พระธรรมเล่มที่ 32—โยนา
ผู้เขียน: โยนา
เขียนเสร็จ: ประมาณปี 844 ก.ส.ศ.
1. คำถามอะไรบ้างที่ได้รับคำตอบในพระธรรมโยนา และพระธรรมนี้แสดงถึงอะไรเกี่ยวกับพระเมตตาของพระยะโฮวา?
โยนา—ผู้เผยแพร่ในต่างแดนในศตวรรษที่เก้า ก.ส.ศ.! ท่านมองดูงานมอบหมายจากพระยะโฮวาอย่างไร? งานนี้เปิดโอกาสให้ท่านได้ประสบการณ์ใหม่อะไร? ท่านพบว่าประชาชนในเขตมอบหมายของท่านตอบรับไหม? การประกาศของท่านประสบผลสำเร็จแค่ไหน? บันทึกอันน่าตื่นเต้นในพระธรรมโยนาตอบคำถามเหล่านี้. บันทึกเชิงพยากรณ์นี้ซึ่งเขียนในคราวเมื่อชนชาติที่พระยะโฮวาทรงเลือกสรรไว้นั้นได้ละเมิดสัญญาไมตรีกับพระองค์ และตกเข้าสู่การไหว้รูปเคารพนอกรีตนั้นแสดงว่าพระเมตตาของพระเจ้าไม่ถูกจำกัดไว้กับชาติใดชาติหนึ่ง แม้กระทั่งกับยิศราเอล. ยิ่งกว่านั้น บันทึกนี้ยกย่องพระเมตตาอันยิ่งใหญ่และความรักกรุณาของพระยะโฮวา ซึ่งไม่เหมือนกับการขาดความเมตตา, ขาดความอดทน, และขาดความเชื่อ ซึ่งมักสังเกตเห็นบ่อย ๆ ในมนุษย์ไม่สมบูรณ์.
2. มีการเผยให้ทราบอะไรเกี่ยวกับโยนา และท่านพยากรณ์ประมาณปีไหน?
2 ชื่อโยนา (ฮีบรู โยห์-นาห์ʹ) หมายความว่า “นกเขา.” ท่านเป็นบุตรชายของผู้พยากรณ์อะมิดธายแห่งฆัธเอเฟรในแคว้นฆาลิลายแห่งเขตของตระกูลซะบูโลน. ที่ 2 กษัตริย์ 14:23-25 เราอ่านว่า ยาระบะอามกษัตริย์ยิศราเอลได้ขยายอาณาเขตของชาติตามคำที่พระยะโฮวาตรัสผ่านทางโยนา. สิ่งนี้จึงกำหนดเวลาที่โยนาพยากรณ์ไว้ในราวปี 844 ก.ส.ศ. ปีที่ยาระบะอามที่ 2 ขึ้นครองราชย์และหลายปีก่อนที่อัสซีเรียซึ่งมีนีนะเวเป็นเมืองหลวงเริ่มยึดครองยิศราเอล.
3. อะไรพิสูจน์ว่าเรื่องราวในพระธรรมโยนาเชื่อถือได้?
3 ไม่มีข้อสงสัยว่าเรื่องราวทั้งหมดในพระธรรมโยนาเชื่อถือได้. “พระเยซู . . . ผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์ขึ้น.” ตรัสถึงโยนาว่าเป็นบุคคลจริง ๆ และโดยการดลใจ ได้ทรงตีความเหตุการณ์เชิงพยากรณ์สองอย่างในพระธรรมโยนา จึงแสดงว่าพระธรรมนี้บรรจุคำพยากรณ์แท้. (เฮ็บ. 12:2, ล.ม.; มัด. 12:39-41; 16:4; ลูกา 11:29-32) ชาวยิวจัดพระธรรมโยนาให้อยู่ในพระธรรมทั้งหลายแห่งสารบบพระคัมภีร์เสมอและถือว่าเป็นประวัติศาสตร์จริง. การที่โยนาพรรณนาข้อผิดพลาดและความอ่อนแอของตนอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่พยายามปกปิดก็บ่งชัดเช่นกันว่าบันทึกนี้เป็นความจริง.
4. อาจเป็นปลาชนิดไหนที่กลืนโยนา? กระนั้น ข้อมูลที่เพียงพอสำหรับเราคืออย่างไร?
4 จะว่าอย่างไรกับ “ปลาใหญ่” ที่กลืนโยนา? มีการคาดคะเนกันมากมายว่า ปลานั้นจะเป็นปลาชนิดใด. ปลาวาฬสเปอร์มสามารถกลืนคนได้ทั้งตัว. ปลาฉลามขาวขนาดใหญ่ก็เช่นกัน. กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลบอกเพียงว่า “พระยะโฮวาได้ทรงเตรียมปลาใหญ่ไว้ตัวหนึ่งสำหรับให้กลืนโยนาเข้าไป.” (โยนา 1:17) ไม่มีระบุว่าเป็นปลาชนิดใด. เป็นเรื่องที่ไม่อาจกำหนดได้แน่นอนว่าปลานั้นเป็นปลาวาฬสเปอร์มหรือปลาฉลามขาวขนาดใหญ่ หรือสัตว์ทะเลอย่างอื่นที่ไม่ทราบชื่อ.a บันทึกในพระคัมภีร์ไบเบิลที่ว่านั่นเป็น “ปลาใหญ่” เป็นข้อมูลที่เพียงพอสำหรับเรา.
เนื้อเรื่องในโยนา
5. โยนามีปฏิกิริยาอย่างไรต่องานมอบหมายของท่าน และยังผลประการใด?
5 โยนาได้รับมอบหมายให้ไปยังนีนะเว แต่ท่านหนี (1:1-16). “เมื่อนั้นคำของพระยะโฮวามายังโยนาลูกชายของอะมิดธายกล่าวว่า, ‘จงลุกขึ้นไปยังนีนะเวกรุงใหญ่นั้น, และร้องประกาศต่อว่าชาวกรุงนั้น, เนื่องด้วยความชั่วของพวกเขาปรากฏขึ้นต่อหน้าเราแล้ว.’” (1:1, 2) โยนาชอบงานมอบหมายนี้ไหม? ไม่เลยสักนิด! ท่านหนีไปยังทิศทางตรงกันข้าม ลงเรือไปยังธาระซิศ ซึ่งคงเป็นสเปน. เรือที่โยนาโดยสารประสบพายุใหญ่. ด้วยความกลัว พวกลูกเรือพากันร้องขอความช่วยเหลือ “ขอให้พระของตนมาช่วย” ขณะโยนานอนหลับอยู่ที่ท้องเรือ. (1:5) หลังจากปลุกโยนา พวกเขาจับฉลากเพื่อค้นหาว่าใครคือต้นเหตุแห่งความลำบากที่เกิดกับพวกเขา. ฉลากตกอยู่กับโยนา. ตอนนี้เองที่โยนาบอกพวกลูกเรือว่าท่านเป็นชาวฮีบรู เป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาและกำลังหนีจากงานที่พระเจ้าทรงมอบหมาย. ท่านขอให้พวกเขาจับท่านโยนลงไปในทะเล. หลังจากพยายามบังคับเรือต่อไป ในที่สุดพวกเขาก็โยนโยนาลงจากเรือ. ทะเลก็หยุดปั่นป่วน.
6. ประสบการณ์ของโยนากับ “ปลาใหญ่” เป็นอย่างไร?
6 ถูกกลืนโดย “ปลาใหญ่” (1:17–2:10). “เมื่อนั้นพระยะโฮวาได้ทรงเตรียมปลาใหญ่ไว้ตัวหนึ่งสำหรับให้กลืนโยนาเข้าไป; และโยนาก็อยู่ในท้องปลานั้นสามวันสามคืน.” (1:17) ท่านทูลอธิษฐานด้วยใจเร่าร้อนต่อพระยะโฮวาจากในท้องปลา. ท่านร้องขอความช่วยเหลือ “จากขุมท้องแห่งเมืองผี [“เชโอล,” ล.ม.]” และบอกว่าจะทำตามที่ท่านได้ปฏิญาณไว้ เพราะ “ความรอดนั้นมาจากพระยะโฮวา.” (2:2, 9) ตามพระบัญชาของพระยะโฮวา ปลานั้นจึงสำรอกโยนาลงบนดินแห้ง.
7. การประกาศของโยนาในนีนะเวได้ผลแค่ไหน?
7 การประกาศในนีนะเว (3:1–4:11). พระยะโฮวาทรงสั่งโยนาอีกครั้ง. โยนาไม่ได้หลบเลี่ยงงานมอบหมายของท่านอีก แต่ท่านไปยังนีนะเว. ที่นั่นท่านได้เดินไปทั่วถนนสายต่าง ๆ ในนครและร้องว่า “อีกสี่สิบวันกรุงนีนะเวจะถูกทำลายให้พินาศไป.” (3:4) การประกาศของท่านได้ผล. คลื่นแห่งการกลับใจได้แผ่ไปทั่วนีนะเว และประชาชนในกรุงนี้เริ่มมีความเชื่อในพระเจ้า. กษัตริย์ได้ประกาศว่าคนและสัตว์ต้องอดอาหารและนุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบ. พระยะโฮวาจึงทรงเว้นโทษเมืองนั้นด้วยความเมตตา.
8. โยนามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการที่พระยะโฮวาทรงสำแดงความเมตตาต่อกรุงนี้ และพระยะโฮวาทรงเปิดเผยความไม่เสมอต้นเสมอปลายของท่านผู้พยากรณ์อย่างไร?
8 เรื่องนี้ทำให้โยนาทนไม่ได้. ท่านทูลพระยะโฮวาว่า ท่านทราบตลอดเวลาว่าพระองค์จะทรงสำแดงความเมตตาและนั่นคือเหตุที่ท่านหนีไปธาระซิศ. ท่านคิดอยากตาย. ด้วยความไม่พอใจอย่างยิ่ง โยนาสร้างเพิงอยู่ทางตะวันออกของกรุงนั้นและคอยดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น. พระยะโฮวาทรงให้ต้นน้ำเต้างอกขึ้นเป็นร่มเงาแก่ผู้พยากรณ์อารมณ์เสียของพระองค์. โยนายินดีกับต้นน้ำเต้าได้เดี๋ยวเดียว. เช้าวันรุ่งขึ้น พระยะโฮวาทรงให้หนอนกัดกินต้นนั้น ดังนั้น จึงมีลมตะวันออกที่ร้อนไหม้และแสงอาทิตย์ร้อนกล้ามาแทนร่มเงา. อีกครั้งหนึ่งโยนาอยากตาย. ท่านถือว่าความโกรธของตนถูกต้องเพราะถือว่าตนเองชอบธรรม. พระยะโฮวาทรงชี้ให้เห็นว่าท่านไม่เสมอต้นเสมอปลายคือ โยนารู้สึกเสียดายต้นน้ำเต้าต้นเดียวแต่โกรธเพราะตอนนี้พระยะโฮวาทรงเสียดายนีนะเวนครใหญ่นั้น.
เหตุที่เป็นประโยชน์
9. เจตคติและแนวทางเช่นไรของโยนาควรเป็นข้อเตือนใจแก่เรา?
9 การกระทำของโยนาและผลที่เกิดขึ้นควรเป็นข้อเตือนใจสำหรับเรา. ท่านหนีงานที่พระเจ้าทรงมอบหมาย ท่านน่าจะลงมือปฏิบัติงานและไว้วางใจว่าพระเจ้าจะสนับสนุนท่าน. (โยนา 1:3; ลูกา 9:62; สุภา. 14:26; ยซา. 6:8) เมื่อท่านมุ่งไปในทางที่ไม่ถูก ท่านแสดงเจตคติไม่ดีโดยไม่เผยตัวแก่พวกลูกเรือว่าเป็นผู้นมัสการ “[“พระยะโฮวา,” ล.ม.] พระเจ้าแห่งสรวงสวรรค์.” ท่านสูญเสียความกล้า. (โยนา 1:7-9; เอเฟ. 6:19, 20) การที่โยนาคิดถึงแต่ตัวเองทำให้ท่านถือว่าพระเมตตาที่พระยะโฮวาทรงมีต่อกรุงนีนะเวเป็นการสบประมาทท่าน; ท่านพยายามรักษาหน้าโดยทูลพระยะโฮวาว่า ท่านรู้ตลอดเวลาว่าผลจะออกมาอย่างนั้น—ดังนั้นไฉนจึงใช้ท่านไปในฐานะผู้พยากรณ์? ท่านถูกว่ากล่าวเพราะเจตคติในแบบที่ขาดความนับถือและขี้บ่น ดังนั้น เราควรได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของโยนาและยับยั้งตัวไว้จากการจับผิดการแสดงความเมตตาของพระยะโฮวาหรือวิธีที่พระองค์ทรงทำสิ่งต่าง ๆ.—โยนา 4:1-4, 7-9; ฟิลิป. 2:13, 14; 1 โก. 10:10.
10. ความรักกรุณาและความเมตตาของพระยะโฮวามีแสดงให้เห็นอย่างไรในพระธรรมโยนา?
10 ที่เด่นที่สุดในพระธรรมโยนาคือ การพรรณนาถึงความรักกรุณาและความเมตตาอันเป็นคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมของพระยะโฮวา. พระยะโฮวาแสดงความรักกรุณาต่อนีนะเวโดยใช้ผู้พยากรณ์ของพระองค์ไปเตือนเรื่องการทำลายที่จะเกิดขึ้น และพระองค์พร้อมจะสำแดงความเมตตาเมื่อชาวกรุงนี้กลับใจ—ความเมตตาที่ยอมให้นีนะเวอยู่รอดมาได้นานกว่า 200 ปี จนกระทั่งถูกทำลายโดยชาวมีเดียและชาวบาบูโลนประมาณปี 632 ก.ส.ศ. พระองค์ทรงสำแดงความเมตตาต่อโยนาโดยช่วยท่านจากทะเลที่ปั่นป่วนด้วยพายุและทรงประทานต้นน้ำเต้าเพื่อ “บรรเทาทุกข์ความกลุ้มใจ.” โดยที่ทรงประทานต้นน้ำเต้าและทรงทำให้มันเหี่ยวไป พระยะโฮวาทรงทำให้โยนาทราบว่าพระองค์จะทรงสำแดงความเมตตาและความรักกรุณาตามที่พระองค์เองทรงพอพระทัย.—โยนา 1:2; 3:2-4, 10; 2:10; 4:6, 10, 11.
11. “หมายสำคัญของโยนาห์” คืออะไร?
11 ที่มัดธาย 12:38-41 (ฉบับแปลใหม่) พระเยซูตรัสแก่พวกหัวหน้าศาสนาว่า หมายสำคัญเพียงประการเดียวซึ่งจะประทานแก่พวกเขาคือ “หมายสำคัญของโยนาห์.” หลังจากสามวันสามคืนที่อยู่ใน “ขุมท้องแห่งเมืองผี [“เชโอล,” ล.ม.]” โยนาได้ไปประกาศแก่ชาวนีนะเว ด้วยเหตุนั้น จึงเป็น “หมายสำคัญ” แก่ชาวนีนะเว. (โยนา 1:17; 2:2; 3:1-4) ในทำนองเดียวกัน พระเยซูทรงอยู่ในหลุมฝังศพในช่วงสามวันและถูกปลุกให้คืนพระชนม์. เมื่อเหล่าสาวกของพระองค์ประกาศหลักฐานของเหตุการณ์นั้น พระเยซูจึงกลายเป็นหมายสำคัญแก่คนชั่วอายุนั้น. ตามวิธีนับเวลาของชาวยิวและข้อเท็จจริงในความสำเร็จเป็นจริงในกรณีของพระเยซู ระยะ “สามวันสามคืน” นั้นนับเวลาได้ไม่ถึงสามวันเต็ม.b
12. (ก) พระเยซูตรัสอะไรอีกซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวนีนะเวและชาวยิวในชั่วอายุของพระองค์? (ข) “ผู้ใหญ่กว่าโยนา” ปรากฏตัวอย่างไร มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับราชอาณาจักรของพระยะโฮวาและความรอด?
12 ในการอธิบายเรื่องเดียวกันนี้ พระเยซูทรงเปรียบการกลับใจของชาวนีนะเวกับความมีใจแข็งกระด้างและการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงที่พระองค์ได้ประสบจากชาวยิวระหว่างงานรับใช้ของพระองค์ โดยตรัสว่า “ชนชาวนีนะเวจะยืนขึ้นกล่าวโทษคนสมัยนี้ในวันพิพากษา ด้วยว่าชาวนีนะเวได้กลับใจเสียใหม่เพราะคำประกาศของโยนา และนี่แน่ะมีผู้ใหญ่กว่าโยนาอยู่ที่นี่.” (ดูมัดธาย 16:4 และลูกา 11:30, 32 ด้วย.) “ผู้ใหญ่กว่าโยนา”—พระเยซูทรงใช้ถ้อยคำนี้หมายถึงอะไร? พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองในฐานะเป็นผู้พยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ผู้ที่พระยะโฮวาทรงส่งมาให้ประกาศว่า “จงกลับใจเสียใหม่, เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว.” (มัด. 4:17) กระนั้น ชาวยิวชั่วอายุนั้นส่วนใหญ่ได้ปฏิเสธ “นิมิต [“หมายสำคัญ,” ล.ม.] ของโยนา.” สมัยนี้ล่ะเป็นอย่างไร? แม้คนส่วนใหญ่ไม่เอาใจใส่ฟังข่าวสารที่ให้คำเตือนของพระยะโฮวา แต่ก็มีหลายแสนคนทั่วโลกมีโอกาสอันวิเศษสุดที่ได้ยินข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งพระเยซู “บุตรมนุษย์” ประกาศเป็นคนแรก. เหมือนชาวนีนะเวที่กลับใจซึ่งได้รับพระพรโดยการประกาศของโยนา คนเหล่านั้นอาจมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมอันบริบูรณ์และด้วยความเมตตาเพื่อมีชีวิตยืนยาว เพราะแท้จริงแล้ว “ความรอดนั้นมาจากพระยะโฮวา.”—โยนา 2:9.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 99-100.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 593.