“ทาส” ที่ทั้งสัตย์ซื่อและสุขุม
“แท้จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมซึ่งนายได้แต่งตั้งให้ดูแลคนรับใช้ทั้งหลายของนาย?”—มัดธาย 24:45, ล.ม.
1, 2. ทำไมเราจำเป็นต้องได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณเป็นประจำในทุกวันนี้?
บ่ายวันอังคารที่ 11 เดือนไนซาน ปี ส.ศ. 33 เหล่าสาวกของพระเยซูยกคำถามหนึ่งขึ้นมาที่มีความหมายลึกซึ้งสำหรับเราในทุกวันนี้. พวกเขาถามพระองค์ว่า “จะมีอะไรเป็นหมายสำคัญแห่งการประทับของพระองค์และช่วงอวสานของระบบนี้?” ในคำตอบ พระเยซูกล่าวคำพยากรณ์ที่จับความสนใจอย่างยิ่ง. พระองค์ตรัสถึงช่วงเวลาที่ปั่นป่วนวุ่นวายไปด้วยสงคราม, การขาดแคลนอาหาร, แผ่นดินไหว, และโรคต่าง ๆ. และสิ่งเหล่านี้จะเป็นแค่ “การเริ่มต้นของความปวดร้าวแห่งความทุกข์.” สถานการณ์ยังจะเลวร้ายลงไปอีก. สิ่งที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นนั้นช่างน่ากลัวจริง ๆ!—มัดธาย 24:3, 7, 8, 15-22, ล.ม.; ลูกา 21:10, 11.
2 ตั้งแต่ปี 1914 เรื่อยมา แง่มุมส่วนใหญ่แห่งคำพยากรณ์ของพระเยซูได้สำเร็จไปแล้ว. “ความปวดร้าวแห่งความทุกข์” เกิดขึ้นกับมนุษยชาติอย่างมากมาย. กระนั้น คริสเตียนแท้ไม่จำเป็นต้องกลัว. พระเยซูสัญญาว่าพระองค์จะค้ำจุนพวกเขาด้วยอาหารฝ่ายวิญญาณที่บำรุงเลี้ยง. เนื่องจากขณะนี้พระเยซูอยู่ในสวรรค์ พระองค์ได้เตรียมการอย่างไรเพื่อให้เราที่อยู่บนแผ่นดินโลกได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณ?
3. พระเยซูจัดเตรียมอะไรไว้เพื่อเราจะได้รับ “อาหาร . . . ในเวลาอันเหมาะ”?
3 พระเยซูเองเผยคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าว. ขณะที่พระองค์กำลังกล่าวคำพยากรณ์ที่สำคัญยิ่งนั้น พระองค์ถามขึ้นมาว่า “แท้จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมซึ่งนายได้แต่งตั้งให้ดูแลคนรับใช้ทั้งหลายของนาย เพื่อให้อาหารแก่พวกเขาในเวลาอันเหมาะ?” จากนั้น พระองค์กล่าวว่า “ทาสผู้นั้นก็เป็นสุข ถ้าตอนที่นายมาถึง พบว่าเขากำลังทำอย่างนั้น. เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ถูกแล้ว จะมี “ทาส” ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณ “ทาส” นี้จะทั้งสัตย์ซื่อ และสุขุม. ทาสนี้จะเป็นคนคนเดียวไหม หรือว่าเป็นบุคคลที่สืบทอดตำแหน่งกันไปทีละคน หรือว่าจะเป็นอย่างอื่น? เนื่องจากทาสสัตย์ซื่อนี้จัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณที่จำเป็นอย่างมาก เราจึงสนใจที่จะหาคำตอบ.
คนเดียวหรือกลุ่มชน?
4. เรารู้ได้อย่างไรว่า “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ไม่อาจจะเป็นคนคนเดียวได้?
4 “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ไม่อาจจะเป็นคนคนเดียวได้. เพราะเหตุใด? เนื่องจากว่าทาสเริ่มทำหน้าที่ให้อาหารฝ่ายวิญญาณมาตั้งแต่ศตวรรษแรก และตามที่พระเยซูกล่าว ทาสนี้จะยังคงทำหน้าที่ดังกล่าวเมื่อนายมาถึงในปี 1914. นั่นจะหมายความว่า คนคนเดียวทำหน้าที่นี้อย่างสัตย์ซื่อเป็นเวลาถึง 1,900 ปี. แม้แต่มะธูเซลาก็ยังไม่อายุยืนถึงขนาดนั้น!—เยเนซิศ 5:27.
5. จงอธิบายเหตุผลที่คำว่า “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ไม่อาจใช้กับคริสเตียนแต่ละคนเป็นรายบุคคล.
5 ถ้าอย่างนั้น คำ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” อาจใช้ในความหมายทั่วไปกับคริสเตียนแต่ละคนไหม? เป็นความจริงที่ว่าคริสเตียนทุกคนต้องสัตย์ซื่อและสุขุม แต่เห็นได้ชัดว่า พระเยซูกำลังนึกถึงอะไรมากกว่านั้น เมื่อตรัสถึง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” เรารู้ได้อย่างไร? ก็เพราะพระองค์บอกว่า เมื่อ “นายมาถึง” นายจะแต่งตั้งทาสนี้ “ให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมด ของนาย.” คริสเตียนแต่ละคนเป็นรายบุคคลจะถูกแต่งตั้งให้ดูแลทุกสิ่ง กล่าวคือทรัพย์สมบัติ “ทั้งหมด” ขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร? เป็นไปไม่ได้!
6. ชาติอิสราเอลควรทำหน้าที่เป็น “ผู้รับใช้” หรือ “ทาส” ของพระเจ้าอย่างไร?
6 ถ้าเช่นนั้น ข้อสรุปอย่างเดียวที่สมเหตุสมผลก็คือ พระเยซูกล่าวถึงคริสเตียนกลุ่มหนึ่งว่าเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” เป็นไปได้หรือที่จะมีทาสซึ่งประกอบด้วยสมาชิกหลายคน? ใช่แล้ว. เจ็ดร้อยปีก่อนสมัยพระคริสต์ พระยะโฮวากล่าวถึงชาติอิสราเอลทั้งชาติว่าเป็น “พยานของเรา” และเป็น “ผู้รับใช้ [รูปเอกพจน์] ของเราที่เราได้เลือกสรรไว้.” (ยะซายา 43:10) สมาชิกทุกคนในชาติอิสราเอลนับตั้งแต่ปี 1513 ก่อน ส.ศ. อันเป็นปีที่มีการประทานพระบัญญัติของโมเซ เรื่อยมาจนถึงวันเพนเทคอสต์ปี ส.ศ. 33 เป็นส่วนของชนชั้นผู้รับใช้นี้. ประชากรส่วนใหญ่ในชาติอิสราเอลไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการบริหารกิจการต่าง ๆ ของชาติ หรือในการจัดให้มีการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณ. พระยะโฮวาทรงใช้กษัตริย์, ผู้วินิจฉัย, ผู้พยากรณ์, ปุโรหิต, และพวกเลวี ให้ทำหน้าที่ดังกล่าว. กระนั้น ในฐานะเป็นชาติหนึ่ง ชาติอิสราเอลต้องเป็นตัวแทนที่แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา และถวายคำสรรเสริญพระองค์ท่ามกลางนานาชาติ. ชาวอิสราเอลแต่ละคนต้องทำหน้าที่เป็นพยานของพระยะโฮวา.—พระบัญญัติ 26:19; ยะซายา 43:21; มาลาคี 2:7; โรม 3:1, 2.
“ผู้รับใช้” ถูกปลดออกจากหน้าที่
7. เหตุใดชาติอิสราเอลโบราณจึงถูกถอดออกจากการเป็น “ผู้รับใช้” ของพระเจ้า?
7 เนื่องจากชาติอิสราเอลเป็น “ผู้รับใช้” ของพระเจ้าหลายศตวรรษมาแล้ว ชาตินี้จะเป็นทาสที่พระเยซูกล่าวถึงด้วยไหม? ไม่ เพราะชาติอิสราเอลโบราณปรากฏว่าทั้งไม่สัตย์ซื่อและไม่สุขุมอย่างน่าเศร้าใจ. เปาโลสรุปสภาพนั้น เมื่อท่านยกถ้อยคำของพระยะโฮวาที่ตรัสถึงชาตินี้มากล่าวที่ว่า “คนต่างชาติพูดหยาบหยามต่อพระนามของพระเจ้าก็เพราะท่านทั้งหลาย.” (โรม 2:24, ฉบับแปลใหม่) อันที่จริง ชาติอิสราเอลมาถึงจุดสุดยอดแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานของการกบฏด้วยการปฏิเสธพระเยซู ซึ่ง ณ จุดนี้เองที่พระยะโฮวาปฏิเสธพวกเขา.—มัดธาย 21:42, 43.
8. เมื่อไรที่มีการแต่งตั้ง “ผู้รับใช้” ให้สวมตำแหน่งแทนชาติอิสราเอล และภายใต้สภาพการณ์เช่นไร?
8 ความไม่สัตย์ซื่อดังกล่าวในส่วนของ “ผู้รับใช้” หรือชาติอิสราเอลไม่ได้หมายความว่า ผู้นมัสการที่สัตย์ซื่อจะไม่ได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณอีกต่อไป. ในวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33 หลังจากพระเยซูคืนพระชนม์ 50 วัน มีการหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงบนสาวกของพระองค์ประมาณ 120 คน ที่อยู่ในห้องชั้นบนในกรุงเยรูซาเลม. ในคราวนั้นเอง ชาติใหม่ได้ก่อกำเนิด. สาธารณชนได้ทราบถึงการก่อกำเนิดของชาตินี้อย่างสมควร เมื่อสมาชิกของชาติดังกล่าวเริ่มบอกผู้คนในกรุงเยรูซาเลมอย่างกล้าหาญให้รู้ถึง “ราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า.” (กิจการ 2:11, ล.ม.) โดยวิธีนี้ ชาติใหม่นี้ในฐานะชาติฝ่ายวิญญาณ จึงกลายมาเป็น “ผู้รับใช้” ที่จะประกาศสง่าราศีของพระยะโฮวาแก่นานาชาติ และแจกจ่ายอาหารในเวลาอันเหมาะ. (1 เปโตร 2:9) ต่อมาชาตินี้ถูกขนานนามอย่างเหมาะสมว่า “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า.”—ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.
9. (ก) ใครประกอบกันเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”? (ข) ใครคือ “คนรับใช้ทั้งหลาย”?
9 สมาชิกทุกคนแห่ง “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า” เป็นคริสเตียนที่ได้อุทิศตัวและรับบัพติสมาซึ่งได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และมีความหวังทางภาคสวรรค์. ฉะนั้น คำ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จึงหมายถึงสมาชิกทุกคนในชาติฝ่ายวิญญาณที่ได้รับการเจิมนั้นฐานะกลุ่มชนที่มีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ปี ส.ศ. 33 จนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ชาวอิสราเอลทุกคนที่มีชีวิตอยู่ไม่ว่า ณ เวลาใดตั้งแต่ปี 1513 ก่อน ส.ศ. มาจนถึงวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33 เป็นส่วนของชนชั้นผู้รับใช้ก่อนยุคคริสเตียน. แต่ใครจะเป็น “คนรับใช้ทั้งหลาย” ที่รับอาหารฝ่ายวิญญาณจากทาสนั้น? ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช คริสเตียนทุกคนมีความหวังทางภาคสวรรค์. ด้วยเหตุนี้ คนรับใช้ทั้งหลายจึงเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วย ที่ถูกมองเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ในฐานะกลุ่มชน. พวกเขาทุกคน รวมทั้งผู้มีตำแหน่งรับผิดชอบในประชาคม จำเป็นต้องได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณจากทาสนั้น.—1 โกรินโธ 12:12, 19-27; เฮ็บราย 5:11-13; 2 เปโตร 3:15, 16.
“แต่ละคนได้รับมอบหมาย”
10, 11. เรารู้ได้อย่างไรว่าไม่ใช่ทุกคนในชนชั้นทาสมีงานมอบหมายอย่างเดียวกัน?
10 ขณะที่ “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า” เป็นชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมที่ได้รับมอบหมายงาน สมาชิกแต่ละคนก็มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นส่วนตัวเช่นกัน. คำตรัสของพระเยซูซึ่งบันทึกไว้ที่มาระโก 13:34 (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ทำให้เรื่องนี้กระจ่างชัด. พระองค์ตรัสว่า “ก็เหมือนชายคนหนึ่งออกจากบ้านไป เขาตั้งคนรับใช้ให้รับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย และบอกคนที่ประตูให้เฝ้าระวังไว้.” ฉะนั้น สมาชิกแต่ละคนของชนชั้นทาสได้รับมอบหมายงาน คือให้เพิ่มพูนสมบัติทางแผ่นดินโลกของพระคริสต์. แต่ละคนทำงานนี้ตามความสามารถและโอกาสของแต่ละคน.—มัดธาย 25:14, 15.
11 นอกจากนี้ อัครสาวกเปโตรบอกคริสเตียนผู้ถูกเจิมในสมัยของท่านว่า “ตามส่วนที่แต่ละคนได้รับของประทาน จงใช้ของประทานนั้นในการรับใช้กันและกัน ในฐานะเป็นคนต้นเรือนที่ดีแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าที่แสดงออกในวิธีต่าง ๆ.” (1 เปโตร 4:10, ล.ม.) เพราะฉะนั้น ผู้ถูกเจิมเหล่านั้นมีหน้าที่รับผิดชอบในการรับใช้กันและกัน โดยใช้ของประทานที่พระเจ้ามอบแก่พวกเขา. ยิ่งกว่านั้น ถ้อยคำของเปโตรชี้ว่า ไม่ใช่คริสเตียนทุกคนจะมีความสามารถ, ได้รับหน้าที่มอบหมาย, หรือสิทธิพิเศษในงานรับใช้อย่างเดียวกัน. ถึงกระนั้น สมาชิกแต่ละคนของชนชั้นทาสก็มีส่วนช่วยในทางใดทางหนึ่งให้ชาติฝ่ายวิญญาณนี้เจริญขึ้นได้. โดยวิธีใด?
12. สมาชิกแต่ละคนของชนชั้นทาส ไม่ว่าชายหรือหญิง มีส่วนช่วยอย่างไรให้ทาสนี้เจริญขึ้น?
12 แรกทีเดียว แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะเป็นพยานของพระยะโฮวา และประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. (ยะซายา 43:10-12; มัดธาย 24:14) ไม่นานก่อนเสด็จสู่สวรรค์ พระเยซูสั่งสาวกผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ทุกคน ทั้งชายและหญิง ให้เป็นผู้สอน. พระองค์ตรัสว่า “ฉะนั้น จงไปทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขา ให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้. และนี่แน่ะ! เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบ.”—มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.
13. ผู้ถูกเจิมทุกคนได้รับสิทธิพิเศษอะไร?
13 เมื่อมีการพบผู้ที่จะเป็นสาวกใหม่ พวกเขาจะได้รับการสอนอย่างถี่ถ้วนให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่พระคริสต์ได้ตรัสสั่งเหล่าสาวก. ในที่สุด ผู้ที่ตอบรับจะมีคุณวุฒิที่จะสอนคนอื่นต่อไป. อาหารฝ่ายวิญญาณที่บำรุงเลี้ยงมีอยู่พร้อมสำหรับผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของชนชั้นทาสนี้ในหลายชาติ. คริสเตียนผู้ถูกเจิมทุกคน ทั้งชายและหญิง มีส่วนร่วมในงานมอบหมายการทำให้คนเป็นสาวก. (กิจการ 2:17, 18) งานนี้จะต้องดำเนินไปตั้งแต่เวลาที่ทาสนี้เริ่มงานของตนจนกระทั่งอวสานของระบบนี้.
14. สิทธิพิเศษในการสอนภายในประชาคมจำกัดไว้ให้ใครโดยเฉพาะ และสตรีผู้ถูกเจิมที่สัตย์ซื่อรู้สึกเช่นไรในเรื่องนั้น?
14 บรรดาผู้ที่รับบัพติสมาใหม่และได้รับการเจิมกลายมาเป็นส่วนของทาส และไม่ว่าพวกเขาได้รับการสอนจากใครในตอนแรก พวกเขาได้รับการสอนต่อไปจากสมาชิกของประชาคมที่บรรลุคุณวุฒิตามหลักพระคัมภีร์ที่รับใช้เป็นผู้เฒ่าผู้แก่. (1 ติโมเธียว 3:1-7; ติโต 1:6-9) ฉะนั้น ชายที่ได้รับการแต่งตั้งเหล่านี้จึงมีสิทธิพิเศษในการช่วยให้ชาตินี้เจริญเติบโตขึ้นในวิธีพิเศษ. สตรีคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่สัตย์ซื่อไม่รู้สึกขุ่นเคืองที่เฉพาะแต่ชายคริสเตียนได้รับมอบหมายให้สอนในประชาคม. (1 โกรินโธ 14:34, 35) ตรงกันข้าม พวกเธอยินดีที่จะรับประโยชน์จากการงานหนักของสมาชิกผู้ชายในประชาคม และหยั่งรู้ค่าสิทธิพิเศษที่เปิดออกแก่ผู้หญิง ซึ่งรวมถึงการนำข่าวดีไปบอกแก่คนอื่น. บรรดาพี่น้องหญิงผู้ถูกเจิมที่มีใจแรงกล้าในทุกวันนี้สำแดงเจตคติที่ถ่อมใจอย่างเดียวกัน ไม่ว่าผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งจะเป็นผู้ถูกเจิมหรือไม่ก็ตาม.
15. แหล่งหลักแหล่งหนึ่งของอาหารฝ่ายวิญญาณในสมัยศตวรรษแรกคืออะไร และใครนำหน้าในการแจกจ่ายอาหารนั้น?
15 อาหารฝ่ายวิญญาณหลักที่แจกจ่ายในสมัยศตวรรษแรกนั้นมาจากจดหมายต่าง ๆ ที่เขียนโดยเหล่าอัครสาวกและสาวกคนอื่น ๆ ที่นำหน้า. จดหมายที่พวกเขาเขียน—โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่รวมอยู่ในพระธรรม 27 เล่มที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งประกอบกันเป็นพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก—ได้ถูกส่งเวียนต่อ ๆ กันไปตามประชาคมต่าง ๆ และใช้เป็นพื้นฐานในการสอนของผู้ปกครองท้องถิ่นอย่างไม่มีข้อสงสัย. โดยวิธีนี้ ผู้เป็นตัวแทนของทาสได้แจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างบริบูรณ์ด้วยความสัตย์ซื่อแก่คริสเตียนที่จริงใจ. ชนชั้นทาสในศตวรรษแรกพิสูจน์ตัวสัตย์ซื่อในงานมอบหมายของตน.
“ทาส” นั้นในอีก 19 ศตวรรษต่อมา
16, 17. ชนชั้นทาสพิสูจน์ตัวอย่างไรว่าสัตย์ซื่อในการทำหน้าที่มอบหมายตลอดหลายปีจวบจนปี 1914?
16 แล้วทุกวันนี้ล่ะเป็นอย่างไร? เมื่อการประทับของพระเยซูเริ่มต้นในปี 1914 พระองค์พบคริสเตียนผู้ถูกเจิมกลุ่มหนึ่งที่กำลังแจกจ่ายอาหารในเวลาอันเหมาะอย่างสัตย์ซื่อไหม? ใช่แล้ว พระองค์ได้พบ. กลุ่มนี้ระบุตัวได้อย่างชัดเจนเนื่องด้วยผลอันดีที่พวกเขาก่อขึ้น. (มัดธาย 7:20) ประวัติศาสตร์ตั้งแต่นั้นมาพิสูจน์ว่าการระบุตัวนี้ถูกต้อง.
17 ตอนที่พระเยซูเสด็จมาถึง มีคนรับใช้ประมาณ 5,000 คนที่กำลังขะมักเขม้นในการเผยแพร่ความจริงจากคัมภีร์ไบเบิล. คนงานมีไม่มาก แต่ทาสนี้ใช้วิธีใหม่ ๆ หลายอย่างที่คิดค้นขึ้นเพื่อแพร่ข่าวดีออกไปอย่างกว้างขวาง. (มัดธาย 9:38) ตัวอย่างเช่น มีการจัดพิมพ์คำเทศนาในหัวข้อเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลลงในหนังสือพิมพ์ถึงเกือบ 2,000 ฉบับ. โดยวิธีนี้ ความจริงจากพระคำของพระเจ้าจึงไปถึงผู้อ่านนับหมื่น ๆ คนในเวลาเดียวกัน. นอกจากนี้ มีการตระเตรียมรายการแสดงยาวแปดชั่วโมงซึ่งประกอบด้วยภาพนิ่งและภาพยนตร์สี. เนื่องด้วยการนำเสนอด้วยวิธีที่คิดค้นขึ้นใหม่ ๆ นี้ ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิล เริ่มตั้งแต่การทรงสร้างไปจนถึงปลายรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ จึงถูกถ่ายทอดไปยังผู้ชมรวมเก้าล้านกว่าคนในสามทวีป. สิ่งพิมพ์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ใช้. ตัวอย่างเช่น ในปี 1914 มีการจัดพิมพ์วารสารนี้ประมาณ 50,000 ฉบับ.
18. พระเยซูแต่งตั้งทาสให้ดูแลสมบัติทั้งหมดของพระองค์เมื่อไร และเพราะเหตุใด?
18 ใช่แล้ว เมื่อนายเสด็จมาถึง ก็พบว่าทาสสัตย์ซื่อของพระองค์กำลังแจกจ่ายอาหารแก่คนรับใช้ทั้งหลายและประกาศข่าวดีอยู่อย่างซื่อสัตย์ต่อหน้าที่. บัดนี้ มีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นคอยท่าทาสนั้นอยู่. พระเยซูตรัสว่า “เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.” (มัดธาย 24:47, ล.ม.) พระเยซูทำเช่นนั้นในปี 1919 หลังจากที่ทาสนี้ผ่านพ้นช่วงแห่งการทดสอบแล้ว. แต่เหตุใด “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จึงได้รับหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้น? ก็เพราะนายเพิ่งได้รับสมบัติมากขึ้น. พระเยซูได้รับมอบฐานะกษัตริย์ในปี 1914.
19. จงอธิบายว่าความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของ “ชนฝูงใหญ่” ได้รับการดูแลอย่างไร.
19 อะไรคือทรัพย์สมบัติที่นายซึ่งเพิ่งขึ้นเสวยราชย์แต่งตั้งทาสสัตย์ซื่อให้ดูแล? นั่นก็คือสิ่งฝ่ายวิญญาณทั้งสิ้นบนแผ่นดินโลกที่เป็นของพระองค์. ตัวอย่างเช่น สองทศวรรษหลังจากพระคริสต์ขึ้นครองบัลลังก์ในปี 1914 “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” ได้รับการระบุตัวว่าเป็นใคร. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; โยฮัน 10:16) คนเหล่านี้ไม่ใช่สมาชิกผู้ถูกเจิมแห่ง “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า” แต่เป็นชายหญิงที่จริงใจผู้มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลก ซึ่งรักพระยะโฮวาและต้องการจะรับใช้พระองค์เช่นเดียวกับเหล่าผู้ถูกเจิม. โดยแท้แล้ว ก็เหมือนกับว่าพวกเขากล่าวแก่ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ว่า “เราจะไปด้วยท่าน, เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.” (ซะคาระยา 8:23) คริสเตียนที่รับบัพติสมาใหม่เหล่านี้รับประทานอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างบริบูรณ์อย่างเดียวกันกับที่คนรับใช้ทั้งหลายที่ถูกเจิมได้รับ และทั้งสองกลุ่มก็ร่วมรับประทานที่โต๊ะฝ่ายวิญญาณนี้นับแต่นั้นมา. ช่างเป็นพระพรอะไรเช่นนั้นสำหรับผู้เป็นสมาชิกของ “ชนฝูงใหญ่”!
20. “ชนฝูงใหญ่” มีบทบาทอะไรในการเพิ่มพูนทรัพย์สมบัติขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
20 สมาชิกของ “ชนฝูงใหญ่” ร่วมกับชนชั้นทาสที่ถูกเจิมด้วยความยินดีในการเป็นผู้ประกาศข่าวดี. เมื่อพวกเขาประกาศ ทรัพย์สมบัติทางแผ่นดินโลกของนายก็เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” มีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้น. เมื่อจำนวนผู้แสวงหาความจริงเพิ่มขึ้น ก็จำเป็นต้องมีการขยายโรงพิมพ์มากขึ้น ให้ทันกับความต้องการสรรพหนังสือที่อธิบายพระคัมภีร์. มีการตั้งสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในดินแดนต่าง ๆ แห่งแล้วแห่งเล่า. มิชชันนารีถูกส่งออกไป “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8) จากจำนวนผู้ถูกเจิมประมาณห้าพันคนในปี 1914 กลุ่มผู้สรรเสริญพระเจ้าได้เพิ่มเป็นหกล้านกว่าคนในทุกวันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ในจำนวนนี้เป็น “ชนฝูงใหญ่.” ใช่แล้ว ทรัพย์สมบัติของกษัตริย์เพิ่มขึ้นหลายเท่าหลังจากราชาภิเษกในปี 1914!
21. เราจะพิจารณาอุปมาสองเรื่องอะไรในบทความถัดไป?
21 ทั้งหมดนี้แสดงว่าทาสนี้ทั้ง “สัตย์ซื่อและสุขุม.” ทันทีหลังจากพระเยซูตรัสถึง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” พระองค์ตรัสคำอุปมาสองเรื่องที่เน้นคุณลักษณะสองอย่างนี้ คือ อุปมาเรื่องหญิงพรหมจารีสุขุมกับหญิงพรหมจารีโง่ และอุปมาเรื่องเงินตะลันต์. (มัดธาย 25:1-30) นั่นช่างกระตุ้นความสนใจของเราเสียจริง ๆ! อุปมาสองเรื่องนี้มีความหมายอะไรสำหรับพวกเราในปัจจุบัน? เราจะพิจารณาคำถามนี้ในบทความถัดไป.
คุณคิดอย่างไร?
• ใครประกอบกันเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”?
• ใครคือ “คนรับใช้ทั้งหลาย”?
• เมื่อไรที่ทาสสัตย์ซื่อถูกแต่งตั้งให้ดูแลสมบัติทั้งหมดขององค์พระผู้เป็นเจ้า และเหตุใดจึงเป็นตอนนั้น?
• ใครมีส่วนช่วยเพิ่มพูนทรัพย์สมบัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าในทศวรรษต่าง ๆ ที่เพิ่งผ่านมา และโดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 10]
ชนชั้นทาสในศตวรรษแรกพิสูจน์ตัวสัตย์ซื่อในงานที่ได้รับมอบหมาย