“บรรดาสิ่งเหล่านี้จำต้องจะบังเกิดขึ้น”
“พระเยซูตรัสตอบเขาว่า . . . บรรดาสิ่งเหล่านี้จำต้องจะบังเกิดขึ้น แต่ที่สุดปลายยังไม่มาถึง.”—มัดธาย 24:4-6.
1. เราควรสนใจเรื่องอะไร?
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณสนใจชีวิตและอนาคตของคุณ. ดังนั้น คุณก็น่าจะสนใจด้วยในเรื่องที่จับความสนใจของซี. ที. รัสเซลล์เมื่อปี 1877. รัสเซลล์ ซึ่งต่อมาได้ก่อตั้งสมาคมว็อชเทาเวอร์ เขียนหนังสือชื่อจุดประสงค์และลักษณะแห่งการเสด็จกลับขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา. หนังสือเล่มเล็ก 64 หน้าเล่มนี้กล่าวถึงเรื่องการเสด็จกลับของพระเยซู หรือการเสด็จมาในอนาคต. (โยฮัน 14:3) ในโอกาสหนึ่งเมื่ออยู่บนภูเขามะกอกเทศ เหล่าอัครสาวกถามเกี่ยวกับการเสด็จกลับดังกล่าวว่า “สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร และจะมีอะไรเป็นหมายสำคัญแห่งการประทับ [หรือ “การเสด็จมา,” ฉบับแปลคิง เจมส์] ของพระองค์และช่วงอวสานของระบบนี้?”—มัดธาย 24:3, ล.ม.
2. เหตุใดจึงมีทัศนะที่ขัดแย้งกันมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูทรงบอกล่วงหน้า?
2 คุณทราบและเข้าใจคำตอบของพระเยซูไหม? คำตอบนั้นอยู่ในพระธรรมกิตติคุณสามเล่ม. ศาสตราจารย์ดี. เอ. คาร์สันกล่าวดังนี้: “มีไม่กี่บทในคัมภีร์ไบเบิลที่ได้ทำให้เกิดความเห็นไม่ลงรอยกันในหมู่นักตีความมากกว่ามัดธายบท 24 และเนื้อความคล้าย ๆ กันในมาระโกบท 13 และลูกาบท 21.” จากนั้นเขาก็แสดงความเห็นของเขาเอง ซึ่งก็เป็นเพียงทัศนะของมนุษย์ที่ขัดแย้งกันอีกความเห็นหนึ่ง. ในศตวรรษที่แล้วหรือราว ๆ นั้น หลาย ๆ ทัศนะดังกล่าวส่อถึงการขาดความเชื่อ. คนเหล่านั้นที่เสนอทัศนะเหล่านี้ถือว่าพระเยซูไม่เคยตรัสข้อความที่เราอ่านในพระธรรมกิตติคุณ โดยอ้างว่าคำตรัสของพระองค์ถูกแก้ให้ผิดไปจากเดิม หรือไม่ก็อ้างว่าคำพยากรณ์ของพระองค์ไม่สำเร็จเป็นจริง อันเป็นทัศนะซึ่งถูกหล่อหลอมโดยการวิพากษ์วิจารณ์คัมภีร์ไบเบิล. ผู้ให้อรรถาธิบายคนหนึ่งถึงกับมองกิตติคุณของมาระโก ‘โดยอาศัยทัศนะตามปรัชญาชาวพุทธลัทธิมหายาน’!
3. พยานพระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อคำพยากรณ์ของพระเยซู?
3 ในทางตรงกันข้าม พยานพระยะโฮวายอมรับความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งก็รวมทั้งเรื่องที่พระเยซูตรัสกับอัครสาวกทั้งสี่ที่อยู่กับพระองค์บนภูเขามะกอกเทศสามวันก่อนการสิ้นพระชนม์ของพระองค์. นับตั้งแต่สมัยของ ซี. ที. รัสเซลล์ ไพร่พลของพระเจ้าได้รับความเข้าใจเกี่ยวกับคำพยากรณ์ที่พระเยซูทรงให้ไว้บนภูเขานั้นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ. ในช่วงปีหลัง ๆ นี้ หอสังเกตการณ์ ได้ทำให้ความเข้าใจของพวกเขาเกี่ยวกับคำพยากรณ์นี้กระจ่างยิ่งขึ้น. คุณได้รับรู้ และเข้าใจเรื่องดังกล่าว โดยเห็นถึงผลกระทบที่คำพยากรณ์นี้มีต่อชีวิตของคุณไหม?a ให้เรามาทบทวนเรื่องนี้กัน.
ความสำเร็จเป็นจริงที่น่ารันทดในอนาคตอันใกล้
4. อาจเป็นด้วยเหตุใดที่เหล่าอัครสาวกได้ถามพระเยซูในเรื่องอนาคต?
4 เหล่าอัครสาวกทราบว่าพระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา. ดังนั้น เมื่อพวกเขาได้ยินพระองค์เอ่ยถึงการสิ้นพระชนม์, การคืนพระชนม์, และการเสด็จกลับของพระองค์ พวกเขาคงต้องสงสัยว่า ‘หากพระเยซูสิ้นพระชนม์และจากไป พระองค์จะทรงทำให้บรรลุผลสำเร็จได้อย่างไรในสิ่งดียอดเยี่ยมต่าง ๆ ที่คาดว่าพระมาซีฮาจะทำ?’ นอกจากนั้น พระเยซูยังตรัสถึงอวสานของกรุงยะรูซาเลมและพระวิหารของกรุงนี้. เหล่าอัครสาวกอาจสงสัยก็ได้ว่า ‘เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไรและโดยวิธีใด?’ โดยพยายามจะเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ พวกอัครสาวกถามว่า “เหตุการณ์เหล่านี้จะบังเกิดขึ้นเมื่อไร. และสิ่งไรจะเป็นหมายสำคัญว่าการณ์ทั้งปวงนั้นจวนจะสำเร็จ?”—มาระโก 13:4; มัดธาย 16:21, 27, 28; 23:37–24:2.
5. คำตรัสของพระเยซูสำเร็จเป็นจริงในศตวรรษแรกอย่างไร?
5 พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่าจะเกิดสงคราม, ความอดอยาก, โรคระบาด, แผ่นดินไหว, ความเกลียดชังและการกดขี่คริสเตียน, พระมาซีฮาปลอม, และการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรอย่างกว้างขวาง. แล้วอวสานก็จะมาถึง. (มัดธาย 24:4-14; มาระโก 13:5-13; ลูกา 21:8-19) พระเยซูตรัสเช่นนี้ในตอนต้นปีสากลศักราช 33. ในช่วงหลายทศวรรษหลังจากนั้น เหล่าสาวกที่ตื่นตัวสามารถสังเกตเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ที่บอกไว้ล่วงหน้านั้นที่แท้แล้วกำลังเกิดขึ้นในแบบที่มีความหมายสำคัญ. ถูกแล้ว ประวัติศาสตร์พิสูจน์ยืนยันว่าหมายสำคัญดังกล่าวสำเร็จเป็นจริงในเวลานั้น ซึ่งนำไปสู่อวสานของระบบยิวโดยเงื้อมมือของพวกโรมันในปี ส.ศ. 66-70. เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นได้อย่างไร?
6. เกิดเหตุการณ์บานปลายอะไรขึ้นระหว่างพวกโรมันและพวกยิวในปี ส.ศ. 66?
6 ในระหว่างฤดูร้อนอันร้อนจัดของปี ส.ศ. 66 ที่แคว้นยูเดีย พวกเซลอตชาวยิวชักนำให้เกิดการโจมตีพวกทหารรักษาการณ์ชาวโรมันในป้อมแห่งหนึ่งใกล้ ๆ พระวิหารในกรุงยะรูซาเลม จุดชนวนความรุนแรงขึ้นในที่อื่น ๆ ของประเทศ. ในหนังสือที่ชื่อประวัติศาสตร์ชาวยิว ศาสตราจารย์ไฮน์ริค เกรตซ์เล่าถึงเหตุการณ์นั้นดังนี้: “เซสติอุส กัลลุสซึ่งมีหน้าที่เชิดชูเกียรติยศแห่งกองทัพโรมันในฐานะผู้ว่าราชการแห่งซีเรีย . . . ไม่อาจทนได้อีกต่อไปที่จะเห็นการกบฏแผ่ขยายออกไปโดยไม่พยายามยับยั้งการลุกลามของมันเอาไว้. เขาระดมพลกองพันทั้งหลายเข้ามา และเจ้าผู้ครองรัฐต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงก็อาสาส่งกองทัพของตนมาร่วมด้วย.” กองทัพนี้ซึ่งมีทหารประมาณ 30,000 นายเข้าล้อมกรุงยะรูซาเลม. หลังจากต่อสู้กันสักพักหนึ่ง พวกยิวก็ถอยไปอยู่หลังกำแพงเมืองใกล้พระวิหาร. “ในช่วงห้าวันติดต่อกัน พวกโรมันบุกทะลวงกำแพงเมือง แต่ก็ต้องล่าถอยทุกครั้งไปเพราะห่ากระสุนของพวกยูดาย. ต่อเมื่อตกถึงวันที่หกแล้วเท่านั้น พวกเขาจึงประสบผลสำเร็จในการขุดใต้ส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองด้านเหนือตรงหน้าพระวิหาร.”
7. เหตุใดเหล่าสาวกของพระเยซูจึงสามารถมีทัศนะต่างไปจากชาวยิวส่วนใหญ่?
7 ขอให้นึกถึงว่าพวกยิวคงปั่นป่วนสักเพียงไร เนื่องจากพวกเขาเชื่อมานานว่าพระเจ้าจะทรงปกป้องพวกเขาและกรุงอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา! อย่างไรก็ตาม เหล่าสาวกของพระเยซูได้รับคำเตือนไว้ก่อนแล้วว่าความพินาศจะเกิดขึ้นกับกรุงยะรูซาเลม. พระเยซูได้ทรงบอกล่วงหน้าไว้ว่า “เวลาจะมาถึงเจ้า, เมื่อศัตรูของเจ้าจะตั้งค่ายรอบเจ้า, และล้อมขังเจ้าไว้ทุกด้าน, แล้วจะทำลายเจ้าลงให้ราบเหมือนพื้นดิน, กับทั้งลูกทั้งหลายของเจ้าซึ่งอยู่ในเจ้า และเขาจะไม่ปล่อยให้ศิลาซ้อนทับกันไว้ภายในเจ้าเลย.” (ลูกา 19:43, 44) แต่นั่นจะหมายถึงความตายสำหรับคริสเตียนที่อยู่ในกรุงยะรูซาเลมในปี ส.ศ. 66 ไหม?
8. พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าถึงโศกนาฏกรรมอะไร และใครคือ “ผู้ถูกเลือกสรร” ซึ่งวันเหล่านั้นจะถูกตัดให้สั้นลงเพื่อเห็นแก่พวกเขา?
8 เมื่อทรงตอบพวกอัครสาวกบนภูเขามะกอกเทศ พระเยซูทรงพยากรณ์ไว้ว่า “วันเหล่านั้นจะเป็นวันแห่งความทุกข์ลำบากอย่างที่ไม่เคยมีนับตั้งแต่การเริ่มต้นสิ่งทรงสร้างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้นจนถึงเวลานั้น และจะไม่มีเกิดขึ้นอีก. แท้จริง หากพระยะโฮวามิได้ตัดวันเหล่านั้นให้สั้นลง จะไม่มีเนื้อหนังรอดได้เลย. แต่เพราะเห็นแก่ผู้ถูกเลือกสรรทั้งหลายที่พระองค์ทรงเลือกสรร พระองค์จึงทรงตัดวันเหล่านั้นให้สั้นลง.” (มาระโก 13:19, 20, ล.ม.; มัดธาย 24:21, 22) ดังนั้น วันเหล่านั้นจะถูกตัดให้สั้นลงและ “ผู้ถูกเลือกสรร” ได้รับความรอด. คนเหล่านี้เป็นใคร? แน่นอนว่าไม่ใช่ชาวยิวที่ก่อกบฏซึ่งอ้างว่านมัสการพระยะโฮวาแต่ได้ปฏิเสธพระบุตรของพระองค์. (โยฮัน 19:1-7; กิจการ 2:22, 23, 36) ผู้ถูกเลือกสรรที่แท้จริงในตอนนั้นได้แก่ชาวยิวและผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิวที่สำแดงความเชื่อในพระเยซูว่าเป็นพระมาซีฮาและพระผู้ช่วยให้รอด. พระเจ้าได้ทรงเลือกคนเช่นนั้นไว้แล้ว และในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 พระองค์ได้ก่อตั้งพวกเขาให้เป็นชาติฝ่ายวิญญาณ “ยิศราเอลของพระเจ้า.”—ฆะลาเตีย 6:16; ลูกา 18:7; กิจการ 10:34-45; 1 เปโตร 2:9.
9, 10. วันแห่งการโจมตีของพวกโรมัน ‘ถูกตัดให้สั้นลง’ อย่างไร และพร้อมด้วยผลเช่นไร?
9 วันเหล่านั้น ‘ถูกตัดให้สั้นลง’ และชนผู้ถูกเจิมที่ถูกเลือกสรรไว้ในกรุงยะรูซาเลมได้รับความรอดไหม? ศาสตราจารย์เกรตซ์ให้ความเห็นไว้ว่า “[เซสติอุส กัลลุส] คิดว่าไม่ฉลาดที่จะสู้รบยืดเยื้อกับกลุ่มคนที่มีศรัทธาแรงกล้าซึ่งพร้อมจะสู้อย่างกล้าหาญ และ เปิด ฉากการรบ ที่ ยาว นานในฤดูนั้น ซึ่งอีกไม่นานนักฝนฤดูใบไม้ร่วงก็จะเริ่มมา . . . และอาจเป็นอุปสรรคในการลำเลียงเสบียงป้อนกองทัพ. อาจเนื่องด้วยเหตุนี้เองที่เขาคิดว่าสุขุมกว่าที่จะถอนกำลังกลับ.” ไม่ว่าตอนนั้นเซสติอุส กัลลุสคิดเช่นไร กองทัพโรมันก็ได้ล่าถอยจากกรุงนั้น พร้อมกับประสบความสูญเสียอย่างมากจากพวกยิวที่ไล่ตาม.
10 การถอยทัพอย่างน่าแปลกใจของพวกโรมันเปิดโอกาสให้ “เนื้อหนัง”—เหล่าสาวกของพระเยซูที่ตกอยู่ในอันตรายภายในกรุงยะรูซาเลม—ได้รับความรอด. ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าเมื่อประตูแห่งโอกาสเปิดออก คริสเตียนหนีออกไปจากพื้นที่นั้น. ช่างเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนอะไรเช่นนี้ถึงความสามารถของพระเจ้าในการมองเห็นอนาคตและรับประกันความรอดของผู้นมัสการพระองค์! กระนั้น เกิดอะไรขึ้นกับชาวยิวที่ไม่เชื่อซึ่งยังคงอยู่ในกรุงยะรูซาเลมและแคว้นยูดาย?
คนร่วมสมัยจะเห็นความทุกข์ลำบากใหญ่นั้น
11. พระเยซูตรัสอะไรเกี่ยวกับ “คนชั่วอายุนี้”?
11 ชาวยิวหลายคนคิดว่าระบบแห่งการนมัสการของพวกเขาซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่พระวิหารจะดำรงอยู่เรื่อยไป. แต่พระเยซูตรัสว่า “จงเรียน . . . จากต้นมะเดื่อเทศ เมื่อกิ่งอ่อนของมันผลิใบออกท่านก็รู้ว่าฤดูร้อนใกล้จะถึงแล้ว เช่นนั้นแหละ. เมื่อท่านทั้งหลายเห็นบรรดาสิ่งเหล่านั้น. ก็ให้รู้ว่าพระองค์เสด็จมาใกล้จะถึงประตูแล้ว. เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, คนชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงลับไปก่อนสิ่งทั้งปวงนั้นจะบังเกิดขึ้น. ฟ้าและดินจะล่วงไป. แต่คำของเราจะศูนย์หายไปหามิได้เลย.”—มัดธาย 24:32-35.
12, 13. เหล่าสาวกคงเข้าใจคำตรัสของพระเยซูที่อ้างถึง “คนชั่วอายุนี้” อย่างไร?
12 ในระหว่างปีต่าง ๆ ก่อนถึงปี ส.ศ. 66 คริสเตียนคงได้เห็นอยู่แล้วว่าเหตุการณ์เกริ่นนำหลายอย่าง ของหมายสำคัญที่ประกอบด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ กำลังสำเร็จเป็นจริงอยู่แล้ว—สงคราม, ความอดอยาก, แม้กระทั่งการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรอย่างกว้างขวาง. (กิจการ 11:28; โกโลซาย 1:23) อย่างไรก็ตาม อวสานจะมาถึงเมื่อไร? พระเยซูหมายความอย่างไรเมื่อตรัสว่า ‘คนในชั่วอายุนี้ [กรีก เยเนอาʹ] จะไม่ล่วงลับไปก่อน’? พระเยซูมักจะเรียกมวลหมู่ชาวยิวที่ต่อต้านซึ่งอยู่ในสมัยเดียวกัน รวมทั้งพวกหัวหน้าศาสนาด้วย ว่าเป็น “คนในชั่วอายุที่ชั่วช้าและชอบเล่นชู้.” (มัดธาย 11:16; 12:39, 45; 16:4, ล.ม..; 17:17; 23:36) ดังนั้น ตอนที่อยู่บนภูเขามะกอกเทศ เมื่อพระองค์กล่าวถึง “คนชั่วอายุนี้” อีกครั้งหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าพระองค์มิได้หมายถึงเผ่าพันธุ์ชาวยิวทั้งสิ้นตลอดประวัติศาสตร์; รวมทั้งพระองค์ไม่ได้หมายถึงเหล่าผู้ติดตามพระองค์ แม้ว่าพวกเขาเป็น “เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้.” (1 เปโตร 2:9, ล.ม.) นอกจากนั้น พระเยซูมิได้ตรัสว่า “คนชั่วอายุนี้” เป็นช่วงเวลาหนึ่ง.
13 แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระเยซูทรงคิดถึงชาวยิวที่ต่อต้านในสมัยนั้นซึ่งจะได้เห็นความสำเร็จเป็นจริงแห่งหมายสำคัญที่พระองค์ทรงให้ไว้. เกี่ยวกับการกล่าวอ้างอิงถึง “คนชั่วอายุนี้” ที่ลูกา 21:32 (ล.ม.) ศาสตราจารย์โจเอล บี. กรีน ให้ข้อสังเกตดังนี้: “ในพระธรรมกิตติคุณเล่มที่สาม ‘คนชั่วอายุนี้’ (และวลีที่เกี่ยวข้องกัน) ตามปกติมีความหมายส่อถึงกลุ่มคนพวกหนึ่งที่ขัดขืนพระประสงค์ของพระเจ้า . . . [คำนี้พาดพิง] ถึงผู้คนที่หันหลังให้แก่พระประสงค์ของพระเจ้าอย่างดื้อรั้น.”b
14. “คนชั่วอายุ” นั้นประสบเหตุการณ์อะไร แต่ผลที่เกิดขึ้นกับคริสเตียนแตกต่างอย่างไร?
14 คนชั่วอายุที่ชั่วช้าแห่งผู้ต่อต้านชาวยิวซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ว่าหมายสำคัญกำลังสำเร็จเป็นจริงก็จะได้เห็นอวสานของระบบยิวด้วย. (มัดธาย 24:6, 13, 14) และพวกเขาได้เห็นจริง ๆ! ในปี ส.ศ. 70 กองทัพโรมันกลับมาอีกครั้ง นำโดยทิทุสราชบุตรของจักรพรรดิเวสปาเชียน. ความทุกข์ยากของพวกยิวที่ถูกกักอยู่ในกรุงนี้อีกครั้งหนึ่งเป็นเรื่องที่แทบไม่น่าเชื่อ.c ฟลาวิอุส โยเซฟุส ผู้เป็นประจักษ์พยานรายงานว่า เมื่อถึงตอนที่พวกโรมันทำลายกรุงนี้จนยับเยินแล้ว มีชาวยิวประมาณ 1,100,000 คนเสียชีวิต และประมาณ 100,000 คนถูกนำตัวไปเป็นเชลยซึ่งส่วนใหญ่ของจำนวนนี้ไม่นานนักก็ล้มตายอย่างน่าสยดสยองเนื่องจากความอดอยากหรือไม่ก็ในโรงมหรสพกลางแจ้งของพวกโรมัน. ที่จริง ความทุกข์ลำบากแห่งปี ส.ศ. 66-70 เป็นครั้งใหญ่ที่สุดที่กรุงยะรูซาเลมและระบบยิวเคยประสบในอดีตหรือที่จะประสบหลังจากนั้น. ผลที่เกิดขึ้นกับคริสเตียนที่ได้เอาใจใส่คำเตือนเชิงพยากรณ์ของพระเยซูและได้ออกไปจากกรุงยะรูซาเลมหลังจากที่กองทัพโรมันผละไปในปี ส.ศ. 66 นั้นช่างต่างกันสักเพียงไร! เหล่าคริสเตียน “ผู้ถูกเลือกสรร” ที่ได้รับการเจิมได้รับการช่วยให้ “รอด” หรือได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยในปี ส.ศ. 70.—มัดธาย 24:16, 22.
ความสำเร็จเป็นจริงอีกครั้งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น
15. เราแน่ใจได้อย่างไรว่าคำพยากรณ์ของพระเยซูจะมีความสำเร็จเป็นจริงที่ใหญ่กว่าหลังปี ส.ศ. 70?
15 อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ตอนจบ. ก่อนหน้านั้น พระเยซูทรงระบุว่าหลังจาก กรุงนี้ถูกทำลาย พระองค์จะเสด็จมาในนามของพระยะโฮวา. (มัดธาย 23:38, 39; 24:2) ต่อมา พระองค์ก็ได้ทำให้เรื่องนี้กระจ่างยิ่งขึ้นในคำพยากรณ์ที่ตรัสบนภูเขามะกอกเทศ. หลังจากทรงเอ่ยถึง “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ที่จะเกิดขึ้น พระองค์ตรัสว่าภายหลังจะปรากฏมีพระคริสต์ปลอม และกรุงยะรูซาเลมจะถูกนานาชาติเหยียบย่ำในช่วงเวลาหนึ่งที่ยาวนาน. (มัดธาย 24:21, 23-28, ล.ม.; ลูกา 21:24) เป็นไปได้ไหมว่าจะมีความสำเร็จเป็นจริงอีกครั้งหนึ่งที่ใหญ่กว่า? ข้อเท็จจริงชี้ว่าเป็นอย่างนั้น. เมื่อเราเปรียบเทียบวิวรณ์ 6:2-8 (เขียนหลังความทุกข์ลำบากที่กรุงยะรูซาเลมในปี ส.ศ. 70.) กับมัดธาย 24:6-8 และลูกา 21:10, 11 เราจะเห็นได้ว่าสงคราม, การขาดแคลนอาหาร, และโรคระบาดในขอบเขตที่ใหญ่กว่า กำลังรออยู่ข้างหน้า. ความสำเร็จเป็นจริงที่ใหญ่กว่าแห่งคำตรัสของพระเยซูได้เกิดขึ้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นในปี 1914.
16-18. อะไรที่เราคาดหมายว่ายังจะต้องได้เกิดขึ้น?
16 จนถึงบัดนี้ พยานพระยะโฮวาได้สอนมาแล้วหลายทศวรรษว่าความสำเร็จเป็นจริงแห่งหมายสำคัญในสมัยปัจจุบันพิสูจน์ว่า “ความทุกข์ลำบากใหญ่” อีกครั้งหนึ่งยังจะต้องได้เกิดขึ้น. “คนชั่วอายุ” ที่ชั่วช้าในปัจจุบันจะเห็นความทุกข์ลำบากนั้น. อีกครั้งหนึ่ง ดูเหมือนว่าจะมีช่วงเปิดฉาก (การโจมตีศาสนาเท็จทั้งหมด) แบบเดียวกับที่การโจมตีของกัลลุสในปี ส.ศ. 66 เป็นการเปิดฉากความทุกข์ลำบากเหนือกรุงยะรูซาเลม.d จากนั้น หลังจากช่วงว่างเว้นที่ระบุไม่ได้ว่านานเท่าใด อวสานก็จะมาถึง—การทำลายในขอบเขตทั่วโลกซึ่งเทียบได้กับเหตุการณ์ในปี ส.ศ. 70.
17 เมื่อกล่าวถึงความทุกข์ลำบากที่อยู่ตรงหน้าเรานี้เอง พระเยซูตรัสว่า “ทันทีหลังจากความทุกข์ลำบากแห่งวันเหล่านั้น [การทำลายศาสนาเท็จ] ดวงอาทิตย์จะถูกทำให้มืดไป และดวงจันทร์จะไม่ส่องสว่าง และดวงดาวจะตกจากฟ้าสวรรค์ และอำนาจแห่งฟ้าสวรรค์จะถูกทำให้สะเทือน. และครั้นแล้วสัญลักษณ์แห่งบุตรมนุษย์จะปรากฏในฟ้าสวรรค์ และครั้นแล้วตระกูลทั้งปวงแห่งแผ่นดินโลกจะทุบตีตัวเองด้วยความคร่ำครวญ และเขาทั้งหลายจะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาบนเมฆแห่งฟ้าสวรรค์ด้วยฤทธิ์และสง่าราศีเป็นอันมาก.”—มัดธาย 24:29, 30, ล.ม.
18 ด้วยเหตุนั้น พระเยซูเองตรัสว่า “หลังจากความทุกข์ลำบากแห่งวันเหล่านั้น” ปรากฏการณ์แห่งฟ้าสวรรค์ในบางลักษณะจะเกิดขึ้น. (เทียบกับโยเอล 2:28-32; 3:15.) เหตุการณ์นี้จะทำให้มนุษย์ที่ไม่เชื่อฟังตกใจกลัวและอกสั่นขวัญแขวนจนพวกเขาจะ “ทุบตีตัวเองด้วยความคร่ำครวญ.” หลายคนจะ “สลบเนื่องด้วยความกลัวและการคอยท่าเหตุการณ์ซึ่งจะเกิดขึ้นบนแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่.” แต่คริสเตียนแท้จะไม่เป็นอย่างนั้น! คนเหล่านี้ ‘จะชูศีรษะขึ้น เพราะการช่วยให้รอดพ้นสำหรับพวกเขาใกล้จะถึงแล้ว.’—ลูกา 21:25, 26, 28, ล.ม.
การพิพากษารออยู่เบื้องหน้า!
19. เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเมื่อไรที่อุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะจะสำเร็จเป็นจริง?
19 โปรดสังเกตว่ามัดธาย 24:29-31 บอกล่วงหน้าว่า (1) บุตรมนุษย์จะเสด็จมา (2) การเสด็จดังกล่าวจะมาพร้อมด้วยรัศมีภาพอันยิ่งใหญ่ (3) เหล่าทูตสวรรค์จะมาด้วยกันกับพระองค์ และ (4) ทุกตระกูลแห่งแผ่นดินโลกจะเห็นพระองค์. พระเยซูตรัสซ้ำแง่มุมเหล่านี้ในอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะ. (มัดธาย 25:31-46) ฉะนั้น เราอาจสรุปได้ว่าอุทาหรณ์นี้เกี่ยวข้องกับเวลา หลังจากที่ความทุกข์ลำบากใหญ่เปิดฉากขึ้นแล้ว เมื่อพระเยซูจะเสด็จมาพร้อมด้วยหมู่ทูตสวรรค์ของพระองค์และประทับบนบัลลังก์เพื่อพิพากษา. (โยฮัน 5:22; กิจการ 17:31; เทียบกับ 1 กษัตริย์ 7:7; ดานิเอล 7:10, 13, 14, 22, 26; มัดธาย 19:28.) ใครจะถูกพิพากษา และพร้อมด้วยผลเช่นไร? อุทาหรณ์นี้แสดงว่าพระเยซูจะทรงเอาพระทัยใส่นานาชาติทั้งมวล ราวกับว่าพวกเขาชุมนุมกันอยู่เบื้องหน้าพระที่นั่งในสวรรค์ของพระองค์เลยทีเดียว.
20, 21. (ก) จะเกิดอะไรขึ้นกับแกะในอุทาหรณ์ของพระเยซู? (ข) พวกแพะจะประสบกับอะไรในอนาคต?
20 ชายหญิงที่มีลักษณะเยี่ยงแกะจะถูกแยกไปอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์แห่งความโปรดปรานของพระเยซู. ทำไม? เพราะพวกเขาใช้โอกาสที่เขามีเพื่อทำดีต่อพวกพี่น้องของพระองค์—คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่จะร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. (ดานิเอล 7:27; เฮ็บราย 2:9–3:1) สอดคล้องกับอุทาหรณ์นี้ คริสเตียนที่มีลักษณะเยี่ยงแกะหลายล้านคนได้ยอมรับพี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระเยซูและได้ทำงานสนับสนุนพวกเขา. ผลก็คือ ชนฝูงใหญ่นี้มีความหวังซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักที่จะรอดผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” แล้วก็มีชีวิตตลอดไปในอุทยาน อาณาเขตทางแผ่นดินโลกแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า.—วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.; 21:3, 4; โยฮัน 10:16.
21 ช่างจะเกิดผลที่แตกต่างกันสักเพียงไรสำหรับพวกแพะ! พวกเขาได้รับการพรรณนาไว้ที่มัดธาย 24:30 ว่า “ทุบตีตัวเองด้วยความคร่ำครวญ” เมื่อพระเยซูเสด็จมา. ที่เป็นอย่างนั้นก็นับว่าสมควร เพราะพวกเขาได้สร้างประวัติไว้ด้วยการปฏิเสธข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร, ต่อต้านสาวกของพระเยซู, และพอใจในโลกนี้ที่กำลังจะผ่านพ้นไปมากกว่า. (มัดธาย 10:16-18; 1 โยฮัน 2:15-17) พระเยซูทรงเป็นผู้ชี้ขาดว่าใครเป็นแพะ—ไม่ใช่สาวกคนใดในโลกนี้. พระองค์ตรัสถึงพวกแพะว่า “พวกเหล่านี้จะไปสู่การตัดขาดเป็นนิตย์.”—มัดธาย 25:46, ล.ม.
22. ส่วนไหนของคำพยากรณ์ของพระเยซูที่เราควรพิจารณากันต่อไป?
22 ความก้าวหน้าที่เรามีในความเข้าใจเกี่ยวกับคำพยากรณ์ในมัดธายบท 24 และ 25 เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น. อย่างไรก็ตาม มีส่วนหนึ่งแห่งคำพยากรณ์ของพระเยซูคริสต์ที่เราสมควรให้ความสนใจต่อไป—‘สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่าที่ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์.’ พระเยซูกระตุ้นเตือนสาวกของพระองค์ให้ใช้ความสังเกตเข้าใจเกี่ยวด้วยเรื่องนี้และให้เตรียมพร้อมที่จะลงมือกระทำ. (มัดธาย 24:15, 16, ล.ม.) “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” นี้คืออะไร? สิ่งนี้ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์เมื่อไร? และความคาดหวังเกี่ยวกับชีวิตเราในปัจจุบันและอนาคตเกี่ยวข้องอยู่ด้วยอย่างไร? บทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูบทความศึกษาในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กุมภาพันธ์ 1994; 15 ตุลาคม และ 1 พฤศจิกายน 1995; และฉบับ 15 สิงหาคม 1996.
b ผู้คงแก่เรียนชาวอังกฤษ จี. อาร์. บีซลีย์-เมอร์เรย์ ให้ข้อสังเกตดังนี้: “วลี ‘คนชั่วอายุนี้’ ไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับผู้แปล. ในขณะที่ยอมรับกันว่าเยเนอา ในภาษากรีกยุคก่อนหน้านั้นหมายถึงการกำเนิด, ลูกหลาน, และดังนั้นจึงหมายถึงเชื้อชาติ. . . . ใน [ฉบับกรีกเซปตัวจินต์ ] มีการแปลโดยใช้คำนี้บ่อยที่สุดจากคำภาษาฮีบรูดอร์ ซึ่งหมายถึงอายุ, ยุคสมัยของมนุษย์, หรือชั่วอายุคนในความหมายของคนร่วมสมัย. . . . เมื่อปรากฏในคำพูดต่าง ๆ ของพระเยซู คำนี้ดูเหมือนว่ามีความหมายแฝงอยู่สองนัย: ประการหนึ่งนั้นคำนี้หมายถึงคนที่อยู่สมัยเดียวกับพระองค์เสมอ และอีกประการหนึ่งคือคำนี้พาดพิงเป็นนัย ๆ เสมอถึงการติเตียน.”
c ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาวยิว ศาสตราจารย์เกรตซ์กล่าวว่าบางครั้งพวกโรมันตรึงนักโทษวันเดียว 500 คน. ชาวยิวที่ถูกจับบางคนถูกตัดมือแล้วส่งกลับเข้าไปในกรุง. สภาพการณ์ทั่วไปที่นั่นเป็นอย่างไร? “เงินตรากลายเป็นของไร้ค่า เพราะไม่สามารถใช้ซื้ออาหารได้. พวกผู้ชายสู้กันอย่างจนตรอกในถนนเพื่อแย่งอาหารที่น่าคลื่นเหียนที่สุด, ฟางหยิบมือหนึ่ง, แผ่นหนังผืนหนึ่ง, หรือเครื่องในสัตว์ที่โยนให้แก่สุนัข. . . . จำนวนซากศพซึ่งไม่ได้ถูกฝังที่เพิ่มอย่างรวดเร็วทำให้อากาศในฤดูร้อนที่อบอ้าวเป็นตัวกลางกระจายโรคติดต่อ และประชากรจึงตกเป็นเหยื่อของความเจ็บป่วย, ความอดอยาก, และคมดาบ.”
d บทความต่อไปจะพิจารณาถึงแง่มุมนี้ของความทุกข์ลำบากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต.
คุณจำได้ไหม?
▫ มัดธาย 24:4-14 สำเร็จเป็นจริงเช่นไรในศตวรรษแรก?
▫ ในสมัยของอัครสาวก วันถูกตัดให้สั้นลงและเนื้อหนังได้รับความรอดตามที่มีพยากรณ์ไว้ที่มัดธาย 24:21, 22 โดยวิธีใด?
▫ “คนชั่วอายุ” ซึ่งกล่าวถึงที่มัดธาย 24:34 มีลักษณะอย่างไร?
▫ เราทราบได้อย่างไรว่าคำพยากรณ์ที่ทรงให้ไว้บนภูเขามะกอกเทศจะมีความสำเร็จเป็นจริงอีกครั้งหนึ่งที่ใหญ่กว่า?
▫ อุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะจะสำเร็จเป็นจริงเมื่อไรและอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 12]
รายละเอียดบนประตูโค้งแห่งทิทุสในกรุงโรม แสดงภาพของที่ยึดได้จากการทำลายกรุงยะรูซาเลม
[ที่มาของภาพหน้า 12]
Soprintendenza Archeologica di Roma