คุณเต็มใจเสียสละขนาดไหนเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์?
“มนุษย์จะเอาอะไรมาแลกกับชีวิตของเขา?”—มัด. 16:26.
1. เหตุใดพระเยซูทรงปฏิเสธคำทัดทานของเปโตร?
อัครสาวกเปโตรไม่อยากเชื่อสิ่งที่ท่านได้ยิน. ผู้นำที่ท่านรักยิ่ง คือพระเยซูคริสต์ ตรัส “อย่างตรงไปตรงมา” ว่าอีกไม่นานพระองค์จะทนทุกข์และสิ้นพระชนม์! เปโตรตอบพระเยซู โดยทัดทานด้วยเจตนาดีอย่างไม่ต้องสงสัย ว่า “พระองค์เจ้าข้า ทรงกรุณาพระองค์เองเถิด พระองค์จะไม่ประสบเหตุการณ์เช่นนั้นเลย.” พระเยซูทรงหันหลังให้เปโตรและมองสาวกคนอื่น ๆ. ดูเหมือนว่าพวกเขาเหล่านั้นก็มีความคิดที่ผิดอย่างเดียวกัน. แล้วพระองค์ก็ตรัสกับเปโตรว่า “ไปให้พ้น ซาตาน! เจ้ากำลังขัดขวางเรา เพราะที่เจ้าคิดนั้นไม่ใช่ความคิดของพระเจ้า แต่เป็นความคิดของมนุษย์.”—มโก. 8:32, 33; มัด. 16:21-23.
2. พระเยซูทรงกำหนดข้อเรียกร้องสำหรับสาวกแท้ของพระองค์อย่างไร?
2 คำตรัสถัดจากนั้นของพระเยซูอาจช่วยเปโตรให้เข้าใจเหตุผลที่พระเยซูทรงแสดงปฏิกิริยารุนแรงต่อคำทัดทานของท่าน. พระเยซู “ทรงเรียกฝูงชนกับเหล่าสาวกเข้ามาหา” และตรัสว่า “ถ้าผู้ใดต้องการติดตามเรา ให้เขาปฏิเสธตัวเองและแบกเสาทรมานของตนแล้วตามเราเรื่อยไป. ด้วยว่าผู้ใดพยายามเอาชีวิตรอด ผู้นั้นจะเสียชีวิต แต่ผู้ใดยอมเสียชีวิตเพื่อเห็นแก่เราและข่าวดี ผู้นั้นจะได้ชีวิต.” (มโก. 8:34, 35) เห็นได้ชัด พระองค์ไม่เพียงจะสละชีวิตพระองค์ แต่ทรงคาดหมายด้วยว่าคนที่ติดตามพระองค์จะต้องพร้อมสละชีวิตในการรับใช้พระเจ้า. หากทำอย่างนั้น พวกเขาก็จะได้รับบำเหน็จอย่างอุดม.—อ่านมัดธาย 16:27.
3. (ก) พระเยซูทรงตั้งคำถามอะไรกับคนที่ฟังพระองค์? (ข) คำถามที่สองของพระเยซูอาจทำให้ผู้ฟังนึกถึงอะไร?
3 ในโอกาสเดียวกันนั้น พระเยซูทรงตั้งคำถามที่น่าคิดสองคำถาม: “จะเป็นประโยชน์อะไรแก่มนุษย์เล่าถ้าเขาได้โลกทั้งโลกแต่เสียชีวิต?” และ “มนุษย์จะเอาอะไรมาแลกกับชีวิตของเขา?” (มโก. 8:36, 37) คำตอบสำหรับคำถามแรกนั้นเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วตามทัศนะของมนุษย์. ไม่มีประโยชน์ที่คนเราจะได้โลกทั้งโลกหากต้องเสียชีวิตไป. ทรัพย์สินเงินทองจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อคนเรามีชีวิตอยู่และได้ใช้สิ่งเหล่านั้น. คำถามที่สองของพระเยซู: “มนุษย์จะเอาอะไรมาแลกกับชีวิตของเขา?” อาจทำให้ผู้ที่ฟังพระเยซูนึกถึงข้อกล่าวหาของซาตานในสมัยโยบ ที่ว่า “คนย่อมสละอะไร ๆ ทุกสิ่งได้, เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนชีวิตของตนให้คงอยู่.” (โยบ 2:4) คำพูดของซาตานอาจเป็นจริงสำหรับคนที่ไม่ได้นมัสการพระยะโฮวา. หลายคนพร้อมจะทำทุกสิ่งหรือพร้อมจะละเมิดหลักการด้านศีลธรรมทุกข้อเพียงเพื่อจะมีชีวิตต่อไป. แต่คริสเตียนมีทัศนะต่างออกไป.
4. เหตุใดคำถามของพระเยซูจึงมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าสำหรับคริสเตียน?
4 เรารู้ว่าพระเยซูไม่ได้มายังโลกเพื่อช่วยเราให้มีสุขภาพดี, มีทรัพย์สินมากมาย, และมีชีวิตยืนยาวในโลกเก่านี้. พระองค์เสด็จมาเพื่อเปิดโอกาสให้เรามีชีวิตตลอดไปในโลกใหม่ และเราถือว่าความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์นั้นมีค่าอย่างยิ่ง. (โย. 3:16) คริสเตียนเข้าใจว่าคำถามแรกของพระเยซูหมายความว่า “จะเป็นประโยชน์อะไรแก่มนุษย์เล่าถ้าเขาได้โลกทั้งโลกแต่ต้องสูญเสียความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์?” คำตอบก็คือ ไม่มีประโยชน์เลย. (1 โย. 2:15-17) เพื่อช่วยเราตอบคำถามที่สองของพระเยซู ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันเต็มใจจะเสียสละขนาดไหนในเวลานี้เพื่อทำให้ความหวังที่จะมีชีวิตในโลกใหม่กลายเป็นความจริง?’ คำตอบของเราต่อคำถามดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้จากแนวทางชีวิตของเรา จะเผยให้เห็นว่าความหวังนั้นมั่นคงขนาดไหนในหัวใจเรา.—เทียบกับโยฮัน 12:25.
5. เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นของประทานได้โดยวิธีใด?
5 แน่นอน พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าชีวิตนิรันดร์เป็นสิ่งที่สามารถได้รับเป็นค่าตอบแทน. ชีวิต—แม้แต่ชีวิตเราที่ค่อนข้างสั้นในระบบนี้—เป็นของประทาน. เราไม่อาจซื้อชีวิตหรือทำสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เราสมควรมีชีวิต. ทางเดียวที่เราจะสามารถได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นของประทานก็คือ “เชื่อในพระคริสต์เยซู” และเชื่อในพระยะโฮวาผู้ “ทรงประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง.” (กลา. 2:16; ฮีบรู 11:6) อย่างไรก็ตาม ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ามีความเชื่อด้วยการกระทำ เนื่องจาก “ความเชื่อที่ไม่มีการทำตามก็ตายแล้ว.” (ยโก. 2:26) ดังนั้น เมื่อเราใคร่ครวญกันมากกว่านี้เกี่ยวกับคำถามของพระเยซู เราควรพิจารณาอย่างจริงจังว่าเราเต็มใจจะเสียสละขนาดไหนในระบบนี้ และเราเต็มใจจะทำอะไรในการรับใช้พระยะโฮวาเพื่อแสดงว่าความเชื่อของเรามีชีวิตอยู่จริง ๆ.
‘พระคริสต์ไม่ได้ทำตามชอบพระทัยพระองค์’
6. สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกสำหรับพระเยซูคืออะไร?
6 แทนที่จะสนใจสิ่งที่โลกในสมัยของพระองค์เสนอให้ พระเยซูทรงเน้นเรื่องที่สำคัญและปฏิเสธการล่อใจให้มุ่งหาสิ่งฝ่ายวัตถุที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย. พระองค์ทรงดำเนินชีวิตแบบที่เสียสละและเชื่อฟังพระเจ้า. แทนที่จะทำตามชอบพระทัยพระองค์เอง พระเยซูตรัสว่า “เราทำสิ่งที่ [พระเจ้า] ชอบพระทัยเสมอ.” (โย. 8:29) พระเยซูทรงเต็มพระทัยทำถึงขนาดไหนเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย?
7, 8. (ก) พระเยซูทรงเสียสละเช่นไร และพระองค์ได้รับบำเหน็จอย่างไร? (ข) เราควรถามตัวเองเช่นไร?
7 ในโอกาสหนึ่ง พระเยซูตรัสกับเหล่าสาวกว่า “บุตรมนุษย์ไม่ได้มาให้คนอื่นรับใช้ แต่มารับใช้คนอื่น และสละชีวิตเป็นค่าไถ่เพื่อคนเป็นอันมาก.” (มัด. 20:28) ก่อนหน้านั้น เมื่อพระเยซูทรงแจ้งให้เหล่าสาวกรู้ล่วงหน้าว่าอีกไม่ช้าพระองค์จะต้อง “สละชีวิต” เปโตรกระตุ้นพระองค์ให้กรุณาพระองค์เอง. อย่างไรก็ตาม พระเยซูไม่ทรงหวั่นไหว. พระองค์ทรงเต็มพระทัยสละชีวิตอันเป็นชีวิตมนุษย์สมบูรณ์เพื่อมนุษยชาติ. ผลของแนวทางอันไม่เห็นแก่ตัวของพระเยซูก็คือ อนาคตของพระองค์เองมั่นคง. พระองค์ถูกปลุกให้คืนพระชนม์และ “ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ด้านขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า.” (กิจ. 2:32, 33) ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมที่เราจะเลียนแบบ.
8 อัครสาวกเปาโลแนะนำคริสเตียนในกรุงโรมว่า “ไม่ควรทำตามใจชอบ” และเตือนพวกเขาให้จำไว้ว่า “แม้แต่พระคริสต์ก็ไม่ได้ทำตามชอบพระทัยพระองค์.” (โรม 15:1-3) ถ้าอย่างนั้น เราจะใช้คำแนะนำของอัครสาวกและเลียนแบบพระคริสต์โดยการเสียสละถึงขนาดไหน?
พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราถวายสิ่งที่ดีที่สุด
9. คริสเตียนทำอะไรเมื่อเขาอุทิศตัวแด่พระเจ้า?
9 ในอิสราเอลโบราณ พระบัญญัติของโมเซกำหนดว่าต้องปล่อยทาสชาวฮีบรูให้เป็นอิสระในปีที่เจ็ดที่เขาเป็นทาสหรือในปีจูบิลี. อย่างไรก็ตาม พวกเขามีทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง. หากทาสรักนาย เขาสามารถเลือกจะอยู่เป็นทาสในครอบครัวนั้นต่อไปตลอดชีวิต. (อ่านพระบัญญัติ 15:12, 16, 17.) เราเลือกแนวทางที่คล้าย ๆ กันเมื่อเราอุทิศตัวเราเองแด่พระเจ้า. เราเต็มใจทำสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ไม่ทำตามแนวโน้มของตัวเราเอง. ด้วยการทำอย่างนั้น เราแสดงว่าเรารักพระยะโฮวาอย่างยิ่งและปรารถนาจะรับใช้พระองค์ตลอดไป.
10. เราเป็นสมบัติของพระเจ้าอย่างไร และข้อเท็จจริงนี้น่าจะส่งผลอย่างไรต่อความคิดและการกระทำของเรา?
10 หากตอนนี้คุณกำลังศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา, ร่วมงานประกาศข่าวดี, และเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน คุณสมควรได้รับคำชม. เราหวังว่าในไม่ช้าคุณจะรู้สึกถูกกระตุ้นใจให้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและถามอย่างที่ขุนนางชาวเอธิโอเปียถามฟิลิปว่า “มีอะไรขัดข้องไหมถ้าข้าพเจ้าจะรับบัพติสมา?” (กิจ. 8:35, 36) ถึงตอนนั้น สายสัมพันธ์ของคุณกับพระเจ้าก็จะเป็นเหมือนกับสายสัมพันธ์ของคริสเตียนในศตวรรษแรกกับพระเจ้า ซึ่งเปาโลเขียนไปถึงพวกเขาว่า “พวกท่านไม่ใช่เจ้าของตัวเอง เพราะท่านทั้งหลายถูกซื้อไว้แล้วด้วยราคาสูง.” (1 โค. 6:19, 20) ไม่ว่าเรามีความหวังทางสวรรค์หรือที่แผ่นดินโลก หากเราได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา พระองค์ทรงเป็นเจ้าของตัวเรา. ดังนั้น นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่จะระงับความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวและ “เลิกเป็นทาสของมนุษย์”! (1 โค. 7:23) นับเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่เราเป็นผู้รับใช้ที่ภักดีต่อพระยะโฮวาที่พระองค์จะทรงใช้เราได้ตามที่พระองค์ชอบพระทัย!
11. คริสเตียนถูกกระตุ้นให้ถวายเครื่องบูชาเช่นไร และนั่นหมายความอย่างไรจริง ๆ ดังที่การถวายเครื่องบูชาตามพระบัญญัติของโมเซเป็นตัวอย่าง?
11 เปาโลเตือนสติเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “ให้ท่านทั้งหลายถวายร่างกายเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต ที่บริสุทธิ์ ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้ ซึ่งเป็นการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ด้วยความสามารถในการใช้เหตุผลของพวกท่าน.” (โรม 12:1) คำพูดดังกล่าวอาจเตือนใจคริสเตียนชาวยิวให้นึกถึงเครื่องบูชาที่เป็นลักษณะเด่นของการนมัสการก่อนที่พวกเขาจะมาเป็นสาวกของพระเยซู. พวกเขาคงรู้อยู่แล้วว่าสัตว์ที่ถวายที่แท่นบูชาของพระยะโฮวาตามพระบัญญัติของโมเซต้องเป็นสัตว์ที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่. เครื่องบูชาใด ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งดีที่สุดพระเจ้าไม่ทรงยอมรับ. (มลคี. 1:8, 13) เป็นอย่างนั้นด้วยเมื่อเราถวายตัวเราเป็น “เครื่องบูชาที่มีชีวิต.” เราถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระยะโฮวา ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่เหลืออยู่หลังจากได้สนองความปรารถนาส่วนตัวของเราเองทั้งหมดแล้ว. เมื่อเราอุทิศตัวแด่พระเจ้า เราถวาย “ชีวิต” ของเรา รวมถึงกำลัง, ทรัพย์สิน, และความสามารถของเรา แด่พระองค์อย่างเต็มที่. (โกโล. 3:23) นั่นหมายความอย่างไรในทางปฏิบัติ?
ใช้เวลาของคุณอย่างสุขุม
12, 13. วิธีหนึ่งที่เราสามารถถวายสิ่งที่ดีที่สุดของเราแด่พระยะโฮวาคืออะไร?
12 วิธีหนึ่งที่จะถวายสิ่งดีที่สุดแด่พระยะโฮวาก็คือการใช้เวลาของเราอย่างสุขุม. (อ่านเอเฟโซ 5:15, 16.) การทำอย่างนั้นต้องมีการควบคุมตัวเอง. อิทธิพลต่าง ๆ จากโลกรวมทั้งความไม่สมบูรณ์ที่ได้รับตกทอดมาทำให้เรามีแนวโน้มจะใช้เวลาเพียงเพื่อความเพลิดเพลินหรือผลประโยชน์ของเราเอง. จริงอยู่ “มีวาระกำหนดไว้สำหรับทุกสิ่ง” รวมทั้งการพักผ่อนหย่อนใจและการทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อจะทำตามพันธะหน้าที่ของเราในฐานะคริสเตียน. (ผู้ป. 3:1) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วจำเป็นต้องรักษาความสมดุลและใช้เวลาอย่างสุขุม.
13 เมื่อเปาโลเยี่ยมเมืองเอเธนส์ ท่านสังเกตว่า “ชาวเอเธนส์ทั้งหลายรวมทั้งชาวต่างประเทศที่อยู่ที่นั่นไม่ได้ทำอะไรในยามว่างนอกจากบอกเล่าหรือไม่ก็ฟังเรื่องใหม่ ๆ.” (กิจ. 17:21) ปัจจุบัน หลายคนใช้เวลาอย่างสูญเปล่าคล้าย ๆ กัน. สิ่งที่ดึงความสนใจให้เขวในสมัยนี้มีหลายอย่าง เช่น การชมโทรทัศน์, การเล่นวิดีโอเกม, และการท่องอินเทอร์เน็ต. มีสิ่งที่ทำให้เขวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่แย่งเวลาของเราไป. ถ้าเรายอมแพ้แก่สิ่งเหล่านั้น เราก็อาจละเลยสิ่งที่จำเป็นฝ่ายวิญญาณ. เราอาจถึงกับเชื่อว่าเรายุ่งเกินไปที่จะเอาใจใส่ ‘สิ่งที่สำคัญกว่า’ คือเรื่องที่เกี่ยวกับการรับใช้พระยะโฮวา.—ฟิ-ลิป. 1:9, 10.
14. เราควรพิจารณาคำถามอะไรอย่างจริงจัง?
14 ด้วยเหตุนั้น ในฐานะผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา จงถามตัวเองว่า ‘การอ่านคัมภีร์ไบเบิล, การคิดรำพึง, และการอธิษฐานรวมอยู่ในตารางเวลาประจำวันของฉันไหม?’ (เพลง. 77:12; 119:97; 1 เทส. 5:17) ‘ฉันจัดเวลาไว้โดยเฉพาะไหมเพื่อเตรียมส่วนการประชุมคริสเตียน? ฉันหนุนใจคนอื่น ๆ ด้วยการแสดงความเห็นเมื่อเข้าร่วมการประชุมไหม?’ (เพลง. 122:1; ฮีบรู 2:12) พระคำของพระเจ้ากล่าวว่าเปาโลและบาร์นาบัสใช้เวลา “นานทีเดียว . . . พูดด้วยความกล้าหาญโดยอำนาจจากพระยะโฮวา.” (กิจ. 14:3) คุณสามารถปรับสภาพการณ์ในชีวิตเพื่อใช้เวลามากขึ้น หรือแม้แต่เพื่อจะใช้เวลา “นานทีเดียว” ในงานประกาศ หรืออาจรับใช้เป็นไพโอเนียร์ไหม?—อ่านฮีบรู 13:15.
15. ผู้ปกครองใช้เวลาอย่างสุขุมอย่างไร?
15 เมื่ออัครสาวกเปาโลและบาร์นาบัสเยี่ยมประชาคมคริสเตียนในเมืองอันทิโอก ทั้งสอง “อยู่กับพวกสาวกที่นั่นนานพอสมควร” เพื่อจะหนุนใจพวกเขา. (กิจ. 14:28) ผู้ปกครองที่เปี่ยมด้วยความรักในปัจจุบันก็ใช้เวลามากเพื่อเสริมให้คนอื่น ๆ เข้มแข็ง. นอกเหนือจากงานรับใช้ในเขตประกาศแล้ว ผู้ปกครองทำงานหนักเพื่อเยี่ยมบำรุงเลี้ยงฝูงแกะ, เสาะหาแกะที่หลงหาย, ช่วยคนที่เจ็บป่วย, และดูแลหน้าที่รับผิดชอบอื่น ๆ อีกหลายอย่างในประชาคม. หากคุณเป็นพี่น้องชายที่รับบัพติสมาแล้ว สภาพการณ์ของคุณเอื้ออำนวยให้คุณสามารถพยายามเพื่อรับสิทธิพิเศษเพิ่มมากขึ้นในการรับใช้ไหม?
16. มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถ “ทำดีต่อ . . . ผู้ที่มีความเชื่อเช่นเดียวกับเรา”?
16 หลายคนมีความยินดีในการทำงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์พี่น้องที่ประสบความสูญเสียทั้งที่เกิดจากมนุษย์และภัยธรรมชาติ. ตัวอย่างเช่น พี่น้องหญิงคนหนึ่งอายุ 60 กว่าปีซึ่งรับใช้ที่เบเธลได้เดินทางไกลหลายครั้งเพื่ออาสาสมัครเป็นคนงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์. ทำไมเธอจึงใช้วันลาหยุดของเธออย่างนั้น? เธอกล่าวว่า “แม้ว่าดิฉันไม่มีความชำนาญเฉพาะ แต่เป็นสิทธิพิเศษที่จะทำสิ่งใดก็ตามที่จำเป็น. ดิฉันได้รับกำลังใจมากเมื่อเห็นความเชื่อที่เข้มแข็งของพี่น้องที่ประสบความสูญเสียอย่างมากด้านวัตถุ.” นอกจากนั้น ทั่วโลกมีพี่น้องมากมายที่ได้ช่วยสร้างหอประชุมราชอาณาจักรและหอประชุมสำหรับการประชุมใหญ่. ด้วยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น เรา “ทำดีต่อ . . . ผู้ที่มีความเชื่อเช่นเดียวกับเรา” อย่างไม่เห็นแก่ตัว.—กลา. 6:10.
“เราจะอยู่กับพวกเจ้าเสมอ”
17. คุณจะเต็มใจเสียสละอะไรเพื่อแลกกับชีวิตนิรันดร์?
17 สังคมมนุษย์ที่เหินห่างจากพระเจ้ากำลังจะผ่านพ้นไป. เราไม่รู้แน่ชัดว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไร. ถึงกระนั้น เรารู้ว่า “เวลาเหลือน้อยแล้ว” และ “โลกนี้กำลังเปลี่ยนไปเหมือนละครเปลี่ยนฉาก.” (อ่าน 1 โครินท์ 7:29-31.) นั่นทำให้คำถามของพระเยซูมีความหมายมากขึ้นไปอีก ที่ว่า “มนุษย์จะเอาอะไรมาแลกกับชีวิตของเขา?” แน่นอน เราจะเสียสละสิ่งใดก็ตามที่พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้เราทำเพื่อจะได้รับ “ชีวิตแท้.” (1 ติโม. 6:19) ที่จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำตามคำเตือนสติของพระเยซูที่ให้ ‘ติดตามพระองค์เรื่อยไป’ และ ‘แสวงหาราชอาณาจักรก่อน.’—มัด. 6:31-33; 24:13.
18. เราสามารถเชื่อมั่นในเรื่องใด และเพราะเหตุใด?
18 จริงอยู่ การติดตามพระเยซูไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป และก็เป็นจริงดังที่พระเยซูทรงเตือนไว้ว่าการติดตามพระองค์ทำให้บางคนเสียชีวิตในยุคนี้. อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับพระเยซู เราต่อต้านการล่อใจให้ ‘กรุณาตัวเอง.’ เรามีความเชื่อในคำรับรองที่พระองค์ประทานแก่เหล่าสาวกผู้ถูกเจิมในศตวรรษแรกว่า “เราจะอยู่กับพวกเจ้าเสมอจนถึงช่วงสุดท้ายของยุค.” (มัด. 28:20) ดังนั้น ให้เราใช้เวลาและความสามารถของเราในการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์อย่างเต็มที่. เมื่อเราทำอย่างนั้น เราแสดงว่าเราเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาจะคุ้มครองเราผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่หรือปลุกเราให้มีชีวิตในโลกใหม่. (ฮีบรู 6:10) ด้วยวิธีนั้น เราก็จะได้แสดงให้เห็นว่าเราเห็นคุณค่าอย่างยิ่งในชีวิตซึ่งเป็นของประทานจากพระเจ้า.
คุณจะตอบอย่างไร?
• พระเยซูทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าทรงเต็มพระทัยอย่างยิ่งที่จะรับใช้พระเจ้าและมนุษย์?
• เหตุใดคนเราควรปฏิเสธตัวเอง และจะทำอย่างนี้โดยวิธีใด?
• ในอิสราเอลโบราณ เครื่องบูชาแบบใดเท่านั้นที่พระยะโฮวาทรงยอมรับ และนั่นให้หลักอะไรแก่เราในปัจจุบัน?
• เราสามารถใช้เวลาอย่างสุขุมได้โดยวิธีใดบ้าง?
[ภาพหน้า 26]
พระเยซูทรงทำสิ่งที่พระเจ้าพอพระทัยเสมอ
[ภาพหน้า 28]
ชาวอิสราเอลที่สำนึกบุญคุณถวายสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อสนับสนุนการนมัสการแท้
[ภาพหน้า 29]
เราทำให้พระเจ้าพอพระทัยด้วยการใช้เวลาอย่างสุขุม