พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมมาลาคี
การสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ในกรุงเยรูซาเลมแล้วเสร็จมา 70 กว่าปีแล้ว. แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาพฝ่ายวิญญาณของชาวยิวก็ตกต่ำลงอย่างมาก. แม้แต่พวกปุโรหิตก็กลายเป็นคนเสื่อมทราม. ใครจะทำให้พวกเขาสำนึกถึงสถานภาพที่แท้จริงของตน และพยายามช่วยฟื้นฟูสภาพฝ่ายวิญญาณของพวกเขาขึ้นใหม่? พระยะโฮวาทรงมอบงานนี้ให้ผู้พยากรณ์มาลาคี.
พระธรรมเล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งเขียนโดยมาลาคีในลีลาการเขียนที่หนักแน่นมีพลัง บันทึกคำพยากรณ์ที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า. การใส่ใจฟังถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของมาลาคีจะช่วยเราให้เตรียมพร้อมสำหรับ “วันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา” เมื่อระบบชั่วในปัจจุบันถึงจุดอวสาน.—มาลาคี 4:5, ล.ม.
พวกปุโรหิต ‘ทำให้คนเป็นอันมากสะดุดล้มลง’
พระยะโฮวาทรงบอกชาวอิสราเอลถึงความรู้สึกของพระองค์ โดยตรัสว่า “เราได้รักเจ้าทั้งหลาย.” แต่พวกปุโรหิตได้ดูหมิ่นพระนามของพระเจ้า. โดยวิธีใด? “ก็ในเรื่องที่เอาขนมมลทินมาบูชาที่แท่นของ [พระองค์]” และถวาย “สัตว์ขาหักและเป็นโรค.”—มาลาคี 1:2, 6-8.
พวกปุโรหิต ‘ทำให้คนเป็นอันมากสะดุดล้มลงในเรื่องคำสอน.’ ผู้คน “ลวงกันและกัน.” บางคนได้รับหญิงต่างชาติมาเป็นภรรยา. ส่วนคนอื่น ๆ ทรยศ “เมีย [ของเขา] ซึ่งได้กันเมื่อครั้งหนุ่มสาว.”—มาลาคี 2:8, 10, 11, 14-16.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
2:2 (ฉบับแปลใหม่)—พระยะโฮวาทรง ‘สาปแช่งพระพร’ ของพวกปุโรหิตที่ดื้อดึงในแง่ใด? พระเจ้าทรงทำเช่นนั้นในความหมายที่ว่า พรที่ปุโรหิตเหล่านั้นทูลขอจะกลับกลายเป็นคำสาปแช่ง.
2:3—การเอา “อาจมของสัตว์ . . . ซัดใส่” หน้าของพวกปุโรหิตนั้นหมายความเช่นไร? ตามที่กล่าวในพระบัญญัติ มูลของสัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชาต้องนำออกไปนอกค่ายแล้วเผาทิ้ง. (เลวีติโก 16:27) การเอามูลสัตว์ซัดใส่หน้าของพวกปุโรหิตหมายความว่า พระยะโฮวาทรงปฏิเสธเครื่องบูชานั้นและเหล่าคนที่ถวายเครื่องบูชาดังกล่าวก็น่ารังเกียจสำหรับพระองค์.
2:13—แท่นบูชาของพระยะโฮวาเจิ่งนองไปด้วยน้ำตาของใคร? น้ำตาที่ว่านี้เป็นของบรรดาภรรยาซึ่งไปยังพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ และระบายความทุกข์ใจออกมาเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา. อะไรเป็นเหตุให้พวกนางโศกเศร้าเช่นนั้น? สามีชาวยิวได้ขอหย่าด้วยเหตุผลที่มิชอบด้วยกฎหมายและทิ้งพวกนางไป อาจเพราะต้องการสมรสกับหญิงต่างชาติที่สาวกว่า.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:10. พระยะโฮวาไม่พอพระทัยของถวายจากพวกปุโรหิตที่ละโมบ ซึ่งเก็บค่าธรรมเนียมแม้แต่กับงานรับใช้ธรรมดา ๆ เช่น การปิดประตูหรือการจุดไฟที่แท่นบูชา. นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่การนมัสการของเรา รวมทั้งสิ่งที่เราทำในงานรับใช้ของคริสเตียนนั้น จะมาจากแรงกระตุ้นของความรักแบบที่ไม่เห็นแก่ตัวซึ่งมีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนบ้าน ไม่ใช่เพราะเห็นแก่เงิน!—มัดธาย 22:37-39; 2 โครินท์ 11:7.
1:14; 2:17. พระยะโฮวาไม่ยอมทนกับความหน้าซื่อใจคด.
2:7-9. คนเหล่านั้นที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสอนในประชาคมควรแน่ใจว่าสิ่งที่พวกเขาสอนนั้นสอดคล้องกับพระคัมภีร์บริสุทธิ์ พระคำของพระเจ้า และสอดคล้องกับสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักของ “คนรับใช้ที่ซื่อสัตย์.”—ลูกา 12:42; ยาโกโบ 3:11.
2:10, 11. พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้ผู้นมัสการพระองค์เอาใจใส่อย่างจริงจังต่อคำแนะนำที่ให้สมรสกับ “ผู้ที่เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—1 โครินท์ 7:39.
2:15, 16. ผู้นมัสการแท้ต้องมีความนับถืออย่างสูงต่อคำสัญญาการสมรสที่ทำกับภรรยาซึ่งได้เมื่อครั้งเป็นหนุ่ม.
“องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้จะเสด็จมายังพระวิหารของพระองค์”
“โดยกะทันหัน องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้ [พระยะโฮวาพระเจ้า] จะเสด็จมายังพระวิหารของพระองค์” พร้อมกับ “ทูตแห่งสัญญาไมตรี [พระเยซูคริสต์].” พระเจ้า ‘จะเข้ามาใกล้ประชาชนของพระองค์เพื่อพิจารณาพิพากษา’ และเป็นพยานที่รวดเร็วในการปรับโทษผู้กระทำผิดทั้งสิ้น. นอกจากนี้ “หนังสือบันทึกความจำ” ได้ถูกเขียนขึ้นสำหรับคนเหล่านั้นที่เกรงกลัวพระยะโฮวา.—มาลาคี 3:1, ล.ม., 3, 5, 16.
วันซึ่ง “มีการเผาให้ไหม้ดุจเผาในเตาไฟ” จะมาและจะเผาผลาญคนชั่วทั้งสิ้น. ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง ผู้พยากรณ์คนหนึ่งจะถูกส่งไปเพื่อ “ให้ใจของผู้เป็นพ่อหวนหาลูก, และใจของลูกหวนหันกลับมาหาพ่อ.”—มาลาคี 4:1, 5, 6.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
3:1-3 (ล.ม.)—“องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้” และ “ทูตแห่งสัญญาไมตรี” เสด็จมายังพระวิหารเมื่อไร และใครถูกส่งมาก่อนพระองค์ทั้งสอง? พระยะโฮวาเสด็จมายังพระวิหารโดยทางผู้แทนพระองค์และได้ชำระพระวิหารให้สะอาดในวันที่ 10 เดือนไนซานปีสากลศักราช 33. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนที่พระเยซูเสด็จเข้าไปในพระวิหารและขับไล่ผู้คนที่กำลังซื้อขายกันออกไป. (มาระโก 11:15) นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากพระเยซูได้รับการเจิมเพื่อจะเป็นกษัตริย์ในอนาคตแล้วสามปีครึ่ง. สอดคล้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ดูเหมือนว่าสามปีครึ่งหลังจากขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในสวรรค์ พระเยซูเสด็จมายังวิหารฝ่ายวิญญาณกับพระยะโฮวาและทรงพบว่าประชาชนของพระเจ้าจำเป็นต้องได้รับการชำระให้สะอาด. ในสมัยศตวรรษแรก โยฮันผู้ให้บัพติสมาถูกส่งไปล่วงหน้าเพื่อเตรียมชาวยิวไว้สำหรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์. ในสมัยปัจจุบัน ผู้ส่งข่าวก็ถูกส่งไปล่วงหน้าเพื่อเตรียมทางไว้สำหรับการเสด็จมายังวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวา. ราว ๆ ต้นทศวรรษ 1880 กลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเริ่มเข้าร่วมในงานสอนคัมภีร์ไบเบิลเพื่อฟื้นฟูความจริงพื้นฐานหลายเรื่องที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลให้แก่คนเหล่านั้นที่มีหัวใจสุจริต.
3:10—การถวาย “ส่วนสิบชักหนึ่ง [ทั้งหมด] ” หรือส่วนหนึ่งในสิบหมายถึงการถวายทั้งหมดที่เรามีแก่พระยะโฮวาไหม? พระบัญญัติของโมเซถูกยกเลิกไปโดยการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู ดังนั้น การถวายเงินหนึ่งในสิบส่วนจึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องในการนมัสการพระเจ้าในทุกวันนี้. กระนั้น การถวายส่วนหนึ่งในสิบมีความหมายเป็นนัย. (เอเฟโซส์ 2:15) นั่นไม่ได้หมายถึงการถวายทั้งหมดที่เรามี. ในขณะที่มีการถวายส่วนสิบชักหนึ่งทุก ๆ ปี แต่เราถวายทั้งหมดที่เรามีแก่พระยะโฮวาเพียงครั้งเดียว คือตอนที่เราอุทิศตัวแด่พระองค์และแสดงสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวโดยการรับบัพติสมาในน้ำ. นับแต่นั้นมา ทุกสิ่งที่เรามีล้วนเป็นของพระยะโฮวา. กระนั้น พระองค์ทรงยอมให้เราเลือกส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรามี ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งในสิบโดยนัย เพื่อใช้ในการรับใช้พระองค์. ส่วนหนึ่งในสิบโดยนัยคือ อะไรก็ตามที่สภาพการณ์อำนวยให้เราใช้ส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรามี และอะไรก็ตามที่หัวใจกระตุ้นเราให้ใช้ส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรามีนั้นในการรับใช้พระองค์. สิ่งที่เราถวายแด่พระยะโฮวาหมายรวมถึง เวลา, กำลัง, และทรัพย์สินที่ใช้ในการประกาศราชอาณาจักรและงานทำคนเป็นสาวก. นอกจากนี้ยังรวมถึงการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน, การเยี่ยมเพื่อนร่วมความเชื่อที่ป่วยหรือสูงอายุ และการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการนมัสการแท้.
4:3—ผู้นมัสการพระยะโฮวาจะ “เหยียบย่ำคนชั่ว” โดยวิธีใด? ประชาชนของพระเจ้าที่อยู่บนโลกจะไม่ได้ “เหยียบย่ำคนชั่ว” ตามตัวอักษร คือมีส่วนร่วมในการสำเร็จโทษพวกเขาตามการพิพากษาของพระองค์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คำกล่าวนี้บ่งชี้ว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาบนแผ่นดินโลกจะเหยียบย่ำคนชั่วโดยนัย ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการฉลองชัยชนะภายหลังอวสานของโลกซาตาน.—บทเพลงสรรเสริญ 145:20; วิวรณ์ 20:1-3.
4:4—เหตุใดเราควร “จำบัญญัติของโมเซ”? พระบัญญัตินั้นไม่มีผลผูกมัดคริสเตียน แต่กระนั้นพระบัญญัติเป็นเหมือน “เงาของสิ่งดีที่จะมีมา.” (ฮีบรู 10:1) ดังนั้น การใส่ใจพิจารณาพระบัญญัติของโมเซจะช่วยให้เรามองเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เขียนไว้นั้นสำเร็จเป็นจริงอย่างไร. (ลูกา 24:44, 45) นอกจากนั้น พระบัญญัติมี “แบบจำลองของสิ่งที่อยู่ในสวรรค์.” การศึกษาพระบัญญัติจึงนับว่าจำเป็น หากเราต้องการได้รับความเข้าใจเรื่องคำสอนและความประพฤติแบบคริสเตียน.—ฮีบรู 9:23.
4:5, 6 (ล.ม.)—“เอลียาห์ผู้พยากรณ์” เป็นภาพเล็งถึงใคร? มีการบอกล่วงหน้าว่า “เอลียาห์” จะทำงานฟื้นฟู ซึ่งก็คือการเตรียมหัวใจของผู้คน. ในสมัยศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช พระเยซูทรงชี้ตัวโยฮันผู้ให้บัพติสมาว่าเป็น “เอลียาห์.” (มัดธาย 11:12-14; มาระโก 9:11-13) คู่เทียบในสมัยปัจจุบันของท่านถูกส่งไป “ก่อนที่วันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาจะมา.” เอลียาห์ในสมัยนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45) ชนชั้นทาสแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมนี้ได้ทำงานอย่างขยันขันแข็งในการฟื้นฟูทางฝ่ายวิญญาณเรื่อยมา.
บทเรียนสำหรับเรา:
3:10. การที่เราไม่ได้ถวายสิ่งที่ดีที่สุดของเราแด่พระยะโฮวาทำให้ตัวเราเองไม่ได้รับพระพรจากพระองค์.
3:14, 15. เนื่องจากตัวอย่างที่ไม่ดีของพวกปุโรหิต ชาวยิวเริ่มมองดูการรับใช้พระเจ้าราวกับเป็นสิ่งที่ด้อยค่า. คนเหล่านั้นซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมคริสเตียนควรเป็นแบบอย่างที่ดี.—1 เปโตร 5:1-3.
3:16. พระยะโฮวาทรงบันทึกชื่อคนเหล่านั้นที่เกรงกลัวและซื่อสัตย์ต่อพระองค์. พระองค์ทรงระลึกถึงและจะคุ้มครองพวกเขาในคราวที่ทรงนำอวสานมาสู่โลกชั่วของซาตาน. ดังนั้น ขอเราตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงที่มีต่อพระเจ้าอย่าให้เสื่อมคลายลง.—โยบ 27:5.
4:1. ในวันที่ต้องให้การต่อพระยะโฮวา ทั้ง “ราก” และ “กิ่งก้าน” จะได้รับผลอย่างเดียวกัน—เด็กจะได้รับการพิพากษาแบบเดียวกับบิดามารดา. บิดามารดามีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญสักเพียงไรต่อลูกวัยเยาว์ของตน! บิดามารดาคริสเตียนต้องบากบั่นพยายามในการแสวงหาความพอพระทัยจากพระเจ้าและรักษาฐานะอันดีจำเพาะพระองค์เอาไว้.—1 โครินท์ 7:14.
“จงเกรงกลัวพระเจ้าเที่ยงแท้”
ใครจะได้รับการคุ้มครองใน “วันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา”? (มาลาคี 4:5, ล.ม.) พระยะโฮวาตรัสว่า “สำหรับพวกเจ้าซึ่งเกรงกลัวพระนามของเราดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรมจะส่องแสง พร้อมกับปีกที่ให้การรักษา; และเจ้าจะออกไปและโขกพื้นดินเหมือนลูกวัวอ้วนพี.”—มาลาคี 4:2, ล.ม.
พระเยซูคริสต์ “ดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรม” จะส่องแสงแก่คนเหล่านั้นที่เกรงกลัวพระนามของพระเจ้าด้วยความเลื่อมใส และพวกเขาจะได้รับความโปรดปรานจากพระยะโฮวา. (โยฮัน 8:12) สำหรับพวกเขาแล้ว ยังมี “ปีกที่ให้การรักษา” ซึ่งก็คือการเยียวยาทางฝ่ายวิญญาณในขณะนี้และการเยียวยาอย่างครบถ้วนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ในโลกใหม่ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 22:1, 2) ด้วยความตื่นเต้นยินดี พวกเขาแสดงท่าทาง “เหมือนลูกวัวอ้วนพี.” เมื่อคำนึงว่ามีพระพรดังกล่าวรอคอยเราอยู่ ขอให้เราใส่ใจฟังคำตักเตือนของกษัตริย์ซะโลโมที่ว่า “จงเกรงกลัวพระเจ้าเที่ยงแท้และถือรักษาพระบัญชาของพระองค์. เพราะนี่คือพันธะทั้งสิ้นของมนุษย์.”—ท่านผู้ประกาศ 12:13, ล.ม.
[ภาพหน้า 26]
ผู้พยากรณ์มาลาคี ผู้รับใช้พระเจ้าที่มีใจแรงกล้าและทุ่มเทตัวเอง
[ภาพหน้า 29]
สิ่งที่เราสอนควรสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล
[ภาพหน้า 29]
ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีความนับถืออย่างสูงต่อคำสัญญาการสมรส