จงระวังระไวและขยัน!
“เหตุฉะนั้นจงเฝ้าระวังอยู่, เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้กำหนดวันหรือโมงนั้น.”—มัดธาย 25:13.
1. อัครสาวกโยฮันคอยท่าสิ่งใด?
ในบทสนทนาสุดท้ายในคัมภีร์ไบเบิล พระเยซูทรงสัญญาว่า “เราจะมาโดยเร็ว.” โยฮันอัครสาวกของพระองค์ตอบว่า “อาเมน! เชิญเสด็จมาเถิด พระเยซูเจ้า.” ท่านอัครสาวกไม่สงสัยเลยว่าพระเยซูจะเสด็จมา. โยฮันอยู่ในกลุ่มอัครสาวกที่ได้ถามพระเยซูว่า “สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร และจะมีอะไรเป็นหมายสำคัญแห่งการประทับ [กรีก พารูเซียʹ] ของพระองค์และช่วงอวสานของระบบนี้?” ถูกแล้ว โยฮันคอยท่าอย่างมั่นใจถึงการประทับของพระเยซูในอนาคต.—วิวรณ์ 22:20, ล.ม.; มัดธาย 24:3, ล.ม.
2. ในเรื่องการประทับของพระเยซู สภาพการณ์โดยทั่วไปในคริสตจักรต่าง ๆ เป็นเช่นไร?
2 ความเชื่อมั่นเช่นนั้นไม่ใคร่มีให้เห็นในทุกวันนี้. คริสตจักรหลายแห่งมีหลักคำสอนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ “การเสด็จมา” ของพระเยซู แต่มีสมาชิกเพียงไม่กี่คนของพวกเขาที่คาดหมายจริง ๆ ถึงการเสด็จมาของพระองค์. พวกเขาดำเนินชีวิตราวกับว่าพระองค์จะไม่เสด็จมา. หนังสือที่ชื่อพารูเซียในพันธสัญญาใหม่ ให้ข้อสังเกตว่า “ความหวังในเรื่องพารูเซียมีผลกระทบต่อชีวิต, ความคิดและการงานของคริสตจักรน้อยมาก. . . . ความเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งคริสตจักรควรทำในงานสอนให้กลับใจเสียใหม่และการประกาศกิตติคุณของมิชชันนารีนั้น หากไม่ได้สูญไปหมดแล้ว ก็นับว่าอ่อนลงไปมาก.” แต่ไม่ใช่กับทุกคน!
3. (ก) คริสเตียนแท้รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพารูเซียʹ? (ข) เราจะพิจารณาเรื่องอะไรโดยเฉพาะในตอนนี้?
3 สาวกแท้ของพระเยซูกำลังคอยท่าอวสานของระบบปัจจุบันอันชั่วช้าด้วยใจจดจ่อ. ในขณะที่คอยอย่างภักดี เราจำเป็นต้องรักษาทัศนะที่ถูกต้องต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการประทับของพระเยซูและลงมือทำสอดคล้องตามนั้น. นั่นจะช่วยเราให้ ‘อดทนจนถึงที่สุดและรอด.’ (มัดธาย 24:13) ในขณะที่กำลังตรัสคำพยากรณ์ดังที่เราพบในมัดธายบท 24 และ 25 พระเยซูทรงให้คำแนะนำที่สุขุมซึ่งเราจะนำไปใช้ได้ เพื่อผลประโยชน์ถาวรของเรา. บท 25 มีอุทาหรณ์หลายเรื่องที่คุณคงรู้จัก รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับหญิงพรหมจารีสิบคน (ที่ฉลาดและที่โง่เขลา) และอุทาหรณ์เรื่องเงินตะลันต์. (มัดธาย 25:1-30) เราจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากอุทาหรณ์ทั้งสองเรื่องนี้?
จงระวังระไวเหมือนหญิงพรหมจารีห้าคนนั้น!
4. ใจความสำคัญของอุทาหรณ์เรื่องหญิงพรหมจารีคืออะไร?
4 คุณอาจอยากอ่านอุทาหรณ์เรื่องหญิงพรหมจารีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่มัดธาย 25:1-13. ฉากของเรื่องนี้คืองานแต่งงานตามธรรมเนียมยิวงานหนึ่งที่จัดอย่างหรูหราซึ่งเจ้าบ่าวจะไปที่บ้านบิดาเจ้าสาวเพื่อพาเธอไปที่บ้านของเจ้าบ่าว (หรือไปที่บ้านบิดาเขา). ขบวนแห่แบบนี้อาจมีนักดนตรีและนักร้อง และเวลาที่ขบวนจะมาถึงนั้นไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัด. ในอุทาหรณ์ หญิงพรหมจารีสิบคนคอยการมาถึงของเจ้าบ่าวจนกระทั่งดึก. ด้วยความโง่เขลา ห้าคนไม่ได้นำน้ำมันตะเกียงมาให้พอเพียง จึงต้องไปหาซื้อมาเพิ่ม. ส่วนอีกห้าคนนั้นกระทำการอย่างสุขุมด้วยการนำน้ำมันใส่กามาต่างหาก เพื่อว่าหากจำเป็นเขาก็จะใช้เติมตะเกียงได้ในช่วงที่รออยู่นั้น. เฉพาะห้าคนนี้เท่านั้นที่อยู่พร้อมเมื่อเจ้าบ่าวมาถึง. ดังนั้น เฉพาะพวกเธอเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในงานเลี้ยง. เมื่อหญิงพรหมจารีที่โง่เขลาห้าคนนั้นกลับมา ก็สายเกินไปเสียแล้วที่จะเข้าไป.
5. พระคัมภีร์ข้อใดที่ช่วยไขความหมายโดยนัยของอุทาหรณ์เรื่องหญิงพรหมจารี?
5 อุทาหรณ์นี้มีหลายแง่มุมที่สามารถเข้าใจได้ว่ามีความหมายเป็นนัย. ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์กล่าวถึงพระเยซูในฐานะเจ้าบ่าว. (โยฮัน 3:28-30) พระเยซูทรงเปรียบพระองค์เองเหมือนราชโอรสของกษัตริย์ที่มีการจัดงานอภิเษกมเหสีไว้ให้. (มัดธาย 22:1-14) และคัมภีร์ไบเบิลเปรียบพระคริสต์เหมือนสามี. (เอเฟโซ 5:23) น่าสนใจ ในขณะที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับการพรรณนาในที่อื่นว่าเป็น “เจ้าสาว” ของพระคริสต์ แต่อุทาหรณ์นี้ไม่ได้กล่าวถึงเจ้าสาวเลย. (โยฮัน 3:29; วิวรณ์ 19:7; 21:2, 9) อย่างไรก็ตาม อุทาหรณ์นี้กล่าวถึงหญิงพรหมจารีสิบคน และมีการกล่าวถึงผู้ถูกเจิมในที่อื่นว่าเป็นเหมือนหญิงพรหมจารีซึ่งได้หมั้นไว้แล้วสำหรับพระคริสต์.—2 โกรินโธ 11:2.a
6. พระเยซูทรงกระตุ้นเตือนเช่นไรเมื่อตรัสลงท้ายอุทาหรณ์เรื่องหญิงพรหมจารี?
6 นอกจากรายละเอียดดังกล่าวและความหมายเชิงพยากรณ์แล้ว มีหลักการที่ดีหลายข้อซึ่งเราอาจเรียนได้จากอุทาหรณ์นี้อย่างแน่นอน. ตัวอย่างเช่น ขอให้สังเกตว่าพระเยซูทรงจบอุทาหรณ์นี้ด้วยประโยคที่ว่า “เหตุฉะนั้นจงเฝ้าระวังอยู่, เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้กำหนดวันหรือโมงนั้น.” ดังนั้น อุทาหรณ์นี้สื่อแนวคิดเรื่องความจำเป็นที่เราแต่ละคนต้องระวังระไว ตื่นตัวต่ออวสานของระบบชั่วนี้ที่กำลังใกล้จะถึง. อวสานของระบบนี้กำลังจะมาถึงอย่างไม่ต้องสงสัย แม้ว่าเราไม่สามารถระบุลงไปว่าเป็นวันเวลาใด. ในเรื่องนี้ ขอสังเกตเจตคติที่หญิงพรหมจารีทั้งสองกลุ่มแสดงให้เห็น.
7. หญิงพรหมจารีห้าคนในอุทาหรณ์นี้แสดงตัวว่าโง่เขลาในแง่ใด?
7 พระเยซูตรัสว่า ในหญิงพรหมจารีสิบคนนั้น “เป็นคนโง่ห้าคน.” นั่นเป็นเพราะพวกเธอไม่เชื่อว่าเจ้าบ่าวจะมาไหม? พวกเธอออกไปเพื่อแสวงหาความเพลิดเพลินไหม? หรือพวกเธอถูกล่อลวงไหม? ไม่ใช่ทั้งนั้น. พระเยซูตรัสว่าห้าคนนี้ “ออกไปรับเจ้าบ่าว.” พวกเธอทราบว่าเจ้าบ่าวกำลังจะมาและพวกเธอต้องการมีส่วนร่วมใน “งานสมรส” นั้น. ทว่า พวกเธอเตรียมตัวพอเพียงไหม? พวกเธอคอยเจ้าบ่าวอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง จนถึง “เวลาเที่ยงคืน” แต่พวกเธอไม่ได้เตรียมตัวพร้อมสำหรับการมาถึงของเจ้าบ่าวไม่ว่าเวลาใดก็ตาม—ไม่ว่าจะมาแต่เนิ่น ๆ หรือล่าช้ากว่าที่เขาคิดไว้แต่แรก.
8. หญิงพรหมจารีห้าคนในอุทาหรณ์นี้แสดงตัวว่ามีปัญญาอย่างไร?
8 ส่วนอีกห้าคน—ซึ่งพระเยซูตรัสว่าเป็นคนมีปัญญา—ก็ออกไปเหมือนกันพร้อมกับตะเกียงที่จุดไฟ คอยท่าการมาของเจ้าบ่าว. พวกเธอต้องคอยด้วยเหมือนกัน แต่พวกเธอ “มีปัญญา.” คำกรีกที่แปลในที่นี้ว่า “มีปัญญา” อาจสื่อความหมายถึงการ “มีความรอบคอบ, มีเหตุผล, สุขุมในทางปฏิบัติ.” หญิงทั้งห้าคนนี้พิสูจน์ตัวว่าพวกเธอมีปัญญาโดยนำกาน้ำมันสำรองมาด้วยเอาไว้เติมตะเกียงถ้าจำเป็น. ที่จริง พวกเธอสนใจเป็นพิเศษที่จะอยู่พร้อมเสมอสำหรับเจ้าบ่าวจนไม่ยอมแบ่งน้ำมันของตนให้ผู้อื่น. ความระวังระไวเช่นนั้นนับว่าเหมาะสม ดังจะเห็นได้จากการที่พวกเธออยู่ที่นั่นและพร้อมเต็มที่เมื่อเจ้าบ่าวมาถึง. คนเหล่านี้ซึ่ง “พร้อมอยู่แล้วก็ได้เข้าไปกับท่านในงานสมรสแล้วก็ปิดประตูเสีย.”
9, 10. จุดสำคัญของอุทาหรณ์เรื่องหญิงพรหมจารีคืออะไร และเราควรถามตัวเองเช่นไร?
9 พระเยซูมิได้ทรงให้บทเรียนเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติในงานสมรส รวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแบ่งปัน. จุดสำคัญที่พระองค์ต้องการชี้คือ “เหตุฉะนั้นจงเฝ้าระวังอยู่, เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้กำหนดวันหรือโมงนั้น.” ถามตัวคุณเองว่า ‘ฉันระวังระไวอย่างแท้จริงไหมเกี่ยวกับการประทับของพระเยซู?’ เราเชื่อว่าบัดนี้พระเยซูทรงครองราชย์ในสวรรค์ แต่เราสนใจเป็นพิเศษมากเพียงไรต่อความเป็นจริงที่ว่า ‘ไม่ช้าบุตรมนุษย์จะเสด็จมาบนเมฆแห่งฟ้าสวรรค์ด้วยฤทธิ์และสง่าราศีเป็นอันมาก’? (มัดธาย 24:30, ล.ม.) ครั้นถึง “เวลาเที่ยงคืน” การมาของเจ้าบ่าวก็ย่อมจะกระชั้นกว่าตอนที่หญิงพรหมจารีออกไปคอยเจ้าบ่าวในตอนแรก. ในทำนองเดียวกัน การมาถึงของบุตรมนุษย์เพื่อทำลายระบบชั่วในปัจจุบันก็กระชั้นกว่าตอนที่เราเริ่มคอยท่าการเสด็จมาของพระองค์. (โรม 13:11-14) เราได้รักษาความระวังระไวของเราไว้ โดยระวังยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เวลานั้นใกล้เข้ามาไหม?
10 เพื่อจะเชื่อฟังพระบัญชาที่ให้ “เฝ้า ระวังอยู่” จำเป็นต้องระวังระไวอยู่เสมอ. หญิงพรหมจารีห้าคนนั้นปล่อยให้น้ำมันหมดแล้วจึงออกไปหาซื้อเพิ่ม. คริสเตียนในปัจจุบันก็อาจถูกชักนำให้เขวได้คล้าย ๆ กันจนเขาไม่ได้เตรียมพร้อมเต็มที่สำหรับการมาถึงของพระเยซูซึ่งจวนจะถึงอยู่แล้ว. เรื่องนี้เกิดขึ้นกับคริสเตียนบางคนในศตวรรษแรก. เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นกับบางคนในทุกวันนี้. ดังนั้น ให้เราถามตัวเองว่า ‘สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับฉันไหม?’—1 เธซะโลนิเก 5:6-8; เฮ็บราย 2:1; 3:12; 12:3; วิวรณ์ 16:15.
จงขยันขณะที่ใกล้จะถึงอวสาน
11. ต่อจากนั้นพระเยซูทรงเล่าอุทาหรณ์เรื่องอะไรอีก และอุทาหรณ์นี้คล้ายกับอุทาหรณ์เรื่องใด?
11 ในอุทาหรณ์เรื่องถัดมา พระเยซูทรงทำไม่เพียงแค่กระตุ้นเตือนเหล่าสาวกให้ระวังระไว. หลังจากทรงเล่าเรื่องหญิงพรหมจารีที่มีปัญญาและที่โง่เขลา พระองค์ทรงเล่าอุทาหรณ์เรื่องเงินตะลันต์. (โปรดอ่านมัดธาย 25:14-30.) ในหลาย ๆ แง่ เรื่องนี้คล้ายคลึงกับอุทาหรณ์ก่อนหน้านั้นของพระองค์เกี่ยวกับเงินชั่ง ซึ่งพระเยซูทรงเล่าเพราะหลายคน “คิดว่าแผ่นดินของพระเจ้าจะปรากฏโดยพลัน.”—ลูกา 19:11-27.
12. ใจความสำคัญของอุทาหรณ์เรื่องเงินตะลันต์คืออะไร?
12 ในอุทาหรณ์เรื่องเงินตะลันต์ พระเยซูทรงเล่าถึงชายผู้หนึ่ง ก่อนจะออกเดินทางไปแดนไกลก็เรียกบ่าวสามคนมา. บ่าวคนหนึ่งเขามอบเงินห้าตะลันต์ไว้ให้ดูแล, อีกคนหนึ่งให้สองตะลันต์, และคนสุดท้ายให้เพียงตะลันต์เดียว—“ตามความสามารถของบ่าวนั้น.” เงินนี้น่าจะหมายถึงเงินตะลันต์ที่ทำจากเงิน ค่ามาตรฐานในเวลานั้นเทียบค่าแล้วเท่ากับจำนวนเงินที่กรรมกรคนหนึ่งจะหาได้ใน 14 ปี—เงินจำนวนมากมายทีเดียว! เมื่อชายผู้นั้นกลับมา เขาเรียกบ่าวมาคิดบัญชีสำหรับสิ่งที่แต่ละคนทำในช่วงเวลา “ช้านาน” ที่เขาไม่อยู่. บ่าวสองคนแรกได้เพิ่มค่าของเงินที่มอบไว้กับตนขึ้นเป็นสองเท่า. นายกล่าวว่า “ดีแล้ว” แล้วสัญญาว่าจะให้หน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นสำหรับแต่ละคน และกล่าวลงท้ายว่า “เจ้าจงร่วมความยินดีกับนายเถิด.” โดยอ้างว่าเจ้านายเป็นคนเรียกร้องมากยิ่ง บ่าวที่ได้รับหนึ่งตะลันต์ไม่ได้นำเงินตะลันต์นั้นไปทำกำไร. เขาซ่อนเงินนั้นไว้ แม้แต่จะฝากไว้กับธนาคารเพื่อได้ดอกเบี้ยก็ไม่ได้ทำ. นายเรียกเขาว่า “อ้ายข้าชั่วช้าและเกียจคร้าน” เพราะเขาทำให้ของของนายเสียผลประโยชน์. ด้วยเหตุนั้น เงินตะลันต์นั้นจึงถูกเอาไปจากเขา และเขาถูกทิ้งไว้ภายนอก ซึ่ง “มีแต่การร้องไห้ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน.”
13. พระเยซูทรงเหมือนกันอย่างไรกับนายในอุทาหรณ์?
13 อีกครั้งหนึ่ง จะเข้าใจรายละเอียดในเรื่องนี้ได้ในความหมายเป็นนัย. ตัวอย่างเช่น พระเยซู ซึ่งชายผู้เดินทางไปแดนไกลเล็งถึง จะทรงจากเหล่าสาวกไปสวรรค์ และคอยอยู่เป็นเวลานานจนกว่าพระองค์ได้รับอำนาจในฐานะกษัตริย์.b (บทเพลงสรรเสริญ 110:1-4; กิจการ 2:34-36; โรม 8:34; เฮ็บราย 10:12, 13) อย่างไรก็ตาม อีกครั้งหนึ่งที่เราเข้าใจได้ถึงบทเรียนหรือหลักการที่กว้างกว่าซึ่งเราทุกคนควรนำมาใช้ในชีวิตของเรา. บทเรียนอะไร?
14. อุทาหรณ์เรื่องเงินตะลันต์เน้นถึงความจำเป็นอะไรที่นับว่าสำคัญ?
14 ไม่ว่าความหวังของเราคือชีวิตอมตะในสวรรค์หรือชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน ก็เห็นได้ชัดจากอุทาหรณ์ของพระเยซูว่าเราควรออกแรงอย่างหนักในกิจการงานฝ่ายคริสเตียน. ที่จริง ข่าวสารของอุทาหรณ์นี้อาจสรุปได้ในคำเดียว: ความขยัน. เหล่าอัครสาวกวางแบบอย่างไว้ตั้งแต่วันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 เป็นต้นมา. เราอ่านดังนี้: “เปโตรจึงอ้างพยานด้วยคำอื่นหลายคำและได้เตือนสติเขาว่า, ‘จงเอาตัวรอดจากคนชาติทุจจริตนี้เถิด.’” (กิจการ 2:40-42) และท่านได้รับผลตอบแทนอย่างยอดเยี่ยมสักเพียงไรสำหรับความพยายามของท่าน! เมื่อคนอื่น ๆ เข้าร่วมกับอัครสาวกในงานประกาศของคริสเตียน พวกเขาก็ขยันเช่นกัน ยังผลให้ข่าวดี “แผ่ไปทั่วโลก.”—โกโลซาย 1:3-6, 23; 1 โกรินโธ 3:5-9.
15. เราควรใช้จุดสำคัญของอุทาหรณ์เรื่องเงินตะลันต์ในแง่พิเศษอะไร?
15 พึงจำไว้ว่าท้องเรื่องของอุทาหรณ์นี้คือคำพยากรณ์เกี่ยวกับการประทับของพระเยซู. เรามีข้อยืนยันเหลือเฟือว่าพารูเซียʹ ของพระเยซูกำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้และจะไปถึงจุดสุดยอดในอีกไม่ช้า. ขอนึกถึงความเกี่ยวข้องกันที่พระเยซูทรงแสดงให้เห็นระหว่าง “อวสาน” กับงานที่คริสเตียนจะต้องทำ: “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) โดยคำนึงถึงข้อนี้ เราเป็นเหมือนบ่าวแบบไหน? ถามตัวเองว่า ‘มีเหตุผลไหมที่จะสรุปว่าฉันเป็นเหมือนบ่าวที่เอาทรัพย์ที่มอบไว้ให้เขาดูแลไปซ่อนไว้ อาจเป็นได้ที่ในระหว่างนั้นเขาเอาใจใส่เรื่องผลประโยชน์ในส่วนของเขาเอง? หรือเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดไหมว่าฉันเป็นเหมือนบ่าวที่ดีและสัตย์ซื่อ? ฉันตั้งใจแน่วแน่ที่จะเพิ่มพูนผลประโยชน์ของนายในทุกโอกาสไหม?’
ระวังระไวและขยันระหว่างการประทับของพระองค์
16. อุทาหรณ์สองเรื่องที่เราได้พิจารณาไปบอกอะไรแก่คุณ?
16 ถูกแล้ว นอกจากความหมายโดยนัยและความหมายเชิงพยากรณ์แล้ว อุทาหรณ์สองเรื่องนี้ให้กำลังใจอย่างชัดเจนจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเอง. สิ่งที่พระองค์ต้องการสื่อคือ จงระวังระไว; จงขยัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นหมายสำคัญของพารูเซียʹ ของพระคริสต์. เวลาดังกล่าวคือเดี๋ยวนี้. ดังนั้น เรากำลังระวังระไวและขยันจริง ๆ ไหม?
17, 18. สาวกยาโกโบให้คำแนะนำอะไรเกี่ยวกับการประทับของพระเยซู?
17 ยาโกโบน้องชายต่างบิดาของพระเยซูไม่ได้อยู่บนภูเขามะกอกเทศและได้ยินคำพยากรณ์ของพระเยซู; แต่ท่านทราบเรื่องนี้ในภายหลัง และเห็นได้ชัดว่าท่านเข้าใจจุดสำคัญของคำพยากรณ์นี้. ท่านเขียนว่า “เพราะเหตุนี้ พี่น้องทั้งหลาย จงอดใจรอจนกว่าการประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า. นี่แน่ะ! กสิกรเฝ้าคอยผลอันมีค่าของแผ่นดินและอดใจรอผลนั้นจนกว่าเขาจะได้ฝนต้นฤดูและฝนปลายฤดู. ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน จงอดใจรอ จงทำให้หัวใจของท่านมั่นคงเพราะการประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาใกล้แล้ว.”—ยาโกโบ 5:7, 8, ล.ม.
18 เมื่อได้ให้คำรับรองว่าพระเจ้าจะทรงพิพากษาลงโทษคนที่ใช้ความมั่งคั่งของตนอย่างผิด ๆ ยาโกโบกระตุ้นเตือนคริสเตียนว่าอย่าขาดความอดทนในขณะที่คอยให้พระยะโฮวาทรงจัดการ. คริสเตียนที่ขาดความอดทนอาจหาทางแก้เผ็ด ราวกับว่าเขาต้องแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยตัวเขาเอง. อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเป็นอย่างนั้น เพราะเวลาแห่งการพิพากษาจะมาถึงอย่างแน่นอน. ตัวอย่างของกสิกรแสดงให้เห็นข้อนี้ ดังที่ยาโกโบอธิบาย.
19. กสิกรชาวยิศราเอลอาจแสดงความอดทนแบบใด?
19 กสิกรชาวยิศราเอลที่หว่านเมล็ดไว้ต้องคอย ทีแรกคอยให้ใบงอก, แล้วจากนั้นคอยให้พืชนั้นเติบโตขึ้น, และในที่สุดก็คอยเวลาเก็บเกี่ยว. (ลูกา 8:5-8; โยฮัน 4:35) ตลอดหลายเดือนนั้น มีบางครั้งที่เกิดความกระวนกระวาย บางทีอาจมีเหตุที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้น. ฝนต้นฤดูจะตกต้องตามฤดูและมีมากพอไหม? แล้วฝนปลายฤดูล่ะ? อาจมีแมลงหรือพายุมาทำลายต้นพืชไหม? (เทียบกับโยเอล 1:4; 2:23-25.) อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้วกสิกรชาวยิศราเอลสามารถไว้วางใจพระยะโฮวาและวัฏจักรธรรมชาติที่พระองค์ทรงกำหนดไว้. (พระบัญญัติ 11:14; ยิระมะยา 5:24) ความอดทนของกสิกรนั้นอาจเหมือนกันเลยทีเดียวกับการคาดหมายอย่างมั่นใจ. ด้วยความเชื่อ เขาทราบว่าสิ่งที่เขาคอยอยู่นั้นจะมา. แล้วสิ่งนั้นก็มาจริง ๆ!
20. เราอาจแสดงความอดทนได้อย่างไรตามคำแนะนำของยาโกโบ?
20 ในขณะที่กสิกรอาจมีความรู้เกี่ยวกับเวลาที่จะเก็บเกี่ยวได้ แต่คริสเตียนในศตวรรษแรกไม่สามารถคำนวณว่าการประทับของพระเยซูจะมาเมื่อไร. อย่างไรก็ตาม การประทับนั้นจะมาแน่นอน. ยาโกโบเขียนดังนี้: “การประทับ [กรีก พารูเซียʹ] ขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาใกล้แล้ว.” ตอนที่ยาโกโบเขียนถ้อยคำเหล่านี้ หมายสำคัญแห่งการประทับของพระคริสต์ในขอบเขตขนาดใหญ่หรือทั่วโลกยังไม่ปรากฏหลักฐาน. แต่บัดนี้มีหลักฐานชัด! ดังนั้น เราควรรู้สึกอย่างไรในช่วงเวลานี้? หมายสำคัญนั้นเห็นได้จริง ๆ. เราเห็นหมายสำคัญ. เราสามารถกล่าวด้วยความมั่นใจว่า ‘ฉันเห็นหมายสำคัญนั้นกำลังสำเร็จเป็นจริง.’ เราสามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประทับแล้ว และจุดสุดยอดแห่งการประทับของพระองค์จวนจะถึงอยู่แล้ว.’
21. เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำอะไร?
21 เนื่องด้วยเหตุนี้ เรามีเหตุผลหนักแน่นเป็นพิเศษที่จะจดจำและใช้บทเรียนสำคัญจากอุทาหรณ์สองเรื่องนี้ของพระเยซูที่เราเพิ่งได้พิจารณาไป. พระองค์ตรัสว่า “เหตุฉะนั้นจงเฝ้าระวังอยู่, เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้กำหนดวันหรือโมงนั้น.” (มัดธาย 25:13) ไม่มีข้อสงสัยว่าบัดนี้เป็นเวลาที่เราจะต้องทำงานรับใช้ของคริสเตียนด้วยใจแรงกล้า. ให้เราแสดงในชีวิตเราแต่ละวันว่าเราเข้าใจจุดสำคัญที่พระเยซูทรงชี้บอก. ให้เราระวังระไว! ให้เราขยัน!
[เชิงอรรถ]
a สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับความหมายเป็นนัยของอุทาหรณ์นี้ โปรดดูราชอาณาจักรของพระเจ้าแห่งรัชสมัยพันปีใกล้จะถึงแล้ว (ภาษาอังกฤษ) หน้า 169-211 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
b ดูราชอาณาจักรของพระเจ้าแห่งรัชสมัยพันปีใกล้จะถึงแล้ว (ภาษาอังกฤษ) หน้า 212-256.
คุณจำได้ไหม?
▫ จุดสำคัญอะไรที่คุณได้จากอุทาหรณ์เรื่องหญิงพรหมจารีที่มีปัญญาและที่โง่เขลา?
▫ โดยอาศัยอุทาหรณ์เรื่องเงินตะลันต์ พระเยซูทรงให้คำแนะนำสำคัญอะไรแก่คุณ?
▫ ความอดทนของคุณที่เกี่ยวข้องกับพารูเซียʹ คล้ายกับความอดทนของกสิกรชาวยิศราเอลในแง่ใด?
▫ เหตุใดจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและท้าทายเป็นพิเศษที่ได้มีชีวิตอยู่ในสมัยนี้?
[รูปภาพหน้า 23]
คุณเรียนรู้บทเรียนอะไรจากอุทาหรณ์เรื่องหญิงพรหมจารีและเรื่องเงินตะลันต์?