พระธรรมเล่มที่ 31—โอบัดยา
ผู้เขียน: โอบัดยา
เขียนเสร็จ: ประมาณปี 607 ก.ส.ศ.
1. อะไรแสดงว่าสิ่งที่สำคัญคือข่าวสาร ไม่ใช่ผู้ส่งข่าว?
ในแค่ 21 ข้อ โอบัดยา พระธรรมที่สั้นที่สุดในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ประกาศคำพิพากษาของพระเจ้าซึ่งยังผลด้วยอวสานแก่ชาติหนึ่ง ขณะที่พยากรณ์ถึงชัยชนะขั้นสุดท้ายแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. คำขึ้นต้นบอกเพียงว่า “เรื่องนิมิตของโอบัดยา.” ส่วนเรื่องที่ว่าท่านเกิดที่ไหนและเมื่อไร, อยู่ในตระกูลอะไร, รวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ ในชีวิตของท่านนั้นไม่มีบอกเลย. เห็นชัดว่า ผู้พยากรณ์เป็นใครไม่ใช่เรื่องสำคัญ; แต่เป็นข่าวสารต่างหาก และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะดังที่โอบัดยาเองก็แถลงว่า นั่นเป็น “ข่าวจากพระยะโฮวา.”
2. คำพยากรณ์ของโอบัดยามุ่งสนใจที่ประเทศอะไร และอะไรทำให้พลเมืองของประเทศนี้รู้สึกปลอดภัย?
2 ข่าวนั้นมุ่งความสนใจที่อะโดมเป็นสำคัญ. แผ่นดินอะโดมที่รู้จักกันอีกด้วยในชื่อ ภูเขาเซอีร ซึ่งทอดยาวจากทะเลเดดซีลงไปทางใต้ไปตามแถบอาระบา เป็นเขตพื้นที่ขรุขระมีภูเขาสูงและช่องเขาลึก. ณ บางจุด เทือกเขาทางตะวันออกของอาระบาสูงถึงระดับ 5,600 ฟุต. แคว้นเทมานมีชื่อเนื่องด้วยสติปัญญาและความกล้าหาญของประชาชน. สภาพภูมิประเทศของแผ่นดินอะโดมซึ่งมีปราการธรรมชาติทำให้พลเมืองรู้สึกปลอดภัยและภาคภูมิ.a
3. ชาวอะโดมได้ปฏิบัติฉันพี่น้องกับชาติยิศราเอลไหม?
3 ชาวอะโดมเป็นลูกหลานของเอซาว พี่ชายของยาโคบ. ยาโคบถูกเปลี่ยนชื่อเป็นยิศราเอล ดังนั้น ชาวอะโดมจึงเกี่ยวพันกับชาวยิศราเอลอย่างใกล้ชิด ถึงขนาดที่พวกเขาถูกถือว่าเป็น ‘พี่น้อง.’ (บัญ. 23:7) กระนั้น ความประพฤติของอะโดมไม่เป็นแบบพี่น้องเลย. ไม่นานก่อนชาวยิศราเอลเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา โมเซส่งคนไปเฝ้ากษัตริย์อะโดมเพื่อขออนุญาตผ่านแดนอย่างสงบ แต่ชาวอะโดมแสดงความเป็นปฏิปักษ์ บอกปัดอย่างเย็นชาและย้ำการปฏิเสธของตนด้วยการอวดรี้พล. (อาฤ. 20:14-21) แม้ถูกดาวิดปราบปรามอยู่ใต้อำนาจ แต่ต่อมาพวกเขาก็สมคบกับอัมโมนและโมอาบต่อสู้ยูดาในสมัยยะโฮซาฟาด, แข็งข้อต่อกษัตริย์ยะโฮรามราชบุตรของยะโฮซาฟาด, จับชาวยิศราเอลจากฆาซาและตุโรไปเป็นเชลย, อีกทั้งโจมตียูดาในสมัยกษัตริย์อาฮาศและจับเชลยเพิ่มขึ้นอีกด้วย.—2 โคร. 20:1, 2, 22, 23; 2 กษัต. 8:20-22; อาโมศ 1:6, 9; 2 โคร. 28:17.
4. (ก) ปรากฏชัดว่าการกระทำอันน่ารังเกียจอะไรซึ่งเป็นเหตุให้โอบัดยากล่าวโทษอะโดม? (ข) หลักฐานอะไรบ่งว่าปี 607 ก.ส.ศ. น่าจะเป็นปีที่เขียนมากที่สุด?
4 ความเป็นปฏิปักษ์นี้ถึงขีดสุดในปี 607 ก.ส.ศ. เมื่อยะรูซาเลมถูกกองทัพบาบูโลนทำให้ร้างเปล่า. ชาวอะโดมไม่เพียงมองดูด้วยความชอบใจเท่านั้น แต่พวกเขายังเร่งให้ฝ่ายชนะก่อความร้างเปล่าให้ถึงที่สุด. พวกเขาร้องตะโกนว่า “จงพังเสีย ๆ, จงพังเสียกะทั่งรากกำแพงด้วย.” (เพลง. 137:7) เมื่อมีการจับสลากกันเพื่อแบ่งของที่ปล้นมาได้ พวกอะโดมก็อยู่ในพวกที่ร่วมจับสลาก และเมื่อชาวยิวที่หนีรอดพยายามหนีออกจากแผ่นดิน พวกอะโดมก็ปิดกั้นเส้นทางต่าง ๆ และจับพวกเขาส่งให้ศัตรู. ความโหดร้ายในคราวยะรูซาเลมพินาศนี้เองที่ปรากฏชัดว่าเป็นเหตุสำหรับการกล่าวโทษที่โอบัดยาบันทึกไว้ และไม่มีข้อสงสัยว่าบันทึกนี้เขียนในขณะที่การกระทำอันน่ารังเกียจของอะโดมยังแจ่มชัดในความคิด. (โอบัด. 11, 14) เนื่องจากปรากฏว่าอะโดมเองก็ถูกนะบูคัดเนซัรยึดและปล้นภายในห้าปีหลังจากยะรูซาเลมพินาศ พระธรรมนี้คงต้องเขียนขึ้นก่อนนั้น และมีข้อบ่งชี้ว่าปี 607 ก.ส.ศ. เป็นปีที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด.
5. (ก) อะไรพิสูจน์ว่าบันทึกของโอบัดยาเชื่อถือได้และเป็นความจริง? (ข) โอบัดยาได้บรรลุข้อเรียกร้องสำหรับผู้พยากรณ์แท้อย่างไร และเหตุใดชื่อของท่านจึงเหมาะสม?
5 คำพยากรณ์ของโอบัดยาต่ออะโดมสำเร็จเป็นจริง—ทั้งหมด! เมื่อถึงจุดสุดยอด คำพยากรณ์มีกล่าวว่า “วงศ์วานของเอซาวเปรียบเหมือนตอข้าว: ต่างก็จะเผาผลาญกันให้พินาศไป, และวงศ์วานของเอซาวจะไม่มีเหลืออยู่เลย, ด้วยว่าพระยะโฮวาได้ตรัสไว้เช่นนั้น.” (ข้อ 18) อะโดมมีชีวิตอยู่ด้วยดาบและตายด้วยดาบ และไม่มีร่องรอยลูกหลานของพวกเขาหลงเหลืออยู่เลย. ดังนั้น บันทึกนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเชื่อถือได้และเป็นความจริง. โอบัดยามีหลักฐานรับรองทุกอย่างว่าเป็นผู้พยากรณ์แท้ กล่าวคือ ท่านพูดในพระนามพระยะโฮวา, คำพยากรณ์ของท่านถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา, และคำพยากรณ์นั้นเป็นจริงดังที่เหตุการณ์ต่อ ๆ มาในประวัติศาสตร์ยืนยัน. ชื่อของท่านมีความหมายอย่างเหมาะเจาะว่า “ผู้รับใช้ของพระยะโฮวา.”
เนื้อเรื่องในโอบัดยา
6. พระยะโฮวาตรัสถึงอะโดมอย่างไร และพระองค์จะนำพวกเขาลงมาจากที่ไหน?
6 คำพิพากษาต่ออะโดม (ข้อ 1-16). โอบัดยาแจ้งเรื่องนิมิตของท่านตามพระบัญชาของพระยะโฮวา. ชาติต่าง ๆ ถูกเรียกมาร่วมในสงครามต่อสู้อะโดม. พระเจ้าทรงบัญชาว่า “จงลุกขึ้นเถิด, และให้เรายกไปตีเมืองอะโดมด้วยกัน.” ครั้นแล้ว พระองค์ตรัสถึงอะโดมโดยตรง ประเมินฐานะเมืองนี้. อะโดมเป็นแค่เมืองเล็ก ๆ ท่ามกลางชาติทั้งหลายและถูกรังเกียจ กระนั้น พวกเขาถือดี. พวกเขารู้สึกปลอดภัยที่อยู่ท่ามกลางผาสูง มั่นใจว่าไม่มีใครจะโค่นตนได้. กระนั้น พระยะโฮวาทรงประกาศว่า ถึงแม้ที่อาศัยของพวกเขาอยู่สูงดุจที่อยู่ของนกอินทรี ถึงแม้พวกเขาทำรังในหมู่ดาว พระองค์จะทรงนำพวกเขาลงจากที่นั่น. พวกเขาสมควรถูกลงโทษ.—ข้อ 1.
7. อะโดมจะถูกทำให้ร้างเปล่าถึงขีดไหน?
7 จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา? ถ้าพวกโจรจะมาปล้นอะโดม พวกเขาจะเอาแต่สิ่งที่ตนต้องการ. แม้แต่คนเก็บผลองุ่นก็จะเหลือบางพวงไว้. แต่สิ่งที่คอยท่าลูกหลานเอซาวเลวร้ายยิ่งกว่านี้อีก. ทรัพย์ของพวกเขาจะถูกกวาดไปจนเกลี้ยง. พันธมิตรของอะโดมนั่นแหละจะหันมาต่อสู้พวกเขา. ผู้ที่เคยเป็นเพื่อนสนิทจะจับพวกเขาด้วยตาข่ายเหมือนคนที่ไม่รู้จักสังเกต. คนของพวกเขาซึ่งมีชื่อเนื่องด้วยสติปัญญาและนักรบของพวกเขาที่มีชื่อเนื่องด้วยความเก่งกล้าจะช่วยอะไรไม่ได้เลยในวันแห่งความหายนะของพวกเขา.
8. เหตุใดการลงโทษอะโดมจึงหนักมาก?
8 แต่เหตุใดจึงลงโทษรุนแรงเช่นนี้? นั่นเป็นเพราะความโหดร้ายที่ลูกหลานอะโดมได้ทำแก่ลูกหลานยาโคบซึ่งเป็นพี่น้องของพวกเขา! พวกเขาดีใจที่ยะรูซาเลมล่มจม และกระทั่งร่วมแบ่งปันของปล้นกับผู้รุกราน. ในคำกล่าวโทษอย่างแรงราวกับโอบัดยาเป็นพยานรู้เห็นการกระทำอันชั่วช้านั้น อะโดมได้รับแจ้งว่า เจ้าไม่ควรยินดีในความทุกข์ของน้อง. เจ้าไม่ควรขัดขวางการหนีของน้องและส่งเขาให้ศัตรู. วันคิดบัญชีของพระยะโฮวามาใกล้แล้ว และเจ้าจะถูกเรียกมาคิดบัญชี. เจ้าได้ทำอย่างไรไป เจ้าก็จะถูกทำอย่างนั้น.
9. มีการบอกล่วงหน้าถึงการฟื้นฟูอะไร?
9 การฟื้นฟูวงศ์วานของยาโคบ (ข้อ 17-21). ตรงกันข้าม วงศ์วานของยาโคบสมควรได้รับการฟื้นฟู. ผู้คนจะกลับมายังภูเขาซีโอน. พวกเขาจะกลืนวงศ์วานของเอซาวเหมือนไฟไหม้ตอข้าว. พวกเขาจะยึดแผ่นดินไปทางใต้ คือเนเกบ รวมทั้งแถบภูเขาของเอซาวและเชเฟลาห์; ทางเหนือพวกเขาจะได้ครองแผ่นดินเอฟรายิมและซะมาเรีย รวมทั้งแถบที่อยู่ไกลถึงเมืองซาระฟาธ; ทางตะวันออกพวกเขาจะได้เขตแดนฆีละอาด. อะโดมผู้เย่อหยิ่งต้องสาบสูญ ยาโคบต้องได้รับการฟื้นฟู และ “ราชอาณาจักร [“ตำแหน่งกษัตริย์,” ล.ม.] นั้นจะเป็นกรรมสิทธิ์ของพระยะโฮวา.”—ข้อ 21.
เหตุที่เป็นประโยชน์
10. คำพยากรณ์อื่น ๆ อะไรอีกที่บอกล่วงหน้าถึงความพินาศของอะโดม และเหตุใดการพิจารณาคำพยากรณ์เหล่านี้ควบคู่กับคำพยากรณ์ของโอบัดยาจึงจะเป็นประโยชน์?
10 เมื่อรับรองความแน่นอนแห่งความสำเร็จเป็นจริงของข่าวสารการพิพากษาต่ออะโดม พระยะโฮวาทรงมีคำแถลงคล้าย ๆ กันโดยทางผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ ของพระองค์. ที่เด่น ๆ คือคำพยากรณ์ซึ่งบันทึกในโยเอล 3:19; อาโมศ 1:11, 12; ยะซายา 34:5-7; ยิระมะยา 49:7-22; ยะเอศเคล 25:12-14; 35:2-15. คำแถลงก่อนหน้านี้ปรากฏชัดว่าอ้างถึงการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ในอดีต ขณะที่คำพยากรณ์ในภายหลังตามที่โอบัดยากล่าวถึงนั้นปรากฏว่าเป็นการฟ้องร้องอะโดมเนื่องด้วยความประพฤติที่ให้อภัยไม่ได้ในคราวที่บาบูโลนยึดกรุงยะรูซาเลม. ถ้าเราตรวจสอบว่าความพินาศที่พยากรณ์ไว้นั้นเกิดแก่อะโดมอย่างไรก็จะเสริมความเข้มแข็งแก่ความเชื่อของพวกเราในอำนาจของพระยะโฮวาในการพยากรณ์. ยิ่งกว่านั้น เรื่องนี้จะเสริมความมั่นใจในพระยะโฮวาในฐานะเป็นพระเจ้าซึ่งทำให้พระประสงค์ที่ตรัสไว้สำเร็จเสมอ.—ยซา. 46:9-11.
11, 12. (ก) พวกที่ “ผูกมิตรกับ” อะโดมได้เอาชนะพวกเขาอย่างไร? (ข) ขั้นตอนต่าง ๆ อะไรบ้างที่อะโดมมาถึงขั้น “ถูกทำลายเสียตลอดกาล”?
11 โอบัดยาพยากรณ์ไว้ว่า “คนที่เป็นมิตรไมตรีกับ” อะโดม คือผู้ที่ “ผูกมิตรกับ” พวกเขา จะเป็นผู้ที่เอาชนะพวกเขา. (โอบัดยา 7) สันติภาพระหว่างบาบูโลนกับอะโดมไม่ยืนนาน. ระหว่างศตวรรษที่หก ก.ส.ศ. กองทัพบาบูโลนภายใต้กษัตริย์นะโบไนดัสได้พิชิตอะโดม.b กระนั้นก็ตาม อีกศตวรรษหนึ่งหลังจากนะโบไนดัสบุกพิชิตดินแดนนี้ พวกอะโดมที่มั่นใจยังหวังจะตั้งตัวอีก และเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาลาคี 1:4 แจ้งว่า “ถ้าแม้ชาวอะโดมจะพูดกันว่า, ‘เราถูกทำลายลงแล้วก็ช่าง, เราก็จะกลับมาบูรณะที่ร้างขึ้นใหม่,’ พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสดังนี้ว่า, ‘เขาทั้งหลายจะสร้างขึ้นก็ได้, แต่เราก็จะรื้อลงเสีย.’” แม้พวกอะโดมพยายามฟื้นตัวก็ตาม พอถึงศตวรรษที่สี่ ก.ส.ศ. ชาวนาบาเทียนก็ตั้งถิ่นฐานอย่างมั่นคงในดินแดนนี้. เมื่อถูกขับจากดินแดนของตน ชาวอะโดมจึงอาศัยอยู่ทางใต้ของแคว้นยูเดีย ซึ่งต่อมาเรียกว่าอิดูเมีย. พวกเขาไม่เคยพิชิตแผ่นดินเซอีรได้อีกเลย.
12 ตามที่โยเซฟุสบอก ในศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. ชาวอะโดมที่เหลืออยู่ถูก จอห์น ฮีรคานุสที่ 1 กษัตริย์ชาวยิวพิชิต, ถูกบังคับให้รับสุหนัต, และค่อย ๆ ถูกกลืนเข้าอยู่ในการครอบครองของยิวภายใต้ผู้ว่าราชการชาวยิว. หลังจากชาวโรมันทำลายกรุงยะรูซาเลมในปี ส.ศ. 70 ชื่อพวกเขาก็สาบสูญจากประวัติศาสตร์.c เป็นตามที่โอบัดยาได้พยากรณ์ไว้ว่า “เจ้าจะถูกทำลายเสียตลอดกาล . . . และวงศ์วานของเอซาวจะไม่มีเหลืออยู่เลย.”—โอบัด. 10, 18.
13. เกิดอะไรขึ้นกับชาวยิว ซึ่งเป็นตรงกันข้ามกับอะโดม?
13 ตรงข้ามกับการร้างเปล่าของอะโดม ชาวยิวถูกพากลับบ้านเกิดเมืองนอนในปี 537 ก.ส.ศ. โดยมีซะรูบาเบลเป็นผู้สำเร็จราชการ พวกเขาได้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่ที่ยะรูซาเลมและตั้งถิ่นฐานมั่นคงในแผ่นดินนี้.
14. (ก) คำเตือนอะไรที่พบได้ในชะตากรรมของอะโดม? (ข) ทุกคนควรยอมรับอะไรเหมือนโอบัดยา และเพราะเหตุใด?
14 เห็นได้ชัดจริง ๆ ว่าความหยิ่งยโสและการถือดีนำไปสู่ความหายนะ! ให้ทุกคนซึ่งยกตัวเองด้วยความหยิ่งยโสและมองดูความทุกข์ลำบากที่เกิดแก่ผู้รับใช้ของพระเจ้าอย่างสมน้ำหน้าด้วยความโหดร้ายนั้นถือเอาชะตากรรมของอะโดมเป็นสิ่งเตือนใจ. ให้พวกเขายอมรับเหมือนโอบัดยาว่า “ราชอาณาจักร [“ฐานะกษัตริย์,” ล.ม.] นั้นจะเป็นกรรมสิทธิ์ของพระยะโฮวา.” ผู้ที่ต่อสู้พระยะโฮวาและไพร่พลของพระองค์จะถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิงถึงเวลาไม่กำหนด แต่ราชอาณาจักรอันทรงอำนาจยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาและฐานะกษัตริย์องค์ถาวรของพระองค์จะได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องไปจนตลอดกาล!—ข้อ 21.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 679.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 682.
c โบราณสถานของชาวยิว (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 13 หน้า 257 258 (ix, 1); เล่ม 15 หน้า 253 254 (vii, 9).