ข่าวสารที่เราต้องประกาศ
พระยะโฮวาทรงประทานหน้าที่รับผิดชอบและสิทธิพิเศษอันใหญ่หลวงแก่เราโดยตรัสดังนี้: “เจ้าก็เป็นพยานของเรา ว่าเราเป็นพระเจ้า.” (ยซา. 43:12) เราไม่ได้เป็นเพียงผู้มีความเชื่อเท่านั้น. เราเป็นพยานซึ่งรับรองอย่างเปิดเผยถึงความจริงอันสำคัญที่อยู่ในพระคำซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า. พระยะโฮวาทรงบัญชาให้เราประกาศข่าวสารเรื่องใดในสมัยนี้? ข่าวสารนี้มุ่งความสนใจไปที่พระยะโฮวาพระเจ้า, พระเยซูคริสต์, และราชอาณาจักรมาซีฮา.
“จงเกรงกลัวพระเจ้าเที่ยงแท้และถือรักษาพระบัญชาของพระองค์”
นานก่อนถึงยุคคริสเตียน พระยะโฮวาตรัสกับอับราฮามผู้ซื่อสัตย์เกี่ยวกับการจัดเตรียมเพื่อ “ชนทุกชาติทั่วโลก” จะทำให้ตัวเองได้รับพระพร. (เย. 22:18) นอกจากนั้น พระองค์ทรงดลใจซะโลโมให้บันทึกข้อเรียกร้องพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องบรรลุคือ “จงเกรงกลัวพระเจ้าเที่ยงแท้และถือรักษาพระบัญชาของพระองค์. เพราะนี่คือพันธะทั้งสิ้นของมนุษย์.” (ผู้ป. 12:13, ล.ม.) แต่ผู้คนจากทุกชาติจะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร?
ถึงแม้ในทุกยุคทุกสมัยมีบางคนที่เชื่อพระคำของพระเจ้า แต่คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าการให้คำพยานตลอดทั่วโลกอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อข่าวดีจะไปถึงคนทุกชาติจริง ๆ นั้นถูกสงวนไว้สำหรับ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” วันนั้นเริ่มในปี 1914. (วิ. 1:10) วิวรณ์ 14:6, 7 บอกล่วงหน้าเกี่ยวกับสมัยดังกล่าวว่าภายใต้การชี้นำของทูตสวรรค์ จะมีการประกาศที่สำคัญ “แก่ทุกประเทศ, ทุกชาติ, ทุกภาษา, และทุกคณะ.” จะมีการกระตุ้นทุกคนว่า “จงเกรงกลัวพระเจ้าและถวายเกียรติยศแด่พระองค์ เพราะว่าเวลาที่พระองค์จะทรงพิพากษานั้นมาถึงแล้ว และจงบูชาพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างสวรรค์และแผ่นดินโลกและทะเลและธารน้ำทั้งหลาย.” พระเจ้ามีพระทัยประสงค์ให้ประกาศข่าวสารนี้. เรามีสิทธิพิเศษที่จะมีส่วนร่วมในงานนั้น.
“พระเจ้าเที่ยงแท้.” คราวที่พระยะโฮวาแถลงว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา” ท้องเรื่องนั้นพูดถึงการโต้เถียงในประเด็นเรื่องใครเป็นพระเจ้า. (ยซา. 43:10) ข่าวสารที่ต้องประกาศนั้นไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่ว่าผู้คนควรมีศาสนาหรือมีความเชื่อในพระเจ้า. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ผู้คนจำต้องได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้ว่าพระผู้สร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้แต่องค์เดียว. (ยซา. 45:5, 18, 21, 22; โย. 17:3) เฉพาะพระเจ้าเที่ยงแท้เท่านั้นที่สามารถบอกล่วงหน้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างที่เชื่อถือได้. นับเป็นสิทธิพิเศษที่เราจะชี้ให้เห็นว่าคำของพระยะโฮวาที่สำเร็จเป็นจริงในอดีตให้เหตุผลอันหนักแน่นที่จะมั่นใจว่าทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาเกี่ยวกับอนาคตจะสำเร็จเป็นจริง.—ยโฮ. 23:14; ยซา. 55:10, 11.
แน่นอน หลายคนที่เราให้คำพยานนมัสการพระต่าง ๆ กันหรืออ้างว่าไม่นมัสการพระองค์ใดเลย. เพื่อจะให้เขารับฟัง เราอาจต้องเริ่มด้วยเรื่องที่เขาและเรามีความสนใจร่วมกัน. เราอาจได้รับประโยชน์จากตัวอย่างที่บันทึกในกิจการ 17:22-31. ขอสังเกตว่าถึงแม้อัครสาวกเปาโลแสดงความผ่อนหนักผ่อนเบา แต่ท่านก็พูดอย่างชัดเจนว่ามนุษย์ทุกคนต้องให้การต่อพระเจ้าผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก.
การทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จัก. จงทำให้พระนามของพระเจ้าเที่ยงแท้เป็นที่รู้จัก. พระยะโฮวาทรงรักพระนามของพระองค์. (เอ็ก. 3:15; ยซา. 42:8) พระองค์ประสงค์ให้ผู้คนรู้จักพระนามนั้น. พระองค์ทำให้พระนามอันโดดเด่นของพระองค์ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลมากกว่า 7,000 ครั้ง. เรามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะทำให้ผู้คนรู้จักพระนามนั้น.—บัญ. 4:35.
ความหวังสำหรับชีวิตในอนาคตของมนุษยชาติขึ้นอยู่กับการรู้จักพระยะโฮวาและร้องเรียกพระองค์ด้วยความเชื่อ. (โยเอล 2:32; มลคี. 3:16; 2 เธ. 1:8) กระนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักพระยะโฮวา. นั่นรวมถึงหลายคนที่อ้างว่านมัสการพระเจ้าแห่งคัมภีร์ไบเบิล. แม้ว่าผู้คนมีและอ่านคัมภีร์ไบเบิล แต่พวกเขาก็อาจยังไม่รู้จักพระนามของพระเจ้าเพราะมีการตัดพระนามนั้นออกไปจากพระคัมภีร์ฉบับแปลสมัยใหม่หลายฉบับ. ทางเดียวที่บางคนได้มารู้จักพระนามยะโฮวาก็คือเมื่อพวกผู้นำศาสนาของเขาห้ามไม่ให้ใช้พระนามนั้น.
เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้คนรู้จักพระนามของพระเจ้า? วิธีที่ดีที่สุดคือให้เขาเห็นพระนามนั้นในคัมภีร์ไบเบิล ถ้าเป็นได้ ในฉบับของเขาเอง. ในฉบับแปลบางฉบับ มีพระนามนั้นปรากฏอยู่หลายพันครั้ง. ในฉบับแปลอื่น ๆ พระนามนั้นอาจปรากฏเฉพาะที่บทเพลงสรรเสริญ 83:18 หรือ เอ็กโซโด 6:3-6 หรืออาจพบที่เชิงอรรถของเอ็กโซโด 3:14, 15 หรือ 6:3. ในฉบับแปลหลายฉบับ มีการใช้คำ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” และ “พระเจ้า” ในแบบตัวอักษรที่ต่างออกไปแทนที่พระนามเฉพาะของพระเจ้าตามที่ปรากฏอยู่ในข้อคัมภีร์ภาษาเดิม. ถ้าฉบับแปลในปัจจุบันตัดพระนามของพระเจ้าออกไปทั้งหมด คุณอาจต้องใช้คัมภีร์ไบเบิลที่เป็นฉบับแปลซึ่งเก่าแก่กว่าเพื่อชี้ให้ผู้คนเห็นว่าได้มีการทำอะไรลงไป. ในบางดินแดน คุณอาจชี้ให้เห็นพระนามของพระเจ้าในบทเพลงสวดหรือในคำจารึกบนสิ่งก่อสร้างที่พบเห็นได้ตามที่ต่าง ๆ.
แม้แต่สำหรับผู้ที่นมัสการพระอื่น ๆ คุณก็อาจใช้ยิระมะยา 10:10-13 ในฉบับแปลโลกใหม่ ได้อย่างบังเกิดผล. ข้อเหล่านั้นไม่เพียงแต่บอกพระนามของพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังอธิบายชัดเจนด้วยว่าพระองค์เป็นผู้ใด.
อย่าใช้คำอื่น ๆ เช่น “พระเจ้า” และ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แทนที่พระนามยะโฮวา ดังที่คริสต์ศาสนจักรได้ทำ. นี่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเริ่มการสนทนาทุกครั้งด้วยการใช้พระนามนั้น. เนื่องจากมีอคติ บางคนอาจยุติการสนทนา. แต่หลังจากได้วางพื้นฐานสำหรับการสนทนาไว้แล้ว จงอย่าลังเลที่จะใช้พระนามของพระเจ้า.
เป็นที่น่าสังเกตว่าคัมภีร์ไบเบิลใช้พระนามของพระเจ้ามากกว่าการใช้คำ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” และ “พระเจ้า” รวมกันเสียอีก. กระนั้น ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ใช้พระนามของพระเจ้าในทุกประโยค. พวกเขาเพียงแต่ใส่พระนามของพระเจ้าให้ฟังดูเป็นธรรมชาติ, ใช้พระนามนั้นโดยไม่ลังเล, และด้วยความนับถือ. นั่นเป็นตัวอย่างที่ดีที่พึงเลียนแบบ.
บุคคลที่พระนามนั้นระบุถึง. ถึงแม้ข้อเท็จจริงที่ว่าพระเจ้าทรงมีพระนามเฉพาะนั้นเป็นความจริงที่สำคัญ แต่นั่นเป็นแค่ขั้นเริ่มต้นเท่านั้น.
เพื่อจะรักพระยะโฮวาและร้องเรียกพระองค์ด้วยความเชื่อ ผู้คนต้องรู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าชนิดใด. เมื่อพระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระนามของพระองค์แก่โมเซบนภูเขาไซนาย พระองค์ไม่ได้แค่ตรัสซ้ำคำ “ยะโฮวา.” พระองค์นำความสนใจไปยังคุณลักษณะเด่นบางอย่างของพระองค์. (เอ็ก. 34:6, 7) นั่นเป็นตัวอย่างที่เราควรเลียนแบบ.
ไม่ว่าคุณให้คำพยานกับผู้สนใจใหม่หรือบรรยายในประชาคม เมื่อคุณพูดเกี่ยวกับพระพรแห่งราชอาณาจักร จงชี้ให้เห็นว่าพระพรเหล่านั้นบอกอะไรเกี่ยวกับพระเจ้าผู้ทรงทำคำสัญญานั้น. เมื่อพูดถึงพระบัญชาต่าง ๆ ของพระองค์ จงเน้นถึงสติปัญญาและความรักที่สะท้อนให้เห็นในพระบัญชาเหล่านั้น. ทำให้เห็นชัดเจนว่าข้อเรียกร้องของพระเจ้าไม่ใช่เพื่อทำให้เราลำบาก แต่เพื่อประโยชน์ของเรา. (ยซา. 48:17, 18; มีคา 6:8) จงแสดงให้เห็นว่าการสำแดงอำนาจของพระยะโฮวาในแต่ละครั้งเปิดเผยบุคลิกภาพ, มาตรฐาน, และพระประสงค์ของพระองค์อย่างไร. จงนำความสนใจไปยังวิธีที่พระยะโฮวาทรงสำแดงคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์อย่างสมดุล. จงให้ผู้คนได้ยินว่าคุณมีความรู้สึกอย่างไรต่อพระยะโฮวา. ความรักที่คุณมีต่อพระยะโฮวาอาจช่วยกระตุ้นคนอื่นให้เกิดความรักเช่นนั้นได้.
ข่าวสารอันเร่งด่วนสำหรับสมัยของเรากระตุ้นเตือนทุกคนให้เกรงกลัวพระเจ้า. โดยสิ่งที่เราพูด เราควรพยายามกระตุ้นให้เกิดความเกรงกลัวดังกล่าว. ความเกรงกลัวนี้เป็นความกลัวที่เป็นประโยชน์, เป็นความเกรงขามพระยะโฮวา, ความเคารพสุดซึ้งต่อพระองค์. (เพลง. 89:7) ความเกรงกลัวนี้รวมถึงการสำนึกว่าพระยะโฮวาเป็นผู้พิพากษาองค์สูงสุดและสำนึกว่าความหวังของเราสำหรับชีวิตในอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับการได้รับความพอพระทัยจากพระองค์. (ลูกา 12:5; โรม 14:12) ดังนั้น ความเกรงกลัวดังกล่าวจึงเกี่ยวพันกันกับการรักพระองค์อย่างสุดซึ้งและผลที่ตามมาก็คือความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำให้พระองค์พอพระทัย. (บัญ. 10:12, 13) นอกจากนั้น ความเกรงกลัวพระเจ้ายังกระตุ้นเราให้เกลียดชังสิ่งชั่ว, เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า, และนมัสการพระองค์อย่างสิ้นสุดหัวใจ. (บัญ. 5:29; 1 โคร. 28:9; สุภา. 8:13) ความเกรงกลัวนี้ป้องกันเรามิให้พยายามรับใช้พระเจ้าในขณะที่ยังรักสิ่งต่าง ๆ ของโลกนี้อยู่.—1 โย. 2:15-17.
พระนามของพระเจ้า—“ป้อมเข้มแข็ง.” ผู้ที่มารู้จักพระยะโฮวาอย่างแท้จริงได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นอย่างดี. นี่ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาใช้พระนามของพระองค์หรือสามารถท่องคุณลักษณะบางอย่างของพระองค์ได้. แต่เป็นเพราะพวกเขาไว้วางใจในพระยะโฮวา. สุภาษิต 18:10 กล่าวถึงคนเช่นนั้นดังนี้: “พระนามพระยะโฮวาเป็นป้อมเข้มแข็ง. คนชอบธรรมทั้งปวงวิ่งเข้าไปก็พ้นภัย.”
จงใช้โอกาสต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์เพื่อกระตุ้นคนอื่นให้ไว้วางใจในพระยะโฮวา. (เพลง. 37:3; สุภา. 3:5, 6) ความไว้วางใจเช่นนั้นแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในพระยะโฮวาและคำสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์. (เฮ็บ. 11:6) เมื่อผู้คน “ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวา” เนื่องจากรู้ว่าพระองค์เป็นองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ, รักแนวทางของพระองค์, และเชื่อเต็มเปี่ยมว่าความรอดที่แท้จริงย่อมมาจากพระองค์เท่านั้น พวกเขาก็จะได้รับความรอดตามที่พระคำของพระเจ้ารับรองกับเรา. (โรม 10:13, 14, ล.ม.) เมื่อคุณสอนคนอื่น จงช่วยพวกเขาให้พัฒนาความเชื่อเช่นนั้นในทุกแง่มุมของชีวิต.
หลายคนประสบปัญหาส่วนตัวที่หนักอึ้ง. พวกเขาอาจมองไม่เห็นทางออก. จงกระตุ้นพวกเขาให้เรียนรู้แนวทางของพระยะโฮวา, ไว้วางใจในพระองค์, และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้. (เพลง. 25:5) จงสนับสนุนพวกเขาให้อธิษฐานอย่างจริงจังเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าและขอบพระคุณพระองค์สำหรับพระพรต่าง ๆ ที่ได้รับ. (ฟิลิป. 4:6, 7) เมื่อพวกเขาเข้ามารู้จักพระยะโฮวา ไม่ใช่เพียงแค่ได้อ่านบางส่วนจากคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น แต่ได้ประสบว่าคำสัญญาของพระองค์สำเร็จเป็นจริงในชีวิตของเขาเองด้วย เขาก็จะเริ่มรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยอันเนื่องมาจากการเข้าใจถ่องแท้เกี่ยวกับสิ่งที่พระนามของพระยะโฮวาหมายถึง.—เพลง. 34:8; ยิระ. 17:7, 8.
จงใช้ทุกโอกาสให้เป็นประโยชน์เพื่อช่วยผู้คนให้หยั่งรู้เข้าใจสติปัญญาของการเกรงกลัวพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ พระยะโฮวา และรักษาพระบัญชาของพระองค์.
“เป็นพยานถึงพระเยซู”
หลังจากคืนพระชนม์และยังไม่เสด็จกลับสู่สวรรค์ พระเยซูคริสต์ทรงบัญชาเหล่าสาวกดังนี้: “ท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเรา . . . จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจ. 1:8) ผู้รับใช้ที่ภักดีของพระเจ้าในสมัยของเราได้รับการพรรณนาว่าเป็นผู้ที่ “มีงานเป็นพยานถึงพระเยซู.” (วิ. 12:17, ล.ม.) คุณขยันขันแข็งขนาดไหนในงานให้คำพยานนี้?
หลายคนที่บอกอย่างจริงใจว่าเชื่อในพระเยซูกลับไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของพระองค์ก่อนเป็นมนุษย์. พวกเขาไม่ตระหนักว่าพระองค์เป็นมนุษย์จริง ๆ ตอนที่อยู่บนแผ่นดินโลก. พวกเขาไม่เข้าใจว่าการที่พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้านั้นมีความหมายเช่นไร. พวกเขาแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับบทบาทของพระองค์ในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริง. พวกเขาไม่รู้ว่าพระองค์กำลังทำอะไรในขณะนี้ และไม่รู้ว่าชีวิตของเขาจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากสิ่งที่พระองค์จะทำในอนาคต. พวกเขาอาจถึงกับเข้าใจผิดว่าพยานพระยะโฮวาไม่เชื่อในพระเยซู. นับว่าเป็นสิทธิพิเศษที่เราจะพยายามทำให้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นที่รู้จัก.
ยังมีคนอื่นอีกที่ไม่เชื่อว่าบุคคลเช่นพระเยซูที่คัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงนั้นเคยมีชีวิตอยู่จริง. บางคนมองว่าพระเยซูเป็นแค่มนุษย์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง. หลายคนปฏิเสธแนวคิดที่ว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า. การ “เป็นพยานถึงพระเยซู” กับคนเช่นนั้นต้องอาศัยความพยายาม, ความอดทน, และความผ่อนหนักผ่อนเบาอย่างยิ่ง.
ไม่ว่าผู้ฟังจะมีทัศนะเช่นไรก็ตาม พวกเขาต้องรับความรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ถ้าเขาต้องการรับประโยชน์จากการจัดเตรียมของพระเจ้าเรื่องชีวิตนิรันดร์. (โย. 17:3) พระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนคือ ทุกคนที่มีชีวิตต้อง “รับอย่างเปิดเผยว่าพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” และต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของพระองค์. (ฟิลิป. 2:9-11, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่อาจเลี่ยงประเด็นนี้ได้เมื่อพบผู้คนที่ยืนกรานในทัศนะที่ผิดหรือแสดงอคติอย่างเปิดเผย. ในบางกรณี แม้เราจะพูดกับคนอื่นโดยไม่ลังเลเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในการเยี่ยมครั้งแรกก็ตาม แต่ในกรณีอื่น เราก็อาจต้องพูดด้วยความสุขุมเพื่อช่วยผู้ฟังให้เริ่มมีความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระองค์. เราอาจต้องคิดด้วยว่าจะเริ่มนำเข้าสู่เรื่องนั้นในแง่มุมอื่นอย่างไรเมื่อกลับเยี่ยมครั้งถัดไป. อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจนกว่าเราจะนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเขาที่บ้าน.—1 ติโม. 2:3-7.
บทบาทสำคัญของพระเยซูในพระประสงค์ของพระเจ้า. เราต้องช่วยผู้คนให้เข้าใจว่าเนื่องจากพระเยซูเป็น “ทางนั้น” และ ‘ไม่มีผู้ใดไปถึงพระบิดาเว้นแต่จะไปทางพระองค์’ ดังนั้น สัมพันธภาพอันเป็นที่ยอมรับกับพระเจ้าจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าปราศจากความเชื่อในพระเยซูคริสต์. (โย. 14:6, ล.ม.) หากคนเราไม่เข้าใจบทบาทสำคัญที่พระยะโฮวาทรงมอบหมายให้พระบุตรหัวปีของพระองค์ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล. เพราะเหตุใด? เพราะพระยะโฮวาทรงให้พระบุตรองค์นี้เป็นบุคคลสำคัญในการทำให้พระประสงค์ทั้งสิ้นของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ. (โกโล. 1:17-20) คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลรวมจุดอยู่ที่ข้อเท็จจริงนี้. (วิ. 19:10) ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเนื่องจากการกบฏของซาตานและบาปของอาดามจะได้รับการแก้ไขโดยทางพระเยซูคริสต์.—เฮ็บ. 2:5-9, 14, 15.
เพื่อจะเข้าใจบทบาทของพระคริสต์ คนเราต้องยอมรับว่ามนุษย์อยู่ในสภาพที่น่าเวทนาซึ่งไม่อาจช่วยตัวเองได้. เราทุกคนล้วนเกิดมาในบาป. สิ่งนี้อาจส่งผลหลายอย่างในระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่. อย่างไรก็ตาม ไม่ช้าก็เร็ว ผลในที่สุดคือความตาย. (โรม 3:23; 5:12) จงหาเหตุผลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนี้กับคนที่คุณให้คำพยาน. จากนั้นชี้ให้เห็นว่า โดยทางเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ พระยะโฮวาองค์เปี่ยมด้วยความรักทำให้เป็นไปได้ที่ผู้สำแดงความเชื่อในค่าไถ่นั้นจะรอดจากบาป และความตาย. (มโก. 10:45; เฮ็บ. 2:9) การจัดเตรียมนี้เปิดทางให้ผู้สำแดงความเชื่อได้รับชีวิตนิรันดร์ในสภาพที่สมบูรณ์. (โย. 3:16, 36) ไม่มีวิธีอื่นใดจะทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้. (กิจ. 4:12) ฐานะเป็นผู้สอน ไม่ว่าสอนเป็นส่วนตัวหรือในประชาคม อย่าเพียงแต่พูดถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้เท่านั้น. จงกรุณาและอดทนเพื่อช่วยผู้ฟังให้รู้สึกขอบพระคุณสำหรับบทบาทของพระคริสต์ฐานะเป็นผู้ไถ่. ความหยั่งรู้ค่าต่อการจัดเตรียมนี้จะมีผลอย่างลึกซึ้งต่อทัศนะ, ความประพฤติ, และเป้าหมายในชีวิตของคนเราได้.—2 โก. 5:14, 15.
แน่นอน พระเยซูทรงวายพระชนม์เป็นเครื่องบูชาเพียงครั้งเดียว. (เฮ็บ. 9:28) อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงรับใช้ฐานะเป็นมหาปุโรหิตอยู่ในขณะนี้. จงช่วยคนอื่นให้เข้าใจความหมายของเรื่องนี้. พวกเขากำลังเผชิญกับความกดดัน, ความสิ้นหวัง, ความทุกข์, หรือปัญหาอื่น ๆ จากผู้คนที่ไม่กรุณาไหม? เมื่อพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ พระองค์เผชิญสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด. พระองค์ทรงทราบว่าเรารู้สึกอย่างไร. เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ เราต้องการได้รับความเมตตาจากพระเจ้าไหม? ถ้าเราอธิษฐานขอการอภัยจากพระเจ้าโดยอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู พระเยซูจะทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยเหลือสถิตอยู่กับพระบิดา.” ด้วยความเห็นอกเห็นใจ พระองค์ “ทรงทูลอ้อนวอนเพื่อเรา.” (1 โย. 2:1, 2; โรม 8:34, ล.ม.) โดยอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซูและงานรับใช้ของพระองค์ฐานะมหาปุโรหิต เราสามารถเข้าไปถึง “ราชบัลลังก์แห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ” ของพระยะโฮวาเพื่อรับการช่วยเหลือในเวลาที่เหมาะสมได้. (เฮ็บ. 4:15, 16, ล.ม.) ถึงแม้เราเป็นคนไม่สมบูรณ์ แต่การช่วยเหลือจากพระเยซูฐานะมหาปุโรหิตทำให้เรารับใช้พระเจ้าได้โดยมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด.—เฮ็บ. 9:13, 14.
นอกจากนั้น พระเยซูทรงใช้อำนาจอันยิ่งใหญ่ฐานะเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าให้เป็นประมุขของประชาคมคริสเตียนด้วย. (มัด. 28:18; เอเฟ. 1:22, 23) ในฐานะประมุข พระองค์ให้การชี้นำที่จำเป็นซึ่งสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. เมื่อคุณสอนคนอื่น จงช่วยพวกเขาให้เข้าใจว่าประมุขของประชาคมคือพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่มนุษย์คนใด. (มัด. 23:10) ตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่สนทนากับผู้สนใจ จงเชิญเขาให้เข้าร่วมการประชุมในประชาคมท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ที่เราศึกษาคัมภีร์ไบเบิลโดยอาศัยสิ่งพิมพ์ที่จัดเตรียมผ่านทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” อธิบายให้พวกเขาฟังไม่เพียงแต่ว่า “ทาส” นั้นหมายถึงใคร แต่พูดถึงผู้ที่เป็นนายด้วยเพื่อพวกเขาจะรู้ว่าพระเยซูเป็นประมุข. (มัด. 24:45-47, ล.ม.) จงแนะนำพวกเขาให้รู้จักผู้ปกครอง และอธิบายคุณวุฒิตามหลักพระคัมภีร์ที่คนเหล่านั้นต้องบรรลุ. (1 ติโม. 3:1-7; ติโต 1:5-9) จงชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองไม่ได้เป็นเจ้าของประชาคม แต่ว่าพวกเขาช่วยเราให้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระเยซูคริสต์. (กิจ. 20:28; เอเฟ. 4:16; 1 เป. 5:2, 3) จงช่วยผู้สนใจใหม่ ๆ ให้เห็นว่านี่เป็นสังคมระดับโลกที่ถูกจัดให้เป็นระเบียบภายใต้การดำเนินงานที่มีพระคริสต์เป็นประมุข.
จากพระธรรมกิตติคุณทั้งสี่ เราเรียนรู้ว่าเมื่อพระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเลมไม่นานก่อนจะสิ้นพระชนม์ เหล่าสาวกโห่ร้องสรรเสริญพระองค์ว่าเป็น “ท่านผู้นั้นซึ่งเสด็จมาเป็นกษัตริย์ในพระนามของพระยะโฮวา!” (ลูกา 19:38, ล.ม.) เมื่อผู้คนศึกษาคัมภีร์ไบเบิลลึกซึ้งยิ่งขึ้น พวกเขาเรียนรู้ว่าบัดนี้พระยะโฮวาทรงมอบอำนาจปกครองที่มีผลกระทบต่อคนทุกชาติให้กับพระเยซู. (ดานิ. 7:13, 14) เมื่อคุณบรรยายในประชาคมหรือนำการศึกษา จงช่วยผู้คนให้หยั่งรู้เข้าใจว่าการปกครองของพระเยซูน่าจะมีความหมายเช่นไรสำหรับเราทุกคน.
จงเน้นว่าวิถีชีวิตของเราแสดงให้เห็นว่า เราเชื่อจริง ๆ ไหมว่าพระเยซูคริสต์เป็นกษัตริย์และเต็มใจยอมรับการปกครองของพระองค์. จงเน้นการงานที่พระเยซูทรงมอบหมายแก่เหล่าสาวกหลังจากพระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์. (มัด. 24:14; 28:18-20) จงพิจารณาสิ่งที่พระเยซูซึ่งเป็นที่ปรึกษามหัศจรรย์ได้ตรัสเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต. (ยซา. 9:6, 7; มัด. 6:19-34) จงชี้ให้สนใจคำตรัสขององค์สันติราชเกี่ยวกับน้ำใจที่เหล่าสาวกจะสำแดง. (มัด. 20:25-27; โย. 13:35) จงระมัดระวังที่คุณจะไม่พิพากษาคนอื่นว่าเขาทำได้มากเท่าที่ควรจะทำหรือไม่ แต่จงสนับสนุนเขาให้พิจารณาว่าสิ่งที่เขาทำนั้นแสดงให้เห็นไหมว่าเขายอมรับฐานะกษัตริย์ของพระคริสต์. เมื่อคุณสนับสนุนเช่นนั้น จงยอมรับว่าตัวคุณเองก็ต้องทำเช่นนั้นด้วย.
การวางพระคริสต์เป็นฐานราก. คัมภีร์ไบเบิลเปรียบงานทำให้คนเป็นสาวกเหมือนการก่อสร้างสิ่งที่มีพระเยซูคริสต์เป็นฐานราก. (1 โก. 3:10-15) เพื่อจะทำเช่นนี้ จงช่วยผู้คนให้รู้จักพระเยซูตามที่ได้พรรณนาในคัมภีร์ไบเบิล. จงระมัดระวังไม่ให้พวกเขามองว่าเขาติดตามคุณ. (1 โก. 3:4-7) จงนำความสนใจของเขาไปที่พระเยซูคริสต์.
ถ้าฐานรากถูกวางไว้อย่างดีแล้ว นักศึกษาก็จะเข้าใจว่าพระคริสต์ได้วางแบบอย่างไว้เพื่อเรา “จะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เป. 2:21, ล.ม.) เพื่อจะทำเช่นนั้น จงสนับสนุนนักศึกษาให้อ่านพระธรรมกิตติคุณ ไม่ใช่เป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงเท่านั้นแต่เป็นแบบอย่างที่พึงติดตาม. จงช่วยพวกเขาให้จดจำและเอาใจใส่ทัศนะรวมทั้งคุณลักษณะต่าง ๆ ที่พระเยซูทรงสำแดง. สนับสนุนพวกเขาให้สังเกตว่าพระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรกับพระบิดา, พระองค์รับมือกับการข่มเหงและการทดลองต่าง ๆ อย่างไร, พระองค์แสดงอย่างไรว่ายอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า, และพระองค์ปฏิบัติกับมนุษย์ภายใต้สภาพการณ์ต่าง ๆ อย่างไร. จงเน้นว่าพระองค์ทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยการงานอะไร. ครั้นแล้ว เมื่อเผชิญกับการตัดสินใจและการทดลองในชีวิต นักศึกษาจะถามตัวเองว่า ‘พระเยซูจะทำเช่นไรเมื่อตกอยู่ในสภาพเช่นนี้? การตัดสินใจของฉันจะแสดงให้เห็นไหมว่าฉันหยั่งรู้ค่าสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อฉัน?’
เมื่อคุณบรรยายต่อประชาคม อย่าลงความเห็นว่าเนื่องจากพี่น้องมีความเชื่อในพระเยซูอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องชี้ให้สนใจพระองค์เป็นพิเศษ. สิ่งที่คุณพูดจะมีความหมายมากขึ้นถ้าคุณขยายเรื่องโดยอาศัยความเชื่อนั้น. เมื่อคุณพูดเกี่ยวกับการประชุม จงเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับบทบาทของพระเยซูฐานะเป็นประมุขของประชาคม. เมื่อคุณพิจารณาเรื่องงานประกาศ จงนำความสนใจไปสู่น้ำใจที่พระเยซูทรงสำแดงเมื่อทำงานรับใช้, และพูดถึงงานรับใช้ว่าเป็นสิ่งที่พระคริสต์ฐานะกษัตริย์กำลังทำในขณะนี้เพื่อรวบรวมผู้คนสำหรับการพิทักษ์รักษาเข้าสู่โลกใหม่.
เห็นได้ชัดว่าต้องเรียนรู้ไม่ใช่แค่ความจริงขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับพระเยซูเท่านั้น. เพื่อจะเป็นคริสเตียนแท้ ผู้คนต้องสำแดงความเชื่อในพระองค์และรักพระองค์จริง ๆ. ความรักเช่นนั้นกระตุ้นให้เชื่อฟังอย่างภักดี. (โย. 14:15, 21) ความรักช่วยให้ผู้คนยึดมั่นในความเชื่อภายใต้ความยากลำบาก, ดำเนินตามรอยพระบาทของพระคริสต์ตลอดชีวิต, สำแดงว่าตัวเองเป็นคริสเตียนอาวุโสซึ่ง “ได้วางรากลงมั่นคงแล้ว.” (เอเฟ. 3:17) แนวทางเช่นนั้นนำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวา พระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์.
“ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้”
เมื่อให้รายละเอียดเกี่ยวกับหมายสำคัญแห่งการประทับของพระองค์และอวสานของระบบนี้ พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.”—มัด. 24:14, ล.ม.
ข่าวสารที่จะประกาศออกไปอย่างกว้างขวางเช่นนั้นเป็นเรื่องอะไรกันแน่? ข่าวสารนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับราชอาณาจักรที่พระเยซูทรงสอนเราให้อธิษฐานถึงพระเจ้าดังที่ตรัสว่า “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด.” (มัด. 6:10, ล.ม.) ที่วิวรณ์ 11:15 (ล.ม.) พรรณนาถึงราชอาณาจักรนี้ว่าเป็น “ราชอาณาจักรขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา [พระยะโฮวา] และของพระคริสต์ของพระองค์” เพราะอำนาจการปกครองมาจากพระยะโฮวาและทรงมอบให้พระคริสต์เป็นกษัตริย์. อย่างไรก็ตาม ขอสังเกตว่าข่าวสารที่พระเยซูตรัสจะมีการประกาศออกไปในสมัยของเรากว้างขวางกว่าข่าวสารที่เหล่าสาวกประกาศในสมัยศตวรรษแรก. เหล่าสาวกในสมัยนั้นบอกประชาชนว่า “แผ่นดิน [“ราชอาณาจักร,” ล.ม.] ของพระเจ้ามาใกล้ท่านทั้งหลายแล้ว.” (ลูกา 10:9) ในตอนนั้น พระเยซูซึ่งถูกเจิมที่จะเป็นกษัตริย์อยู่ท่ามกลางพวกเขา. แต่ตามที่บันทึกในมัดธาย 24:14 พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าถึงการประกาศตลอดทั่วโลกเรื่องเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะสำเร็จเป็นจริง.
ผู้พยากรณ์ดานิเอลได้รับนิมิตเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญนี้. ท่านเห็น “ผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์” คือพระเยซูคริสต์ ได้รับมอบ “รัช, และเกียรติยศและอาณาจักร” จาก “ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์” คือพระยะโฮวาพระเจ้า “เพื่อทุกประเทศทุกชาติทุกภาษาจะได้ปฏิบัติท่าน.” (ดานิ. 7:13, 14) เหตุการณ์นั้นซึ่งมีความสำคัญต่อทั้งเอกภพเกิดขึ้นในสวรรค์ในปี 1914. หลังจากนั้น พญามารและพวกผีปิศาจถูกเหวี่ยงลงมายังแผ่นดินโลก. (วิ. 12:7-10) ระบบเก่าจึงเข้าสู่สมัยสุดท้าย. แต่ก่อนจะขจัดระบบเก่าออกไปอย่างสิ้นเชิง จะมีการประกาศออกไปตลอดทั่วโลกว่า บัดนี้กษัตริย์มาซีฮาของพระยะโฮวาทรงปกครองจากพระราชบัลลังก์ฝ่ายสวรรค์แล้ว. ผู้คนทุกหนแห่งได้รับการแจ้งให้ทราบเรื่องนี้. ท่าทีของพวกเขาต่อข่าวสารนี้ให้หลักฐานว่าเขามีทัศนะเช่นไรต่อพระผู้สูงสุดฐานะผู้ปกครองเหนือ “อาณาจักรของมนุษย์.”—ดานิ. 4:32.
จริงอยู่ ยังมีอีกมากที่ต้องเกิดขึ้น อีกมากทีเดียว! เรายังอธิษฐาน “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการสถาปนาราชอาณาจักรของพระเจ้าจะเกิดขึ้นในอนาคต. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราอธิษฐานขอเพื่อราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์จะปฏิบัติอย่างเด็ดขาดเพื่อทำให้คำพยากรณ์ต่าง ๆ สำเร็จ เช่น ที่ดานิเอล 2:44 และวิวรณ์ 21:2-4. ราชอาณาจักรนี้จะเปลี่ยนแผ่นดินโลกให้เป็นอุทยานซึ่งผู้คนที่รักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์จะอาศัยอยู่ที่นั่น. เมื่อเราประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้” เราชี้ไปยังความหวังนั้นในอนาคต. แต่เราบอกอย่างมั่นใจด้วยว่าพระยะโฮวาทรงมอบอำนาจในการปกครองอย่างเต็มที่ให้กับพระบุตรของพระองค์แล้ว. คุณเน้นข่าวดีนี้ ไหมเมื่อคุณให้คำพยานเรื่องราชอาณาจักร?
การอธิบายเรื่องราชอาณาจักร. เราจะทำงานมอบหมายที่ให้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าอย่างบรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร? เราอาจเร้าความสนใจโดยเริ่มสนทนาเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เราควรแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าข่าวสารของเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.
ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของงานนี้เกี่ยวข้องกับการอ่านหรือการยกข้อคัมภีร์ที่กล่าวถึงราชอาณาจักรขึ้นมาพูด. เมื่อคุณพูดถึงราชอาณาจักร จงช่วยคนที่คุณสนทนาด้วยให้เข้าใจว่าราชอาณาจักรนั้นคืออะไร. การเพียงแต่บอกว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าคือรัฐบาลนั้นอาจยังไม่พอ. บางคนอาจพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะคิดถึงสิ่งที่มองไม่เห็นว่าเป็นรัฐบาล. คุณอาจหาเหตุผลกับพวกเขาในหลายวิธีด้วยกัน. ยกตัวอย่าง แรงโน้มถ่วงเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่แรงนี้มีผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างมาก. เราไม่สามารถเห็นผู้ที่ตั้งกฎแรงโน้มถ่วงได้ แต่ประจักษ์ชัดว่าผู้นี้มีพลังมหาศาล. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงผู้นี้ว่าเป็น “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระเจริญนิรันดร์.” (1 ติโม. 1:17) หรือคุณอาจหาเหตุผลว่าในประเทศที่มีขนาดใหญ่ หลายคนไม่เคยเห็นเมืองหลวงหรือผู้ปกครองประเทศด้วยตาของตนเอง. พวกเขารู้เรื่องเหล่านี้จากรายงานข่าวต่าง ๆ. คล้ายคลึงกัน คัมภีร์ไบเบิลซึ่งพิมพ์มากกว่า 2,200 ภาษาบอกเราให้ทราบเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า; คัมภีร์ไบเบิลบอกเราให้รู้ว่าผู้ใดได้รับมอบอำนาจและราชอาณาจักรนี้กำลังทำอะไรอยู่. ที่หน้าปกของวารสารหอสังเกตการณ์ ซึ่งพิมพ์ในหลายภาษามากกว่าวารสารฉบับใด ๆ มีข้อความว่า “ประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวา.”
เพื่อช่วยผู้คนให้เข้าใจว่าราชอาณาจักรคืออะไร คุณอาจพูดถึงบางสิ่งที่พวกเขาต้องการให้รัฐบาลจัดการ เช่น เรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, สันติภาพ, การปลอดอาชญากรรม, การปฏิบัติกับชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค, การให้การศึกษา, และการดูแลสุขภาพ. จงแสดงให้เห็นว่าโดยทางราชอาณาจักรของพระเจ้าเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และจะสนองความปรารถนาที่ดีงามทุกอย่างของมนุษย์อย่างเต็มที่.—เพลง. 145:16.
จงพยายามกระตุ้นผู้คนให้ปรารถนาจะเป็นประชากรของราชอาณาจักรซึ่งมีพระเยซูคริสต์ปกครองเป็นกษัตริย์. จงชี้ถึงการอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระองค์เคยทำว่าเป็นภาพล่วงหน้าเกี่ยวกับสิ่งที่พระองค์จะทำในฐานะกษัตริย์ทางภาคสวรรค์. จงพูดบ่อย ๆ เกี่ยวกับคุณลักษณะที่น่าดึงดูดใจที่พระองค์ทรงสำแดง. (มัด. 8:2, 3; 11:28-30) จงอธิบายว่าพระองค์ทรงวายพระชนม์เพื่อเราและหลังจากนั้นพระเจ้าทรงปลุกพระองค์ให้มีชีวิตอมตะในสวรรค์. จากที่นั่นพระองค์ทรงปกครองเป็นกษัตริย์.—กิจ. 2:29-35.
จงเน้นว่าราชอาณาจักรของพระเจ้ากำลังปกครองจากสวรรค์อยู่ในขณะนี้. อย่างไรก็ตาม จงตระหนักว่าผู้คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เขาคาดหมายว่าจะเป็นหลักฐานที่แสดงว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าเริ่มปกครองแล้ว. จงยอมรับในเรื่องนั้น และถามพวกเขาว่าเขารู้ไหมว่าพระเยซูคริสต์ ตรัสอย่างไรเกี่ยวกับหลักฐานของการปกครองนั้น. จงเน้นหมายสำคัญบางอย่างที่พบในมัดธายบท 24, มาระโกบท 13, หรือลูกาบท 21. จากนั้นถามเขาว่าทำไมการครองราชย์ของพระคริสต์ในสวรรค์จึงทำให้แผ่นดินโลกมีสภาพดังกล่าว. จงนำความสนใจไปที่วิวรณ์ 12:7-10, 12.
เพื่อให้เห็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่าราชอาณาจักรของพระเจ้ากำลังทำอะไร จงอ่านมัดธาย 24:14 และอธิบายว่าโครงการให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตลอดทั่วโลกกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้. (ยซา. 54:13) จงบอกผู้คนเกี่ยวกับโรงเรียนประเภทต่าง ๆ ที่พยานพระยะโฮวาได้รับประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักและไม่คิดค่าเล่าเรียน. จงอธิบายว่านอกจากเราไปประกาศตามบ้านเรือนแล้ว เรายังเสนอการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลโดยไม่คิดมูลค่ากับผู้คนตัวต่อตัวและกับครอบครัวต่าง ๆ มากกว่า 230 ดินแดนด้วยกัน. รัฐบาลใดของมนุษย์ที่สามารถให้การศึกษาได้อย่างกว้างขวางเช่นนั้นซึ่งจัดให้ไม่เพียงเฉพาะประชาชนในประเทศของตนเท่านั้นแต่สำหรับผู้คนทั่วแผ่นดินโลกเลยทีเดียว? จงเชิญผู้คนให้มายังหอประชุมราชอาณาจักร เข้าร่วมการประชุมหมวดและการประชุมภาคของพยานพระยะโฮวา เพื่อจะเห็นหลักฐานว่าการศึกษาเช่นนั้นมีผลต่อชีวิตของผู้คนอย่างไร.—ยซา. 2:2-4; 32:1, 17; โย. 13:35.
แต่เจ้าของบ้านจะตระหนักไหมว่าชีวิตของเขาเองได้รับผลกระทบอย่างไร? คุณอาจชี้ให้เห็นอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาว่าเป้าหมายที่คุณมาเยี่ยมก็เพื่อสนทนาถึงการที่ทุกคนมีโอกาสเลือกที่จะเป็นประชากรแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. โดยวิธีใด? โดยการเรียนรู้สิ่งที่พระเจ้าเรียกร้องและดำเนินชีวิตประสานกับสิ่งนั้นตั้งแต่บัดนี้.—บัญ. 30:19, 20; วิ. 22:17.
การช่วยคนอื่นให้จัดราชอาณาจักรไว้เป็นอันดับแรก. แม้หลังจากที่ผู้คนตอบรับข่าวราชอาณาจักรแล้ว เขายังต้องทำการตัดสินใจด้วย. เขาจะให้ราชอาณาจักรของพระเจ้าอยู่อันดับใดในชีวิต? พระเยซูกระตุ้นเหล่าสาวกให้ “แสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอไป.” (มัด. 6:33, ล.ม.) เราจะช่วยเพื่อนคริสเตียนให้ทำเช่นนั้นได้อย่างไร? โดยที่เราวางตัวอย่างที่ดีและสนทนาถึงโอกาสต่าง ๆ ที่จะทำเช่นนั้น. บางครั้ง โดยการถามถึงความเป็นไปได้ที่เขาจะรับใช้มากขึ้น และโดยการเล่าประสบการณ์ที่แสดงถึงสิ่งที่คนอื่นกำลังทำ. โดยการพิจารณาเรื่องราวจากคัมภีร์ไบเบิลในแบบที่ทำให้ความรักของคนเราที่มีต่อพระยะโฮวาลึกซึ้งขึ้น. โดยการเน้นสภาพที่เป็นจริงของราชอาณาจักร. โดยการเน้นว่างานประกาศราชอาณาจักรเป็นงานที่สำคัญจริง ๆ สักเพียงไร. ผลดีที่สุดที่มักเกิดขึ้นไม่ใช่มาจากการบอกสิ่งที่พวกเขาต้องทำ แต่มาจากการกระตุ้นพวกเขาให้ปรารถนาจะทำสิ่งนั้น.
ไม่มีข้อสงสัย ข่าวสารสำคัญที่เราทุกคนต้องประกาศมุ่งเน้นไปที่พระยะโฮวาพระเจ้า, พระเยซูคริสต์, และราชอาณาจักร. ความจริงที่สำคัญเหล่านี้ควรได้รับการเน้นในงานประกาศ, ในประชาคม, และในชีวิตส่วนตัวของเรา. เมื่อเราทำเช่นนั้น เราแสดงให้เห็นว่าเราได้รับประโยชน์จริง ๆ จากการศึกษาในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า.