การปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาเป็นการสรรเสริญพระองค์
“ข้าพเจ้า . . . จะยกย่องพระองค์โดยขอบพระเดชพระคุณ.”—บทเพลงสรรเสริญ 69:30.
1. (ก) เพราะเหตุใดพระยะโฮวาทรงสมควรได้รับการสรรเสริญ? (ข) เราสรรเสริญพระองค์ด้วยความขอบพระคุณโดยวิธีใด?
พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ, องค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ, และพระผู้สร้าง. ด้วยฐานะดังกล่าว พระนามและพระประสงค์ของพระองค์สมควรได้รับการสรรเสริญ. การสรรเสริญพระยะโฮวาหมายถึงการยกย่องพระองค์สูงสุดโดยคำพูดและการกระทำ. เพื่อจะทำอย่างนั้น “โดยขอบพระเดชพระคุณ” เราจำเป็นต้องสำนึกในพระคุณเสมอสำหรับสิ่งที่พระองค์กำลังทำเพื่อเราในขณะนี้และสิ่งที่พระองค์จะทำในอนาคต. เจตคติที่เราจำต้องมีจะเห็นได้จากวิวรณ์ 4:11 ซึ่งเหล่ากายวิญญาณที่ซื่อสัตย์ในสวรรค์ประกาศว่า “พระองค์เป็นผู้สมควรจะรับสง่าราศีและยศศักดิ์และฤทธานุภาพ เพราะว่าพระองค์ได้ทรงสร้างสรรพสิ่ง, และสรรพสิ่งนั้นก็ได้อุบัติขึ้นแล้วตามชอบพระทัยของพระองค์.” เราสรรเสริญพระยะโฮวาโดยวิธีใด? โดยเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์และทำในสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกร้องให้เราทำ. เราควรรู้สึกเช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเมื่อท่านกล่าวว่า “ขอทรงโปรดฝึกสอนข้าพเจ้าให้ประพฤติตามพระทัยของพระองค์; เพราะพระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 143:10.
2. พระยะโฮวาทรงปฏิบัติอย่างไรต่อผู้ที่สรรเสริญพระองค์และต่อผู้ที่ไม่สรรเสริญพระองค์?
2 พระยะโฮวาทรงชื่นชอบคนที่สรรเสริญพระองค์. นั่นเป็นเหตุที่พระองค์ทรงเป็น “ผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ.” (เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) บำเหน็จดังกล่าวคืออะไร? พระเยซูตรัสในคำอธิษฐานถึงพระบิดาฝ่ายสวรรค์ว่า “นี่แหละหมายถึงชีวิตนิรันดร์ คือการที่เขารับเอาความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ ผู้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือพระเยซูคริสต์.” (โยฮัน 17:3, ล.ม.) ถูกแล้ว คนที่ “ยกย่อง [พระยะโฮวา] โดยขอบพระเดชพระคุณ” จะ “ได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และจะอาศัยอยู่ที่นั่นต่อไปเป็นนิตย์.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:29) ในทางตรงข้าม “คนชั่วไม่มีอนาคต.” (สุภาษิต 24:20, ฉบับแปลใหม่) และในสมัยสุดท้ายนี้ ความจำเป็นที่จะสรรเสริญพระยะโฮวาเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะในอีกไม่ช้าพระองค์จะทรงทำลายคนชั่วและคุ้มครองรักษาคนชอบธรรม. “โลกนี้กับความใคร่ของโลกกำลังผ่านพ้นไป แต่ผู้ที่ประพฤติตามพระทัยของพระเจ้าคงจะตั้งอยู่เป็นนิตย์.”—1 โยฮัน 2:17; สุภาษิต 2:21, 22.
3. เหตุใดเราควรเอาใจใส่พระธรรมมาลาคี?
3 พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาสามารถพบได้ในคัมภีร์ไบเบิล เพราะ “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) พระคำของพระเจ้าบันทึกเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาทรงอวยพรผู้ที่สรรเสริญพระองค์และเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่สรรเสริญพระองค์. บันทึกเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอิสราเอลระหว่างสมัยของผู้พยากรณ์มาลาคี. ประมาณปี 443 ก่อนสากลศักราช ระหว่างที่นะเฮมยาเป็นผู้สำเร็จราชการของยูดาห์ มาลาคีเขียนพระธรรมซึ่งเรียกตามชื่อของท่าน. หนังสือที่มีพลังและน่าตื่นเต้นเล่มนี้มีข้อมูลและคำพยากรณ์ที่ “บันทึกไว้เพื่อเตือนพวกเราซึ่งกำลังอยู่ในกาลสิ้นสุดแห่งระบบต่าง ๆ.” (1 โกรินโธ 10:11, ล.ม.) การเอาใจใส่คำกล่าวของมาลาคีช่วยเราได้ให้เตรียมพร้อมสำหรับ “วันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา” เมื่อพระองค์ทรงทำลายระบบชั่วนี้.—มาลาคี 4:5, ล.ม.
4. พระธรรมมาลาคีบท 1 นำเราให้พิจารณาหกจุดอะไร?
4 พระธรรมมาลาคี ซึ่งเขียนเมื่อกว่า 2,400 ปีมาแล้ว ช่วยเราที่อยู่ในศตวรรษที่ 21 อย่างไรให้เตรียมพร้อมสำหรับวันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา? บทแรกนำเราให้สนใจอย่างน้อยหกจุดซึ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเราซึ่งต้องการจะสรรเสริญพระยะโฮวาด้วยความขอบพระคุณเพื่อจะได้รับความพอพระทัยและชีวิตนิรันดร์: (1) พระยะโฮวาทรงรักไพร่พลของพระองค์. (2) เราต้องแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์. (3) พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระองค์. (4) การนมัสการแท้ได้รับแรงกระตุ้นจากความรักอันไม่เห็นแก่ตัว ไม่ใช่ความโลภ. (5) การรับใช้ที่พระเจ้าทรงยอมรับไม่ใช่พิธีกรรมอันเป็นภาระหนัก. (6) เราแต่ละคนต้องให้การต่อพระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ในบทความแรกนี้จากทั้งหมดสามบทความที่จะพิจารณาพระธรรมมาลาคี ให้เรามาพิจารณาจุดเหล่านี้แต่ละจุดขณะที่เราตรวจดูพระธรรมมาลาคีบท 1 อย่างละเอียด.
พระยะโฮวาทรงรักไพร่พลของพระองค์
5, 6. (ก) เหตุใดพระยะโฮวาทรงรักยาโคบ? (ข) หากเราเลียนแบบอย่างความซื่อสัตย์ของยาโคบ เราสามารถคาดหมายอะไร?
5 ข้อแรก ๆ ของพระธรรมมาลาคีแสดงให้เห็นความรักของพระยะโฮวาอย่างชัดเจน. พระธรรมนี้เปิดด้วยคำกล่าวดังนี้: “เรื่องราวอันน่าหนักใจจากพระยะโฮวามีมาถึงพวกยิศราเอล.” พระเจ้าตรัสต่อไปอีกว่า “เราได้รักเจ้าทั้งหลาย.” ในข้อ 3 พระยะโฮวาทรงอ้างถึงตัวอย่างหนึ่งว่า “เราได้รักยาโคบ.” ยาโคบเป็นบุรุษผู้มีความเชื่อในพระยะโฮวา. ในเวลาต่อมา พระยะโฮวาทรงเปลี่ยนชื่อยาโคบเป็นอิสราเอล และท่านจึงได้กลายมาเป็นบรรพบุรุษของชาติอิสราเอล. ทั้งนี้เนื่องจากยาโคบเป็นบุรุษผู้มีความเชื่อที่พระยะโฮวาทรงรัก. พระยะโฮวาทรงรักชาวอิสราเอลที่แสดงเจตคติต่อพระยะโฮวาแบบเดียวกับยาโคบด้วยเช่นกัน.—มาลาคี 1:1, 2.
6 หากเรารักพระยะโฮวาและติดสนิทอยู่กับไพร่พลของพระองค์อย่างภักดี เราสามารถได้รับคำปลอบประโลมจากคำกล่าวที่ 1 ซามูเอล 12:22 (ฉบับแปลใหม่) ซึ่งอ่านว่า “พระเจ้าจะไม่ละทิ้งประชากรของพระองค์ด้วยเห็นแก่พระนามใหญ่ยิ่งของพระองค์.” พระยะโฮวาทรงรักไพร่พลของพระองค์และประทานบำเหน็จแก่พวกเขา ซึ่งบำเหน็จสุดยอดก็คือชีวิตนิรันดร์. เราจึงอ่านว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาและประพฤติการดี; จงอาศัยอยู่ที่แผ่นดิน, หาเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์. จงยังใจให้ชื่นชมในพระยะโฮวา; และพระองค์จะทรงโปรดประทานให้ตามที่ใจปรารถนานั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:3, 4) การที่เรารักพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับจุดที่สองซึ่งมาลาคีบท 1 นำเราให้สนใจ.
จงแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
7. เหตุใดพระยะโฮวาทรงชังเอซาว?
7 ดังที่เราอ่านในมาลาคี 1:2, 3 หลังจากพระยะโฮวาตรัสว่า “เราได้รักยาโคบ” พระองค์ตรัสต่อว่า “และชังเอซาว.” ทำไมจึงแตกต่างกัน? ยาโคบสรรเสริญพระยะโฮวา แต่เอซาวพี่ชายฝาแฝดของท่านไม่ได้ทำอย่างนั้น. เอซาวยังถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอะโดม. ที่มาลาคี 1:4 แผ่นดินอะโดมถูกเรียกว่าเขตแดนแห่งความชั่ว และผู้อาศัยในแผ่นดินนี้ก็ถูกประณาม. ชื่ออะโดม (หมายความว่า “แดง”) ได้ตั้งให้เอซาวหลังจากเขาได้ขายสิทธิบุตรหัวปีอันล้ำค่าแก่ยาโคบแลกกับต้มถั่วแดง. เยเนซิศ 25:34 อ่านดังนี้: “เอซาวได้ดูถูกสิทธิมรดกสำหรับบุตรหัวปีนั้น.” อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อให้ระวัง “เพื่อจะไม่มีคนผิดประเวณี หรือคนใดที่ไม่หยั่งรู้คุณค่าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนอย่างเอซาว ผู้ได้สละสิทธิ์ของเขาในฐานะเป็นบุตรหัวปี เพื่อแลกกับอาหารมื้อเดียว.”—เฮ็บราย 12:14-16, ล.ม.
8. อะไรคือสาเหตุที่เปาโลเปรียบเอซาวกับคนผิดประเวณี?
8 เหตุใดเปาโลจึงเชื่อมโยงการกระทำของเอซาวกับการผิดประเวณี? เนื่องจากการมีแนวคิดแบบเอซาวอาจทำให้คนเราไม่หยั่งรู้ค่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้. เมื่อเป็นอย่างนั้น อาจยังผลทำให้คนนั้นทำบาปร้ายแรง เช่น การผิดประเวณี. ดังนั้น เราแต่ละคนอาจถามดังนี้: ‘บางครั้ง ฉันถูกล่อใจให้สละมรดกสำหรับคริสเตียน คือชีวิตนิรันดร์ เพื่อแลกกับบางสิ่งที่ไม่ยั่งยืนอย่างต้มถั่วแดงสักชามหนึ่งไหม? อาจเป็นได้ไหมว่าฉันดูถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยที่ไม่รู้ตัว?’ เอซาวต้องการสนองความปรารถนาทางกายอย่างไม่ยอมอดทนรอ. เขาพูดกับยาโคบว่า “[“เร็วเข้าเถอะ,” ล.ม.] ขอผักแดงนั้นให้พี่รับประทานบ้างเถิด.” (เยเนซิศ 25:30) น่าเศร้า ผู้รับใช้บางคนของพระเจ้าประพฤติราวกับกล่าวว่า “เร็วเข้าเถอะ! ทำไมจะต้องคอยการสมรสที่มีเกียรติด้วยล่ะ?” การสนองความปรารถนาทางเพศโดยไม่คำนึงว่าจะก่อผลเสียหายเช่นไรกลายเป็นเหมือนกับต้มถั่วแดงชามหนึ่งสำหรับเขา.
9. เราจะรักษาไว้ซึ่งความเคารพยำเกรงพระยะโฮวาได้อย่างไร?
9 ขออย่าให้เราดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยไม่นับถือความบริสุทธิ์สะอาด, ความซื่อสัตย์มั่นคง, และมรดกฝ่ายวิญญาณของเรา. แทนที่จะเป็นเหมือนกับเอซาว ให้เราเป็นเหมือนกับยาโคบผู้ซื่อสัตย์และรักษาไว้ซึ่งความเคารพยำเกรงต่อพระเจ้าด้วยการแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์. เราจะทำอย่างนี้ได้อย่างไร? โดยการเอาใจใส่ในการทำตามข้อเรียกร้องของพระยะโฮวา. เรื่องนี้เกี่ยวโยงตามเหตุผลกับจุดที่สามซึ่งมาลาคีบท 1 กล่าวถึง. จุดสำคัญดังกล่าวคืออะไร?
ถวายสิ่งที่ดีที่สุดของเราแด่พระยะโฮวา
10. พวกปุโรหิตดูหมิ่นโต๊ะของพระยะโฮวาในลักษณะใด?
10 เหล่าปุโรหิตแห่งอาณาจักรยูดาห์ซึ่งรับใช้ ณ พระวิหารในกรุงเยรูซาเลมในสมัยของมาลาคีไม่ได้ถวายเครื่องบูชาที่ดีที่สุดแด่พระยะโฮวา. มาลาคี 1:6-8 อ่านดังนี้: “โอ้พวกปุโรหิต, คนดูหมิ่นนามของเรา, ยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสแก่ท่านว่า, ‘บุตรย่อมนับถือบิดา, และบ่าวย่อมกลัวเกรงนาย, ถ้าเราเป็นบิดาความยำเกรงต่อเราอยู่ที่ไหนกันเล่า? ถ้าเราเป็นนายก็ความคารวะต่อเราอยู่ที่ไหนกันนะ?’” พวกปุโรหิตถามว่า “เราได้ดูหมิ่นพระนามของพระองค์ในเรื่องอะไร?” พระยะโฮวาตรัสตอบว่า “ก็ในเรื่องที่เอาขนมมลทินมาบูชาที่แท่นของเราน่ะซี.” พวกปุโรหิตถามว่า “เราได้ทำให้เป็นมลทินอย่างไรกัน?” พระยะโฮวาจึงตรัสแก่พวกเขาว่า “ก็ในการที่เจ้าทั้งหลายกล่าวว่า, ‘โต๊ะของพระยะโฮวานั้นน่าเกลียดน่าชัง.’” ปุโรหิตเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาดูหมิ่นโต๊ะของพระยะโฮวาทุกครั้งที่ถวายเครื่องบูชาที่ไม่สมบูรณ์ และยังกล่าวว่า “ไม่เป็นการชั่ว.”
11. (ก) พระยะโฮวาตรัสเช่นไรเกี่ยวกับเครื่องบูชาซึ่งพระองค์ไม่ทรงยอมรับ? (ข) ประชาชนโดยทั่วไปมีความผิดอย่างไร?
11 จากนั้น พระยะโฮวาทรงหาเหตุผลเกี่ยวกับเครื่องบูชาที่ไม่อาจยอมรับได้เช่นนั้นดังนี้: “เอ้า, จงเอาของเหล่านี้ลองไปกำนัลเจ้าเมืองของเจ้า, ดูทีหรือว่า, เขาจะพอใจโปรดปรานรับไหม?” แน่นอน เจ้าเมืองของพวกเขาคงไม่พอใจรับของกำนัลแบบนั้นแน่. ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดที่องค์บรมมหิศรแห่งเอกภพจะไม่ทรงยินดีรับของถวายที่ไม่สมบูรณ์เช่นนั้น! และไม่เฉพาะแต่เหล่าปุโรหิตเท่านั้นที่ควรถูกตำหนิ. จริงอยู่ พวกเขาดูหมิ่นพระยะโฮวาโดยการถวายเครื่องบูชาเช่นนั้นจริง. แต่ประชาชนโดยทั่วไปปราศจากความผิดไหม? ไม่เลย! พวกเขาเป็นคนเลือกสัตว์ตาบอด, สัตว์พิการ, และสัตว์ป่วยแล้วนำมาให้เหล่าปุโรหิตถวาย. ช่างบาปมหันต์จริง ๆ!
12. เราได้รับความช่วยเหลืออย่างไรให้ถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระยะโฮวา?
12 การถวายสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้เป็นวิธีหนึ่งที่แสดงว่าเรารักพระองค์จริง ๆ. (มัดธาย 22:37, 38) ไม่เหมือนกับปุโรหิตที่ดื้อดึงในสมัยของมาลาคี องค์การของพระยะโฮวาในปัจจุบันให้คำแนะนำสั่งสอนที่ดีมากมายตามหลักพระคัมภีร์ ซึ่งช่วยเราให้สรรเสริญพระยะโฮวาด้วยความขอบพระคุณโดยทำตามข้อเรียกร้องของพระองค์. เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือจุดสำคัญจุดที่สี่ซึ่งเราสามารถได้บทเรียนจากพระธรรมมาลาคีบท 1.
การนมัสการแท้ได้รับแรงกระตุ้นจากความรัก ไม่ใช่ความโลภ
13. พวกปุโรหิตทำเช่นไรซึ่งแสดงว่าพวกเขาถูกกระตุ้นจากความโลภ?
13 เหล่าปุโรหิตในสมัยของมาลาคีเป็นคนเห็นแก่ตัว, ไม่มีความรัก, และโลภเงินทอง. เราทราบได้อย่างไร? มาลาคี 1:10 (ล.ม.) อ่านดังนี้: “พระยะโฮวาแห่งพลโยธาตรัสว่า ‘มีใครในพวกเจ้าจะปิดประตูไหม? และพวกเจ้าจะไม่จุดไฟที่แท่นของเรา โดยไม่ได้อะไร. เราไม่มีความยินดีในตัวเจ้าเลย และเราไม่พอใจเครื่องบูชาถวายจากมือของเจ้า.’” ใช่แล้ว ปุโรหิตผู้โลภมากเหล่านี้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับงานรับใช้ที่ปกติธรรมดาที่สุดในพระวิหาร เรียกร้องให้จ่ายแม้กระทั่งการปิดประตูและการจุดไฟที่แท่น! ไม่แปลกเลยที่พระยะโฮวาไม่พอพระทัยในเครื่องบูชาถวายจากมือของพวกเขา!
14. เหตุใดเราจึงกล่าวได้ว่าพยานพระยะโฮวาได้รับแรงกระตุ้นจากความรัก?
14 ความโลภและความเห็นแก่ตัวของปุโรหิตผู้ผิดบาปในกรุงเยรูซาเลมโบราณอาจช่วยเตือนใจเราได้เป็นอย่างดีว่า คนโลภจะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก ดังที่มีแจ้งไว้ในพระคำของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 6:9, 10) เมื่อคำนึงถึงวิธีที่ปุโรหิตเหล่านั้นรับใช้อย่างเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เราหยั่งรู้ค่ายิ่งขึ้นต่องานประกาศที่พยานพระยะโฮวาทำทั่วโลก. งานนี้เป็นงานอาสาสมัคร; เราไม่เคยคิดค่าแรงสำหรับงานรับใช้ของเรา. “เราไม่ใช่คนเร่ขายพระคำของพระเจ้า.” (2 โกรินโธ 2:17, ล.ม.) เช่นเดียวกับเปาโล เราแต่ละคนสามารถกล่าวอย่างสัตย์จริงได้ว่า “ข้าพเจ้าได้ประกาศกิตติคุณของพระเจ้าแก่พวกท่านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง.” (2 โกรินโธ 11:7) โปรดสังเกตว่าเปาโล “ประกาศกิตติคุณ [“ด้วยความยินดี,” ล.ม.].” เรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงจุดที่ห้าซึ่งมาลาคีบท 1 เน้นให้สนใจ.
การรับใช้พระเจ้าไม่ใช่พิธีกรรมที่เป็นภาระหนัก
15, 16. (ก) เหล่าปุโรหิตมีเจตคติเช่นไรต่อการถวายเครื่องบูชา? (ข) พยานพระยะโฮวาถวายเครื่องบูชาของตนอย่างไร?
15 ปุโรหิตที่ขาดความเชื่อในกรุงเยรูซาเลมโบราณมองการถวายเครื่องบูชาว่าเป็นพิธีกรรมอันน่าเหนื่อยหน่าย. งานนี้เป็นภาระหนักสำหรับพวกเขา. ดังจะสังเกตได้ในมาลาคี 1:13 พระเจ้าตรัสแก่พวกเขาว่า “เจ้าทั้งหลายว่า, ‘น่าอ่อนระอาใจจริง.’ แล้วเจ้าทั้งหลายก็ได้ทำจมูกฟุดฟิดดูถูกที่นั้น.” ปุโรหิตเหล่านั้นทำจมูกฟุดฟิด ๆ หรือดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า. ขอให้เราอธิษฐานอย่าให้เราเองเป็นอย่างพวกเขา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ขอให้เราสำแดงน้ำใจดังที่เห็นได้จากคำกล่าวที่ 1 โยฮัน 5:3 ที่ว่า “นี่แหละเป็นความรักพระเจ้า, คือว่าให้เราทั้งหลายประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์และพระบัญญัติของพระองค์หาหนักใจไม่.”
16 ขอให้เรายินดีในการถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณแด่พระเจ้า อย่าได้ถือว่านี่เป็นภาระหนักอันน่าเหนื่อยหน่าย. ขอให้เราเอาใจใส่คำกล่าวเชิงพยากรณ์ที่ว่า “จงทูล [พระยะโฮวา] ว่า, ‘ขอโปรดทรงยกความผิดของข้าพเจ้าทั้งหมด, และโปรดทรงรับพวกข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยพระกรุณา; ข้าพเจ้าทั้งหลายจะนำผลแห่งริมฝีปากของข้าพเจ้ามาเป็นสักการบูชาต่างโค.’” (โฮเซอา 14:2) คำกล่าวที่ว่า ‘จะนำผลแห่งริมฝีปากมาเป็นสักการบูชาต่างโค’ หมายถึงการถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณ คือคำพูดที่เรากล่าวสรรเสริญพระยะโฮวาและกล่าวถึงพระประสงค์ของพระองค์. เฮ็บราย 13:15 (ล.ม.) อ่านดังนี้: “โดย [พระเยซูคริสต์] จงให้เราถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย.” เรารู้สึกยินดีสักเพียงไรที่เครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณของเราไม่ได้เป็นเพียงการทำพอเป็นพิธี แต่เป็นการแสดงความรักของเราต่อพระเจ้าอย่างสิ้นสุดหัวใจ! เรื่องนี้นำเราไปถึงจุดที่หกซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้จากมาลาคีบท 1.
แต่ละคนต้องให้การ
17, 18. (ก) เหตุใดพระยะโฮวาทรงแช่ง “คนที่ปฏิบัติอย่างฉลาดแกมโกง”? (ข) คนที่ปฏิบัติอย่างฉลาดแกมโกงไม่ได้คำนึงถึงอะไร?
17 แต่ละคนที่อยู่ในสมัยของมาลาคีต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง เราก็เช่นกัน. (โรม 14:12; ฆะลาเตีย 6:5) ในเรื่องนี้ มาลาคี 1:14 (ล.ม.) กล่าวว่า “คำแช่งสาปจงตกแก่คนที่ปฏิบัติอย่างฉลาดแกมโกง เมื่อเขามีสัตว์ตัวผู้ในฝูง [ที่ปราศจากตำหนิ] และเขาสาบานและให้สัตว์พิการเป็นเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา.” คนที่มีฝูงสัตว์คือคนที่มีสัตว์ในครอบครองหลายตัว ไม่ใช่เพียงตัวเดียว—ซึ่งหากเป็นอย่างนี้เขาคงไม่มีทางเลือก. ในการเลือกสัตว์สำหรับถวายเป็นเครื่องบูชา เขาไม่มีความจำเป็นต้องเลือกตัวที่ตาบอด, พิการ, หรือป่วย. หากเขาเลือกสัตว์ที่ไม่สมประกอบเช่นนั้น นั่นย่อมแสดงว่าเขาดูหมิ่นการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเกี่ยวกับเครื่องบูชา เพราะคนที่มีสัตว์เป็นฝูงย่อมสามารถหาสัตว์ที่ไม่มีข้อบกพร่องดังกล่าวได้แน่นอน!
18 ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่ดี พระยะโฮวาทรงแช่งคนที่ปฏิบัติอย่างฉลาดแกมโกง คือคนที่มีสัตว์ตัวผู้ที่เหมาะสมแต่กลับนำสัตว์ที่ตาบอด, พิการ, หรือป่วยมาให้ปุโรหิตถวาย—อาจเป็นได้ว่าต้องลากมาด้วยซ้ำ. ถึงกระนั้น ไม่มีอะไรบ่งชี้แม้แต่น้อยว่ามีปุโรหิตคนใดที่กล่าวถึงพระบัญญัติของพระเจ้าและชี้ว่าสัตว์ไม่สมประกอบเช่นนั้นพระเจ้าไม่ทรงยอมรับ. (เลวีติโก 22:17-20) คนที่มีเหตุผลทราบว่าเขาคงถูกลงโทษแน่หากพยายามตบตาเจ้าเมืองด้วยของกำนัลเช่นนั้น. แต่อันที่จริง พวกเขากำลังติดต่ออยู่กับพระยะโฮวา องค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าเจ้าเมืองอย่างไม่อาจเทียบกันได้. มาลาคี 1:14 (ล.ม.) ชี้จุดนี้โดยกล่าวว่า “ ‘เราเป็นบรมมหากษัตริย์’ พระยะโฮวาแห่งพลโยธาได้ตรัส ‘และนามของเราจะเป็นที่เกรงขามท่ามกลางนานาชาติ.’”
19. เราปรารถนาอะไร และเราควรทำอะไร?
19 ในฐานะผู้รับใช้ที่ภักดีของพระเจ้า เราปรารถนาอย่างยิ่งให้ถึงวันนั้นเมื่อพระยะโฮวา มหากษัตริย์องค์ยิ่งใหญ่ เป็นที่เคารพยำเกรงจากมนุษยชาติทั้งสิ้น. ถึงตอนนั้น “แผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร.” (ยะซายา 11:9) ในระหว่างนี้ ขอเราพยายามให้ดีที่สุดเพื่อบรรลุข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาโดยการเลียนแบบอย่างผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญซึ่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้า . . . จะยกย่องพระองค์โดยขอบพระเดชพระคุณ.” (บทเพลงสรรเสริญ 69:30) เพื่อจะทำอย่างนั้น มาลาคีได้ให้คำแนะนำมากกว่านี้ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง. ดังนั้น ในสองบทความถัดไป ขอให้เราเอาใจใส่ต่อไปในส่วนที่เหลือของพระธรรมมาลาคี.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดเราควรสรรเสริญพระยะโฮวา?
• เหตุใดพระยะโฮวาไม่ทรงยอมรับเครื่องบูชาที่ปุโรหิตในสมัยของมาลาคีถวาย?
• เราถวายเครื่องบูชาแห่งคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวาอย่างไร?
• แรงกระตุ้นสำหรับการนมัสการแท้ควรได้แก่อะไร?
[ภาพหน้า 9]
คำพยากรณ์ของมาลาคีชี้ถึงสมัยของเรา
[ภาพหน้า 10]
เอซาวไม่หยั่งรู้ค่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์
[ภาพหน้า 11]
ปุโรหิตและประชาชนถวายเครื่องบูชาที่พระเจ้าไม่ทรงยอมรับ
[ภาพหน้า 12]
ตลอดทั่วโลก พยานพระยะโฮวาถวายเครื่องบูชาแห่งคำสรรเสริญโดยไม่คิดค่า