พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมดานิเอล
พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลที่มีภาพประกอบของฮอลมัน (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “พระธรรมดานิเอลเป็นหนึ่งในงานเขียนที่น่าประทับใจที่สุดในคัมภีร์ไบเบิล. เป็นพระธรรมที่บรรจุความจริงตลอดกาล.” เรื่องราวในดานิเอลเริ่มต้นในปี 618 ก่อนสากลศักราช เมื่อกษัตริย์นะบูคัดเนซัรแห่งบาบิโลนมาถึงกรุงเยรูซาเลมและล้อมกรุงนั้น และ “นำเอาเด็กชายชาติยิศราเอล” บางคนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน. (ดานิเอล 1:1-3) ในจำนวนนี้มีเด็กหนุ่มดานิเอลซึ่งอาจยังเป็นวัยรุ่น. พระธรรมนี้จบลงตอนที่ดานิเอลยังอยู่ที่บาบิโลน. ดานิเอลซึ่งตอนนั้นอายุเกือบ 100 ปีแล้วได้รับคำสัญญาจากพระเจ้าว่า “ท่านจะพักผ่อน แต่ท่านจะลุกขึ้นเพื่อจะได้ส่วนของท่านเมื่อสิ้นสุดวันเหล่านั้น.”—ดานิเอล 12:13, ล.ม.
ขณะที่ส่วนแรกของพระธรรมดานิเอลบันทึกเรื่องราวตามลำดับเวลาโดยใช้สรรพนามบุรุษที่สาม แต่ส่วนหลังเขียนโดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง. ดานิเอลเป็นผู้เขียนพระธรรมนี้ซึ่งมีคำพยากรณ์เกี่ยวกับความรุ่งเรืองและความล่มสลายของมหาอำนาจโลกหลายมหาอำนาจ, เวลาที่พระมาซีฮาจะเสด็จมา, และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยของเรา.a นอกจากนั้น ผู้พยากรณ์ที่ชราแล้วได้มองย้อนกลับไปถึงช่วงชีวิตอันยาวนานของท่านและบอกเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งหนุนใจเราให้เป็นชายและหญิงที่รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้า. ข่าวสารของดานิเอลมีชีวิตและทรงพลัง.—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
เรื่องราวตามลำดับเวลาสอนอะไรแก่เรา?
ในปี 617 ก่อน ส.ศ. ดานิเอลและเด็กหนุ่มสามคนคือ ซัดรัค, เมเซ็ค, อะเบ็ดนะโคอยู่ที่ราชสำนักของบาบิโลน. ขณะที่กำลังรับเอาการฝึกอบรมเกี่ยวกับชีวิตในราชสำนักนานสามปี เด็กหนุ่มเหล่านี้ยังคงรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้า. ประมาณแปดปีต่อมา กษัตริย์นะบูคัดเนซัรฝันประหลาด. ดานิเอลเปิดเผยเรื่องราวในความฝันพร้อมทั้งแก้ฝัน. กษัตริย์ยอมรับว่าพระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าแห่งพระทั้งหลายและพระผู้เป็นเจ้าแห่งกษัตริย์ทั้งหลายและผู้เปิดเผยความลับ.” (ดานิเอล 2:47, ล.ม.) แต่ต่อมาไม่นาน นะบูคัดเนซัรดูเหมือนจะลืมบทเรียนนี้. เมื่อเพื่อนสามคนของดานิเอลปฏิเสธที่จะนมัสการรูปเคารพขนาดมหึมา กษัตริย์ก็สั่งให้โยนพวกเขาลงในเตาไฟที่ร้อนแรง. พระเจ้าเที่ยงแท้ช่วยชีวิตชายหนุ่มทั้งสามคน และนะบูคัดเนซัรจำใจยอมรับว่า “ไม่มีพระองค์ใดที่สามารถช่วยในเรื่องทำนองนี้ให้รอดได้.”—ดานิเอล 3:29.
นะบูคัดเนซัรฝันถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง. ท่านเห็นต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งถูกตัดและถูกสวมปลอกป้องกันไม่ให้งอกขึ้น. ดานิเอลแก้ฝันนั้น. ความฝันนั้นสำเร็จเป็นจริงในระดับหนึ่งเมื่อนะบูคัดเนซัรถูกทำให้สติวิปลาสและได้สติคืนมาในภายหลัง. หลายสิบปีต่อมา กษัตริย์เบละซาซัรได้จัดงานเลี้ยงใหญ่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และได้นำภาชนะศักดิ์สิทธิ์ที่ริบมาจากพระวิหารของพระยะโฮวามาใช้อย่างไม่บังควร. คืนนั้นเอง เบละซาซัรถูกสังหารและดาระยาศชาวมีเดียได้ครองอาณาจักร. (ดานิเอล 5:30, 31) ในสมัยของดาระยาศ เมื่อดานิเอลมีอายุกว่า 90 ปี ผู้พยากรณ์ซึ่งชราแล้วตกเป็นเป้าของแผนสังหารโดยเหล่าข้าราชการขี้อิจฉา. แต่พระยะโฮวาช่วยชีวิตผู้พยากรณ์ “จากอำนาจสิงห์.”—ดานิเอล 6:27.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:11-15—อาหารมังสวิรัติเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กหนุ่มชาวยูเดียทั้งสี่คนมีสุขภาพดีขึ้นไหม? ไม่ใช่. ไม่มีอาหารชนิดใดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวภายในสิบวันได้. การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเช่นนั้นมาจากพระยะโฮวา ผู้ทรงอวยพรพวกเขาเนื่องจากพวกเขาวางใจในพระองค์.—สุภาษิต 10:22.
2:1—นะบูคัดเนซัรฝันเรื่องรูปปั้นมหึมาเมื่อใด? เรื่องราวบันทึกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน “ปีที่สองในรัชกาลของราชานะบูคัศเนซัร.” ท่านเป็นกษัตริย์ในปี 624 ก่อน ส.ศ. ดังนั้น ปีที่สองในรัชกาลของท่านคงจะเริ่มในปี 623 ก่อน ส.ศ. ซึ่งเป็นหลายปีก่อนหน้าที่ท่านจะรุกรานยูดาห์. ในตอนนั้น ดานิเอลยังไม่ได้อยู่ในบาบิโลนเพื่อแก้ฝัน. เห็นได้ชัดว่า “ปีที่สอง” ต้องนับจากปี 607 ก่อน ส.ศ. เมื่อกษัตริย์บาบิโลนทำลายกรุงเยรูซาเลมและกลายเป็นผู้ปกครองโลก.
2:32, 39—อาณาจักรที่เป็นเงิน เป็นรองอาณาจักรศีรษะที่เป็นทองคำในแง่ใด และอาณาจักรที่เป็นทองแดง เป็นรองอาณาจักรที่เป็นเงินอย่างไร? จักรวรรดิมิโด-เปอร์เซียซึ่งมีส่วนของรูปปั้นที่เป็นเงินเป็นสัญลักษณ์ เป็นรองบาบิโลนซึ่งมีส่วนหัวทองคำเป็นสัญลักษณ์ในแง่ที่ว่า จักรวรรดินี้ไม่ได้มีความโดดเด่นในการโค่นล้มอาณาจักรยูดาห์. มหาอำนาจโลกลำดับถัดมาคือกรีซ มีส่วนที่เป็นทองแดงเป็นสัญลักษณ์. กรีซเป็นรองมิโด-เปอร์เซียเช่นเดียวกับทองแดงด้อยกว่าเงิน. แม้จักรวรรดิกรีซปกครองอาณาเขตที่กว้างใหญ่กว่า แต่ก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษในการปลดปล่อยประชาชนของพระเจ้าจากการเป็นเชลยเช่นที่มิโด-เปอร์เซียได้ทำ.
4:8, 9—ดานิเอลเป็นนักโหราศาสตร์จริง ๆ ไหม? ไม่. คำ “เจ้ากรมกองโหราศาสตร์” เป็นเพียงการพาดพิงถึงตำแหน่งของดานิเอลฐานะ “ประธานใหญ่ของนักปราชญ์ทั้งสิ้นแห่งบาบิโลน.”—ดานิเอล 2:48, ฉบับแปลใหม่.
4:10, 11, 20-22—ต้นไม้ใหญ่ในความฝันของนะบูคัดเนซัรเป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร? ในขั้นแรก ต้นไม้นี้หมายถึงนะบูคัดเนซัรฐานะประมุขแห่งมหาอำนาจโลก. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปกครองขยายออกไป “จดกะทั่งปลายพิภพโลก” ต้นไม้จึงต้องหมายถึงบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก. ดานิเอล 4:17 เชื่อมโยงความฝันดังกล่าวกับการปกครองของ “พระผู้สูงสุด” เหนือมนุษยชาติ. ฉะนั้น ต้นไม้ดังกล่าวจึงเป็นสัญลักษณ์ถึงสากลพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินโลก. ด้วยเหตุนั้น ความฝันจึงสำเร็จเป็นจริงสองครั้ง นั่นคือ สำเร็จเป็นจริงกับการปกครองของนะบูคัดเนซัรและกับพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา.
4:16, 23, 25, 32, 33 (ฉบับแปลใหม่)—“เจ็ดวาระ” ยาวนานเท่าใด? การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับรูปร่างหน้าตาของกษัตริย์นะบูคัดเนซัรบ่งชี้ว่า ช่วงเวลา “เจ็ดวาระ” จะต้องยาวกว่าเจ็ดวันจริง ๆ อย่างมาก. ในกรณีของกษัตริย์นะบูคัดเนซัร ช่วงเวลาดังกล่าวหมายถึงเจ็ดปีซึ่งแต่ละปีมี 360 วัน หรือรวมแล้ว 2,520 วัน. ในความสำเร็จเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่กว่า คำ “เจ็ดวาระ” หมายถึง 2,520 ปี. (ยะเอศเคล 4:6, 7) ช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มจากพินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลมในปี 607 ก่อน ส.ศ. และสิ้นสุดในตอนที่พระเยซูขึ้นครองราชย์ฐานะกษัตริย์ในสวรรค์ในปีสากลศักราช 1914.—ลูกา 21:24.
6:6-10—เนื่องจากการอธิษฐานถึงพระยะโฮวาไม่จำเป็นต้องมีท่าทางเฉพาะ ไม่สุขุมกว่าหรือหากดานิเอลจะอธิษฐานอย่างลับ ๆ ในช่วง 30 วันนั้น? ข้อเท็จจริงที่ว่าดานิเอลอธิษฐานวันละสามครั้งเป็นสิ่งที่รู้กันแพร่หลาย. นั่นเป็นเหตุให้พวกที่คบคิดกันวางแผนร้ายออกอุบายให้มีกฎหมายเพื่อจำกัดการอธิษฐาน. การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกิจวัตรของดานิเอลเกี่ยวกับการอธิษฐานอาจทำให้คนอื่นคิดว่าดูเหมือนเป็นการยอมอะลุ่มอล่วยและอาจเป็นการบ่งชี้ว่าท่านไม่ได้ถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวา.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:3-8. ความตั้งใจแน่วแน่ของดานิเอลและสหายที่จะรักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาชี้ให้เห็นว่า พวกเขาต้องได้รับการฝึกอบรมอันมีค่าจากบิดามารดา. เมื่อบิดามารดาที่เกรงกลัวพระเจ้าจัดเอาผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณมาเป็นอันดับแรกในชีวิตของพวกเขาและสอนลูกให้ทำเช่นเดียวกัน ลูก ๆ ของพวกเขาก็จะต้านทานการล่อใจและความกดดันใด ๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้นที่โรงเรียนหรือที่อื่นได้.
1:10-12. ดานิเอลเข้าใจเหตุผลที่ “เจ้ากรมวัง” กลัวกษัตริย์และไม่ได้ทำให้เขาลำบากใจ. อย่างไรก็ตาม ภายหลังดานิเอลได้เข้าไปคุยกับ “ทนาย [“ผู้ดูแล,” ล.ม.]” ซึ่งอาจอยู่ในฐานะที่ยอมผ่อนปรนมากกว่า. เมื่อต้องรับมือกับสภาพการณ์ที่ยุ่งยากเราควรลงมือทำอย่างที่มีความหยั่งเห็น, ความเข้าใจ, และสติปัญญาแบบเดียวกัน.
2:29, 30. เช่นเดียวกับดานิเอล เราควรยกคำสรรเสริญทั้งสิ้นแด่พระยะโฮวาสำหรับความรู้ที่เราได้รับ, คุณสมบัติ, และความสามารถที่เราได้พัฒนาขึ้นซึ่งเป็นผลจากการฝึกอบรมตามหลักพระคัมภีร์.
3:16-18. ชายหนุ่มฮีบรูสามคนคงไม่อาจตอบด้วยความมั่นใจเต็มที่เช่นนั้นได้หากก่อนหน้านี้พวกเขายอมอะลุ่มอล่วยเรื่องอาหาร. เราก็เช่นกันควรพยายามเป็นคน “สัตย์ซื่อในสิ่งทั้งปวง.”—1 ติโมเธียว 3:11.
4:24-27. ในการประกาศข่าวสารราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงการพิพากษาลงโทษศัตรูของพระเจ้า เราต้องมีความเชื่อและความกล้าหาญแบบเดียวกับดานิเอล ซึ่งได้เปิดเผยสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับนะบูคัดเนซัรและสิ่งที่กษัตริย์ควรทำเพื่อที่ “ความรุ่งเรืองจะยืนยาวออกไปอีก.”
5:30, 31. “เพลงเย้ยกษัตริย์ประเทศบาบูโลน” ปรากฏว่าเกิดขึ้นจริง. (ยะซายา 14:3, 4, 12-15) ซาตานพญามารซึ่งหยิ่งทะนงคล้ายกันกับเหล่าราชวงศ์แห่งบาบิโลนก็จะพบจุดจบที่เลวร้ายเช่นกัน.—ดานิเอล 4:30; 5:2-4, 23.
นิมิตต่าง ๆ ของดานิเอลเผยให้เห็นอะไร?
ตอนที่ดานิเอลได้รับนิมิตในความฝันเป็นครั้งแรกในปี 553 ก่อน ส.ศ. ท่านอยู่ในวัย 70 กว่าปีแล้ว. ดานิเอลเห็นสัตว์ร้ายรูปร่างมหึมาสี่ตัวซึ่งเป็นภาพเล็งถึงมหาอำนาจโลกที่ขึ้นครองอำนาจสืบต่อกันมาจากสมัยของท่านจนถึงสมัยของเรา. ในภาพนิมิตในสวรรค์ ดานิเอลเห็น “ผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์” ได้รับมอบ ‘รัชที่ดำรงอยู่เป็นนิจ.’ (ดานิเอล 7:13, 14) สองปีต่อมา ดานิเอลได้รับนิมิตเกี่ยวกับมิโด-เปอร์เซีย, กรีซ, และประเทศหนึ่งที่จะกลายเป็น “กษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งมีพระพักตร์ดุร้าย.”—ดานิเอล 8:23, ล.ม.
เวลานั้นเป็นปี 539 ก่อน ส.ศ. บาบิโลนได้ล่มสลาย และดาระยาศชาวมีเดียได้กลายมาเป็นผู้ปกครองอาณาจักรแคลเดีย. ดานิเอลอธิษฐานต่อพระยะโฮวาเรื่องการฟื้นฟูมาตุภูมิของท่าน. ขณะที่ท่านกำลังอธิษฐานอยู่ พระยะโฮวาได้ส่งทูตสวรรค์ฆับรีเอลมาหาดานิเอลเพื่อ “ให้ความสว่างอกสว่างใจ” เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระมาซีฮา. (ดานิเอล 9:20-25) เวลาผ่านไปจนถึงช่วงปี 536 และ 535 ก่อน ส.ศ. ชนที่เหลือได้กลับคืนสู่กรุงเยรูซาเลม. แต่มีอุปสรรคขัดขวางการก่อสร้างพระวิหาร. เรื่องนี้ทำให้ดานิเอลไม่สบายใจ. ท่านอธิษฐานอย่างไม่ละลดเกี่ยวด้วยเรื่องนี้ และพระยะโฮวาได้ส่งทูตสวรรค์ที่มีตำแหน่งสูงมาหาดานิเอล. หลังจากเสริมกำลังและหนุนใจดานิเอลแล้ว ทูตสวรรค์ได้กล่าวคำพยากรณ์ที่ให้ภาพคร่าว ๆ เกี่ยวกับการต่อสู้ช่วงชิงความเป็นใหญ่ระหว่างกษัตริย์ทิศเหนือและกษัตริย์ทิศใต้. การต่อสู้ระหว่างกษัตริย์สององค์ยืดออกไปจากยุคที่อาณาจักรของอะเล็กซานเดอร์มหาราชถูกแบ่งแยกโดยนายพลสี่คนของท่าน จนถึงเวลาที่มิคาเอลเจ้าชายองค์ยิ่งใหญ่ “จะยืนขึ้น.”—ดานิเอล 12:1, ล.ม.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
8:9—“เมืองอันงดงาม” เป็นภาพเล็งถึงอะไร? ในกรณีนี้ “เมืองอันงดงาม” เป็นภาพเล็งถึงสภาพทางแผ่นดินโลกของคริสเตียนผู้ถูกเจิมในช่วงของมหาอำนาจโลกแองโกล-อเมริกัน.
8:25—“จอมแห่งทวยเทพ [“เจ้าแห่งเจ้า,” ล.ม.]” หมายถึงใคร? คำภาษาฮีบรูซาร์ ซึ่งได้รับการแปลว่า “เจ้า” โดยพื้นฐานแล้วหมายถึง “หัวหน้า” หรือ “ผู้เป็นประมุข.” ตำแหน่ง “เจ้าแห่งเจ้า” ใช้กับพระยะโฮวาพระเจ้าเท่านั้นเพราะทรงเป็นหัวหน้าเหล่าทูตสวรรค์ทั้งมวล รวมถึง “มิคาเอล, อัครเทวทูต [“หนึ่งในเจ้าองค์สำคัญยิ่ง,” ล.ม.].”—ดานิเอล 10:13.
9:21—เหตุใดดานิเอลเปรียบทูตสวรรค์ฆับรีเอลเป็น “บุรุษ”? นี่เป็นเพราะฆับรีเอลมาหาท่านในรูปลักษณ์เหมือนมนุษย์ดังที่เคยปรากฏแก่ดานิเอลในนิมิตก่อนหน้านี้.—ดานิเอล 8:15-17.
9:27 (ล.ม.)—สัญญาอะไรที่ยังคง ‘รักษาไว้สำหรับคนเป็นอันมาก’ กระทั่งตอนปลายสัปดาห์ที่ 70 แห่งปีหรือในปี ส.ศ. 36? สัญญาแห่งพระบัญญัติถูกเพิกถอนในปี ส.ศ. 33 เมื่อพระเยซูถูกตรึง. แต่โดยทำให้สัญญาที่ทำกับอับราฮามมีผลบังคับใช้กับชาติอิสราเอลโดยกำเนิดจนถึงปี ส.ศ. 36 พระยะโฮวาทรงยืดช่วงเวลาแห่งความโปรดปรานเป็นพิเศษแก่พวกยิวเนื่องจากพวกเขาเป็นลูกหลานของอับราฮาม. สัญญากับอับราฮามจึงยังคงมีผลบังคับใช้กับ “อิสราเอลของพระเจ้า” ต่อไป.—ฆะลาเตีย 3:7-9, 14-18, 29; 6:16, ฉบับแปลใหม่.
บทเรียนสำหรับเรา:
9:1-23; 10:11. เนื่องจากดานิเอลเป็นคนถ่อมใจ, มีความเลื่อมใสในพระเจ้า, เป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ที่ขยันหมั่นเพียร, และอธิษฐานอย่างไม่ละลด ท่านจึงเป็น “คนโปรดปรานยิ่งนัก.” นอกจากนั้น บุคลิกลักษณะเหล่านี้เองที่ช่วยท่านให้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าจนถึงที่สุดของชีวิต. ให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะเลียนแบบดานิเอล.
9:17-19. แม้แต่เมื่อเราอธิษฐานขอให้โลกใหม่ของพระเจ้าซึ่ง “เป็นที่ที่ความชอบธรรมจะดำรงอยู่” มาถึง สิ่งที่เราควรเป็นห่วงอันดับแรกคือการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และการเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ แทนที่จะเน้นเรื่องการขอให้ความทุกข์และปัญหาส่วนตัวของเราหมดไปมิใช่หรือ?—2 เปโตร 3:13.
10:9-11, 18, 19. ในการเลียนแบบทูตสวรรค์ที่มาหาดานิเอล เราควรหนุนใจและเสริมกำลังซึ่งกันและกันโดยเสนอความช่วยเหลือและคำพูดปลอบโยน.
12:3 (ล.ม.). ในช่วงสมัยสุดท้ายนี้ “ผู้ที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจ” ซึ่งหมายถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้ “ฉายแสงดุจดวงสว่าง” และนำ “หลายคนมาสู่ความชอบธรรม” ซึ่งรวมถึง “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น.” (ฟิลิปปอย 2:15, ล.ม.; วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; โยฮัน 10:16) ผู้ถูกเจิมจะ ‘ส่องแสงเหมือนดวงดาว’ ในความหมายครบถ้วนที่สุดในช่วงการปกครองของพระคริสต์ในรัชสมัยพันปี เมื่อพวกเขาจะร่วมกับพระคริสต์ในการใช้คุณค่าของเครื่องบูชาไถ่อย่างเต็มที่แก่มนุษยชาติที่เชื่อฟังบนแผ่นดินโลก. “แกะอื่น” ควรร่วมมือกับผู้ถูกเจิมอย่างภักดีโดยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุก ๆ ทาง.
พระยะโฮวา ‘ทรงอวยพรแก่คนทั้งหลายที่เกรงกลัวพระองค์’
พระธรรมดานิเอลสอนอะไรเกี่ยวกับพระเจ้าที่เรานมัสการ? ขอพิจารณาคำพยากรณ์ต่าง ๆ ในพระธรรมนี้—ทั้งที่สำเร็จเป็นจริงไปแล้วและที่ยังรอการสำเร็จเป็นจริง. คำพยากรณ์เหล่านั้นให้ภาพอย่างชัดเจนสักเพียงไรว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ทำให้พระคำของพระองค์สำเร็จเป็นจริง!—ยะซายา 55:11.
เรื่องราวในพระธรรมดานิเอลเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับพระเจ้า? เด็กหนุ่มชาวฮีบรูสี่คนที่ปฏิเสธการทำตัวกลมกลืนกับชีวิตในราชสำนักบาบิโลนได้รับ ‘ความรู้, ความฉลาด, และสติปัญญา.’ (ดานิเอล 1:17) พระเจ้าเที่ยงแท้ส่งทูตสวรรค์ของพระองค์มาช่วยชีวิตซัดรัค, เมเซ็ค, และอะเบ็ดนะโคจากเตาไฟที่ร้อนแรง. ดานิเอลได้รับการช่วยให้รอดชีวิตจากถ้ำสิงโต. พระยะโฮวา ‘ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์และเป็นโล่ของคนที่วางใจพึ่งในพระองค์’ และ ‘ทรงอวยพรแก่คนทั้งหลายที่เกรงกลัวพระองค์.’—บทเพลงสรรเสริญ 115:9, 13.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาพระธรรมดานิเอลทีละข้อ ดูหนังสือจงเอาใจใส่คำพยากรณ์ของดานิเอล! จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 18]
เหตุใดดานิเอลจึงเป็น “คนโปรดปรานยิ่งนัก”?