พระยะโฮวาประทานสันติสุขและความจริงอย่างอุดมบริบูรณ์
“เราจะรักษาพวกเขาให้หายและสำแดงสันติสุขและความจริงอันบริบูรณ์แก่พวกเขา.”—ยิระมะยา 33:6, ล.ม.
1, 2. (ก) เกี่ยวกับความสงบสุข ประวัติบันทึกของนานาชาติเป็นเช่นไร? (ข) เมื่อปี 607 ก่อนสากลศักราช พระยะโฮวาได้สอนบทเรียนอะไรแก่ชาติยิศราเอลเกี่ยวกับความสงบสุข?
ความสงบสุข! นั่นเป็นสิ่งน่าปรารถนาเพียงใด ทว่า ช่างหาได้ยากเหลือเกินในประวัติศาสตร์มนุษย์! ศตวรรษที่ 20 นี้โดยเฉพาะ ไม่เคยเป็นศตวรรษที่มีความสงบสุขเลย. ตรงกันข้าม ปรากฏว่ามีสงครามที่ก่อความพินาศมากที่สุดถึงสองครั้งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์. ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สันนิบาตชาติถูกตั้งขึ้นเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก. องค์การนั้นไม่ประสบความสำเร็จ. หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน. เราเพียงแต่อ่านหนังสือพิมพ์รายวันก็จะเห็นได้เลยว่า องค์การนี้ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน.
2 พวกเราน่าจะรู้สึกประหลาดใจไหมที่องค์การต่าง ๆ ของมนุษย์ไม่สามารถทำให้มีสันติภาพขึ้นมาได้? ไม่เลย. เป็นเวลา 2,500 กว่าปีมาแล้ว ชาติยิศราเอลไพร่พลที่ถูกเลือกสรรของพระเจ้าเคยได้บทเรียนมาแล้วในเรื่องนี้. ในศตวรรษที่เจ็ดก่อนสากลศักราช ความสงบสุขแห่งยิศราเอลได้ถูกมหาอำนาจโลกที่กำลังขึ้นมา คือบาบูโลนคุกคาม. ยิศราเอลหมายพึ่งอียิปต์เพื่อสันติภาพ. อียิปต์ก็ช่วยไม่ได้. (ยิระมะยา 37:5-8; ยะเอศเคล 17:11-15) ปี 607 ก่อนสากลศักราช กองทัพบาบูโลนได้ทลายกำแพงยะรูซาเลมและเผาวิหารของพระยะโฮวา. ด้วยวิธีนี้ ชาวยิศราเอลจึงเรียนรู้ด้วยความยากลำบากว่า การวางใจหมายพึ่งองค์การของมนุษย์ไม่มีประโยชน์. แทนที่จะมีความสงบสุข ชาตินี้กลับถูกเนรเทศไปอยู่ในบาบูโลน.—2 โครนิกา 36:17-21.
3. สมจริงตามคำตรัสของพระยะโฮวาผ่านยิระมะยา เหตุการณ์อะไรทางประวัติศาสตร์สอนบทเรียนสำคัญครั้งที่สองแก่ชาติยิศราเอลเกี่ยวกับความสงบสุข?
3 แต่ก่อนที่กรุงยะรูซาเลมล่มจม พระยะโฮวาทรงเผยว่า พระองค์เองต่างหากจะนำความสงบสุขมาสู่ชาติยิศราเอล ไม่ใช่อียิปต์. พระองค์ตรัสคำสัญญาผ่านยิระมะยาดังนี้: “เราจะรักษาพวกเขาให้หายและสำแดงสันติสุขและความจริงอันบริบูรณ์แก่พวกเขา. และเราจะนำเชลยชาวยูดาและเชลยชาวยิศราเอลกลับมา และเราจะสร้างพวกเขาให้เหมือนเมื่อแรกทีเดียว.” (ยิระมะยา 33:6, 7, ล.ม.) คำสัญญาของพระยะโฮวาเริ่มสำเร็จเป็นจริงในปี 539 ก่อนสากลศักราช เมื่อบาบูโลนถูกพิชิตและผู้ถูกเนรเทศชาวยิศราเอลถูกปล่อยเป็นอิสระ. (2 โครนิกา 36:22, 23) พอถึงช่วงหลังของปี 537 ก่อนสากลศักราช ชาวยิศราเอลกลุ่มหนึ่งได้จัดงานฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัยบนแผ่นดินยิศราเอลเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี! หลังเทศกาลครั้งนั้น พวกเขาก็เริ่มงานบูรณะพระวิหารของพระยะโฮวา. พวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้? บันทึกแจ้งว่า “ประชาชนทั้งปวงก็โห่ร้องด้วยเสียงดังเมื่อเขาสรรเสริญพระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] เพราะว่ารากฐานของพระนิเวศแห่งพระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] วางเสร็จแล้ว.”—เอษรา 3:11, ฉบับแปลใหม่.
4. โดยวิธีใดพระยะโฮวาทรงปลุกเร้าชาวยิศราเอลให้ทำงานก่อสร้างพระวิหาร และพระองค์ทรงทำสัญญาอะไรเกี่ยวกับความสงบสุข?
4 กระนั้น หลังจากการเริ่มต้นด้วยความยินดีนั้นแล้ว ชาวยิศราเอลก็ถูกผู้ขัดขวางทำให้ท้อแท้และจึงระงับงานก่อสร้างพระวิหาร. หลายปีต่อมา พระยะโฮวาทรงตั้งผู้พยากรณ์ฮาฆีและซะคาระยาให้กล่าวปลุกใจชาวยิศราเอลทำการบูรณะจนแล้วเสร็จ. คงต้องเป็นความตื่นเต้นอย่างน่าประทับใจเพียงไรเมื่อพวกเขาได้ฟังฮาฆีพูดถึงพระวิหารที่เขาจะสร้างดังนี้: “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่า ‘ความสง่างามของวิหารใหม่หลังนี้จะยิ่งยวดกว่าหลังก่อนอีก.’ พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่า ‘เราจะอำนวยให้สถานที่นี้มีความจำเริญวัฒนา.’”—ฮาฆี 2:9.
พระยะโฮวาทรงปฏิบัติตามคำสัญญาของพระองค์
5. พระธรรมซะคาระยาบทแปดมีอะไรที่น่าสนใจ?
5 ในพระธรรมซะคาระยา เราอ่านเกี่ยวกับนิมิตและคำพยากรณ์มากมายที่ได้รับโดยการดลใจซึ่งเสริมกำลังไพร่พลของพระเจ้าย้อนหลังในสมัยศตวรรษที่หกก่อนสากลศักราช. คำพยากรณ์เดียวกันเหล่านี้ยังคงทำให้เรามั่นใจเกี่ยวด้วยการสนับสนุนของพระยะโฮวา. คำพยากรณ์เหล่านี้ทำให้พวกเรามีเหตุผลทุกประการที่จะเชื่อว่า พระยะโฮวาจะประทานความสงบสุขแก่ไพร่พลของพระองค์สมัยนี้เช่นกัน. ยกตัวอย่าง ที่บทแปดของพระธรรมซึ่งเรียกตามชื่อของท่าน ผู้พยากรณ์ซะคาระยากล่าวถ้อยคำที่ว่า ‘พระยะโฮวาได้ตรัส’ ถึงสิบครั้ง. แต่ละครั้งถ้อยคำนั้นนำเข้าสู่คำประกาศของพระเจ้าเรื่องความสงบสุขของประชาชนของพระองค์. คำสัญญาเหล่านี้บางเรื่องสมจริงไปแล้วในสมัยซะคาระยา. ทุกข้อสำเร็จเป็นจริงแล้ว หรือไม่ก็กำลังสำเร็จเป็นจริงในสมัยปัจจุบัน.
“เราได้มีความหวงแหนต่อซีโอน”
6, 7. พระยะโฮวาทรง ‘หวงแหนต่อซีโอนด้วยความกริ้วอันใหญ่’ ในทางใด?
6 ถ้อยคำนี้ปรากฏครั้งแรกที่ซะคาระยา 8:2 เราอ่านดังนี้: “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า, ‘เราได้มีความหวงแหนต่อซีโอนด้วยความหวงแหนอันใหญ่, และเรามีความหึงสา [“หวงแหน,” ล.ม.] ต่อเขาทั้งหลายด้วยความกริ้วอันใหญ่.’” คำสัญญาของพระยะโฮวาที่จะหวงแหน พร้อมกับความกระตือรือร้นอันแรงกล้า สำหรับไพร่พลของพระองค์ย่อมหมายความว่า พระองค์พร้อมจะฟื้นฟูความสงบสุขให้แก่พวกเขา. การนำชาวยิศราเอลกลับคืนสู่บ้านเกิดและการบูรณะพระวิหารเป็นหลักฐานแสดงความกระตือรือร้นดังกล่าว.
7 แต่คนเหล่านั้นที่ได้ขัดขวางไพร่พลของพระองค์ล่ะเป็นอย่างไร? ความกระตือรือร้นของพระองค์เพื่อไพร่พลนั้นคงจะมากพอ ๆ กันกับ “ความกริ้วอันใหญ่” ต่อพวกศัตรูเหล่านั้น. เมื่อชาวยิวที่ซื่อสัตย์ได้ทำการนมัสการ ณ พระวิหารที่ได้รับการบูรณะแล้ว เขาสามารถใคร่ครวญถึงผลบั้นปลายของบาบูโลนที่มีกำลังเข้มแข็ง ซึ่งบัดนี้หมดสิ้นซึ่งอำนาจ. นอกจากนั้น เขาสามารถจะนึกถึงความล้มเหลวสิ้นท่าของฝ่ายปรปักษ์ซึ่งพยายามกีดกันการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่. (เอษรา 4:1-6; 6:3) และพวกเขาสามารถขอบพระคุณพระยะโฮวาเนื่องด้วยพระองค์ทรงปฏิบัติตามคำสัญญาของพระองค์. ความกระตือรือร้นของพระองค์ได้ทำให้พวกเขามีชัยชนะ!
“เมืองแห่งความจริง”
8. ในสมัยซะคาระยา ยะรูซาเลมจะกลายเป็นเมืองแห่งความจริงได้อย่างไรเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น?
8 ซะคาระยาเขียนเป็นครั้งที่สองว่า “ยะโฮวาตรัสดังนี้ว่า.” อะไรคือคำตรัสของพระยะโฮวาในโอกาสนี้? “เราได้กลับไปยังซีโอนแล้ว, เราจะตั้งอาศัยในท่ามกลางยะรูซาเลม, และเขาจะร้องเรียกยะรูซาเลมว่าเมืองแห่งความจริง, และภูเขาแห่งยะโฮวาว่าภูเขาแห่งความบริสุทธิ์.” (ซะคาระยา 8:3) ช่วงก่อนปี 607 ก่อนสากลศักราชนั้น ยะรูซาเลมไม่มีสภาพเป็นเมืองแห่งความจริงเลย. บรรดาปุโรหิตและพวกผู้พยากรณ์ต่างก็ทำการทุจริตและประชาชนก็ประพฤติไม่ซื่อสัตย์. (ยิระมะยา 6:13; 7:29-34; 13:23-27) พอถึงตอนนี้ ไพร่พลของพระเจ้าดำเนินการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ แสดงถึงการเลื่อมใสในการนมัสการอันบริสุทธิ์. พระยะโฮวาทรงสถิตในกรุงยะรูซาเลมอีกครั้งหนึ่งโดยทางพระวิญญาณ. ความจริงในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการนมัสการที่บริสุทธิ์ได้ถูกนำขึ้นมาพูดกันอีกในกรุงนั้น ดังนั้น จึงเรียกยะรูซาเลมได้ว่า “เมืองแห่งความจริง.” ที่ตั้งของเมือง ณ ที่สูงเรียกได้ว่า “ภูเขาแห่งพระยะโฮวา.”
9. “พวกยิศราเอลของพระเจ้า” ได้ประสบการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์อะไรอย่างน่าทึ่งเมื่อปี 1919?
9 ขณะที่ถ้อยแถลงทั้งสองคราวมีความหมายสำคัญต่อชาติยิศราเอลโบราณ ถ้อยแถลงนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อพวกเราในเวลานี้ด้วย ขณะที่ศตวรรษที่ 20 จวนจะสิ้นสุดลง. เกือบ 80 ปีมาแล้ว ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผู้ถูกเจิมจำนวนไม่กี่พันคนซึ่งตอนนั้นเป็นตัวแทนของ “พวกยิศราเอลของพระเจ้า” ตกอยู่ในสภาพเชลยฝ่ายวิญญาณ เช่นเดียวกับยิศราเอลคราวโบราณถูกกวาดไปเป็นเชลยในบาบูโลน. (ฆะลาเตีย 6:16) กล่าวเชิงพยากรณ์ พวกเขาได้รับการพรรณนาประหนึ่งเป็นศพกลางถนน. ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังปรารถนาจากใจจริงที่จะนมัสการพระยะโฮวา “ด้วยวิญญาณและความจริง.” (โยฮัน 4:24, ล.ม.) ดังนั้น ในปี 1919 พระยะโฮวาได้ปลดปล่อยเขาพ้นจากการเป็นเชลย โปรดยกฐานะของเขาจากสภาพที่ตายแล้วฝ่ายวิญญาณ. (วิวรณ์ 11:7-13) ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวาได้ตอบคำถามของยะซายาเชิงพยากรณ์ด้วยคำว่าใช่ ที่ดังสนั่นว่า “แผ่นดินใดจะผ่านความเจ็บปวดรวดร้าวให้พ้นไปในวันเดียวได้รึ? ประเทศใดจะให้การกำเนิดทันทีได้รึ?” (ยะซายา 66:8) ในปี 1919 อีกครั้งหนึ่งที่ไพร่พลของพระยะโฮวาดำรงสภาพฐานะเป็นชาติฝ่ายวิญญาณอยู่ใน “แผ่นดิน” ของเขาเอง หรืออาณาเขตฝ่ายวิญญาณบนแผ่นดินโลก.
10. เริ่มเมื่อปีสากลศักราช 1919 คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับพระพรอะไรใน “แผ่นดิน” ของเขา?
10 เมื่ออยู่อย่างปลอดภัยในแผ่นดินนั้น คริสเตียนพวกผู้ถูกเจิมได้ปฏิบัติหน้าที่ ณ วิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา. พวกเขาถูกระบุว่าเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และรับเอาหน้าที่รับผิดชอบที่จะเอาใจใส่ดูแลทรัพย์สมบัติของพระเยซูทางแผ่นดินโลก สิทธิพิเศษซึ่งเขายังคงชื่นชมอยู่ แม้ศตวรรษที่ 20 ใกล้จะจบสิ้นอยู่แล้ว. (มัดธาย 24:45-47) พวกเขาได้เรียนรู้เป็นอย่างดีว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าแห่งสันติสุของค์นั้น.”—1 เธซะโลนิเก 5:23, ล.ม.
11. พวกผู้นำทางศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรได้แสดงตัวเป็นศัตรูต่อไพร่พลของพระเจ้าโดยวิธีใด?
11 แต่ศัตรูที่ต่อต้านยิศราเอลของพระเจ้าล่ะเป็นอย่างไร? ความกระตือรือร้นของพระยะโฮวาเพื่อไพร่พลของพระองค์ก็มากพอกันกับความกริ้วที่ทรงมีต่อพวกผู้ต่อต้าน. ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บรรดาผู้นำศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรได้ใช้ความกดดันอย่างหนักหน่วง เมื่อพยายามจะล้มล้างคริสเตียนกลุ่มเล็ก ๆ ที่พูดความจริงให้หมดไป—แต่ไม่บรรลุผล. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง นักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรได้ปรองดองกันในเรื่องหนึ่งเฉพาะ นั่นคือ พวกเขาเร่งเร้ารัฐบาลของทั้งสองฝ่ายที่ต่อสู้กันทำการปราบปรามพยานพระยะโฮวา. กระทั่งเวลานี้ พวกผู้นำทางศาสนาในหลายประเทศปลุกเร้าให้รัฐบาลวางข้อจำกัดหรือสั่งห้ามงานประกาศฝ่ายคริสเตียนของพยานพระยะโฮวา.
12, 13. พระยะโฮวาทรงแสดงความกริ้วต่อคริสต์ศาสนจักรอย่างไร?
12 การกระทำเช่นนั้นใช่ว่าจะพ้นการเฝ้าสังเกตของพระยะโฮวา. หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คริสต์ศาสนจักรพร้อมด้วยส่วนที่เหลือแห่งบาบูโลนใหญ่ประสบความเสื่อมถอย. (วิวรณ์ 14:8) สภาพที่เป็นจริงของความเสื่อมถอยในคริสต์ศาสนจักรเป็นที่รู้เห็นทั่วไป เริ่มตั้งแต่ปี 1922 เมื่อได้มีการเทภัยพิบัติโดยนัยที่ต่อเนื่องกันนั้นลงมาเป็นลำดับ เปิดโปงอย่างชัดแจ้งถึงสภาพของคริสต์ศาสนจักรที่ตายแล้วทางด้านวิญญาณ และเตือนถึงความพินาศซึ่งจวนจะเกิดแก่คริสต์ศาสนจักร. (วิวรณ์ 8:7–9:21) เพื่อเป็นหลักฐานบ่งชี้การเทภัยพิบัติเหล่านี้มีอยู่เรื่อย ๆ ได้มีการเสนอคำบรรยายชื่อ “อวสานของศาสนาเท็จมาใกล้แล้ว” ตลอดทั่วโลกเมื่อวันที่ 23 เมษายน 1995 หลังจากนั้น ได้มีการแจกข่าวราชอาณาจักร ซึ่งจัดเป็นพิเศษออกไปหลายร้อยล้านแผ่น.
13 เวลานี้ คริสต์ศาสนจักรอยู่ในสภาพน่าสมเพช. ตลอดศตวรรษที่ 20 สมาชิกคริสต์ศาสนจักรต่างก็รบราฆ่าฟันกันในสงครามที่โหดร้ายซึ่งได้รับการอวยชัยให้พรจากบาทหลวงและนักเทศน์นักบวช. ในบางประเทศอิทธิพลของคริสต์ศาสนจักรแทบไม่มีเลย. คริสต์ศาสนจักรถูกกำหนดให้พินาศด้วยกันกับส่วนที่เหลือของบาบูโลนใหญ่.—วิวรณ์ 18:21.
สันติสุขมีแก่ไพร่พลของพระเจ้า
14. มีการพรรณนาเชิงพยากรณ์อะไรเกี่ยวกับผู้คนที่อยู่อย่างสงบสุข?
14 ในทางกลับกัน ปี 1996 นี้ไพร่พลของพระยะโฮวามีความสงบสุขอย่างบริบูรณ์ในแผ่นดินของเขาที่รับการฟื้นฟู ตามถ้อยแถลงครั้งที่สามของพระยะโฮวาดังนี้: “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า, ‘ยังจะมีหมู่ชายแก่และหญิงแก่นั่งอยู่ที่ถนนในเมืองยะรูซาเลม, มีไม้เท้าในมือเขาทุกคนเพราะอายุมาก. และถนนทั้งหลายแห่งเมืองจะเต็มด้วยเด็กชายและเด็กหญิงเล่นอยู่ที่ถนนนั้น.’”—ซะคาระยา 8:4, 5.
15. ถึงแม้มีสงครามระหว่างชาติต่าง ๆ แต่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวากลับได้รับสันติสุขแบบไหน?
15 การพรรณนาที่ทำให้เห็นภาพอันน่าเบิกบานยินดีนี้ชี้ถึงบางสิ่งที่โดดเด่นในโลกที่เสียหายย่อยยับเพราะสงคราม นั่นคือผู้คนอยู่อย่างสงบสุข. ตั้งแต่ปี 1919 ถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของยะซายาได้สำเร็จเป็นจริงดังนี้: “พระเจ้าตรัสว่า ‘สันติภาพ สันติภาพแก่คนไกลและคนใกล้ และเราจะรักษาเขาให้หาย.’ แต่ . . . พระเจ้าของข้าพเจ้าตรัสว่า ‘ไม่มีสันติสุขแก่คนอธรรม.’” (ยะซายา 57:19-21, ฉบับแปลใหม่) แน่นอน ไพร่พลของพระยะโฮวา ขณะที่ไม่เป็นส่วนของโลก ก็ไม่สามารถเลี่ยงพ้นผลกระทบจากการสับสนวุ่นวายของชาติต่าง ๆ ไปได้. (โยฮัน 17:15, 16) ในบางประเทศ พวกเขาอดทนความยากลำบากต่าง ๆ อันรุนแรง และบางคนถึงกับถูกฆ่าด้วยซ้ำ. กระนั้น คริสเตียนแท้มีสันติสุขในสองทางหลัก ๆ. ประการแรก เขามี “สันติสุขกับพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า [ของพวกเขา].” (โรม 5:1, ล.ม.) ประการที่สอง พวกเขามีสันติสุขระหว่างพวกเขาเอง. เขาปลูกฝัง “สติปัญญาจากเบื้องบน” ซึ่ง “ประการแรกบริสุทธิ์ แล้วก่อให้เกิดสันติสุข.” (ยาโกโบ 3:17, ล.ม.; ฆะลาเตีย 5:22-24) ยิ่งกว่านั้น พวกเขาตั้งตาคอยจะมีสันติสุขครบถ้วนสมบูรณ์เมื่อ “คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.—บทเพลงสรรเสริญ 37:11.
16, 17. (ก) “หมู่ชายแก่และหญิงแก่” อีกทั้ง “เด็กชายและเด็กหญิง” ได้เสริมสร้างองค์การของพระยะโฮวาให้แข็งแกร่งอย่างไร? (ข) อะไรแสดงให้เห็นภาพความสงบสุขแห่งไพร่พลของพระยะโฮวา?
16 ท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวายังมี “หมู่ชายแก่และหญิงแก่” อันได้แก่ชนจำพวกผู้ถูกเจิมที่จดจำชัยชนะในช่วงแรก ๆ แห่งองค์การของพระยะโฮวา. ความซื่อสัตย์มั่นคงและความอดทนของเขาได้รับการหยั่งรู้ค่าอย่างมากมาย. ผู้ถูกเจิมที่มีอายุอ่อนกว่าได้นำหน้าในช่วงที่สถานการณ์ร้อนเป็นไฟระหว่างปีทศวรรษ 1930 และระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกับปีต่าง ๆ ที่มีการเจริญเติบโตอันน่าตื่นเต้นที่ตามหลังมา. ยิ่งกว่านั้น โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1935 “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” ก็ปรากฏตัวออกมา. (วิวรณ์ 7:9; โยฮัน 10:16) ขณะที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมล่วงสู่วัยชราและลดจำนวนลง แกะอื่นจึงรับเอางานประกาศและขยายงานไปทั่วโลก. ระยะหลังนี้แกะอื่นหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในแผ่นดินแห่งไพร่พลของพระเจ้า. เฉพาะปีที่แล้ว พวกเขาจำนวน 338,491 คนได้รับบัพติสมาแสดงการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา! พูดถึงฝ่ายวิญญาณแล้ว คนใหม่เหล่านี้ยังอ่อนเยาว์จริง ๆ. ความสดชื่นมีชีวิตชีวาและความกระตือรือร้นของเขาเป็นสิ่งมีค่า ขณะที่คนเหล่านี้ได้เข้ามาเพิ่มจำนวนผู้ร้องสรรเสริญด้วยความขอบพระคุณแด่ “พระเจ้าของเราผู้ประทับบนราชบัลลังก์ และ . . . พระเมษโปดก.”—วิวรณ์ 7:10, ล.ม.
17 ทุกวันนี้ ‘ถนนทั้งหลายเต็มด้วยเด็กชายและเด็กหญิง’ นั่นคือ พยานฯทั้งหลายที่มีความขันแข็งเหมือนกับคนหนุ่มสาว. ปีรับใช้ 1995 นี้เราได้รับรายงานจาก 232 ประเทศและหมู่เกาะต่าง ๆ. ทว่าไม่ปรากฏว่ามีการแข่งขันชิงดีกันในระหว่างชาติ ไม่มีการเกลียดกันระหว่างเผ่า ไม่มีการอิจฉาริษยาระหว่างผู้ถูกเจิมกับแกะอื่น. ทุกคนล้วนแต่เจริญเติบโตด้วยกันฝ่ายวิญญาณ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยความรัก. ภราดรภาพแห่งพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลกโดดเด่นอย่างแท้จริงในฉากของโลก.—โกโลซาย 3:14; 1 เปโตร 2:17.
ยากเกินไปสำหรับพระยะโฮวาไหม?
18, 19. นับตั้งแต่ปี 1919 เป็นต้นมา พระยะโฮวาทรงทำสิ่งที่ดูเหมือนยากจากแง่คิดของมนุษย์จนสัมฤทธิผลได้โดยวิธีใด?
18 ย้อนกลับไปปี 1918 เมื่อชนที่เหลือผู้ถูกเจิมประกอบด้วยจำนวนเพียงไม่กี่พันคนที่อยู่ในสภาพหดหู่ เป็นเชลยฝ่ายวิญญาณ ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ว่าเหตุการณ์จะเป็นไปอย่างไร. แต่พระยะโฮวาทรงทราบ—ดังที่มีปรากฏในคำแถลงเชิงพยากรณ์ของพระองค์ครั้งที่สี่ดังนี้: “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า, ถ้าในวันนั้นการนี้เป็นที่ประหลาดตาของหมู่ชนอันเหลือนั้น, ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า, ก็จะเป็นที่ประหลาดในดวงตาของเราด้วยหรือ.”—ซะคาระยา 8:6.
19 ปี 1919 พระวิญญาณของพระยะโฮวาได้ชุบชีวิตไพร่พลของพระองค์เพื่อการงานในวันข้างหน้า. กระนั้น จำต้องมีความเชื่อเพื่อที่จะยึดมั่นกับองค์การขนาดย่อมของผู้นมัสการพระยะโฮวา. พวกเขามีจำนวนน้อย และหลายสิ่งยังไม่กระจ่างชัด. อย่างไรก็ดี ทีละเล็กทีละน้อย พระยะโฮวาทรงหนุนกำลังพวกเขาในลักษณะองค์การ และทรงเตรียมเขาไว้พร้อมสำหรับงานฝ่ายคริสเตียนทั้งงานประกาศข่าวดีและงานทำให้คนเป็นสาวก. (ยะซายา 60:17, 19; มัดธาย 24:14; 28:19, 20) พระองค์ได้ทรงช่วยเขาให้หยั่งเห็นประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญเป็นลำดับไป เช่น เรื่องความเป็นกลางและสากลบรมเดชานุภาพ. ยากเกินไปไหมสำหรับพระยะโฮวาจะทำให้สัมฤทธิผลตามพระทัยประสงค์ของพระองค์โดยอาศัยเหล่าพยานฯกลุ่มเล็ก ๆ นี้? คำตอบคือไม่เลย! เรื่องนี้ปรากฏที่หน้า 12-15 ของวารสารนี้ซึ่งมีแผนภูมิกิจกรรมของพยานพระยะโฮวาระหว่างปีรับใช้ 1995.
“เราจะเป็นพระเจ้าของเขา”
20. งานรวบรวมไพร่พลของพระเจ้าได้ขยายกว้างไกลเพียงไรตามที่พยากรณ์เอาไว้?
20 คำแถลงครั้งที่ห้าบ่งชี้ต่อไปเกี่ยวด้วยสภาพอันน่ายินดีของเหล่าพยานพระยะโฮวาสมัยนี้: “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า, นี่แน่ะ เราจะช่วยพลไพร่ของเราให้รอดจากเมืองทิศตะวันออกและเมืองทิศตะวันตก. เราจะพาเขาทั้งหลาย และเขาทั้งหลายจะตั้งอยู่ในเมืองยะรูซาเลม, และเขาจะได้เป็นพลไพร่ของเรา และเราจะเป็นพระเจ้าของเขา, ในความจริงและความชอบธรรม.”—ซะคาระยา 8:7, 8.
21. ความสงบสุขอันอุดมบริบูรณ์แห่งไพร่พลของพระยะโฮวาได้รับการรักษาให้คงอยู่และแผ่ขยายออกไปโดยวิธีใด?
21 ในปี 1996 เราสามารถกล่าวได้โดยไม่ลังเลว่าข่าวดีได้รับการประกาศไปทั่วโลกแล้ว จาก “เมืองทิศตะวันออก” จด “เมืองทิศตะวันตก.” ผู้คนจากทุกชาติได้รับการสั่งสอนให้เป็นสาวก และพวกเขามองเห็นคำสัญญาของพระยะโฮวาสำเร็จเป็นจริงที่ว่า “บุตรทั้งสิ้นของเจ้าจะเป็นบุคคลที่ได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา และสันติสุขแห่งเหล่าบุตรของเจ้าจะมีบริบูรณ์.” (ยะซายา 54:13, ล.ม.) พวกเรามีสันติสุขเนื่องจากเราได้รับการสอนจากพระยะโฮวา. เพื่อจุดประสงค์นี้ จึงมีการจัดพิมพ์สรรพหนังสือมากกว่า 300 ภาษา. เฉพาะปีที่ผ่านมา ได้มีการพิมพ์เพิ่มขึ้นอีก 21 ภาษา. เวลานี้ วารสารหอสังเกตการณ์ พิมพ์ออกพร้อมกัน 111 ภาษา และตื่นเถิด! 54 ภาษา. การประชุมใหญ่และการประชุมนานาชาติเป็นการแสดงให้รู้เห็นกันทั่วถึงความสงบสุขในหมู่ไพร่พลของพระเจ้า. การประชุมวาระต่าง ๆ ประจำสัปดาห์ทำให้พวกเราสามัคคีกันและเป็นการหนุนใจที่จำเป็นเพื่อเราจะยืนหยัดต่อไปได้. (เฮ็บราย 10:23-25) ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงแนะนำสั่งสอนไพร่พลของพระองค์ “ในความจริงและความชอบธรรม.” พระองค์ทรงประทานความสงบสุขแก่ไพร่พลของพระองค์. พวกเราช่างเป็นสุขเสียนี่กระไรที่มีส่วนร่วมในความสงบสุขอันเหลือล้นเช่นนั้น!
คุณชี้แจงได้ไหม?
▫ ในยุคปัจจุบัน พระยะโฮวาทรง ‘หวงแหนด้วยความกริ้วอันใหญ่’ อย่างไรต่อไพร่พลของพระองค์?
▫ แม้แต่ในประเทศที่ย่อยยับเพราะสงคราม แต่ไพร่พลของพระยะโฮวาประสบความสงบสุขโดยวิธีใด?
▫ ‘ถนนทั้งหลายเต็มด้วยเด็กชายและเด็กหญิง’ นั้นในทางใด?
▫ ได้มีการจัดเตรียมอะไรเพื่อไพร่พลของพระยะโฮวาจะได้รับการสอนจากพระองค์?
[แผนภูมิหน้า 12-15]
รายงานเกี่ยวกับปีรับใช้ 1995 ของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
[รูปหน้า 8, 9]
ในศตวรรษที่หกก่อนสากลศักราช ชาวยิวที่ซื่อสัตย์ซึ่งสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ได้เรียนรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งความสงบสุขแหล่งเดียวที่เชื่อถือได้