พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่ง
“พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่ง และพระองค์จะไม่เพิ่มความทุกข์ยากให้เลย.”—สุภาษิต 10:22.
1-3. ขณะที่หลายคนเป็นห่วงสิ่งต่าง ๆ ทางด้านวัตถุ ข้อเท็จจริงอะไรเกี่ยวกับความมั่งคั่งด้านวัตถุซึ่งทุกคนน่าจะรับรู้?
บางคนพูดแต่เรื่องเงินไม่มีหยุด—หรือบ่นว่าตนไม่มีเงิน. น่าเศร้าใจสำหรับพวกเขา ในปีหลัง ๆ นี้พวกเขามีเรื่องถกกันมากมาย. ปี 1992 แม้แต่ในโลกตะวันตกที่ร่ำรวยก็ประสบกับความซบเซา และนักบริหารรวมทั้งกรรมกรอยู่ในสภาวะว่างงาน. หลายคนสงสัยว่าตัวเองจะมีโอกาสได้เห็นความเจริญเฟื่องฟูที่มั่นคงอีกหรือไม่.
2 ผิดไหมที่จะเป็นห่วงชีวิตความเป็นอยู่ในทางวัตถุ? ไม่ผิด ในระดับพอควรก็เป็นเรื่องธรรมดา. ในเวลาเดียวกัน มีความจริงพื้นฐานที่เราต้องรับรู้เกี่ยวกับโภคทรัพย์. จะว่าไปแล้ว วัตถุสิ่งของทุกอย่างมาจากพระผู้สร้างทั้งสิ้น. พระองค์คือ “พระยะโฮวาเจ้า . . . ผู้ได้ทรงสร้างโลกและสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินนั้น, ผู้ได้ทรงประทานลมหายใจให้แก่มนุษย์บนพิภพ, และดวงจิตแก่คนที่เดินในโลก.”—ยะซายา 42:5.
3 แม้ว่าพระยะโฮวาไม่ได้กำหนดล่วงหน้าให้ใครรวยใครจน พวกเราทุกคนต้องให้การสำหรับวิธีที่เราใช้อะไรก็ตามที่เรามีอันเป็นโภคทรัพย์ “ที่เกิดขึ้นจากแผ่นดิน.” ถ้าเราใช้ทรัพย์สินของเราเพื่อวางอำนาจเหนือคนอื่น เราจะต้องให้การต่อพระยะโฮวา. และใครก็ตามที่ทำงานเยี่ยงทาสเพื่อจะร่ำรวยแทนที่จะเป็นทาสรับใช้พระยะโฮวาย่อมประสบว่า “ผู้ไว้วางใจในทรัพย์สินของตนจะล้มคะมำลง.” (สุภาษิต 11:28; มัดธาย 6:24; 1 ติโมเธียว 6:9) ความเจริญมั่งคั่งทางวัตถุที่ไม่ควบคู่กันไปกับหัวใจที่น้อมยอมฟังพระยะโฮวา ผลสุดท้ายก็ไร้ค่า.—ท่านผู้ประกาศ 2:3-11, 18, 19; ลูกา 16:9.
ความมั่งคั่งที่สำคัญที่สุด
4. เหตุใดความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณจึงดีกว่าความอุดมบริบูรณ์ทางวัตถุ?
4 นอกจากความมั่งคั่งในทางวัตถุแล้ว คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณ. เห็นชัดทีเดียวว่านั่นเป็นความมั่งคั่งที่ดีกว่า. (มัดธาย 6:19-21) ความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณย่อมนำมาซึ่งความสัมพันธ์อย่างน่าพอใจกับพระยะโฮวาซึ่งยืนนานได้ตลอดไป. (ท่านผู้ประกาศ 7:12) ยิ่งกว่านั้น ผู้รับใช้ของพระเจ้าที่มั่งคั่งทางฝ่ายวิญญาณก็ไม่ขาดพระพรต่าง ๆ ทางด้านวัตถุ. ในโลกใหม่ความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณจะควบคู่กันไปกับความมั่งคั่งฝ่ายวัตถุ. ผู้สัตย์ซื่อทั้งหลายจะมีความปลอดภัยทางด้านวัตถุซึ่งไม่ได้มาโดยการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือโดยการยอมเสียสุขภาพและความสุข อย่างที่รู้เห็นอยู่บ่อย ๆ ทุกวันนี้. (บทเพลงสรรเสริญ 72:16; สุภาษิต 10:28; ยะซายา 25:6-8) พวกเขาจะพบว่าในทุก ๆ ทาง “พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่ง และพระองค์จะไม่เพิ่มความทุกข์ยากให้เลย.”—สุภาษิต 10:22.
5. พระเยซูได้ให้คำสัญญาอะไรเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ทางด้านวัตถุ?
5 แม้ในเวลานี้ด้วยซ้ำ บรรดาผู้ที่ถือเอาสิ่งฝ่ายวิญญาณมีค่าย่อมจะรู้ซึ้งถึงความสงบในระดับหนึ่ง เมื่อว่ากันในด้านวัตถุ. จริง พวกเขาทำงานเพื่อได้เงินมาชำระใบเสร็จต่าง ๆ และเลี้ยงดูครอบครัวของตน. หรือบางคนอาจถึงกับตกงานเมื่อเศรษฐกิจฝืดเคือง. แต่พวกเขาไม่ห่วงจนเกินไป. พวกเขากลับเชื่อคำสัญญาของพระเยซูเมื่อพระองค์ตรัสว่า “อย่ากระวนกระวายว่าจะเอาอะไรกิน หรือจะเอาอะไรดื่ม หรือจะเอาอะไรนุ่งห่ม เพราะว่า . . . พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการสิ่งทั้งปวงเหล่านี้. แต่ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน, แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้.”—มัดธาย 6:31-33.
ความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณสมัยนี้
6, 7. (ก) จงบอกรูปการณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณแห่งไพร่พลของพระเจ้า. (ข) คำพยากรณ์ข้อใดกำลังสมจริงอยู่เวลานี้ และเรื่องนี้ทำให้มีคำถามอะไรขึ้นมา?
6 ด้วยเหตุนี้ ไพร่พลของพระยะโฮวาได้เลือกจัดเอาราชอาณาจักรไว้เป็นอันดับแรกในชีวิตของเขา และพวกเขาเป็นสุขเพียงใด! เขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในงานทำให้คนเป็นสาวก. (ยะซายา 60:22) พวกเขาได้รับการสอนจากพระยะโฮวา ชื่นชมยินดีกับสิ่งฝ่ายวิญญาณที่ดีมากมายมิได้ขาด ซึ่งได้ถูกจัดเตรียมให้โดยทาง “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด.” (มัดธาย 24:45-47; ยะซายา 54:13) ยิ่งกว่านั้น พระวิญญาณของพระยะโฮวาสถิตกับเขา ขัดเกลาพวกเขาเป็นภราดรภาพประกอบด้วยหลายชาติหลายภาษาอย่างน่าชื่นชม.—บทเพลงสรรเสริญ 133:1; มาระโก 10:29, 30.
7 นี้แหละเป็นความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณอย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่ซื้อด้วยเงินไม่ได้. เป็นความสำเร็จสมจริงอันน่าทึ่งแห่งคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ว่า “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสต่อไปว่า ‘จงเอาบรรดาส่วนสิบชักหนึ่งนั้นมาส่ำสมไว้ในคลัง, เพื่อจะมีโภชนาหารไว้ในวิหารของเรา, และจงมาลองดูเราในเรื่องนี้ ดูทีหรือว่าเราจะเปิดบัญชรท้องฟ้าให้เจ้าและเทพรให้แก่เจ้าจนเกินความต้องการหรือไม่.” (มาลาคี 3:10) สมัยนี้ พวกเราได้เห็นคำสัญญานี้สำเร็จแล้ว. แต่ทำไมพระยะโฮวาผู้ซึ่งเป็นแหล่งแห่งทรัพย์บริบูรณ์ทั้งสิ้นเรียกร้องผู้รับใช้ของพระองค์ให้ชักหนึ่งส่วนสิบถวายพระองค์? ใครได้รับประโยชน์จากส่วนสิบชักหนึ่ง? ที่จะตอบคำถาม จงพิจารณาสาเหตุที่พระยะโฮวาได้ตรัสถ้อยคำเหล่านี้ผ่านมาลาคีในศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช.
ส่วนสิบชักหนึ่งและของถวาย
8. ตามพระบัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรี ความเจริญมั่งคั่งทางวัตถุของชาวยิศราเอลจะขึ้นอยู่กับอะไร?
8 ในสมัยมาลาคีไพร่พลของพระเจ้าไม่เจริญเฟื่องฟู. เพราะเหตุใด? การถวายของและการให้ส่วนสิบชักหนึ่งเกี่ยวข้องอยู่. ย้อนไปสมัยนั้น ชาติยิศราเอลอยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติของโมเซ. เมื่อพระยะโฮวาทรงทำคำสัญญาไมตรีนั้น พระองค์ได้สัญญาว่าถ้าชาวยิศราเอลได้กระทำส่วนของเขา พระองค์จะอวยพรพวกเขาทั้งฝ่ายวิญญาณและทางด้านวัตถุ. อันที่จริง ความเจริญเฟื่องฟูของชาติยิศราเอลขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ของเขานั่นเอง.—พระบัญญัติ 28:1-19.
9. ในสมัยยิศราเอลโบราณ เหตุใดพระยะโฮวาทรงเรียกร้องเอาส่วนสิบชักหนึ่งจากยิศราเอลและให้เขานำของมาถวาย?
9 พันธะหน้าที่ส่วนหนึ่งของชาวยิศราเอลภายใต้พระบัญญัติก็คือนำของถวายมายังพระวิหารและให้ส่วนสิบชักหนึ่ง. บางส่วนจากของถวายนั้นถูกนำขึ้นเผาทั้งหมดบนแท่นของพระยะโฮวา และบางส่วนแห่งของถวายนั้นก็แบ่งกันระหว่างปุโรหิตกับผู้ที่ถวายเครื่องบูชานั้น กับได้นำส่วนพิเศษถวายแด่พระยะโฮวา. (เลวีติโก 1:3-9; 7:1-15) เกี่ยวกับการชักหนึ่งส่วนสิบ โมเซได้กล่าวแก่ชาวยิศราเอลดังนี้: “และส่วนสิบลดหนึ่งแต่บรรดาข้าวพืชที่แผ่นดินก็ดี หรือผลไม้ทั้งปวงก็ดีเป็นของพระยะโฮวา, เป็นของบริสุทธิ์แก่พระยะโฮวา.” (เลวีติโก 27:30) ส่วนสิบลดหนึ่งนั้นได้ให้แก่พนักงานชาวเลวีที่ทำงาน ณ พลับพลาประชุม และต่อมาทำที่พระวิหาร. ครั้นแล้ว ชาวเลวีที่ไม่ใช่ปุโรหิตจะให้ส่วนสิบชักหนึ่งที่พวกตนได้รับแก่พวกปุโรหิตในครอบครัวของอาโรน. (อาฤธโม 18:21-29) พระยะโฮวาได้เรียกร้องชาวยิศราเอลถวายสิบลดหนึ่งเพราะอะไร? ประการแรก เพื่อว่าพวกเขาสามารถแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงการหยั่งรู้ค่าคุณความดีของพระยะโฮวา. ประการที่สอง เพื่อว่าเขาจะสามารถมีส่วนให้การสนับสนุนพวกเลวี ซึ่งคนเหล่านี้จะสามารถจดจ่ออยู่กับพันธะหน้าที่ของเขา รวมทั้งการสอนพระบัญญัติด้วย. (2 โครนิกา 17:7-9) โดยวิธีนี้ การนมัสการบริสุทธิ์ได้รับการสนับสนุน และทุกคนได้รับประโยชน์.
10. เกิดอะไรขึ้นเมื่อชาวยิศราเอลมิได้ให้ส่วนสิบชักหนึ่งและไม่นำของมาถวาย?
10 ถึงแม้ทีหลังชาวเลวีได้ใช้ส่วนสิบชักหนึ่งและของถวายก็ตาม แต่จริง ๆ แล้วสิ่งของเหล่านั้นเป็นของที่นำมาถวายแด่พระยะโฮวา ฉะนั้น จึงต้องเพียบพร้อมด้วยคุณภาพ, คู่ควรกับพระองค์. (เลวีติโก 22:21-25) เหตุการณ์เป็นเช่นไรเมื่อชาวยิศราเอลไม่ได้ให้ส่วนสิบชักหนึ่งหรือนำของที่ด้อยคุณค่ามาถวาย? ไม่มีบทลงโทษเขียนไว้ในกฎหมาย แต่มีผลเนื่องมาแต่การกระทำอย่างนั้น. พระยะโฮวาทรงยับยั้งพระพรไว้ และชาวเลวี ครั้นขาดการเกื้อหนุนด้านปัจจัย ก็จึงละหน้าที่ของตน ณ พระวิหารออกไปทำงานหาเลี้ยงตนเอง. ดังนั้น ยิศราเอลทั้งปวงจึงรับความเสียหาย.
“จงพิจารณาลู่ทางประพฤติของตนเถอะ”
11, 12. (ก) มีผลอะไรตามมาเมื่อชาวยิศราเอลละเลยพระบัญญัติ? (ข) พระยะโฮวาได้ทรงมอบหมายงานอะไรแก่พวกยิศราเอลเมื่อพระองค์ทรงนำเขาออกมาจากบาบูโลน?
11 ในช่วงประวัติศาสตร์ของชาติยิศราเอล บางคนเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการรักษาพระบัญญัติ รวมทั้งการให้ส่วนสิบชักหนึ่งด้วย. (2 โครนิกา 31:2-16) แต่ส่วนใหญ่แล้วชนชาตินี้ได้ละเลย. ครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขาหักล้างคำสัญญาไมตรีที่กระทำไว้กับพระยะโฮวา จนในที่สุดพระองค์ได้ปล่อยให้ศัตรูย่ำยีเขา และเนรเทศเขาไปที่บาบูโลนในปี 607 ก่อนสากลศักราช.—2 โครนิกา 36:15-21.
12 นั่นเป็นการตีสอนอย่างแรง แต่ภายหลัง 70 ปีผ่านไป พระยะโฮวาได้ทรงกู้ไพร่พลของพระองค์กลับประเทศบ้านเกิดของเขาอีก. คำพยากรณ์หลายข้อในพระธรรมยะซายาที่กล่าวถึงอุทยานได้สำเร็จสมจริงในชั้นแรกหลังจากการกลับครั้งนั้น. (ยะซายา 35:1, 2; 52:1-9; 65:17-19) กระนั้น เหตุผลสำคัญที่พระยะโฮวาได้ทรงนำไพร่พลของพระองค์กลับ มิใช่เพื่อสร้างอุทยานบนแผ่นดินโลก แต่เพื่อการบูรณะพระวิหารและฟื้นฟูการนมัสการแท้. (เอษรา 1:2, 3) หากชาติยิศราเอลได้เชื่อฟังพระยะโฮวา ผลประโยชน์ต่าง ๆ ทางด้านวัตถุย่อมจะตามมา และพระพรของพระยะโฮวาจะทำให้พวกเขามั่งคั่งทั้งทางฝ่ายวิญญาณและทางด้านวัตถุ. ดังนั้น ทันทีที่พวกเขากลับถึงประเทศบ้านเกิดในปี 537 ก่อนสากลศักราช ชาวยิวก็ได้สร้างแท่นบูชาและเริ่มงานบูรณะพระวิหาร. อย่างไรก็ดี พวกเขาเผชิญการขัดขวางอย่างรุนแรงและงานก็หยุดชะงัก. (เอษรา 4:1-4, 23) ผลก็คือ ชาวยิศราเอลไม่ได้รับพระพรของพระยะโฮวา.
13, 14. (ก) ผลเป็นประการใดเมื่อชาวยิศราเอลไม่ได้บูรณะพระวิหาร? (ข) ในที่สุดพระวิหารได้รับการบูรณะโดยวิธีใด แต่ได้มีรายงานแสดงถึงความผิดพลาดในส่วนของยิศราเอลไว้อย่างไร?
13 ในปี 520 ก่อนสากลศักราช พระยะโฮวาได้ทรงตั้งฮาฆีและซะคาระยาเป็นผู้พยากรณ์ให้ปลุกเร้าชาวยิศราเอลกลับเข้าทำงานสร้างพระวิหารอีก. ฮาฆีชี้ให้เห็นว่าชนชาตินี้ทนทุกข์ลำบากทางด้านวัตถุ และพาดพิงเรื่องนี้เข้ากับการที่พวกเขาไม่กระตือรือร้นเพื่อราชสำนักของพระยะโฮวา. ท่านกล่าวอย่างนี้: “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่า, ‘บัดนี้เจ้าทั้งหลายจงพิจารณาแนวทางประพฤติของตน. เจ้าทั้งหลายได้หว่านมาก, แต่ได้เกี่ยวเล็กน้อย; ได้รับประทานแต่ไม่พออิ่ม; ได้ดื่มแต่ไม่หายอยาก; ได้นุ่งห่มแต่ไม่พออุ่นกาย; ส่วนผู้ได้ค่าจ้างมาก็ได้เก็บไว้ในถุงก้นรั่ว.’ พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสต่อไปว่า ‘จงพิจารณาลู่ทางประพฤติของตนเถอะ. จงขึ้นไปยังภูเขา, ไปเอาไม้มาสร้างวิหารนั้น; และเราจะได้มีความปราโมทย์ในการสร้างวิหารนั้น, และเกียรติยศจะได้บังเกิดแก่เรา.’”—ฮาฆี 1:5-8.
14 เมื่อได้รับการหนุนใจจากฮาฆีและซะคาระยาเช่นนั้น ชาวยิศราเอลจึงได้พิจารณาแนวทางของตน และพระวิหารก็ได้รับการบูรณะ. แต่กระนั้น อีกหกสิบกว่าปีต่อมา นะเฮมยาได้เยือนกรุงยะรูซาเลมก็พบว่าชาวยิศราเอลกลับละเลยพระบัญญัติของพระยะโฮวาอีก. ท่านจึงได้ว่ากล่าวแก้ไขพวกเขา. แต่การเยี่ยมหนที่สอง ท่านได้ประสบว่าสิ่งต่าง ๆ เสื่อมโทรมลงไปอีก. ท่านรายงานดังนี้: “ได้ทราบความว่า ส่วนสำหรับพวกเลวีนั้นเขาไม่ได้ให้เลย, ดังนั้นพวกเลวีกับพวกขับร้องที่ทำการงานต่าง ๆ พากันหลบหนีไปยังไร่นาของตน.” (นะเฮมยา 13:10) ปัญหานี้รับการแก้ไขแล้ว และ “บรรดาพวกยูดายได้นำส่วย [ส่วนสิบชักหนึ่ง], ข้าวสาลี, น้ำองุ่นใหม่, และน้ำมัน, ส่งมายังคลังทั้งปวงสำหรับไว้ทรัพย์สิ่งของ.’”—นะเฮมยา 13:12.
การฉ้อโกงพระยะโฮวา
15, 16. โดยทางมาลาคี พระยะโฮวาได้ทรงว่ากล่าวพวกยิศราเอลเนื่องด้วยความผิดพลาดในเรื่องใด?
15 การพยากรณ์โดยมาลาคีคงตกอยู่ช่วงเวลาเดียวกัน และผู้พยากรณ์แจ้งให้เราทราบมากขึ้นถึงเรื่องความไม่ซื่อสัตย์ของชาวยิศราเอล. ท่านได้บันทึกถ้อยคำที่พระยะโฮวาตรัสแก่ยิศราเอลดังนี้: “โอ้พวกปุโรหิต, คนดูหมิ่นนามของเรา, ยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสแก่ท่านว่า, ‘ถ้าเราเป็นบิดา ความยำเกรงต่อเราอยู่ที่ไหนกันเล่า? ถ้าเราเป็นนายก็ความคารวะต่อเราอยู่ที่ไหนกันนะ?’” ความผิดอยู่ตรงไหน? พระยะโฮวาทรงชี้แจงว่า “ก็ทีเจ้าทั้งหลายถวายสัตว์ตาบอดเป็นเครื่องบูชาละก็ไม่ชั่วหรือ? และเจ้าทั้งหลายถวายสัตว์ขาหักและเป็นโรคละก็ไม่เป็นการชั่วหรือ?”—มาลาคี 1:6-8.
16 โดยการให้ภาพประกอบเช่นนี้ มาลาคีแสดงให้เห็นว่าขณะที่พวกยิศราเอลนำของมาถวาย ของที่ขาดคุณภาพเหล่านั้นย่อมส่อถึงการขาดความเคารพยำเกรงอย่างยิ่ง. มาลาคีได้เขียนอีกเช่นกันที่ว่า “‘เจ้าทั้งหลายก็ยังได้ไถลออกไปนอกคำสั่งสอนของเรา, ตั้งแต่ครั้งสมัยบรรพบุรุษของเจ้าเรื่อยมา, และไม่ได้ถือรักษาไว้เลย.’ พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสต่อไปว่า ‘จงกลับมาหาเราเสียเถอะ, แล้วเราจะกลับไปหาเจ้าทั้งหลาย.’” ชาวยิศราเอลข้องใจอยู่ว่าพวกตนต้องทำอะไรบ้าง จึงได้ถามดังนี้: “เราจะกลับไปหาพระองค์ในเรื่องอะไรกัน?” พระยะโฮวาทรงตอบพวกเขาว่า “ควรหรือที่มนุษย์จะฉ้อโกงพระเจ้า? แต่เจ้าทั้งหลายได้ฉ้อโกงเรา.” ชาวยิศราเอลได้ฉ้อโกงพระเจ้า ผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดแห่งความมั่งคั่งนั้นอย่างไร? พระยะโฮวาทรงตอบดังนี้: “ก็ในส่วนสิบชักหนึ่งและในเครื่องถวายบูชาน่ะซี!” (มาลาคี 3:7, 8) ใช่แล้ว โดยการไม่ได้นำส่วนสิบชักหนึ่งและของมาถวายบูชา ชาวยิศราเอลฉ้อโกงพระเจ้า!
17. ส่วนสิบชักหนึ่งและของถวายในประเทศยิศราเอลนั้นมีวัตถุประสงค์อะไร และพระยะโฮวาทรงสัญญาอะไรเกี่ยวกับส่วนสิบชักหนึ่ง?
17 ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้แสดงถึงความสำคัญของส่วนสิบชักหนึ่งและของที่นำถวายบูชาในแผ่นดินยิศราเอล. สิ่งเหล่านี้เป็นการสำแดงความหยั่งรู้ค่าของผู้ให้. และปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการนมัสการแท้ในทางวัตถุ. ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาทรงให้กำลังใจชาวยิศราเอลต่อไปโดยตรัสว่า “จงเอาบรรดาส่วนสิบชักหนึ่งนั้นมาส่ำสมไว้ในคลัง.” เพื่อให้เขาเห็นว่าผลจะเป็นเช่นไรหากเขาปฏิบัติ พระยะโฮวาจึงทรงสัญญาว่า “เราจะ . . . เทพรให้แก่เจ้าจนเกินความต้องการ.” (มาลาคี 3:10) พระพรของพระยะโฮวาจะทำให้เขามั่งคั่ง.
ถูกพิพากษาโดย “องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้”
18. (ก) พระยะโฮวาได้เตือนล่วงหน้าถึงการเสด็จมาของใคร? (ข) การเสด็จมายังพระวิหารมีขึ้นเมื่อไร มีใครเกี่ยวข้องด้วย และผลเป็นอย่างไรสำหรับชาวยิศราเอล?
18 อนึ่ง พระยะโฮวาได้เตือนผ่านมาลาคีว่าพระองค์จะเสด็จมาพิพากษาไพร่พลของพระองค์. “นี่แน่ะ! เราจะส่งทูตของเราไป และเขาต้องแผ้วถางทางสำหรับเรา. และโดยกะทันหัน องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้จะเสด็จมายังวิหารของพระองค์ ผู้ซึ่งเจ้าทั้งหลายกำลังแสวงหา และทูตแห่งคำสัญญาไมตรีผู้ซึ่งเจ้าชื่นชอบนั้น. ดูแน่ะ! ท่านจะมาแน่.” (มาลาคี 3:1, ล.ม.) การเสด็จมายังพระวิหารตามที่ได้สัญญาไว้นั้นมีขึ้นเมื่อไร? ที่มัดธาย 11:10 พระเยซูได้ยกคำพยากรณ์ของมาลาคีว่าด้วยทูตองค์นั้นซึ่งจะเสด็จมาเตรียมทางและแสดงให้เห็นว่าทูตนั้นได้แก่โยฮันผู้ให้บัพติสมา. (มาลาคี 4:5; มัดธาย 11:14) ดังนั้น ในปีสากลศักราช 29 เวลาสำหรับการพิพากษาก็มาถึง! ใครคือทูตองค์ที่สอง ทูตแห่งคำสัญญาไมตรีซึ่งจะเสด็จมายังพระวิหารกับพระยะโฮวา “องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้”? พระเยซูนั่นเอง และพระองค์ได้เสด็จไปที่พระวิหารในกรุงยะรูซาเลมสองครั้ง และได้ชำระพระวิหารอย่างน่าทึ่ง โดยทรงขับไล่พวกแลกเงินที่ทำการอย่างปราศจากศีลธรรม. (มาระโก 11:15-17; โยฮัน 2:14-17) เกี่ยวด้วยช่วงเวลาพิพากษาครั้งศตวรรษแรก พระยะโฮวาตรัสถามเชิงพยากรณ์ดังนี้: “แต่ผู้ใดจะรอหน้าอยู่ได้ในวันที่พระองค์เสด็จมา, และผู้ใดจะเผชิญหน้าอยู่ได้เมื่อพระองค์ปรากฏพระกาย?” (มาลาคี 3:2) ที่จริง ชาติยิศราเอลเผชิญหน้าไม่ได้เลย. พวกเขาถูกตรวจตรา, ปรากฏว่าเขาบกพร่อง และในปีสากลศักราช 33 พวกเขาถูกตัดขาดมิได้เป็นชาติที่เลือกสรรของพระยะโฮวาอีกต่อไป.—มัดธาย 23:37-39.
19. โดยวิธีใดชนที่เหลือได้กลับมาหาพระยะโฮวาในศตวรรษแรก และพวกเขาได้รับพระพรอะไร?
19 อย่างไรก็ตาม มาลาคีก็ได้เขียนด้วยว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] จะนั่งลงเหมือนช่างหลอมช่างถลุงเงิน พระองค์จะถลุงลูกชายทั้งหลายของพวกเลวีดุจดังถลุงทองและเงิน, เพื่อเขาทั้งหลายจะถวายเครื่องบูชาแก่พระยะโฮวาด้วยน้ำใสใจบริสุทธิ์.” (มาลาคี 3:3) ประสานกับเรื่องนี้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ซึ่งอ้างว่าตนปฏิบัติพระยะโฮวาสมัยศตวรรษแรกถูกตัดออกไป มีบางคนได้รับการชำระและกลับมาหาพระยะโฮวา ถวายเครื่องบูชาอันเป็นที่พอพระทัย. ใครล่ะ? บรรดาผู้ที่ตอบรับพระเยซู ทูตแห่งคำสัญญาไมตรี. ณ วันเพนเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 นั้น มี 120 คนจากชนที่ตอบรับได้รวมตัวกันเข้ามาอยู่ที่ห้องชั้นบนในกรุงยะรูซาเลม. ครั้นได้รับการชูกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้ว พวกเขาก็เริ่มต้นถวายเครื่องบูชาด้วยความชอบธรรม และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว. ในไม่ช้า พวกเขาได้แพร่กระจายไปทั่วจักรวรรดิโรมัน. (กิจการ 2:41; 4:4; 5:14) โดยวิธีนี้ ชนที่เหลือได้กลับมาหาพระยะโฮวา.—มาลาคี 3:7.
20. เมื่อกรุงยะรูซาเลมและพระวิหารถูกทำลาย เกิดอะไรขึ้นกับยิศราเอลใหม่ของพระเจ้า?
20 ชนที่เหลือแห่งยิศราเอล ซึ่งต่อมารวมเอาคนต่างชาติด้วยที่เสมือนนำมาต่อไว้กับรากเหง้าของยิศราเอล เป็น “ยิศราเอลใหม่” ของพระเจ้า เป็นชาติหนึ่งประกอบด้วยคริสเตียนที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ. (ฆะลาเตีย 6:16; โรม 11:17, ฉบับแปลใหม่) ในปีสากลศักราช 70 ‘วันอันร้อนแรงดุจไฟในเตาหลอม’ ก็ได้มาถึงยิศราเอลโดยกำเนิดเมื่อกรุงยะรูซาเลมพร้อมด้วยวิหารประจำกรุงถูกกองทัพโรมันทำลายย่อยยับ. (มาลาคี 4:1; ลูกา 19:41-44) เกิดอะไรขึ้นกับยิศราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า? พระยะโฮวาทรง “เมตตาเขาเหมือนอย่างพ่อได้เมตตาลูก, ลูกคนที่ได้ปรนนิบัติพ่อนั้น.” (มาลาคี 3:17) ประชาคมคริสเตียนที่รับการเจิมได้เชื่อฟังคำเตือนเชิงพยากรณ์ของพระเยซู. (มัดธาย 24:15, 16) พวกเขารอดพ้น และพระพรของพระยะโฮวาก็ได้กระทำให้เขามั่งคั่งฝ่ายวิญญาณอยู่เรื่อยมา.
21. ยังมีคำถามอะไรค้างไว้เกี่ยวกับมาลาคี 3:1 และ 10?
21 ช่างเป็นการเชิดชูพระยะโฮวาอะไรเช่นนั้น! แต่พระธรรมมาลาคี 3:1 สำเร็จสมจริงอย่างไรในสมัยนี้? และคริสเตียนพึงตอบรับอย่างไรต่อการสนับสนุนของมาลาคี 3:10 ที่ให้นำเอาส่วนสิบชักหนึ่งมาเก็บไว้ในคลังทั้งหมด? เรื่องนี้จะมีการพิจารณากันในบทความถัดไป.
คุณจะอธิบายได้ไหม?
▫ ในขั้นสุดท้ายแล้ว ใครคือต้นกำเนิดแห่งโภคทรัพย์ทั้งมวล?
▫ เหตุใดความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณดีกว่าความมั่งคั่งทางวัตถุ?
▫ ส่วนสิบชักหนึ่งและของถวายในประเทศยิศราเอลมีวัตถุประสงค์อะไร?
▫ พระยะโฮวา “องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้” ได้เสด็จมายังพระวิหารเพื่อพิพากษาชาวยิศราเอลเมื่อไร และผลเป็นอย่างไร?
▫ ใครได้กลับมาหาพระยะโฮวาหลังจากพระองค์ได้เสด็จมายังพระวิหารของพระองค์ในศตวรรษแรก?
[รูปภาพหน้า 10]
ทูตแห่งคำสัญญาไมตรี พระเยซู ฐานะเป็นตัวแทนของพระยะโฮวา ได้เสด็จมายังพระวิหารเพื่อพิพากษาในศตวรรษแรกสากลศักราช