พระธรรมเล่มที่ 28—โฮเซอา
ผู้เขียน: โฮเซอา
สถานที่เขียน: (แคว้น) ซะมาเรีย
เขียนเสร็จ: หลังปี 745 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: ก่อนปี 804–หลังปี 745 ก.ส.ศ.
1, 2. (ก) บางครั้งผู้คนเรียกพระธรรม 12 เล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอย่างไร? (ข) เรารู้อะไรเกี่ยวกับโฮเซอา และคำพยากรณ์ของท่านเกี่ยวข้องกับใคร?
พระธรรม 12 เล่มหลังของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็น “พวกผู้พยากรณ์น้อย.” คำ “ผู้พยากรณ์เล็ก” ที่มักใช้กันในเยอรมนีดูจะเหมาะกว่า เพราะพระธรรมเหล่านี้ไม่ได้สำคัญน้อยกว่าแม้ว่าเมื่อเอามารวมกันแล้วก็ยังสั้นกว่าพระธรรมยะซายาหรือยิระมะยา. ในคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรู พระธรรมเหล่านี้ถูกถือว่าเป็นเล่มเดียวและถูกเรียกว่า “สิบสองเล่ม.” การรวบรวมไว้ในลักษณะนี้อาจเพื่อจุดประสงค์ในการเก็บรักษา เนื่องจากถ้าเป็นม้วนเล็ก ๆ ม้วนเดียวอาจสูญหายได้ง่าย. เหมือนกับแต่ละเล่มใน 12 เล่มนี้ พระธรรมเล่มแรกในชุดนี้ตั้งชื่อตามผู้เขียน คือโฮเซอา ซึ่งชื่อนี้เป็นคำย่อจากโฮไชอาห์ มีความหมายว่า “ได้รับการช่วยให้รอดโดยยาห์; ยาห์ทรงช่วยให้รอด.”
2 ในพระธรรมที่เรียกตามชื่อของท่าน แทบไม่มีการเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับท่านโฮเซอาเลย เว้นแต่เรื่องที่ท่านเป็นบุตรของบะเอรี. คำพยากรณ์ของท่านเกี่ยวข้องกับยิศราเอลเกือบทั้งหมด มีกล่าวถึงอาณาจักรยูดาแค่ผิวเผิน; และขณะที่โฮเซอาไม่ได้กล่าวถึงยะรูซาเลม แต่ได้เอ่ยชื่อตระกูลสำคัญแห่งยิศราเอล คือเอฟรายิม ถึง 37 ครั้ง และชื่อซะมาเรียเมืองหลวงของยิศราเอล 6 ครั้ง.
3. โฮเซอาพยากรณ์นานแค่ไหน และใครอื่นอีกที่เป็นผู้พยากรณ์ในช่วงนี้?
3 ข้อแรกของพระธรรมนี้บอกเราว่าโฮเซอารับใช้เป็นผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวานานเป็นพิเศษ นับตั้งแต่ตอนใกล้สิ้นรัชกาลของยาระบะอามที่ 2 แห่งยิศราเอลจนกระทั่งรัชกาลของฮีศคียาแห่งยูดา. นั่นคือช่วงก่อนปี 804 ก.ส.ศ. จนกระทั่งหลังปี 745 ก.ส.ศ. อย่างน้อย 59 ปี. ไม่ต้องสงสัยว่าเวลาที่ท่านรับใช้เป็นผู้พยากรณ์คงต้องคาบเกี่ยวกับรัชกาลของยาระบะอามที่ 2 และฮีศคียาอีกช่วงหนึ่งทีเดียว. ในช่วงเวลานี้ อาโมศ, ยะซายา, มีคา, และโอเดด ต่างก็เป็นผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา.—อาโมศ 1:1; ยซา. 1:1; มีคา 1:1; 2 โคร. 28:9.
4. ข้อความอะไรบ้างที่มีการยกไปกล่าวและความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์อะไรบ้างที่ยืนยันความเชื่อถือได้ของโฮเซอา?
4 ความเชื่อถือได้ของคำพยากรณ์นี้ได้รับการยืนยันจากการที่คำพยากรณ์นี้ถูกยกไปกล่าวหลายครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. พระเยซูเองก็ทรงยกโฮเซอา 10:8 ไปกล่าวในคราวที่แถลงคำพิพากษาต่อยะรูซาเลมว่า “คราวนั้นเขาจะเริ่มว่าแก่ภูเขาทั้งหลายว่า, ‘จงพังลงทับเรา’ และแก่เนินเขาว่า, ‘จงบังเราไว้.’” (ลูกา 23:30) บางส่วนของข้อความเดียวกันนี้ถูกยกไปกล่าวที่วิวรณ์ 6:16. มัดธายก็ยกโฮเซอา 11:1 ไปกล่าวเพื่อแสดงถึงการสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ที่ว่า “เราได้เรียกบุตรของเราให้ออกมาจากประเทศอายฆุปโต.” (มัด. 2:15) คำพยากรณ์ของโฮเซอาเรื่องการฟื้นฟูยิศราเอลทั้งปวง ได้มาสำเร็จเป็นจริงในข้อที่ว่า หลายคนจากอาณาจักรสิบตระกูลได้ร่วมกับอาณาจักรยูดาก่อนตกเป็นเชลย และลูกหลานของพวกเขาอยู่ในกลุ่มคนที่กลับมาภายหลังการเนรเทศ. (โฮ. 1:11; 2 โคร. 11:13-17; 30:6-12, 18, 25; เอษรา 2:70) ตั้งแต่สมัยเอษรา พระธรรมนี้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องในสารบบพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูในฐานะเป็น “คำตรัสของพระยะโฮวาโดยทางโฮเซอา.”—โฮ. 1:2, ล.ม.
5. เพราะความไม่ซื่อสัตย์ประการใดที่พระยะโฮวาทรงลงโทษพวกยิศราเอล?
5 เหตุใดพระยะโฮวาทรงใช้โฮเซอาไปหายิศราเอลในฐานะผู้พยากรณ์ของพระองค์? เพราะความไม่ซื่อสัตย์ของยิศราเอลและความแปดเปื้อนด้วยการนมัสการพระบาละ ซึ่งเป็นการละเมิดสัญญาไมตรีของพระยะโฮวา. ในแผ่นดินแห่งคำสัญญา ชาวยิศราเอลกลายมาเป็นชนชาติเกษตรกรรม แต่ขณะที่ทำเช่นนี้ พวกเขาไม่เพียงรับเอาวิถีชีวิตของชาวคะนาอันเท่านั้น แต่ยังรับเอาศาสนาของพวกเขาด้วยซึ่งนมัสการบาละ พระที่เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังที่ทำให้เกิดผลในธรรมชาติ. ในสมัยของโฮเซอา พวกยิศราเอลละทิ้งการนมัสการพระยะโฮวาอย่างสิ้นเชิงไปสู่การฉลองแบบสำมะเลเทเมาซึ่งรวมถึงการผิดศีลธรรมกับโสเภณีประจำวิหาร. พวกยิศราเอลถือว่าความมั่งคั่งมาจากพระบาละ. พวกเขาไม่ภักดีต่อพระยะโฮวา ไม่คู่ควรกับพระองค์ และฉะนั้น จะต้องถูกตีสอน. พระยะโฮวาจะทรงสำแดงว่า ความมั่งคั่งของพวกเขาไม่ได้มาจากพระบาละ และดังนั้น พระองค์จึงทรงใช้โฮเซอามาเตือนพวกยิศราเอลว่าการไม่กลับใจจะยังผลเช่นไร. หลังจากยาระบะอามที่ 2 สิ้นชีพ ชาติยิศราเอลเผชิญกับช่วงเวลาที่น่าสยดสยองที่สุด. ยุคแห่งการปกครองที่มีแต่ความกลัว ซึ่งผู้ปกครองหลายคนถูกสังหาร ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งพวกอัสซีเรียมากวาดพวกเขาไปเป็นเชลยในปี 740 ก.ส.ศ. ระหว่างเวลานั้น สองฝ่ายต่อสู้กัน ฝ่ายหนึ่งต้องการเป็นพันธมิตรกับอียิปต์ และอีกฝ่ายหนึ่งกับอัสซีเรีย. ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ไว้วางใจพระยะโฮวา.
6. ลักษณะการเขียนของโฮเซอาเผยให้เห็นอะไร?
6 ลีลาการเขียนของโฮเซอาบอกให้รู้เกี่ยวกับตัวท่าน. บ่อยครั้ง ท่านใช้ถ้อยคำที่อ่อนโยนและแสดงความรู้สึก และท่านกล่าวย้ำหลายครั้งหลายหนในเรื่องความรักกรุณาและพระเมตตาของพระยะโฮวา. ท่านกล่าวถึงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ละอย่างที่ท่านเห็นว่าแสดงถึงการกลับใจ. ในโอกาสอื่นภาษาของท่านเป็นแบบห้วนสั้นและมีพลัง. ในส่วนที่ขาดท่วงทำนอง ท่านก็ทดแทนด้วยพลังและน้ำหนัก. ท่านแสดงความรู้สึกที่แรงกล้า และท่านเปลี่ยนความคิดอย่างรวดเร็ว.
7. ความไม่ซื่อสัตย์ของนางโฆเมรและการกลับใจของนางในเวลาต่อมาแสดงให้เห็นถึงอะไร?
7 ตอนเริ่มงานเป็นผู้พยากรณ์นั้น โฮเซอาได้รับพระบัญชาให้รับ “หญิงผู้มีนิสัยนอกใจสามีมาเป็นภรรยา.” (1:2) พระยะโฮวาทรงมีจุดมุ่งหมายในการนี้อย่างแน่นอน. สำหรับพระยะโฮวา ชาติยิศราเอลเป็นเหมือนภรรยาที่กลายเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ ทำการผิดประเวณี. กระนั้น พระองค์จะทรงสำแดงความรักต่อนางและพยายามช่วยนางให้ตั้งตัวใหม่. โฆเมรภรรยาโฮเซอาคงเป็นตัวอย่างแสดงถึงเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ. เป็นที่เข้าใจว่าหลังจากให้กำเนิดบุตรคนแรก นางไม่ซื่อสัตย์และดูเหมือนว่าให้กำเนิดลูกคนอื่น ๆ เนื่องด้วยการเล่นชู้. (2:5-7) เรื่องนี้มีระบุไว้โดยบันทึกที่ว่านาง “ก็มีครรภ์กับท่าน [โฮเซอา] และคลอดบุตร [ชายคนหนึ่ง]” แต่ไม่มีกล่าวถึงท่านผู้พยากรณ์ว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดของบุตรอีกสองคน. (1:3, 6, 8) บท 3 ข้อ 1-3 ดูเหมือนกล่าวถึงการที่โฮเซอาได้รับโฆเมรกลับคืน ซื้อนางมาราวกับเป็นทาส และเรื่องนี้ผูกโยงกับการที่พระยะโฮวาทรงรับไพร่พลของพระองค์กลับคืนมาหลังจากพวกเขากลับใจจากแนวทางแห่งการเล่นชู้ของตน.
8. ชื่ออะไรที่มีการใช้แทนกันในพระธรรมนี้?
8 อาณาจักรยิศราเอลสิบตระกูลทางเหนือ ซึ่งคำพยากรณ์ของโฮเซอากล่าวถึงเป็นประการสำคัญนั้น เป็นที่รู้จักกันอีกด้วยในชื่อ เอฟรายิม ตามชื่อตระกูลที่เด่นในอาณาจักร. ชื่อทั้งสอง คือยิศราเอลและเอฟรายิม มีการใช้แทนกันตลอดพระธรรมนี้.
เนื้อเรื่องในโฮเซอา
9. ชื่อลูก ๆ ของนางโฆเมรบ่งชี้ถึงอะไรที่เกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาจะทรงปฏิบัติกับชาติยิศราเอล?
9 แนวทางการเล่นชู้ของยิศราเอลถูกทำให้ปรากฏชัด (1:1–3:5). ภรรยา “ผู้มีนิสัยนอกใจสามี” ของโฮเซอาให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งแก่ท่านผู้พยากรณ์ คือยิศเรล. ต่อมานางมีบุตรอีกสองคน บุตรสาวคือโลรูฮาʹมาห์ หมายถึง ‘[นาง] ไม่ได้รับความเมตตา’ และบุตรชายคือ โลอัมʹมี หมายถึง “ไม่ใช่ไพร่พลของเรา.” พระยะโฮวาทรงตั้งชื่อทั้งสองเพื่อระบุว่าพระองค์จะ “ไม่สำแดงความเมตตาแก่เรือนยิศราเอลอีก” และเพื่อเน้นว่า พระองค์ไม่ทรงยอมรับพวกเขาโดยรวมเป็นไพร่พลของพระองค์. (1:2, 6, 9, ล.ม.) กระนั้น ลูกหลานของยูดาและยิศราเอลซึ่งเป็น “บุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” จะได้รับการรวบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ประมุขผู้เดียว “เพราะวันแห่งยิศเรลนั้น, จะเป็นวันสำคัญมาก.” (1:10, 11) โดยได้รับการชำระจากการนมัสการพระบาละแบบเล่นชู้ ไพร่พลของพระยะโฮวาจะกลับมาหาพระองค์และยอมรับพระองค์ในฐานะสามีของพวกเขา. (2:16) พระยะโฮวาจะทรงประทานความมั่นคงปลอดภัยแก่ยิศราเอล และจะผูกพันนางถึงเวลาไม่กำหนดด้วยความชอบธรรม, ความยุติธรรม, ความรักกรุณา, ความเมตตา, และความซื่อสัตย์. สอดคล้องกับชื่อยิศเรล (ซึ่งหมายความว่า “พระเจ้าจะทรงหว่านเมล็ด”) พระยะโฮวาทรงสัญญาว่า “เราจะหว่านนางเหมือนหว่านเมล็ดพืชลงบนแผ่นดินเพื่อเรา . . . และเราจะกล่าวแก่คนเหล่านั้นที่ไม่ใช่ไพร่พลของเราว่า ‘เจ้าเป็นไพร่พลของเรา’; ส่วนพวกเขาจะกล่าวว่า ‘พระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า.’” (2:23, ล.ม.) เช่นเดียวกับภรรยาผู้กลับใจจากการเล่นชู้ “ภายหลังพวกยิศราเอลจะกลับมาแสวงหาพระยะโฮวาพระเจ้าของเขาและดาวิดกษัตริย์ของเขา.”—3:5.
10. การที่ชาตินี้บอกปัดความรู้ยังผลประการใด?
10 คำพิพากษาเชิงพยากรณ์ต่อเอฟรายิม (และยูดา) (4:1–14:9). ข้อแรกของบท 4 บอกฉากเหตุการณ์ของคำเตือนเชิงพยากรณ์ที่ตามมาคือ “พระยะโฮวามีข้อพิพาทกับชาวประเทศนี้; เนื่องด้วยไม่มีความจริงหรือความเมตตาและไม่มีผู้ใดรู้จักพระเจ้าในประเทศนี้.” จะเกิดผลประการใดจากสภาพการณ์ดังกล่าว? พระยะโฮวาตรัสว่า “โดยเหตุที่เจ้ามิได้ยอมรับความรู้ไว้, เราก็ไม่ยอมรับเจ้าไว้เป็นปุโรหิตของเราด้วย: โดยเหตุที่เจ้าได้ละลืมกฎหมายแห่งพระเจ้าของเจ้า, เราก็จะลืมลูกหลานของเจ้าด้วย.” (4:1, 6) น้ำใจแห่งการผิดประเวณีนั่นแหละที่ยังผลให้ยิศราเอลกระจัดกระจายไป. จะมีการคิดบัญชีกับยิศราเอลและยูดาที่เป็นเยี่ยงแพศยา แต่พวกเขาจะแสวงหาพระยะโฮวาเมื่อพวกเขาพบว่าตน “รับความทุกข์ร้อน.”—5:15, ฉบับแปลใหม่.
11. โฮเซอาขอร้องประชาชนอย่างไร แต่เหตุใดจึงเป็นวิบัติแก่พวกเขา?
11 โฮเซอาขอร้องประชาชนว่า “ให้เรากลับไปหาพระยะโฮวา . . . พระองค์ก็จะทรงรักษาให้เราหาย.” พระยะโฮวาทรงยินดีในความรักกรุณาและความรู้ฝ่ายพระเจ้า หาใช่ในเครื่องบูชาและเครื่องบูชาเผา แต่ความรักกรุณาของเอฟรายิมและยูดาเป็น “เหมือนน้ำค้างที่สูญหายไปโดยเร็ว.” (6:1, 4) เอฟรายิมเป็น “เหมือนนกเขาที่โฉดเขลาเบาปัญญา.” ชนชาตินี้ไปขอความช่วยเหลือจากอียิปต์และอัสซีเรียแทนที่จะขอจากพระยะโฮวา. (7:11) เป็นวิบัติแก่พวกเขา. เพราะเหตุใด? พวกเขาเสเพล, วางแผนชั่ว, ละเมิดสัญญาไมตรีของพระยะโฮวา, และฝ่าฝืนกฎหมายของพระองค์. “ด้วยว่าเมื่อเขาหว่านลมลงไปแล้วเขาจึงต้องเกี่ยวเก็บลมบ้าหมู.” (8:7) พระยะโฮวาจะทรงจดจำความผิดของพวกเขาและจะสนพระทัยในบาปของพวกเขา. “เขาจะเป็นคนซัดเซพเนจรไปในนานาประเทศ.” (9:17) ยิศราเอลเป็นเถาองุ่นที่ไม่เกิดผลซึ่งหัวใจของเขากลายเป็นแบบหน้าซื่อใจคด. ยิศราเอลได้หว่านความชั่วและเก็บเกี่ยวความอธรรมแทนการหว่านเมล็ดด้วยความชอบธรรมและเก็บเกี่ยวความรักกรุณา. พระยะโฮวาทรงเตือนให้ระลึกว่า “เรา . . . ได้เรียกเขาให้ออกมาจากประเทศอายฆุบโต.” (11:1) ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงรักยิศราเอลตั้งแต่เป็นเด็ก แต่ชาติยิศราเอลมีแต่การโกหกและหลอกลวงพระองค์ตลอดเวลา. พระยะโฮวาทรงแนะนำว่า “เจ้าควรกลับมาหาพระเจ้าของเจ้า คงความรักกรุณาและความยุติธรรมไว้; และให้หวังในพระเจ้าของเจ้าอยู่เสมอ.”—12:6, ล.ม.
12. (ก) โฮเซอาสรุปเรื่องอะไรในบท 13? (ข) มีคำสัญญาเรื่องการฟื้นฟูอะไร?
12 ในบท 13 โฮเซอาสรุปสิ่งทั้งปวงที่ผ่านไปแล้วอันเกี่ยวกับคำสัญญาครั้งแรกของยิศราเอลและความห่วงใยอันอ่อนละมุนของพระยะโฮวา รวมทั้งการละลืมของพวกยิศราเอลและการที่ชาตินี้หันมาต่อสู้พระยะโฮวาในที่สุด. พระยะโฮวาทรงแถลงว่า “โดยความโกรธเราได้ปล่อยให้เจ้ามีกษัตริย์, แล้วโดยความกริ้วเราได้เอากษัตริย์นั้นไปเสีย.” (13:11) แต่หลังจากนั้นก็จะมีการฟื้นฟู “จากเงื้อมมือของเชโอลเราจะไถ่เขา; จากความตายเราจะนำเขากลับมา. โอ้ความตาย เหล็กในของเจ้าอยู่ไหน? โอ้เชโอล อำนาจทำลายของเจ้าอยู่ไหน?” (13:14, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของซะมาเรียที่ขืนอำนาจจะเป็นที่น่าสยดสยองจริง ๆ.
13. คำขอร้องอะไรเป็นตอนจบของพระธรรมโฮเซอา และใครจะดำเนินในทางของพระยะโฮวา?
13 พระธรรมนี้ลงท้ายด้วยคำขอร้องที่โน้มน้าวใจ ‘โอ้ยิศราเอล, จงกลับมาหาพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน ด้วยว่าท่านได้สะดุดล้มลงไปก็เพราะความผิดของท่านเอง. จงแสวงหาการอภัยและถวายผลแห่งริมฝีปากต่างโค. พระยะโฮวาจะทรงสำแดงความเมตตาและความรักแก่ท่าน. พระองค์จะทรงเป็นเหมือนน้ำค้างที่ทำให้ท่านสดชื่นและท่านจะเบิกบานเช่นดอกไม้และต้นมะกอกเทศ.’ ผู้มีปัญญาและสุขุมจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้: “ด้วยว่าทางของพระยะโฮวาเป็นทางที่ถูกต้อง, และผู้ชอบธรรมก็จะเดินไปในทางนั้น; แต่ผู้ที่จะทำผิดหากจะเข้าไปเดินในทางนั้นก็จะสะดุดล้มลง.”—14:1-6, 9.
เหตุที่เป็นประโยชน์
14. ความสำเร็จเป็นจริงที่แม่นยำอะไรบ้างของคำพยากรณ์ของโฮเซอาที่พึงสังเกต?
14 พระธรรมโฮเซอาเสริมความเชื่อในคำพยากรณ์ที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระยะโฮวา. ทุกสิ่งที่โฮเซอาพยากรณ์เกี่ยวข้องกับชาติยิศราเอลและพวกยูดาได้เกิดขึ้นจริง. ชาติยิศราเอลถูกชู้รักที่เป็นชาติเพื่อนบ้านที่ไหว้รูปเคารพทอดทิ้งและเก็บเกี่ยวลมบ้าหมูแห่งความพินาศจากอัสซีเรียในปี 740 ก.ส.ศ. (โฮ. 8:7-10; 2 กษัต. 15:20; 17:3-6, 18) อย่างไรก็ตาม โฮเซอาได้บอกล่วงหน้าว่าพระยะโฮวาจะทรงสำแดงพระเมตตาแก่ยูดาและช่วยเขาให้รอด แต่ไม่ใช่ด้วยกำลังทหาร. สิ่งนี้สำเร็จเป็นจริงเมื่อทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาสังหารทหารอัสซีเรีย 185,000 คนที่ข่มขู่คุกคามกรุงยะรูซาเลม. (โฮ. 1:7; 2 กษัต. 19:34, 35) ถึงกระนั้น ยูดาก็ถูกรวมอยู่ในคำพิพากษาที่โฮเซอา 8:14 ที่ว่า “เราจะให้ไฟมาเผาเมืองเหล่านั้นเสีย, และไฟนั้นจะเผาผลาญราชวังในเมืองนั้นเสียด้วย” เป็นคำพยากรณ์ที่มีความสำเร็จเป็นจริงที่น่ากลัวเมื่อนะบูคัดเนซัรทำให้ยูดาและยะรูซาเลมร้างเปล่าในช่วงปี 609-607 ก.ส.ศ. (ยิระ. 34:6, 7; 2 โคร. 36:19) คำพยากรณ์ของโฮเซอาหลายข้อที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูได้สำเร็จเป็นจริงเมื่อพระยะโฮวาทรงรวบรวมยูดาและยิศราเอลเข้าด้วยกันและพวกเขา “ออกไปจากประเทศ” ที่เขาเป็นเชลยในปี 537 ก.ส.ศ.—โฮ. 1:10, 11; 2:14-23; 3:5; 11:8-11; 13:14; 14:1-9; เอษรา 2:1; 3:1-3.
15. ผู้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้ข้อความที่ยกจากพระธรรมโฮเซอาอย่างไร?
15 การกล่าวถึงคำพยากรณ์ของโฮเซอาโดยผู้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเช่นกันที่พวกเราจะพิจารณาในทุกวันนี้. ตัวอย่างเช่น เปาโลใช้โฮเซอา 13:14 อย่างมีน้ำหนักในการพิจารณาเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย ที่ว่า “โอความตาย, ชัยชนะของเจ้าอยู่ที่ไหน? โอความตาย, เหล็กในของเจ้าอยู่ที่ไหน?” (1 โก. 15:55) ในการเน้นพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวาดังที่แสดงต่อภาชนะแห่งความเมตตานั้น เปาโลยกโฮเซอา 1:10 และ 2:23 ขึ้นมากล่าวที่ว่า “เหมือนพระองค์ตรัสไว้แล้วในคัมภีร์โฮซียาว่า, เราจะเรียกเขาเหล่านั้นว่าเป็นพลไพร่ของเรา, ซึ่งเมื่อก่อนหาได้เป็นพลไพร่ของเราไม่ และเรียกเขาว่าเป็นที่รัก, ซึ่งเมื่อก่อนหาได้เป็นที่รักไม่. และการนี้จะบังเกิดมา, คือว่าในที่ซึ่งพระองค์ตรัสแก่เขาว่า, ‘เจ้าทั้งหลายหาได้เป็นพลไพร่ของเราไม่,’ ในที่นั้นเองเขาทั้งหลายจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (โรม 9:25, 26) เปโตรถอดความข้อความเดียวกันจากโฮเซอาโดยกล่าวว่า “เพราะว่า ครั้งหนึ่งท่านทั้งหลายไม่เป็นไพร่พล แต่บัดนี้ท่านเป็นไพร่พลของพระเจ้า; ท่านทั้งหลายเคยเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการสำแดงความเมตตา แต่บัดนี้ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการสำแดงความเมตตาแล้ว.”—1 เป. 2:10, ล.ม.
16. พระเยซูตรัสซ้ำคำพูดอะไรของโฮเซอาเพื่อแสดงถึงข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาในเรื่องการนมัสการ?
16 ดังนั้น คำพยากรณ์ของโฮเซอาจึงปรากฏว่าสำเร็จเป็นจริงไม่เพียงในการคืนถิ่นของชนที่เหลือในสมัยของซะรูบาเบลเท่านั้น แต่ในการที่พระยะโฮวาทรงเมตตารวบรวมชนที่เหลือฝ่ายวิญญาณอีกด้วย ซึ่งได้มาเป็น ‘เหล่าบุตรที่รักของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.’ โดยการดลใจ โฮเซอาเข้าใจถึงข้อเรียกร้องสำหรับคนเหล่านี้. ไม่ใช่การนมัสการแต่ภายนอกด้วยพิธีกรรมตามแบบแผน แต่ด้วยถ้อยคำในโฮเซอา 6:6 (ที่พระเยซูตรัสซ้ำที่มัดธาย 9:13 และ 12:7) ที่ว่า “เราพึงพอใจในความเมตตากรุณา, มิใช่ในการสักการบูชา; และพึงพอใจในการรู้จักพระเจ้ามากยิ่งกว่าเครื่องบูชาเผา.”
17. (ก) ใครก็ตามที่ล้มพลาดเข้าสู่การเล่นชู้ฝ่ายวิญญาณจำเป็นต้องทำอะไร? (ข) ในโฮเซอามีคำสัญญาที่น่ายินดีอะไรที่เกี่ยวกับราชอาณาจักร?
17 อุทาหรณ์เกี่ยวกับภรรยาผู้เล่นชู้ซึ่งมีการทำตามนั้นอย่างชัดแจ้งในชีวิตของโฮเซอาเองแสดงว่า พระยะโฮวาทรงเกลียดชังคนที่หันหนีจากพระองค์ไปสู่แนวทางแห่งการไหว้รูปเคารพและการนมัสการเท็จ โดยวิธีนั้นจึงเป็นการเล่นชู้ฝ่ายวิญญาณ. ใครก็ตามที่ล้มพลาดทำผิดต้องกลับมาหาพระยะโฮวาด้วยการกลับใจอย่างแท้จริง และ ‘นำผลแห่งริมฝีปากมาถวายเป็นเครื่องบูชาต่างโค.’ (โฮ. 14:2; เฮ็บ. 13:15) คนเหล่านั้นอาจร่วมยินดีกับชนที่เหลือแห่งเหล่าบุตรยิศราเอลฝ่ายวิญญาณในความสำเร็จแห่งคำสัญญาเรื่องราชอาณาจักรในโฮเซอา 3:5 ที่ว่า “ภายหลังพวกยิศราเอลจะกลับมาแสวงหาพระยะโฮวาพระเจ้าของเขาและดาวิดกษัตริย์ของเขา, และเวลาในที่สุดปลายเขาจะเข้าเฝ้าพระยะโฮวาและโมทนาพระคุณความดีของพระองค์ด้วยความยำเกรง.”