วันอันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาแล้ว
“มีหนังสือบันทึกความจำ มีนามคนทั้งหลายที่ได้ยำเกรงพระยะโฮวา และที่ได้ระลึกถึงพระนามของพระองค์นั้นบันทึกลงต่อพักตร์พระองค์.”—มาลาคี 3:16.
1, 2. มาลาคีเตือนล่วงหน้าถึงวันอันน่าสะพรึงกลัวอะไร?
ช่างน่าสะพรึงกลัว! รุ่งเช้าวันที่ 6 สิงหาคม 1945 เมืองใหญ่เมืองหนึ่งถูกทำลายในชั่วพริบตา. ราว 80,000 คนตาย! หลายหมื่นคนบาดเจ็บสาหัสถึงชีวิต! ไฟไหม้อย่างรุนแรง! ระเบิดนิวเคลียร์ได้ก่อความพินาศใหญ่หลวง. พยานพระยะโฮวาเป็นอย่างไรบ้างในระหว่างภัยพิบัตินั้น? มีพยานฯเพียงคนเดียวในฮิโรชิมา เนื่องจากความซื่อสัตย์มั่นคงแบบคริสเตียน เขาถูกกักขังอยู่ภายในกำแพงคุกที่ป้องกันเขาไว้. คุกนั้นพังเป็นเศษอิฐเศษหิน แต่พี่น้องของเราไม่ได้รับบาดเจ็บ. ดังที่เขาบอก เขาถูกปรมาณูระเบิดออกจากคุก บางที นั่นเป็นสิ่งดีประการเดียวเท่านั้นที่ลูกระเบิดนั้นทำสำเร็จ.
2 การระเบิดครั้งนั้นน่าสยดสยองก็จริง แต่มันกลับไร้ความหมายเมื่อเทียบกับ “วันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา” ซึ่งอยู่เบื้องหน้า. (มาลาคี 4:5, ล.ม.) ใช่ เคยมีวันอันน่าสะพรึงกลัวมาแล้วในสมัยอดีต แต่วันของพระยะโฮวานี้จะเหนือกว่าวันอันน่าสะพรึงกลัวเหล่านั้นทั้งหมด.—มาระโก 13:19.
3. พึงสังเกตความแตกต่างอะไรระหว่าง “บรรดาเนื้อหนัง” กับครอบครัวของโนฮาก่อนมหาอุทกภัย?
3 ในสมัยของโนฮา “บรรดาเนื้อหนังทำชั่วอุลามกทั่วไปทั้งแผ่นดิน.” และพระเจ้าทรงแถลงว่า “โลกเต็มไปด้วยความชั่วร้ายเพราะเขา นี่แหละเราจะทำลายล้างผลาญเขาทั้งหลายให้พินาศทั้งแผ่นดินโลก.” (เยเนซิศ 6:12, 13) ดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 24:39 พระเยซูตรัสว่า ผู้คน “ไม่แยแส จนกระทั่งน้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้น.” แต่โนฮาผู้ซื่อสัตย์ “ผู้ประกาศความชอบธรรม” พร้อมกับครอบครัวของท่านซึ่งเกรงกลัวพระเจ้า ได้รอดชีวิตจากน้ำท่วมครั้งนั้น.—2 เปโตร 2:5.
4. กรณีของโซโดมและโกโมร์ราห์ให้ตัวอย่างเตือนสติอะไร?
4 ยูดา ข้อ 7 (ล.ม.) กล่าวว่า “เช่นเดียวกัน โซโดมและโกโมร์ราห์ และเมืองรอบ ๆ นั้น หลังจากที่พวกเขา . . . ได้กระทำผิดประเวณีอย่างมากล้น และมุ่งตามเนื้อหนังเพื่อใช้อย่างผิดธรรมดาแล้วก็ถูกวางไว้ต่อหน้าเราเป็นตัวอย่างเตือนสติโดยที่พวกเขาถูกตัดสินปรับโทษด้วยไฟนิรันดร์.” เหล่าผู้คนที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าถูกกวาดล้างเนื่องจากแบบชีวิตอันโสโครกน่าสะอิดสะเอียนของพวกเขา. ขอเตือนหมู่ชนทั้งหลายในโลกสมัยใหม่นี้ที่มุ่งแต่เรื่องเพศให้รู้ไว้! แต่โปรดสังเกตว่า โลตผู้เกรงกลัวพระเจ้าและบุตรีของเขาได้รับการรักษาชีวิตไว้ในช่วงภัยพิบัตินั้น เช่นเดียวกับที่เหล่าผู้นมัสการพระยะโฮวาจะได้รับการคุ้มครองในช่วงความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่คืบใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็วนั้น.—2 เปโตร 2:6-9.
5. เราอาจเรียนรู้เรื่องอะไรจากการลงโทษตามคำพิพากษาแก่กรุงยะรูซาเลม?
5 แล้วก็มาพิจารณาตัวอย่างเตือนใจต่าง ๆ ที่มีให้ในคราวที่พระยะโฮวาทรงใช้กองทัพที่รุกรานเพื่อกวาดล้างยะรูซาเลม กรุงใหญ่สง่างามซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น “ที่ชื่นตาของคนทั้งโลก.” (บทเพลงสรรเสริญ 48:2) เหตุวิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 607 ก่อนสากลศักราช และอีกครั้งในปีสากลศักราช 70 เพราะผู้คนที่ประกาศตัวว่าเป็นประชาชนของพระเจ้าละทิ้งการนมัสการแท้. แต่น่ายินดี ผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวารอดชีวิต. มีการพรรณนาถึงภัยพิบัติในปีสากลศักราช 70 (ดังภาพข้างล่าง) ว่าเป็น “ความทุกข์ลำบากอย่างที่ไม่เคยมีนับตั้งแต่การเริ่มต้นสิ่งทรงสร้างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้นจนถึงเวลานั้น.” ความทุกข์ลำบากคราวนั้นกำจัดระบบสิ่งต่าง ๆ ของชาวยิวที่ออกหากจนสิ้นซาก และเป็นที่แน่นอนว่า ในแง่นั้นความทุกข์ลำบากนั้น “จะไม่มีเกิดขึ้นอีก.” (มาระโก 13:19, ล.ม.) แต่แม้กระทั่งการสำเร็จโทษตามคำพิพากษาของพระเจ้าคราวนี้ก็เป็นเพียงเงาของ “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ซึ่งคุกคามระบบสิ่งต่าง ๆ ของทั้งโลกในขณะนี้.—วิวรณ์ 7:14, ล.ม.
6. ทำไมพระยะโฮวาทรงยอมให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ?
6 ทำไมพระเจ้าจึงทรงยอมให้เกิดภัยพิบัติน่ากลัวซึ่งทำให้ชีวิตมากมายสูญสิ้นไป? ในกรณีของโนฮา, ของโซโดมและโกโมร์ราห์, และของกรุงยะรูซาเลม พระยะโฮวาทรงดำเนินการลงโทษคนเหล่านั้นที่ได้ทำการเสื่อมทรามบนแผ่นดินโลก ผู้ซึ่งได้ทำให้ดาวเคราะห์สวยงามดวงนี้เปื้อนเปรอะไปด้วยมลพิษและความเสื่อมทรามด้านศีลธรรม และผู้ซึ่งได้ออกหากหรือปฏิเสธการนมัสการแท้. ทุกวันนี้ เราเกือบจะถึงการลงโทษตามคำพิพากษาครั้งรวบยอดซึ่งจะครอบคลุมทั่วทั้งโลก.—2 เธซะโลนิเก 1:6-9.
“ในสมัยสุดท้าย”
7. (ก) การที่พระเจ้าทรงพิพากษาในคราวโบราณนั้น เป็นการสำแดงล่วงหน้าถึงอะไร? (ข) ความคาดหมายอันรุ่งโรจน์อะไรรออยู่ข้างหน้า?
7 การทำลายล้างเหล่านั้นในสมัยโบราณเป็นเหตุการณ์ที่สำแดงล่วงหน้าถึงความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวซึ่งมีพรรณนาไว้ที่ 2 เปโตร 3:3-13 (ล.ม.). อัครสาวกกล่าวดังนี้: “ท่านทั้งหลายทราบข้อนี้ก่อนคือว่า ในสมัยสุดท้ายจะมีคนเยาะเย้ยโดยใช้การหัวเราะเยาะของเขา ดำเนินตามความปรารถนาของตนเอง.” ครั้นแล้ว โดยมุ่งเอาใจใส่ที่สมัยโนฮา เปโตรเขียนดังนี้: “โลกในสมัยนั้นประสบพินาศกรรมคราวถูกน้ำท่วม. แต่ว่าโดยคำตรัสอย่างเดียวกันนั้น ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกที่อยู่เดี๋ยวนี้ถูกเก็บไว้สำหรับไฟเผา และสงวนไว้จนถึงวันแห่งการพิพากษาและวันพินาศแห่งบรรดาคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า.” ต่อจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ยิ่งนั้น การปกครองโดยราชอาณาจักรมาซีฮาซึ่งรอคอยกันมานานก็จะเริ่มดำเนินการในขอบเขตใหม่ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ . . . และซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.” ช่างเป็นความคาดหมายอันน่าปีติยินดีจริง ๆ!
8. เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกกำลังเคลื่อนสู่จุดสุดยอดอย่างไร?
8 ในช่วงศตวรรษที่ 20 ของเรานี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกค่อย ๆ เคลื่อนไปสู่จุดสุดยอด. แม้ว่าการทำลายเมืองฮิโรชิมาไม่ใช่วันที่พระเจ้าเสด็จมาตรวจตราก็ตาม ก็อาจนับรวมการทำลายครั้งนั้นกับ “วิบัติอันน่ากลัว” ซึ่งพระเยซูทรงพยากรณ์ไว้สำหรับสมัยสุดท้าย. (ลูกา 21:11) การทำลายครั้งนั้นเริ่มก่อการคุกคามด้วยนิวเคลียร์ซึ่งยังคงขู่ขวัญมนุษยชาติอยู่. ด้วยเหตุนั้น พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ฉบับ 29 พฤศจิกายน 1993 จึงบอกว่า “ปืนอาจขึ้นสนิมแต่อาวุธนิวเคลียร์ยังพร้อมจะปฏิบัติการ.” ระหว่างนี้ สงครามระหว่างประเทศ, ระหว่างเชื้อชาติ, และระหว่างเผ่า ยังคงเก็บเกี่ยวผลอันน่าสยดสยอง. ในสงครามสมัยก่อน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นทหาร. ทุกวันนี้ มีรายงานว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตายในสงครามคือพลเรือน โดยไม่ต้องพูดถึงหลายล้านคนซึ่งหนีจากประเทศบ้านเกิดในฐานะผู้ลี้ภัย.
9. พวกผู้นำศาสนาได้แสดงความเป็นมิตรกับโลกอย่างไร?
9 พวกผู้นำศาสนามักแสดงให้เห็น และยังแสดงให้เห็นต่อไป ถึงการ “เป็นมิตรกับโลก” โดยเข้าเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันในสงครามและการปฏิวัติอันนองเลือด. (ยาโกโบ 4:4) บางคนได้ร่วมมือกับพวกนักธุรกิจละโมบแห่งโลกการค้าขณะที่พวกเขาผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากและสร้างองค์การค้ายาเสพย์ติดมหึมา. ตัวอย่างเช่น ในรายงานข่าวการลอบสังหารเจ้าพ่อยาเสพย์ติดแห่งอเมริกาใต้ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ กล่าวว่า “โดยซ่อนการค้ายาเสพย์ติดไว้เบื้องหลังการแอบอ้างความมั่งคั่งด้วยธุรกิจถูกกฎหมายและโฉมหน้าของผู้อำนวยประโยชน์ เขามีรายการวิทยุของตนเอง และมักมีพวกบาทหลวงโรมันคาทอลิกร่วมด้วยบ่อย ๆ.” หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า นอกจากทำลายชีวิตผู้คนนับล้าน ๆ ที่ติดยาแล้ว เจ้าพ่อยาเสพย์ติดผู้นี้ยังบงการการฆาตกรรมหลายพันคน. หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ แห่งลอนดอนให้ข้อสังเกตว่า “พวกนักฆ่ามักจ่ายเงินสำหรับพิธีมิสซาพิเศษเพื่อขอบคุณพระเจ้า . . . ขณะเดียวกับที่มีพิธีมิสซาในงานศพของเหยื่อฆาตกรรมขึ้นที่อื่น.” ช่างชั่วช้าเสียจริง!
10. เราควรมองดูสภาพการณ์ของโลกที่กำลังเลวลงทุกทีนั้นอย่างไร?
10 ใครจะรู้ล่ะว่า มหันตภัยอะไรอีกที่มนุษย์ซึ่งถูกผีปิศาจดลใจอาจก่อขึ้นบนแผ่นดินโลกนี้? ดังที่ 1 โยฮัน 5:19 (ล.ม.) กล่าว “โลกทั้งสิ้นตกอยู่ใต้อำนาจผู้ชั่วร้ายนั้น” คือซาตานพญามาร. ในทุกวันนี้ นั่นคือ “วิบัติแก่แผ่นดินโลกและทะเล เพราะพญามารได้ลงมาถึงพวกเจ้าแล้ว มีความโกรธยิ่งนัก ด้วยรู้ว่ามันมีระยะเวลาอันสั้น.” (วิวรณ์ 12:12, ล.ม.) แต่น่ายินดี โรม 10:13 (ล.ม.) รับรองกับเราว่า “ทุกคนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาจะรอด.”
พระเจ้าเสด็จมาใกล้ในการพิพากษา
11. สภาพการณ์อะไรบ้างในยิศราเอลที่กระตุ้นให้มาลาคีพยากรณ์?
11 เกี่ยวกับอนาคตอันใกล้ของมนุษยชาติ คำพยากรณ์ของมาลาคีให้ความกระจ่างถึงสิ่งที่จวนจะเกิดขึ้น. มาลาคีถูกจัดไว้เป็นคนสุดท้ายในพวกผู้พยากรณ์ชาวฮีบรูก่อนยุคคริสเตียน. ยิศราเอลเคยประสบความร้างเปล่าของยะรูซาเลมมาแล้วในปี 607 ก่อนสากลศักราช. แต่ 70 ปีหลังจากนั้นพระยะโฮวาทรงสำแดงความรักกรุณาอันเปี่ยมด้วยพระเมตตาด้วยการนำชนชาตินี้กลับสู่แผ่นดินของเขา. ถึงกระนั้น ภายในแค่หนึ่งร้อยปี ชาติยิศราเอลก็ถลำเข้าสู่ความชั่วช้า และการออกหากอีกครั้ง. ชนชาตินี้ดูหมิ่นพระนามของพระยะโฮวา ละเลยพระบัญญัติอันชอบธรรมของพระองค์ และทำให้พระวิหารของพระองค์เป็นมลทินโดยการนำสัตว์ตาบอด, เป็นง่อย, และป่วยมาถวายบูชา. พวกเขายังได้หย่าภรรยาที่ได้สมรสกันแต่ครั้งหนุ่มสาวเพื่อเขาจะสมรสกับหญิงต่างชาติได้.—มาลาคี 1:6-8; 2:13-16.
12, 13. (ก) จำเป็นต้องมีการชำระเช่นไรสำหรับชนจำพวกปุโรหิตผู้ถูกเจิม? (ข) โดยวิธีใดที่ชนฝูงใหญ่ก็ได้รับประโยชน์เช่นกันจากการชำระนั้น?
12 จำเป็นต้องดำเนินงานชำระให้บริสุทธิ์ มีพรรณนาถึงเรื่องนี้ไว้ที่มาลาคี 3:1-4. เช่นเดียวกับยิศราเอลโบราณ พยานฯในสมัยนี้ของพระยะโฮวาจำเป็นต้องได้รับการชำระ ดังนั้น งานชำระให้บริสุทธิ์ซึ่งมาลาคีพรรณนาไว้นั้นจึงใช้กับพวกเขาได้ด้วย. ขณะที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งใกล้จะสิ้นสุด เหล่าพยานฯซึ่งเป็นที่รู้จักในขณะนั้นในฐานะนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ไม่ได้รักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดในเรื่องราวต่าง ๆ ของโลก. ในปี 1918 พระยะโฮวาทรงส่งพระเยซูคริสต์ “ทูตแห่งคำสัญญาไมตรี” ของพระองค์ มายังพระวิหารฝ่ายวิญญาณที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้เพื่อชำระผู้นมัสการกลุ่มเล็ก ๆ ของพระองค์ให้สะอาดจากมลทินฝ่ายโลก. พระยะโฮวาตรัสถามในเชิงพยากรณ์ดังนี้: “ผู้ใดจะรอหน้าอยู่ได้ในวันที่พระองค์ [ทูต] เสด็จมา และผู้ใดจะเผชิญหน้าอยู่ได้เมื่อพระองค์มาปรากฏพระกาย เพราะว่าพระองค์เป็นประดุจดังไฟถลุงแร่และสบู่ของช่างซักฟอก และพระองค์จะนั่งลงเหมือนช่างหลอมช่างถลุงเงิน. พระองค์จะถลุงลูกชายทั้งหลายของพวกเลวี [กลุ่มปุโรหิตผู้ถูกเจิม] ดุจดังถลุงทองและเงินเพื่อเขาทั้งหลายจะถวายเครื่องบูชาแก่พระยะโฮวาด้วยน้ำใสใจบริสุทธิ์ [“ด้วยความชอบธรรม”, ล.ม.].” ในฐานะไพร่พลที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ พวกเขาได้ทำเช่นนั้น!
13 กลุ่มปุโรหิตผู้ถูกเจิมนั้นมีจำนวนเพียง 144,000 คน. (วิวรณ์ 7:4-8; 14:1, 3) แต่คริสเตียนที่อุทิศตัวคนอื่น ๆ ล่ะจะว่าอย่างไร? คนอื่น ๆ เหล่านั้นซึ่งบัดนี้เพิ่มขึ้นเป็นหลายล้านคนประกอบกันขึ้นเป็น “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งต้องได้รับการชำระจากแนวทางของโลกเช่นกันโดย ‘ซักเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก.’ (วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.) ดังนั้น โดยการแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเมษโปดก เยซูคริสต์ พวกเขาก็สามารถรักษาฐานะที่สะอาดเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาได้. พวกเขาได้รับคำสัญญาเรื่องการรอดผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่นั้น วันอันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา.—ซะฟันยา 2:2, 3.
14. ไพร่พลของพระเจ้าในทุกวันนี้ควรเอาใจใส่ถ้อยคำอะไรขณะเขาปลูกฝังบุคลิกภาพใหม่?
14 พร้อมกับชนที่เหลือแห่งปุโรหิต ชนฝูงใหญ่นี้ต้องเอาใจใส่คำตรัสต่อไปของพระเจ้าที่ว่า “เราจะเข้ามาใกล้เจ้าทั้งหลายเพื่อพิจารณาพิพากษา และเราจะเป็นพยานพร้อมกับหลักฐานปรักปรำนักกลมารยา, และคนผิดประเวณีชายหญิง, คนทวนสบถ, และคนกดค่าจ้างลูกจ้าง, คนข่มเหงแม่หม้ายและลูกกำพร้า, คนเบียดบังแขกเมืองและคนไม่ยำเกรงเรา . . . เรายะโฮวา ไม่กลับกลอก [ไม่เปลี่ยนแปลง, ล.ม.].” (มาลาคี 3:5, 6) ไม่เลย มาตรฐานของพระยะโฮวาไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ด้วยความเกรงกลัวพระยะโฮวา ไพร่พลของพระองค์ในทุกวันนี้จึงต้องหลีกเว้นการไหว้รูปเคารพทุกชนิดและเป็นคนพูดแต่ความจริง, ซื่อสัตย์, และใจกว้างขณะที่เขาปลูกฝังบุคลิกภาพแบบคริสเตียนต่อ ๆ ไป.—โกโลซาย 3:9-14.
15. (ก) พระยะโฮวาทรงแผ่คำเชิญอะไรอันเปี่ยมด้วยพระเมตตา? (ข) เราอาจหลีกเว้นการ “ฉ้อโกง” พระเจ้าโดยวิธีใด?
15 พระยะโฮวาทรงแผ่คำเชิญไปยังคนใดก็ตามที่อาจหันหนีจากแนวทางอันชอบธรรมของพระองค์ โดยตรัสดังนี้: “จงกลับมาหาเราเสียเถอะ และเราจะกลับไปหาเจ้าทั้งหลาย.” หากคนเหล่านี้ถามว่า “เราจะกลับไปหาพระองค์ในเรื่องอะไรกัน?” พระองค์ตรัสตอบว่า “เจ้าทั้งหลายได้ฉ้อโกงเรา.” และในการตรัสตอบคำถามต่อไปที่ว่า “เราได้ฉ้อโกงพระองค์ในสิ่งไรกัน?” พระยะโฮวาตรัสว่า พวกเขาได้ฉ้อโกงพระองค์โดยไม่นำสิ่งดีที่สุดของตนมาเป็นของถวายในการปฏิบัติที่พระวิหารของพระองค์. (มาลาคี 3:7, 8) เมื่อมาเป็นส่วนของไพร่พลแห่งพระยะโฮวา เราพึงต้องการอย่างแท้จริงที่จะอุทิศส่วนดีที่สุดแห่งพลังงาน, ความสามารถ, และทรัพย์สินของเราแก่การรับใช้พระยะโฮวา. ดังนั้น แทนที่จะฉ้อโกงพระเจ้า เรา “แสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป.”—มัดธาย 6:33, ล.ม.
16. เราพบการหนุนกำลังใจอะไรที่มาลาคี 3:10-12?
16 มีบำเหน็จอันยิ่งใหญ่สำหรับทุกคนที่ละแนวทางของโลกที่นิยมวัตถุและทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวไว้เบื้องหลัง ดังที่มาลาคี 3:10-12 กล่าวว่า “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัส . . . ‘จงมาลองดูเราในเรื่องนี้ ดูทีหรือว่า เราจะเปิดบัญชรท้องฟ้าให้เจ้าและเทพรให้แก่เจ้าจนเกินความต้องการหรือไม่.’” สำหรับทุกคนที่หยั่งรู้ค่า พระยะโฮวาทรงสัญญาเรื่องความเจริญและบังเกิดผลฝ่ายวิญญาณ. พระองค์ตรัสต่อไปว่า “บรรดาประเทศทั้งปวงจะพากันเรียกเจ้าว่าคนมีสุข ด้วยว่าเมืองเจ้าจะเป็นเมืองที่น่าพึงใจจะอยู่.” เป็นเช่นนั้นมิใช่หรือในท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้าหลายล้านคนซึ่งเปี่ยมด้วยความรู้สึกขอบพระคุณที่มีอยู่ทั่วโลกในทุกวันนี้?
เหล่าผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงในหนังสือแห่งชีวิต
17-19. (ก) ความวุ่นวายในรวันดามีผลกระทบพี่น้องของเราที่นั่นอย่างไร? (ข) ด้วยความเชื่อมั่นเช่นไรที่ผู้ซื่อสัตย์เหล่านั้นมุ่งหน้าต่อไป?
17 ถึงตรงนี้ เราอาจพูดถึงความซื่อสัตย์มั่นคงของพี่น้องชาวรวันดาของเรา. พวกเขาได้นำของถวายฝ่ายวิญญาณอันเยี่ยมที่สุดมายังพระวิหารฝ่ายวิญญาณแห่งการนมัสการ. ยกตัวอย่าง ณ การประชุมภาค “การสอนจากพระเจ้า” ในเดือนธันวาคม 1993 ผู้ประกาศราชอาณาจักร 2,080 คนของพวกเขาได้ผู้เข้าร่วมประชุมรวมทั้งหมด 4,075 คน. มีพยานฯใหม่ 230 คนรับบัพติสมา และในจำนวนนี้ เกือบ 150 คนสมัครรับใช้เป็นไพโอเนียร์สมทบในเดือนถัดมา.
18 เมื่อความเกลียดชังระหว่างชนชาติระเบิดขึ้นในเดือนเมษายน 1994 พยานฯอย่างน้อย 180 คน รวมทั้งผู้ดูแลนครในคิกาลีซึ่งเป็นเมืองหลวง กับครอบครัวของเขาทั้งหมด ถูกสังหาร. ผู้แปลหกคนที่สำนักงานสาขาของสมาคมว็อชเทาเวอร์ในคิกาลีซึ่งสี่คนเป็นชาวฮูตูและสองคนเป็นชาวทุตซี ยังคงทำงานต่อไปอีกหลายสัปดาห์ภายใต้การคุกคามอย่างหนัก จนกระทั่งพี่น้องชาวทุตซีต้องหนี แต่แล้วก็ถูกฆ่าที่จุดตรวจ. สุดท้าย โดยขนเครื่องคอมพิวเตอร์เท่าที่เหลืออยู่ไปด้วย สี่คนที่เหลือได้หนีไปโกมาในประเทศซาอีร์ ที่ซึ่งพวกเขายังทำการแปลหอสังเกตการณ์ เป็นภาษาคีนยารวันดาต่อไปด้วยความภักดี.—ยะซายา 54:17.
19 พยานฯผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ถึงแม้อยู่ในสภาพการณ์ลำบากอย่างยิ่ง ก็ร้องขออาหารฝ่ายวิญญาณก่อนสิ่งของฝ่ายวัตถุเสมอ. ด้วยความเสียสละมากมาย พี่น้องที่มีความรักจากหลายประเทศสามารถนำสิ่งของต่าง ๆ ไปให้พวกเขาได้สำเร็จ. โดยคำพูดและโดยความมีระเบียบแม้ภายใต้สภาพการณ์ยากลำบาก ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้ให้คำพยานอันเยี่ยมยอด. พวกเขายังคงนำสิ่งดีที่สุดของตนมายังการนมัสการพระยะโฮวาจริง ๆ. พวกเขาแสดงให้เห็นความเชื่อมั่นเหมือนเปาโล ดังที่แสดงไว้ที่โรม 14:8 (ล.ม.) ที่ว่า “ไม่ว่าเราอยู่ เราก็อยู่เพื่อพระยะโฮวา และถ้าเราตาย เราก็ตายเพื่อพระยะโฮวา. เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราอยู่หรือตาย เราก็เป็นคนของพระยะโฮวา.”
20, 21. (ก) ชื่อของใครไม่มีเขียนไว้ในหนังสือบันทึกความจำของพระยะโฮวา? (ข) ชื่อของใครมีอยู่ในหนังสือนั้น และเพราะเหตุใด?
20 พระยะโฮวาทรงรักษาบันทึกเกี่ยวกับทุกคนที่รับใช้พระองค์ด้วยความซื่อสัตย์มั่นคง. คำพยากรณ์ของมาลาคีมีต่อไปดังนี้: “ในครั้งนั้นคนทั้งหลายที่ได้กลัวเกรงพระยะโฮวาก็ได้พลอยพูดเช่นนั้นด้วย และพระยะโฮวาได้ทรงสดับ แล้วจึงมีหนังสือบันทึกความจำ มีนามคนทั้งหลายที่ได้ยำเกรงพระยะโฮวา และที่ได้ระลึกถึงพระนามของพระองค์นั้นบันทึกลงต่อพักตร์พระองค์.”—มาลาคี 3:16.
21 ทุกวันนี้ เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ที่เราแสดงความเกรงกลัวพระเจ้าด้วยการถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระองค์! โดยการทำเช่นนั้น เราจะไม่ได้รับการพิพากษาที่เป็นผลร้าย ดังที่คนเหล่านั้นซึ่งสนับสนุนระบบโลกนี้ด้วยความนิยมชมชอบจะได้รับ. วิวรณ์ 17:8 (ล.ม.) กล่าวว่า “ชื่อของพวกเขาไม่มีเขียนไว้บนม้วนหนังสือแห่งชีวิต.” ตามเหตุผลแล้ว ชื่อสำคัญที่สุดที่มีเขียนไว้ในหนังสือแห่งชีวิตของพระยะโฮวาคือพระนามของผู้นำองค์เอกแห่งชีวิต พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า. มัดธาย 12:21 แถลงดังนี้: “นามของท่านจะเป็นที่หวังของชนต่างประเทศ.” เครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูรับประกันเรื่องชีวิตนิรันดร์สำหรับผู้ที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชานั้น. นับเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่มีชื่อของเราแต่ละคนรวมอยู่กับพระนามของพระเยซูในม้วนหนังสือนั้น!
22. ความแตกต่างอะไรจะปรากฏชัดเมื่อพระยะโฮวาทรงลงโทษตามคำพิพากษา?
22 เหล่าผู้รับใช้ของพระเจ้าจะเป็นอย่างไรในช่วงการพิพากษานั้น? พระยะโฮวาตรัสตอบที่มาลาคี 3:17, 18 ดังนี้: “เราจะเมตตาเขาเหมือนอย่างพ่อได้เมตตาลูก ลูกคนที่ได้ปรนนิบัติพ่อนั้น. และเจ้าทั้งหลายก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างคนชอบธรรมและคนชั่ว ระหว่างคนปรนนิบัติพระยะโฮวาและคนไม่ปรนนิบัติพระยะโฮวา.” การแบ่งแยกนั้นจะชัดแจ้งแก่ทุกคน: คนชั่ว ถูกแยกไว้ต่างหากสำหรับการถูกตัดขาดเป็นนิตย์ และคนชอบธรรม ได้รับความเห็นชอบให้มีชีวิตนิรันดร์ภายใต้การครอบครองแห่งราชอาณาจักร. (มัดธาย 25:31-46) ด้วยวิธีนี้ ชนฝูงใหญ่แห่งคนเยี่ยงแกะจะรอดจากวันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา.
คุณจำได้ไหม?
▫ พระยะโฮวาทรงลงโทษตามคำพิพากษาอะไรบ้างในสมัยคัมภีร์ไบเบิล?
▫ สภาพการณ์ในทุกวันนี้คล้ายกันอย่างไรกับสภาพการณ์ในสมัยโบราณ?
▫ การชำระอะไรได้เกิดขึ้นตามความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำพยากรณ์ของมาลาคี?
▫ ชื่อของใครถูกเขียนไว้ในหนังสือบันทึกความจำของพระเจ้า?