ภาษาบริสุทธิ์สำหรับชนทุกชาติ
“ตอนนั้นเราจะให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์แก่ประชาชน เพื่อเขาทุกคนจะได้ร้องถึงพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.”—ซะฟันยา 3:9, ล.ม.
1, 2. (ก) เพื่อให้สมจริงตามคำกล่าวในซะฟันยา 3:9 พระยะโฮวาทรงดำเนินการอะไรในสมัยนี้? (ข) ที่จะเข้าใจว่าคำพยากรณ์ของซะฟันยากระทบกระเทือนเราอย่างไรนั้น คำถามอะไรบ้างที่ต้องได้รับคำตอบ?
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสัมฤทธิ์ผลในสมัยของเราซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์จริง ๆ. พระองค์ทรงนำประชาชนจากทุกชาติให้เข้ามาเป็นเอกภาพ. ดังที่พระองค์ตรัสไว้นานมาแล้วในพระคำศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงกระทำงานนี้โดยการสอนภาษาใหม่แก่พวกเขา.—ซะฟันยา 3:9.
2 ภาษาใหม่นี้ได้แก่อะไร? ทำไมเป็นสิ่งจำเป็น? การเรียนภาษาใหม่นี้เรียกร้องอะไรจากพวกเราแต่ละคน?
การพูดเป็นของประทาน
3. (ก) อาดามได้รับมอบของประทานอะไรที่วิเศษยิ่ง? (ข) อาดามพูดภาษาอะไร?
3 ความสามารถที่จะสื่อความหมายโดยการพูดนั้นเป็นของประทานจากพระเจ้า ซึ่งทำให้มนุษย์ต่างไปจากสัตว์ทั้งปวง. อาดามมนุษย์คนแรกถูกสร้างขึ้นพร้อมกับจิตใจที่ประกอบด้วยสมรรถนะในการคิดอ่านด้วยเชาวน์ปัญญา. พระเจ้าทรงประสิทธิประสาทเอ็นเสียงในลำคอ ลิ้นและริมฝีปากเพื่อมนุษย์จะพูดเป็นถ้อยคำได้ ทั้งประสิทธิประสาทคำศัพท์พร้อมกับความสามารถที่จะสร้างคำใหม่ด้วย. อาดามสามารถเข้าใจเมื่อพระยะโฮวาตรัสแก่เขา ส่วนอาดามสามารถแสดงความคิดออกด้วยถ้อยคำ. (เยเนซิศ 1:28-30; 2:16, 17, 19-23) ภาษาพูดที่พระเจ้าประสาทแก่อาดามนั้นดูเหมือนในเวลาต่อมารู้จักกันว่าภาษาฮีบรู. เป็นเวลาอย่างน้อย 1,757 ปีแรกที่มนุษย์ได้มีชีวิต มนุษย์ทั้งปวงยังคงพูดภาษาเดียว.—เยเนซิศ 11:1.
4. เหตุการณ์ในสมัยนิมโรดส่งผลกระทบภาษาของมนุษย์อย่างไร?
4 ครั้นมาถึงสมัยนิมโรด เพื่อขัดขวางความพยายามของคนชั่ว พระยะโฮวาทรงบันดาลภาษาพูดของทุกคนซึ่งยอมอยู่ในความควบคุมให้ร่วมสร้างหอบาเบลนั้นต้องสับสนวุ่นวายไป. (เยเนซิศ 11:3-9) ดูเหมือนว่าทีแรกพระยะโฮวาได้ลบความจำทางด้านภาษาซึ่งเขาเข้าใจอยู่ก่อน แล้วต่อมาทรงใส่ภาษาใหม่ลงในใจของเขา. ทั้งนี้คงไม่เพียงแต่คำศัพท์ใหม่แต่ไวยากรณ์ใหม่และรูปแบบการคิดใหม่ ๆ ด้วย. จากภาษาต่าง ๆ ซึ่งพระยะโฮวาบันดาลให้มีขึ้นที่หอบาเบลนั้น จึงเกิดภาษาอื่น ๆ จนถึงทุกวันนี้ ตามการแถลงของวิทยาลัยด้านภาษา ทั่วโลกมีภาษาพูดมากกว่าสามพันภาษา.
5. เราจะตัดสินใจได้อย่างไรว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับ “การเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์”?
5 สำหรับประชาชนซึ่งขณะนี้พูดภาษาต่าง ๆ เหล่านี้ “การเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์” จะทำให้เขาต้องเลิกพูดภาษาของตัวเองและหันมาเรียนภาษาดั้งเดิมตามที่พระเจ้าประทานแก่อาดามไหม? สภาพการณ์สมัยที่มีการกล่าวพยากรณ์ข้อนี้จะช่วยตอบคำถามนี้.
ความจำเป็นต้องมีภาษาบริสุทธิ์
6-8. (ก) สภาพทางศาสนาในแผ่นดินยูดาเป็นเช่นไรก่อนให้คำพยากรณ์ไว้ที่ซะฟันยา 3:9? (ข) ทัศนะเช่นไรแพร่หลายอยู่ในท่ามกลางชาติต่าง ๆ รอบแผ่นดินยูดา?
6 แผ่นดินยูดามีมะนาเซปกครองอยู่ก่อน ต่อมาปกครองโดยกษัตริย์อาโมนผู้ซึ่งได้ตั้งแท่นบูชาสำหรับพระบาละ ใช้เวทมนต์และส่งเสริมกิจปฏิบัติเกี่ยวข้องกับวิญญาณชั่ว. (2 กษัตริย์ 21:1-6; 2 โครนิกา 33:21-23) ผลที่ตามมาคือในรัชกาลของโยซียา ราชโอรสผู้สืบตำแหน่ง พระยะโฮวาทรงมอบหมายซะฟันยาผู้พยากรณ์ให้เตือนถึงการพิพากษาของพระเจ้าเพื่อสำเร็จโทษแผ่นดินนั้น.—ซะฟันยา 1:1, 2.
7 แม้ชาวยูดารู้จากประวัติศาสตร์ชาติของตัวเองและจากพระคัมภีร์ที่เขียนโดยการดลบันดาลว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ แต่พวกเขาก็ยังหมกมุ่นอยู่กับพิธีกรรมบูชาพระบาละอย่างผิดศีลธรรม. พวกเขาโค้งตัวคำนับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลายแห่งจักรราศีซึ่งเป็นการละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าโดยตรง. (พระบัญญัติ 4:19; 2 กษัตริย์ 23:5) ยิ่งกว่านั้น พวกเขาต่างก็มีส่วนในการรวมความเชื่อ ประพฤติปฏิบัติเหมือนกับว่าทุกศาสนาเหมือนกันหมด โดยกล่าวคำสาบานต่อทั้งพระยะโฮวาและในนามพระเท็จมิลโคมอีกด้วย. เขามีท่าทีอย่างนี้: “พระยะโฮวาจะทำดีหรือจะกระทำชั่วก็หามิได้.” (ซะฟันยา 1:4-6, ฉบับแปลใหม่, 12) ส่วนชาติอื่น ๆ ที่อยู่รอบแผ่นดินยูดา ต่างก็มีประวัติว่าเคยต่อต้านพระยะโฮวาและพลไพร่ของพระองค์มาแล้วทั้งนั้น ฉะนั้น พวกเขาก็เช่นเดียวกัน อยู่ในข่ายที่ต้องรับโทษตามความยุติธรรมของพระเจ้า.—ซะฟันยา 2:4-15.
8 นี้แหละคือเบื้องหลังสถานการณ์เมื่อพระยะโฮวาได้ตรัสล่วงหน้าว่าพระองค์จะ “ให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์แก่ประชาชนเพื่อเขาทุกคนจะได้ร้องถึงพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.” (ซะฟันยา 3:9, ล.ม.) เช่นนั้นแล้ว ภาษาบริสุทธิ์คืออะไร?
9. (ก) ทำไมภาษาบริสุทธิ์จึงไม่ใช่ภาษาฮีบรูหรือไม่ใช่เป็นเพียงพระคำของพระเจ้าที่ถูกจารึกไว้? (ข) ภาษาบริสุทธิ์คืออะไร และส่งผลกระทบชีวิตผู้คนที่พูดภาษานี้อย่างไร?
9 ภาษาฮีบรูหรือ? เปล่า ชาวยูดายพูดภาษานี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาพูดและกระทำก็แจ้งชัดว่าไม่บริสุทธิ์และซื่อตรงในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. และภาษาบริสุทธิ์ไม่ใช่เป็นเพียงพระคำของพระเจ้าที่ถูกจารึกไว้เท่านั้น. เขามีพระคำของพระเจ้าด้วย. แต่สิ่งที่เขาขาดคือความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องสัจธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ และมีแต่พระยะโฮวาเท่านั้นสามารถจัดเตรียมสิ่งนั้นได้โดยพระวิญญาณของพระองค์. เมื่อพวกเขาเรียนพูดภาษาบริสุทธิ์ การคิด การพูด การประพฤติของเขาจะรวมจุดอยู่ที่การยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้แต่องค์เดียว. (ซะฟันยา 2:3) พวกเขาจะไว้วางใจในพระองค์และจะสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระองค์อย่างเต็มที่. เรื่องนี้น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับพวกเราสมัยนี้. ทำไม?
คนเหล่านั้นได้ที่รับภาษาบริสุทธิ์
10. คำพยากรณ์ดังจารึกที่ซะฟันยา 3:9 สำเร็จสมจริงในสมัยไหน?
10 เพื่อแสดงถึงความสมจริงตามคำพยากรณ์ในช่วงเวลาเฉพาะ ซะฟันยา 3:9 (ล.ม.) ว่าอย่างนี้: “เพราะตอนนั้น เราจะให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษบริสุทธิ์แก่ประชาชน.” นั้นเป็นตอนไหน? ข้อ 8 ให้คำตอบว่าเป็นช่วงเวลาที่พระยะโฮวา ‘จะประชุมนานาประเทศ’ ก่อนพระองค์ ‘เทความพิโรธอันร้อนแรงลงบนพวกเขา’ ตอนนั้นแหละพระองค์จะทรงให้คนใจถ่อมแห่งแผ่นดินโลกเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์.
11. (ก) ซะฟันยา 3:9 สำเร็จสมจริงแล้วสองคราวอย่างไรก่อนสมัยนี้? (ข) ความสำเร็จสมจริงสมัยนี้ต่างกันอย่างไร?
11 ในรัชกาลของกษัตริย์โยซียา ก่อนพระยะโฮวาทรงใช้กองทัพบาบูโลนสำเร็จโทษแทนพระองค์ หลายคนพากันละทิ้งการนมัสการเท็จ แล้วหันกลับมารับใช้พระยะโฮวา. (2 โครนิกา 34:3-33) และอีกครั้งหนึ่ง ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ก่อนยะรูซาเลมถูกกองทัพโรมันทำลาย ผู้คนจำนวนหลายพันได้เรียนความจริงเรื่องพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ แล้วพร้อมใจกันรับใช้พระองค์. คราวนั้นภาษาแห่งความจริงได้รับการเพิ่มเติมอีกมากมายโดยสิ่งต่าง ๆ ซึ่งพระเยซูทรงกระทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระยะโฮวา. แต่มาในสมัยของเรานี้เอง คำพยากรณ์ของซะฟันยากำลังสำเร็จสมจริงอยู่ทั่วโลก. เวลานี้ทุกชาติกำลังถูกรวบรวมเข้าสู่สงครามในวันใหญ่แห่งพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ ณ อาร์มาเก็ดดอน. (วิวรณ์ 16:14, 16) งานรวบรวมดังกล่าวได้ดำเนินอยู่ตั้งแต่ปี 1914 เมื่อมีการสถาปนาราชอาณาจักร. และในช่วงเดียวกันนี้แหละพระยะโฮวาทรงประทานภาษาบริสุทธิ์แก่ชนชาวประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสมจริงตามคำพยากรณ์ข้อนี้. การเรียนรู้ภาษาบริสุทธิ์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะผู้ที่จะรอดชีวิตผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่ซึ่งจะมาถึงเป็นประชาชนผู้ซึ่งได้ทำให้ภาษาบริสุทธิ์เป็นภาษาของเขา อย่างแท้จริง.—โยเอล 2:32.
12. (ก) นิมิตที่บันทึกไว้ในยะซายาบท 6 เกี่ยวข้องอย่างไรกับภาษาบริสุทธิ์? (ข) ทำไมชนที่เหลือต้องการความช่วยเหลือ หากพวกเขาจะเป็นที่รับรองไว้สำหรับงานรับใช้พระยะโฮวาต่อไป?
12 ตรงกับเรื่องนี้ ช่วงต้นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พระยะโฮวาทรงบันดาลใจผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระองค์ให้เข้าใจนิมิตประหลาดล้ำตามที่บันทึกไว้ในยะซายาบท 6. (ข้อ 1-4) นิมิตนี้เน้นความสำคัญว่าด้วยการมีริมฝีปากสะอาดเพื่อการรับใช้พระยะโฮวาอย่างที่ยอมรับได้. นิมิตนี้แสดงว่าพระยะโฮวาเป็นองค์บริสุทธิ์ในระดับสูงที่สุด. ผู้รับใช้ของพระองค์ก็ต้องสะท้อนคุณลักษณะนี้เช่นกัน. (1 เปโตร 1:15, 16) แต่ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมต้องได้รับการช่วยเหลือในเรื่องนี้. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 พวกเขาปล่อยตัวเกลือกกลั้วมลทินโดยเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ของโลก. “ความเกรงกลัวพระยะโฮวาสะอาดหมดจด” แต่พวกเขากลับปล่อยให้ความกลัวหน้ามนุษย์และองค์การต่าง ๆ ของมนุษย์ส่งผลกระทบถึงริมฝีปากของเขา ทำให้เขาเลิกประกาศพระคำของพระเจ้าเป็นส่วนมาก. (บทเพลงสรรเสริญ 19:9) โดยการติดต่อกับคริสต์ศาสนจักร ชนที่เหลือก็ยังคงมีรอยเปื้อนของประเพณีนิยมและกิจปฏิบัติบางอย่างแห่งคริสต์ศาสนจักร.
13, 14. (ก) โดยวิธีใดชนที่เหลือแสดงออกซึ่งทัศนะอันถูกต้อง และพระยะโฮวาทรงปฏิบัติการอย่างไรเพื่อเห็นแก่พวกเขา? (ข) พระยะโฮวาทรงประทานภาษาบริสุทธิ์แก่ชนที่เหลือโดยวิธีใด?
13 เมื่อตระหนักถึงสภาพการณ์ของตน ชนที่เหลือก็ได้กล่าวอย่างผู้พยากรณ์ยะซายาว่า “วิบัติแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้สิ้นสุดไปเสียแล้ว เพราะข้าพเจ้าเป็นคนผู้มีริมฝีปากไม่สะอาด และข้าพเจ้าได้อาศัยอยู่ท่ามกลางมนุษย์ที่มีริมฝีปากไม่สะอาด เพราะตาของข้าพเจ้าได้เห็นกษัตริย์ คือพระยะโฮวาแห่งพลโยธา!” (ยะซายา 6:5) พวกเขาสำนึกว่าสถานภาพของตนไม่เป็นที่ทรงยอมรับ. พวกเขาไม่ได้ฝืนไปในทางผิดหรือดึงดันไม่ยอมรับการว่ากล่าวตีสอนจากพระยะโฮวา. เขาไม่ได้สมทบกับนักเทศน์นักบวชเมื่อคนเหล่านี้ซึ่งดีแต่พูดเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า ครั้นแล้วก็สรรเสริญเยินยอสันนิบาตชาติประหนึ่งเป็นราชอาณาจักรนั้นทีเดียว.
14 เนื่องด้วยท่าทีของชนที่เหลือผู้ถ่อมใจที่สำนึกผิด พระยะโฮวาด้วยความกรุณาอันไม่พึงได้รับได้ทรงชำระริมฝีปากของเขา. ยะซายา 6:6, 7 บอกเราว่า “ในขณะนั้นเซราฟิมรูปหนึ่งบินมายังข้าพเจ้า มือถือหินร้อนแดงซึ่งท่านใช้คีมหยิบขึ้นมาจากแท่นบูชา. และได้เอาก้อนหินนั้นมาแตะต้องปากของข้าพเจ้า กล่าวว่า ‘นี่แน่ะ! หินก้อนนี้ได้มาแตะต้องปากของเจ้าแล้ว และความอสัตย์อธรรมของเจ้าก็ถูกเอาไปเสีย และความบาปของเจ้านั้นก็ทรงโปรดยกให้แล้ว.’” ข่าวสารจากพระคำของพระเจ้าซึ่งชำระให้สะอาดนั้นเสมือนไฟซึ่งเผาผลาญประเพณีและคำสอนของมนุษย์ให้วอดวายไป. ข่าวสารนั้นขจัดความกลัวมนุษย์ออกไปจากหัวใจของเขา และความกระตือรือร้นได้เข้ามาแทนเพื่อเขาจะใช้ริมฝีปากสรรเสริญพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาทรงกระทำให้สำเร็จตามที่ทรงสัญญาไว้คือ “ให้มีการเปลี่ยนภาษาบริสุทธิ์ [ตามตัวอักษรหมายถึงริมฝีปากสะอาด] แก่ประชาชน เพื่อเขาทุกคนจะได้ร้องถึงพระนามของพระยะโฮวา.—ซะฟันยา 3:9, ล.ม.
15. การสนองตอบของชนที่เหลือสอดคล้องกันอย่างไรกับเหตุผลที่พระยะโฮวาได้ประทานภาษาบริสุทธิ์แก่เขา?
15 ดังนั้น เมื่อชนจำพวกยะซายาสมัยปัจจุบันได้ยินพระสุรเสียงของพระยะโฮวาตรัสถาม ดังบันทึกที่ยะซายา 6:8 ว่า “เราจะใช้ผู้ใดไป และผู้ใดจะไปแทนเรา?” เขากล่าวตอบรับด้วยความยินดีดังนี้: “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่! ทรงใช้ข้าพเจ้าเถิด.” มันไม่ง่ายที่พวกเขาทุกคนจะเริ่มงานเทศนาประกาศแก่ประชาชน แต่เขาก็อยากให้พระยะโฮวาใช้เขาฐานะเป็นไพร่พลสำหรับพระนามของพระองค์. พระวิญญาณของพระองค์เสริมกำลังแก่เขาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น. พวกเขาทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ.
16. (ก) การประกาศของชนที่เหลือบังเกิดผลอะไรโดยไม่คาดคิด? (ข) โดยวิธีใดชนฝูงใหญ่แสดงหลักฐานว่าเวลานี้พวกเขาก็พูดภาษาบริสุทธิ์เช่นกัน?
16 จากนั้นไม่นานก็ปรากฏชัดว่างานประกาศเผยแพร่บังเกิดผลอย่างไม่คาดคิด. พระยะโฮวาทรงใช้พวกเขาให้ช่วยเหลือชนอีกกลุ่มหนึ่งเรียนภาษาบริสุทธิ์. (ยะซายา 55:5) ชนอีกกลุ่มนี้ไม่ร่วมความหวังที่จะรับชีวิตทางภาคสวรรค์ แต่เขาถือเป็นสิทธิพิเศษที่จะถูกนับเป็นสหายของชนที่เหลือทายาทราชอาณาจักรและร่วมรับใช้เคียงบ่าเคียงไหล่กันฐานะเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้า. คนเหล่านี้ได้ออกมาจาก “ทุกประเทศทุกตระกูล ทุกชาติและทุกภาษา” อย่างไม่ขาดสาย กระทั่งบัดนี้พวกเขากลายเป็น “ชนฝูงใหญ่” มีจำนวนหลายล้านคน. คำพูดซึ่งออกจากปากของเขาไม่ใช่ในลักษณะซึ่งบ่งชี้ว่าเขาร่วมกับส่วนต่าง ๆ ของโลกที่แตกแยกกัน. พวกเขาไม่ฝากความหวังไว้กับคนใดคนหนึ่งหรือองค์การที่มนุษย์ก่อตั้งขึ้น. แทนที่จะทำเช่นนั้น “เขาร้องเสียงดังไม่หยุดว่า ‘ความรอดนั้นเราได้เนื่องมาจากพระเจ้าของเราผู้ประทับบนพระที่นั่ง และเนื่องมาจากพระเมษโปดก.’”—วิวรณ์ 7:9, 10, ล.ม.
สิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะเรียนภาษานั้น
17. ทำไมเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะเรียนภาษาบริสุทธิ์ให้ช่ำชอง และที่จะปรับปรุงความสามารถของเราที่จะใช้ภาษานี้?
17 ไม่ว่าเราได้มารู้จักองค์การของพระยะโฮวานานแค่ไหนก็ตาม ยังมีอีกมากที่เราพึงทำเพื่อปรับปรุงความรู้ด้านภาษาบริสุทธิ์และความสามารถในการใช้ภาษาอย่างช่ำชอง. เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องบากบั่นทำเช่นนั้น. เพราะเหตุใด? เพราะการทำดังกล่าวแสดงถึงความรักของเราที่มีต่อสัจธรรม.
18, 19. (ก) ทำไมเป็นสิ่งสำคัญที่จะปลูกฝังความรักต่อความจริงให้เข้มแข็งเสียแต่แรก? (ข) ทำไมการทะนุบำรุงความรักดังกล่าวสืบ ๆ ไปจึงเป็นสิ่งสำคัญ?
18 ตั้งแต่แรกทีเดียว ความรักแบบนี้ได้ช่วยเปิดความคิดจิตใจของคนเรา ทำให้เขาสามารถเข้าใจข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ที่นำออกมาชี้แจงแก่เขา ทั้งยังกระตุ้นเขาเข้ามาใกล้พระยะโฮวาและมีความหยั่งรู้ค่าองค์การของพระองค์. ฉะนั้น ความรักต่อสัจธรรมจึงเป็นกุญแจสำคัญจะปลดปล่อยผู้คนพ้นจากพันธนาการแห่งศาสนาเท็จ. บางคนกล่าวอ้างว่าสนใจข่าวสารในพระคัมภีร์ แต่ก็ไม่ยอมปล่อยวางส่วนประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับศาสนาเท็จและวิถีชีวิตในแบบที่ศาสนาเท็จยอมให้ได้. ทำไมเขาไม่ละทิ้งเสียล่ะ? ดังคำอธิบายที่ 2 เธซะโลนิเก 2:10 (ล.ม.) ว่า เขาไม่ “ยอมรับความรักต่อความจริง เพื่อเขาจะรอดได้.” สำคัญเพียงไรที่เราพึงมีความรักเช่นนั้น!
19 ครั้นเรารับเอาความจริงไว้เสียครั้งหนึ่งแล้ว การหล่อเลี้ยงความรักนี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการฝ่ายวิญญาณของเรา. จงจำไว้ว่า พระยะโฮวาทรงกล่าวถึงความจริงเสมือนเป็น “ภาษา.” เมื่อคนเราเรียนภาษาใหม่ เขาต้องมุ่งมั่นพากเพียรเพื่อสะสมคำศัพท์ให้ได้มาก ๆ ออกสำเนียงคำพูดอย่างถูกต้อง เรียนรายละเอียดต่าง ๆ ของไวยกรณ์และอื่น ๆ. การรักชอบภาษาใหม่และคนที่พูดภาษานั้นด้วยคงจะช่วยเขาก้าวหน้าเรื่อย ๆ. เขาอาจพูดภาษาได้บ้างในชั่วเวลาสองสามเดือน แต่จะพูดได้คล่องเหมือนเจ้าของภาษาก็อาจต้องใช้เวลานับปี ๆ พร้อมด้วยความพยายามอย่างจริงใจ. ความพยายามอย่างเดียวกันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะใช้ภาษาบริสุทธิ์ได้อย่างช่ำชอง.
20. (ก) อะไรทำให้ภาษาบริสุทธิ์ บริสุทธิ์อย่างแท้จริง? (ข) ทำไมพวกเราแต่ละคนจึงต้องระมัดระวัง?
20 น่าสนใจเป็นพิเศษที่ว่าภาษาซึ่งพระเจ้าประทานแก่ผู้รับใช้ของพระองค์เป็นภาษาบริสุทธิ์. ข้อนี้จริง ไม่ใช่เพราะความสัมพันธ์ของวิธีการสร้างประโยค แต่เพราะภาษานี้ให้หลักฐานชัดแสดงความสะอาดทางศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณ. ภาษานี้ไม่ยอมให้เกิดช่องว่างสำหรับการโกหกหลอกลวง การพูดสับปลับ. บรรดาผู้ใช้ภาษานี้ต้องพูดความจริงเสมอ. (ซะฟันยา 3:13; เอเฟโซ 4:25) ทำนองเดียวกัน การพูดของเขาต้องสะท้อนถึงมาตรฐานสูงส่งของพระยะโฮวาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมทางเพศ. (เอเฟโซ 5:3, 4) นอกจากนั้น พระคัมภีร์ช่วยให้เรารับรู้อีกด้วยว่า อะไรก็ตามซึ่งเกี่ยวพันกับบาบูโลนใหญ่ จักรภพแห่งศาสนาเท็จนั้นเป็นสิ่งไม่สะอาด. (วิวรณ์ 18:2-4) สิ่งแกะสลักหรือการพรรณนาถึงพระทั้งหลายของบาบูโลนนั้นถูกเรียกว่า “รูปเคารพโสโครก.” (ยิระมะยา 50:2, ล.ม.) ดังนั้น นับว่าเหมาะสม ผู้ที่เรียนภาษาบริสุทธิ์ต้องขจัดส่วนประกอบทางด้านกายภาพของศาสนาเท็จ ไม่ยอมรับเอาคำสอนใด ๆ ของมัน แยกตัวออกจากการเฉลิมฉลองต่าง ๆ ทางศาสนา และเลิกใช้คำพูดหรือวิธีพูดซึ่งส่อให้เห็นถึงความคิดอย่างผิด ๆ ของศาสนาเท็จ. นอกจากนี้ ที่วิวรณ์ 16:13-16 เราได้รับคำแจ้งว่า การโฆษณาชวนเชื่อซึ่งรวบรวมนานาชาติให้เป็นปฏิปักษ์ต่อราชอาณาจักรของพระเจ้าก็เป็นสิ่งไม่สะอาดเช่นกัน เนื่องจากรับการดลใจโดยพวกผีปีศาจ. ฉะนั้น เราจำเป็นจะต้องตื่นตัวระวังไม่ให้การพูดของเราติดเชื้อจากสิ่งไม่สะอาดเหล่านี้.
21. นอกจากการใช้คำพูดแล้ว ยังมีอะไรอีกที่เกี่ยวเนื่องกับภาษาบริสุทธิ์?
21 เรากำลังเรียนสิ่งที่ถูกเรียกว่าภาษา และก็เป็นการเรียกอย่างถูกต้องด้วย แต่ไม่หมายความว่าผู้ที่พูดภาษานี้จะเรียนเพียงวิธีใช้ศัพท์หรือสำนวนอันเป็นที่รู้กันอยู่แล้วในท่ามกลางพลไพร่ของพระยะโฮวา. น้ำเสียง สีหน้า ท่าทางเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน. สิ่งเหล่านี้อาจถ่ายทอดข่าวสารซึ่งเพียงคำพูดอย่างเดียวทำไม่ได้. บ่อยครั้ง อากัปกิริยาดังกล่าวสะท้อนสิ่งที่เราเป็นจริง ๆ ภายใน. อาการเหล่านี้จะบอกได้ว่าเราได้ละทิ้งใจอิจฉาริษยา การขุ่นเคือง และการบันดาลโทสะหรือไม่ ทุกอย่างเหล่านี้เป็นการของเนื้อหนังที่เป็นบาป. เมื่อพระวิญญาณของพระเจ้าดำเนินกิจในชีวิตของเราโดยไม่มีสิ่งขัดขวาง ผลแห่งพระวิญญาณย่อมปรากฏชัดในวิธีที่เราติดต่อสื่อความหมายกับคนอื่น.—ฆะลาเตีย 5:19-23; เอเฟโซ 4:31, 32.
22. เมื่อเราเรียนภาษาบริสุทธิ์จนช่ำชองแล้ว ความรู้นั้นมีผลกระทบอย่างไรต่อการตัดสินใจของเรา?
22 ใครก็ตามที่ได้มาเรียนภาษาใหม่ต่างก็รู้ว่าตนบรรลุขั้นหนึ่ง เมื่อเขาพบว่าแท้จริงตัวเองกำลังคิดในภาษาใหม่ แทนที่จะแปลจากภาษาของตนแต่เดิม. ทำนองเดียวกัน เมื่อเราเรียนความจริง พยายามเต็มที่จะปฏิบัติตามความรู้นั้นในชีวิตของเรา และแบ่งความรู้กับผู้อื่นเป็นประจำ ทีละเล็กละน้อยเราจะพบตัวเองคิดนึกสอดคล้องกับความจริง. เราไม่เอาสิ่งเก่ามาเปรียบเทียบกับสิ่งใหม่อยู่เรื่อยไปและพยายามจะตัดสินใจเลือก. แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หลักการในพระคัมภีร์จะผุดขึ้นในความคิดแล้วชี้ทิศทางที่จำเป็น.—สุภาษิต 4:1-12.
23. ไม่ว่าพยานพระยะโฮวาทั่วโลกพูดภาษาอะไรก็ตาม แต่มีอะไรแสดงว่าพวกเขาทุกคนพูดภาษาบริสุทธิ์?
23 จริงอยู่ มนุษย์เรามีภาษาต่างกันหลายพันภาษา แต่ภาษาบริสุทธิ์นั้นจะสามารถพูดออกมาได้ในทุกภาษา. พยานพระยะโฮวาในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็กำลังถือเอาประโยชน์ของภาษาบริสุทธิ์นี้โดยพร้อมเพรียงกันขณะที่เขาร่วมงานเคียงบ่าเคียงไหล่ให้คำพยานแก่สาธารณชนซึ่งเป็นการถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาพระเจ้าของเราที่ทรงเปี่ยมด้วยความรัก.
คำถามทบทวน
▫ อะไรถูกนับรวมอยู่ในการพูดอันเป็นของประทาน?
▫ ภาษาบริสุทธิ์คืออะไร?
▫ ซะฟันยา 3:9 ได้สำเร็จสมจริงกับผู้ใด?
▫ เราอาจให้หลักฐานโดยวิธีใดว่าเรารักภาษาบริสุทธิ์จริง?
[รูปภาพหน้า 23]
ผู้ที่รู้ภาษาบริสุทธิ์แล้วย่อมบอกกล่าวให้คนอื่นรู้ด้วย
[รูปภาพหน้า 25]
ไม่ว่าพยานพระยะโฮวาพูดภาษาอะไรก็ตาม แต่ทุกคนทั่วโลกก็พูดภาษาบริสุทธิ์