จงคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ
“ด้วยว่าวันของพระยะโฮวาใกล้จะถึงหุบเขาแห่งการพิพากษาแล้ว.”—โยเอล 3:14.
1. เหตุใดสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่จะมีในไม่ช้านี้ซึ่งพระยะโฮวาทรงประกาศจึงต่างไปจากสงคราม “ศักดิ์สิทธิ์” ของมนุษย์?
“จงประกาศข้อความนี้ให้นานาประเทศรู้ทั่วกันเถอะ ‘คือให้เตรียมตัวทำพิธีเข้าสงคราม!’” (โยเอล 3:9) ทั้งนี้หมายถึงสงครามศักดิ์สิทธิ์ ไหม? เมื่อย้อนไปดูสงครามครูเสด, สงครามศาสนา, และสงครามโลกทั้งสองครั้ง—ซึ่งคริสต์ศาสนจักรมีบทบาทนำหน้า—เราอาจขนลุกเมื่อคิดถึงสงคราม “ศักดิ์สิทธิ์.” แต่สงครามศักดิ์สิทธิ์ในคำพยากรณ์ของโยเอลไม่ใช่สงครามระหว่างชาติ. ไม่ใช่การทำสงครามด้วยใจเคียดแค้นเพื่อรุกรานชิงดินแดนครอบครอง ด้วยการอ้างศาสนาบังหน้า. สงครามที่โยเอลพยากรณ์ไว้นั้นเป็นสงครามเที่ยงธรรม เป็นสงครามของพระเจ้าเพื่อกำจัดความโลภ, การแย่งชิง, การทุจริตเสื่อมทราม, และการกดขี่ย่ำยี. สงครามนี้จะชันสูตรเชิดชูบรมเดชานุภาพอันชอบธรรมของพระยะโฮวาไว้เหนือขอบข่ายของสิ่งทั้งหลายที่พระเจ้าได้ทรงสร้างขึ้น. สงครามนั้นจะเตรียมแผ่นดินโลกไว้เพื่อราชอาณาจักรของพระคริสต์จะนำมนุษยชาติเข้าสู่ราชสมัยพันปีแห่งสันติสุข, ความอุดมมั่งคั่ง, และความผาสุก ดังที่ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าได้บอกล่วงหน้า.—บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11; ยะซายา 65:17, 18; วิวรณ์ 20:6.
2, 3. (ก) “วันของพระยะโฮวา” ที่พยากรณ์ไว้ในโยเอล 3:14 คืออะไร? (ข) เหตุใดสิ่งที่นานาชาติต้องประสบในวันนั้นจึงเหมาะสำหรับเขา?
2 ทีนี้ “วันของพระยะโฮวา” ที่มีบอกไว้ล่วงหน้าที่โยเอล 3:14 นั้นคืออะไร? พระยะโฮวาเองได้ตรัสว่า “น่าสังเวชเมื่อนึกถึงวันนั้น! เพราะว่าวันของพระยะโฮวานั้นจวนจะถึงอยู่แล้ว และจะมาเหมือนอย่างความพินาศอันมาจากพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์.” วันนั้นจะเป็นความพินาศอย่างไร? ถัดจากนั้น ผู้พยากรณ์อธิบายว่า “มหาชนมากมายหลั่งไหลเข้ามายังหุบเขาแห่งการพิพากษา ด้วยว่าวันของพระยะโฮวาใกล้จะถึงหุบเขาแห่งการพิพากษาแล้ว.” (โยเอล 1:15; 3:14) นี้แหละคือวันที่พระยะโฮวาทรงพิจารณาตัดสินมหาชนมากมายผู้ไม่เลื่อมใสในพระเจ้า ทั้งไม่ยอมรับรองพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ที่ทรงมีสิทธิชอบธรรมเหนือสวรรค์และแผ่นดินโลก. เป็นการตัดสินของพระยะโฮวาที่จะทรงนำความพินาศมาสู่ระบบแห่งสิ่งต่าง ๆ ของซาตานซึ่งรวบมนุษยชาติไว้ในอำนาจของมันมานานนมแล้ว.—ยิระมะยา 17:5-7; 25:31-33.
3 ระบบอันเสื่อมทรามบนแผ่นดินโลกต้องเผชิญการพิพากษาแน่นอน. แต่ระบบโลกนี้ชั่วช้าถึงขนาดนั้นจริง ๆ หรือ? แค่ดูประวัติบันทึกก็น่าจะพอ! พระเยซูทรงระบุหลักการข้อหนึ่งที่มัดธาย 7:16 ดังนี้: “ท่านจะรู้จักเขาเพราะผลของเขา.” เมืองใหญ่ ๆ ของโลกได้กลายเป็นแหล่งหมักหมมสิ่งเสพย์ติดไปแล้วมิใช่หรือ ทั้งเป็นแหล่งอาชญากรรม, ความหฤโหด, การผิดศีลธรรม, และมลภาวะอีกด้วย? เสรีภาพซึ่งเมื่อไม่นานมานี้หลายประเทศเพิ่งได้รับกลับถูกกลบด้วยความไม่สงบด้านการเมือง, อาหารการกินอัตคัต, และความยากจน. ประชากรกว่าหนึ่งพันล้านคนมีชีวิตจากการแบ่งส่วนอาหารอย่างจำกัด. ยิ่งกว่านั้น โรคเอดส์ซึ่งระบาดอย่างแพร่หลายโดยการรับเชื้อจากผู้เสพย์ติด และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ผิดศีลธรรม ยังผลเป็นเงามืดทะมึนปกคลุมส่วนใหญ่ของแผ่นดินโลก. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี 1914 เป็นต้นมาได้เกิดการเสื่อมถอยในทุกแง่มุมของชีวิตทั่วโลกอย่างขนานใหญ่ทีเดียว.—เทียบกับ 2 ติโมเธียว 3:1-5.
4. พระยะโฮวาประกาศคำท้าอะไรกับนานาชาติ?
4 อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาได้ทรงรวบรวมประชาชนพวกหนึ่งออกมาจากนานาชาติผู้ซึ่งยินดีรับเอาการแนะนำให้รู้แนวทางของพระองค์และดำเนินในทางนั้น. ประชาชนกลุ่มนี้ที่อยู่รอบลูกโลกได้ตีดาบเป็นผาลไถนา ประกาศเลิกการประพฤติรุนแรงแห่งโลกนี้. (ยะซายา 2:2-4) ใช่แล้ว ดาบกลายเป็นผาลไถนา! แต่เรื่องนี้สวนทางกับเสียงร้องซึ่งพระยะโฮวาทรงบัญชาให้ประกาศที่โยเอล 3:9, 10 มิใช่หรือ? ที่นั่นเราอ่านว่า “จงประกาศข้อความนี้ให้นานาประเทศรู้ทั่วกันเถอะ ‘คือให้เตรียมตัวทำพิธีเข้าสงคราม [ศักดิ์สิทธิ์, ล.ม.] ให้ปลุกใจชายฉกรรจ์! ให้ระดมพลทหารเข้าหมู่เข้ากอง! จงตีเหล็กผาลแปลงเป็นดาบ และตีเหล็กขอแปลงเป็นทวน.’” ตรงนี้แหละ พระยะโฮวาทรงท้าผู้มีอำนาจปกครองของโลกให้นำกองกำลังร่วมของตนออกมาต่อสู้พระองค์ ณ อาร์มาเก็ดดอน. แต่พวกเขาจะชนะพระองค์ไม่ได้! เขาต้องแพ้เด็ดขาด!—วิวรณ์ 16:16.
5. ผลจะเป็นประการใดเมื่อ “เถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก” จะถูกเก็บเกี่ยว?
5 โดยไม่คำนึงถึงพระยะโฮวาองค์บรมมหิศร บรรดาผู้ปกครองที่ทรงอำนาจจึงได้สร้างสรรพาวุธที่น่ากลัว—แต่ไร้ผล! พระยะโฮวาทรงมีประกาศิตที่โยเอล 3:13 ดังนี้: “พืชที่ควรจะเกี่ยวก็สุกแล้ว จงเอาเคียวสอดเข้าไป. มาเถอะ จงลงไปย่ำ ด้วยว่าเครื่องหีบน้ำองุ่นเต็มอยู่แล้ว. และถังรองน้ำองุ่นก็เต็มล้น เพราะว่าความชั่วร้ายของเขามีมากมายอยู่แล้ว.” ถ้อยคำเหล่านี้คล้ายกันกับ วิวรณ์ 14:18-20 ซึ่งทูตสวรรค์ที่มีเคียวคมได้รับคำสั่งให้ “เกี่ยวเก็บพวงองุ่นแห่งแผ่นดินโลก ด้วยว่าลูกองุ่นนั้นสุกดีแล้ว.” ทูตสวรรค์ทรงสอดเคียวคมแล้วโยนชาติทั้งหลายที่ไม่คำนึงถึงพระองค์ลงไป “ในเครื่องหีบผลองุ่นอันใหญ่ คือพระนิเคราะห์ของพระเจ้า.” กล่าวโดยนัย โลหิตไหลออกจากเครื่องหีบผลองุ่นนั้นท่วมถึงบังเหียนม้า ไหลนองไปไกลถึง 180 ไมล์—ประมาณ 300 กิโลเมตร! ช่างเป็นความคาดหวังอันน่าตกใจอะไรเช่นนั้นสำหรับนานาชาติที่ลบหลู่พระยะโฮวา!
พลเมืองผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย
6. พยานพระยะโฮวามีแง่คิดเช่นไรต่อนานาชาติและผู้ปกครองประเทศเหล่านั้น?
6 ทั้งนี้หมายความว่าพยานพระยะโฮวาดูหมิ่นชาติต่าง ๆ และผู้ปกครองในชาติเหล่านั้นหรือ? เปล่าเลย! พวกเขาเพียงแต่รู้สึกสลดใจกับสภาพการฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งคนทั้งหลายแลเห็นอย่างชัดแจ้ง, และพวกเขาเตือนให้ทราบวันแห่งการสำเร็จโทษของพระยะโฮวาที่ทรงปลงพระทัยไว้ ซึ่งคืบใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว. ในเวลาเดียวกัน ด้วยใจถ่อม พวกเขาเชื่อฟังคำสั่งของอัครสาวกเปาโลที่โรม 13:1, (ล.ม.) ที่ว่า “จงให้ทุกคนยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า.” พวกเขาให้เกียรติอันควรแก่มนุษย์ผู้ปกครองเหล่านั้น แต่ไม่บูชานมัสการเขา. ในฐานะที่เป็นพลเมืองที่เชื่อฟังกฎหมาย พวกเขาปฏิบัติตามมาตรฐานพระคัมภีร์ในด้านความสุจริต, ความสัตย์จริง, และความสะอาด และสร้างเสริมศีลธรรมอันดีงามภายในครอบครัวของตน. พวกเขาช่วยผู้อื่นเรียนรู้เหมือนกันว่าจะทำได้อย่างไร. เขาดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขกับคนทั้งปวง ไม่ยุ่งเกี่ยวในการเดินขบวนประท้วง หรือปฏิวัติทางการเมือง. พยานพระยะโฮวาพยายามจะเป็นตัวอย่างในการเชื่อฟังกฎหมายเกี่ยวอำนาจที่สูงกว่า ในขณะที่เขาเองคอยท่าพระยะโฮวา องค์บรมมหิศรทรงอำนาจสูงสุดจะนำสันติสุขครบครันและรัฐบาลอันชอบธรรมมาสู่แผ่นดินโลก.
การสำเร็จโทษตามการตัดสินของพระองค์
7, 8. (ก) โดยวิธีใดนานาชาติจะถูกเขย่า และความมืดจะปกคลุมเขาไว้? (ข) โยเอลเป็นภาพเล็งถึงใครสมัยนี้ และบุคคลเหล่านี้ได้รับพรอย่างไรเมื่อเทียบกับโลกโดยทั่วไป?
7 ด้วยการใช้ภาษาโดยนัยแสดงภาพชัดเจน พระยะโฮวาทรงให้คำพรรณนาเกี่ยวกับการสำเร็จโทษตามการตัดสินดังนี้: “ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ก็มืดไป และดาวทั้งหลายก็อับแสง. และพระยะโฮวาจะทรงแผดพระสุรเสียงจากซีโอน และจะทรงเปล่งเสียงจากยะรูซาเลม. และท้องฟ้าและแผ่นดินโลกจะหวั่นไหว แต่พระยะโฮวาจะเป็นที่พำนักแห่งพลไพร่ของพระองค์, เป็นป้อมสำหรับเชื้อวงศ์ยิศราเอล.” (โยเอล 3:15, 16) สถานการณ์ของมนุษย์ซึ่งดูท่าว่าแจ่มใส, รุ่งเรือง ก็กลายเป็นความมืดมน, ส่อลางร้าย, และระบบโลกที่แตกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อยอยู่แล้วก็สั่นคลอนสูญสลายไปในที่สุด ประหนึ่งความหายนะอันเกิดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่!—ฮาฆี 2:20-22.
8 โปรดสังเกตคำรับรองอย่างน่าชื่นใจที่ว่าพระยะโฮวาจะทรงเป็นที่คุ้มภัยและเป็นป้อมสำหรับไพร่พลของพระองค์! เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด? เพราะเขาเป็นกลุ่มชนหนึ่งเดียว—ชนนานาชาติ—ที่ได้ตอบรับคำตรัสของพระยะโฮวาที่ว่า “เจ้าทั้งหลายจะได้รู้สำนึกว่า เรายะโฮวาเป็นพระเจ้าของเจ้า.” (โยเอล 3:17) เนื่องจากชื่อโยเอลมีความหมายว่า “ยะโฮวาเป็นพระเจ้า” ท่านจึงแสดงภาพของพยานผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวาในสมัยนี้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งรับใช้ด้วยความกล้าหาญในการประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. (เทียบกับมาลาคี 1:11.) ย้อนกลับไปดูข้อแรก ๆ ในคำพยากรณ์ของโยเอล เราจะพบว่าท่านได้พูดไว้ชัดเจนเพียงใดถึงการงานต่าง ๆ แห่งไพร่พลของพระเจ้าสมัยนี้.
ฝูงตั๊กแตน
9, 10. (ก) โยเอลบอกล่วงหน้าถึงภัยพิบัติอะไร? (ข) พระธรรมวิวรณ์สะท้อนคำพยากรณ์ของโยเอลอย่างไรเกี่ยวกับภัยพิบัติ และภัยพิบัตินั้นส่งผลกระทบเช่นไรต่อคริสต์ศาสนจักร?
9 ทีนี้จงฟัง “พระวจนะของพระยะโฮวาที่มาถึงโยเอล” ดังนี้: “ท่านผู้เฒ่าทั้งหลาย ขอจงฟังเรื่องนี้ ชาวแผ่นดินทั้งหลาย ขอจงเงี่ยหูฟัง. สิ่งเหล่านี้เคยเกิดมาในสมัยของท่าน หรือเกิดมาในสมัยบรรพบุรุษของท่านบ้างหรือ? จงบอกให้ลูกของท่านทราบ และให้ลูกบอกหลาน และให้หลานบอกเหลนอีกชั่วอายุหนึ่ง. สิ่งใดที่ตั๊กแตนวัยเดินกินเหลือ ตั๊กแตนวัยบินก็กินเสีย; สิ่งใดที่ตั๊กแตนวัยบินกินเหลือ ตั๊กแตนวัยกระโดดก็กินเสีย; สิ่งใดที่ตั๊กแตนวัยกระโดดกินเหลือ ตั๊กแตนวัยคลานก็กินเสีย.”—โยเอล 1:1-4, ฉบับแปลใหม่.
10 นี้คือการรณรงค์ที่ผิดปกติ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะจดจำตลอดไป. แมลงฝูงแล้วฝูงเล่าที่โผล่ออกมา ส่วนใหญ่เป็นตั๊กแตนทำให้แผ่นดินเหี้ยนเตียน. เรื่องนี้หมายความอย่างไร? วิวรณ์ 9:1-12 ก็เช่นกันได้พูดถึงภัยพิบัติจากฝูงตั๊กแตนซึ่งพระยะโฮวาส่งออกไปภายใต้อำนาจ “กษัตริย์นั้นคือทูตแห่งเหวอันลึก” จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากพระเยซูคริสต์. นามของกษัตริย์นั้นเรียกว่าอะบาโดน (ภาษาฮีบรู) และอะโปลุโอน (ภาษากรีก) หมายถึง “การทำลาย” และ “ผู้ทำลาย.” ตั๊กแตนเหล่านี้เป็นภาพเล็งถึงชนที่เหลือแห่งบรรดาคริสเตียนผู้ถูกเจิม ซึ่งขณะนี้ในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า ได้ออกไปทำลายทุ่งหญ้าของคริสต์ศาสนจักรโดยการเปิดโปงศาสนาเท็จ พร้อมทั้งทำการประกาศวันที่พระยะโฮวาจะทรงแก้แค้นศาสนาเท็จ.
11. กองทัพตั๊กแตนสมัยปัจจุบันได้รับกำลังเสริมโดยวิธีใด และใครโดยเฉพาะตกเป็นเป้าโจมตีของพวกเขา?
11 ดังที่ระบุในวิวรณ์ 9:13-21 ภายหลังภัยพิบัติจากฝูงตั๊กแตน กองทหารม้ามากมายจะยังภัยพิบัติเพิ่มเข้ามาอีก. สิ่งนี้เป็นจริงเพียงใดในทุกวันนี้ ขณะที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมไม่กี่พันคนซึ่งยังเหลืออยู่ได้รับกำลังเสริมจาก “แกะอื่น” มากกว่าสี่ล้านคนรวมกันเป็นกองพลทหารม้าที่ไม่อาจต้านทานได้! (โยฮัน 10:16) พวกเขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวาอันเสียดแทงใจแก่พวกไหว้รูปเคารพในคริสต์ศาสนจักร และแก่พวกที่ ‘ไม่กลับใจจากการชั่วที่ได้ฆ่าคน หรือกิจปฏิบัติในทางไสยศาสตร์หรือการทำผิดประเวณีหรือการลักขโมย.’ พวกนักเทศน์นักบวช—ไม่ว่าฝ่ายคาทอลิกหรือฝ่ายโปรเตสแตนต์—ซึ่งได้ให้การสนับสนุนการสงครามที่รบราฆ่ากันแห่งศตวรรษนี้อย่างแข็งขัน เช่นเดียวกับพวกบาทหลวงที่มีพฤติกรรมทางเพศกับเด็กและนักเทศน์ทางทีวี ที่วิปริตทางเพศก็อยู่ในจำพวกซึ่งการประกาศข่าวพิพากษาลงโทษมุ่งไปถึง.
12. เหตุใดพวกผู้นำแห่งคริสต์ศาสนจักรสมควรรับข่าวพิพากษาลงโทษ และอะไรจะเกิดแก่พวกเขาในไม่ช้านี้ พร้อมกับบรรดาสมาชิกแห่งบาบูโลนใหญ่?
12 สำหรับ “สุภาพบุรุษ” ชั่วในชุดเสื้อคลุมของนักเทศน์นั้น เสียงเรียกประชุมจากพระยะโฮวาดังออกมาว่า “พวกขี้เมาเอ๋ย ลุกขึ้นร้องไห้เถิด; นักดื่มเหล้าองุ่นทุกคนเอ๋ย จงคร่ำครวญเถิด เพราะว่าเหล้าองุ่นถูกกีดกันไม่ให้มาถึงปากของเจ้าแล้ว.” (โยเอล 1:5, ฉบับแปลใหม่) ในศตวรรษที่ 20 นี้ศาสนาในคริสต์ศาสนจักรได้รับเอาศีลธรรมที่หย่อนไปเข้ามาแทนหลักศีลธรรมอันบริสุทธิ์สะอาดซึ่งกำหนดไว้ในพระวจนะของพระเจ้า. ดูเหมือนเป็นความหอมหวานแก่ศาสนาเท็จและสำหรับผู้ที่อยู่ในความอารักขาของผู้ดูแลศาสนาที่จะดูดซับแนวทางแห่งโลกนี้ แต่พวกเขาได้เก็บเกี่ยวซึ่งโรคร้ายทางด้านวิญญาณและทางด้านร่างกายเสียแล้ว! ในไม่ช้า ดังคำพรรณนาที่วิวรณ์ 17:16, 17, พระเจ้าจะทรง “ดลใจ” ผู้ปกครองทางการเมืองให้หันมาต่อสู้บาบูโลนใหญ่ จักรภพโลกแห่งศาสนาเท็จ และทำลายให้พินาศไปสิ้น. ตอนนั้นแหละ ศาสนาเท็จจะ ‘ตื่นขึ้น’ จากอาการมึนเมาเพราะการดื่มเหล้าองุ่น ขณะที่มองเห็นการพิพากษาของพระยะโฮวาดำเนินการสำเร็จโทษพวกตน.
“ประชากรจำนวนมากและมีกำลังยิ่ง”
13. ในแง่ไหนที่กองทัพตั๊กแตนดูเหมือน “มากมายและมีกำลังยิ่ง” ต่อคริสต์ศาสนจักร?
13 ผู้พยากรณ์ของพระเจ้ากล่าวสืบไปเพื่อพรรณนาฝูงตั๊กแตนเป็นประหนึ่ง “ประชากรจำนวนมากและมีกำลังยิ่ง” และบาบูโลนใหญ่ดูเหมือนคิดอย่างนั้น. (โยเอล 2:2) ยกตัวอย่าง นักเทศน์นักบวชคร่ำครวญเพราะเหตุที่ศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรไม่สามารถทำให้ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนศาสนา. กระนั้น ทุกวันนี้ พยานพระยะโฮวาชาวญี่ปุ่นมากกว่า 160,000 คน อยู่กันเกลื่อนทั่วประเทศ และนำการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวที่บ้านประชาชนกว่า 200,000 ราย. เป็นที่รู้กันว่าพยานของพระยะโฮวา 180,000 คนในประเทศอิตาลีเป็นศาสนาที่มีสมาชิกมากเป็นอันดับสองรองจากศาสนาคาทอลิก. พระราชาคณะองค์หนึ่งแห่งนิกายโรมันคาทอลิกในอิตาลีครวญว่า ตามจริงนั้น พยานพระยะโฮวาแย่ง ‘ชาวคาทอลิกที่สัตย์ซื่อ’ ไปจากโบสถ์อย่างน้อย ๆ 10,000 คน แต่ละปี.a พยานฯเองมีความยินดีต้อนรับบุคคลดังกล่าว.—ยะซายา 60:8, 22.
14, 15. โยเอลพรรณนากองทัพตั๊กแตนอย่างไร และความข้อนี้ได้สำเร็จสมจริงอย่างไรในปัจจุบัน?
14 เพื่อพรรณนาฝูงตั๊กแตนอันได้แก่พยานผู้ถูกเจิม พระธรรมโยเอล 2:7-9 กล่าวต่อไปว่า “พวกมันวิ่งเหมือนชายฉกรรจ์ พวกมันปีนป่ายกำแพงเหมือนพลชำนาญศึก พวกมันเดินกระบวนเป็นระเบียบไม่เสียแถว. ไม่มีใครในพวกมันรุนกันและกัน ต่างก็เดินตามช่องทางของมันเอง พวกมันฝ่าอาวุธต่าง ๆ และมิได้ย่อท้อถอยหลัง. มันตรูกันเข้าไปในเมือง มันวิ่งไปบนกำแพง มันปีนขึ้นไปบนเรือน มันเข้าไปทางหน้าต่างเยี่ยมขโมย.”
15 ช่างเป็นภาพที่แจ่มชัดเสียจริง ๆ เกี่ยวกับกองทัพ “ตั๊กแตน” แห่งผู้ถูกเจิม ซึ่งขณะนี้มีสหายซึ่งได้แก่แกะอื่นมากกว่าสี่ล้านคนเข้าร่วมสมทบด้วย! ไม่มี “กำแพง” ของศัตรูทางศาสนาปิดกั้นทำให้เขาร่นถอย. ด้วยความกล้าหาญ เขา “ดำเนินอย่างมีระเบียบในกรอบเดียวกันนี้ต่อไป” ในการให้คำพยานอย่างเปิดเผย และในกิจกรรมอื่น ๆ ฝ่ายคริสเตียน. (เทียบกับฟิลิปปอย 3:16.) แทนการประนีประนอม เขาเคยเต็มใจจะเผชิญความตาย เหมือนพยานพระยะโฮวานับพัน ๆ คนที่ได้ ‘ล้มลงท่ามกลางห่ากระสุน’ เพราะเขาไม่ยอมสดุดีฮิตเลอร์ชาวคาทอลิกแห่งนาซีเยอรมนี. กองทัพตั๊กแตนได้ให้คำพยานอย่างทั่วถึงใน “เมือง” แห่งคริสต์ศาสนจักร เขาปีนป่ายข้ามสิ่งกีดขวางทุกอย่าง เขาบุกเข้าไปถึงในบ้านเยี่ยงขโมย ขณะที่เขาแจกจ่ายหนังสือและสิ่งพิมพ์ด้านพระคัมภีร์มากมายหลายพันล้านชิ้นเมื่อประกาศตามบ้านเรือน. พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาคือที่จะให้คำพยานเช่นนี้ และไม่มีอำนาจใด ๆ ในสวรรค์หรือบนแผ่นดินสามารถยับยั้งได้.—ยะซายา 55:11.
“ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์”
16, 17. (ก) ถ้อยคำแห่งโยเอล 2:28, 29 สมจริงอย่างน่าทึ่งเมื่อไร? (ข) ถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของโยเอลในเรื่องอะไรซึ่งไม่สำเร็จครบถ้วนในศตวรรษแรก?
16 พระยะโฮวาตรัสแก่เหล่าพยานของพระองค์ว่า “เจ้าก็จะรู้ว่าเราสถิตอยู่ท่ามกลางชาวยิศราเอล [ฝ่ายวิญญาณ] และเราคือพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าและไม่มีพระเจ้าอื่น.” (โยเอล 2:27) ไพร่พลของพระองค์ได้มาตระหนักด้วยความปีติเมื่อพระยะโฮวาทรงเริ่มกระทำให้สมจริงตามคำตรัสของพระองค์ที่โยเอล 2:28, 29 ที่ว่า “และภายหลังเราจะหลั่งพระวิญญาณของเราลงบนมนุษย์ทั้งปวง และบุตราบุตรีของเจ้าทั้งหลายจะกล่าวคำพยากรณ์.” เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นเมื่อวันเพนเตคอสเต สากลศักราช 33 ในคราวที่บรรดาสาวกของพระเยซูที่ชุมนุมกันได้รับการเจิม และ “เขาเหล่านั้นประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” โดยอำนาจแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขาได้เทศนา และประกาศ วันนั้นวันเดียว “มีคนเข้าเป็นสาวกประมาณสามพันคน.”—กิจการ 2:4, 16, 17, 41.
17 ณ วาระอันน่ายินดีเช่นนั้น เปโตรก็ได้ยกโยเอล 2:30-32 ขึ้นมากล่าวที่ว่า “เราจะสำแดงการอัศจรรย์ในท้องฟ้าและบนพื้นโลก คือเป็นเลือด, ไฟ, และควันพลุ่งขึ้นเป็นลำ. ดวงอาทิตย์จะกลับมืดไป และดวงจันทร์จะกลับเป็นเลือดก่อนที่วันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัวของพระยะโฮวาจะมาถึง. และจะเป็นเช่นนี้ คือทุกคนที่ออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.” ถ้อยคำเหล่านี้ได้สำเร็จสมจริงบางส่วนเมื่อยะรูซาเลมถูกทำลายในปีสากลศักราช 70.
18. ความสำเร็จสมจริงของพระธรรมโยเอล 2:28, 29 เริ่มต้นเมื่อไร?
18 อย่างไรก็ดี โยเอล 2:28-32 ยังจะถูกนำมาใช้ขั้นต่อไป. ที่จริง คำพยากรณ์ข้อนี้ได้สำเร็จสมจริงอย่างน่าทึ่งตั้งแต่เดือนกันยายนปี 1919. คราวนั้น การประชุมใหญ่อันน่าจดจำถูกจัดขึ้นที่ซีดาร์ พอยต์ รัฐโอไฮโอ, สหรัฐอเมริกา. พระวิญญาณของพระเจ้าปรากฏอย่างเด่นชัด และบรรดาผู้รับใช้ที่ถูกเจิมได้รับการกระตุ้นเพื่อจะเข้าสู่งานประกาศให้คำพยานอย่างใหญ่โตทั่วโลก ซึ่งก็ได้มีต่อมากระทั่งทุกวันนี้. ยังผลให้มีการแผ่ขยายอย่างกว้างขวางอะไรเช่นนี้! ผู้เข้าร่วมประชุม 7,000 กว่าคน ณ การประชุมที่ ซีดาร์ พอยต์ เพิ่มทวีถึงขนาดมีผู้ร่วมฉลองการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซูเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1991 มีมากถึง 10,650,158 คน. ในจำนวนนี้ มีเพียง 8,850 คนยอมรับว่าเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิม. ทุกคนในจำพวกนี้รู้สึกปีติยินดีเหลือล้นอะไรเช่นนั้น เมื่อแลเห็นผลที่ปรากฏอยู่ทั่วโลก โดยการดำเนินงานแห่งพระวิญญาณอันทรงพลังของพระยะโฮวา!—ยะซายา 40:29, 31.
19. เมื่อคำนึงถึงความกระชั้นชิดแห่งวันของพระยะโฮวา พวกเราแต่ละคนน่าจะมีทัศนะเช่นไร?
19 ยังอีกหน่อยหนึ่ง “วันใหญ่ยิ่งน่ากลัวของพระยะโฮวาจะมาถึง” ซึ่งจะทำลายระบบแห่งสิ่งต่าง ๆ ของซาตานเสียสิ้น. (โยเอล 2:31) น่าดีใจ “ทุกคนซึ่งได้ออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] จะรอด.” (กิจการ 2:21) เป็นไปได้อย่างไร? อัครสาวกเปโตรบอกว่า “วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนอย่างขโมย” และเสริมว่า “โดยเหตุที่สิ่งทั้งปวงเหล่านี้จะต้องถูกละลายไปทั้งสิ้น ท่านทั้งหลายควรเป็นคนชนิดใดในการประพฤติอันบริสุทธิ์และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า คอยท่าและคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ.” ด้วยการคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาว่าใกล้เข้ามาแล้ว เราจะชื่นชมยินดีด้วยเช่นกันที่แลเห็นคำสัญญาของพระยะโฮวาเรื่อง “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” ที่ชอบธรรมนั้นสำเร็จสมจริง.—2 เปโตร 3:10-13, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ลา เรพุบบลิคา, โรม, อิตาลี, 12 พฤศจิกายน 1985, และ ลา รีวิสตา เดล เคลโร อิตาลีอาโน, พฤษภาคม 1985.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ “วันของพระยะโฮวา” คืออะไร?
▫ ‘เถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก’ จะถูกเก็บเกี่ยวอย่างไร และทำไม?
▫ ภัยพิบัติจากฝูงตั๊กแตนได้ยังความเจ็บปวดแก่คริสต์ศาสนจักรในทางใด ตั้งแต่ปี 1919 เป็นต้นมา?
▫ พระวิญญาณของพระยะโฮวาหลั่งลงสู่ไพร่พลของพระองค์ในปีสากลศักราช 33 และอีกครั้งหนึ่งในปี 1919 โดยวิธีใด?