วิธีเสริมสร้างชีวิตสมรสให้มั่นคง
ขอนึกภาพบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม. สีที่ทาบ้านหลุดลอก, หลังคาบ้านเสียหาย, และแม้แต่สนามหญ้าก็ถูกปล่อยไว้โดยไม่มีใครดูแล. ปรากฏชัดว่า บ้านหลังนี้ได้ทนฝนฟ้าพายุมาตลอดหลายปี อีกทั้งถูกปล่อยปละละเลย. ควรรื้อบ้านหลังนี้ทิ้งไหม? อาจไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น. หากบ้านนั้นมีรากฐานแข็งแรงและโครงสร้างมั่นคงแล้ว ก็คงจะซ่อมแซมได้.
สภาพของบ้านนั้นเตือนให้คุณนึกถึงชีวิตสมรสของคุณไหม? ตลอดหลายปี สิ่งที่เป็นเสมือนพายุร้ายแรงอาจก่อผลเสียหายต่อสายสัมพันธ์ในชีวิตสมรสของคุณ. อาจจะเป็นคุณหรือไม่ก็ทั้งคู่ที่ละเลยชีวิตสมรสไปบ้าง. คุณอาจรู้สึกเหมือนแซนดี. หลังจากแต่งงาน 15 ปี เธอกล่าวว่า “เราไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ยกเว้นสิ่งเดียวที่เรามีเหมือนกันคือเราแต่งงานกัน. และนั่นไม่พอหรอก.”
ถึงแม้ชีวิตสมรสของคุณมาถึงขั้นดังกล่าว ก็อย่าด่วนสรุปว่าน่าจะยุติชีวิตสมรสนี้เสียที. อาจเป็นไปได้ว่าชีวิตสมรสของคุณจะกลับดีดังเดิมได้. ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับว่าคุณกับคู่สมรสตกลงใจที่จะผูกมัดกันแค่ไหน. ข้อผูกมัดสามารถช่วยให้ชีวิตสมรสมั่นคงในคราวที่มีความยากลำบาก. แต่ข้อผูกมัดคืออะไร? และคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยคุณได้อย่างไรให้เสริมสร้างข้อผูกมัดนี้ให้แน่นแฟ้น?
ข้อผูกมัดเกี่ยวข้องกับความสำนึกในหน้าที่
ข้อผูกมัดพาดพิงถึงสภาพที่มีพันธะหรือรู้สึกว่าถูกบังคับ. บางครั้ง คำดังกล่าวนำมาใช้กับสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ข้อตกลงในธุรกิจ. ตัวอย่างเช่น ช่างก่อสร้างอาจรู้สึกว่ามีพันธะที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสัญญาที่เขาเซ็นชื่อเพื่อจะสร้างบ้าน. เขาอาจไม่รู้จักเป็นส่วนตัวกับผู้ที่มอบหมายงาน. ถึงกระนั้น เขารู้สึกว่าต้องปฏิบัติตามสัญญาที่เขาทำนั้น.
ถึงแม้ชีวิตสมรสไม่ใช่การดำเนินการธุรกิจที่ไร้ความรู้สึก แต่ข้อผูกมัดที่เกี่ยวข้องด้วยก็รวมไปถึงความสำนึกในหน้าที่หรือพันธะรับผิดชอบ. คุณกับคู่สมรสคงได้ปฏิญาณอย่างจริงจังเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้าคนอื่นที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม. พระเยซูตรัสว่า “พระผู้ทรงสร้างมนุษย์แต่เดิมได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง, และตรัสว่า, ‘เพราะเหตุนั้นบุรุษจึงต้องละบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับภรรยา.’” พระเยซูตรัสเสริมอีกว่า “ซึ่งพระเจ้าได้ผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย.” (มัดธาย 19:4-6) ดังนั้นแล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้น คุณกับคู่สมรสน่าจะตั้งใจแน่วแน่ที่จะนับถือข้อผูกมัดที่คุณทำต่อกันและกัน.a ภรรยาคนหนึ่งกล่าวว่า “ต่อเมื่อเราเลิกคิดว่าการหย่าเป็นทางเลือกแล้วเท่านั้น สภาพการณ์จึงเริ่มดีขึ้น.”
แต่ข้อผูกมัดในชีวิตสมรสใช่ว่ามีแค่การสำนึกในหน้าที่. มีอะไรอื่นอีกที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย?
การร่วมมือกันเสริมสร้าง ข้อผูกมัดในชีวิตสมรสให้แน่นแฟ้น
ข้อผูกมัดสำหรับชีวิตสมรสมิได้หมายความว่าคู่สมรสจะไม่มีวันขัดแย้งกันเลย. เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น น่าจะมีความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะแก้ไขเรื่องนั้น ไม่เพียงเนื่องจากคำปฏิญาณอันเป็นพันธะเท่านั้น แต่เนื่องจากผูกพันกันด้านความรู้สึก. พระเยซูตรัสเกี่ยวกับสามีและภรรยาว่า “เขาจึงไม่เป็นสองต่อไป, แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน.”
การเป็น “เนื้ออันเดียวกัน” กับคู่ของคุณหมายความเช่นไร? อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “สามีควรจะรักภรรยาของตนเหมือนรักกายของตนเอง.” (เอเฟโซ 5:28, 29) ดังนั้นแล้ว ส่วนหนึ่ง การเป็น “เนื้ออันเดียวกัน” หมายความว่า คุณรู้สึกห่วงใยสวัสดิภาพของคู่สมรสเหมือนที่ห่วงตัวเอง. คนที่สมรสแล้วต้องเปลี่ยนจากความคิดที่ว่า “ของฉัน” มาเป็น “ของเรา” จาก “ฉัน” มาเป็น “เรา.” ที่ปรึกษาคนหนึ่งเขียนว่า “ทั้งคู่ต้องเลิกคิดและเลิกรู้สึก ประหนึ่งว่าตัวเองเป็นโสด แล้วให้คิดและรู้สึก ว่าตัวเองเป็นคนที่แต่งงานแล้ว.”
คุณกับคู่สมรส “คิดและรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่แต่งงานแล้ว” ไหม? เป็นไปได้ที่จะอยู่ด้วยกันมาหลายปีแต่ก็ยังไม่เป็น “เนื้ออันเดียวกัน” ในความหมายนั้น. ใช่แล้ว นั่นอาจเกิดขึ้นได้ แต่หนังสือการให้เวลาช่วยแก้ปัญหา (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ชีวิตสมรสหมายถึงการร่วมชีวิตกัน และยิ่งคนสองคนทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกันมากเท่าใด ชีวิตสมรสของเขาก็จะยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น.”
คู่สมรสที่ไม่มีความสุขบางรายอยู่ด้วยกันเพราะเห็นแก่ลูกหรือเพราะความมั่นคงทางการเงิน. บางคู่ทนอยู่ด้วยกันเนื่องจากเขามีข้อคัดค้านอย่างเคร่งครัดทางศีลธรรมต่อการหย่า หรือเพราะเขากลัวว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรหากเขาแยกกันอยู่หรือหย่าร้าง. ขณะที่เป็นเรื่องน่าชมเชยที่ชีวิตสมรสของคนเหล่านี้ยืนนาน แต่ก็อย่าลืมว่าเป้าหมายของคุณน่าจะเป็นการมีสายสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความรัก ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ที่ยืนนานเท่านั้น.
การไม่เห็นแก่ตัวส่งเสริมข้อผูกมัดในชีวิตสมรส
คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าไว้ว่า ระหว่าง “สมัยสุดท้าย” ผู้คนจะ “เป็นคนรักตัวเอง.” (2 ติโมเธียว 3:1, 2, ล.ม.) จริงตามคำพยากรณ์นั้น ทุกวันนี้ดูเหมือนมีการเน้นหนักเรื่องการบูชาตัวเอง. ในชีวิตสมรสหลายราย การทุ่มเทตัวให้โดยไม่มีการรับประกันว่าจะได้รับการตอบสนองอย่างเดียวกันกลับมา ถูกมองว่าเป็นเครื่องหมายแสดงความอ่อนแอ. อย่างไรก็ดี ในชีวิตสมรสที่ประสบผลสำเร็จ คู่สมรสทั้งสองฝ่ายแสดงน้ำใจเสียสละตัวเอง. คุณจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
แทนที่จะครุ่นคิดถึงคำถามที่ว่า ‘ฉันได้ประโยชน์อะไรจากความสัมพันธ์เช่นนี้?’ จงถามตัวเองว่า ‘ฉันทำอะไรเป็นส่วนตัวเพื่อเสริมสร้างชีวิตสมรสให้มั่นคง?’ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าคริสเตียนควรจะ “คอยดูด้วยความสนใจเป็นส่วนตัวไม่เพียงเรื่องของตนเองเท่านั้น แต่สนใจเป็นส่วนตัวในเรื่องของคนอื่น ๆ ด้วย.” (ฟิลิปปอย 2:4, ล.ม.) ขณะที่ไตร่ตรองดูหลักการในคัมภีร์ไบเบิลข้อนี้ จงวิเคราะห์การกระทำของคุณระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมา. บ่อยแค่ไหนที่คุณแสดงความกรุณาในการปฏิบัติเพื่อผลประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น? เมื่อคู่ของคุณต้องการจะพูด คุณรับฟังไหม—แม้คุณรู้สึกว่าไม่อยากฟังเลย? คุณมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนในกิจกรรมที่คู่ของคุณสนใจ แต่คุณไม่ค่อยสนใจ?
เมื่อประเมินดูคำถามดังกล่าว อย่ากังวลว่าการกระทำที่ดีของคุณจะไม่มีใครสังเกตหรือไม่ได้รับผลตอบแทน. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “ในสายสัมพันธ์ส่วนใหญ่นั้น การกระทำในทางที่ดีย่อมได้รับการตอบสนองในทางที่ดี ดังนั้น จงพยายามสุดความสามารถที่จะสนับสนุนคู่ของคุณให้ลงมือกระทำในทางสร้างเสริม โดยที่ตัวคุณเองลงมือทำเช่นนั้นมากกว่า.” การกระทำด้วยความเสียสละเสริมสร้างชีวิตสมรสของคุณให้มั่นคง เพราะการทำเช่นนั้นแสดงว่าคุณถือว่าชีวิตสมรสของคุณมีค่าและต้องการรักษาไว้.
ทัศนะที่ว่าชีวิตสมรสควรจะยั่งยืนนานเป็นสิ่งสำคัญ
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงถือว่าความภักดีมีค่า. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระองค์จะทรงปฏิบัติด้วยความภักดีต่อผู้ที่ภักดี.” (2 ซามูเอล 22:26, ล.ม.) การรักษาความภักดีต่อพระเจ้าเกี่ยวข้องกับการรักษาความภักดีต่อการจัดเตรียมเรื่องการสมรสที่พระองค์ได้ทรงตั้งไว้.—เยเนซิศ 2:24.
หากคุณกับคู่สมรสภักดีต่อกันและกัน คุณก็จะมีความสำนึกในเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันตลอดไป. เมื่อคุณคิดถึงเวลาข้างหน้าอีกหลายเดือน, หลายปี, และหลายสิบปี คุณก็จะยังเห็นภาพคุณทั้งสองอยู่ด้วยกัน. ความคิดที่ว่าคุณไม่ได้แต่งงานกันเป็นเรื่องเหลือคิดอย่างยิ่งสำหรับคุณ และทัศนะเช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์ของคุณมั่นคง. ภรรยาคนหนึ่งกล่าวว่า “แม้แต่เมื่อฉันโมโห [สามี] มาก และอารมณ์เสียที่สุดในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ฉันก็ไม่กังวลว่าชีวิตสมรสของเราจะมาถึงจุดจบ. สิ่งที่ฉันเป็นห่วงก็คือเราจะกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีดังเดิมได้อย่างไร. ฉันไม่สงสัยเลยว่าเราจะกลับมาอยู่ด้วยกันหรือไม่—แม้ตอนนั้นฉันก็ยังมองไม่ออกว่าจะทำอย่างไร.”
ทัศนะที่ว่าชีวิตสมรสควรจะยั่งยืนนาน เป็นส่วนสำคัญของข้อผูกมัดต่อคู่สมรสของคนเรา กระนั้น น่าเสียดายที่สิ่งนี้ขาดไปในชีวิตสมรสหลายราย. ระหว่างการโต้เถียงกันอย่างดุเดือด คู่สมรสฝ่ายหนึ่งอาจพูดโพล่งออกมาว่า “ฉันจะไปจากเธอ!” หรือไม่ก็ “ฉันจะไปหาคนที่เห็นคุณค่าของฉันจริง ๆ!” แท้ที่จริง ส่วนใหญ่แล้วคำพูดดังกล่าวมักจะไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริง ๆ. กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลให้ข้อสังเกตว่า ลิ้นอาจ “เต็มไปด้วยพิษที่ทำให้ถึงตาย.” (ยาโกโบ 3:8, ล.ม.) คำขู่และการยื่นคำขาดเป็นเหมือนการพูดว่า ‘ฉันไม่ถือว่าชีวิตสมรสของเรายั่งยืน. ฉันจะเลิกเมื่อไรก็ได้.’ การบอกเป็นนัยดังกล่าวอาจทำลายชีวิตสมรสได้.
เมื่อคุณมีทัศนะที่ว่าชีวิตสมรสควรจะยั่งยืนนาน คุณย่อมคาดหมายว่าจะอยู่กับคู่ของคุณไม่ว่าจะเผชิญอุปสรรคหรือความยากลำบากใด ๆ ก็ตาม. เรื่องนี้ยังมีผลประโยชน์เพิ่มอีก. นั่นจะทำให้ง่ายขึ้นมากที่คุณกับคู่ของคุณจะยอมรับข้ออ่อนแอและความผิดพลาด รวมทั้งที่จะทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้าง. (โกโลซาย 3:13) หนังสือคู่มือเล่มหนึ่งกล่าวว่า “ในชีวิตสมรสที่ดี ย่อมมีโอกาสที่คุณทั้งคู่จะผิดพลาด และมีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ร่วมกันได้ทั้ง ๆ ที่มีข้อผิดพลาด.”
ในวันแต่งงานของคุณ คุณได้ทำสัญญาอย่างจริงใจไม่ใช่กับสถาบันการสมรส แต่กับบุคคลที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งก็คือคู่สมรสของคุณ. ความเป็นจริงข้อนี้น่าจะมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อวิธีที่คุณคิดและทำขณะนี้ในฐานะคนที่สมรสแล้ว. คุณเห็นด้วยมิใช่หรือว่า คุณน่าจะอยู่กับคู่ของคุณต่อไปไม่เพียงเพราะคุณเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในความศักดิ์สิทธิ์ของการสมรสเท่านั้น แต่เพราะคุณรักคนที่คุณแต่งงานด้วย?
[เชิงอรรถ]
a ในกรณีที่ถึงภาวะสุดจะทน อาจมีเหตุผลฟังขึ้นที่คู่สมรสจะแยกกันอยู่. (1 โกรินโธ 7:10, 11; โปรดดูหนังสือเคล็ดลับสำหรับความสุขในครอบครัว หน้า 160-161 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.) นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลอนุญาตให้หย่าได้ด้วยสาเหตุจากการผิดประเวณี (การผิดศีลธรรมทางเพศ).—มัดธาย 19:9.
[กรอบ/ภาพหน้า 5]
สิ่งที่คุณทำได้ในตอนนี้
คุณมีความตั้งใจและความปรารถนาอย่างแรงกล้าแค่ไหนที่จะรักษาและเสริมสร้างชีวิตสมรสของคุณให้มั่นคง? บางทีคุณอาจเห็นช่องทางที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้. เพื่อเสริมสร้างข้อผูกมัดในชีวิตสมรสของคุณให้แน่นแฟ้น จงลองทำสิ่งต่อไปนี้:
ตรวจสอบตัวเอง. จงถามตัวเองว่า ‘ฉันคิดและรู้สึกว่าฉันแต่งงานแล้วจริง ๆ ไหม หรือว่าฉันยังคงคิดและทำเหมือนคนที่เป็นโสดอยู่?’ ตรวจสอบดูว่าคู่สมรสของคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับตัวคุณในเรื่องนี้.
• อ่านบทความนี้กับคู่สมรสของคุณ. แล้วด้วยท่าทีที่สงบ จงพิจารณาวิธีที่คุณทั้งสองจะเสริมสร้างข้อผูกมัดในชีวิตสมรสให้แน่นแฟ้น.
• ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับคู่สมรสของคุณซึ่งเสริมสร้างการผูกมัดในชีวิตสมรสของคุณทั้งสอง. ตัวอย่างเช่น ดูภาพถ่ายงานสมรสของคุณและเหตุการณ์อื่น ๆ ที่น่าจดจำ. ทำสิ่งต่าง ๆ ที่คุณเคยชอบระหว่างการติดต่อฝากรัก หรือในช่วงต้น ๆ ของชีวิตสมรส. จงศึกษาบทความที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลจากหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตสมรสด้วยกัน.
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
การผูกมัดในชีวิตสมรสเกี่ยวข้องกับ . . .
• พันธะหน้าที่ “จงแก้บนตามที่เจ้าบนไว้เถิด. ที่เจ้าจะไม่บนยังดีกว่าที่เจ้าจะบนแล้วไม่แก้.”—ท่านผู้ประกาศ 5:4, 5.
• การร่วมมือกัน “สองคนก็ดีกว่าคนเดียว . . . ด้วยว่าถ้าคนหนึ่งล้มลง, อีกคนหนึ่งจะได้พยุงยกเพื่อนของตนให้ลุกขึ้น.”—ท่านผู้ประกาศ 4:9, 10.
• การเสียสละตัวเอง “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35, ล.ม.
• ทัศนะที่ว่าชีวิตสมรสควรจะยั่งยืนนาน “ความรัก . . . อดทนทุกสิ่ง.”—1 โกรินโธ 13:4, 7, ล.ม.
[ภาพหน้า 7]
เมื่อคู่ของคุณต้องการจะพูด คุณรับฟังไหม?