พระธรรมเล่มที่ 33—มีคา
ผู้เขียน: มีคา
สถานที่เขียน: ยูดา
การเขียนเสร็จสิ้น: ก่อนปี 717 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: ประมาณปี 777-717 ก.ส.ศ.
1. มีคาเป็นคนแบบไหน?
จงคิดถึงชายอาวุโสคนหนึ่งซึ่งรับใช้พระยะโฮวาด้วยความซื่อสัตย์เป็นเวลาหลายปี. จงคิดถึงชายที่กล้าหาญที่สามารถพูดกับผู้ปกครองประเทศว่า “ท่านทั้งหลายผู้เกลียดชังความดีและรักความชั่ว . . . ผู้ที่กินเนื้อแห่งชนชาติของเราและถลกหนังออกจากตัวเขาทั้งหลาย.” จงคิดถึงชายที่ถ่อมใจ ผู้ถวายเกียรติทั้งสิ้นอันเนื่องจากถ้อยคำอันทรงพลังของเขาแด่พระยะโฮวา ซึ่งโดยพระวิญญาณของพระองค์นั้นท่านจึงได้พูด. คุณคงยินดีจะทำความรู้จักคุ้นเคยกับคนเช่นนี้มิใช่หรือ? ท่านคงสามารถถ่ายทอดความรู้อันอุดมและคำแนะนำที่ดีจริง ๆ! ผู้พยากรณ์มีคาเป็นคนเช่นนั้น. เรายังมีคำแนะนำอันดีเยี่ยมของท่านให้อ่านในพระธรรมที่เรียกตามชื่อของท่าน.—มีคา 3:2, 3, 8, ฉบับแปลใหม่.
2. เราทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับมีคาและระยะเวลาที่ท่านพยากรณ์?
2 เช่นเดียวกับผู้พยากรณ์หลายคน ไม่ค่อยมีกล่าวถึงตัวท่านมีคาเองมากเท่าไรในพระธรรมที่ท่านเขียน; ข่าวสารต่างหากที่สำคัญ. ชื่อมีคาย่อจากมิคาเอล (หมายความว่า “ใครจะเหมือนพระเจ้า?”) หรือมิคายาห์ (หมายความว่า “ใครจะเหมือนพระยะโฮวา?”). ท่านรับใช้เป็นผู้พยากรณ์ในรัชกาลของโยธาม, อาฮาศ, และฮิศคียา (777-717 ก.ส.ศ.) ซึ่งทำให้ท่านเป็นผู้พยากรณ์ร่วมสมัยกับยะซายาและโฮเซอา. (ยซา. 1:1; โฮ. 1:1) ระยะเวลาที่แน่นอนแห่งการพยากรณ์ของท่านไม่แน่ชัด แต่อย่างมากที่สุดก็ 60 ปี. ท่านคงต้องให้คำพยากรณ์เกี่ยวกับความร้างเปล่าของซะมาเรียไว้ก่อนการทำลายเมืองนั้นในปี 740 ก.ส.ศ. และการเขียนทั้งหมดคงต้องเสร็จสมบูรณ์ก่อนสิ้นรัชกาลของฮิศคียา คือในปี 717 ก.ส.ศ. (มีคา 1:1) มีคาเป็นผู้พยากรณ์ชาวชนบทจากหมู่บ้านโมเรเซ็ธในที่ราบเชเฟลาห์อันสมบูรณ์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของยะรูซาเลม. ความคุ้นเคยของท่านกับชีวิตชนบทมีแสดงให้เห็นในอุปมาแบบต่าง ๆ ที่ท่านใช้เพื่อทำให้เข้าใจจุดสำคัญ ๆ ในคำแถลงของท่าน.—2:12; 4:12, 13; 6:15; 7:1, 4, 14.
3. มีคารับใช้ในสมัยที่มีความสำคัญเช่นไร และเหตุใดพระยะโฮวาจึงทรงมอบหมายให้ท่านเป็นผู้พยากรณ์?
3 มีคามีชีวิตอยู่ในสมัยที่อันตรายและมีความหมายสำคัญ. เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผันแปรอย่างรวดเร็วบอกเหตุล่วงหน้าถึงความหายนะแก่อาณาจักรยิศราเอลและยูดา. ความเสื่อมศีลธรรมและการไหว้รูปเคารพได้เจริญขึ้นในยิศราเอล และสิ่งนั้นทำให้ชาตินี้ถูกอัสซีเรียทำลาย ซึ่งปรากฏชัดว่าเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของมีคาเอง. ในรัชกาลของโยธาม ยูดาได้ทำสิ่งที่ถูกต้องแต่หันไปเลียนแบบความชั่วช้าของยิศราเอลในรัชกาลของอาฮาศที่ขืนอำนาจ ครั้นแล้วจึงฟื้นตัวขึ้นใหม่ในรัชกาลของฮิศคียา. พระยะโฮวาทรงตั้งมีคาให้เตือนไพร่พลของพระองค์อย่างหนักแน่นในเรื่องสิ่งที่พระองค์จะนำมาเหนือพวกเขา. คำพยากรณ์ของมีคาช่วยสนับสนุนคำพยากรณ์ของยะซายาและโฮเซอา.—2 กษัต. 15:32–20:21; 2 โคร. บท 27-32; ยซา. 7:17; โฮ. 8:8; 2 โก. 13:1.
4. อะไรพิสูจน์ความเชื่อถือได้ของพระธรรมมีคา?
4 มีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงความเชื่อถือได้ของพระธรรมมีคา. ชาวยิวยอมรับพระธรรมเล่มนี้ตลอดมาว่าเป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ยิระมะยา 26:18, 19 อ้างถึงคำพูดของมีคาโดยตรงที่ว่า “เมืองซีโอนจะต้อง [“ถูก,” ล.ม.] ไถดุจไถนา, แลเมืองยะรูซาเลมจะต้องเป็นกอง ๆ.” (มีคา 3:12) คำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงอย่างแม่นยำในปี 607 ก.ส.ศ. เมื่อกษัตริย์บาบูโลนทำลายล้างยะรูซาเลม “เพื่อก่อความพินาศ.” (2 โคร. 36:19, ล.ม.) คำพยากรณ์ที่คล้ายกันเกี่ยวกับซะมาเรียที่ว่ากรุงนี้จะกลายเป็น “เนื้อนาที่ไถแล้ว” ก็ได้สำเร็จเป็นจริงเช่นกัน. (มีคา 1:6, 7) ซะมาเรียถูกชาวอัสซีเรียทำลายในปี 740 ก.ส.ศ. เมื่อพวกนั้นกวาดต้อนอาณาจักรยิศราเอลทางเหนือไปเป็นเชลย. (2 กษัต. 17:5, 6) ต่อมาซะมาเรียถูกอะเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิตในศตวรรษที่สี่ ก.ส.ศ. และถูกทำลายล้างโดยพวกยิวภายใต้ จอห์น ฮีรคานุสที่ 1 ในศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. เกี่ยวกับการถูกทำลายครั้งหลังนี้ของซะมาเรีย พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลของเวสต์มินสเตอร์ฉบับใหม่ (ภาษาอังกฤษ) 1970 หน้า 822 บอกว่า “ผู้ชนะได้ทำลายเมืองนี้ พยายามกวาดล้างหลักฐานทุกอย่างที่แสดงว่ามีเมืองที่สร้างอย่างแข็งแรงเคยตั้งอยู่บนเนินเขานั้น.”
5. โบราณคดียืนยันความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำพยากรณ์ต่าง ๆ ของมีคาอย่างไร?
5 หลักฐานทางโบราณคดีก็สนับสนุนเพิ่มเติมในเรื่องความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำพยากรณ์ของมีคา. การทำลายซะมาเรียโดยชาวอัสซีเรียมีกล่าวถึงในจดหมายเหตุประจำปีของชาวอัสซีเรีย. ตัวอย่างเช่น กษัตริย์ซาร์กอนแห่งอัสซีเรียโอ้อวดว่า “ข้าได้ล้อมและพิชิตกรุงซะมาเรีย (ซา-เม-ริ-นา).”a แต่จริง ๆ แล้วคงเป็นผู้ครองราชย์ก่อนซาร์กอน คือซัลมาเนเซอร์ที่ 5 ที่ได้พิชิตเด็ดขาด. เกี่ยวกับซัลมาเนเซอร์ พงศาวดารของบาบูโลนกล่าวว่า “ท่านได้ทำลายล้างซะมาเรีย.”b การบุกรุกยูดาในรัชกาลของฮิศคียาดังที่มีคาได้พยากรณ์ไว้นั้น มีบันทึกไว้เป็นพงศาวดารโดยซันเฮริบ. (มีคา 1:6, 9; 2 กษัต. 18:13) ซันเฮริบมีภาพนูนขนาดใหญ่บนผนังสี่ด้านในราชวังของท่านที่นีนะเวซึ่งพรรณนาเรื่องการยึดเมืองลาคิช. บนแท่งปริซึมของท่าน ท่านกล่าวว่า “ข้าฯ ยึดเมืองแข็งแรงได้ 46 เมือง . . . ข้าฯ ได้กวาดต้อน (พวกเขาไป) 200,150 คน . . . ส่วนตัวกษัตริย์เอง ข้าฯ ได้ขังไว้ในยะรูซาเลม ที่ราชวังของเขา เหมือนนกอยู่ในกรง.” นอกจากนั้น ซันเฮริบยังลงรายการของบรรณาการที่ฮิศคียาถวายแก่ท่านด้วย แม้ว่าบอกจำนวนเกินจริง. แต่ท่านไม่ได้กล่าวถึงความหายนะที่บังเกิดแก่กองทหารของท่านเลย.c—2 กษัต. 18:14-16; 19:35.
6. อะไรทำให้การที่พระธรรมมีคามีขึ้นโดยการดลใจอยู่พ้นข้อสงสัยทั้งปวง?
6 ที่ทำให้การที่พระธรรมนี้มีขึ้นโดยการดลใจอยู่พ้นข้อสงสัยทั้งมวลก็คือคำพยากรณ์ที่โดดเด่นในมีคา 5:2 ซึ่งบอกล่วงหน้าเรื่องสถานที่เกิดของพระมาซีฮา. (มัด. 2:4-6) นอกจากนั้น ยังมีข้อความที่คล้ายคลึงกับคำกล่าวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกด้วย.—มีคา 7:6, 20; มัด. 10:35, 36; ลูกา 1:72, 73.
7. อาจกล่าวอย่างไรในเรื่องความสามารถของมีคาในการใช้ถ้อยคำ?
7 แม้ว่ามีคาอาจมาจากแถบชนบทของยูดา แต่ท่านย่อมไม่บกพร่องด้านความสามารถในการใช้ถ้อยคำเป็นแน่. ถ้อยคำที่ดีที่สุดบางตอนในพระคำของพระเจ้าจะพบได้ในพระธรรมที่ท่านเขียน. บท 6 เขียนไว้ในแบบการสนทนาที่น่าตื่นเต้น. การเปลี่ยนเรื่องอย่างฉับไวจับความสนใจของผู้อ่าน ขณะที่มีคาเปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่งอย่างกะทันหัน จากการสาปแช่งเป็นการอวยพร และกลับมาเรื่องเดิมอีก. (มีคา 2:10, 12; 3:1, 12; 4:1) ภาพพจน์ที่มีชีวิตชีวามีอยู่หลายตอน เช่น ขณะที่พระยะโฮวาเสด็จ “ภูเขาที่ทรงย่างเหยียบก็ละลายไป, และหุบเขาก็แยกแยะเป็นเหวลึก, ราวกับขี้ผึ้งเมื่อต้องไฟ, หรือเหมือนน้ำที่พึ่งลงมาจากผาชัน.”—1:4; ดู 7:17 ด้วย.
8. ในแต่ละตอนของพระธรรมมีคาซึ่งมีสามตอนมีบันทึกเรื่องอะไรบ้าง?
8 พระธรรมนี้อาจแบ่งออกเป็นสามตอน แต่ละตอน (ในฉบับแปลโลกใหม่) ขึ้นต้นด้วยคำว่า “จงฟัง” และประกอบด้วยคำว่ากล่าว, คำเตือนเรื่องการลงโทษ, และคำสัญญาเรื่องพระพร.
เนื้อเรื่องในมีคา
9. มีคำตัดสินให้ลงโทษซะมาเรียและยูดาเช่นไร?
9 ตอน 1 (1:1–2:13). พระยะโฮวากำลังเสด็จมาจากพระวิหารของพระองค์เพื่อลงโทษซะมาเรียเพราะการไหว้รูปเคารพในกรุงนั้น. พระองค์จะทำให้กรุงนั้นเป็น “เนื้อนาที่ไถแล้ว” และ “ทุ่มทิ้งหินอันก่อสร้างแห่งกรุงนั้นลงไปในหุบเขา” ขณะที่บดขยี้รูปแกะสลักของกรุงนั้นให้เป็นผุยผง. จะไม่มีการเยียวยาใด ๆ สำหรับกรุงนั้น. ยูดาก็มีความผิดเช่นกันและจะถูกบุก “ถึงประตูกรุงยะรูซาเลม.” พวกที่วางแผนทำเรื่องชั่ว ๆ ถูกกล่าวโทษและจะร้องคร่ำครวญว่า “เราฉิบหายป่นปี้เสียแล้ว!”—1:6, 12; 2:4.
10. ความเมตตาของพระยะโฮวาปรากฏเด่นอย่างไร?
10 ในทันใดนั้นพระเมตตาของพระยะโฮวาปรากฏเด่น ขณะที่ผู้พยากรณ์ประกาศในพระนามพระยะโฮวาดังนี้: “โอ้พวกยาโคบ, เราจะรวบรวมเจ้าทั้งหลายเข้ามาเป็นแน่; . . . เราจะต้อนเขาให้มาอยู่ด้วยกันดุจฝูงแกะเข้าอยู่ในคอก, และเหมือนกับฝูงแกะอันอยู่ที่ทุ่งนาต่างก็จะส่งเสียงขรม, เนื่องด้วยมีจำนวนคนที่มากเหลือประมาณ.”—2:12.
11. (ก) ตอนนี้มีการประจานผู้ปกครองของยาโคบและยิศราเอลเช่นไร? (ข) มีคายอมรับอย่างไรในเรื่องแหล่งที่มาแห่งความกล้าหาญของท่าน?
11 ตอน 2 (3:1–5:15). มีคาดำเนินเรื่องต่อไปดังนี้: “โอ้ ท่านทั้งหลายผู้เป็นประมุขแห่งพวกยาโคบ, และบรรดาผู้ปกครองแห่งวงศ์วานยิศราเอล.” คำประจานอันเจ็บแสบมุ่งต่อพวกที่ “เกลียดความดี, และไปรักความชั่ว” ซึ่งกดขี่ประชาชน. พวกเขา “หักกะดูก, และสับเสียเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย.” (3:1-3) ที่รวมอยู่กับคนพวกนั้นก็มีพวกผู้พยากรณ์เท็จซึ่งไม่ให้การชี้นำที่แท้จริง ทำให้ไพร่พลของพระเจ้ากระจัดกระจายไป. จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญมากกว่าคนธรรมดาเพื่อจะประกาศข่าวนี้! แต่มีคากล่าวอย่างมั่นใจว่า “ส่วนข้าพเจ้าสมบูรณ์ไปด้วยฤทธิ์แห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวา, และความสามารถวินิจฉัยและความแกล้วกล้า, พร้อมที่จะชี้ให้พวกยาโคบรู้ความผิดของเขา, และให้พวกยิศราเอลเห็นบาปของตน.” (3:8) คำประจานของท่านต่อพวกผู้ปกครองที่มีความผิดฐานทำให้เลือดตกบรรลุจุดสุดยอดอย่างเจ็บแสบว่า “พวกตระลาการตัดสินความเห็นแก่สินบน, และปุโรหิตสั่งสอนเพราะเห็นแก่สินจ้าง, และพวกผู้ทำนายก็ทำนายเพราะเห็นแก่เงิน.” (3:11) ฉะนั้น ซีโอนจะถูกไถเหมือนทุ่งนา และยะรูซาเลมจะกลายเป็นแต่กองซากปรักหักพัง.
12. มีการให้คำพยากรณ์อันยิ่งใหญ่อะไรสำหรับ “สมัยสุดท้าย”?
12 ด้วยการหักมุมอย่างกะทันหันอีกครั้ง คำพยากรณ์เปลี่ยนเป็นเรื่อง “สมัยสุดท้าย” เพื่อพรรณนาอย่างยิ่งใหญ่และกระตุ้นใจถึงการฟื้นฟูการนมัสการพระยะโฮวาที่ภูเขาของพระองค์. (4:1) หลายชนชาติจะขึ้นไปเรียนรู้แนวทางของพระยะโฮวา ด้วยว่ากฎหมายและพระคำของพระองค์จะออกมาจากซีโอนและจากยะรูซาเลม. พวกเขาจะไม่เรียนยุทธศาสตร์อีกต่อไป แต่ต่างคนต่างจะนั่งอยู่ใต้เถาองุ่นและต้นมะเดื่อเทศของตน. พวกเขาจะไม่รู้สึกกลัว. จงปล่อยให้ชนชาติทั้งหลายติดตามพระของตน แต่ผู้นมัสการแท้จะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาพระเจ้าของเขา และพระองค์จะปกครองเป็นกษัตริย์เหนือพวกเขาตลอดไป. แต่ก่อนอื่น ซีโอนจะต้องตกเป็นเชลยที่บาบูโลน. ในคราวการฟื้นฟูของซีโอนเท่านั้นที่พระยะโฮวาจะบดขยี้ศัตรูของเขา.
13. ผู้ปกครองชนิดใดจะออกมาจากเบธเลเฮม และ “ชนที่เหลือของพวกยาโคบ” จะเป็นเหมือนกับอะไร?
13 ตอนนี้มีคาพยากรณ์ว่าผู้ปกครองในยิศราเอล “อันสืบเนื่องมาแต่กาลดึกดำบรรพ์” จะออกมาจากเบธเลเฮมเอฟราธา. ท่านจะปกครองเหมือน ‘ผู้เลี้ยงแกะด้วยพลานุภาพแห่งพระยะโฮวา’ และจะเป็นใหญ่ไม่เฉพาะในยิศราเอล แต่ “เป็นใหญ่เลื่องลือไปจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก.” (5:2, 4) ชาวอัสซีเรียผู้รุกรานจะประสบความสำเร็จเพียงชั่วครู่ เพราะเขาจะต้องถอยกลับและแผ่นดินของเขาจะร้าง. “ชนเดนเลือก [“ชนที่เหลือของ,” ล.ม.] พวกยาโคบ” จะเป็นเหมือน “น้ำค้างมาจากพระยะโฮวา” ท่ามกลางประชาชน และเหมือนสิงโตที่กล้าหาญท่ามกลางนานาชาติ. (5:7) พระยะโฮวาจะถอนรากถอนโคนการนมัสการเท็จและแก้แค้นนานาชาติที่ไม่เชื่อฟัง.
14. (ก) ตอน 3 ของพระธรรมมีคา เริ่มต้นด้วยการใช้อุปมาอะไร? (ข) ข้อเรียกร้องอะไรบ้างของพระยะโฮวาที่พวกยิศราเอลไม่บรรลุ?
14 ตอน 3 (6:1–7:20). บัดนี้ ฉากเหตุการณ์น่าตื่นเต้นในศาลถูกนำเสนอในแบบการสนทนา. พระยะโฮวาทรงมี “คดี” กับยิศราเอล และพระองค์ทรงเรียกให้เนินเขาและภูเขาทั้งหลายเป็นพยาน. (6:1) พระองค์ทรงท้ายิศราเอลให้เบิกความต่อสู้พระองค์ และพระองค์ทรงเล่าถึงการกระทำอันชอบธรรมของพระองค์เพื่อประโยชน์ของพวกเขา. พระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไรจากมนุษย์? ไม่ใช่การถวายบูชาสัตว์จำนวนมาก แต่เป็นการ “สำแดงความยุติธรรมและให้รักความกรุณาและให้เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้า [ของเขา].” (6:8, ล.ม.) นี่แหละคือสิ่งที่ขาดไปในยิศราเอล. แทนที่จะมีความยุติธรรมและความกรุณา กลับมีแต่ “ตราชูขี้ฉ้อ,” ความรุนแรง, การหลอกลวง, และเล่ห์กล. (6:11) แทนที่จะดำเนินกับพระเจ้าด้วยความเจียมตัว พวกเขากลับดำเนินในแนวทางชั่วช้าและการนมัสการรูปเคารพของอัมรีและอาฮาบซึ่งครองราชย์ในซะมาเรีย.
15. (ก) ผู้พยากรณ์โศกเศร้าเรื่องอะไร? (ข) พระธรรมมีคามีคำลงท้ายที่เหมาะสมอย่างไร?
15 ท่านผู้พยากรณ์รู้สึกโศกเศร้าเนื่องด้วยความเสื่อมทางศีลธรรมแห่งประชาชนของท่าน. แม้แต่ “คนซื่อตรงที่สุดของเขาก็ร้ายเสียยิ่งกว่ารั้วหนาม.” (7:4) มีการทรยศท่ามกลางเพื่อนสนิทและในครอบครัว. มีคาไม่หมดกำลังใจ. “ข้าฯ จะแสวงหาพระยะโฮวา ข้าฯ คอยท่าพระเจ้าแห่งความรอดของข้าฯ; พระเจ้าของข้าฯ จะทรงฟังข้าฯ.” (7:7) ท่านเตือนคนอื่น ๆ ไม่ให้รู้สึกยินดีที่พระยะโฮวาทรงลงโทษไพร่พลของพระองค์ เพราะการช่วยให้รอดจะมีมา. พระยะโฮวาทรงบำรุงเลี้ยงและประทานอาหารแก่ไพร่พลของพระองค์และจะทรงสำแดงให้พวกเขาเห็น “การมหัศจรรย์ต่าง ๆ” ซึ่งทำให้ชาติต่าง ๆ หวั่นกลัว. (7:15) ในตอนท้ายของพระธรรมนี้ มีคากล่าวซ้ำความหมายของชื่อท่านโดยสรรเสริญพระยะโฮวาเนื่องด้วยความรักกรุณาของพระองค์ที่ก่อความปลาบปลื้มยินดียิ่ง. ถูกแล้ว “ใครเล่าเป็นพระเจ้าเสมอเหมือนกับพระองค์.”—7:18.
เหตุที่เป็นประโยชน์
16. (ก) คำพยากรณ์ของมีคาปรากฏว่าเป็นประโยชน์อย่างไรในสมัยของฮิศคียา? (ข) คำพยากรณ์นี้มีคำเตือนสติที่ทรงพลังอะไรสำหรับสมัยปัจจุบัน?
16 เกือบ 2,700 ปีมาแล้ว คำพยากรณ์ของมีคาปรากฏว่า ‘เป็นประโยชน์สำหรับการว่ากล่าว’ อย่างยิ่ง เพราะกษัตริย์ฮิศคียาแห่งยูดาได้ตอบรับข่าวสารของท่านและได้นำชาตินี้ให้กลับใจและปฏิรูปศาสนา. (มีคา 3:9-12; ยิระ. 26:18, 19; เทียบกับ 2 กษัตริย์ 18:1-4.) ทุกวันนี้ คำพยากรณ์ที่มีขึ้นโดยการดลใจดังกล่าวยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น. ทุกคนที่ประกาศตัวว่าเป็นผู้นมัสการพระเจ้า จงฟังคำเตือนอย่างตรงไปตรงมาที่มีคามีต่อศาสนาเท็จ, การไหว้รูปเคารพ, การโกหก, และความรุนแรง! (มีคา 1:2; 3:1; 6:1) ที่ 1 โกรินโธ 6:9-11 เปาโลสนับสนุนคำเตือนเหล่านี้ ซึ่งท่านกล่าวว่าคริสเตียนแท้ได้รับการชำระให้สะอาดและจะไม่มีใครที่หมกมุ่นในกิจปฏิบัติดังกล่าวได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก. มีคา 6:8 (ล.ม.) บอกอย่างเรียบง่ายและชัดเจนว่า ข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาคือ ให้มนุษย์ดำเนินกับพระองค์ด้วยความยุติธรรม ความกรุณาและความเจียมตัว.
17. พระธรรมมีคาให้การหนุนกำลังใจอะไรแก่ผู้ที่รับใช้พระเจ้าภายใต้การกดขี่ข่มเหงและความยากลำบาก?
17 มีคาประกาศข่าวสารของท่านท่ามกลางชาติหนึ่งซึ่งแตกแยกถึงขนาดที่ “ศัตรูของใคร ๆ ก็อยู่ร่วมเรือนของเขาเอง.” บ่อยครั้ง คริสเตียนแท้ประกาศในสภาพการณ์คล้าย ๆ กัน และบางคนถึงกับเผชิญการทรยศและการข่มเหงอย่างขมขื่นภายในแวดวงครอบครัวของตนเอง. พวกเขาจำเป็นต้องคอยท่าพระยะโฮวา ‘พระเจ้าแห่งความรอดของเขา’ ด้วยความอดทนเสมอ. (มีคา 7:6, 7; มัด. 10:21, 35-39) เมื่อมีการกดขี่ข่มเหงหรือเมื่อเผชิญงานมอบหมายที่ยุ่งยาก ผู้ที่หมายพึ่งพระยะโฮวาด้วยความกล้าหาญจะเป็นเหมือนมีคาซึ่ง “สมบูรณ์ไปด้วยฤทธิ์แห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวา” ในการแจ้งข่าวสารของพระองค์. มีคากล่าวพยากรณ์ว่า ความกล้าหาญเช่นนั้นย่อมเห็นได้ชัดโดยเฉพาะใน “ชนเดนเลือก [“ชนที่เหลือของ,” ล.ม.] พวกยาโคบ.” คนเหล่านี้จะเป็นดุจ ‘สิงโตอยู่ในหมู่ประชาชาติ ท่ามกลางประชาชนเป็นอันมาก’ และในเวลาเดียวกันก็เป็นดุจน้ำค้างที่ก่อความสดชื่นและดุจน้ำฝนจากพระยะโฮวา. คุณสมบัติเหล่านี้ปรากฏชัดอย่างแน่นอนใน ‘พวกที่เหลืออยู่แห่งยิศราเอล (ยาโคบ)’ ซึ่งได้มาเป็นสมาชิกของประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรก.—มีคา 3:8; 5:7, 8; โรม 9:27; 11:5, 26.
18. คำพยากรณ์อะไรของมีคาที่เกี่ยวโยงกับการปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าโดยพระคริสต์เยซู?
18 การประสูติของพระเยซูที่เบธเลเฮมซึ่งเป็นจริงตามคำพยากรณ์ของมีคาไม่เพียงยืนยันว่า พระธรรมนี้มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า แต่ยังให้ความกระจ่างแก่บริบทของข้อนั้นด้วยว่าเป็นคำพยากรณ์เรื่องการมาแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าภายใต้พระคริสต์เยซู. พระเยซูทรงเป็นผู้นั้นแหละที่ปรากฏตัวออกมาจากเบธเลเฮม (บ้านแห่งขนมปัง) พร้อมกับผลประโยชน์ที่ให้ชีวิตสำหรับทุกคนที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาของพระองค์. พระองค์เป็นผู้นั้นที่ “เลี้ยงฝูงแกะของท่านด้วยพลานุภาพแห่งพระยะโฮวา” และจะเป็นใหญ่และสร้างสันติภาพจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลกท่ามกลางฝูงแกะของพระเจ้าที่ได้รับการฟื้นฟูและรวมอยู่ด้วยกัน.—มีคา 5:2, 4; 2:12; โย. 6:33-40.
19. (ก) การหนุนกำลังใจที่กระตุ้นความเชื่อเช่นไรมีไว้สำหรับผู้มีชีวิตอยู่ใน “สมัยสุดท้าย”? (ข) มีคายกย่องพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาอย่างไร?
19 จะพบการหนุนกำลังใจมากมายในคำพยากรณ์ของมีคาเกี่ยวกับ “สมัยสุดท้าย” เมื่อ “ประชาชนเป็นอันมาก” แสวงหาคำสั่งสอนจากพระยะโฮวา. “เขาทั้งหลายจะเอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา, และเอาหอกตีเป็นขอสำหรับลิดแขนง: ประเทศต่อประเทศจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้กัน, และเขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป. ต่างคนก็จะนั่งอยู่ใต้ซุ้มเถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน; และจะไม่มีอะไรมาทำให้เขาสะดุ้งกลัว: ด้วยว่า, พระโอษฐ์ของพระยะโฮวาเจ้าแห่งพลโยธาตรัสไว้อย่างนั้น.” โดยละทิ้งการนมัสการเท็จทั้งสิ้น พวกเขาร่วมกับมีคาในการยืนยันว่า “ส่วนเราจะประพฤติตามโอวาทแห่งพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจนตลอดไป.” จริงทีเดียว คำพยากรณ์ของมีคากระตุ้นให้เกิดความเชื่อด้วยการให้ภาพล่วงหน้าถึงเหตุการณ์สำคัญยิ่งเหล่านี้. พระธรรมนี้ยังโดดเด่นเช่นกันในการยกย่องพระยะโฮวาฐานะองค์บรมมหิศรและพระมหากษัตริย์ถาวร. ถ้อยคำนี้ช่างทำให้ตื่นเต้นจริง ๆ ที่ว่า “พระยะโฮวาจะทรงครอบครองเขาที่ภูเขาซีโอนตั้งแต่บัดนั้นจนชั่วกัลปาวสาน”!—มีคา 4:1-7; 1 ติโม. 1:17.
[เชิงอรรถ]
a ข้อความโบราณจากตะวันออกใกล้ (ภาษาอังกฤษ) เรียบเรียงโดย เจมส์ บี. พริตชาร์ด 1974 หน้า 284.
b พงศาวดารอัสซีเรียและบาบูโลน (ภาษาอังกฤษ) โดย เอ. เค. เกรย์สัน 1975 หน้า 73.
c ข้อความโบราณจากตะวันออกใกล้ (ภาษาอังกฤษ) 1974 หน้า 288; การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 894-895.