ดำเนินกับพระเจ้าและเก็บเกี่ยวสิ่งดี
“เมื่อเขาหว่านลมลงไปแล้วเขาจึงต้องเกี่ยวเก็บลมบ้าหมู.”—โฮเซอา 8:7.
1. เราจะดำเนินกับพระยะโฮวาได้อย่างไร?
การเดินทางผ่านพื้นที่เสี่ยงอันตรายคงจะปลอดภัยกว่าหากมีมัคคุเทศก์ที่มีประสบการณ์เป็นคนนำทาง. นับว่าฉลาดสุขุมกว่าที่จะเดินไปกับคนนำทางเช่นนั้น แทนที่จะไปตามลำพัง. ในบางแง่ นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ถึงสภาพการณ์ของเรา. กล่าวโดยนัยแล้ว พระยะโฮวาทรงเสนอตัวที่จะเป็นผู้นำทางให้เราผ่านทะเลทรายอันกว้างใหญ่ของโลกชั่วในปัจจุบัน. นับว่าฉลาดสุขุมที่เราจะดำเนินกับพระองค์ แทนที่จะพยายามกำหนดย่างก้าวด้วยตัวเอง. เราจะดำเนินกับพระเจ้าได้อย่างไร? ก็โดยติดตามการชี้นำที่พระองค์ทรงให้ไว้ในพระคำของพระองค์.
2. จะมีการพิจารณาอะไรในบทความนี้?
2 บทความก่อนได้พิจารณาเรื่องที่เป็นละครที่มีความหมายเป็นนัยที่อยู่ในโฮเซอาบท 1 ถึงบท 5. ดังที่เราได้เห็นแล้ว เรื่องราวดังกล่าวให้บทเรียนที่สามารถช่วยเราให้ดำเนินกับพระเจ้า. ตอนนี้ ขอให้เรามาพิจารณาจุดเด่นบางจุดในบท 6 ถึงบท 9. คงเป็นประโยชน์ที่จะเริ่มด้วยการสรุปเนื้อหาของสี่บทนี้ก่อน.
เนื้อหาโดยสรุป
3. จงเล่าเนื้อหาโดยย่อของโฮเซอาบท 6 ถึง 9.
3 พระยะโฮวาทรงส่งโฮเซอาไปพยากรณ์ต่ออาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลทางเหนือเป็นประการสำคัญ. ชาตินี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเอฟรายิม ตามชื่อตระกูลเด่นของอาณาจักรนี้ ได้หันเหไปจากพระเจ้า. โฮเซอาบท 6 ถึงบท 9 เผยให้เห็นว่าผู้คนในชาตินี้แสดงถึงการขาดความภักดีต่อพระยะโฮวาโดยการละเมิดสัญญาไมตรีที่ทำไว้กับพระองค์และกระทำการชั่ว. (โฮเซอา 6:7) พวกเขาหวังพึ่งพันธมิตรฝ่ายโลกแทนที่จะหมายพึ่งพระยะโฮวา. เนื่องจากหว่านสิ่งชั่วร้ายอยู่เรื่อย ๆ พวกเขาจะเก็บเกี่ยวผลที่เลวร้าย. พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การพิพากษาลงโทษกำลังใกล้เข้ามา. แต่คำพยากรณ์ของโฮเซอามีข่าวสารที่ให้กำลังใจด้วย. ผู้คนได้รับคำรับรองว่า พวกเขาสามารถกลับมาหาพระยะโฮวาและจะได้รับความเมตตา หากพวกเขาแสดงหลักฐานว่าได้กลับใจจากใจจริง.
4. เราจะพิจารณาบทเรียนที่ใช้ได้จริงอะไรบ้างจากคำพยากรณ์ของโฮเซอา?
4 จากคำพยากรณ์ของโฮเซอาทั้งสี่บทนี้ เราจะได้รับการชี้แนะเพิ่มเติมที่จะช่วยเราให้ดำเนินกับพระเจ้า. ให้เราพิจารณาบทเรียนที่ใช้ได้จริงสี่ประการ: (1) การกลับใจที่แท้จริงแสดงออกโดยการกระทำ ไม่ใช่เพียงคำพูด; (2) ลำพังแต่เพียงเครื่องบูชาไม่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย; (3) พระยะโฮวาทรงปวดร้าวพระทัยเมื่อผู้นมัสการพระองค์หันเหไปจากพระองค์; (4) เพื่อจะเก็บเกี่ยวสิ่งดี เราต้องหว่านสิ่งที่ดี.
การกลับใจอย่างแท้จริงแสดงออกอย่างไร
5. สาระสำคัญของโฮเซอาบท 6:1-3 คืออะไร?
5 คำพยากรณ์ของโฮเซอาสอนเรามากทีเดียวเกี่ยวกับการกลับใจและความเมตตา. ที่โฮเซอาบท 6:1-3 เราอ่านดังนี้: “มาเถิด, ให้เรากลับไปหาพระยะโฮวา; เพราะเมื่อพระองค์ได้ทรงฉีก, พระองค์ก็จะทรงรักษาให้เราหาย; เมื่อพระองค์ได้ทรงโบยตี, พระองค์ก็จะทรงผูกพันแผลของเราไว้. ต่อไปอีกสองสามวัน พระองค์ก็จะทรงโปรดให้เราฟื้นขึ้นอีก, และจะทรงโปรดให้เราลุกขึ้นเพื่อจะได้มีชีวิตอยู่ต่อพระพักตร์พระองค์. ให้เรารู้จักพระองค์เถิด, ให้เราพยายามที่จะรู้จักพระยะโฮวา; พระองค์จะเสด็จมาอย่างแน่ ๆ เท่ากับแสงอรุณที่ส่องมาเวลาเช้า; และพระองค์คงจะเสด็จมาหาเราประดุจฝนต้นฤดู, และประดุจฝนปลายฤดูซึ่งทำให้แผ่นดินเปียกชุ่ม.”
6-8. มีปัญหาอะไรในเรื่องการกลับใจของอิสราเอล?
6 ใครเป็นผู้กล่าวถ้อยคำที่บันทึกไว้ในข้อคัมภีร์นี้? บางคนสันนิษฐานว่านี่เป็นคำพูดของชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ และกล่าวว่าผู้คนที่ไม่เชื่อฟังเหล่านี้แสร้งทำเป็นกลับใจและฉวยประโยชน์จากความเมตตาของพระเจ้า. แต่บางคนให้ความเห็นว่าผู้พยากรณ์โฮเซอาเป็นคนพูด กำลังอ้อนวอนให้ผู้คนกลับมาหาพระยะโฮวา. ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของใครก็ตาม คำถามที่สำคัญคือ ประชาชนส่วนมากในอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลหันกลับมาหาพระยะโฮวา โดยแสดงการกลับใจอย่างแท้จริงไหม? คำตอบคือ ไม่. พระยะโฮวาตรัสผ่านทางโฮเซอาว่า “โอเอ็ฟรายิม, เราจะกระทำอะไรกับเจ้าจึงจะดี? โอยะฮูดา, เราจะกระทำอะไรกับเจ้าจึงจะดี? เพราะความดี [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] ของเจ้าก็เป็นเหมือนหมอกในเวลารุ่งเช้า; และเหมือนน้ำค้างที่สูญหายไปโดยเร็ว.” (โฮเซอา 6:4) ช่างเป็นหลักฐานถึงสภาพย่ำแย่ทางฝ่ายวิญญาณของประชาชนของพระเจ้าเสียจริง ๆ! ความกรุณารักใคร่ หรือความรักภักดีแทบสูญหายไป—เหมือนหมอกยามเช้าที่มลายหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น. แม้ดูเหมือนว่าชนชาตินี้ทำทีว่ากลับใจ แต่พระยะโฮวาก็ไม่พบมูลเหตุที่จะแสดงความเมตตา. ปัญหาคืออะไร?
7 การกลับใจของชาวอิสราเอลไม่ได้ออกมาจากใจอย่างแท้จริง. โฮเซอา 7:14 กล่าวถึงความไม่พอพระทัยของพระยะโฮวาต่อประชาชนของพระองค์ดังนี้: “เขามิได้ร้องขอต่อเราด้วยน้ำใจจริง, แต่เขานอนคร่ำครวญอยู่บนที่นอนของเขา.” ข้อ 16 กล่าวเพิ่มเติมว่า “เขาหันกลับก็จริง, แต่มิได้กลับไปยังผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด.” ชนชาตินี้ไม่ได้เต็มใจจะกลับมาสู่การนมัสการของพระยะโฮวา พระผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด โดยทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อฟื้นฟูสายสัมพันธ์กับพระองค์. ที่แท้แล้ว พวกเขาไม่ได้ต้องการจะดำเนินกับพระเจ้าจริง ๆ.
8 มีปัญหาอีกอย่างหนึ่งในเรื่องการกลับใจของชาติอิสราเอล. ผู้คนยังคงทำบาปอยู่ต่อ ๆ ไป—ที่จริง เป็นบาปมากมายหลายอย่างซึ่งรวมถึง การฉ้อโกง, การฆ่าคน, การลักทรัพย์, การบูชารูปเคารพ, และการเป็นพันธมิตรอย่างไม่ฉลาดสุขุมกับชาติอื่น ๆ. ที่โฮเซอา 7:4 ผู้คนถูกเปรียบเป็น “เตาไฟ” หรือเตาอบของคนทำขนมปัง ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเพราะพวกเขามีความปรารถนาชั่วลุกโชนอยู่ภายใน. เมื่อคำนึงถึงสภาพฝ่ายวิญญาณที่ย่ำแย่ขนาดนั้น พวกเขาสมควรได้รับความเมตตาไหม? ไม่เลย! โฮเซอาแจ้งแก่ประชาชนที่กบฏนี้ว่า พระยะโฮวาจะ “ระลึกถึงความผิดบาปของเขาและจะทรงลงโทษพวกเขา.” (โฮเซอา 9:9) ไม่มีความเมตตาสำหรับพวกเขา!
9. ถ้อยคำของโฮเซอาสอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับการกลับใจและความเมตตา?
9 เมื่อเราอ่านถ้อยคำของโฮเซอา เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการกลับใจและความเมตตา? ตัวอย่างเตือนใจของชาวอิสราเอลที่ขาดความเชื่อนี้สอนเราว่า เพื่อจะได้รับประโยชน์จากความเมตตาของพระยะโฮวา เราต้องแสดงการกลับใจจากหัวใจ. จะแสดงการกลับใจเช่นนั้นอย่างไร? พระยะโฮวาย่อมไม่ถูกหลอกเพียงเพราะคำพูดหรือน้ำตา. การกลับใจที่แท้จริงแสดงให้เห็นโดยการกระทำ. เพื่อจะได้รับความเมตตา ผู้ทำผิดต้องละทิ้งแนวทางผิดบาปอย่างสิ้นเชิงและนำชีวิตให้เข้าประสานกับมาตรฐานสูงแห่งการนมัสการอันสูงส่งของพระยะโฮวา.
ลำพังแต่เพียงเครื่องบูชาไม่ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย
10, 11. ดังเห็นได้จากกรณีของชนชาติอิสราเอล ทำไมลำพังแต่เพียงเครื่องบูชาไม่ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย?
10 ตอนนี้ให้เรามาพิจารณาบทเรียนที่สองซึ่งจะช่วยเราให้ดำเนินกับพระยะโฮวา นั่นคือ ลำพังแต่เพียงเครื่องบูชาไม่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย. โฮเซอา 6:6 กล่าวว่า “เรา [ยะโฮวา] พึงพอใจในความเมตตากรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.], มิใช่ในการสักการบูชา; และพึงพอใจในการรู้จักพระเจ้ามากยิ่งกว่าเครื่องบูชาเผา.” สังเกตว่าพระยะโฮวาพอพระทัยในความกรุณารักใคร่ หรือความรักภักดี—คุณลักษณะหนึ่งของหัวใจ—และในการมีความรู้เกี่ยวกับพระองค์. แต่คุณอาจสงสัยว่า ‘ทำไมข้อนี้จึงกล่าวว่าพระยะโฮวาไม่ พอพระทัยใน “การสักการบูชา” และ “เครื่องบูชาเผา”? พระบัญญัติของโมเซเรียกร้องให้ถวายสิ่งเหล่านี้มิใช่หรือ?’
11 พระบัญญัติเรียกร้องให้ถวายเครื่องบูชา แต่ผู้คนในสมัยโฮเซอามีปัญหาร้ายแรงอย่างหนึ่ง. ดูเหมือนว่า ชาวอิสราเอลหลายคนถวายเครื่องบูชาเหล่านั้นตามหน้าที่ เพื่อโอ้อวดว่ามีความเลื่อมใส. ในเวลาเดียวกัน พวกเขายังทำบาปอยู่. โดยบาปที่พวกเขาทำ พวกเขาแสดงให้เห็นว่ามีหัวใจที่ไร้ความรักภักดี. พวกเขายังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าได้ปฏิเสธความรู้ของพระเจ้า เพราะว่าพวกเขาไม่ได้ดำเนินชีวิตประสานกับความรู้นั้น. หากประชาชนไม่ได้มีสภาพหัวใจที่เหมาะสมและไม่ได้ติดตามวิถีชีวิตที่ถูกต้อง เครื่องบูชาที่พวกเขาถวายจะมีประโยชน์อะไรเล่า? เครื่องบูชาที่พวกเขาถวายทำให้พระยะโฮวาพระเจ้าขุ่นเคืองพระทัย.
12. โฮเซอา 6:6 มีคำเตือนอะไรสำหรับผู้คนในทุกวันนี้?
12 ถ้อยคำของโฮเซอาแฝงคำเตือนสำหรับหลายคนในปัจจุบันที่ไปโบสถ์. พวกเขาถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าในรูปแบบของการทำศาสนกิจ. แต่การนมัสการของพวกเขานั้น หากจะมีผลกระทบอยู่บ้างต่อความประพฤติของพวกเขาในแต่ละวัน ก็นับว่าน้อยเต็มที. คนที่ทำอย่างนั้นเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าจริง ๆ ไหม ถ้าหัวใจของเขาไม่ได้กระตุ้นเขาให้รับเอาความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระองค์และปฏิบัติตามความรู้นั้นโดยหลีกเลี่ยงกิจปฏิบัติต่าง ๆ ที่ผิดบาป? ขออย่าให้ใครคิดว่าเพียงแค่ทำศาสนกิจพระเจ้าก็พอพระทัยแล้ว. พระยะโฮวาไม่พอพระทัยคนที่พยายามจะได้ความโปรดปรานจากพระองค์โดยเพียงแต่ปฏิบัติศาสนกิจ แทนที่จะดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระคำของพระองค์จริง ๆ.—2 ติโมเธียว 3:5.
13. เราถวายเครื่องบูชาชนิดใด แต่เราควรจำอะไรไว้เสมอเกี่ยวกับคุณค่าของเครื่องบูชา?
13 ในฐานะคริสเตียนแท้ เราต้องจำไว้ว่าลำพังแต่เพียงเครื่องบูชาไม่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย. เป็นความจริงที่ว่าเราไม่ได้ถวายเครื่องบูชาที่เป็นสัตว์แด่พระยะโฮวา. แต่กระนั้น เรา “ถวายคำสรรเสริญพระเจ้าเป็นเครื่องบูชาเสมอโดยพระองค์นั้น, คือผลแห่งริมฝีปากที่กล่าวสรรเสริญพระนามของพระองค์.” (เฮ็บราย 13:15) เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะไม่เป็นเหมือนชาวอิสราเอลที่ชั่วช้าในสมัยของโฮเซอา โดยคิดว่าเราสามารถชดเชยการทำบาปของตัวเองได้ด้วยการถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณดังกล่าวแด่พระเจ้า. ขอพิจารณาตัวอย่างของเยาวชนคนหนึ่งซึ่งได้แอบทำผิดศีลธรรมทางเพศ. เธอยอมรับในภายหลังว่า “ดิฉันร่วมงานรับใช้ในเขตประกาศมากขึ้น โดยคิดว่าการทำอย่างนี้คงจะช่วยชดเชยความผิดได้.” การทำอย่างนั้นคล้ายกับสิ่งที่ชาวอิสราเอลที่ดื้อรั้นได้พยายามทำ. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาจะยอมรับเครื่องบูชาแห่งคำสรรเสริญของเราก็ต่อเมื่อควบคู่กับแรงจูงใจที่ถูกต้องและมีความประพฤติที่พระเจ้าพอพระทัย.
พระยะโฮวาปวดร้าวพระทัยเมื่อผู้นมัสการพระองค์ละทิ้งพระองค์
14. คำพยากรณ์ของโฮเซอาเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับความรู้สึกของพระเจ้า?
14 บทเรียนที่สามซึ่งเราเรียนรู้จากโฮเซอาบท 6 ถึงบท 9 เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ว่าพระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรเมื่อผู้นมัสการพระองค์หันเหไปจากพระองค์. พระเจ้ามีความรู้สึกทั้งหนักแน่นและอ่อนละมุน. พระองค์มีความรู้สึกอ่อนละมุนแห่งความยินดีและความเมตตาต่อคนที่กลับใจจากบาปของตน. แต่เมื่อประชาชนของพระองค์ไม่กลับใจ พระองค์ก็ลงมืออย่างเด็ดขาดและเข้มงวด. เนื่องจากพระเจ้าทรงห่วงใยสวัสดิภาพของพวกเรามาก พระองค์จึงปีติยินดีเมื่อเราดำเนินกับพระองค์อย่างซื่อสัตย์. บทเพลงสรรเสริญ 149:4 กล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงพอพระทัยด้วยไพร่พลของพระองค์.” อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงรู้สึกเช่นไรเมื่อผู้รับใช้ของพระองค์ไม่ซื่อสัตย์?
15. ตามที่กล่าวในโฮเซอา 6:7 ชาวอิสราเอลบางคนประพฤติเช่นไร?
15 เมื่อกล่าวถึงชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ พระยะโฮวาตรัสดังนี้: “เขาได้ผิดคำสัญญา, เช่นกับอาดาม, ที่นั่นแหละเขาได้คิดคดทรยศต่อเรา.” (โฮเซอา 6:7) คำภาษาฮีบรูซึ่งมีการแปลว่า “คิดคดทรยศ” ยังมีความหมายด้วยว่า “ปฏิบัติอย่างหลอกลวง, (ปฏิบัติ) อย่างไม่ซื่อสัตย์.” ที่มาลาคี 2:10-16 มีการใช้คำภาษาฮีบรูคำเดียวกันนี้เพื่อพรรณนาความประพฤติที่ไม่ภักดีของชาวอิสราเอลที่นอกใจคู่สมรส. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับการใช้คำนี้ที่โฮเซอา 6:7 ว่า เป็น “อุปมาเปรียบเทียบเกี่ยวกับสายสมรส ซึ่งคุณลักษณะต่าง ๆ ส่วนบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ในสายสัมพันธ์นั้น . . . สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งความรักได้ถูกล่วงละเมิด.”
16, 17. (ก) ชาวอิสราเอลปฏิบัติเช่นไรในเรื่องสัญญาไมตรีที่พระเจ้าทำกับชาตินี้? (ข) เราควรจำอะไรไว้เกี่ยวกับการกระทำต่าง ๆ ของเรา?
16 พระยะโฮวาถือว่าชาติอิสราเอลเป็นเสมือนภรรยาของพระองค์เนื่องด้วยพระองค์ได้ทำสัญญาไมตรีกับชาตินี้. ดังนั้น เมื่อประชาชนของพระองค์ละเมิดเงื่อนไขของสัญญาไมตรีนั้น จึงประหนึ่งว่าพวกเขาเล่นชู้. พระเจ้าเป็นดั่งสามีผู้ซื่อสัตย์ แต่ประชาชนของพระองค์กลับทิ้งพระองค์ไปเสีย!
17 แล้วพวกเราล่ะ? พระเจ้าสนพระทัยในเรื่องที่ว่าเราดำเนินกับพระองค์หรือไม่. เราควรจำไว้ว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” และการกระทำของเรามีผลกระทบต่อพระองค์. (1 โยฮัน 4:16) หากเราติดตามแนวทางผิด เราอาจทำให้พระยะโฮวาปวดร้าวพระทัย และจะไม่เป็นที่พอพระทัยพระองค์อย่างแน่นอน. การจดจำข้อนี้ไว้เสมอสามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เราพ่ายแพ้ต่อการล่อใจได้อย่างมีพลังทีเดียว.
วิธีที่เราสามารถเก็บเกี่ยวสิ่งดี
18, 19. เราพบหลักการอะไรในโฮเซอา 8:7 และหลักการดังกล่าวปรากฏว่าเป็นจริงอย่างไรในกรณีของชาวอิสราเอล?
18 ให้เรามาพิจารณาบทเรียนที่สี่จากคำพยากรณ์ของโฮเซอา นั่นคือ วิธีที่เราสามารถเก็บเกี่ยวสิ่งดี. โฮเซอาเขียนเกี่ยวกับชาวอิสราเอลและแนวทางแห่งการขาดความเชื่ออันโฉดเขลาและไร้ประโยชน์ของพวกเขาดังนี้: “เมื่อเขาหว่านลมลงไปแล้วเขาจึงต้องเกี่ยวเก็บลมบ้าหมู.” (โฮเซอา 8:7) ในข้อนี้เราพบหลักการที่เราควรจำไว้เสมอซึ่งก็คือ สิ่งที่เราทำในตอนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราในภายหลัง. หลักการนี้ปรากฏว่าเป็นจริงอย่างไรในกรณีของชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์?
19 โดยการทำบาป ชาวอิสราเอลเหล่านั้นกำลังหว่านสิ่งชั่ว. พวกเขาจะสามารถทำอย่างนั้นอยู่เรื่อยไปโดยไม่ได้รับผลเสียไหม? พวกเขาจะไม่พ้นการพิพากษาลงโทษอย่างแน่นอน. โฮเซอา 8:13 กล่าวว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงระลึกถึงความชั่วของเขา; และลงโทษเขาเพราะความบาปของเขา.” และในโฮเซอา 9:17 เราอ่านดังนี้: “พระเจ้าของข้าพเจ้าจะทรงทิ้งเขาเสีย, เพราะเขามิได้เชื่อฟังพระองค์; และเขาจะเป็นคนซัดเซพเนจรไปในนานาประเทศ.” พระยะโฮวาจะทรงคิดบัญชีชาวอิสราเอลสำหรับบาปที่พวกเขาทำ. เนื่องจากหว่านสิ่งชั่ว พวกเขาจะเก็บเกี่ยวผลที่เลวร้าย. การพิพากษาลงโทษจากพระเจ้ามาถึงพวกเขาในปี 740 ก่อนสากลศักราช เมื่อพวกอัสซีเรียโค่นทำลายอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลและกวาดต้อนประชากรของอาณาจักรนี้ไปเป็นเชลย.
20. สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวอิสราเอลสอนอะไรแก่เรา?
20 สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวอิสราเอลเหล่านั้นสอนเราถึงความจริงพื้นฐานข้อหนึ่งที่ว่า เราเก็บเกี่ยวสิ่งที่เราหว่าน. พระคำของพระเจ้าเตือนเราดังนี้: “อย่าหลงเลย จะหลอกพระเจ้าเล่นไม่ได้ เพราะว่าคนใดหว่านพืชอย่างใดลง, ก็จะเกี่ยวเก็บผลอย่างนั้น.” (ฆะลาเตีย 6:7) หากเราหว่านสิ่งไม่ดี เราก็จะเก็บเกี่ยวผลที่ไม่ดี. ตัวอย่างเช่น คนที่ดำเนินชีวิตแบบผิดศีลธรรมย่อมเก็บเกี่ยวผลอันขมขื่น. ผลที่ไม่น่ายินดีย่อมมีแก่ผู้กระทำผิดที่ไม่กลับใจ.
21. เราจะเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดีได้อย่างไร?
21 ถ้าอย่างนั้น เราจะเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดีได้อย่างไร? อาจตอบคำถามนี้ด้วยตัวอย่างเปรียบเทียบง่าย ๆ. หากเกษตรกรอยากเก็บเกี่ยวข้าวสาลี เขาจะปลูกข้าวโพดไหม? เขาไม่ทำอย่างนั้นแน่ ๆ! เขาต้องปลูกพืชชนิดที่เขาต้องการเก็บเกี่ยว. ในทำนองเดียวกัน หากเราอยากเก็บเกี่ยวสิ่งดี เราก็ต้องหว่านสิ่งที่ดี. คุณต้องการจะเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดีอยู่เรื่อย ๆ ไหม—ชีวิตที่น่าพอใจในขณะนี้ พร้อมกับมีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปในโลกใหม่ของพระเจ้า? ถ้าอย่างนั้น คุณต้องหว่านสิ่งที่ดีต่อ ๆ ไปโดยการดำเนินกับพระเจ้าและดำเนินชีวิตประสานกับมาตรฐานอันชอบธรรมของพระองค์.
22. เราได้เรียนบทเรียนอะไรจากโฮเซอาบท 6 ถึง 9?
22 จากโฮเซอาบท 6 ถึง 9 เราได้เรียนบทเรียนสี่ประการที่ช่วยเราได้ให้ดำเนินกับพระเจ้า: (1) การกลับใจที่แท้จริงแสดงออกโดยการกระทำ; (2) ลำพังแต่เพียงเครื่องบูชาไม่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย; (3) พระยะโฮวาทรงปวดร้าวพระทัยเมื่อผู้นมัสการพระองค์หันเหไปจากพระองค์; และ (4) เพื่อจะเก็บเกี่ยวสิ่งดี เราต้องหว่านสิ่งที่ดี. ห้าบทสุดท้ายของพระธรรมนี้จะช่วยเราได้อย่างไรให้ดำเนินกับพระเจ้า?
คุณจะตอบอย่างไร?
• การกลับใจอย่างแท้จริงแสดงออกอย่างไร?
• เหตุใดลำพังแต่เพียงเครื่องบูชาไม่ทำให้พระบิดาในสวรรค์พอพระทัย?
• พระเจ้ารู้สึกเช่นไรเมื่อผู้นมัสการพระองค์ละทิ้งพระองค์ไป?
• เราต้องหว่านอะไรหากเราต้องการเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดี?
[ภาพหน้า 23]
ความรักภักดีของชนชาติอิสราเอลได้จางหายไปดุจหมอกยามเช้า
[ภาพหน้า 23]
ความปรารถนาชั่วของชาวอิสราเอลลุกโชนเหมือนดังเตาไฟ
[ภาพหน้า 24]
เหตุใดพระยะโฮวาไม่ยอมรับเครื่องบูชาที่ประชาชนของพระองค์ถวาย?
[ภาพหน้า 25]
เพื่อจะเก็บเกี่ยวสิ่งดี เราก็ต้องหว่านสิ่งที่ดี