คุณให้อภัยอย่างที่พระยะโฮวาทรงให้อภัยไหม?
“ถ้าท่านยกความผิดของมนุษย์, พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย. แต่ถ้าท่านไม่ยกความผิดของมนุษย์, พระบิดาของท่านก็จะไม่ทรงโปรดยกความผิดของท่านเหมือนกัน.”—มัดธาย 6:14, 15.
1, 2. พวกเราต้องการพระเจ้าประเภทใด และเพราะเหตุใด?
“พระยะโฮวาทรงพระเมตตากรุณา, พระองค์ทรงพระพิโรธช้า ๆ, และทรงพระเมตตาบริบูรณ์. พระองค์จะไม่ทรงติเตียนเป็นนิตย์; หรือทรงพระพิโรธตลอดชั่วนิรันดร์. พระองค์ไม่ได้ทรงกระทำแก่พวกข้าพเจ้าตามการผิด, และมิได้ทรงปรับโทษตามความอสัตย์อธรรมของพวกข้าพเจ้านั้น. ด้วยฟ้าสวรรค์สูงจากพื้นดินมากเท่าใด, พระองค์ทรงพระกรุณาแก่คนที่ยำเกรงพระองค์มากเท่านั้น. ทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตกมากเท่าใด, พระองค์ได้ทรงถอนเอาการล่วงละเมิดของพวกข้าพเจ้าไปให้ห่างไกลมากเท่านั้น. บิดาเมตตาบุตรของตนมากฉันใด, พระยะโฮวาทรงพระเมตตาคนที่ยำเกรงพระองค์มากฉันนั้น. เพราะพระองค์ทรงทราบร่างกายของพวกข้าพเจ้าแล้ว; พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน.”—บทเพลงสรรเสริญ 103:8-14.
2 เพราะมารดาได้ตั้งครรภ์และคลอดเราในความบาป อีกทั้งความไม่สมบูรณ์ต่าง ๆ ที่ได้ตกทอดมาผลักดันเราเสมอให้เป็นทาสกฎแห่งบาป เราจึงต้องการอย่างยิ่งที่จะมีพระเจ้าผู้ทรง ‘ระลึกอยู่ว่าเราเป็นแต่ผงคลี.’ สามร้อยปีหลังจากดาวิดได้พรรณนาคุณสมบัติของพระยะโฮวาไว้อย่างไพเราะที่เพลงสรรเสริญบท 103 มีคาผู้เขียนพระคัมภีร์อีกคนหนึ่งก็ได้กล่าวยกย่องพระเจ้าองค์เดียวกันนี้อย่างเดียวกัน เกี่ยวกับการให้อภัยที่พระองค์ทรงโปรดแก่ผู้ล่วงละเมิดดังนี้: “‘ใครเล่าเป็นพระเจ้าเสมอเหมือนกับพระองค์, ผู้ทรงยกโทษโปรดบาป, และทรงมองเลยความผิดบาป . . . พระองค์ไม่ทรงถือโกรธไว้เสมอไป, เพราะพระองค์ทรงปลื้มพระทัยในความเมตตากรุณา.’ พระองค์จะทรงหวนกลับมีพระทัยสงสารเราทั้งหลาย; พระองค์จะทรงเหยียบความผิดบาปของเราไว้ใต้พระบาทของพระองค์, และพระองค์จะทรงโยนบาปผิดของเราลงไปเสียในทะเลลึก.”—มีคา 7:18, 19.
3. การให้อภัยหมายถึงอะไร?
3 ในคัมภีร์ภาคภาษากรีก คำที่ใช้แทน “ให้อภัย” นั้นหมายถึง “ปล่อยไป.” ขอให้สังเกตว่า คำพูดของดาวิดและมีคาที่กล่าวข้างต้นถ่ายทอดความหมายเดียวกันด้วยถ้อยคำเชิงพรรณนาที่ทำให้สบายใจ. เพื่อจะหยั่งรู้ค่าเต็มที่เรื่องขอบเขตอันน่าทึ่งแห่งการให้อภัยของพระยะโฮวา ขอให้เราทบทวนสักสองสามตัวอย่างจากหลายตัวอย่างในภาคปฏิบัติ. ตัวอย่างแรกแสดงให้เห็นว่า คนเราอาจทำให้พระยะโฮวาเปลี่ยนพระทัยจากการทำลายเป็นการให้อภัยได้.
โมเซขอร้อง—พระยะโฮวาทรงสดับ
4. หลังจากการแสดงฤทธิ์อำนาจเช่นไรของพระยะโฮวา ชนชาติยิศราเอลยังคงหวาดกลัวที่จะเข้าไปยังแผ่นดินแห่งคำสัญญา?
4 พระยะโฮวาได้นำชนชาติยิศราเอลออกจากอียิปต์โดยปลอดภัย จนมาใกล้แผ่นดินที่ทรงสัญญาจะให้เป็นมาตุภูมิของเขา ทว่าชนชาตินั้นไม่ยอมเดินทางต่อ เนื่องจากหวาดกลัวมนุษย์ธรรมดา ๆ ในคะนาอัน. หลังจากเคยเห็นพระยะโฮวาทรงช่วยพวกเขาให้รอดจากอียิปต์ โดยยังภัยพิบัติสิบประการ, แล้วแยกน้ำในทะเลแดงเป็นทางหนี, ทรงทำลายกองทัพอียิปต์ที่พยายามไล่กวดตามมา, ตั้งคำสัญญาไมตรีเกี่ยวกับพระบัญญัติกับพวกเขา ณ ภูเขาซีนายซึ่งทำให้เขาเป็นชาติที่พระยะโฮวาทรงเลือกสรรไว้, และได้ประทานมานาจากสวรรค์เป็นอาหารเลี้ยงชีวิตพวกเขาทุก ๆ วันอย่างน่าอัศจรรย์ พวกเขาไม่กล้าเข้าไปในแผ่นดินแห่งคำสัญญาเพราะกลัวชาวคะนาอันร่างกำยำใหญ่โต.—อาฤธโม 14:1-4.
5. ชายสอดแนมที่ซื่อสัตย์สองคนพยายามปลุกใจชาวยิศราเอลอย่างไร?
5 โมเซและอาโรนต่างก็ซบหน้าลงเนื่องจากไม่รู้จะทำอย่างไรดี. ยะโฮซูอะกับคาเลบ คนสอดแนมที่สัตย์ซื่อทั้งสองนี้ได้พยายามปลุกใจชาวยิศราเอลว่า ‘แผ่นดินนั้นเป็นประเทศที่ดีที่สุด. มีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์. พระยะโฮวาอยู่ฝ่ายเรา อย่ากลัวเขาเลย!’ แทนที่พวกเขาจะรับการชูใจจากถ้อยคำดังกล่าว ประชาชนที่ดื้อรั้นทรยศเหล่านั้นได้พยายามเอาหินขว้างยะโฮซูอะและคาเลบ.—อาฤธโม 14:5-10.
6, 7. (ก) พระยะโฮวาทรงตัดสินพระทัยทำประการใดเมื่อชาติยิศราเอลไม่ยอมเดินทางเข้าไปในแผ่นดินแห่งคำสัญญา? (ข) เหตุใดโมเซจึงคัดค้านการตัดสินของพระยะโฮวาต่อยิศราเอล และผลเป็นอย่างไร?
6 พระยะโฮวาทรงพิโรธ! “พระยะโฮวาตรัสแก่โมเซว่า, ‘คนเหล่านี้จะขัดเคืองพระทัยของเราไปนานเท่าใด? แลเขาทั้งหลายจะไม่เชื่อฟังคำของเรา, เพราะบรรดาการสำคัญที่เราได้สำแดงท่ามกลางเขาทั้งหลายนานไปเท่าใด? เราจะประหารชีวิตเขาด้วยโรคร้าย, แลเราจะตัดเขาออกเสียจากมรดก, แลเราจะบันดาลให้เจ้าเป็นประเทศใหญ่แข็งแรงกว่าเขาอีก.’ แต่โมเซทูลพระยะโฮวาว่า ‘ชาวอายฆุบโตจะได้ยินเพราะพระองค์ได้พาคนเหล่านี้ออกมาจากท่ามกลางเขาด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์, แลชาวอายฆุบโตจะบอกเล่าความนั้นแก่ชาวประเทศนี้. . . . บัดนี้พระองค์จะประหารชีวิตคนทั้งปวงดุจดังคนเดียว, ชนประเทศทั้งปวงที่ได้ยินกิตติศัพท์ของพระองค์จะพูดกันว่า “เพราะพระยะโฮวาจะพาคนเหล่านี้ไปถึงแผ่นดินที่พระองค์สัญญาแก่เขานั้นไม่ได้, พระองค์จึงได้ประหารชีวิตเขาเสียที่ป่า.”’”—อาฤธโม 14:11-16.
7 โมเซได้วิงวอนขอการให้อภัย เพื่อเห็นแก่พระนามของพระยะโฮวาดังนี้: “‘ขอพระองค์ได้ทรงโปรดยกโทษการบาปของคนเหล่านี้, ตามความเมตตากรุณาอันใหญ่ของพระองค์, เหมือนอย่างพระองค์ได้ทรงโปรดแก่เขาทั้งหลาย, ตั้งแต่ออกมาจากประเทศอายฆุบโตจนถึงบัดนี้.’ และพระยะโฮวาตรัสว่า ‘เราได้ยกโทษนั้นตามคำของเจ้า.’”—อาฤธโม 14:19, 20.
มะนาเซไหว้รูปเคารพและดาวิดทำผิดประเวณี
8. มะนาเซกษัตริย์แห่งยูดาสร้างประวัติไว้อย่างไร?
8 ตัวอย่างเด่นเกี่ยวด้วยพระยะโฮวาทรงให้อภัยนั้นได้แก่กรณีของมะนาเซ โอรสฮีศคียากษัตริย์ที่ดี. มะนาเซมีพระชนมายุ 12 พรรษาเมื่อขึ้นครองราชย์ในกรุงยะรูซาเลม. ท่านได้ก่อแท่นบนเนินสูงถวายบูชาแด่พระบาละ, ตั้งเสาศักดิ์สิทธิ์, ไหว้นมัสการดวงดาวในท้องฟ้า, ถือฤกษ์และเวทมนตร์, ปรึกษาคนทรงและหมอดู, ตั้งรูปแกะสลักไว้ในวิหารของพระยะโฮวา, ได้ให้ราชบุตรของท่านลุยไฟในหุบเขาฮินนอม. “ท่านได้กระทำการชั่วต่อพระเนตรพระยะโฮวา” และ “เป็นเหตุให้ชาวชนยูดาและชาวกรุงยะรูซาเลมหลงไปประพฤติการชั่วยิ่งกว่าชนชาติอื่น ๆ ที่พระยะโฮวาทรงล้างผลาญเสียแล้วต่อหน้าพงศ์พันธุ์ยิศราเอล.”—2 โครนิกา 33:1-9.
9. พระยะโฮวาทรงหันมาให้ความใฝ่พระทัยในมะนาเซเพราะเหตุใด และมีผลเช่นไร?
9 ในที่สุด พระยะโฮวาได้นำเอากองทัพชาวอัสซีเรียมาต่อสู้อาณาจักรยูดา, เขาได้จับมะนาเซและคุมตัวไปยังบาบูโลน. “เมื่อท่านได้ทุกข์ยากลำบาก, ก็ได้อธิษฐานทูลขอพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน, ด้วยใจอ่อนน้อมถ่อมลงต่อพระเจ้าแห่งเชื้อวงศ์ปู่ย่าตายาย. เมื่อท่านได้กราบทูลขอนั้น พระองค์ได้ทรงโปรดสดับฟังคำอ้อนวอน, ทรงบันดาลให้ท่านกลับมายังกรุงยะรูซาเลมยังแผ่นดินของท่าน.” (2 โครนิกา 33:11-13) ครั้นแล้ว มะนาเซจึงได้รื้อถอนและกวาดเอารูปพระต่างประเทศ, รูปเคารพและแท่นบูชาไปทิ้งเสียนอกเมือง. ท่านตั้งต้นถวายเครื่องบูชาบนแท่นแห่งพระยะโฮวาและสั่งให้ชาวยูดานมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. เรื่องนี้เป็นการแสดงให้เห็นอย่างน่าทึ่งว่าพระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยจะให้อภัยเมื่อมีการถ่อมใจ, การอธิษฐาน, และการประพฤติอย่างถูกต้องซึ่งเป็นผลสมกับการกลับใจ.—2 โครนิกา 33:15, 16.
10. ดาวิดพยายามปกปิดบาปของตนกับภรรยาของอูรียาอย่างไร?
10 บาปของกษัตริย์ดาวิดอันเนื่องมาจากการทำผิดประเวณีกับภรรยาอูรียาชาวเฮธนั้นเป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไป. ดาวิดไม่เพียงแต่ผิดประเวณีกับนางเท่านั้น แต่ยังวางอุบายแยบยลปกปิดการผิดของตน เมื่อนางเริ่มตั้งครรภ์. กษัตริย์ได้อนุญาตให้อูรียาลาพักราชการทหาร โดยคาดหมายว่าเขาจะกลับบ้านร่วมประเวณีกับภรรยา. แต่เนื่องจากคำนึงถึงเพื่อนทหารในสนามรบ อูรียาไม่กลับไปที่บ้าน. ดาวิดจึงทรงเลี้ยงอาหารและให้เขาดื่มจนเมา แต่อูรียาก็ยังไม่ไปหลับนอนกับภรรยาของตน. ดาวิดจึงส่งสารถึงแม่ทัพ มีราชโองการให้ตั้งอูรียาเป็นกองหน้าอยู่ ณ บริเวณที่มีการสู้รบอย่างดุเดือด โดยหมายให้อูรียาถูกฆ่า ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น.—2 ซามูเอล 11:2-25.
11. ดาวิดถูกนำไปสู่การกลับใจจากบาปที่ตนกระทำนั้นอย่างไร ถึงกระนั้นท่านได้ทนทุกข์อะไร?
11 พระยะโฮวาทรงส่งนาธานผู้พยากรณ์ไปเฝ้าดาวิด ให้เปิดโปงบาปของกษัตริย์. “ดาวิดทรงสารภาพต่อนาธานว่า, ‘เราทำผิดเฉพาะพระยะโฮวาแล้ว.’ นาธานทูลดาวิดว่า ‘พระยะโฮวาทรงโปรดยกโทษแล้ว. ท่านจะไม่สิ้นพระชนม์.’” (2 ซามูเอล 12:13) ดาวิดรู้สึกผิดมากที่ได้ทำบาป, และท่านแสดงการกลับใจด้วยการทูลอธิษฐานด้วยจริงใจต่อพระยะโฮวาว่า “เพราะเครื่องบูชาพระองค์ไม่ทรงพอพระทัย; ถ้าพอพระทัยแล้วข้าพเจ้าจะนำมาถวาย: เครื่องบูชายัญพระองค์ไม่โปรดปราน. เครื่องบูชาที่สมควรแก่พระเจ้าคือจิตต์วิญญาณที่ชอกช้ำแล้ว: ข้าแต่พระเจ้า, ใจแตกและฟกช้ำแล้วนั้นพระองค์ไม่ดูถูกดูหมิ่นเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 51:16, 17) พระยะโฮวาไม่ทรงดูหมิ่นคำอธิษฐานของดาวิดซึ่งออกมาจากหัวใจที่แตกสลาย. แต่ถึงอย่างไร ดาวิดก็ได้รับโทษหนักตามคำแถลงของพระยะโฮวาว่าด้วยการให้อภัยที่เอ็กโซโด 34:6, 7 (ฉบับแปลใหม่) ดังนี้: “แต่จะทรงถือว่าไม่มีโทษก็หามิได้.”
ซะโลโมอุทิศพระวิหาร
12. ซะโลโมได้ทูลขอสิ่งใดคราวการอุทิศพระวิหาร และพระยะโฮวาได้ทรงตอบอย่างไร?
12 เมื่อซะโลโมได้สร้างพระวิหารของพระยะโฮวาจนแล้วเสร็จ ท่านกล่าวคำอธิษฐานคราวการอุทิศนั้นดังนี้: “ขอพระองค์ทรงโปรดสดับคำทูลขอแห่งข้าพเจ้าผู้ทาสของพระองค์, และคำทูลขอแห่งพวกยิศราเอลพลไพร่ของพระองค์ที่ทูลขอ ณ สถานนี้, ขอพระองค์ทรงโปรดสดับฟังแต่สวรรค์ที่สถิตของพระองค์; และเมื่อทรงสดับฟังแล้วขอทรงพระกรุณาโปรดยกโทษเสีย.” พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานดังนี้: “ถ้าเราปิดท้องฟ้าไม่ให้ฝนตก, หรือบันดาลให้ฝูงตั๊กแตนมากินพืชพรรณที่พื้นแผ่นดินเสีย, หรือถ้าเรากระทำให้บังเกิดโรคภัยอันตรายในท่ามกลางพลไพร่ของเรา; แม้นพลไพร่ของเรา พวกที่เรียกว่าพลไพร่ของพระองค์นั้น, จะถ่อมใจลงอธิษฐานแสวงหาเรา, และจะกลับจากทางชั่วของตน; เมื่อนั้นเราจะสดับฟังจากสวรรค์, ยกบาปผิดของเขา, และให้แผ่นดินของเราพ้นจากภัยอันตราย.”—2 โครนิกา 6:21; 7:13, 14.
13. ยะเอศเคล 33:13-16 แสดงให้เห็นสิ่งใดเกี่ยวข้องกับทัศนะของพระยะโฮวาต่อคนเรา?
13 ขณะพระยะโฮวาทอดพระเนตรเห็นคุณ พระองค์ย่อมทรงรับคุณอย่างที่คุณเป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่อย่างที่คุณเคยเป็น. ดังคำพูดในยะเอศเคล 33:13-16 ที่ว่า “เมื่อเราว่าแก่คนชอบธรรมนั้นว่า ‘เขาจะมีชีวิตเป็นแท้’ ถ้าเขาอาศัยในชอบธรรมของตน, และทำอสัตย์อธรรม. ความชอบธรรมของเขาจะมิเป็นที่ระลึก, แต่เพราะความอสัตย์อธรรมของเขาที่เขาได้กระทำเพราะการอสัตย์นั้นเขาจะตาย. อนึ่ง เมื่อเราว่าแก่คนชั่วว่าเจ้าจะตายเป็นแท้, ถ้าเขาจะกลับจากการบาปของตน, และกระทำการสัตย์ชอบธรรม, และถ้าคนชั่วจะกลับคืนของจำนำเสีย, และส่งคืนของที่ลักนั้นเดินในกฎหมายทั้งหลายอันมีชีวิต, มิทำอสัตย์อธรรม, เขาจะมีชีวิตเป็นแท้, จะมิได้ตาย. การบาปทั้งปวงของเขาที่เขาได้ทำไว้นั้นจะมิได้เป็นที่ระลึกแก่เขา, เขาได้กระทำการสัตย์ธรรม, เขาจะมีชีวิตเป็นแท้.”
14. อะไรคือความโดดเด่นเกี่ยวด้วยการให้อภัยจากพระยะโฮวา?
14 การให้อภัยซึ่งพระเจ้ายะโฮวาทรงจัดเตรียมให้เรานั้นมีลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นลักษณะที่ยากสำหรับมนุษย์เราจะรวมเข้ากับการให้อภัยซึ่งกันและกัน นั่นคือพระองค์ทั้งยกโทษและลืมเสีย. บางคนอาจพูดว่า ‘ที่คุณทำไปแล้วฉันให้อภัยได้ แต่ฉันจะไม่ลืม (หรือลืมไม่ได้).’ ตรงกันข้าม จงสังเกตสิ่งที่ว่าพระยะโฮวาตรัสว่าพระองค์จะทรงทำดังนี้: “เราจะยกความบาปของเขา, และไม่ระลึกถึงความผิดของเขาอีกเลย.”—ยิระมะยา 31:34.
15. พระยะโฮวาทรงมีประวัติการให้อภัยเช่นไร?
15 พระยะโฮวาทรงโปรดให้อภัยผู้นมัสการพระองค์บนแผ่นดินโลกมานานนับพัน ๆ ปี. พระองค์ได้ทรงอภัยบาปที่พวกเขารู้ตัวว่าได้กระทำ เช่นเดียวกับบาปมากมายที่เขาไม่รู้ตัว พระองค์ทรงให้อภัยเช่นกัน. วิธีการจัดเตรียมของพระองค์เกี่ยวด้วยความเมตตา, ความอดกลั้นพระทัย, และการให้อภัยนั้นไม่จบสิ้น. พระธรรมยะซายา 55:7 บอกว่า “ให้คนชั่วละทิ้งความประพฤติของตน, และคนอธรรมละทิ้งความคิดของตน, และให้เขากลับมาหาพระยะโฮวา, เพื่อพระองค์จะได้ทรงเมตตาแก่เขา, และให้เขากลับมาหาพระเจ้า, เพราะพระองค์จะทรงให้อภัยแก่เขาที่เขาได้ทำบาปทั้งปวง.”
การให้อภัยในคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก
16. เหตุใดเราจึงกล่าวได้ว่า การปฏิบัติของพระเยซูเกี่ยวกับการให้อภัยจึงสอดคล้องกับของพระยะโฮวา?
16 เรื่องพระเจ้าทรงให้อภัยนั้นมีบันทึกไว้มากมายในคัมภีร์ภาคภาษากรีก. พระเยซูตรัสเรื่องนี้บ่อย ๆ ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงเห็นพ้องกับแนวคิดของพระยะโฮวา. วิธีการคิดของพระเยซูได้มาจากพระยะโฮวา, พระองค์สะท้อนลักษณะพระยะโฮวา, พระองค์ทรงเป็นตัวแทนสะท้อนสภาพการดำรงอยู่ของพระยะโฮวาอย่างแม่นยำ, การเห็นพระองค์ก็เหมือนเห็นพระยะโฮวา.—โยฮัน 12:45-50; 14:9; เฮ็บราย 1:3.
17. พระเยซูทรงแสดงอย่างไรว่าการอภัยโทษของพระยะโฮวานั้นเป็นการอภัย “อย่างใจกว้าง”?
17 ที่ว่าพระยะโฮวาทรงให้อภัยอย่างใจกว้างนั้นก็แจ้งชัดในอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งของพระเยซู ว่าด้วยเจ้าองค์หนึ่งได้ยกหนี้ให้บ่าวซึ่งเป็นหนี้ 10,000 ตะลันต์ (ประมาณ 825,000,000 บาท). แต่เมื่อบ่าวนั้นไม่ได้ยกหนี้เพื่อนบ่าวด้วยกัน ซึ่งเป็นเงินเพียงหนึ่งร้อยเดนารี (ประมาณ 1,500 บาท) เจ้าองค์นั้นเดือดดาลมากและสั่งว่า “‘อ้ายชาติชั่ว. เราได้โปรดยกหนี้ให้เอ็งทั้งหมดเพราะเอ็งได้ขอแต่เรา เอ็งควรจะเมตตาเพื่อนบ่าวด้วยกันเหมือนเราได้กรุณาเอ็งไม่ใช่หรือ?’ แล้วเจ้าองค์นั้นกริ้วจึงมอบผู้นั้นไว้แก่เจ้าหน้าที่เร่งรัดจนกว่าจะใช้หนี้หมด.” แล้วพระเยซูทรงอธิบายอุทาหรณ์ดังนี้: “ถ้าท่านขาดเมตตาจิตไม่ยกความผิดให้พี่น้องของท่านทุกคน. พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงกระทำแก่ท่านทั้งหลายอย่างนั้นแหละ.”—มัดธาย 18:23-35.
18. ทัศนะในเรื่องการให้อภัยของเปโตรเปรียบได้อย่างไรกับทัศนะของพระเยซู?
18 ไม่นานก่อนพระเยซูยกอุทาหรณ์เรื่องนี้ขึ้นมา เปโตรได้มาทูลถามพระองค์ว่า: “พระองค์เจ้าข้า, พี่น้องของข้าพเจ้าจะทำผิดต่อข้าพเจ้าได้กี่ครั้งซึ่งข้าพเจ้าควรจะยกความผิดของเขา. ถึงเจ็ดครั้งหรือ?” เปโตรคิดว่าตนเป็นคนใจกว้างอยู่แล้ว. แม้ว่าพวกอาลักษณ์กับพวกฟาริซายจำกัดการให้อภัย พระเยซูตรัสตอบเปโตรว่า, “เรามิได้ว่าแก่ท่านถึงเจ็ดครั้งเท่านั้น, แต่ถึงเจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด.” (มัดธาย 18:21, 22) เจ็ดครั้งคงแทบไม่พอสำหรับหนึ่งวัน ดังพระเยซูตรัสว่า “จงระวังตัวให้ดี ถ้าพี่น้องผิดต่อท่าน, จงต่อว่าเขา และถ้าเขากลับใจแล้ว, จงยกโทษให้เขา. แม้เขาจะผิดต่อท่านวันละเจ็ดหน, และจะกลับมาหาท่านทั้งเจ็ดหนนั้นแล้วว่า, ‘ฉันกลับใจแล้ว’ จงยกโทษให้เขาเถิด.” (ลูกา 17:3, 4) เมื่อพระยะโฮวาให้อภัย พระองค์ไม่จดบันทึกบาปของเรา นับว่าน่ายินดีสำหรับเรา.
19. เราต้องทำอะไรเพื่อได้รับการให้อภัยจากพระยะโฮวา?
19 ถ้าเรามีความถ่อมจะกลับใจและสารภาพบาปของเรา พระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยจะปฏิบัติต่อเราดังนี้: “ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงซื่อสัตย์และชอบธรรม ก็ทรงให้อภัยเราในบาปของเรา และทรงชำระเราให้พ้นจากความอธรรมทั้งสิ้น.”—1 โยฮัน 1:9, ล.ม.
20. ซะเตฟาโนแสดงให้เห็นอย่างไรถึงความเต็มใจที่จะให้อภัยบาป?
20 ซะเตฟาโน สาวกของพระเยซู ด้วยน้ำใจให้อภัยอย่างเห็นได้ชัด ขณะกลุ่มคนที่โกรธแค้นรุมเอาหินขว้างท่าน ท่านได้ร้องทูลขอว่า “‘โอพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า, ขอทรงโปรดรับจิตต์วิญญาณของข้าพเจ้าด้วย,’ ซะเตฟาโนก็คุกเข่าลงร้องเสียงดังว่า, ‘ขอ [พระยะโฮวา, ล.ม.] โปรดอย่าลงโทษแก่เขาเพราะความผิดนี้.’ เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้วก็ล่วงหลับไป.”—กิจการ 7:59, 60.
21. เหตุใดความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะให้อภัยทหารโรมันเป็นเรื่องน่าทึ่งจริง ๆ?
21 พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ยิ่งน่าพิศวงเกี่ยวกับความเต็มพระทัยจะให้อภัย. พวกศัตรูเข้าจับกุมพระองค์, ดำเนินคดีอย่างผิดกฎหมาย, ตัดสินให้มีโทษ, เยาะเย้ยพระองค์, ถ่มน้ำลายรดพระองค์, เฆี่ยนพระองค์ด้วยแส้หนังหลาย ๆ เส้นซึ่งดูเหมือนฝังด้วยเศษกระดูกและโลหะ และในที่สุดได้ตอกตรึงพระองค์ติดอยู่บนหลักนานหลายชั่วโมง. ชาวโรมันมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาก. กระนั้น ขณะที่พระเยซูจวนสิ้นพระชนม์บนหลักทรมานนั้น พระองค์ได้ทูลพระบิดาทางภาคสวรรค์เกี่ยวด้วยพวกทหารที่ตรึงพระองค์ว่า “โอพระบิดาเจ้าข้า. ขอโปรดยกโทษเขา เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร.”—ลูกา 23:34.
22. พวกเราต้องพยายามนำถ้อยคำอะไรในคำเทศน์บนภูเขาไปปฏิบัติ?
22 ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูได้ตรัสดังนี้: “จงรักศัตรูของท่านทั้งหลายต่อ ๆ ไป และอธิษฐานเผื่อผู้ที่ประทุษร้ายท่านทั้งหลาย.” พระองค์เองได้เชื่อฟังหลักการนั้นกระทั่งเสร็จสิ้นงานรับใช้ทางแผ่นดินโลก. เป็นการเรียกร้องเกินไปไหมจากพวกเราซึ่งบากบั่นต่อสู้ความอ่อนแอของเนื้อหนังที่ไม่สมบูรณ์? อย่างน้อยที่สุด เราควรพยายามปฏิบัติตามถ้อยคำของพระเยซูที่ทรงสอนสาวกหลังจากได้วางแบบอย่างการอธิษฐานแก่พวกเขาที่ว่า “ถ้าท่านยกความผิดของมนุษย์, พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย. แต่ถ้าท่านไม่ยกความผิดของมนุษย์, พระบิดาของท่านก็จะไม่ทรงโปรดยกความผิดของท่านเหมือนกัน.” (มัดธาย 5:44; 6:14, 15) ถ้าเราให้อภัยเหมือนพระยะโฮวาทรงให้อภัย เราจะอภัยและลืมเสีย.
คุณจำได้ไหม?
▫ พระยะโฮวาทรงดำเนินการกับบาปของเราอย่างไร และเพราะเหตุใด?
▫ เพราะเหตุใดมะนาเซจึงกลับครองราชย์อีก?
▫ อะไรเป็นลักษณะเด่นในการให้อภัยของพระยะโฮวาซึ่งเป็นข้อท้าทายสำหรับมนุษย์ที่จะเลียนแบบ?
▫ ความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะให้อภัยเป็นเรื่องน่าทึ่งมากอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 24]
นาธานได้ช่วยดาวิดให้มองเห็นความจำเป็นที่จะรับการอภัยจากพระเจ้า