“จงรักซึ่งความจริงแลความสงบ”!
“คำของยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายมาถึงข้าว่า . . . จงรักซึ่งความจริงแลความสงบ.”—ซะคาระยา 8:18, 19.
1, 2. (ก) ประวัติของมนุษยชาติเกี่ยวกับความสงบสุขนั้นเป็นอย่างไร? (ข) เหตุใดโลกปัจจุบันนี้จะไม่มีทางประสบความสงบสุขที่แท้จริง?
“โลกไม่เคยสงบสุข. ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง—และบ่อยครั้งหลายแห่งพร้อม ๆ กัน—มีสงครามเสมอ.” มิลตัน เมเยอร์ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถ้อยคำข้างต้นนี้. ช่างเป็นคำพรรณนาที่น่าสลดใจอะไรเช่นนั้นเกี่ยวกับมนุษยชาติ! จริงอยู่ มนุษย์เราต้องการสันติสุข. นักการเมืองได้ลองทุกวิถีทางเพื่อคงไว้ซึ่งความสงบสุข ตั้งแต่พักซ์ โรมานา สมัยจักรวรรดิโรม ไปจนถึงนโยบาย “พินาศก็พินาศด้วยกัน” ในช่วงสงครามเย็น. แต่ในที่สุด ความพยายามทุกอย่างของเขาไม่บรรลุผล. ดังยะซายากล่าวไว้เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว “เหล่าราชทูตแห่งสันติสุขร้องไห้โอดครวญ.” (ยะซายา 33:7) ทำไมเป็นเช่นนี้?
2 ทั้งนี้เพราะสันติสุขที่ยั่งยืนต้องมาจากการไม่มีความเกลียดชังและความโลภ สันติสุขนี้ต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความจริง. สันติสุขจะตั้งอยู่บนการโกหกหลอกลวงไม่ได้. นี้แหละคือเหตุผลที่พระยะโฮวาได้ตรัสเมื่อให้คำสัญญาถึงการบูรณะฟื้นฟูและการนำสันติสุขมาสู่ชาติยิศราเอลโบราณที่ว่า “นี่แน่ะ, เราจะแผ่ความรุ่งเรืองจำเริญของเจ้าให้ล้นไหลดังสายน้ำ และความมั่งคั่งของประชาชาติจะไหลบ่าเข้ามาในกรุงดังกระแสน้ำ.” (ยะซายา 66:12) ซาตานพญามาร พระเจ้าแห่งระบบนี้เป็น “ผู้ฆ่าคน,” ฆาตกร, และ “ผู้มุสาและเป็นพ่อของการมุสา.” (โยฮัน 8:44, ล.ม.; 2 โกรินโธ 4:4) โลกซึ่งมีพระเจ้าดังกล่าวจะสงบสุขได้อย่างไร?
3. พระยะโฮวาทรงมอบของประทานอันเยี่ยมยอดอะไรแก่ไพร่พลของพระองค์ ทั้ง ๆ ที่เขาอยู่ในโลกซึ่งมีแต่ความทุกข์เดือดร้อน?
3 แต่น่าสังเกต พระยะโฮวาประทานสันติสุขแก่ไพร่พลของพระองค์แม้แต่ขณะที่เขายังอยู่ในโลกของซาตานซึ่งย่อยยับเพราะสงครามด้วยซ้ำ. (โยฮัน 17:16) ในศตวรรษที่หกก่อนสากลศักราช พระองค์ทรงปฏิบัติตามคำสัญญาผ่านทางยิระมะยาและโปรดประทาน “สันติสุขและความจริง” แก่ไพร่พลพิเศษของพระองค์ใน คราวที่พระองค์นำพวกเขากลับมายังประเทศบ้านเกิดของเขา. (ยิระมะยา 33:6) และในสมัยสุดท้ายนี้ พระองค์ประทาน “สันติสุขและความจริง” แก่ไพร่พลของพระองค์ใน “ประเทศ” ของเขา หรือสภาพฝ่ายวิญญาณบนแผ่นดินโลก แม้ว่าพวกเขามีชีวิตผ่านช่วงเวลาที่ลำบากยากเข็ญยิ่งเท่าที่โลกเคยประสบมาจนกระทั่งเวลานี้. (ยะซายา 66:8; มัดธาย 24:7-13; วิวรณ์ 6:1-8) ขณะที่เราพิจารณาต่อไปในซะคาระยาบท 8 เราจะได้มาซึ่งความหยั่งรู้ลึกซึ้งมากขึ้นในเรื่องสันติสุขและความจริงซึ่งพระเจ้าโปรดประทาน และจะเห็นได้ว่าเราต้องทำประการใดเพื่อรักษาส่วนของเราในสันติสุขและความจริงนั้น.
“ท่านจงมีกำลังมือ”
4. ซะคาระยาได้กล่าวหนุนใจชาวยิศราเอลอย่างไรให้ลงมือปฏิบัติหากพวกเขาจะประสบสันติสุข?
4 เป็นครั้งที่หกในซะคาระยาบท 8 ที่เราได้ฟังถ้อยแถลงอันน่าตื่นเต้นจากพระยะโฮวาว่า “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า, ท่านจงมีกำลังมือ, คือท่านทั้งหลายซึ่งได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ ณ บัดนี้โดยปากพวกผู้พยากรณ์, ที่ได้อยู่ในวันวางรากวิหารของยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลาย, เพื่อวิหารนั้นจะได้สร้างขึ้นแล้ว. เพราะว่าเมื่อก่อนวันเหล่านี้ก็ไม่มีค่าจ้างแก่ผู้ใดผู้หนึ่งก็ดี, หรือไม่มีค่าจ้างสัตว์ใช้ก็ดี, หรือคนที่ออกไปแลเข้ามาจะได้มีความสุขปราศจากศัตรูก็หามิได้, เพราะเราได้ยุยงคนทั้งหลายให้ต่อสู้ซึ่งกันแลกัน.”—ซะคาระยา 8:9, 10.
5, 6. (ก) เนื่องจากความท้อแท้ของพวกยิศราเอล สภาพการณ์ภายในประเทศยิศราเอลเป็นเช่นไร? (ข) พระยะโฮวาตรัสสัญญาถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรกับยิศราเอลหากพวกเขาจัดเอาการนมัสการพระองค์เป็นอันดับแรก?
5 ซะคาระยากล่าวถ้อยคำเหล่านี้ระหว่างที่มีการบูรณะพระวิหารในกรุงยะรูซาเลม. ก่อนหน้านี้ ชาวยิศราเอลซึ่งกลับจากบาบูโลนเริ่มรู้สึกท้อแท้และจึงหยุดทำงานก่อสร้างพระวิหาร. เนื่องจากเขามัวแต่ฝักใฝ่ในความสะดวกสบายของตนเอง เขาไม่ได้รับพระพรและไม่มีสันติสุขมาจากพระยะโฮวา. ถึงแม้เขาได้เพาะปลูกในแผ่นดินและเฝ้าดูแลสวนองุ่น แต่เขาก็ไม่เจริญ. (ฮาฆี 1:3-6) ดูราวกับว่าเขาทำงาน “ไม่มีค่าจ้าง.”
6 เมื่อพระวิหารได้รับการสร้างขึ้นใหม่ ซะคาระยากล่าวหนุนใจชาวยิวให้ “มีกำลัง” ถือเอาการนมัสการพระยะโฮวามาก่อนสิ่งอื่นอย่างกล้าหาญ. ถ้าพวกเขาทำเช่นนั้น จะเกิดอะไรขึ้น? “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสว่า, แต่บัดนี้เราจะได้กระทำแก่คนที่เหลือนี้, ดุจเมื่อวันก่อน ๆ นั้นก็หามิได้. ด้วยว่าพืชข้าวกล้าจะจำเริญ [“จะมีเมล็ดแห่งสันติสุข,” ล.ม.] แลเถาองุ่นจะมีผล, แลแผ่นดินจะเกิดผลแลฟ้าอากาศจะมีน้ำค้าง, แลเราจะให้หมู่ชนที่เหลือนี้เป็นทายาทรับซึ่งสิ่งของเหล่านี้. โอ้เรือนยะฮูดาแลเรือนยิศราเอล, จะเป็นไปว่า, ท่านทั้งหลายได้เป็นซึ่งความแช่งแก่เมืองทั้งปวงนั้นฉันใด, เราจะช่วยท่าน, แลท่านทั้งหลายจะเป็นซึ่งความอวยพรฉันนั้น, ท่านอย่าได้กลัวเลย, จงมีกำลังมือเถิด.” (ซะคาระยา 8:11-13) ถ้ายิศราเอลจะประพฤติอย่างตั้งใจแน่วแน่ เขาก็จะเจริญรุ่งเรือง. ก่อนหน้านั้น เมื่อชาติต่าง ๆ อยากจะอ้างตัวอย่างการถูกสาปแช่ง พวกเขาก็จะชี้ไปที่ชาติยิศราเอล. พอมาตอนนี้ ชาติยิศราเอลได้เป็นตัวอย่างการได้รับพระพร. ช่างเป็นเหตุผลที่ดีจริง ๆ ที่จะ ‘ให้มือของเขามีกำลัง’!
7. (ก) การเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นอะไรบ้างที่ไพร่พลของพระยะโฮวาได้ประสบ ซึ่งมาถึงจุดสุดยอดในปีรับใช้ 1995? (ข) เมื่อดูที่รายงานประจำปี คุณเห็นว่ารายงานจากประเทศไหนบ้างมีบันทึกที่โดดเด่นในด้านผู้ประกาศ, ไพโอเนียร์, ชั่วโมงโดยเฉลี่ย?
7 สมัยนี้ล่ะเป็นเช่นไร? หลายปีก่อนปี 1919 ไพร่พลของพระยะโฮวาค่อนข้างจะขาดความกระตือรือร้น. พวกเขาไม่ตั้งตัวเป็นกลางอย่างเต็มที่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และมีแนวโน้มจะติดตามมนุษย์มากกว่าเชื่อฟังพระเยซูคริสต์พระมหากษัตริย์ของตน. ผลที่ตามมา บางคนท้อแท้เพราะการต่อต้านขัดขวางจากภายในและภายนอกองค์การ. ครั้นแล้ว ปี 1919 ด้วยการช่วยเหลือของพระยะโฮวา พวกเขาขันแข็งทำให้มือของตนมีกำลัง. (ซะคาระยา 4:6) พระยะโฮวาโปรดให้เขามีความสงบสุข และเขาเจริญรุ่งเรืองมากทีเดียว. สิ่งนี้ปรากฏในประวัติบันทึกของเขาตลอด 75 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถึงจุดสุดยอดในปีรับใช้ 1995. ในฐานะชนชาติหนึ่ง พยานพระยะโฮวาหลีกเลี่ยงลัทธิชาตินิยม, การถือเผ่า, การมีอคติ, และแหล่งอื่นใดทั้งหมดที่ก่อให้เกิดการเกลียดชัง. (1 โยฮัน 3:14-18) พวกเขารับใช้พระยะโฮวาด้วยความกระตือรือร้นอย่างแท้จริงในวิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์. (เฮ็บราย 13:15; วิวรณ์ 7:15) เฉพาะปีที่แล้ว พยานฯใช้เวลามากกว่าพันล้านชั่วโมงบอกเล่าให้ผู้คนรู้เรื่องพระบิดาของเขาผู้สถิตในสวรรค์! แต่ละเดือน เขานำการศึกษาพระคัมภีร์ 4,865,060 ราย. โดยเฉลี่ยมี 663,521 คนเข้าส่วนร่วมในงานรับใช้ฐานะไพโอเนียร์แต่ละเดือน. เมื่อนักเทศน์ในคริสต์ศาสนจักรต้องการยกตัวอย่างผู้ที่เอาจริงเอาจังกับการนมัสการ บางครั้งเขาชี้ไปที่พยานพระยะโฮวา.
8. คริสเตียนแต่ละคนอาจได้ประโยชน์อย่างไรจาก “เมล็ดแห่งสันติสุข”?
8 เนื่องด้วยความกระตือรือร้นของเขา พระยะโฮวาประทาน “เมล็ดแห่งสันติสุข” แก่ไพร่พลของพระองค์. ทุกคนที่เพาะปลูกเมล็ดนั้นจะประสบว่า ความสงบสุขจะงอกงามภายในหัวใจและในชีวิตของตน. คริสเตียนทุกคนที่มีความเชื่อซึ่งติดตามสันติสุขกับพระยะโฮวาและกับเพื่อนคริสเตียนย่อมมีส่วนร่วมในความจริงและความสงบสุขแห่งไพร่พลที่ถูกเรียกตามพระนามพระยะโฮวา. (1 เปโตร 3:11; เทียบกับยาโกโบ 3:18.) นั่นเป็นสิ่งเยี่ยมยอดมิใช่หรือ?
“อย่ากลัวเลย”
9. พระยะโฮวาทรงสัญญาการเปลี่ยนแปลงอะไรในการปฏิบัติกับไพร่พลของพระองค์?
9 ตอนนี้ เราจะอ่านถ้อยแถลงครั้งที่เจ็ดจากพระยะโฮวา. ถ้อยแถลงนั้นว่าอย่างไร? “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า, เมื่อปู่ย่าตายายแห่งท่านกระทำให้เราขัดเคืองพระทัย, เราจึงได้ตั้งพระทัยจะกระทำโทษแก่ท่าน, แลยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสว่า, เราได้กลับพระทัยก็หามิได้. อีกอย่างหนึ่งเราได้ตั้งพระทัยแล้วว่า, ในวันเหล่านี้เราจะกระทำคุณแก่เมืองยะรูซาเลม, แลแก่เรือนยะฮูดา, ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย.”—ซะคาระยา 8:14, 15.
10. ประวัติบันทึกอะไรของพยานพระยะโฮวาแสดงว่าพวกเขาไม่เคยหวั่นกลัว?
10 แม้ว่าไพร่พลของพระยะโฮวากระจัดกระจายไปฝ่ายวิญญาณสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กระนั้น หัวใจของเขายังต้องการจะทำสิ่งที่ถูกต้อง. ด้วยเหตุนี้ หลังจากได้ทรงดำเนินการตีสอนพวกเขาไปบ้าง พระยะโฮวาทรงเปลี่ยนวิธีที่ทรงปฏิบัติกับไพร่พลเหล่านั้น. (มาลาคี 3:2-4) เวลานี้ พวกเรามองย้อนหลังและขอบคุณพระองค์อย่างเหลือล้นสำหรับสิ่งที่พระองค์ได้กระทำ. จริงอยู่ พวกเราเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชังจากบรรดาชาติ.” (มัดธาย 24:9, ล.ม.) หลายคนถูกจำคุก และบางคนถึงกับเสียชีวิตด้วยซ้ำเพราะความเชื่อ. บ่อยครั้ง พวกเราเผชิญความไม่แยแสหรือการเป็นปฏิปักษ์. แต่เราไม่กลัว. เรารู้ว่าพระยะโฮวาทรงมีพลานุภาพมากกว่าพวกที่เป็นปฏิปักษ์ไม่ว่าใครก็ตาม ทั้งที่เห็นประจักษ์และไม่ประจักษ์. (ยะซายา 40:15; เอเฟโซ 6:10-13) พวกเราจะไม่ละเลยถ้อยคำที่ว่า “จงคอยท่าพระยะโฮวา: จงตั้งข้อให้แข็งและทำใจไว้ให้กล้าหาญ; จงคอยท่าพระยะโฮวาเถิด.”—บทเพลงสรรเสริญ 27:14.
“ให้กล่าวแต่ตามจริงซึ่งกันแลกัน”
11, 12. พวกเราแต่ละคนควรจดจำสิ่งใดไว้ ถ้าเราต้องการมีส่วนร่วมรับพระพรเต็มขนาดตามที่พระยะโฮวาประทานแก่ไพร่พลของพระองค์?
11 ที่จะร่วมรับพระพรต่าง ๆ เต็มที่จากพระยะโฮวา มีบางสิ่งที่เราพึงจดจำ. ซะคาระยาบอกดังนี้: “ท่านทั้งหลายจำจะต้องประพฤติในคำเหล่านี้, คือว่าให้กล่าวแต่ตามจริงซึ่งกันแลกัน, แลจงพิพากษาการพิพากษาด้วยความจริง, แลสุภาพ [“ด้วยสันติสุข,” ล.ม.] ในประตูเมืองของท่านทั้งหลาย. จงอย่าได้คิดความชั่วในใจแก่เพื่อนซึ่งกันแลกัน, แลอย่าได้รักคำสาบานเท็จ, เพราะว่าพระยะโฮวาตรัสว่า, เหตุเหล่านี้เป็นการที่เราทรงเกลียดชัง.”—ซะคาระยา 8:16, 17.
12 พระยะโฮวาทรงกระตุ้นเตือนพวกเราให้พูดความจริง. (เอเฟโซ 4:15, 25) พระองค์ไม่สดับคำอธิษฐานของคนวางอุบายเพื่อให้เกิดภยันตราย, หรืออำพรางความจริงเพื่อได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน, หรือกล่าวสาบานเป็นคำเท็จ. (สุภาษิต 28:9) ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงชังการออกหาก พระองค์จึงประสงค์จะให้เรายึดมั่นในความจริงของคัมภีร์ไบเบิล. (บทเพลงสรรเสริญ 25:5; 2 โยฮัน 9-11) ยิ่งกว่านั้น เช่นเดียวกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่ประตูเมืองยะรูซาเลม ผู้ปกครองที่ดำเนินการตัดสินความก็ควรให้คำแนะนำและการตัดสินของเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงในพระคัมภีร์ ไม่ใช่ความคิดเห็นของตนเอง. (โยฮัน 17:17) พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้พวกเขาแสวงหาการ “พิพากษาด้วยความ . . . สุภาพ [“สันติสุข,” ล.ม.]” ใช้ความพยายามในฐานะคริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยง เพื่อให้สองฝ่ายที่บาดหมางกันคืนสู่ความสงบสุขดังเดิม และช่วยผู้กระทำบาปที่กลับใจให้มีสันติสุขกับพระเจ้าอีก. (ยาโกโบ 5:14, 15; ยูดา 23) ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็รักษาไว้ซึ่งสันติสุขของประชาคม โดยกล้าขับไล่ผู้ที่ก่อกวนความสงบสุขนั้น ซึ่งเจตนาทำผิดเรื่อยไป.—1 โกรินโธ 6:9, 10.
“ความยินดีแลความชื่นใจ”
13. (ก) ซะคาระยาพยากรณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับการถือศีลอดอาหาร? (ข) มีการถือศีลอดอาหารเมื่อไรในยิศราเอล?
13 ตอนนี้เราจะฟังถ้อยแถลงอันน่าเกรงขามครั้งที่แปด: “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า, ศีลอดอาหารแห่งเดือนสี่แลเดือนห้า, แลเดือนเจ็ดแลเดือนสิบนั้น, จะเป็นสำหรับความยินดีแลความชื่นใจ, แลเป็นคราวเทศกาลเลี้ยงแก่เรือนยะฮูดา, เหตุฉะนี้ ท่านทั้งหลายจงรักซึ่งความจริงแลความสงบ.” (ซะคาระยา 8:19) ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ ชาวยิศราเอลถือศีลอดอาหารในวันไถ่โทษ เพื่อแสดงถึงความเศร้าเสียใจเพราะการบาปของตน. (เลวีติโก 16:29-31) การถือศีลอดอาหารสี่คราวที่ซะคาระยากล่าวถึง ดูเหมือนว่าเป็นการทำเพื่อแสดงความเศร้าสลดเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์คราวที่ยะรูซาเลมถูกยึด และประสบความพินาศ. (2 กษัตริย์ 25:1-4, 8, 9, 22-26) แต่บัดนี้ พระวิหารกำลังถูกสร้างขึ้นใหม่ และกรุงยะรูซาเลมมีพลเมืองอีกครั้งหนึ่ง. ความเศร้าโศกกลับกลายเป็นความปีติยินดี และการถือศีลอดอาหารจึงกลายเป็นช่วงเวลาเลี้ยงฉลอง.
14, 15. (ก) การฉลองอนุสรณ์เป็นมูลเหตุสำคัญแห่งความปีติยินดีอย่างไร และการฉลองนี้น่าจะเตือนใจเราให้นึกถึงอะไร? (ข) ตามที่ปรากฏในรายงานประจำปี ประเทศใดบ้างมีจำนวนผู้เข้าร่วมในการประชุมอนุสรณ์ที่โดดเด่น?
14 ทุกวันนี้ พวกเราไม่ถือศีลอดอาหารอย่างที่ซะคาระยากล่าวไว้ หรืออดอาหารตามที่กำหนดไว้ในพระบัญญัติ. เนื่องจากพระเยซูได้ทรงสละชีวิตของพระองค์เพื่อไถ่บาปของเรา เราจึงได้รับพระพรจากวันไถ่โทษที่ยิ่งใหญ่กว่า. บาปของเราจะได้รับการอภัย ไม่ใช่เพียงบางส่วน แต่ทั้งหมด. (เฮ็บราย 9:6-14) ด้วยการเชื่อฟังคำสั่งของพระเยซูคริสต์ มหาปุโรหิตในสวรรค์ เราจึงฉลองวันวายพระชนม์ของพระองค์ฐานะเป็นวาระสำคัญครั้งเดียวที่คริสเตียนฉลอง. (ลูกา 22:19, 20) เราประสบ “ความยินดีแลความชื่นใจ” มิใช่หรือเมื่อเราได้พบปะชุมนุมกันทุกปีเพื่อการฉลองนั้น?
15 ปีที่แล้ว ผู้เข้าร่วมฉลองการประชุมอนุสรณ์มีจำนวน 13,147,201 คน มากกว่าเมื่อปี 1994 ถึง 858,284 คน. ช่างเป็นจำนวนมหาศาลอะไรเช่นนั้น! ลองนึกภาพความยินดีในประชาคมพยานพระยะโฮวา 78,620 แห่งเมื่อฝูงชนมากมายผิดปกติหลั่งไหลเข้ามาร่วมฉลอง ณ หอประชุม. แน่นอน ทุกคนซึ่งอยู่ที่นั่นต่างก็ได้รับแรงกระตุ้นให้ “รักซึ่งความจริงแลความสงบ” ขณะที่เขาระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์ผู้นั้น ซึ่งเป็น “ทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต” และซึ่งเวลานี้ทรงปกครองในฐานะ “องค์สันติราช” ที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา! (โยฮัน 14:6, ล.ม.; ยะซายา 9:6) การฉลองนั้นมีความหมายเป็นพิเศษสำหรับคนเหล่านั้นในประเทศที่ประสบความยากลำบากเนื่องจากความวุ่นวายและการสู้รบ. พี่น้องของเราบางคนได้เป็นประจักษ์พยานของความสยดสยองเกินคำบรรยายในช่วงปี 1995. กระนั้น ‘สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างได้ป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของเขาไว้โดยพระเยซูคริสต์.’—ฟิลิปปอย 4:7, ล.ม.
‘ให้เราอ้อนวอนต่อพระพักตร์พระยะโฮวา’
16, 17. ประชาชนในประเทศต่าง ๆ จะ “อ้อนวอนต่อพระพักตร์พระยะโฮวา” ได้อย่างไร?
16 แต่ว่าคนหลายล้านซึ่งเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์มาจากที่ไหน? ถ้อยแถลงที่เก้าของพระยะโฮวาให้อรรถาธิบายดังนี้: “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า, หมู่ชนทั้งปวงยังจะมา แลชนเมืองทั้งหลายแห่งเมืองเป็นอันมาก, แลชนเมืองตำบลหนึ่งจะไปถึงเมืองอื่นกล่าวว่า, ให้เราทั้งหลายไปเร็วเพื่อจะอ้อนวอนต่อพระพักตร์พระยะโฮวา, แลเพื่อจะแสวงหายะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลาย, ข้าจะไปด้วย. แท้จริงชนเมืองแลประเทศทั้งหลายเป็นอันมากจะมาแสวงหายะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายในเมืองยะรูซาเลม, เพื่อจะอ้อนวอนต่อพระพักตร์พระยะโฮวา.”—ซะคาระยา 8:20-22.
17 ผู้คนที่ได้เข้าร่วมในการประชุมอนุสรณ์ต้องการ “แสวงหายะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลาย.” หลายคนในจำนวนเหล่านี้เป็นผู้รับใช้ที่อุทิศตัว รับบัพติสมาแล้ว. อีกหลายล้านคนนอกนั้นที่เข้าร่วมประชุมยังไม่บรรลุขั้นนั้น. ในบางประเทศ ผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์มีมากเป็นสี่หรือห้าเท่าของจำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักร. ผู้สนใจมากมายเหล่านี้จำต้องได้รับการช่วยต่อไปเพื่อจะก้าวหน้า. ให้เราสอนเขาที่จะมีความชื่นชมยินดีที่ได้รู้ว่าพระเยซูทรงวายพระชนม์เพื่อยกบาปของเราและเดี๋ยวนี้ทรงปกครองในราชอาณาจักรของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 5:7, 8; วิวรณ์ 11:15) และให้เราสนับสนุนพวกเขาให้อุทิศตัวแด่พระเจ้ายะโฮวาและยอมตัวอยู่ใต้อำนาจพระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า. ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจะ “อ้อนวอนต่อพระพักตร์พระยะโฮวา.”—บทเพลงสรรเสริญ 116:18, 19; ฟิลิปปอย 2:12, 13.
“สิบคนแต่บรรดาภาษาประเทศเมืองทั้งปวง”
18, 19. (ก) ในความสำเร็จของคำพยากรณ์ที่ซะคาระยา 8:23 ใครคือ “คนชาติยูดาย” สมัยปัจจุบัน? (ข) ใครคือ “สิบคน” ซึ่ง “ยึดชายเสื้อแห่งคนชาติยูดาย”?
18 เป็นครั้งสุดท้ายในซะคาระยาบทแปด ที่เราอ่านวลีที่ว่า “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้.” ถ้อยแถลงสุดท้ายของพระยะโฮวาคืออะไร? “ในวันเหล่านั้นจะเป็นไป, คือว่าสิบคนแต่บรรดาภาษาประเทศเมืองทั้งปวง, จะยึดชายเสื้อแห่งคนชาติยูดายว่า, เราจะไปด้วยท่าน, เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.” (ซะคาระยา 8:23) ในสมัยซะคาระยา ชาติยิศราเอลโดยกำเนิดเป็นชนชาติที่ถูกเลือกสรรของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี ในศตวรรษที่หนึ่ง ชาติยิศราเอลได้ปฏิเสธพระมาซีฮาของพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าของเราทรงเลือกสรร “ชาติยูดาย” คือยิศราเอลใหม่เป็นชนชาติพิเศษสำหรับพระองค์ คือ “พวกยิศราเอลของพระเจ้า” ประกอบด้วยคนยิวฝ่ายวิญญาณ. (ฆะลาเตีย 6:16; โยฮัน 1:11; โรม 2:28, 29) จำนวนผู้ถูกเลือกเหล่านี้คือ 144,000 คน ซึ่งถูกเลือกจากท่ามกลางมนุษยชาติเพื่อจะร่วมปกครองกับพระเยซูในราชอาณาจักรของพระองค์ทางภาคสวรรค์.—วิวรณ์ 14:1, 4.
19 ชน 144,000 คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ล่วงลับไปแล้วอย่างซื่อสัตย์และได้ไปรับรางวัลของตนแล้วในสวรรค์. (1 โกรินโธ 15:51, 52; วิวรณ์ 6:9-11) มีเหลือเพียงจำนวนเล็กน้อยบนแผ่นดินโลกและคนเหล่านี้ชื่นชมยินดีที่เห็นว่า “สิบคน” ซึ่งเลือกที่จะไปด้วยกันกับ “ชาติยูดาย” เป็น “ชนฝูงใหญ่. . . . จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง” จริง ๆ.—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; ยะซายา 2:2, 3; 60:4-10, 22.
20, 21. ขณะที่อวสานของโลกนี้ใกล้เข้ามาทุกที เราจะคงความสงบสุขกับพระยะโฮวาได้อย่างไร?
20 ขณะที่อวสานของโลกนี้ใกล้เข้ามาอย่างเลี่ยงไม่พ้น คริสต์ศาสนจักรก็เหมือนกับกรุงยะรูซาเลมสมัยยิระมะยาคือ: “พวกข้าพเจ้าได้คอยดูเพื่อจะได้ความสุข, แลหามีความดีไม่, แลได้คอยหาเวลาที่จะรักษาหาย, แลนี่แน่ะมีแต่ความทุกข์ [“ความหวาดกลัว,” ล.ม.].” (ยิระมะยา 14:19) ความหวาดกลัวจะถึงจุดสุดยอดเมื่อชาติต่าง ๆ หันไปเล่นงานศาสนาเท็จและนำพวกเขาไปสู่จุดจบอย่างรุนแรง. ต่อจากนั้นไม่นาน ชาติต่าง ๆ เองก็จะประสบความพินาศในสงครามสุดท้ายของพระเจ้า อันได้แก่ อาร์มาเก็ดดอน. (มัดธาย 24:29, 30; วิวรณ์ 16:14, 16; 17:16-18; 19:11-21) นั่นจะเป็นเวลาแห่งความโกลาหลสักเพียงใด!
21 ตลอดเวลานั้น พระยะโฮวาจะทรงคุ้มครองคนเหล่านั้นที่รักความจริงและเพาะปลูก “เมล็ดแห่งสันติสุข.” (ซะคาระยา 8:12, ล.ม.; ซะฟันยา 2:3) เช่นนั้นแล้ว ขอให้พวกเราคงอยู่อย่างปลอดภัยภายในแผ่นดินแห่งไพร่พลของพระองค์ สรรเสริญพระองค์อย่างเปิดเผยด้วยความกระตือรือร้นและช่วยเหลือผู้คนให้มากเท่าที่เป็นไปได้ให้ “อ้อนวอนต่อพระพักตร์พระยะโฮวา.” ถ้าเราทำอย่างนี้ เราจะมีสันติสุขกับพระยะโฮวาเสมอ. ถูกแล้ว “พระยะโฮวาประทานกำลังแก่พลไพร่ของพระองค์; พระยะโฮวาจะทรงอวยพระพรแก่พลไพร่ของพระองค์ให้มีความสงบสุข.”—บทเพลงสรรเสริญ 29:11.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ ไพร่พลของพระเจ้าทำให้ ‘มือของเขามีกำลัง’ ได้อย่างไรในสมัยซะคาระยา? และทุกวันนี้ล่ะ?
▫ เรามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการข่มเหง, การเป็นปฏิปักษ์, และความเย็นชา?
▫ อะไรเกี่ยวข้องด้วยในการที่เรา “กล่าวแต่ความจริงซึ่งกันและกัน”?
▫ คนเราจะ “อ้อนวอนต่อพระพักตร์พระยะโฮวา” ได้โดยวิธีใด?
▫ มีสาเหตุใหญ่อะไรสำหรับความชื่นชมยินดีที่เห็นได้จากความสำเร็จสมจริงของคำพยากรณ์ที่ซะคาระยา 8:23?
[รูปหน้า 18]
ปีที่แล้ว พยานพระยะโฮวาใช้เวลา 1,150,353,444 ชั่วโมงพูดคุยกับประชาชนเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า