เธอเป็นที่โปรดปรานมากของพระยะโฮวา
“จงจำเริญเถิด เธอเป็นที่ทรงโปรดปรานมาก ขอพระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] ทรงสถิตอยู่กับเธอ.” ช่างเป็นการทักทายที่ดีเสียจริง ๆ! ผู้พูดไม่ใช่ใครอื่น นอกจากทูตสวรรค์ฆับริเอล. ท่านปราศรัยกับหญิงสาวที่มีใจถ่อมคนหนึ่ง คือมาเรีย ลูกสาวของบุรุษชื่อเฮลี. ปีนั้นคือปี 3 ก่อนสากลศักราช และสถานที่คือเมืองนาซาเร็ธ.—ลูกา 1:26-28.
มีการยกมาเรียให้แต่งงานกับโยเซฟช่างไม้. ตามกฎหมายและธรรมเนียมของชาวยิวนั้น ถือว่าเธอเป็นภรรยาที่แต่งงานแล้วของเขา. (มัดธาย 1:18) เขาเป็นคนต่ำต้อยเหมือนกับเธอ. ถ้าเช่นนั้น ทำไมทูตสวรรค์จึงทักทายเธอฐานะผู้ที่ได้รับความโปรดปรานมาก?
สิทธิพิเศษอันเยี่ยมยอดของเธอ
ฆับริเอลกล่าวเสริมอีกว่า “มาเรียเอ๋ย, อย่ากลัวเลย เพราะเธอเป็นที่ทรงโปรดปรานแล้ว. นี่แน่ะ. เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู. บุตรนั้นจะเป็นใหญ่, และจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของผู้สูงสุด. พระเจ้า [ยะโฮวา, ล.ม.] จะประทานพระที่นั่งของดาวิดบิดาของท่านให้แก่ท่าน. และท่านจะครอบครองพงศ์พันธุ์ของยาโคบสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์ และแผ่นดินของท่านจะไม่รู้สิ้นสุดเลย.”—ลูกา 1:29-33.
มาเรียจึงถามด้วยความประหลาดใจและงงงวยว่า “เหตุการณ์นั้นจะเป็นไปอย่างไรได้, เพราะข้าพเจ้ายังหาได้ร่วมกับชายไม่?” ฆับริเอลตอบว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาบนเธอ, และฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะสวมทับเธอ เหตุฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่จะบังเกิดนั้นจะได้นามว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า.” เพื่อขจัดข้อสงสัยใด ๆ ทูตสวรรค์กล่าวเสริมอีกว่า “นี่แน่ะ. นางเอลีซาเบ็ต, ญาติของเธอถึงชราแล้วก็ยังจะมีบุตรเป็นชาย บัดนี้นางนั้นที่ถือว่าเป็นหมันก็มีครรภ์ได้หกเดือนแล้ว เพราะว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งพระเจ้าทรงกระทำไม่ได้.”—ลูกา 1:34-37.
มาเรียยอมรับสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ที่น่าพิศวงนี้ทันที. เธอตอบอย่างเต็มใจแต่ก็ถ่อมตัวว่า “ดูเถิด, ข้าพเจ้าเป็นทาสีของพระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] ขอให้บังเกิดแก่ข้าพเจ้าตามคำของท่านเถิด.” แล้วฆับริเอลก็จากไป. มาเรียจึงรีบไปยังเมืองหนึ่งอยู่ในแถบภูเขาแห่งแขวงยูดาย. เมื่อมาถึงบ้านของปุโรหิตซะคาเรียและเอลีซาเบ็ตภรรยาของท่าน เธอพบสภาพการณ์ดังที่ทูตสวรรค์พรรณนาไว้ทุกอย่าง. หัวใจของมาเรียเต็มด้วยความยินดีเสียจริง ๆ! คำสรรเสริญพระยะโฮวาพรั่งพรูออกมาจากปากของเธอ.—ลูกา 1:38-55.
เธอกลายเป็นภรรยาของโยเซฟ
จำต้องมีสาวพรหมจารีคนหนึ่งให้ร่างกายมนุษย์แก่พระเยซู เพราะการประสูติแบบนั้นได้มีการบอกไว้ล่วงหน้า. (ยะซายา 7:14; มัดธาย 1:22, 23) แต่ทำไมต้องใช้สาวพรหมจารีที่รับหมั้นแล้ว? ก็เพื่อที่จะมีบิดาเลี้ยงผู้ซึ่งสามารถถ่ายทอดสิทธิอันถูกต้องตามกฎหมายแห่งราชบัลลังก์ของกษัตริย์ดาวิดให้แก่เด็กนั้น. ทั้งโยเซฟและมาเรียอยู่ในตระกูลยูดาและเป็นลูกหลานของกษัตริย์ดาวิด. ดังนั้น สิทธิในการเป็นรัชทายาทของพระเยซูจะได้รับการพิสูจน์ยืนยันในสองทาง. (มัดธาย 1:2-16; ลูกา 3:23-33) นี้เป็นเหตุผลที่ทูตสวรรค์รับรองกับโยเซฟในภายหลังว่า เขาไม่ควรลังเลในการรับมาเรียมาเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้เธอตั้งครรภ์.—มัดธาย 1:19-25.a
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดเก็บภาษีที่ซีซาร์ออกุสตุสได้ประกาศนั้นทำให้โยเซฟกับมาเรียต้องไปจดทะเบียนในเมืองเบธเลเฮม. ขณะอยู่ที่นั่น เธอให้กำเนิดบุตรชายหัวปี. พวกคนเลี้ยงแกะมาเยี่ยมพระกุมารนั้น และพวกเขากล่าวคำสรรเสริญพระยะโฮวา พระบิดาของพระองค์. ภายหลัง 40 วันแห่งการชำระกายให้สะอาดตามพระบัญญัติของโมเซ มาเรียไปยังพระวิหารในกรุงยะรูซาเลมเพื่อไถ่โทษสำหรับบาปของเธอ. (เลวีติโก 12:1-8; ลูกา 2:22-24) ถูกแล้ว เนื่องจากเธอไม่ได้เกิดมาในสภาพไม่มีด่างพร้อย และดังนั้นเธอจึงไม่ได้พ้นรอยเปื้อนของบาป ความไม่สมบูรณ์ของเธอที่สืบทอดมาต้องได้รับการปิดคลุมไว้โดยเครื่องบูชาไถ่โทษ.—บทเพลงสรรเสริญ 51:5.
ขณะที่มาเรียกับโยเซฟอยู่ ณ พระวิหาร ซิมโอนผู้สูงอายุและนางอันนาผู้พยากรณ์หญิงที่ชราแล้วมีสิทธิพิเศษได้เห็นพระบุตรของพระเจ้า. มาเรียไม่ได้เป็นจุดรวมความสนใจ. (ลูกา 2:25-38) ภายหลัง พวกโหราจารย์แสดงคารวะไม่ใช่ต่อเธอ แต่ต่อพระเยซู.—มัดธาย 2:1-12.
หลังจากหนีไปยังอียิปต์และอยู่ที่นั่นต่อไปจนกระทั่งเฮโรดผู้ชั่วร้ายสิ้นพระชนม์แล้ว บิดามารดาของพระเยซูกลับไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อนาซาเร็ธ. (มัดธาย 2:13-23; ลูกา 2:39) เมืองนั้นแหละที่โยเซฟกับมาเรียได้เลี้ยงดูพระเยซูภายใต้สภาพครอบครัวที่เลื่อมใสศรัทธาในพระเจ้า.
มาเรียมีลูกคนอื่น ๆ อีก
ต่อมา มาเรียกับโยเซฟมีลูกอีกทำให้พระเยซูมีน้องชายและน้องสาวร่วมสายโลหิต. เมื่อพระเยซูมาสั่งสอนที่นาซาเร็ธบ้านเกิดของพระองค์ คนที่รู้จักมักคุ้นกับพระองค์ในวัยเด็กจำพระองค์ได้. พวกเขาถามว่า “คนนี้เป็นลูกช่างไม้มิใช่หรือ มารดาของเขาชื่อมาเรียมิใช่หรือ และน้องชายของเขาชื่อยาโกโบ, โยเซ, ซีโมน, และยูดามิใช่หรือ และน้องสาวก็อยู่บ้านหมู่เดียวกันกับเรามิใช่หรือ?” (มัดธาย 13:55, 56) ชาวนาซาเร็ธกล่าวถึงครอบครัวโดยสายโลหิตของโยเซฟกับมาเรีย รวมทั้งลูกชายและลูกสาวของเธอซึ่งพวกเขารู้จักว่าเป็นน้องชายและน้องสาวร่วมสายโลหิตกับพระเยซู.
พี่น้องชายและหญิงเหล่านี้ไม่ใช่ลูกพี่ลูกน้องของพระเยซู. พวกเขาไม่ใช่สาวกของพระองค์ หรือพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณ เพราะโยฮัน 2:12 แสดงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างคนสองกลุ่มนี้โดยกล่าวว่า “พระองค์ [พระเยซู] กับมารดา, พี่น้องและพวกศิษย์ของพระองค์ได้ไปยังเมืองกัปเรนาอูม.” หลายปีต่อมาในกรุงยะรูซาเลม อัครสาวกเปาโลพบเกฟาหรือเปโตร และกล่าวเสริมว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นอัครสาวกคนอื่นเลย, เว้นแต่ยาโกโบน้องขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” (ฆะลาเตีย 1:19) นอกจากนี้ คำแถลงที่ว่าโยเซฟ “มิได้ร่วมรู้กับเธอ [มาเรีย] จนประสูติบุตรชายแล้ว” แสดงว่า บิดาเลี้ยงของพระเยซูได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอหลังจากนั้นและให้กำเนิดลูกคนอื่น ๆ. (มัดธาย 1:25) เพราะฉะนั้น ลูกา 2:7 เรียกพระเยซูว่า บุตรชาย “หัวปี” ของเธอ.
มารดาผู้เกรงกลัวพระเจ้า
ฐานะมารดาผู้เกรงกลัวพระเจ้า มาเรียร่วมมือกับโยเซฟในการสั่งสอนลูก ๆ ของเธอในความชอบธรรม. (สุภาษิต 22:6) การที่เธอเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ที่กระตือรือร้นนั้นเห็นได้จากถ้อยคำทางฝ่ายวิญญาณของเธอเมื่อเอลีซาเบ็ตทักทายเธอ. ในคราวนั้นมารดาของพระเยซูกล่าวซ้ำความรู้สึกจากบทเพลงของนางฮันนาและแสดงให้เห็นความรู้เกี่ยวกับบทเพลงสรรเสริญ, บทจารึกทางประวัติศาสตร์และเชิงพยากรณ์, และพระธรรมต่าง ๆ ของโมเซ. (เยเนซิศ 30:13; 1 ซามูเอล 2:1-10; สุภาษิต 31:28; มาลาคี 3:12; ลูกา 1:46-55) มาเรียได้จดจำเหตุการณ์และคำกล่าวเชิงพยากรณ์ สงวนรักษาไว้ในหัวใจของเธอ และไตร่ตรองเรื่องเหล่านั้นในจิตใจของเธอ. เพราะฉะนั้น เธอจึงถูกเตรียมไว้พร้อมมูลที่จะมีส่วนร่วมในการให้คำสั่งสอนฉันบิดามารดาแก่เด็กชายเยซู.—ลูกา 2:19, 33.
พระเยซูในวัย 12 พรรษาซึ่งได้รับการสอนเป็นอย่างดีสำแดงความรู้ด้านพระคัมภีร์จนทำให้คนที่มีความรู้นั้นประหลาดใจ ณ พระวิหาร. เพราะพระองค์แยกจากบิดามารดาระหว่างเทศกาลปัศคา มารดาของพระองค์จึงกล่าวว่า “ลูกเอ๋ย, ทำไมจึงทำแก่เราเช่นนี้? นี่แน่ะ, พ่อกับแม่แสวงหาเป็นทุกข์นัก.” พระเยซูตอบว่า “ท่านเที่ยวหาฉันทำไม? ท่านยังไม่ทราบหรือว่า ฉันคงต้องอยู่ในราชฐานแห่งพระบิดาของฉัน?” เพราะไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำตอบนี้ มาเรียจึงเก็บเรื่องนี้ไว้ในหัวใจของเธอ. เมื่อกลับไปยังนาซาเร็ธ พระเยซู “จำเริญขึ้นในฝ่ายสติปัญญา, ในฝ่ายกาย, และเป็นที่ชอบจำเพาะพระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งปวงด้วย.”—ลูกา 2:42-52.
มาเรียฐานะสาวกของพระเยซู
ช่างเหมาะสมสักเพียงไรที่มาเรียจะกลายเป็นสาวกที่เลื่อมใสศรัทธาของพระเยซูในที่สุด! เธอเป็นคนอ่อนโยนและไม่มีความทะเยอทะยานที่จะโดดเด่นทั้ง ๆ ที่เธอได้รับงานมอบหมายจากพระเจ้าที่ไม่มีใดเหมือน. มาเรียรู้จักพระคัมภีร์. หากคุณค้นดูข้อต่าง ๆ ด้วยตัวเอง คุณจะเห็นว่าไม่มีการพรรณนาถึงเธอว่าประทับบนบัลลังก์พร้อมด้วยรัศมีทรงกลดฐานะ “แม่พระ” และถูกแผ่คลุมด้วยรัศมีของพระเยซู. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คุณจะเห็นว่าเธออยู่เบื้องหลังห่าง ๆ ไม่ได้เป็นจุดรวมความสนใจ.—มัดธาย 13:53-56; โยฮัน 2:12.
พระเยซูทรงป้องกันล่วงหน้ามิให้มีเรื่องใด ๆ เช่นการยกย่องมาเรียเกินควรในท่ามกลางสาวกของพระองค์. ขณะที่พระองค์ตรัสสั่งสอนในโอกาสหนึ่ง “ผู้หญิงคนหนึ่งในหมู่ประชาชนร้องทูลพระองค์ว่า ‘ครรภ์ซึ่งปฏิสนธิ์พระองค์และหัวนมที่พระองค์เสวยนั้นก็เป็นสุข.’ แต่พระองค์ตรัสว่า ‘คนทั้งหลายที่ได้ยินคำของพระเจ้า, และได้ถือรักษาคำนั้นไว้ ก็เป็นสุขมากยิ่งกว่านั้นอีก.’” (ลูกา 11:27, 28) ณ งานเลี้ยงสมรสคราวหนึ่ง พระเยซูตรัสแก่มาเรียว่า “หญิงเอ๋ย ข้าพเจ้ามีธุระอะไรกับท่าน? เวลาของข้าพเจ้ายังมาไม่ถึง.” (โยฮัน 2:4, ล.ม.) ฉบับแปลอื่นอ่านว่า “แม่ไม่ต้องมาบอกผมดอก ยังไม่ถึงเวลาของผม.” (ฉบับประชานิยม) “อย่าพยายามชี้นำข้าพเจ้า.” (แอน อเมริกัน แทรนสเลชัน) ถูกแล้ว พระเยซูนับถือมารดาของพระองค์ แต่พระองค์มิได้สักการะเธอ.
สิทธิพิเศษถาวร
มาเรียช่างได้รับสิทธิพิเศษเสียจริง ๆ! เธอให้กำเนิดพระเยซู. ครั้นแล้วเธอทำหน้าที่เป็นมารดาและอบรมเด็กน้อยคนนี้. ในที่สุด เธอแสดงความเชื่อ เข้ามาเป็นสาวกและเป็นพี่น้องหญิงฝ่ายวิญญาณของพระคริสต์. ในการมองแวบหนึ่งตามพระคัมภีร์เกี่ยวกับมาเรียเป็นครั้งสุดท้าย เราเห็นเธออยู่ในห้องชั้นบนในกรุงยะรูซาเลม. เธออยู่ที่นั่นพร้อมกับอัครสาวกของพระเยซู, ลูกชายคนอื่น ๆ ของเธอ, และผู้หญิงที่ซื่อสัตย์บางคน—ทุกคนเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา.—กิจการ 1:13, 14.
ในที่สุด มาเรียตายและร่างกายก็กลับไปเป็นธุลี. เช่นเดียวกับสาวกที่ถูกเจิมรุ่นแรกคนอื่น ๆ ของบุตรชายที่รักของเธอ เธอนอนหลับอยู่ในความตายจนกระทั่งเวลากำหนดของพระเจ้าที่จะปลุกเธอให้กลับเป็นขึ้นจากตายฐานะเป็นบุคคลวิญญาณพร้อมกับชีวิตอมตะในสวรรค์. (1 โกรินโธ 15:44, 50; 2 ติโมเธียว 4:8) ผู้ “เป็นที่โปรดปรานมาก” คนนี้คงต้องรู้สึกยินดีสักเพียงไรในขณะนี้เมื่ออยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์!
[เชิงอรรถ]
a หากมาเรียไม่เป็นสาวพรหมจารี ใครจะอยากแต่งงานกับเธอ? พวกยิวได้ยืนกรานว่าเด็กสาวต้องเป็นพรหมจารี.—พระบัญญัติ 22:13-19; เทียบกับเยเนซิศ 38:24-26.
[รูปภาพหน้า 31]
มาเรียเป็นที่โปรดปรานมากฐานะมารดาของพระเยซู