“อย่าได้อ่อนหย่อนกำลังมือของท่านลงเลย”
“อย่าได้อ่อนหย่อนกำลังมือของท่านลงเลย. พระยะโฮวาพระเจ้าของท่านก็สถิตอยู่ในท่ามกลางท่าน. พระองค์ประกอบด้วยฤทธิ์อันยิ่งก็จะช่วยให้รอด.”—ซะฟันยา 3:16, 17.
1. ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งกล่าวอย่างไรเรื่องคำพยากรณ์ของซะฟันยา?
คำพยากรณ์ของซะฟันยาชี้ไปไกลยิ่งกว่าความสำเร็จสมจริงที่เกิดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่เจ็ดและที่หกก่อนสากลศักราช. ในคำอธิบายพระธรรมซะฟันยาของศาสตราจารย์ซี. เอฟ. ไคล์ เขาเขียนว่า “คำพยากรณ์ของซะฟันยา . . . ไม่เพียงแต่เริ่มด้วยการประกาศการพิพากษาโลกทั้งสิ้น คือการพิพากษาซึ่งจะเกิดแก่แผ่นดินยูดาเนื่องด้วยบาปโทษของแผ่นดินนั้น และเกิดแก่โลกแห่งนานาชาติเนื่องด้วยการเป็นปฏิปักษ์ต่อไพร่พลของพระยะโฮวา แต่คำพยากรณ์นั้นเกี่ยวโยงโดยตลอดกับวันใหญ่อันน่าสยดสยองของพระยะโฮวา.”
2. มีความคล้ายคลึงอะไรระหว่างสถานการณ์สมัยซะฟันยากับสภาพการณ์ภายในคริสต์ศาสนจักรทุกวันนี้?
2 ทุกวันนี้ คำพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวาคือที่จะรวบรวมชาติต่าง ๆ เข้าสู่ความพินาศอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าสมัยซะฟันยา. (ซะฟันยา 3:8) ชาติเหล่านั้นที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนสมควรได้รับการตำหนิเป็นพิเศษในสายพระเนตรของพระเจ้า. ยะรูซาเลมได้รับโทษอย่างรุนแรงสืบเนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระยะโฮวาฉันใด คริสต์ศาสนจักรต้องให้คำตอบแก่พระเจ้าสำหรับการเสเพลอย่างผิดศีลธรรมของตนฉันนั้น. การประกาศคำพิพากษาของพระเจ้าต่อยูดาและยะรูซาเลมสมัยซะฟันยาย่อมใช้ได้ในขอบข่ายใหญ่โตด้วยซ้ำกับคริสตจักรและนิกายต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร. นอกจากนี้ พวกเขายังทำให้การนมัสการบริสุทธิ์เป็นมลทินโดยหลักคำสอนที่ลบหลู่พระเจ้า ซึ่งข้อเชื่อมากมายมีต้นตอมาจากศาสนานอกรีต. พวกเขาถวายบุตรชายสุขภาพแข็งแรงจำนวนหลายล้านคนเป็นบูชายัญบนแท่นบูชาสมัยใหม่อันได้แก่สงคราม. ยิ่งกว่านั้น ผู้คนที่อาศัยในองค์การซึ่งยะรูซาเลมเป็นภาพเล็งถึงได้ผสมผเสสิ่งที่เรียกว่าศาสนาคริสเตียนเข้ากับการดูชะตาราศี, กิจปฏิบัติเกี่ยวกับภูตผีปิศาจ, และการประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศที่ต่ำทรามซึ่งทำให้นึกถึงการนมัสการพระบาละ.—ซะฟันยา 1:4, 5.
3. อาจพูดได้อย่างไรในเรื่องผู้นำฝ่ายโลกหลายคนและรัฐบาลฝ่ายการเมืองหลายรัฐบาลสมัยนี้ และซะฟันยาได้พยากรณ์ไว้อย่างไร?
3 ผู้นำทางการเมืองหลายคนของคริสต์ศาสนจักรชอบที่จะให้ผู้คนเห็นเขาในโบสถ์. แต่คล้ายกันกับ “เจ้านายทั้งหลาย” ของยูดา พวกเขาจำนวนไม่น้อยเอาเปรียบประชาชนเหมือน “สิงโตเสียงดัง” และ “หมาใน” ตะกละ. (ซะฟันยา 3:1-3) คนช่างประจบทางการเมืองของบุคคลดังกล่าว “ทำเรือนของนายให้เต็มด้วยความร้ายกาจแลความคดโกง.” (ซะฟันยา 1:9) การติดสินบนและการทุจริตคดโกงมีแพร่หลาย. ส่วนรัฐบาลทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกคริสต์ศาสนจักร มีมากขึ้นที่ “พองตัวอวดอ้าง” ต่อต้านประชาชนของพระยะโฮวาแห่งพลโยธา ซึ่งเป็นพยานของพระองค์ ปฏิบัติกับพวกเขาประหนึ่ง “นิกาย” ที่น่าเหยียดหยาม. (ซะฟันยา 2:8; กิจการ 24:5, 14) เกี่ยวกับผู้นำทางการเมืองทั้งปวงเหล่านั้นพร้อมทั้งผู้สนับสนุน ซะฟันยาได้พยากรณ์ดังนี้: “เงินหรือทองของเขาทั้งหลายจะไม่มีกำลังช่วยไถ่เขาไว้ในวันพิโรธแห่งพระยะโฮวา, แต่แผ่นดินเมืองทั้งสิ้นจะต้องเผาเสียโดยไฟแห่งความพิโรธของพระองค์, ด้วยว่าพระองค์จะทรงสำเร็จโทษแก่ชาวเมืองนั้นโดยเร็วพลัน.”—ซะฟันยา 1:18.
“ถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา”
4. อะไรแสดงว่าจะมีผู้รอดชีวิตผ่านวันใหญ่ของพระยะโฮวา แต่พวกเขาต้องทำประการใด?
4 ไม่ใช่ทุกคนในแผ่นดินยูดาถูกทำลายล้างสมัยศตวรรษที่เจ็ดก่อนสากลศักราช. ทำนองเดียวกันก็จะมีผู้รอดชีวิตผ่านวันใหญ่ของพระยะโฮวา. พระยะโฮวาทรงแถลงผ่านซะฟันยาผู้พยากรณ์ของพระองค์เกี่ยวด้วยบุคคลดังกล่าวว่า “ก่อนที่พระราชกฤษฎีกาก่อให้เกิด สิ่งใด ก่อน วันนั้นล่วงไปดุจแกลบ ก่อนที่พระพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวาตกแก่เจ้า ชนทั้งหลาย ก่อนที่วันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวามาถึงเจ้า จงแสวงหาพระยะโฮวา เจ้าทั้งหลายที่อ่อนน้อมในแผ่นดินโลก ผู้ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของพระองค์เอง. จงแสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความอ่อนน้อม. ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.”—ซะฟันยา 2:2, 3, ล.ม.
5. ในยุคสุดท้ายนี้ใครเป็นพวกแรกที่ปฏิบัติตามคำเตือนของซะฟันยา และพระยะโฮวาได้ทรงใช้พวกเขาอย่างไร?
5 ในสมัยสุดท้ายของโลกนี้ พวกแรกที่ได้เชื่อฟังคำเตือนเชิงพยากรณ์ได้แก่ชนที่เหลือแห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ คริสเตียนผู้ถูกเจิม. (โรม 2:28, 29; 9:6; ฆะลาเตีย 6:16) เพราะการแสวงความชอบธรรมและความอ่อนน้อม อีกทั้งมีการแสดงความนับถือต่อการพิจารณาตัดสินของพระยะโฮวา พวกเขาจึงรับการช่วยให้รอดจากบาบูโลนใหญ่ จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ และได้กลับคืนสู่ความโปรดปรานของพระเจ้าในปี 1919. ตั้งแต่นั้นมา และโดยเฉพาะปี 1922 ชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์นี้ประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวาอย่างไม่หวั่นกลัวแก่คริสตจักรและนิกายต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรและแก่ชาติต่าง ๆ ทางการเมือง.
6. (ก) ซะฟันยาได้พยากรณ์เรื่องอะไรเกี่ยวกับชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์? (ข) คำพยากรณ์นี้ได้สำเร็จสมจริงอย่างไร?
6 ซะฟันยาได้พยากรณ์เกี่ยวด้วยชนที่เหลือที่สัตย์ซื่อนี้ว่า “เราจะเหลือไว้แต่ชนที่ถ่อมใจและเจียมตัวในท่ามกลางแห่งท่าน, แลเขาทั้งหลายจะปลงใจเชื่อในพระนามพระยะโฮวา. พวกยิศราเอลที่เหลืออยู่นั้นจะไม่ได้กระทำความชั่ว, หรือจะไม่กล่าวความเท็จ, หรือจะไม่มีลิ้นล่อลวงในปากของเขา, ด้วยว่าเขาทั้งหลายจะรับประทานอาหารแลจะนอนลง, แลจะหามีความกลัวต่อผู้ใดไม่.” (ซะฟันยา 3:12, 13) คริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้ได้เทิดพระนามของพระยะโฮวาให้ปรากฏเด่นเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปีสากลศักราช 1931 เมื่อพวกเขาได้รับเอาชื่อพยานพระยะโฮวา. (ยะซายา 43:10-12) โดยการเน้นประเด็นว่าด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาเป็นเรื่องเด่น พวกเขาได้ถวายเกียรติพระนามพระเจ้า และพระนามนั้นจึงเป็นที่คุ้มภัยสำหรับพวกเขา. (สุภาษิต 18:10) พระยะโฮวาทรงเลี้ยงพวกเขาด้วยอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างบริบูรณ์ และพวกเขาอาศัยอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณโดยปราศจากความกลัว.—ซะฟันยา 3:16, 17.
“มีชื่อแลได้ความสรรเสริญปรากฏในท่ามกลางประชาชน”
7, 8. (ก) คำพยากรณ์อะไรอีกได้สำเร็จสมจริงกับชนที่เหลือแห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ? (ข) ผู้คนหลายล้านได้มาตระหนักถึงสิ่งใด และความรู้สึกส่วนตัวของคุณต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร?
7 ความผูกพันอันล้ำลึกของชนที่เหลือต่อพระนามของพระยะโฮวาและต่อหลักการอันชอบธรรมแห่งพระคำของพระองค์หาได้รอดจากการสังเกตไม่. สุจริตชนมองเห็นความแตกต่างระหว่างการประพฤติของชนที่เหลือกับการทุจริตเสื่อมทราม และความหน้าซื่อใจคดของบรรดาผู้นำทางการเมืองและของผู้นำทางศาสนาของโลก. พระยะโฮวาได้ทรงอวยพร “พวกยิศราเอล [ฝ่ายวิญญาณ] ที่เหลืออยู่นั้น.” พระองค์โปรดให้เขามีเกียรติ โดยทรงมอบสิทธิพิเศษให้เขาถูกเรียกตามพระนามของพระองค์ และพระองค์ทรงบันดาลให้เขามีชื่อเสียงดีท่ามกลางชนประเทศทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก. ทั้งนี้เป็นจริงตามที่ซะฟันยาได้พยากรณ์ดังนี้: “พระยะโฮวาตรัสว่า, ในขณะนั้นเราจะเอาท่านทั้งหลายกลับเข้ามา, คือในเวลาที่เราจะประชุมท่านนั้น, ด้วยว่าเราจะกระทำให้ท่านทั้งหลายมีชื่อ, แลได้ความสรรเสริญปรากฏในท่ามกลางประชาชนทั้งปวงแห่งแผ่นดินโลก, เมื่อเราจะกลับคืนท่านทั้งหลายที่ต้องเป็นเชลยต่อหน้าท่าน.”—ซะฟันยา 3:20.
8 ตั้งแต่ปี 1935 โดยแท้แล้ว ผู้คนหลายล้านได้ตระหนักว่าชนที่เหลือได้รับพระพรจากพระยะโฮวา. พวกเขายินดีติดตามยิวหรือยิศราเอลฝ่ายวิญญาณเหล่านี้ ด้วยการพูดว่า “เราจะไปด้วยท่าน, เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.” (ซะคาระยา 8:23) “แกะอื่น” เหล่านี้รับรองชนที่เหลือผู้ถูกเจิมเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ซึ่งพระคริสต์ได้ทรงแต่งตั้งให้ “ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมด [ทางแผ่นดินโลก] ของนาย.” ด้วยความรู้สึกขอบพระคุณ แกะอื่นเหล่านี้ได้ร่วมรับประทานอาหารฝ่ายวิญญาณซึ่งชนจำพวกทาสจัดเตรียม “ตามเวลาที่สมควร.”—โยฮัน 10:16; มัดธาย 24:45-47, ล.ม.
9. ประชาชนหลายล้านคนได้เรียนพูด “ภาษา” อะไร และแกะอื่นกำลังรับใช้ “เคียงบ่าเคียงไหล่กัน” กับชนที่เหลือผู้ถูกเจิมทำงานสำคัญอะไร?
9 เคียงข้างกับชนที่เหลือ แกะอื่นเหล่านี้หลายล้านคนกำลังเรียนที่จะดำเนินชีวิตและพูดประสานสอดคล้องกับ “ภาษาบริสุทธิ์.”a พระยะโฮวาตรัสพยากรณ์ผ่านซะฟันยาดังนี้: “ตอนนั้นเราจะให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์แก่ประชาชน เพื่อเขาทุกคนจะได้ร้องถึงพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.” (ซะฟันยา 3:9, ล.ม.) ใช่, แกะอื่นรับใช้พระยะโฮวา “เคียงบ่าเคียงไหล่กัน” อย่างพร้อมเพรียงร่วมกับสมาชิกผู้ถูกเจิมแห่ง “ฝูงเล็ก” ทำงานอันเร่งด่วนคือการประกาศ “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร . . . เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ.”—ลูกา 12:32; มัดธาย 24:14, ล.ม.
“วันของพระยะโฮวาจะมา”
10. ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมเชื่อมั่นในเรื่องใดเสมอมา และในฐานะเป็นกลุ่มชน พวกเขาจะมีชีวิตทันได้เห็นอะไร?
10 ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมรำลึกถึงถ้อยแถลงที่อัครสาวกเปโตรได้รับการดลใจนั้นอยู่เสมอที่ว่า “พระยะโฮวาไม่ได้ทรงเฉื่อยช้าในเรื่องคำสัญญาของพระองค์เหมือนบางคนถือว่าช้านั้น แต่พระองค์อดกลั้นพระทัยกับท่านทั้งหลาย เพราะพระองค์ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่. กระนั้น วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนอย่างขโมย.” (2 เปโตร 3:9, 10, ล.ม.) สมาชิกแห่งชนจำพวกทาสไม่เคยสงสัยว่าวันของพระยะโฮวาจะมาในสมัยของเรา. วันใหญ่นั้นจะเริ่มขึ้นด้วยการสำเร็จโทษตามคำพิพากษาของพระเจ้าต่อคริสต์ศาสนจักร ซึ่งยะรูซาเลมเป็นภาพเล็งถึง และส่วนที่เหลือของบาบูโลนใหญ่.—ซะฟันยา 1:2-4; วิวรณ์ 17:1, 5; 19:1, 2.
11, 12. (ก) ส่วนไหนอีกของคำพยากรณ์ของซะฟันยาสำเร็จสมจริงไปแล้วกับชนที่เหลือ? (ข) ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมได้ปฏิบัติตามคำเตือน “อย่าได้อ่อนหย่อนกำลังมือของท่านลงเลย” โดยวิธีใด?
11 ชนที่เหลือผู้สัตย์ซื่อต่างก็ปีติยินดีที่ได้รับการปลดปล่อยฝ่ายวิญญาณ จากสภาพเชลยของบาบูโลนใหญ่ จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จในปี 1919. พวกเขาได้ประสบความสำเร็จสมจริงตามคำพยากรณ์ของซะฟันยาที่ว่า “โอ้บุตรีแห่งซีโอน, จงร้องเพลงชื่นใจ, โอ้พวกยิศราเอล, จงร้องเสียงกึกก้อง, โอ้บุตรีแห่งยะรูซาเลม, จงยินดี, แลอภิรมย์ด้วยเต็มกำลังใจของท่านเถิด. พระยะโฮวาได้ยกเอาบรรดาการพิพากษากระทำโทษกลับคืนจากท่านทั้งหลาย, พระองค์ได้ทรงขับไล่หมู่ศัตรูออกเสียจากท่าน, กษัตริย์แห่งพวกยิศราเอล, คือพระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ในท่ามกลางท่าน, ท่านจะไม่ได้เห็นการชั่วร้ายอีกเลย. ในวันนั้นจะมีผู้กล่าวแก่ยะรูซาเลมว่า, ท่านอย่าได้กลัวเลย, แลแก่ซีโอนว่า, อย่าได้อ่อนหย่อนกำลังมือของท่านลงเลย. พระยะโฮวาพระเจ้าของท่านก็สถิตอยู่ในท่ามกลางท่าน, พระองค์ประกอบด้วยฤทธิ์อันยิ่งก็จะช่วยให้รอด.”—ซะฟันยา 3:14-17.
12 ด้วยความมั่นใจและหลักฐานยืนยันมากมายซึ่งพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาสถิตท่ามกลางพวกเขา ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมได้รุดหน้าต่อไปโดยไม่หวาดหวั่นเพื่อทำงานตามการมอบหมายจากพระเจ้าให้สำเร็จ. พวกเขาได้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร อีกทั้งได้ประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวาแก่คริสต์ศาสนจักร, แก่ส่วนที่เหลือของบาบูโลนใหญ่, และแก่ระบบชั่วทั้งหมดของซาตาน. ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด ตลอดเวลาหลายสิบปีตั้งแต่ปี 1919 พวกเขาเชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้าที่ว่า “ท่านอย่าได้กลัวเลย, แลแก่ซีโอนว่า, อย่าได้อ่อนหย่อนกำลังมือของท่านลงเลย.” พวกเขาขยันขันแข็งประกาศข่าวราชอาณาจักรของพระยะโฮวา ด้วยการจ่ายแจกแผ่นพับ, วารสาร, หนังสือปกแข็ง, และเล่มเล็กหลายพันล้านเล่ม. พวกเขาเป็นตัวอย่างที่เสริมสร้างความเชื่อสำหรับจำพวกแกะอื่น ซึ่งได้พากันเข้ามาอยู่เคียงข้างพวกเขาตั้งแต่ปี 1935.
“อย่าได้อ่อนหย่อนกำลังมือของท่าน ลงเลย”
13, 14. (ก) ทำไมชาวยิวบางคนได้เลิกรับใช้พระยะโฮวา และการเช่นนี้ปรากฏให้เห็นอย่างไร? (ข) สำหรับพวกเราแล้วคงไม่ฉลาดนักที่จะทำอะไร และพวกเราไม่ควรจะให้กำลังมือของเราอ่อนหย่อนไปในงานอะไร?
13 ขณะที่พวกเรา “คอยท่า” วันใหญ่ของพระยะโฮวา เราจะนำเอาการช่วยเหลือจากคำพยากรณ์ของซะฟันยามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร? ประการแรก เราควรระมัดระวังจะไม่ประพฤติเยี่ยงชาวยิวสมัยซะฟันยาที่เลิกติดตามพระยะโฮวา เนื่องจากพวกเขามีความสงสัยในเรื่องการคืบใกล้เข้ามาแห่งวันของพระยะโฮวา. ชาวยิวเหล่านั้นถึงแม้ไม่แสดงความสงสัยอย่างเปิดเผยก็ตาม แต่การกระทำของเขาแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว เขาไม่เชื่อว่าวันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา. พวกเขามุ่งจดจ่ออยู่กับการสะสมทรัพย์สมบัติ แทนที่จะคอยท่าพระยะโฮวาอยู่เสมอ.—ซะฟันยา 1:12, 13; 3:8.
14 ทุกวันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะปล่อยให้ความสงสัยหยั่งรากในหัวใจของเรา. คงไม่ฉลาดนักถ้าในจิตใจหรือหัวใจของเราคิดว่าอีกนานกว่าวันของพระยะโฮวาจะมา. (2 เปโตร 3:1-4, 10, ล.ม.) เราควรหลีกเลี่ยงการเลิกติดตามพระยะโฮวา หรือ ‘อ่อนหย่อนกำลังมือของเราลง’ ในงานรับใช้พระองค์. ทั้งนี้รวมไปถึงการจะไม่ “ทำการด้วยมือเกียจคร้าน” ในการเผยแพร่ “ข่าวดี.”—สุภาษิต 10:4; มาระโก 13:10, ล.ม.
ต่อสู้กับความเฉยเมย
15. อะไรอาจเป็นสาเหตุให้เราหย่อนมือในงานรับใช้พระยะโฮวา และปัญหานี้มีบอกล่วงหน้าอย่างไรในคำพยากรณ์ของซะฟันยา?
15 ประการที่สอง เราพึงระมัดระวังผลกระทบของความเฉยเมยที่บั่นทอนกำลัง. ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ ความเฉยเมยต่อเรื่องต่าง ๆ ฝ่ายวิญญาณอาจเป็นเหตุให้ผู้เผยแพร่ข่าวดีบางคนรู้สึกท้อแท้. ความเฉยเมยเช่นนี้มีในสมัยซะฟันยา. พระยะโฮวาทรงแถลงผ่านผู้พยากรณ์ของพระองค์ดังนี้: “เราจะ . . . ลงโทษแก่คนทั้งหลาย . . . ที่พูดในใจของเขาทั้งหลายว่า, พระยะโฮวาจะทำดีหรือจะกระทำชั่วก็หามิได้.” (ซะฟันยา 1:12) ในการเขียนเกี่ยวกับข้อความเหล่านี้ในคัมภีร์ไบเบิลของเคมบริดจ์สำหรับโรงเรียนและวิทยาลัย (ภาษาอังกฤษ) เอ. บี. เดวิดสัน ได้ชี้แจงว่า เป็นข้อความที่พาดพิงถึงผู้คนที่ “จมอยู่ในสภาพเฉยเมยไม่รู้ร้อนรู้หนาวหรือกระทั่งไม่เชื่อเสียด้วยซ้ำว่าพระเจ้าจะทรงดำเนินการแทรกแซงกิจการของมนุษยชาติ.”
16. สภาพทางจิตใจท่ามกลางสมาชิกนิกายต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรเป็นเช่นไร แต่พระยะโฮวาทรงให้การหนุนกำลังใจพวกเราอย่างไร?
16 ทุกวันนี้ ท่าทีส่อลักษณะเฉยเมยแพร่หลายอยู่ในหลายภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ค่อนข้างมีความเจริญมั่งคั่ง. แม้แต่สมาชิกคริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรก็ไม่เชื่อว่า พระเจ้ายะโฮวาจะเข้าแทรกแซงกิจการของมนุษย์สมัยนี้. พวกเขาบอกปัดความพยายามของเราที่จะนำข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไปบอกเขา ถ้าไม่ยิ้มเยาะด้วยท่าทีสงสัยก็จะพูดห้วน ๆ ว่า “ฉันไม่สนใจ!” เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว งานให้คำพยานอาจเป็นสิ่งท้าทายความอดทนอย่างแท้จริง. นั่นเป็นการทดสอบความอดทนของเรา. แต่โดยอาศัยคำพยากรณ์ของซะฟันยา พระยะโฮวาทรงเพิ่มกำลังเรี่ยวแรงแก่ไพร่พลที่สัตย์ซื่อของพระองค์โดยตรัสว่า “อย่าได้อ่อนหย่อนกำลังมือของท่านลงเลย. พระยะโฮวาพระเจ้าของท่านก็สถิตอยู่ในท่ามกลางท่าน, พระองค์ประกอบด้วยฤทธิ์อันยิ่งก็จะช่วยให้รอด, พระองค์จะชอบพระทัยในท่านด้วยความยินดี, พระองค์จะทรงนิ่งอยู่ในความรักของพระองค์, พระองค์จะอภิรมย์ในท่านด้วยเสียงร้องยินดี.”—ซะฟันยา 3:16, 17.
17. คนใหม่ในท่ามกลางแกะอื่นพึงติดตามตัวอย่างอันดีอะไร และอย่างไร?
17 เป็นความจริงในประวัติศาสตร์พยานพระยะโฮวายุคปัจจุบันที่ว่า ชนที่เหลือ รวมทั้งผู้สูงอายุท่ามกลางแกะอื่น ได้บรรลุผลในงานรวบรวมอันน่าอัศจรรย์ในสมัยสุดท้ายนี้. คริสเตียนสัตย์ซื่อเหล่านี้ทุกคนได้อดทนมาตลอดหลายสิบปี. พวกเขาไม่ปล่อยให้อาการเฉยเมยของคนส่วนใหญ่ในคริสต์ศาสนจักรเป็นเหตุทำให้ท้อแท้. ดังนั้น ขอให้คนใหม่ทั้งหลายในท่ามกลางแกะอื่นอย่าได้หมดกำลังใจเนื่องจากอาการเฉยเมยต่อเรื่องต่าง ๆ ฝ่ายวิญญาณซึ่งกำลังมีแพร่หลายอยู่ในหลายประเทศเวลานี้. ขอพวกเขาอย่าได้ ‘อ่อนหย่อนกำลังมือลง’ หรือเฉื่อยลง. ขอพวกเขาจงใช้ทุกโอกาสเสนอวารสารหอสังเกตการณ์, ตื่นเถิด!, แลหนังสืออื่น ๆ ของสมาคมซึ่งได้ออกแบบเฉพาะเพื่อช่วยบุคคลเยี่ยงแกะเรียนรู้ความจริงเรื่องวันของพระยะโฮวา และพระพรมากมายที่จะติดตามมา.
มุ่งหน้าต่อไปขณะคอยท่าวันใหญ่นั้น!
18, 19. (ก) เราพบคำพูดอะไรในมัดธาย 24:13 และยะซายา 35:3, 4 ที่หนุนกำลังใจเราให้อดทน? (ข) พวกเราจะได้รับพระพรเช่นไรหากเรามุ่งหน้ารับใช้พระยะโฮวาด้วยความพร้อมเพรียง?
18 พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดที่ได้อดทนจนถึงที่สุด ผู้นั้นจะได้รับการช่วยให้รอด.” (มัดธาย 24:13, ล.ม.) ฉะนั้น ไม่มี “มือที่อ่อนแอ” หรือ “หัวเข่าที่สั่น” ขณะเราคอยท่าวันใหญ่ของพระยะโฮวา! (ยะซายา 35:3, 4, ล.ม.) คำพยากรณ์ของซะฟันยาให้ความมั่นใจเมื่อกล่าวเกี่ยวกับพระยะโฮวา: “พระองค์ประกอบด้วยฤทธิ์อันยิ่งก็จะช่วยให้รอด.” (ซะฟันยา 3:17) ใช่แล้ว พระยะโฮวาจะทรงช่วย “ชนฝูงใหญ่” ให้รอดผ่านช่วงสุดท้ายของ “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” เมื่อพระองค์ทรงบัญชาพระบุตรให้ตีชาติต่าง ๆ แตกย่อยยับซึ่ง “พองตัวอวดอ้าง” ต่อต้านไพร่พลของพระองค์.—วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.; ซะฟันยา 2:10, 11; บทเพลงสรรเสริญ 2:7-9.
19 ขณะวันใหญ่ของพระยะโฮวาคืบใกล้เข้ามา ขอเราจงมุ่งหน้าอย่างกระตือรือร้น รับใช้พระองค์ “เคียงบ่าเคียงไหล่กัน”! (ซะฟันยา 3:9, ล.ม.) เมื่อเราทำเช่นนั้น ตัวเราเองและคนอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วนจะอยู่ในฐานะที่จะ “ถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา” และรู้เห็นเป็นพยานถึงการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.—ซะฟันยา 2:3, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a เพื่อจะพิจารณาเรื่อง “ภาษาบริสุทธิ์” ให้เต็มที่ ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 เมษายน 1991 หน้า 20-25 และฉบับ 1 พฤษภาคม 1991 หน้า 10-20.
เพื่อเป็นการทบทวน
▫ สภาพการณ์ด้านศาสนาภายในคริสต์ศาสนจักรตรงกับสภาพการณ์สมัยซะฟันยาในแง่ไหน?
▫ ผู้นำทางการเมืองหลายคนคล้ายกันกับ “เจ้านายทั้งหลาย” สมัยซะฟันยาอย่างไร?
▫ คำสัญญาอะไรในพระธรรมซะฟันยาได้มาสำเร็จสมจริงกับชนที่เหลือ?
▫ ผู้คนหลายล้านได้มาตระหนักถึงสิ่งใด?
▫ ทำไมเราไม่ควรหย่อนกำลังมือของเราในงานรับใช้พระยะโฮวา?
[รูปภาพหน้า 15]
เช่นเดียวกับซะฟันยา ชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์แห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้ประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวาอย่างไม่หวั่นกลัว
[รูปภาพหน้า 18]
“แกะอื่น” ไม่ยอมให้อาการเฉยเมยของผู้คนเป็นเหตุทำให้เขาท้อแท้