บทสิบสี่
สองกษัตริย์เปลี่ยนตัวไป
1, 2. (ก) อะไรนำไปสู่การที่อันทิโอกุสที่ 4 ยอมทำตามข้อเรียกร้องของโรม? (ข) ซีเรียกลายเป็นแคว้นของโรมเมื่อไร?
อันทิโอกุสที่ 4 กษัตริย์ชาวซีเรียบุกเข้าโจมตีอียิปต์และตั้งตนเองเป็นกษัตริย์แห่งอียิปต์. ตามคำขอร้องของกษัตริย์ปโตเลมีที่ 6 แห่งอียิปต์ โรมจึงส่งเอกอัครราชทูต ไกอุส โปปิลิอุส ไลนาส ไปยังอียิปต์. ไลนาสยกกองทัพเรือที่ใหญ่โตไปพร้อมด้วยคำสั่งจากสภาสูงแห่งโรมที่ให้อันทิโอกุสที่ 4 สละบัลลังก์แห่งอียิปต์และถอนทัพออกไปจากประเทศนั้น. ณ เอลูซิส ชานเมืองอะเล็กซานเดรีย กษัตริย์แห่งซีเรียและเอกอัครราชทูตแห่งโรมเผชิญหน้ากัน. อันทิโอกุสที่ 4 ขอเวลาเพื่อปรึกษากับเหล่าที่ปรึกษา แต่ไลนาสขีดวงกลมล้อมรอบตัวกษัตริย์และบอกให้ท่านให้คำตอบก่อนที่จะก้าวออกจากวงกลมนั้น. ด้วยความอัปยศ อันทิโอกุสที่ 4 ทำตามข้อเรียกร้องของโรมแล้วกลับไปซีเรียในปี 168 ก.ส.ศ. นี่จึงเป็นการยุติการเผชิญหน้ากันระหว่างกษัตริย์ทิศเหนือแห่งซีเรียและกษัตริย์ทิศใต้แห่งอียิปต์.
2 เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ทางแถบตะวันออกกลาง โรมจึงเข้าควบคุมซีเรีย. ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่ากษัตริย์ของราชวงศ์เซเลอคิดองค์อื่น ๆ ปกครองซีเรียหลังจากอันทิโอกุสที่ 4 สิ้นชีวิตในปี 163 ก.ส.ศ. ก็ตาม พวกเขาไม่ได้มีฐานะเป็น “กษัตริย์ทิศเหนือ.” (ดานิเอล 11:15, ล.ม.) ในที่สุด ซีเรียก็กลายเป็นแคว้นหนึ่งของโรมในปี 64 ก.ส.ศ.
3. โรมมีอำนาจเหนืออียิปต์เมื่อไรและโดยวิธีใด?
3 ราชวงศ์ปโตเลมีของอียิปต์อยู่ในฐานะ “กษัตริย์ทิศใต้” ต่อไปอีก 130 กว่าปีหลังจากอันทิโอกุสที่ 4 สิ้นชีวิต. (ดานิเอล 11:14, ล.ม.) ในยุทธการแห่งแอคทิอุม ในปี 31 ก.ส.ศ. ออกทาเวียน ผู้ปกครองโรมันเอาชนะกองกำลังผสมของราชินีองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปโตเลมี—พระนางคลีโอพัตราที่ 7—และมาร์ก แอนโทนี คู่รักชาวโรมันของพระนาง. หลังจากที่พระนางคลีโอพัตราฆ่าตัวตายในปีต่อมา อียิปต์ก็กลายเป็นแคว้นของโรมด้วยและไม่มีบทบาทฐานะเป็นกษัตริย์ทิศใต้อีกต่อไป. พอถึงปี 30 ก.ส.ศ. โรมมีอำนาจเหนือทั้งซีเรียและอียิปต์. ตอนนี้เราควรคาดหมายว่าจะมีอำนาจปกครองอื่นแสดงบทบาทเป็นกษัตริย์ทิศเหนือและกษัตริย์ทิศใต้ไหม?
กษัตริย์องค์ใหม่ส่ง “ผู้เก็บภาษี” ออกไป
4. ทำไมเราควรคาดหมายว่าจะมีอำนาจปกครองอีกอำนาจหนึ่งเข้ามารับบทบาทเป็นกษัตริย์ทิศเหนือ?
4 ในฤดูใบไม้ผลิปี ส.ศ. 33 พระเยซูคริสต์ทรงบอกพวกสาวกว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายมองเห็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า ดังที่ดานิเอลผู้พยากรณ์ได้กล่าวไว้นั้น ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์ . . . ครั้นแล้วให้คนที่อยู่ในแคว้นยูเดียเริ่มหนีไปยังภูเขา.” (มัดธาย 24:15, 16, ล.ม.) โดยยกข้อความจากดานิเอล 11:31 (ล.ม.) พระเยซูทรงเตือนเหล่าผู้ติดตามพระองค์เรื่อง “สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต. มีการกล่าวคำพยากรณ์นี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ทิศเหนือประมาณ 195 ปีหลังการสิ้นชีวิตของอันทิโอกุสที่ 4 กษัตริย์ซีเรียองค์สุดท้ายที่อยู่ในบทบาทนั้น. แน่นอน ต้องมีอำนาจปกครองอีกอำนาจหนึ่งมารับเอาบทบาทกษัตริย์ทิศเหนือ. เขาจะเป็นผู้ใด?
5. ใครยืนขึ้นในฐานะกษัตริย์ทิศเหนือ รับเอาตำแหน่งที่เคยเป็นของอันทิโอกุสที่ 4?
5 ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาพระเจ้าบอกล่วงหน้าว่า “จะต้องมีผู้หนึ่งยืนขึ้นในตำแหน่งของท่าน [ของอันทิโอกุสที่ 4] ซึ่งทำให้ผู้เก็บภาษีผ่านไปทั่วอาณาจักรอันรุ่งโรจน์ และในไม่กี่วันท่านจะถูกหักทำลาย แต่ไม่ใช่ด้วยความโกรธหรือในสงคราม.” (ดานิเอล 11:20, ล.ม.) ผู้ที่ “ยืนขึ้น” เช่นนั้นปรากฏว่าคือออกทาเวียน จักรพรรดิโรมันองค์แรก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า ซีซาร์เอากุสตุส.—ดู “ผู้หนึ่งได้รับเกียรติ อีกผู้หนึ่งถูกดูหมิ่น” ในหน้า 248.
6. (ก) เมื่อไรที่ “ผู้เก็บภาษี” ผ่านไปทั่ว “อาณาจักรอันรุ่งโรจน์” และเหตุการณ์นี้สำคัญอย่างไร? (ข) ทำไมจึงกล่าวได้ว่า เอากุสตุสสิ้นชีวิต “ไม่ใช่ด้วยความโกรธหรือในสงคราม”? (ค) เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับตัวผู้เป็นกษัตริย์ทิศเหนือ?
6 “อาณาจักรอันรุ่งโรจน์” ของเอากุสตุสรวมเอา “ดินแดนแห่งสิ่งประดับ” เข้าไว้ด้วย นั่นคือแคว้นยูเดียของจักรวรรดิโรมัน. (ดานิเอล 11:16, ล.ม.) ในปี 2 ก.ส.ศ. เอากุสตุสส่ง “ผู้เก็บภาษี” ออกไปโดยสั่งให้มีการจดทะเบียน หรือสำรวจสำมะโนประชากร บางทีเพื่อท่านจะได้รู้จำนวนประชากรโดยมีจุดประสงค์เพื่อการเก็บภาษีและการเกณฑ์ทหาร. เนื่องจากกฤษฎีกานี้ โยเซฟและมาเรียจึงเดินทางไปเมืองเบธเลเฮ็มเพื่อจดทะเบียน ส่งผลให้พระเยซูประสูติที่นั่นตามที่บอกไว้ล่วงหน้า. (มีคา 5:2; มัดธาย 2:1-12) ในเดือนสิงหาคม ส.ศ. 14—“ในไม่กี่วัน” หรือไม่นานหลังจากออกกฤษฎีกาให้จดทะเบียนนั้น—เอากุสตุสสิ้นชีวิตในวัย 76 ปี ไม่ใช่ “ด้วยความโกรธ” โดยมือของผู้ลอบสังหารและก็ไม่ใช่ “ในสงคราม” แต่เนื่องจากความเจ็บป่วย. กษัตริย์ทิศเหนือเปลี่ยนตัวไปแล้วอย่างแท้จริง! ตอนนี้กษัตริย์ทิศเหนือกลายเป็นจักรวรรดิโรมัน โดยมีจักรพรรดิต่าง ๆ ของจักรวรรดิเป็นตัวแทน.
“ผู้ซึ่งจะต้องเป็นที่ดูหมิ่นยืนขึ้น”
7, 8. (ก) ใครยืนขึ้นในตำแหน่งของเอากุสตุสฐานะกษัตริย์ทิศเหนือ? (ข) ทำไม “ความสง่าผ่าเผยแห่งตำแหน่งกษัตริย์” ถูกมอบให้ผู้สืบตำแหน่งของเอากุสตุส ซีซาร์อย่างไม่เต็มใจ?
7 ทูตสวรรค์พยากรณ์ต่อไปว่า “จะต้องมีผู้หนึ่งยืนขึ้นในตำแหน่งของท่าน [เอากุสตุส] ผู้ซึ่งจะต้องเป็นที่ดูหมิ่น และพวกเขาจะไม่มอบความสง่าผ่าเผยแห่งตำแหน่งกษัตริย์แก่ท่านเป็นแน่; และท่านจะมาในช่วงที่ปราศจากความกังวลและยึดเอาอาณาจักรด้วยคำพูดหว่านล้อม. และส่วนแขนของน้ำท่วม จะถูกท่วมเนื่องจากท่าน และจะถูกหักทำลาย; เช่นเดียวกับผู้นำแห่งสัญญาไมตรี.”—ดานิเอล 11:21, 22, ล.ม.
8 “ผู้ซึ่งจะต้องเป็นที่ดูหมิ่น” คือติเบริอุส ซีซาร์ บุตรของลิเวีย ภรรยาคนที่สามของเอากุสตุส. (ดู “ผู้หนึ่งได้รับเกียรติ อีกผู้หนึ่งถูกดูหมิ่น” ในหน้า 248.) เอากุสตุสเกลียดลูกเลี้ยงคนนี้เพราะนิสัยไม่ดีและไม่ต้องการให้เขาขึ้นเป็นซีซาร์องค์ต่อไป. “ความสง่าผ่าเผยแห่งตำแหน่งกษัตริย์” ถูกมอบให้ท่านอย่างไม่เต็มใจก็ต่อเมื่อผู้ที่น่าจะเป็นผู้สืบทอดคนอื่น ๆ สิ้นชีวิตไปหมดแล้ว. เอากุสตุสรับติเบริอุสเป็นบุตรบุญธรรมในปี ส.ศ. 4 และตั้งเป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์. หลังจากเอากุสตุสสิ้นชีวิต ติเบริอุสในวัย 54 ปี—ผู้ซึ่งถูกดูหมิ่น—“ยืนขึ้น” รับอำนาจฐานะจักรพรรดิโรมันและกษัตริย์ทิศเหนือ.
9. ติเบริอุส “ยึดเอาอาณาจักรด้วยคำพูดหว่านล้อม” โดยวิธีใด?
9 สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ กล่าวว่า “ติเบริอุสใช้เล่ห์เหลี่ยมกับสภาสูงและไม่ยอมให้สภาประกาศตั้งตนเป็นจักรพรรดินานเกือบหนึ่งเดือน [หลังจากเอากุสตุสสิ้นชีวิต].” ท่านบอกสภาว่า ไม่มีใครนอกจากเอากุสตุสที่สามารถแบกภาระของการปกครองจักรวรรดิโรมันได้ และขอให้สมาชิกสภาฟื้นฟูสาธารณรัฐโดยมอบอำนาจให้แก่กลุ่มบุคคลแทนที่จะเป็นบุคคลเดียว. วิลล์ ดูแรนต์ นักประวัติศาสตร์เขียนว่า “สภาไม่กล้ายอมรับสิ่งที่ท่านพูด จึงผลัดกันคุกเข่าอ้อนวอนจนในที่สุดท่านก็ยอมรับอำนาจ.” ดูแรนต์เสริมว่า “ทั้งสองฝ่ายเล่นละครกันได้อย่างแนบเนียน. ติเบริอุสต้องการตำแหน่งสูงสุด ไม่เช่นนั้นท่านก็คงจะหาทางเลี่ยงไปแล้ว; สภาทั้งเกลียดและกลัวท่าน แต่ก็ไม่กล้าสถาปนาสาธารณรัฐแบบเก่า ซึ่งอาศัยที่ประชุมที่มีอำนาจสูงสุดทางทฤษฎี.” ดังนั้น ติเบริอุส “ยึดเอาอาณาจักรด้วยคำพูดหว่านล้อม.”
10. ‘แขนของน้ำท่วมถูกหักทำลาย’ อย่างไร?
10 ทูตสวรรค์กล่าวว่า “ส่วนแขนของน้ำท่วม”—กองกำลังทางทหารของอาณาจักรข้างเคียง—‘จะถูกท่วมและจะถูกหักทำลาย.’ เมื่อติเบริอุสกลายเป็นกษัตริย์ทิศเหนือ เกอร์มานิคุส ซีซาร์หลานของท่านเป็นผู้บัญชาการทหารโรมันที่แม่น้ำไรน์. ในปี ส.ศ. 15 เกอร์มานิคุสนำกองกำลังไปต่อสู้กับอาร์มีนีอุส วีรบุรุษชาวเยอรมัน และประสบความสำเร็จอยู่บ้าง. อย่างไรก็ตาม ชัยชนะที่ได้มาเพียงจำกัดนั้นต้องแลกกับการทุ่มเทอย่างมาก และหลังจากนั้นติเบริอุสยกเลิกปฏิบัติการในเยอรมนี. แต่ท่านกลับพยายามป้องกันไม่ให้ชนเผ่าเยอรมันรวมตัวกันได้โดยส่งเสริมให้เกิดสงครามกลางเมือง. ตามปกติ ติเบริอุสชอบนโยบายต่างประเทศเชิงป้องกันและมุ่งอยู่กับการเสริมกำลังตามชายแดน. นโยบายนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี. โดยวิธีนี้ “แขนของน้ำท่วม” จึงถูกควบคุมและถูก “หักทำลาย.”
11. ‘ผู้นำแห่งสัญญาไมตรีถูกหักทำลาย’ อย่างไร?
11 “ผู้นำแห่งสัญญาไมตรี” ที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงทำกับอับราฮามเพื่อพระพรสำหรับทุกครอบครัวบนแผ่นดินโลกก็ถูก “หักทำลาย” ด้วย. พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญาที่ให้กับอับราฮามในคำสัญญาไมตรีนั้น. (เยเนซิศ 22:18; ฆะลาเตีย 3:16) ในวันที่ 14 เดือนไนซาน ส.ศ. 33 พระเยซูทรงยืนอยู่ต่อหน้าปอนเตียวปีลาตในทำเนียบผู้สำเร็จราชการในกรุงยะรูซาเลม. พวกปุโรหิตชาวยิวได้กล่าวหาพระเยซูด้วยข้อหากบฏต่อองค์จักรพรรดิ. แต่พระเยซูทรงบอกปีลาตว่า “ราชอาณาจักรของเรามิได้เป็นส่วนของโลกนี้. . . . ราชอาณาจักรของเรามิได้มาจากแหล่งนี้.” เพื่อผู้สำเร็จราชการโรมันจะไม่ปล่อยพระเยซูผู้ไร้ความผิดให้เป็นอิสระ พวกยิวตะโกนว่า “ถ้าท่านปล่อยคนนี้ ท่านก็ไม่ใช่มิตรของซีซาร์. ทุกคนที่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ก็พูดต่อต้านซีซาร์.” หลังจากเรียกร้องให้ประหารพระเยซู พวกเขาร้องว่า “พวกเราไม่มีกษัตริย์เว้นแต่ซีซาร์.” ตามกฎหมายว่าด้วยการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่ติเบริอุสขยายขอบเขตให้รวมถึงการหมิ่นประมาทแทบทุกรูปแบบต่อซีซาร์ ปีลาตได้มอบพระเยซูให้ถูก “หักทำลาย” หรือตรึงบนหลักทรมาน.—โยฮัน 18:36; 19:12-16, ล.ม.; มาระโก 15:14-20.
ทรราชคนหนึ่ง ‘ออกอุบาย’
12. (ก) ใครเป็นพันธมิตรกับติเบริอุส? (ข) ติเบริอุส ‘เข้มแข็งขึ้นโดยชาติเล็กชาติหนึ่ง’ อย่างไร?
12 ทูตสวรรค์ยังคงพยากรณ์เกี่ยวกับติเบริอุสโดยกล่าวว่า “เนื่องจากพวกเขาเป็นพันธมิตรกับท่าน ท่านจะทำการหลอกลวงต่อไปและขึ้นมาและเข้มแข็งขึ้นอย่างแท้จริงโดยชาติเล็กชาติหนึ่ง.” (ดานิเอล 11:23, ล.ม.) สมาชิกสภาสูงแห่งโรม “เป็นพันธมิตร” กับติเบริอุสตามรัฐธรรมนูญ และท่านก็พึ่งพาพวกเขาอย่างเป็นทางการ. แต่ท่านหลอกลวง ที่แท้แล้วท่าน ‘เข้มแข็งขึ้นโดยชาติเล็กชาติหนึ่ง.’ ชาติเล็กนี้คือกองทหารพรีทอเรียน ที่ให้ความอารักขาจักรพรรดิ ซึ่งตั้งค่ายอยู่ใกล้กำแพงกรุงโรม. ทหารกองนี้อยู่ใกล้มากจนทำให้สภาเกรงกลัวและช่วยติเบริอุสควบคุมการลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจของท่านในหมู่ประชาชน. ดังนั้น โดยทหาร 10,000 นาย ติเบริอุสจึงรักษาความเข้มแข็งไว้ได้.
13. ติเบริอุสทำมากกว่าบรรพบุรุษของท่านในทางใด?
13 ทูตสวรรค์พยากรณ์เพิ่มเติมว่า “ในช่วงที่ปราศจากความกังวล ท่านจะเข้าไปกระทั่งในความอุดมสมบูรณ์แห่งเขตอำนาจและถึงกับทำสิ่งที่เหล่าบิดาของท่านและเหล่าบิดาของเหล่าบิดาท่านไม่ได้ทำ. ท่านจะแจกจ่ายของปล้นและของที่แย่งชิงและสิ่งของต่าง ๆ ท่ามกลางพวกเขา; และท่านจะคิดแผนร้ายของท่านต่อสู้ที่ที่มีป้อมเข้มแข็ง แต่ก็จนถึงเวลาหนึ่งเท่านั้น.” (ดานิเอล 11:24, ล.ม.) ติเบริอุสเป็นคนขี้ระแวงอย่างมากและรัชกาลของท่านเต็มไปด้วยการประหารตามคำสั่ง. ส่วนใหญ่เนื่องมาจากอิทธิพลของเซยานุส ผู้บัญชาการกองทหารพรีทอเรียน ช่วงปลายรัชกาลของท่านจึงเต็มไปด้วยความหวาดกลัว. ในที่สุด เซยานุสเองก็ถูกระแวงและถูกประหาร. ในด้านการบริหารอย่างทรราชแล้ว ติเบริอุสทำมากกว่าบรรพบุรุษของท่าน.
14. (ก) ติเบริอุสแจก “ของปล้นและของที่แย่งชิงและสิ่งของต่าง ๆ” ตลอดทั่วแคว้นโรมันอย่างไร? (ข) ติเบริอุสถูกมองในทางใดเมื่อท่านสิ้นชีวิต?
14 อย่างไรก็ตาม ติเบริอุสแจก “ของปล้นและของที่แย่งชิงและสิ่งของต่าง ๆ” ตลอดทั่วแว่นแคว้นโรมัน. พอถึงเวลาที่ท่านสิ้นชีวิต ราษฎรของท่านทุกคนก็มีความเป็นอยู่ที่ดี. ภาษีถูก และท่านสามารถเอื้อเฟื้อต่อคนที่อยู่ในเขตที่มีความยากลำบาก. ถ้าทหารหรือเจ้าหน้าที่ข่มเหงคนใด ๆ หรือส่งเสริมการประพฤติมิชอบในการจัดการเรื่องราวต่าง ๆ พวกเขาคาดได้ว่าจะถูกลงโทษจากจักรพรรดิ. การยึดอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่นช่วยรักษาความมั่นคงของสาธารณชน และการปรับปรุงเครือข่ายการคมนาคมช่วยในการพาณิชย์. ติเบริอุสคอยดูแลให้มีการบริหารเรื่องต่าง ๆ อย่างยุติธรรมและถูกต้องทั้งภายในและภายนอกกรุงโรม. มีการปรับปรุงกฎหมาย และมีการพัฒนาประมวลกฎหมายทางสังคมและศีลธรรมโดยเพิ่มเติมการปฏิรูปที่เอากุสตุส ซีซาร์ตั้งขึ้น. กระนั้น ติเบริอุส “คิดแผนร้าย” ถึงขนาดที่ทาซิทุส นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันพรรณนาถึงท่านว่าเป็นคนหน้าซื่อใจคด และถนัดในการสวมหน้ากาก. พอท่านสิ้นชีวิตในเดือนมีนาคม ส.ศ. 37 ติเบริอุสถูกมองว่าเป็นทรราช.
15. โรมเป็นอย่างไรในช่วงปลายศตวรรษที่หนึ่งและต้นศตวรรษที่สอง ส.ศ.?
15 ผู้สืบตำแหน่งต่อจากติเบริอุสซึ่งมีบทบาทเป็นกษัตริย์ทิศเหนือรวมไปถึงไกอุส ซีซาร์ (คาลิกูลา), เกลาดิอุสที่ 1, เนโร, เวสปาเซียน, ทิทุส, โดมิเทียน, เนร์วา, ทรายัน, และฮาเดรียน. สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ กล่าวว่า “ส่วนใหญ่แล้ว ผู้สืบตำแหน่งจากเอากุสตุสดำเนินนโยบายการบริหารและโครงการก่อสร้างของท่านต่อไป แม้ว่าจะมีความคิดใหม่ ๆ น้อยลงและมีการโอ้อวดมากขึ้น.” แหล่งอ้างอิงเดียวกันนี้อธิบายต่อไปว่า “ในช่วงปลายศตวรรษที่ 1 และต้นศตวรรษที่ 2 โรมอยู่บนจุดสูงสุดของความสง่างามและในด้านประชากร.” แม้ว่าโรมมีปัญหาบ้างเกี่ยวกับพรมแดนของจักรวรรดิในเวลานั้น การเผชิญหน้าที่มีบอกไว้ล่วงหน้ากับกษัตริย์ทิศใต้ยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งศตวรรษที่สาม ส.ศ.
ปลุกใจต่อสู้กษัตริย์ทิศใต้
16, 17. (ก) ใครรับบทบาทเป็นกษัตริย์ทิศเหนือที่มีกล่าวถึงในดานิเอล 11:25? (ข) ใครเข้ามาอยู่ในฐานะกษัตริย์ทิศใต้ และเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร?
16 ทูตสวรรค์ของพระเจ้าพยากรณ์ต่อไปว่า “ท่าน [กษัตริย์ทิศเหนือ] จะปลุกพลังและหัวใจของท่านต่อสู้กษัตริย์ทิศใต้ด้วยกองทัพใหญ่; และส่วนกษัตริย์ทิศใต้ ท่านจะปลุกใจตนเองให้ทำสงครามด้วยกองทัพใหญ่ยิ่งและเข้มแข็ง. และท่าน [กษัตริย์ทิศเหนือ] จะยืนอยู่ไม่ได้ เพราะว่าพวกเขาจะคิดอุบายใช้กับท่านหลายประการ. และเหล่าผู้ที่รับประทานอาหารอันเลิศรสของท่านนั้นแหละจะทำให้ท่านพังทลาย. และส่วนกองทัพของท่าน จะถูกกวาดออกไป และหลายคนจะล้มตายเป็นแน่.”—ดานิเอล 11:25, 26, ล.ม.
17 ประมาณ 300 ปี หลังจากออกทาเวียนยึดอียิปต์เป็นแคว้นหนึ่งของโรม เอาเรเลียน จักรพรรดิโรมันรับบทบาทเป็นกษัตริย์ทิศเหนือ. ขณะเดียวกัน ราชินีเซปติเมีย เซโนเบียแห่งอาณานิคมพัลมีราของโรมอยู่ในฐานะกษัตริย์ทิศใต้.a (ดู “เซโนเบีย—ราชินีนักรบแห่งพัลมีรา” ในหน้า 252.) กองทัพชาวพัลมีรายึดอียิปต์ในปี ส.ศ. 269 ด้วยข้ออ้างที่จะทำให้อียิปต์ภักดีต่อโรม. พระนางเซโนเบียต้องการทำให้พัลมีราเป็นเมืองสำคัญทางตะวันออกและต้องการปกครองเหนือแคว้นทางตะวันออกของโรม. โดยที่กังวลกับความทะเยอทะยานของพระนาง เอาเรเลียนปลุก “พลังและหัวใจของท่าน” เพื่อต่อสู้กับพระนางเซโนเบีย.
18. ผลของการต่อสู้ระหว่างจักรพรรดิเอาเรเลียน กษัตริย์ทิศเหนือและราชินีเซโนเบียกษัตริย์ทิศใต้เป็นเช่นไร?
18 ในฐานะเป็นอำนาจปกครองที่มีพระนางเซโนเบียเป็นผู้นำ กษัตริย์ทิศใต้ “ปลุกใจตนเอง” เพื่อทำสงครามกับกษัตริย์ทิศเหนือ “ด้วยกองทัพใหญ่ยิ่งและเข้มแข็ง” ภายใต้แม่ทัพสองคน คือซาบดาสและซาบไบ. แต่เอาเรเลียนยึดอียิปต์ได้และกรีธาทัพเข้าไปในเอเชียน้อยและซีเรีย. พระนางเซโนเบียพ่ายแพ้ที่เมืองเอเมซา (ปัจจุบันคือฮอมส์) แล้วพระนางก็ล่าถอยกลับไปเมืองพัลมีรา. เมื่อเอาเรเลียนล้อมเมืองนั้น พระนางเซโนเบียต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างกล้าหาญแต่ไม่ประสบความสำเร็จ. พระนางและบุตรหนีไปทางเปอร์เซีย แต่ถูกพวกโรมันจับที่แม่น้ำยูเฟรทิส. ชาวพัลมีรายอมแพ้ในปี ส.ศ. 272. เอาเรเลียนไว้ชีวิตพระนางเซโนเบีย ทำให้พระนางเป็นจุดรวมความสนใจในขบวนฉลองชัยชนะของท่านในกรุงโรมในปี ส.ศ. 274. พระนางใช้ชีวิตที่เหลือในฐานะคุณหญิงคนหนึ่งแห่งโรม.
19. เอาเรเลียนสิ้นชีวิต ‘เพราะว่ามีการใช้อุบายกับท่านหลายประการ’ อย่างไร?
19 เอาเรเลียนเอง ‘ยืนอยู่ไม่ได้ เพราะว่ามีการใช้อุบายกับท่านหลายประการ.’ ในปี ส.ศ. 275 ท่านกรีธาทัพไปสู้กับพวกเปอร์เซีย. ขณะที่ท่านกำลังรอในแคว้นเทรสเพื่อหาโอกาสข้ามช่องแคบเข้าไปในเอเชียน้อย พวกคนที่ ‘รับประทานอาหารของท่าน’ วางแผนร้ายต่อท่านและทำให้ท่าน “พังทลาย.” ท่านกำลังจะลงโทษเอรอส เลขานุการของท่านเพราะความไม่ซื่อสัตย์. แต่เอรอสทำรายชื่อปลอมของข้าราชการบางคนว่าถูกหมายไว้สำหรับการประหาร. พอเห็นรายชื่อนี้ พวกข้าราชการก็ถูกกระตุ้นให้วางแผนลอบสังหารเอาเรเลียนและสังหารท่าน.
20. “กองทัพ” ของกษัตริย์ทิศเหนือ “ถูกกวาดออกไป” อย่างไร?
20 วิถีของกษัตริย์ทิศเหนือไม่ได้จบลงเมื่อจักรพรรดิเอาเรเลียนสิ้นชีวิต. ผู้ปกครองชาวโรมันคนอื่น ๆ ติดตามมา. ช่วงเวลาหนึ่ง มีจักรพรรดิองค์หนึ่งทางตะวันตกและอีกองค์หนึ่งทางตะวันออก. ภายใต้บุคคลเหล่านี้ “กองทัพ” ของกษัตริย์ทิศเหนือ “ถูกกวาดออกไป” หรือ “กระจัดกระจายไป”b และหลายคน “ล้มตาย” เนื่องจากการโจมตีของเผ่าเยอรมันจากทางเหนือ. ชาวกอทบุกผ่านพรมแดนโรมันเข้ามาในศตวรรษที่สี่ ส.ศ. หลังจากนั้น การโจมตีดำเนินต่อไป และมีตามมาอีกหลายครั้ง. ในปี ส.ศ. 476 โอโดอาเคอร์ ผู้นำชาวเยอรมันถอดจักรพรรดิองค์สุดท้ายที่ปกครองในกรุงโรม. พอถึงต้นศตวรรษที่หก จักรวรรดิโรมันทางตะวันตกก็ล่มสลาย และกษัตริย์ชาวเยอรมันปกครองบริแทนเนีย, กอล, อิตาลี, แอฟริกาเหนือ, และสเปน. จักรวรรดิทางตะวันออกดำรงอยู่จนถึงศตวรรษที่ 15.
จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ถูกแบ่งแยก
21, 22. คอนสแตนตินก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในศตวรรษที่สี่ ส.ศ.?
21 โดยไม่บอกรายละเอียดที่ไม่จำเป็นเกี่ยวกับการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ซึ่งกินเวลานานหลายศตวรรษ ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาบอกล่วงหน้าต่อไปเกี่ยวกับกิจการของกษัตริย์ทิศเหนือและกษัตริย์ทิศใต้. อย่างไรก็ตาม การทบทวนสั้น ๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในจักรวรรดิโรมันจะช่วยเราระบุตัวกษัตริย์คู่ปรับสององค์ในยุคต่อมาได้.
22 ในศตวรรษที่สี่ จักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งจักรวรรดิโรมันให้การรับรองศาสนาคริสเตียนที่ออกหาก. ท่านถึงกับเรียกประชุมและเป็นประธานสภาคริสตจักรที่เมืองนีเซียในเอเชียน้อยด้วยตนเองในปี ส.ศ. 325. ต่อมา คอนสแตนตินย้ายราชฐานจากกรุงโรมไปยังกรุงไบแซนติอุม หรือคอนสแตนติโนเปิล ตั้งเมืองนั้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของท่าน. จักรวรรดิโรมันอยู่ภายใต้จักรพรรดิองค์เดียวต่อไปจนกระทั่งจักรพรรดิทีโอโดซีอุสที่ 1 สิ้นชีวิตในวันที่ 17 มกราคม ส.ศ. 395.
23. (ก) เกิดการแบ่งแยกอะไรขึ้นในจักรวรรดิโรมันหลังจากทีโอโดซีอุสสิ้นชีวิต? (ข) จักรวรรดิฝั่งตะวันออกมาถึงจุดจบเมื่อไร? (ค) พอถึงปี 1517 ใครปกครองอียิปต์?
23 หลังจากทีโอโดซีอุสสิ้นชีวิต จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งแยกระหว่างบุตรสองคนของท่าน. โฮโนรีอุสได้รับจักรวรรดิฝั่งตะวันตก และอาร์คาดีอุสได้รับจักรวรรดิฝั่งตะวันออก และมีกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวงของท่าน. บริแทนเนีย, กอล, อิตาลี, สเปน, และแอฟริกาเหนือเป็นแคว้นของจักรวรรดิฝั่งตะวันตก. มาซิโดเนีย, เทรส, เอเชียน้อย, ซีเรีย, และอียิปต์เป็นแคว้นทางฝั่งตะวันออก. ในปี ส.ศ. 642 อะเล็กซานเดรีย เมืองหลวงของอียิปต์ ล่มจมลงโดยพวกซาราเซน (พวกอาหรับ) และอียิปต์กลายเป็นแคว้นหนึ่งของพวกกาหลิบ. ในเดือนมกราคม 1449 คอนสแตนตินที่ 11 กลายเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิฝั่งตะวันออก. ชาวตุรกีแห่งจักรวรรดิออตโตมันภายใต้การนำของสุลต่านเมฮ์เมดที่ 2 พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในวันที่ 29 พฤษภาคม 1453 นำจุดจบมาสู่จักรวรรดิโรมันฝั่งตะวันออก. ในปี 1517 อียิปต์กลายเป็นแคว้นหนึ่งของตุรกี. กระนั้น ในที่สุดดินแดนนี้ของกษัตริย์ทิศใต้จะอยู่ภายใต้การควบคุมของอีกจักรวรรดิหนึ่งจากทางตะวันตก.
24, 25. (ก) ตามที่นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวไว้ อะไรกำหนดจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์? (ข) ในที่สุดเกิดอะไรขึ้นกับตำแหน่ง “จักรพรรดิ” ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์?
24 ในจักรวรรดิโรมันฝั่งตะวันตกมีบิชอปคาทอลิกแห่งโรมขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปป ลีโอที่ 1 ซึ่งโดดเด่นเนื่องจากเป็นผู้ที่ยืนยันสิทธิอำนาจของโปปในศตวรรษที่ห้า ส.ศ. ต่อมา โปปอ้างสิทธิ์ในการแต่งตั้งจักรพรรดิของจักรวรรดิฝั่งตะวันตก. เรื่องนี้เกิดขึ้นที่กรุงโรมในวันคริสต์มาสปี ส.ศ. 800 เมื่อโปป ลีโอที่ 3 แต่งตั้งกษัตริย์ชาลส์ชาวแฟรงก์ (ชาร์เลเมน) ขึ้นเป็นจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันใหม่ฝั่งตะวันตก. การขึ้นครองราชย์นี้ฟื้นฟูสถาบันจักรพรรดิในกรุงโรมและ ตามที่นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าว เป็นการกำหนดจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์. ตั้งแต่นั้นมาจึงมีจักรวรรดิฝั่งตะวันออกและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทางฝั่งตะวันตก ทั้งสองจักรวรรดิอ้างว่าเป็นคริสเตียน.
25 เมื่อเวลาผ่านไป ผู้สืบตำแหน่งของชาร์เลเมนปรากฏว่าเป็นผู้ปกครองที่ใช้ไม่ได้. ตำแหน่งจักรพรรดิถึงกับว่างลงในช่วงหนึ่ง. ขณะเดียวกัน กษัตริย์ออทโทที่ 1 แห่งเยอรมนีเข้าควบคุมส่วนใหญ่ของภาคเหนือและภาคกลางของอิตาลี. ท่านประกาศตนเป็นกษัตริย์แห่งอิตาลี. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ส.ศ. 962 โปปจอห์นที่ 12 แต่งตั้งออทโทที่ 1 เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์. เมืองหลวงของจักรวรรดินี้อยู่ในเยอรมนี และจักรพรรดิเป็นชาวเยอรมัน ราษฎรส่วนใหญ่ก็เป็นชาวเยอรมันด้วย. ห้าศตวรรษต่อมาราชวงศ์ฮัพสบูร์กแห่งออสเตรียได้รับตำแหน่ง “จักรพรรดิ” และดำรงอยู่ในฐานะนี้ตลอดเวลาที่เหลืออยู่ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์.
กษัตริย์สององค์ถูกระบุตัวอย่างชัดเจนอีกครั้ง
26. (ก) อาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวกับจุดจบของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์? (ข) ใครขึ้นมาเป็นกษัตริย์ทิศเหนือ?
26 นะโปเลียนที่ 1 ทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์สิ้นสุดลงโดยปฏิเสธที่จะยอมรับสถานะของจักรวรรดินั้นภายหลังได้ชัยชนะในเยอรมนีในปี 1805. เนื่องจากไม่สามารถป้องกันตำแหน่งไว้ได้ จักรพรรดิฟรานซิสที่ 2 จึงลาออกจากฐานะจักรพรรดิโรมันในวันที่ 6 สิงหาคม 1806 และถอนกลับไปยังรัฐบาลแห่งชาติของตนในฐานะจักรพรรดิแห่งออสเตรีย. หลังจาก 1,006 ปีผ่านไป จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์—ซึ่งถูกก่อตั้งโดยลีโอที่ 3 โปปนิกายโรมันคาทอลิก และชาร์เลเมน กษัตริย์ชาวแฟรงก์—ก็ถึงจุดจบ. ในปี 1870 โรมกลายเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอิตาลีซึ่งไม่ขึ้นกับวาติกัน. ในปีต่อมา จักรวรรดิเยอรมันกำเนิดขึ้นโดยวิลเฮล์มที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งเป็นซีซาร์ หรือไคเซอร์. โดยวิธีนี้ กษัตริย์ทิศเหนือสมัยใหม่—เยอรมนี—ปรากฏบนฉากของโลก.
27. (ก) อียิปต์กลายเป็นรัฐในอารักขาของบริเตนได้อย่างไร? (ข) ใครขึ้นมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ทิศใต้?
27 แต่กษัตริย์ทิศใต้สมัยใหม่เป็นใคร? ประวัติศาสตร์แสดงว่าบริเตนเริ่มแสดงอำนาจแบบจักรวรรดิในศตวรรษที่ 17. โดยต้องการจะตัดเส้นทางการค้าของบริเตน นะโปเลียนที่ 1 พิชิตอียิปต์ได้ในปี 1798. มีสงครามเกิดขึ้น และพันธมิตรอังกฤษ-ออตโตมันบังคับให้พวกฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากประเทศอียิปต์ ซึ่งเคยเป็นกษัตริย์ทิศใต้ในตอนเริ่มต้นของการต่อสู้. ระหว่างศตวรรษต่อมา อิทธิพลของบริเตนในอียิปต์ก็เพิ่มขึ้น. หลังปี 1882 อียิปต์ขึ้นกับบริเตนอย่างแท้จริง. ตอนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้นในปี 1914 อียิปต์เป็นของตุรกีและถูกปกครองโดยเคดิฟ หรืออุปราช. อย่างไรก็ดี หลังจากตุรกีเข้าข้างเยอรมนีในสงครามนั้น บริเตนถอดเคดิฟออกและประกาศให้อียิปต์เป็นรัฐในอารักขาของบริเตน. โดยที่ค่อย ๆ สร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิด บริเตนและสหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจโลกแองโกล-อเมริกัน. รวมกัน ทั้งสองขึ้นดำรงตำแหน่งของกษัตริย์ทิศใต้.
[เชิงอรรถ]
a เนื่องจากชื่อ “กษัตริย์ทิศเหนือ” และ “กษัตริย์ทิศใต้” เป็นตำแหน่ง ชื่อทั้งสองจะหมายถึงอำนาจปกครองใดก็ได้ รวมทั้งกษัตริย์, ราชินี, หรือกลุ่มชาติต่าง ๆ.
b ดูเชิงอรรถของดานิเอล 11:26 ในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่—พร้อมด้วยข้ออ้างอิง (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• จักรพรรดิโรมันองค์ไหนเป็นองค์แรกที่ยืนขึ้นในฐานะกษัตริย์ทิศเหนือ และท่านส่ง “ผู้เก็บภาษี” ออกไปเมื่อไร?
• ใครยึดตำแหน่งกษัตริย์ทิศเหนือภายหลังเอากุสตุส และ ‘ผู้นำแห่งสัญญาไมตรีถูกหักทำลาย’ อย่างไร?
• อะไรคือผลของการต่อสู้ระหว่างจักรพรรดิเอาเรเลียนในฐานะกษัตริย์ทิศเหนือและราชินีเซโนเบียในฐานะกษัตริย์ทิศใต้?
• จักรวรรดิโรมันกลายเป็นเช่นไร และมหาอำนาจอะไรอยู่ในตำแหน่งของกษัตริย์ทั้งสองพอถึงปลายศตวรรษที่ 19?
[กรอบ/ภาพหน้า 248-251]
ผู้หนึ่งได้รับเกียรติ อีกผู้หนึ่งถูกดูหมิ่น
ผู้หนึ่งเปลี่ยนสาธารณรัฐที่เต็มไปด้วยการแข่งขันให้เป็นจักรวรรดิโลก. อีกผู้หนึ่งเพิ่มพูนความมั่งคั่งของจักรวรรดินั้นยี่สิบเท่าในเวลา 23 ปี. ผู้หนึ่งได้รับเกียรติเมื่อสิ้นชีวิต แต่อีกผู้หนึ่งถูกดูหมิ่น. รัชกาลของจักรพรรดิโรมันสององค์นี้ครอบคลุมชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซู. ท่านทั้งสองคือใคร? และทำไมผู้หนึ่งได้รับเกียรติ ขณะที่อีกผู้หนึ่งไม่ได้รับ?
ท่าน “พบกรุงโรมเป็นก้อนอิฐและละไว้เป็นหินอ่อน”
ในปี 44 ก.ส.ศ. เมื่อจูเลียส ซีซาร์ถูกลอบสังหาร ไกอุส ออกทาเวียน หลานชายของพี่สาวของจูเลียส ซีซาร์มีอายุเพียง 18 ปี. เนื่องจากเป็นบุตรบุญธรรมของจูเลียส ซีซาร์และทายาทอันดับแรก หนุ่มน้อยออกทาเวียนเดินทางไปกรุงโรมทันทีเพื่ออ้างสิทธิ์ในมรดกของตน. ที่นั่นเขาเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่น่ากลัว—มาร์ก แอนโทนี ผู้ช่วยคนสำคัญของซีซาร์ ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นทายาทคนสำคัญ. เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองและการต่อสู้แย่งชิงอำนาจก็ดำเนินต่อมานานถึง 13 ปี.
ต่อเมื่อเอาชนะกองกำลังผสมของราชินีคลีโอพัตราแห่งอียิปต์และมาร์ก แอนโทนีคู่รักของนาง (ในปี 31 ก.ส.ศ.) ได้แล้ว ออกทาเวียนจึงขึ้นมาเป็นผู้ปกครองของจักรวรรดิโรมันอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง. ในปีถัดมาแอนโทนีและคลีโอพัตราฆ่าตัวตาย และออกทาเวียนผนวกอียิปต์เข้ามา. โดยวิธีนี้ร่องรอยสุดท้ายของจักรวรรดิกรีกจึงถูกลบออกไป และโรมก็กลายเป็นมหาอำนาจโลก.
เนื่องจากจำได้ว่าการใช้อำนาจแบบเผด็จการของจูเลียส ซีซาร์เป็นเหตุที่ทำให้ท่านถูกลอบสังหาร ออกทาเวียนจึงระวังไม่ทำผิดพลาดแบบเดียวกันอีก. เพื่อจะไม่ทำให้ชาวโรมันที่นิยมสาธารณรัฐไม่พอใจ ท่านปิดบังฐานะจักรพรรดิของท่านภายใต้เปลือกนอกแบบสาธารณรัฐ. ท่านปฏิเสธตำแหน่ง “กษัตริย์” และ “ผู้เผด็จการ.”ยิ่งกว่านั้น ท่านประกาศความตั้งใจที่จะยกอำนาจปกครองแคว้นทั้งหมดแก่สภาสูงแห่งโรมและเสนอที่จะลาออกจากตำแหน่งของตน. กลเม็ดนี้ใช้ได้ผล. สภาสูงที่รู้สึกหยั่งรู้ค่าขอร้องออกทาเวียนให้อยู่ในตำแหน่งและควบคุมดูแลแคว้นบางแคว้นต่อไป.
นอกจากนั้น ในวันที่ 16 มกราคม ปี 27 ก.ส.ศ. สภาสูงมอบบรรดาศักดิ์ “เอากุสตุส” แก่ออกทาเวียน ซึ่งมีความหมายว่า “ถูกยกย่อง, ศักดิ์สิทธิ์.” ออกทาเวียนไม่เพียงรับตำแหน่งนี้เท่านั้นแต่ยังเปลี่ยนชื่อเดือนตามชื่อตนเองและยืมวันหนึ่งจากเดือนกุมภาพันธ์เพื่อเดือนสิงหาคม (August) จะมีจำนวนวันเท่ากับเดือนกรกฎาคม (July) ซึ่งเป็นเดือนที่ตั้งตามชื่อของจูเลียส ซีซาร์. ออกทาเวียนจึงกลายเป็นจักรพรรดิองค์แรกของโรมและต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่า ซีซาร์เอากุสตุส หรือ “ผู้ที่ถูกยกย่อง.” ต่อมา ท่านรับตำแหน่ง “พอนติเฟกซ์ มักซิมุส” (ปุโรหิตใหญ่) และในปี 2 ก.ส.ศ.—ปีที่พระเยซูประสูติ—สภาสูงให้ตำแหน่งพาเตอร์ พาทรีเอ “บิดาแห่งประเทศของท่าน” แก่ท่าน.
ในปีเดียวกันนั้น “มีคำสั่งจากกายะซาออฆูซะโต [ซีซาร์เอากุสตุส] ให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน. . . . คนทั้งปวงต่างคนต่างได้ไปลงทะเบียนยังเมืองของตน.” (ลูกา 2:1-3) คำสั่งนี้มีผลคือ พระเยซูประสูติในเมืองเบธเลเฮ็มสมจริงตามคำพยากรณ์.—ดานิเอล 11:20; มีคา 5:2.
การปกครองภายใต้เอากุสตุสโดดเด่นเนื่องจากความซื่อสัตย์และการเงินที่มีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง. เอากุสตุสยังได้ตั้งระบบไปรษณีย์ที่ใช้การได้และได้สร้างถนนและสะพาน. ท่านจัดระเบียบกองทัพใหม่ สร้างกองทัพเรือถาวร และตั้งกองทหารที่ให้ความอารักขาจักรพรรดิซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามกองทหารพรีทอเรียน. (ฟิลิปปอย 1:13, ล.ม.) ภายใต้การอุปถัมภ์ของท่าน นักเขียน เช่น เวอร์จิลและโฮเรสเจริญรุ่งเรืองและช่างประติมากรรมสร้างผลงานที่สวยงามซึ่งเรียกกันในสมัยนี้ว่าแบบคลาสสิก. เอากุสตุสสร้างอาคารที่จูเลียส ซีซาร์สร้างค้างไว้จนเสร็จและบูรณะวิหารหลายแห่ง. พักซ์ โรมานา (“สันติภาพโรมัน”) ที่ท่านก่อตั้งยืนนานกว่า 200 ปี. ในวันที่ 19 สิงหาคม ส.ศ. 14 เอากุสตุสสิ้นชีวิตด้วยวัย 76 ปีและถูกบูชาเป็นเทพเจ้าหลังจากนั้น.
เอากุสตุสโอ้อวดว่าท่าน “พบกรุงโรมเป็นก้อนอิฐและละไว้เป็นหินอ่อน.” โดยที่ไม่ต้องการให้กรุงโรมกลับไปสู่ยุคที่เต็มไปด้วยการต่อสู้กันแบบในอดีตสาธารณรัฐ ท่านตั้งใจจะเตรียมจักรพรรดิองค์ต่อไปให้พร้อม. แต่ท่านไม่มีทางเลือกมากนักในเรื่องผู้สืบตำแหน่ง. หลานชายสามคน, บุตรเขยคนหนึ่ง, และลูกเลี้ยงคนหนึ่งของท่านเสียชีวิตไปหมดแล้ว เหลือลูกเลี้ยงเพียงคนเดียวคือ ติเบริอุส ที่จะสืบตำแหน่งต่อไป.
“ผู้ซึ่งจะต้องเป็นที่ดูหมิ่น”
ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากเอากุสตุสสิ้นชีวิต สภาสูงแห่งโรมประกาศตั้งติเบริอุสวัย 54 ปีเป็นจักรพรรดิ. ติเบริอุสมีชีวิตอยู่และปกครองจนถึงเดือนมีนาคม ส.ศ. 37. ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเป็นจักรพรรดิของโรมในช่วงเวลาแห่งงานรับใช้ต่อสาธารณะของพระเยซู.
ในฐานะจักรพรรดิ ติเบริอุสมีทั้งความดีและความชั่ว. ในบรรดาความดีของท่านคือการไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อความหรูหราฟุ่มเฟือย. ผลคือจักรวรรดิเจริญรุ่งเรืองขึ้นและท่านมีกองทุนที่จะช่วยเหลือในการบูรณะฟื้นฟูจากภัยพิบัติและช่วงเวลาอันเลวร้าย. ข้อดีของท่านคือ ติเบริอุสถือว่าตนเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ยอมรับตำแหน่งอันทรงเกียรติหลายตำแหน่ง และจะมุ่งการนมัสการจักรพรรดิไปที่เอากุสตุสเสียเป็นส่วนใหญ่แทนที่จะเป็นตนเอง. ท่านไม่ได้ตั้งชื่อเดือนในปฏิทินตามชื่อของท่านอย่างที่เอากุสตุสและจูเลียส ซีซาร์ได้ทำ ทั้งท่านก็ไม่ยอมให้คนอื่นให้เกียรติท่านในวิธีนี้ด้วย.
อย่างไรก็ตาม ความชั่วของติเบริอุสมีมากกว่าความดี. ท่านเป็นคนหวาดระแวงและหน้าซื่อใจคดอย่างมากในการปฏิบัติต่อคนอื่น และรัชกาลของท่านเต็มไปด้วยคำสั่งประหาร—เพื่อนเก่าหลายคนของท่านก็ตกเป็นเหยื่อด้วย. ท่านขยายขอบเขตของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กล่าวคือ นอกจากการกระทำที่เป็นการปลุกระดมให้กบฏแล้ว ยังรวมถึงแม้แต่คำพูดหมิ่นประมาทต่อตัวท่านด้วย. สันนิษฐานได้ว่า เนื่องจากความร้ายแรงของกฎหมายข้อนี้ ชาวยิวจึงกดดันปอนเตียว ปีลาตผู้สำเร็จราชการโรมันให้ประหารพระเยซู.—โยฮัน 19:12-16.
ติเบริอุสรวมกองทหารพรีทอเรียนมาไว้ใกล้ ๆ กรุงโรมโดยสร้างค่ายทหารที่มั่นคงทางเหนือของกำแพงเมือง. การมีกองทหารที่ให้ความอารักขาจักรพรรดิอยู่ที่นั่นทำให้สภาสูงแห่งโรม ซึ่งคุกคามอำนาจของท่านเกิดความเกรงกลัว และคอยควบคุมความไม่สงบของผู้คนไว้. ติเบริอุสยังได้ส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องกัน และช่วงปลายแห่งการครองราชย์ของท่านมีแต่ความหวาดกลัว.
เมื่อถึงตอนที่ท่านสิ้นชีวิต ติเบริอุสถูกมองว่าเป็นทรราช. เมื่อท่านสิ้นชีวิต ชาวโรมันปีติยินดีและสภาสูงไม่ยอมบูชาท่านเป็นเทพเจ้า. เนื่องจากเหตุผลเหล่านี้และเหตุผลอื่น ๆ เราจึงเห็นว่าคำพยากรณ์เกี่ยวกับ “ผู้ซึ่งจะต้องเป็นที่ดูหมิ่น” ที่ขึ้นมาเป็น “กษัตริย์ทิศเหนือ” ได้สำเร็จเป็นจริงในตัวของติเบริอุส.—ดานิเอล 11:15, 21, ล.ม.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• ออกทาเวียนกลายเป็นจักรพรรดิองค์แรกของโรมอย่างไร?
• อาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวกับการประสบความสำเร็จของการปกครองของเอากุสตุส?
• อะไรคือความดีและความชั่วของติเบริอุส?
• คำพยากรณ์เกี่ยวกับ “ผู้ซึ่งจะต้องเป็นที่ดูหมิ่น” สำเร็จเป็นจริงกับติเบริอุสอย่างไร?
[ภาพหน้า 251]
ติเบริอุส
[กรอบ/ภาพหน้า 252-255]
เซโนเบีย—ราชินีนักรบแห่งพัลมีรา
“พระนางมีหน้าตาคมขำ . . . ฟันของพระนางขาวราวกับไข่มุก และนัยน์ตาสีดำกลมโตของพระนางแวววาวด้วยประกายที่ไม่ธรรมดา แต่อ่อนโยนด้วยความงามที่น่าดึงดูดใจเป็นที่สุด. เสียงของพระนางเข้มแข็งและไพเราะ. ความรู้ความเข้าใจอย่างบุรุษของพระนางได้รับการเสริมแต่งโดยการศึกษา. พระนางคุ้นเคยกับภาษาลาติน แต่เชี่ยวชาญภาษากรีก, ซีเรีย, และอียิปต์เท่า ๆ กัน.” นี่เป็นคำสรรเสริญเยินยอที่ เอดเวิร์ด กิบบอน นักประวัติศาสตร์มอบให้กับพระนางเซโนเบีย—ราชินีนักรบแห่งเมืองพัลมีราของซีเรีย.
สามีของพระนางเซโนเบียคือ ออดินาทุส ชาวพัลมีราผู้สูงศักดิ์ ซึ่งได้รับตำแหน่งกงสุลแห่งโรมเป็นบำเหน็จในปี ส.ศ. 258 เนื่องจากท่านประสบผลสำเร็จในการทำสงครามกับเปอร์เซียเพื่อจักรวรรดิโรมัน. สองปีต่อมา ออดินาทุสได้รับตำแหน่งคอร์เรกโทร์ โททิอุส ออเรียนทิส (ผู้สำเร็จราชการทางฝั่งตะวันออกทั้งหมด) จากจักรพรรดิกัลลีเอนุส เพื่อแสดงการยอมรับชัยชนะที่ท่านมีเหนือกษัตริย์ชาพูร์ที่ 1 แห่งเปอร์เซีย. ในที่สุด ออดินาทุสตั้งตนเป็น “กษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย.” ความสำเร็จเหล่านี้ของออดินาทุสอาจมีส่วนอย่างมากที่ทำให้พระนางเซโนเบียมีความกล้าหาญและความสุขุม.
เซโนเบียใฝ่ฝันจะสร้างจักรวรรดิ
ในปี ส.ศ. 267 ณ จุดสูงสุดของชีวิต ออดินาทุสและทายาทถูกลอบสังหาร. พระนางเซโนเบียรับตำแหน่งต่อจากสามีของนาง เนื่องจากบุตรของพระนางยังอายุน้อยเกินกว่าที่จะรับตำแหน่ง. ด้วยความสวย, ความทะเยอทะยาน, ความสามารถในฐานะนักบริหาร, ความคุ้นเคยในการรบด้วยกันกับสามีผู้ล่วงลับ, และการพูดได้หลายภาษา พระนางจึงได้รับความนับถือและการสนับสนุนจากผู้อยู่ใต้อำนาจของนาง. พระนางเซโนเบียรักการเรียนรู้และอยู่ท่ามกลางผู้รู้. คัซซีอุส ลอนกีนุส ที่ปรึกษาคนหนึ่งของนางเป็นนักปรัชญาและนักวาทศาสตร์ ซึ่งว่ากันว่าเป็น “ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เดินได้.” นักเขียนชื่อ ริชาร์ด สโตนแมน กล่าวในหนังสือพัลมีราและจักรวรรดิ—เซโนเบียกบฏต่อโรม (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ระหว่างห้าปีหลังจากออดินาทุสเสียชีวิต . . . พระนางเซโนเบียได้เข้ามาอยู่ในจิตใจของประชาชนในฐานะเจ้าหญิงแห่งตะวันออก.”
ฟากหนึ่งของเขตแดนของพระนางเซโนเบียคือเปอร์เซีย ซึ่งนางและสามีได้ทำให้อ่อนกำลังลง และอีกฟากหนึ่งคือโรมที่กำลังจะล่มสลาย. นักประวัติศาสตร์ เจ. เอ็ม. โรเบิตส์ กล่าวเกี่ยวกับสภาพของจักรวรรดิโรมันในตอนนั้นว่า “ศตวรรษที่สามเป็น . . . ช่วงที่โรมย่ำแย่พอ ๆ กันทั้งพรมแดนทางฝั่งตะวันตกและทางฝั่งตะวันออก ขณะที่ในกรุงโรม ช่วงเวลาใหม่แห่งสงครามกลางเมืองและการถกเถียงกันเรื่องผู้สืบตำแหน่งได้เริ่มขึ้น. จักรพรรดิยี่สิบสององค์ (ไม่นับรวมผู้อ้างสิทธิ์) ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป.” ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าหญิงแห่งซีเรียเป็นกษัตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอย่างมั่นคงเด็ดขาดในอาณาเขตของนาง. สโตนแมนตั้งข้อสังเกตว่า “โดยการควบคุมดุลอำนาจของจักรวรรดิทั้งสอง [เปอร์เซียและโรมัน] นางอาจใฝ่ฝันที่จะสร้าง [จักรวรรดิ] ที่สามซึ่งจะมีอำนาจเหนือจักรวรรดิทั้งสอง.”
โอกาสที่พระนางเซโนเบียจะขยายราชอำนาจของนางมาถึงในปี ส.ศ. 269 เมื่อผู้อ้างสิทธิ์ที่คัดค้านการปกครองของโรมปรากฏตัวในอียิปต์. กองทัพของพระนางเซโนเบียยกเข้าไปในอียิปต์อย่างรวดเร็ว กวาดล้างกบฏ และยึดประเทศนั้น. นางประกาศตนเป็นราชินีแห่งอียิปต์และออกเหรียญที่มีนามของนางอยู่. ตอนนี้อาณาจักรของนางแผ่ขยายจากแม่น้ำไนล์ไปถึงแม่น้ำยูเฟรทิส. ณ จุดนี้เองในชีวิตของนาง ที่พระนางเซโนเบียมีฐานะเป็น “กษัตริย์ทิศใต้.”—ดานิเอล 11:25, 26, ล.ม.
เมืองหลวงของเซโนเบีย
พระนางเซโนเบียเสริมความเข้มแข็งและตกแต่งเมืองหลวงของนาง คือพัลมีรา ถึงขนาดที่เมืองนี้อยู่ในระดับเดียวกับนครใหญ่ ๆ แห่งโลกโรมัน. ประชากรของเมืองนี้มีประมาณกว่า 150,000 คน. อาคารสาธารณะ, วิหาร, สวน, เสาหิน, และอนุสาวรีย์อันโอ่อ่าเต็มเมืองพัลมีรา เมืองซึ่งมีกำแพงล้อมรอบซึ่งว่ากันว่ามีระยะทาง 21 กิโลเมตร. เสาระเบียงแบบคอรินเธียนสูงกว่า 15 เมตร—ประมาณ 1,500 ต้น—เรียงรายอยู่ตามถนนสายหลัก. รูปจำลองและรูปปั้นครึ่งตัวของวีรบุรุษและผู้อำนวยประโยชน์ที่มั่งคั่งปรากฏอยู่มากมายในเมือง. ในปี ส.ศ. 271 พระนางเซโนเบียสร้างรูปจำลองของตนเองและสามีผู้ล่วงลับขึ้น.
วิหารแห่งพระอาทิตย์เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่ดีที่สุดในเมืองพัลมีราและไม่ต้องสงสัยว่าวิหารนี้เป็นจุดรวมเหตุการณ์เกี่ยวกับศาสนาในเมืองนี้. พระนางเซโนเบียคงจะนมัสการเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์ด้วย. อย่างไรก็ดี ซีเรียในศตวรรษที่สามเป็นดินแดนที่มีศาสนาหลากหลาย. ในอาณาเขตของพระนางเซโนเบียมีพวกที่อ้างว่าเป็นคริสเตียน, ชาวยิว, และผู้นมัสการพระอาทิตย์และพระจันทร์. ทัศนะของนางต่อการนมัสการแบบต่าง ๆ เป็นอย่างไร? นักเขียนชื่อสโตนแมนตั้งข้อสังเกตว่า “ผู้ครอบครองที่ฉลาดจะไม่ละเลยประเพณีใด ๆ ที่ดูเหมือนว่าเหมาะสมสำหรับราษฎรของตน. . . . หวังกันว่า เทพเจ้าทั้งหลายต่างก็เข้ามาอยู่ฝ่ายพัลมีรา.” ดูเหมือนว่าพระนางเซโนเบียเป็นผู้ยอมให้มีศาสนาอื่น.
เนื่องจากบุคลิกภาพที่น่าประทับใจ พระนางเซโนเบียทำให้หลายคนชื่นชอบ. แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือนางมีบทบาททางการเมืองตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้าในคำพยากรณ์ของดานิเอล. อย่างไรก็ตาม รัชกาลของนางอยู่ได้นานเพียงห้าปี. เอาเรเลียน จักรพรรดิโรมันเอาชนะพระนางเซโนเบียในปี ส.ศ. 272 และทำลายเมืองพัลมีราจนเกินกว่าจะบูรณะได้. พระนางเซโนเบียได้รับความเมตตา. กล่าวกันว่า พระนางได้สมรสกับสมาชิกสภาสูงของโรมและคงจะใช้ชีวิตที่เหลือของตนอย่างเงียบ ๆ.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• มีการพรรณนาบุคลิกของพระนางเซโนเบียอย่างไร?
• วีรกรรมของพระนางเซโนเบียมีอะไรบ้าง?
• ทัศนะของพระนางเซโนเบียต่อศาสนาเป็นเช่นไร?
[รูปภาพหน้า 253]
ราชินีเซโนเบียกำลังแถลงต่อทหารของนาง
[ตารางแผนภูมิหน้า 246]
กษัตริย์ต่าง ๆ ในดานิเอล 11:20-26
กษัตริย์ทิศเหนือ กษัตริย์ทิศใต้
ดานิเอล 11:20 เอากุสตุส
ดานิเอล 11:21-24 ติเบริอุส
ดานิเอล 11:25, 26 เอาเรเลียน ราชินีเซโนเบีย
การล่มสลายของ จักรวรรดิเยอรมัน บริเตน
จักรวรรดิโรมัน ตามด้วยมหาอำนาจโลก
ที่มีบอกไว้ล่วงหน้า แองโกล-อเมริกัน
นำไปสู่การก่อตั้ง
[ภาพ]
ติเบริอุส
[ภาพ]
เอาเรเลียน
[ภาพ]
รูปจำลองของ ชาร์เลเมน
[ภาพ]
เอากุสตุส
[ภาพ]
เรือรบอังกฤษแห่งศตวรรษที่ 17
[ภาพเต็มหน้า 230]
[รูปภาพหน้า 233]
เอากุสตุส
[รูปภาพหน้า 234]
ติเบริอุส
[รูปภาพหน้า 235]
เนื่องจากกฤษฎีกาของเอากุสตุส โยเซฟและมาเรียจึงเดินทางไปยังเมืองเบธเลเฮ็ม
[รูปภาพหน้า 237]
ดังที่บอกไว้ล่วงหน้า พระเยซูถูก “หักทำลาย” ในความตาย
[รูปภาพหน้า 245]
1. ชาร์เลเมน 2. นะโปเลียนที่ 1 3. วิลเฮล์มที่ 1 4. ทหารเยอรมัน สงครามโลกครั้งที่ 1