว่า “พระยะโฮวาได้ตรัสแก่โคเรศ [ไซรัส] ผู้ที่พระองค์ทรงเจิมไว้, ผู้ที่เราได้ยึดมือขวาของท่านไว้เพื่อให้ท่านปราบประชาชาติลงไปต่อหน้าท่าน . . . เพื่อจะได้เปิดประตูให้ท่านเข้าไป, และประตูเหล่านั้นจะไม่ปิดเสียได้.” (ยะซายา 45:1) ทั้งยะซายาห์และยิระมะยาห์บอกล่วงหน้าว่า “แม่น้ำ” ของบาบิโลนหรือคูคลองที่ได้น้ำมาจากแม่น้ำยูเฟรทิส ซึ่งเป็นคูป้องกันเมือง จะแห้งไป. (ยะซายา 44:27; ยิระมะยา 50:38) เฮโรโดทุสและเซโนโฟนนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกยืนยันความถูกต้องแม่นยำของคัมภีร์ไบเบิล รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าชาวบาบิโลนกำลังเลี้ยงฉลองกันในคืนที่ไซรัสยึดเมืองได้. (ยะซายา 21:5, 9; ดานิเอล 5:1-4, 30) หลังจากได้เบี่ยงให้แม่น้ำยูเฟรทิสไหลไปอีกทางหนึ่ง กองทัพของไซรัสก็เข้าเมืองโดยผ่านประตูเมืองที่เปิดที่ทิ้งแล้วบนฝั่งแม่น้ำ แทบไม่มีการต่อต้านขัดขวางเลย. กรุงบาบิโลนที่เข้มแข็งล่มจมภายในคืนเดียว!
เหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสู่ความสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่งของคำพยากรณ์อีกเรื่องหนึ่ง. ผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์ได้พยากรณ์ไว้ก่อนหน้านั้นว่า ประชาชนของพระเจ้าจะเป็นเชลยอยู่ในบาบิโลนเป็นเวลา 70 ปี. (ยิระมะยา 25:11, 12; 29:10) คำพยากรณ์นั้นสำเร็จเป็นจริงตามเวลากำหนด และพวกเชลยได้รับอนุญาตให้กลับไปสู่มาตุภูมิของตน.
ความหวังที่คุณเชื่อถือได้
ไม่นานหลังจากมิโด-เปอร์เซียพิชิตบาบิโลน ดานิเอลได้บันทึกคำพยากรณ์ซึ่งช่วยเราเข้าใจเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติสำเร็จ. ทูตสวรรค์กาบรีเอลได้แจ้งแก่ดานิเอลโดยระบุเวลาแน่นอนที่มาซีฮาจะมาปรากฏ ซึ่งเป็น “ผู้สืบเชื้อสาย” ตามคำสัญญาที่เยเนซิศ 3:15! ทูตสวรรค์ของพระเจ้าบอกว่า “ตั้งแต่มีถ้อยคำออกไปให้กู้กรุงเยรูซาเลมและสร้างขึ้นใหม่จนถึงพระมาซีฮาผู้นำนั้น จะเป็นเวลาเจ็ดสัปดาห์ กับอีกหกสิบสองสัปดาห์” ซึ่งรวมแล้วเท่ากับ 69 สัปดาห์. (ดานิเอล 9:25, ล.ม.) ช่วงเวลาเชิงพยากรณ์นี้เริ่มต้นเมื่อไร?
แม้ว่าไซรัสยอมให้ชาวยิวกลับสู่ดินแดนของตนไม่นานหลังจากบาบิโลนล่มจม แต่อีกหลายปีต่อมา กรุงเยรูซาเลมและกำแพงเมืองก็ยังคงอยู่ในสภาพทรุดโทรม. ในปี 455 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์อาร์ทาเซอร์เซสอนุญาตนะเฮมยาพนักงานเชิญจอกเสวยให้กลับไปเยรูซาเลมและเป็นผู้นำในงานสร้างกรุงนั้นขึ้นใหม่. (นะเฮมยา 2:1-6) เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ 69 สัปดาห์.
อย่างไรก็ตาม 69 สัปดาห์นี้ไม่ใช่สัปดาห์ตามตัวอักษรที่มีเจ็ดวันในหนึ่งสัปดาห์ แต่เป็นสัปดาห์แห่งปี. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลคำว่า “สัปดาห์” เป็น “สัปดาห์แห่งปี.”b (ดานิเอล 9:24, 25) มาซีฮาจะปรากฏตัวหลังจากช่วงเวลาที่มี 69 “สัปดาห์” ซึ่งแต่ละสัปดาห์มี 7 ปี—รวมแล้วเท่ากับ 483 ปี. คำพยากรณ์นี้สำเร็จสมจริงใน ส.ศ. 29 เมื่อพระเยซูทรงรับบัพติสมา ซึ่งเป็นเวลา 483 ปีพอดีนับจากปี 455 ก่อน ส.ศ.c
การสำเร็จสมจริงอย่างแม่นยำของคำพยากรณ์ของดานิเอลเสริมหลักฐานที่มีอยู่มากมายว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮา. หลักฐานนี้ยังได้เสริมความหวังของเราสำหรับอนาคตด้วย. พระเยซู ในฐานะกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าในสวรรค์ จะทำให้การปกครองของมนุษย์จบสิ้นไป. หลังจากนั้น พระองค์จะทำให้คำพยากรณ์อีกหลายข้อในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริง รวมทั้งข้อที่บอกล่วงหน้าว่าคนตายจะถูกปลุกให้เป็นขึ้นเพื่อมีชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก.—ดานิเอล 12:2; โยฮัน 5:28, 29; วิวรณ์ 21:3-5
a อย่างน้อยมีกษัตริย์สามองค์ที่ใช้ชื่อดาระยาศ.
b คัมภีร์ไบเบิลฉบับที่ใช้คำว่า “สัปดาห์แห่งปี” มีดังต่อไปนี้: ทานักฮ์—พระคัมภีร์ฉบับแปลใหม่, คัมภีร์ไบเบิลครบชุด—ฉบับแปลอเมริกัน, และคัมภีร์ไบเบิล—มีพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ โดยเจมส์ มอฟฟัตต์.
c สำหรับการพิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับคำพยากรณ์ข้อนี้ รวมทั้งแผนภูมิแสดง 69 สัปดาห์แห่งปี ดูหน้า 198-199 ของหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริง ๆ?