พระธรรมเล่มที่ 34—นาฮูม
ผู้เขียน: นาฮูม
สถานที่เขียน: ยูดา
เขียนเสร็จ: ก่อนปี 632 ก.ส.ศ.
1. เราทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับนีนะเวโบราณ?
“แถลงการณ์กล่าวโทษนีนะเว.” (นาฮูม 1:1, ล.ม.) คำพยากรณ์ของนาฮูมเริ่มด้วยถ้อยคำนี้ซึ่งส่อถึงเหตุร้าย. แต่ทำไมท่านประกาศความวิบัตินี้? เราทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับนีนะเวโบราณ? นาฮูมสรุปประวัติของเมืองนี้ด้วยคำไม่กี่คำที่ว่า “นครอันแปดเปื้อนไปด้วยโลหิต.” (3:1) กองดินสองกองที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไทกริส ตรงข้ามกับเมืองโมซุลในปัจจุบันซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของอิรัก บอกที่ตั้งของเมืองนีนะเวโบราณ. นีนะเวเป็นเมืองที่มีกำแพงและคูเมืองป้องกันอย่างแน่นหนาอีกทั้งเป็นนครหลวงของจักรวรรดิอัสซีเรียในช่วงท้ายประวัติของจักรวรรดินี้. อย่างไรก็ตาม ที่มาของกรุงนี้ย้อนไปถึงสมัยของนิมโรด “‘พรานที่มีกำลังมากต่อพระพักตร์ [“ต่อต้าน,” ล.ม.] พระยะโฮวา.’ . . . นิมโรดได้แผ่อาณาจักรจากประเทศนั้นไปยังแผ่นดินอาซูร [“อัสซีเรีย,” ล.ม.], ได้สร้างเมืองนีนะเว.” (เย. 10:9-11) ดังนั้น นีนะเวจึงมีการเริ่มต้นที่ไม่ดี. เมืองนี้มีชื่อเสียงเป็นพิเศษในช่วงรัชกาลของซาร์กอน, ซันเฮริบ, เอซัรฮัดโดน, และอะเชอร์บานิปาล ในช่วงท้าย ๆ ของจักรวรรดิอัสซีเรีย. นีนะเวทำให้ตนมั่งคั่งด้วยของปล้นที่ได้จากสงครามและการพิชิตดินแดนต่าง ๆ และมีชื่อเสียงด้านการปฏิบัติที่โหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมที่พวกผู้ปกครองเมืองนี้ทำต่อเชลยจำนวนมาก.a ซี. ดับเบิลยู. ซีราม กล่าวไว้ในหนังสือของเขาชื่อพระทั้งหลาย, หลุมฝังศพ, และผู้คงแก่เรียน (ภาษาอังกฤษ 1954) หน้า 266 ว่า “นีนะเวไม่ได้ประทับอะไรลงบนจิตใจของมนุษยชาตินอกจากเรื่องฆาตกรรม, การปล้นสะดม, การกดขี่, และความรุนแรงที่ทำต่อผู้อ่อนแอ; สงครามและความรุนแรงทางกายทุกรูปแบบ; การกระทำของราชวงศ์ของพวกผู้ปกครองที่กระหายเลือดซึ่งควบคุมราษฎรด้วยความหวาดกลัว และตนเองก็มักถูกสังหารโดยคู่แข่งที่โหดร้ายยิ่งกว่า.”
2. ศาสนาของชาวนีนะเวเป็นแบบใด?
2 ชาวนีนะเวนับถือศาสนาอะไร? ชาวเมืองนี้นมัสการพระมากมาย มีหลายองค์เอามาจากบาบูโลน. พวกผู้ครองกรุงนีนะเววิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเหล่านี้เมื่อออกไปกวาดล้างทำลาย อีกทั้งพวกปุโรหิตที่โลภแห่งกรุงนี้ก็ยุยงส่งเสริมการทำสงครามเพื่อพิชิตดินแดน โดยหวังจะได้ค่าตอบแทนจำนวนมากจากทรัพย์สินที่ปล้นมา. ดับเบิลยู. บี. ไรท์ บอกในหนังสือของเขาชื่อนครโบราณ (ภาษาอังกฤษ 1886 หน้า 25) ดังนี้: “พวกเขาบูชาความเข้มแข็ง และจะกล่าวคำอธิษฐานของตนต่อรูปเคารพทำด้วยหินที่ใหญ่โตเป็นรูปสิงโตและวัวเท่านั้น ซึ่งขาที่กำยำ, ปีกที่เหมือนปีกนกอินทรี, และหัวที่เหมือนหัวมนุษย์ของรูปเหล่านั้น เป็นสัญลักษณ์ถึงความเข้มแข็ง, ความกล้าหาญ, และชัยชนะ. การต่อสู้เป็นธุรกิจของประเทศ และพวกปุโรหิตคือพวกที่เฝ้าแต่ยุยงให้ทำสงคราม. ส่วนใหญ่แล้วพวกปุโรหิตได้รับการสนับสนุนจากของที่ชิงมาได้ โดยมีส่วนแบ่งที่กำหนดแน่นอนไว้ให้พวกเขาก่อนที่คนอื่นจะได้รับส่วนแบ่ง เพราะชนชาติที่ชอบปล้นชิงนี้ถือศาสนาอย่างเคร่งครัดมาก.”
3. (ก) ชื่อนาฮูมมีความหมายเหมาะสมในทางใด? (ข) คำพยากรณ์ของนาฮูมเขียนในช่วงเวลาใด?
3 คำพยากรณ์ของนาฮูมแม้จะสั้น แต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งน่าสนใจ. ทั้งหมดที่เรารู้เกี่ยวกับท่านผู้พยากรณ์มีอยู่ในข้อแรก ที่ว่า “หนังสือแห่งนิมิตของท่านนาฮูมชาวเมืองเอลโคซี.” ชื่อของท่าน (ฮีบรู นาชุมʹ) หมายความว่า “ผู้ปลอบประโลม.” ข่าวสารของท่านย่อมไม่ปลอบประโลมนีนะเวแน่ แต่สำหรับไพร่พลแท้ของพระเจ้าแล้ว ข่าวนี้บอกถึงการปลดปล่อยที่แน่นอนและถาวรจากศัตรูที่ไร้ความปรานีและเข้มแข็ง. เป็นการปลอบโยนเช่นกันที่นาฮูมไม่ได้เอ่ยถึงบาปของชนร่วมชาติของท่านเอง. ถึงแม้ไม่ทราบแน่ชัดถึงที่ตั้งเมืองเอลโคซี แต่ก็คงเป็นไปได้ที่คำพยากรณ์นี้เขียนในยูดา. (นาฮูม 1:15) ความล่มจมของนีนะเวซึ่งเกิดในปี 632 ก.ส.ศ. นั้นยังไม่เกิดขึ้นในตอนที่ท่านบันทึกคำพยากรณ์ และท่านเปรียบเหตุการณ์นี้กับความล่มจมของนครโนแห่งพระอาโมน (เมืองทีบส์ในอียิปต์) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ไม่นาน. (3:8) ฉะนั้น นาฮูมคงต้องเขียนคำพยากรณ์ของท่านในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างนั้น.
4. ลักษณะการเขียนเช่นไรที่ปรากฏชัดในพระธรรมนาฮูม?
4 ลีลาการเขียนพระธรรมนี้นับว่าโดดเด่น. ไม่มีคำฟุ่มเฟือย. ความมีชีวิตชีวาและการยึดตามความเป็นจริงของพระธรรมนี้ประสานกับการที่พระธรรมนี้เป็นส่วนของคัมภีร์ไบเบิลที่มีขึ้นโดยการดลใจ. นาฮูมเป็นเลิศในด้านการใช้ภาษาเชิงพรรณนา, แสดงอารมณ์, และเร้าใจ อีกทั้งคำพูดที่น่านับถือ, กระบวนจินตภาพที่ชัดเจน, และสำนวนน่าตื่นเต้นที่ให้ภาพชัด. (1:2-8, 12-14; 2:4, 12; 3:1-5, 13-15, 18, 19) ส่วนใหญ่ของบทแรกปรากฏว่าเป็นแบบบทร้อยกรองแบบอะครอสติก. (1:8, ล.ม. เชิงอรรถ) ลีลาการเขียนของนาฮูมมีน้ำหนักขึ้นเนื่องจากมีอรรถบทเดียว. ท่านรู้สึกชิงชังอย่างยิ่งต่อศัตรูที่เจ้าเล่ห์ของพวกยิศราเอล. ท่านเห็นแต่วิบัติของนีนะเว.
5. อะไรพิสูจน์ความเชื่อถือได้ของคำพยากรณ์ของนาฮูม?
5 ความเชื่อถือได้แห่งคำพยากรณ์ของนาฮูมพิสูจน์โดยความสำเร็จเป็นจริงอย่างถูกต้องแม่นยำ. ในสมัยของนาฮูม จะมีใครอื่นอีกนอกจากผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาเท่านั้นที่กล้าพยากรณ์ว่าเมืองหลวงที่น่าภาคภูมิของมหาอำนาจโลกอัสซีเรียจะถูกบุกทะลวงทาง “ประตูน้ำทั้งหลาย” ราชวังของเมืองนี้จะถูกทำลาย และเมืองนี้เองจะ “สิ้นเนื้อประดาตัวและร้างเปล่า”? (2:6-10) เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ตามมาแสดงว่าคำพยากรณ์นี้มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าอย่างแท้จริง. จดหมายเหตุพระราชกิจรายปีของกษัตริย์นะโบโพลัสซาร์แห่งบาบูโลนพรรณนาการยึดนีนะเวโดยพวกมาดายและบาบูโลนดังนี้ “กรุงนั้น [พวกเขาได้ทำให้] เป็นกอง [ซากปรักหักพัง . . . ].”b ความพินาศของนีนะเวจึงเป็นแบบสิ้นเชิงจนแม้แต่ที่ตั้งกรุงนี้ก็ถูกลืมเป็นเวลาหลายศตวรรษ. นักวิจารณ์บางคนเคยเยาะเย้ยคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่ากรุงนีนะเวไม่เคยมีอยู่เลย.
6. มีการค้นพบอะไร ณ ที่ตั้งของกรุงนีนะเวโบราณซึ่งบ่งชี้ความถูกต้องแม่นยำของนาฮูม?
6 อย่างไรก็ดี ที่เสริมเข้ากับหลักฐานยืนยันความเชื่อถือได้ของพระธรรมนาฮูมคือ การค้นพบที่ตั้งกรุงนีนะเว และการขุดค้นเริ่มที่นั่นในศตวรรษที่ 19. ประมาณกันว่า คงต้องขนย้ายดินเป็นล้าน ๆ ตันเพื่อจะขุดค้นได้ทั่ว. มีการขุดพบอะไรในนีนะเว? มีมากมายหลายอย่างที่สนับสนุนความถูกต้องแม่นยำแห่งคำพยากรณ์ของนาฮูม! ตัวอย่างเช่น อนุสาวรีย์ต่าง ๆ ในกรุงและคำจารึกยืนยันความทารุณโหดร้ายของชาวเมืองนี้ และยังมีรูปปั้นใหญ่โตเป็นรูปวัวและสิงโตมีปีกหลงเหลืออยู่. ไม่แปลกที่นาฮูมพูดถึงนีนะเวว่าเป็น “ถ้ำสิงโต”!—2:11.c
7. อะไรสนับสนุนว่าพระธรรมนาฮูมเป็นส่วนหนึ่งของสารบบพระคัมภีร์?
7 การที่พระธรรมนาฮูมเป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์มีแสดงให้เห็นโดยที่ชาวยิวยอมรับพระธรรมนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ. นาฮูมสอดคล้องอย่างสมบูรณ์กับส่วนอื่น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล. มีการกล่าวคำพยากรณ์นี้ในพระนามของพระยะโฮวา ซึ่งพระธรรมนี้มีคำยืนยันหนักแน่นในเรื่องคุณลักษณะและความสูงส่งของพระองค์.
เนื้อเรื่องในนาฮูม
8. มีการแถลงเรื่องความวิบัติอะไรแก่นีนะเว แต่มีข่าวดีอะไรสำหรับยูดา?
8 แถลงการณ์ของพระยะโฮวาต่อสู้นีนะเว (1:1-15). “พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่เรียกร้องความเลื่อมใสโดยเฉพาะและจะทรงแก้แค้น.” ท่านผู้พยากรณ์ได้ใช้ถ้อยคำเหล่านี้เป็นฉากสำหรับ “แถลงการณ์กล่าวโทษนีนะเว.” (1:1, 2, ล.ม.) แม้พระยะโฮวาทรงพระพิโรธช้า แต่มองดูพระองค์ในตอนนี้สิ ขณะที่พระองค์ทรงสำแดงการแก้แค้นด้วยลมและพายุ. ภูเขาหวั่นไหว, เนินเขาละลาย, และแผ่นดินไหวเป็นลูกคลื่น. ใครจะทนความร้อนแรงแห่งพระพิโรธของพระองค์ได้? กระนั้น พระยะโฮวาทรงเป็นป้อมสำหรับผู้ที่แสวงหาที่คุ้มภัยในพระองค์. แต่นีนะเวถูกตัดสินให้พินาศ. เมืองนี้จะถูกกวาดล้างด้วยน้ำท่วม และ “ความทุกข์เดือดร้อนจะไม่อุบัติขึ้นเป็นคำรบสอง.” (1:9 ล.ม.) พระยะโฮวาจะทรงลบชื่อเมืองนี้และพระทั้งหลายของเมืองนี้เสีย. พระองค์จะทรงฝังเมืองนี้. สิ่งตรงข้ามที่น่าชื่นใจคือ มีข่าวดีสำหรับยูดา! นั่นคืออะไร? ผู้ประกาศสันติสุขร้องเรียกพวกเขาให้ฉลองเทศกาลต่าง ๆ และทำตามที่เขาปฏิญาณไว้ เพราะฝ่ายศัตรู “คนอธรรม” ถูกตัดสินให้พินาศ. “เขาจะถูกตัดขาดเสียทั้งสิ้นเป็นแน่.”—1:15, ล.ม.
9. เราเห็นภาพเชิงพยากรณ์อะไรเกี่ยวกับการพ่ายแพ้ของนีนะเว?
9 การเห็นความพินาศของนีนะเวล่วงหน้า (2:1–3:19). นาฮูมกล่าวเยาะเย้ยท้าทายนีนะเวให้เสริมกำลังตนเองไว้ต่อสู้ผู้ทำให้กระจัดกระจายซึ่งกำลังจะมา. พระยะโฮวาจะทรงทำให้ ‘ความภาคภูมิของยาโคบและของยิศราเอล’ ของพระองค์กลับคืนมา. จงดูโล่และเสื้อสีแดงเข้มแห่งชายฉกรรจ์และ “ในวันเตรียมพร้อม รถรบก็แวบวาบดังคบเพลิง”! รถรบ “ห้อไปตามถนน” วิ่งราวกับสายฟ้า. (2:2-4, ฉบับแปลใหม่) บัดนี้ เราเห็นภาพเชิงพยากรณ์เกี่ยวกับการรบ. ชาวนีนะเวต่างชุลมุนวุ่นวายและรีบป้องกันกำแพงแต่ไร้ผล. ประตูน้ำเปิดออก, ราชวังพังทลาย, เหล่าทาสีต่างคร่ำครวญและทุบอกตนเอง. คนที่หนีได้รับคำสั่งให้หยุดอยู่กับที่ แต่ไม่มีใครหันกลับมา. เมืองถูกปล้นและทิ้งให้ร้างเปล่า. หัวใจผู้คนละลายสิ้น. ตอนนี้ถ้ำสิงโตอยู่ที่ไหน? สิงโตได้สะสมเหยื่อไว้เต็มถ้ำสำหรับลูก ๆ แต่พระยะโฮวาทรงประกาศว่า “ดูเถิด เราต่อสู้เจ้า.” (2:13, ฉบับแปลใหม่) ถูกแล้ว พระยะโฮวาจะทรงเผาเครื่องรบของนีนะเว, ใช้ดาบผลาญชีวิตลูกสิงโตของเมืองนี้, และจะกำจัดเหยื่อของเมืองนี้จากแผ่นดินโลก.
10. นีนะเวถูกเปิดโปงเรื่องอะไร และมีการพรรณนาต่อไปว่าจุดจบของเมืองนั้นเป็นอย่างไร?
10 “วิบัติแก่เมืองที่แปดเปื้อนไปด้วยโลหิตเต็มด้วยการมุสาและของริบ [“ปล้น,” ล.ม.].” จงฟังเสียงหวดแส้ม้าและเสียงล้อรถที่ดังสะเทือนเลื่อนลั่น. จงดูม้าห้อ, รถรบที่โจนทะยาน, ทหารม้าที่รุกไล่เข้ามา, แสงวับวาบของกระบี่และประกายของหอก—แล้วซากศพก็กองพะเนิน. “ร่างคนตายไม่รู้จักจบสิ้น.” (3:1, 3, ฉบับแปลใหม่) และเพราะเหตุใด? นั่นเป็นเพราะเมืองนี้ลวงนานาชาติให้ติดกับการแพศยาและวงศ์ตระกูลของนางด้วยอำนาจเยี่ยงผีปิศาจของนาง. พระยะโฮวาทรงประกาศเป็นครั้งที่สองว่า “ดูเถิด เราต่อสู้เจ้า.” (3:5, ฉบับแปลใหม่) นีนะเวจะถูกเปิดโปงว่าเป็นคนเล่นชู้และจะถูกปล้น ชะตากรรมของเมืองนี้ไม่ดีไปกว่าของนครโน แห่งพระอาโมน (ทีบส์) ซึ่งอัสซีเรียได้เข้ายึดครอง. ป้อมของเมืองนี้เป็นเหมือนกับมะเดื่อสุก “ถ้าถูกเขย่าเข้า ก็จะตกลงไปในปากของผู้กิน.” (3:12, ฉบับแปลใหม่) นักรบของนีนะเวเป็นเหมือนสตรี. ไม่มีสิ่งใดจะช่วยนีนะเวให้พ้นจากไฟและกระบี่ได้. ทหารป้องกันเมืองจะหนีเหมือนฝูงตั๊กแตนในวันที่อาทิตย์เจิดจ้า และพลเมืองของเมืองนี้จะกระจัดกระจาย. กษัตริย์อัสซีเรียจะรู้ว่าไม่มีการบรรเทาหรือการเยียวยาใด ๆ เลยสำหรับมหันตภัยคราวนี้. คนทั้งปวงที่ได้ยินรายงานเรื่องนี้จะปรบมือ เพราะทุกคนล้วนเคยเดือดร้อนเนื่องจากความเลวร้ายของอัสซีเรีย.
เหตุที่เป็นประโยชน์
11. พระธรรมนาฮูมเผยให้เห็นหลักการพื้นฐานอะไรบ้างในคัมภีร์ไบเบิล?
11 คำพยากรณ์ของนาฮูมเผยให้เห็นหลักการพื้นฐานบางประการในคัมภีร์ไบเบิล. ถ้อยคำในตอนต้นนิมิตกล่าวซ้ำเหตุผลที่พระเจ้าทรงประทานบัญญัติข้อที่สองในพระบัญญัติสิบประการที่ว่า ‘พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่เรียกร้องความเลื่อมใสโดยเฉพาะ.’ ทันทีหลังจากนั้นพระองค์ทรงแจ้งให้ทราบถึงความแน่นอนของการที่พระองค์จะ “ทรงแก้แค้นเหล่าปรปักษ์ของพระองค์.” ความโหดเหี้ยมอหังการและเหล่าพระนอกรีตของอัสซีเรียไม่อาจช่วยชาตินี้ให้พ้นจากการสำเร็จโทษตามคำพิพากษาของพระยะโฮวา. เรามั่นใจได้ว่าในเวลาที่เหมาะสม พระยะโฮวาจะทรงลงโทษคนชั่วทั้งสิ้นอย่างยุติธรรมเช่นเดียวกัน. “พระยะโฮวาทรงพิโรธช้าและทรงฤทธิ์ยิ่งใหญ่ และพระยะโฮวาจะไม่ทรงยับยั้งการลงโทษไว้เลย.” ดังนั้น ความยุติธรรมและพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาจึงได้รับการเชิดชูเนื่องด้วยการที่พระองค์ทรงกำจัดอัสซีเรียที่เข้มแข็ง. นีนะเวกลายเป็นเมือง “ว่างเปล่าและร้าง และเมืองก็รกร้างว่างเปล่า!”—1:2, 3, ล.ม.; 2:10, ล.ม.
12. นาฮูมประกาศเรื่องการฟื้นฟูอะไร และคำพยากรณ์ของท่านอาจเกี่ยวโยงกับความหวังเรื่องราชอาณาจักรอย่างไร?
12 ตรงข้ามกับการที่นีนะเว “ถูกตัดขาดเสียทั้งสิ้น” นาฮูมประกาศการฟื้นฟู ‘ความภาคภูมิของยาโคบและของยิศราเอล.’ อนึ่ง พระยะโฮวาทรงส่งข่าวความสุขมายังไพร่พลของพระองค์ว่า “ดูเถิด! ที่บนภูเขามีเท้าของผู้นำข่าวดี ผู้ประกาศสันติสุข.” ข่าวดีแห่งสันติสุขนี้เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. เราทราบได้อย่างไร? เรื่องนี้ปรากฏชัดเนื่องจากยะซายาก็ใช้คำพูดเหมือนกันแต่ท่านเพิ่มเติมถ้อยคำว่า “ผู้ซึ่งนำข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า ผู้ซึ่งประกาศเรื่องความรอด ผู้ซึ่งบอกแก่กรุงซีโอนว่า ‘พระเจ้าของเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว!’” (นาฮูม 1:15, ล.ม.; 2:2, ล.ม.; ยซา. 52:7, ล.ม.) ต่อมา ที่โรม 10:15 อัครสาวกเปาโลใช้ข้อความดังกล่าวกับผู้ที่พระยะโฮวาทรงใช้ไปเป็นคริสเตียนผู้ประกาศข่าวดี. คนเหล่านี้ประกาศ “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร.” (มัด. 24:14, ล.ม.) เป็นจริงตามความหมายของชื่อท่าน นาฮูมให้การปลอบโยนมากมายแก่ทุกคนที่แสวงหาสันติสุขและความรอดที่มากับราชอาณาจักรของพระเจ้า. คนทั้งปวงนี้จะตระหนักอย่างแน่นอนว่า “พระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] ประเสริฐ ทรงเป็นที่กำบังเข้มแข็งในวันยากลำบาก พระองค์ทรงรู้จักผู้ที่เข้ามาลี้ภัยอยู่ในพระองค์.”—นาฮูม 1:7, ฉบับแปลใหม่.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 201.
b Ancient Near Eastern Texts เรียบเรียงโดย เจ. บี. พริตชาร์ด 1974 หน้า 305; วงเล็บเหลี่ยมเป็นของหนังสือดังกล่าว; การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 958.
c การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 955.